ช่วงปลายปี ค.ศ.2021 มีนักศึกษาปริญญาโทมาติดต่อสัมภาษณ์ผู้เขียนเนื่องจากทำวิทยานิพนธ์ว่าด้วยภาพยนตร์ของ ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ (Hirokazu Kore-eda) ซึ่งผู้เขียนก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นผู้ให้สัมภาษณ์ที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะถึงแม้จะติดตามโคเรเอดะมาอย่างยาวนานและได้ดูผลงานของเขาครบทุกเรื่อง ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้ของผู้กำกับรายนี้
ปัญหาของผู้เขียนต่อโคเรเอดะคือรู้สึกว่าผลงานในช่วงหลังของเขา (อาจจะตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา) ดูซ้ำๆ เหมือนๆ กันไปเสียหมด ธีมหลักคือการว่าด้วย ‘ครอบครัวที่เว้าแหว่ง’ หรือ ‘การประกอบสร้างของครอบครัวที่ไม่สมประกอบ’ ต้องสารภาพว่าผู้เขียนออกจะเฉยเมยกับหนังปาล์มทองคำอย่าง Shoplifters (2018) เพราะมันเหมือนหนังที่รวมฮิตองค์ประกอบทุกอย่างที่โคเรเอดะเคยทำไว้ในหนังก่อนหน้า
ถึงกระนั้นในยุคปัจจุบันที่โคเรเอดะหันไปทำหนัง ‘นอกญี่ปุ่น’ ก็ถือว่าน่าจับตาอย่างมาก อย่างหนังเรื่อง The Truth (2019) ที่ถ่ายทำในฝรั่งเศสก็เป็นหนังที่แทบไม่มีความเป็นญี่ปุ่นอยู่เลย น่าชื่นชมที่โคเรเอดะเข้าใจและนำเสนอวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความ bitchy แบบฝรั่งเศสได้อย่างน่าเชื่อถือ
ผลงานล่าสุดของโคเรเอดะอย่าง Broker (2022) ยังใช้โมเดลโกอินเตอร์อย่างต่อเนื่อง หนังถ่ายในเกาหลีใต้ ใช้ทีมนักแสดงเกาหลี ผู้กำกับภาพ/คนทำเพลงชาวเกาหลี เงินทุนก็มาจาก CJ E&M (บริษัทที่ให้ทุนหนังเรื่อง Parasite (2019) นั่นแหละ) หนังเปิดตัวที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ ได้เสียงวิจารณ์ค่อนข้างดี แต่ฝั่งที่บอกว่าผิดหวังก็มี ผู้เขียนทราบข่าวมาว่าราคาค่าตัวของ Broker นั้นแพงมาก จนช่วงแรกผู้จัดจำหน่ายในไทยพากันยอมแพ้ แต่ในที่สุดหนังเรื่องนี้ก็ได้ฉายในไทย ไล่เลี่ยกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียอย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น
เรื่องราวของ Broker เล่าถึงชายสองคนที่รวมหัวกันขโมยเด็กจาก baby box (ตู้ทิ้งเด็กสำหรับคุณแม่ผู้ไม่พร้อม) เพื่อนำไปขายต่อให้กับสามีภรรยารวยๆ ที่ต้องการมีลูก แผนธุรกิจของพวกเขาต้องชะงักเมื่อมีคุณแม่วัยใสรายหนึ่งกลับมาทวงลูกคืน หลังจากการเจรจาต่อรอง พวกเขาทั้งหมดก็ตัดสินใจขึ้นรถตู้พาเด็กทารกไปตระเวนขายด้วยกัน
