ในหนึ่งสัปดาห์ เราใช้เวลากับการทำงานไปแล้วเกินครึ่ง แต่พอลอง Zoom Out หน้าปฏิทิน มันไม่ใช่แค่สัปดาห์ แต่เป็นเดือน เป็นปี และต่อไปอีกหลายปี เราเลยใช้เวลาอยู่กับงานมากพอๆ กับการใช้ชีวิตประจำวัน ถ้าหากได้งานดี มีความสุขไปกับมัน เราก็คงรู้สึกว่าวันเวลาช่างผ่านไปอย่างง่ายดาย แต่ถ้าหากงานที่ว่านั้น กลายเป็นงานที่ทำให้เรารู้สึกผิดที่ผิดทาง ทำได้ แต่ไม่มีความสุข รู้สึกถึงความไม่ใช่ เราจะบอกให้ตัวเองมีความแรงลุกขึ้นในเช้าวันจันทร์ไปได้อีกนานแค่ไหนกัน
ก่อนจะก้าวเข้ามาทำงานที่ไหนสักที่ เราเองก็ต้องเฟ้นหาบริษัทหรือตำแหน่งที่คิดมาแล้วว่าเหมาะกับเรา ก่อนจะตกลงทำงานอย่างเป็นทางการ แต่บางอย่างก็ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรือเห็นได้ในวันสัมภาษณ์ ว่าบางสิ่งจะเป็นอย่างที่เราคิดหรือไม่ พอก้าวเข้ามาแล้วอาจจะรู้ตัวว่าไม่ถูกใจอย่างที่คิดไว้ก็ได้ หรือแม้แต่ทำงานนี้มาเนิ่นนาน ทำมาหลายปี แต่วันหนึ่งเกิดรู้สึกว่ามันไม่ใช่สำหรับเราอีกต่อไปแล้ว ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
แน่นอนว่าไม่มีงานไหนดีที่สุด ถูกใจที่สุดไปเสียทุกอย่าง แต่ก็คงจะดีกว่า หากเราได้เลือกงานที่เราไม่ถูกใจน้อยที่สุด ยังพอมีด้านดีคอยเรียกเราให้ลุกขึ้นจากที่นอนไปทำงาน คอยเป็นน้ำทิพย์คลายความเหนื่อยล้าในวันหนักๆ ได้อยู่บ้าง หากใครรู้สึกว่าการตื่นไปทำงานนั้นช่างเป็นเรื่องยาก นึกภาพตัวเองไปทำงานทีไร มีแต่ความเหี่ยวเฉา ลองมาสำรวจงานตัวเองในวันทำงานกันหน่อย ว่างานที่ทำอยู่นั้น มันอาจไม่เหมาะกับเราหรือเปล่านะ?
ไม่เคยมีความสุขในทุกเช้าวันทำงาน
เมื่อมุกตลกวัยทำงานเรื่องเช้าวันจันทร์ ไม่ได้สร้างความขำขันให้เราอย่างเคย มันกลายเป็นความจริงที่ทิ่มแทงใจ เมื่อเช้าวันทำงาน กลายเป็นช่วงเวลาที่เราไม่มีความสุขกับมัน เมื่อรู้ว่าเรากำลังต้องเผชิญกับอะไรในวันนั้น อาจฟังดูเหมือนความขี้เกียจลุกในตอนเช้า ขี้เกียจเบียดเสียดกับผู้คนบนรถไฟฟ้า แต่ลองมองข้ามเหตุผลเหล่านั้นไป เราจะยังมีความสุขอยู่หรือเปล่า เรามีงานที่ชอบ มีออฟฟิศแสนสะดวกสบาย มีเพื่อนร่วมงานที่ดี คอยเป็นเหตุผลดีๆ ให้เราลุกไปทำงานอยู่หรือเปล่า หรือมีเพียงเหตุผลของเรื่องปากท้อง ที่คอยผลักดันให้เรากัดฟันลุกไปทำงานเท่านั้น
