คุณเคยมีจุดที่ทำงานอยู่ดีๆ ก็ต้องหยุดตั้งคำถามกับตัวเองว่า “นี่ทำx่าอะไรอยู่วะเนี่ย” กันบ้างไหมครับ
แน่นอนว่าผมเองก็ไม่รู้หรอกว่างานที่ทำให้ใครสักคนถึงกับสบถออกมานั้นต้องหนักหนาสาหัส หรือไร้สาระสักแค่ไหน ถ้าคุณเป็นกลุ่มแรกที่เหน็ดเหนื่อยเพราะงานหนัก อันนี้ยังพอเข้าใจ แต่ถ้าคุณเป็นกลุ่มหลังที่เหน็ดเหนื่อยกับชีวิตเพราะงานที่ทำอยู่ช่างดูไม่สร้างคุณประโยชน์ใดๆ เลย ผมอยากบอกว่า คุณไม่ได้รู้สึกอย่างนี้อยู่คนเดียวหรอกครับ
David Graeber นักมานุษยวิทยาแห่ง London School of Economics เองก็สังเกตเห็นปรากฏการณ์คล้ายๆ กันนี้ในสังคมเหมือนกันครับ ปรากฏการณ์ที่อาจเรียกได้ว่า Bullshit Jobs ที่หากจะแปลกันตรงๆ คงประมาณว่า ‘อาชีพตอหลดตอแหล’ ตามนิยามของ Graeber เอง ที่เขาได้ให้คำอธิบายไว้ว่า
Bullshit Job คือรูปแบบหนึ่งของการจ้างงานที่แสนจะไร้จุดหมาย ไม่มีความจำเป็น หรือกระทั่งเป็นอันตราย ในระดับที่ตัวลูกจ้างก็ไม่อาจสร้างความชอบธรรมต่อการมีอยู่ของอาชีพนั้นๆ แต่เพียงเพราะมันคือเงื่อนไขหนึ่งของการจ้างงาน พวกเขาจึงจำเป็นต้องแสร้งแสดงว่า งานของพวกเขาไม่ใช่งานที่ไร้ประโยชน์
พูดอีกอย่าง Bullshit Job คืออาชีพใดๆ ก็ตาม ที่ความไร้ประโยชน์ของมันไม่ได้วัดค่าด้วยสายตาของคนนอกแค่เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงตัวผู้ประกอบอาชีพนั้นๆ เองก็ตระหนักดีถึงความไร้สาระ และไร้คุณค่าของอาชีพตัวเอง ในระดับที่ว่า ต่อให้ตำแหน่งนี้ไม่มีอยู่ หรือตัวเขาหายไปสักคน ก็ย่อมไม่สร้างผลกระทบใดๆ ให้กับองค์กรนั้นๆ พูดง่ายๆ คือ ‘งานห่วยๆ ที่ไม่มีใครอยากพูดถึงมัน’ นั่นแหละครับ
Graeber เชื่อว่า Bullshit Job มีอยู่ทุกที่ทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็อธิบายว่า Bullshit Job กับ Shit Job ถือเป็นคนละอย่างกัน เพราะสำหรับเขาแล้ว Shit Job สามารถเป็นได้ทั้งอาชีพที่ต้องใช้พลังอย่างหนักหนาสาหัส หรืองานที่คนทำเองไม่ได้มีความสุขกับมันนัก แต่อย่างน้อยๆ ก็ยังรับรู้ถึงประโยชน์ของมันบ้าง ยังสัมผัสได้ถึงความสำคัญของตัวเขาในฐานะผู้ประกอบอาชีพนี้บ้าง ไม่ได้รู้สึกราวกับตัวเองเป็นฝุ่นละอองเหมือนกับ Bullshit Job นั่นเองครับ
จากการทำแบบสำรวจของ Graeber เอง เขาได้แตกย่อย Bullshit Job ออกเป็น 5 แขนงด้วยกัน นั่นคือ
Flunkies : อาชีพใดๆ ที่ประโยชน์ของพวกเขามีแค่เพียงทำให้นายจ้าง หรือบุคคลใดๆ รู้สึกว่าตัวเองสูงส่ง และสำคัญ อย่างเช่น คนเปิดประตู หรือเลขาหน้าห้องที่ทั้งวันแทบจะไม่มีโทรศัพท์เข้าสักสาย
Goons : อาชีพใดๆ ที่ประโยชน์ของพวกเขาคือคอยงัดข้อกับคนอื่นๆ เพียงเพื่อให้เห็นว่าองค์กรของตัวเองมีชื่อเสียง และน่าเชื่อถือ ทั้งที่จริงๆ ไม่จำเป็น Graeber ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัย Oxford ที่ก็ยังมีอาชีพซึ่งคอยโน้มน้าวใจสาธารณะให้เชื่อว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้ดีจริง ทั้งที่ในความเป็นจริง ชื่อของ Oxford เองก็มีมากพอแล้ว
Duct Tapers : อาชีพใดๆ ที่ถูกจ้างเพียงเพื่อจะคอยแก้ไข หรือปะซ่อมความผิดพลาดใดๆ ที่พวกหัวหน้าเกียจคร้านเกินกว่าจะทำเอง ตัวอย่างเช่น พนักงานของสายการบินใดๆ ก็ตามที่ต้องรับหน้ากับความโกรธของผู้โดยสารเมื่อกระเป๋าเดินทางเกิดเดินทางมาไม่ถึง