ดูจากโปสเตอร์แล้ว Broker ช่างดูเป็นหนังโร้ดมูฟวี่ฟีลกู๊ด ซึ่งตัวหนังก็เป็นเช่นนั้น หนังสอดแทรกมุกตลกหรือฉากน่ารักๆ มาเป็นระยะ จนทำให้ลืมไปเลยว่านี่คือหนังเกี่ยวกับการ ‘ลักพาตัว’ และ ‘การค้ามนุษย์’ มีสิทธิอย่างมากที่หนังจะถูกข้อหาว่าเป็นหนังโลกสวยหรือไม่สะท้อนประเด็นทางสังคมเท่าที่ควร แต่ดูเหมือนโคเรเอดะยังหนักแน่นในการเล่าถึงการก่อตัวขึ้นของ ‘ครอบครัวจำแลง’ การรวมตัวกันของเหล่าผู้คนที่มีบาดแผลซึ่งเยียวยาแก่กัน เจ้าตัวถึงให้สัมภาษณ์ว่า Broker สามารถเป็นหนังพี่น้องกับเรื่อง Shoplifters ได้
แต่นั่นก็ทำให้ผู้เขียนรู้สึกเสียดายอยู่เหมือนกัน ในขณะที่ The Truth ใช้ประโยชน์จากความเป็นฝรั่งเศสได้อย่างเต็มที่ (โดยเฉพาะความเป็นซูเปอร์สตาร์ของ แคทเธอรีน เดอเนิฟ (Catherine Deneuve) และจูเลียต บิโนช (Juliette Binoche)) ขณะนั่งดู Broker ผู้เขียนก็เกิดคำถามในใจว่า ทำไมหนังเรื่องนี้ต้องมาถ่ายเกาหลี? (ถ้าไม่นับเรื่องที่ได้เงินทุนจากบริษัทเกาหลี) เพราะตู้ baby box เองก็มีในญี่ปุ่น (ซึ่งโคเรเอดะก็ให้สัมภาษณ์ว่าตู้ baby box เป็นที่รู้จักและรับรู้ในสังคมเกาหลีมากกว่าญี่ปุ่น) แต่ดูเหมือนหนังจะไม่ได้เน้นเรื่องเจ้าตู้นี้นัก ส่วนเรื่องการเป็น ‘นายหน้า’ (broker) และธุรกิจการค้าเด็กก็ถูกเล่าอย่างเบาบาง และบางฉากก็ตลกโปกฮาจนแทบไม่ยึดโยงกับโลกเป็นจริง
ทั้งนี้แนวหนังหรือ genre ของเกาหลีที่โดดเด่นมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน หนึ่งคือทริลเลอร์ ซึ่ง Broker มีศักยภาพจะเป็นหนังแนวนั้นได้ และอันที่จริงโคเรเอดะก็สามารถทำหนังดาร์คๆ ได้อย่างดี (อย่างเรื่อง Distance (2001) หรือ The Third Murder (2017)) แต่อย่างที่กล่าวไปว่าเขาไม่เลือกทางนั้น ส่วนอีก genre ที่เกาหลีทำประจำคือเมโลดราม่า ซึ่งก็น่ายินดีที่ผู้กำกับไม่ได้เน้นความฟูมฟาย เขายังกำกับเหล่านักแสดงได้อย่างดี
ซึ่งถึงผู้เขียนจะเฉยๆ กับ Broker แต่ก็ยอมรับว่าทีมนักแสดงแข็งแรงอย่างมาก โดยเฉพาะอีจีอึน (Lee Jieun) หรือไอยู ที่เล่นเป็นสาวสก๊อยได้อย่าแนบเนียน (ขอยืนยันว่านี่คือคำชม) ส่วนด้านซงคังโฮ (Song Kangho) แอบแปลกใจอยู่ที่เขาได้รางวัลนำชายจากคานส์ ไม่ใช่ว่าเขาเล่นไม่ดี เพียงแต่ว่าบทบาทของตัวละครใน Broker ค่อนข้างจะเกลี่ยๆ กัน จนเขาไม่ได้โดดเด่นนัก
อีกอย่างที่โคเรเอดะทำได้ดีคือการสร้างคลุมเครือหลายอย่างในหนัง เช่น ภูมิหลังที่ไม่ได้บอกกล่าวและจุดยืนที่เปลี่ยนไปมาของตัวละครตำรวจหญิง ที่นำแสดงโดยแบดูนา (Bae Doona) ทำให้เธอเป็นตัวละครที่น่าสนใจ (และอาจจะน่าหงุดหงิดใจสำหรับบางคน) หรือการแสดงออกทางอารมณ์ของตัวละครที่ถูกคุมไม่ให้ล้นเกินไป อย่างฉากของไอยูกับคังดงวอน (Gang Dongwon) กับชิงช้าสวรรค์ที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นฉากที่ดีที่สุดในหนังเลยทีเดียว เรียกได้ว่าถ้าอยากทำฉากนางเอกร้องไห้แบบไม่ฟูมฟายแต่ทรงพลังก็ต้องมาดูฉากนี้เป็นตัวอย่าง