“อย่ามีลูก ถ้าคุณจะทอดทิ้งเขา” – นักสืบลี
“มีลูกเมื่อพร้อม” “จะมีลูกทำไม ถ้าไม่พร้อมเลี้ยง?” คงเป็นประโยค และคำถามที่สังคมไทยเรามักพูดกันบ่อยๆ และในภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง ‘Broker’ ของ ฮิโรคาสุ โคเระเอดะ ผู้กำกับชาวญี่ปุ่น เจ้าของรางวัลรางวัลปาล์มทองคำ จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ที่กลับมาพร้อมภาพยนตร์เรื่องใหม่ ครั้งนี้นอกจากจะเปลี่ยนจากนักแสดงญี่ปุ่น มาเป็นเกาหลีแล้ว ยังคงคอนเซปต์ของครอบครัว ศีลธรรม สังคมให้เราได้คิดตาม และตั้งคำถามอีกครั้ง
Broker เริ่มเล่าเรื่องด้วยฉากที่คุณแม่วัยใสอย่างโซยอง (อี จีอึน หรือ IU) นำลูกไปทิ้งไว้ที่ Baby box หรือกล่องทารกในโบสถ์แห่งหนึ่ง ก่อนที่ซังฮยอน (ซง คังโฮ) เจ้าของร้านซักรีด และอาสาสมัครที่ทำงานให้โบสถ์นั้น พร้อมกับดงซู (คัง ดงวอน) ลูกน้องของเขา จะขโมยเด็กทารกจากกล่อง ไปขายในตลาดมืด
ประเด็นของความเป็นแม่ และการมีลูกเมื่อไม่พร้อม มักทำให้ผู้หญิงถูกมองในแง่ลบเสมอ ไม่ว่าจะเลือกทำแท้ง หรือทิ้งลูก ซึ่งบทความนี้ ก็อยากจะหยิบประเด็นกล่อง Baby box ที่มีอยู่จริงๆ ในประเทศเกาหลีมาเล่าว่า เกิดขึ้นได้ยังไง ส่งผลยังไงต่อสังคมเกาหลี และขณะที่ประเทศไทย ยังไม่มีการทำแท้งเสรีนั้น เกาหลีใต้มีกฎหมายเรื่องทำแท้งอย่างไร
Baby box กล่องรับเด็กทารก ของแม่ๆ ที่ไม่พร้อม
ไอเดีย หรือคอนเซปต์เรื่อง Baby hatch หรือ Baby box ไม่ใช่แนวคิดสมัยใหม่ แต่เริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคกลาง ในประเทศ เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 มีพระราชกฤษฎีกาว่าควรติดตั้งกล่อง หรือจุดรับเด็กทารกไว้ เพื่อให้ผู้หญิงนำลูกของตนมาไว้ได้ แทนที่จะฆ่าเด็กทารกเหล่านั้น เพราะในยุคนั้นมีการพบเด็กทารกจมน้ำจำนวนมากในแม่น้ำไทเบอร์ และหลังจากนั้น กล่องหรือช่องสำหรับรับเด็กทารกนี้ก็เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป
แต่สำหรับเกาหลีใต้นั้น Baby box เพิ่งจะเริ่มมีขึ้นในปี ค.ศ.2009 โดย ลีจองรัก บาทหลวงของโบสถ์จูซารังคอมมูนิตี้ บาทหลวงลีเล่าว่า ในปี ค.ศ.2007 เขาได้รับโทรศัพท์จากผู้หญิงคนหนึ่ง เธอกล่าวขอโทษที่เธอได้ทิ้งลูกไว้หน้าประตูโบสถ์ เมื่อบาทหลวงเปิดประตูออกไปดู ก็พบว่าทารกนั้นเสียชีวิตแล้ว ซึ่งเคสนี้ไม่ใช่เคสแรกของการทอดทิ้งเด็กทารกในประเทศ โดยเฉพาะตามสถานที่ต่างๆ อย่างถึงขยะ ห้องน้ำสาธารณะ หรือตู้ล็อกเกอร์นั้น มักเป็นจุดที่มีการทิ้งทารกไว้
จนกระทั้งในปี ค.ศ.2009 บาทหลวงลีได้อ่านข่าวเกี่ยวกับ Baby box ในสาธารณะรัฐเช็ก เขาจึงได้นำไอเดียมา และเริ่ม Baby box แห่งแรกของเกาหลีในปีนั้น โดยจากข้อมูลล่าสุด พบว่าตั้งแต่ปี ค.ศ.2009 ถึง ค.ศ.2020 มีเด็กทารกที่ถูกนำมาไว้ในกล่องแล้ว มากกว่า 1,800 คน บาทหลวงลี เล่าว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยแล้ว ทารกหนึ่งคนถูกทิ้งไว้ในกล่องวันเว้นวัน และหลังจากการสอบสวนของตำรวจ ในขั้นตอนต่างๆ แล้ว เด็กทารกจะถูกส่งไปยังสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าหรือบ้านอุปถัมภ์