Box Tickers : อาชีพใดๆ ที่ทั้งวันของพวกเขา คือการปฏิบัติงานให้ตรงตามเป้าหมายในแต่ละวัน พูดอีกอย่างคือ อาชีพที่ต้องปั้นหน้าจริงจัง หรือแสร้งแสดงว่าพวกเขากำลังทำอะไรบางอย่าง ทั้งที่ในความจริงพวกเขาไม่ได้ทำอะไรเลย ตัวอย่างเช่น พนักงานทำรีพอร์ตขององค์กรใดๆ ที่ต้องทำรีพอร์ตทุกๆ สิ้นเดือน เพียงเพื่อจะพบว่า ท้ายที่สุดแล้วรีพอร์ตนั้นๆ ไม่ได้รับการเหลียวแล หรือให้ความสำคัญด้วยซ้ำ แต่ที่ต้องทำเพราะเจ้านายสั่งว่ามันต้องมี
Taskmasters : อาชีพนี้แบ่งย่อยได้เป็นสองประเภทด้วยกัน คือหนึ่ง พวกที่มีตำแหน่งใหญ่โตอย่างไม่จำเป็น ที่คอยบงการและสั่งงานผู้คนซึ่งสามารถทำงานของพวกเขาเองได้ ไม่จำเป็นต้องมีใครมาชี้นิ้วบงการ กับสอง พวกขยันสร้างงาน ที่หน้าที่ของพวกเขาคือการคอยสร้างงานโง่ๆ และไร้สาระ เพียงเพื่อจะให้ลูกจ้างดูเหมือนว่ามีงานทำ
ในปี 1930 John Maynard Keynes นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ เคยคาดการณ์ไว้ว่า ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เทคโนโลยีจะพัฒนาขึ้นอย่างมาก ในระดับที่ประเทศอย่างอังกฤษ และแคนาดา จะก้าวไปถึงจุดที่ประชาชนใช้เวลาทำงานเพียง 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพปัจจุบัน ที่เรายังคงต้องทำงานอย่างน้อยๆ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน ก็ดูเหมือนว่าเราจะไม่ได้เข้าใกล้กับอนาคตที่ Keynes กล่าวไว้เลยนะครับ คำถามคือทำไมถึงเป็นเช่นนี้กันล่ะ
ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า Keynes ไม่ได้คาดการณ์ผิดในเรื่องของเทคโนโลยี เพียงแต่ปัญหากลับอยู่ที่ว่า อาชีพหรือแรงงานที่เทคโนโลยีได้เข้ามาแทนที่นั้น อยู่ในส่วนของ Productive Job หรือสายงานอุตสาหกรรม ที่ในสมัยหนึ่งจำเป็นต้องใช้แรงงานมนุษย์อย่างมหาศาล แต่เมื่อเครื่องจักรสามารถปฏิบัติการได้อย่างแม่นยำขึ้น แรงงานคนจึงถูกแทนที่ได้โดยง่าย แต่แทนที่คนจะมีเวลาว่างมากขึ้น กลับเกิดปรากฏการณ์ที่ว่า อาชีพรูปแบบใหม่ได้งอกเงยขึ้นมาอย่างน่าตกใจ
สถิติระบุว่าในช่วงปี 1910 – 2000 ในสหรัฐฯ นั้น ตัวเลขของแรงงานที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือภาคการเกษตรลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดจากการเข้าแทนที่ของเครื่องจักร แต่เวลาว่างของมนุษย์ก็ได้ถูกแทนที่ด้วยอีกรูปแบบหนึ่งของอาชีพ นั่นคือ ‘งานบริการ’ ที่ในยุคสมัยหนึ่งไม่เคยมีมากมาย หรือดูเป็นที่ต้องการเท่ากับในปัจจุบัน
Graeber ชี้ว่า ปรากฏการณ์นี้น่าสนใจทีเดียวครับ เพราะการเกิดขึ้นของอาชีพที่ดูจะไม่จำเป็นจำนวนมาก หากพิจารณาตามประวัติศาสตร์มักจะเกิดขึ้นในประเทศสังคมนิยม ที่จำเป็นต้องสร้างอาชีพให้กับประชาชนทุกคนในรัฐ เช่นการจะซื้อเนื้อสักชิ้นในประเทศนั้นๆ อาจจำเป็นต้องใช้พนักงานถึง 3 คนทีเดียว นั่นคือ คนหั่น คนช่างน้ำหนัก และคนห่อเนื้อ ทั้งที่จริงๆ พนักงานเพียงคนเดียวก็เพียงพอ แต่เป็นเพราะความจำเป็นที่ต้องกระจายแรงงานให้กับทุกๆ คน อะไรๆ เลยมากขั้น มากตอนกว่าที่จำเป็น
แต่ในปัจจุบัน งานหรืออาชีพที่ดูจะไม่จำเป็นนี้กลับปรากฏให้เห็นในระบอบทุนนิยม ที่ควรจะรีดเค้นประสิทธิภาพของบุคคลใดๆ ให้มากที่สุด แต่กลับกลายเป็นการจ้างงานอย่างไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด หรือคอยแต่จะสร้างอาชีพที่ไร้ประโยชน์มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งช่างเป็นเรื่องพิศดารที่ชวนให้ประหลาดใจเสียเหลือเกินครับ