ไม่มีออฟฟิศไหนที่ดีหรือแย่ไปเสียทุกอย่าง ลองพิจารณาถึงความสุขในการทำงานของเราดูว่า เรารู้สึกดีกับการทำงานของเรามากน้อยแค่ไหน หากเราแค่ขี้เกียจเฉยๆ เรายังคงมีข้อดีอื่นๆ ที่เชื้อเชิญให้เราลุกไปทำงานได้ แต่ถ้าหากเราไม่มีความสุขกับงานจริงๆ อาจจะต้องทบทวนกันดูอีกครั้ง
ไม่เคยได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่
ตอนสัมภาษณ์งาน เชื่อว่าหลายคนเคยโดนยิงคำถาม “เก่งด้านไหน?” “ชอบทำอะไร?” หรือแม้แต่การคัดใครสักคนเข้ามาทำงาน หยิบโปรไฟล์มาดูแต่ละครั้ง ก็เพื่อประเมินความสามารถ ประสบการณ์ ว่าใครจะมีเหมาะกับตำแหน่งนั้นมากกว่ากัน เมื่อมีโอกาสได้ทำงาน เราจึงอยากทุ่มเทกับงานให้เต็มที่ ใช้ความสามารถที่มีให้เห็น แต่พอเข้ามานั่งเก้าอี้นี้แล้ว ทำงานไปวันแล้ววันเล่า กลับไม่มีโอกาสได้ใช้ความสามารถของเราจริงๆ เสียที
แต่ละคนต่างมีความสามารถ มีข้อดี มีจุดแข็งเป็นของตัวเอง และอยากได้ทำในสิ่งที่ตัวเองเก่ง สิ่งที่ตัวเองถนัดกันทั้งนั้น แต่ถ้าหากงานที่เราทำอยู่ ไม่เอื้ออำนวยให้เราแสดงความสามารถ หรือไม่อาจหยิบความเก่งกาจของเรามาใช้ได้ อาจทำให้เราเกิดอาการสนิมจับเมื่อไม่ได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ และเราคงรู้สึกว่าเรากำลังอยู่ถูกที่ถูกทางมากขึ้น
บั่นทอนจนหมดไฟ
หากเป็นงานที่เรารักและมีความสุขกับมัน ต่อให้เราเหนื่อยหรือเจอเรื่องยากแค่ไหน แพชชั่นของเราจะกลับมาลุกโชนได้เสมอ แต่ถ้าหากเป็นงานที่มันอาจจะไม่ได้เหมาะกับเรา หรือเราไม่ได้มีความสุขกับมันมากขนาดนั้น เรื่องราวจะกลับตาลปัตร กลายเป็นการทำงานนั้นช่างบั่นทอนความรู้สึก ความทะเยอทะยาน ความกระตือรือร้นของเราไปหมดสิ้น เหลือไว้เพียงมนุษย์ทำงาน routine ที่ทำได้อย่างมากแค่คงคุณภาพงานในระดับมาตรฐาน แล้วรอให้แต่ละวันผ่านพ้นไป
เรากำลังเป็นแบบนั้นอยู่หรือเปล่า? ลองสำรวจตัวเองถึงความกระตือรือร้นในการทำงาน ลองเทียบกันในวันแรกและวันนี้ เรายังรู้สึกกับงานเหมือนเดิมหรือเปล่า? เราอาจจะมีวันที่เหนื่อยได้ เราอาจจะท้ออยากพาตัวเองไปพักผ่อนก็ไม่ผิด แต่ความรู้สึกของเรามันสามารถกลับมาลุกโชนได้เหมือนเดิมแค่ไหน ถ้าหากเรารู้สึกว่ากำลังอยู่ในภาวะหมดไฟ ลองพิจารณาดูว่างานที่เรากำลังทำนั้น เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เรารู้สึกแบบนี้อยู่หรือเปล่า
ไม่รู้ว่าเรานั้นสำคัญกับองค์กรแค่ไหน