แน่นอนว่าการมี Baby box ในประเทศเกาหลี ก็ไม่ใช่จะไม่มีดราม่าตามมา เพราะบาทหลวงลีเอง ก็มักจะถูกกล่าวหาว่า เขาสนับสนุนให้แม่ๆ ทอดทิ้งลูกอย่างง่ายได้ และหันมาใช้วิธีที่ง่ายที่สุดในการปัดความรับผิดชอบในการเลี้ยงดูลูกด้วย ทั้งช่วงปีแรกๆ เอง รัฐบาลก็ยังเรียกร้องให้มีการถอดถอนตู้ออก โดยบอกกับบาทหลวงลีว่าเขาอาจถูกตั้งข้อหาทางอาญาในการช่วยเหลือ และสนับสนุนการทอดทิ้งเด็ก รวมไปถึงเขายังมักได้รับสายจากประชาชนที่โทรมาก่นด่า ด้วยความโมโห
ทั้งในปี ค.ศ.2019 เอง เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในเกาหลีซึ่งประกอบด้วยกลุ่มพลเมืองมากกว่า 400 กลุ่ม ยังได้ยื่นรายงานต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กภายใต้องค์การสหประชาชาติว่า Baby Box ละเมิดอนุสัญญาสิทธิของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งระบุว่า “เด็กจะต้องลงทะเบียนทันทีที่เขาเกิด” เนื่องจากทารกส่วนใหญ่จากกล่องทารกไม่สามารถลงทะเบียนได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะเกิดการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม ทั้งกลุ่มพลเมืองยังให้เหตุผลว่า Baby box สนับสนุนการทอดทิ้งเด็ก
แต่ถึงอย่างนั้น กระบวนการของบาทหลวงลีก็ไม่ได้จบลง เมื่อพ่อแม่นำเด็กๆ มาทิ้งไว้ที่กล่อง แต่บาทหลวง หรือเจ้าหน้าที่จะพยายามวิ่งออกไปหา ก่อนจะพูดคุยสั้นๆ เพื่อพยายามให้พวกเขาเปลี่ยนใจ โดยบาทหลวงเล่าว่า เขาได้พูดคุยกับพ่อแม่อย่างน้อย 95 เปอร์เซ็นต์ และมีประมาณ 17 คนที่เปลี่ยนใจ ซึ่งสำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ตัดสินใจเลี้ยงดูลูก ทางโบสถ์จะช่วยเหลืออย่างการให้เงิน ให้คำปรึกษา หรืออุปกรณ์ต่างๆ ด้วย
เรื่องราวของบาทหลวงลี และกล่อง Baby box นี้ถูกสร้างเป็นสารคดีมาแล้ว ในชื่อ The Drop Box ในปี ค.ศ.2015 โดยผู้กำกับสารคดีชาวอเมริกัน และเข้าฉายในอเมริกา และเมื่อหนัง Broker เข้าฉายในเกาหลีใต้แล้ว ก็ทำให้มีการพูดถึงกล่อง Baby box มากขึ้น ควบคู่ไปกับตัวเลือกอย่างการทำแท้งด้วย และแม้ว่ากล่องของบาทหลวงลี จะเป็น Baby box กล่องแรกของเกาหลี แต่ในปี ค.ศ.2014 ในเมื่อกุนโพ ทางใต้ของโซล ก็มีการตั้งกล่อง Baby box ขึ้นอีกแห่ง ซึ่งก็มีพ่อแม่เอาเด็กทารกมาทิ้งไว้หลายร้อยคนเช่นกัน
การทำแท้งในเกาหลี ประเด็นที่เป็นสิ่งผิดกฎหมายมานานกว่า 6 ทศวรรษ
ในขณะที่การทอดทิ้งลูกๆ ไว้ในกล่อง จะทำให้ใครหลายๆ คน มองว่าเป็นความผิด ในทางกลับกัน อีกหนึ่งทางเลือกของผู้หญิง อย่างการยุติการตั้งครรภ์ หรือการทำแท้งนั้น ที่แม้จะบอกว่าเป็นทางเลือก แต่ก็มักถูกมองว่าเป็นความผิดบาป และถือว่าเป็นอาชญากรรมมาก่อน ก่อนที่ศาลเกาหลีใต้จะเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ให้การทำแท้งไม่ถือว่าเป็นความผิด และมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ.2021 ที่ผ่านมานี้เอง