ไม่ใช่แค่เรื่องของความเล็กใหญ่ในตำแหน่ง แต่เป็นเรื่องของความสำคัญที่เราได้รับ ไม่ว่าการทำงานของเรานั้นจะเป็นโปรเจ็กต์เล็กใหญ่ขนาดไหน ตราบใดที่เราได้รับความสำคัญ ได้รับการปฏิบัติจนเรารู้สึกถึงความสำคัญ เห็นคุณค่าในผลงานของเรา จะช่วยให้เรารู้สึกว่าเรากำลังมีที่ยื่นในที่แห่งนี้
เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่การเอาอกเอาใจพนักงาน แต่มันคือการให้ความสำคัญ เพื่อให้พนักงานรู้สึกถึงคุณค่าในงานที่ทำ ว่าสิ่งนั้นสำคัญกับองค์กรแค่ไหน ลองถามตัวเองดูว่า องค์กรเห็นคุณค่าในงานที่เราทำมากแค่ไหน ได้ให้น้ำหนักกับตำแหน่งของเราบ้างหรือเปล่า หากคำตอบที่ได้ อาจช่วยให้เราเห็นจุดยืนของเราเองมากขึ้น
งานไม่ตรงตามหน้าที่
ในทุกตำแหน่งจะมีขอบเขตของงาน (Job Description) ระบุไว้อย่างชัดเจนเสมอ เพื่อกำหนดหน้าที่ งานที่ได้รับมอบหมาย และป้องกันการทำงานซ้ำซ้อนกัน ผู้สมัครเองก็เลือกงานจาก Job Description ว่าเราเหมาะกับงานแค่ไหน สามารถรับผิดชอบงานได้หรือเปล่า องค์กรเองก็เลือกคนที่สามารถรับผิดชอบงานนั้นได้ ฟังดูเรียบง่าย แต่ปัญหาที่หลายคนเจอ คือ งานไม่ตรงขอบเขตหน้าที่
ไม่ว่าจะเข้าปุ๊บจับไปทำอย่างอื่นทันที หรือทำงานไปนานๆ เกิดหน้าที่อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานเดิมโผล่ขึ้นมา สุดท้ายผลของมันก็คือการรับผิดชอบงานนอกเหนือหน้าที่ แน่นอนว่าใครก็ต้องการทำงานที่ตัวเองถนัด ทำงานที่ตัวเองรับผิดชอบ แต่พอมีงานอื่นเข้ามาแทรกโดยไม่เต็มใจ เรามีสิทธิ์ที่จะทักท้วงเรื่องนี้ได้ หรือถ้าหากเราเต็มใจที่จะรับงานอื่นๆ เข้ามาอยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของเรา แต่อย่าลืมว่า หน้าที่ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ตกลงกันไว้ นั่นหมายถึงเราควรจะได้ค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นด้วย หากเราไม่ได้ค่าตอบแทนตามสมควร เราควรพิจารณาเรื่องการทำงานนอกเหนือ Job Description ไว้ให้ดี ว่างานที่เราอยู่นี้มันยุติธรรมกับน้ำพักน้ำแรงของเราหรือเปล่า
ไม่มีงานใดที่ดีที่สุด แย่ที่สุด สิ่งที่เราควรทำคือชั่งน้ำหนักสิ่งที่เราเสียไป อย่างต้นทุนในการทำงาน สุขภายกาย สุขภาพใจ เมื่อแลกกับรายได้ ตำแหน่ง สิ่งแวดล้อม สังคมแล้ว เราพอใจกับงานนั้นแค่ไหน หากเรารู้สึกเสมอว่าพื้นที่ที่เราอยู่นั้น ไม่อาจมอบความสุขในการทำงานให้เราได้แม้แต่วันเดียว เราควรพิจารณาถึงพื้นที่อื่นที่อาจจะเหมาะกับเรามากกว่า
อ้างอิงข้อมูลจาก