ก่อนหน้าที่ศาลจะเปลี่ยนแปลงกฎหมาย การทำแท้งในเกาหลีถือว่าผิดกฎหมาย และมีผู้หญิงที่ทำแท้งอย่างลับๆ ซึ่งอาจแฝงมาด้วยความอันตรายมากถึง 50,000 – 500,000 คน โดยการตีตราว่าการทำแท้งผิดกฎหมายนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการสร้างชาติ หรือปี ค.ศ.1953
ภายใต้กฎหมายเก่านั้น การทำแท้งด้วยตนเองมีโทษปรับหรือจำคุก และการทำแท้งได้รับอนุญาตภายใต้สถานการณ์พิเศษที่ระบุไว้ในกฎหมายเท่านั้น เช่น คู่สมรสทนทุกข์ทรมานจากความพิการทางพันธุกรรม ผู้หญิงถูกข่มขืนหรือกึ่งข่มขืน หรือการตั้งครรภ์ต่อไปอาจเป็นอันตรายต่อมารดา เป็นต้น แต่ก็ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อนจึงจะทำแท้งได้ ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมมีการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม และมีการทำแท้งอย่างผิดกฎหมายมาตลอด ที่มีทั้งอันตราย ไม่ถูกสุขอนามัย และอาจถึงแก่ชีวิตได้ ผู้หญิงที่ถูกจับได้ว่ายุติการตั้งครรภ์ต้องเสียค่าปรับสูงสุด 2 ล้านวอน (ประมาณ 55,000 บาท) หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่ถูกจับได้ว่าทำแท้งอาจถูกจำคุกสูงสุดสองปี
กลุ่มสิทธิสตรีในเกาหลีใต้ใช้เวลาหลายปีในการรณรงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายผ่านการใช้คำร้อง จดหมายเปิดผนึก และการเดินขบวนอย่างสันติ จนกระทั่งในปี ค.ศ.2019 ที่ศาลมีการตัดสิน และให้การทำแท้งที่เป็นความผิดทางอาญากลายเป็นโมฆะ ก่อนจะมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ.2021 ซึ่งเป็นเหมือนชัยชนะให้กับผู้หญิง หรือเป็นอีกขั้นของสิทธิสตรีที่ก้าวหน้าในประเทศปิตาธิปไตยอย่างเกาหลี
ถึงอย่างนั้น แม้จะมีการแก้กฎหมาย แต่เส้นทางของผู้หญิง และการตั้งครรภ์ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะยังมีปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นได้ เช่น การที่โรงพยาบาลจะปฏิเสธที่จะทำแท้งให้กับผู้ป่วยบางราย การขาดความช่วยเหลือทางกฎหมายทำให้เกิดความสับสนในหมู่ผู้หญิง และแม้การทำแท้งจะไม่ได้เป็นความผิดทางอาญาแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีกฎหมายที่รับประกันการเข้าถึงการทำแท้งของผู้หญิงด้วย รวมไปถึงสังคมที่มีกลุ่มเคร่งศาสนาจำนวนมาก มักทำให้ผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงาน แต่ตัดสินใจทำแท้งถูกขับไล่จากครอบครัว หรือถูกกดดันไม่ให้ทำแท้ง ซึ่งในความเป็นจริง สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ควรได้รับการคุ้มครองด้วย
ประเด็นของหนัง Broker เอง แม้จะไม่ได้แตะเรื่องของการทำแท้ง แต่เรื่องการมีลูก และสามารถเลี้ยงลูกเมื่อพร้อมก็เป็นประเด็นที่พูดถึง รวมไปถึงคำถามที่ว่า จะมีลูกทำไมถ้าไม่พร้อม การยุติการตั้งครรภ์ ก่อนให้กำเนิดจะบาปน้อยกว่าการทอดทิ้งลูกไหม? ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นวัฏจักรที่ไม่มีที่สิ้นสุด ที่ผลักผู้หญิงเข้าสู่สถานการณ์ที่ล้วนแต่ส่งผลให้เกิดความเจ็บปวด
อ้างอิงจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart