คุณอาจเคยได้ยินคำว่า FOMO หรือ Fear of Missing Out (ความกลัวที่จะ ‘พลาด’ อะไรบางอย่าง)
คำนี้เป็นที่พูดถึงมากในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา – โดยสรุป, FOMO คือความกลัวที่มาพร้อมกับ ‘ความเคยชินที่ได้เห็นทางเลือกอื่นๆ’ เช่น กลัวว่าฉันอยู่บ้านแล้วจะใช้เวลา ‘ไม่คุ้ม’ ในขณะที่ก็เห็นอยู่ตำตาว่าเพื่อนๆ กำลังปาร์ตี้กันอยู่อีกที่ หรือกลัวว่าการดูซีรีส์หรืออ่านหนังสือเล่มหนึ่งจะเป็นการใช้เวลาที่ ‘ไม่ตอบโจทย์’ ในขณะที่ก็มีซีรีส์หรือหนังสือเล่มอื่นๆ ให้อ่านไม่รู้อีกกี่เท่า (เออ! ความรู้สึกนี้ ผมเป็นบ่อยมาก! ประมาณว่าชั่งน้ำหนักว่า ‘จะดูซีรีส์เรื่องนี้จนจบดีไหมในขณะที่ก็มีซีรีส์อีกเรื่องที่ดูน่าสนใจกว่ามาจ่อให้ดูแล้ว’)
หน้าจอโซเชียลมีเดียเป็นอุปกรณ์ชั้นดีในการนำเสนอสิ่งที่ ‘คุณอาจสนใจ’ มันนำเสนอ ‘ทางเลือก’ หลากหลายให้เรา ในขณะที่เราทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ เราก็อาจมีความกังวลว่าสิ่งที่เราทำนั้นจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดอยู่เสมอๆ
เมื่อการใช้งานโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น เราได้เห็น ‘ทางเลือกอื่น’ มากขึ้น ’ความกลัวที่จะพลาด’ หรือ FOMO จึงมากขึ้นตามไปด้วย
หมดไฟเพราะติดโซเชียล
ไม่นานมานี้มีการประดิษฐ์คำอีกคำขึ้นมาคู่กับ FOMO – คำคำนั้นคือคำว่า FOBO หรือ Fear of Burning Out (กลัวว่าจะหมดไฟ) คำนี้ถูกพูดถึงครั้งแรกๆ โดย Cal Newport ผู้เขียนหนังสือ Deep Work : Rules for Focused Success in a Distracted World (ทำงานเชิงลึก: กฎเพื่อประสบความสำเร็จในโลกที่สับสนวุ่นวายเสียเหลือเกิน)
ในหนังสือเล่มนี้ Newport พูดถึงปรากฏการณ์ที่เราได้ยินได้ฟังมาโดยตลอดตั้งแต่เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ประสบความสำเร็จ – นั่นคือ เขาอธิบายว่า ปัจจุบันคนเราติดโซเชียลมีเดียกันมากเกินไป (ขอบคุณมากที่บอก) ซึ่งการติดโซเชียลมีเดียมากเกินไปนี้อาจทำให้เราสูญเสียสมดุลระหว่างโลกเสมือนกับความจริง (ขอบคุณมากอีกเช่นกันที่บอก!) โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าโซเชียลมีเดียนั้นถูกออกแบบมาให้เราเสพติดในทุกๆ ส่วน
Newport คิดว่า แทนที่คนรุ่นใหม่จะ ‘กลัวจะพลาด’ (Fear of Missing Out) ให้มา ‘กลัวจะหมดไฟ’ (Fear of Burning Out) แทนเสียดีกว่า และเมื่อการติดโซเชียลมีเดียเป็นสาเหตุหนึ่งของการสูญเสียความสมดุลของชีวิต เขาจึงเสนอแนวทางการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันด้วยการลดการใช้โซเชียลมีเดียลง เช่น ให้แยกแยะว่าแอพไหนในโทรศัพท์เป็นเพียง ‘การแก้เบื่อ’ และแอพไหนที่ใช้เพื่อจุดประสงค์เฉพาะ
นี่เป็นความเคลื่อนไหวเช่นเดียวกับกระแสอย่าง Digital Minimalism ที่เป็นความพยายามในการจำกัดขอบเขตการใช้งานโซเชียลมีเดีย Craig Link บรรณาธิการของเว็บไซต์ Digital Minimalism บอกว่า เขาเองเคยเป็นคนที่ติดโซเชียลมีเดียหนักๆ มาก่อน แต่การจัดระเบียบชีวิตดิิจิทัลใหม่ด้วยการลดพื้นที่การเก็บข้อมูลในโทรศัพท์มือถือลง หรือการลดโซเชียลเนตเวิร์กที่ใช้เหลือเพียงหนึ่งหรือสองตัว ก็ทำให้เขามี ‘ชีวิตใหม่’ ที่ไม่เครียดเท่าเดิมได้
หมดไฟเพราะบริษัท ‘เยอะ’
เป็นเรื่องปกติที่เราจะได้ยินคนทำงานรุ่นใหม่ๆ บ่นว่ารู้สึกแห้งเหี่ยวหรือหมดไฟกับงานจนไม่อยากตื่นขึ้นมาในตอนเช้า ในการสำรวจครั้งหนึ่งโดย American Psychological Association พบว่าคนรุ่นใหม่ (millenials) ครึ่งหนึ่งนั้นเครียดจนนอนไม่หลับในเดือนที่ผ่านมา สาเหตุของความเครียดหลักๆ นั้นมาจากสองอย่าง คือเงิน กับงาน (ซึ่งสัมพันธ์กันอย่างช่วยไม่ได้) และจากการสำรวจอีกครั้ง ที่สำรวจคนทำงานที่มีอายุต่ำกว่า 34 ปีก็พบว่ามีคนทำงานมากถึง 64% ที่รู้สึกว่า ‘งานหนักเกินไปทำงานไม่ไหวแล้ว’ (ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุมากกว่า จะรู้สึกว่างานหนักเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่านี้)
สาเหตุของการหมดไฟอย่างหนึ่งก็คือ ปัจจุบันบริษัทอาจมีความคาดหวังกับพนักงานมากเกินไป เช่น อาจต้องการให้พนักงานออนไลน์ตลอดเวลา ไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างการทำงานกับการพักผ่อน ความคาดหวังของบริษัทที่มีต่อพนักงานนี้อาจไม่ได้อยู่ในข้อตกลงหรือเป็นความคาดหวังแบบตรงๆ แต่อาจเป็นความคาดหวังอ้อมๆ ผ่านทางพฤติกรรมของเพื่อนร่วมงาน (เช่นว่า ‘ใครๆ ก็ทำ ถ้าฉันไม่ทำคงดูแย่’)
ปัญหาความคาดหวังทั้งจากบริษัทและวัฒนธรรมองค์กรนี้ถูกพูดถึงบ่อยครั้งจนทั้งองค์กรและภาครัฐของหลายประเทศก็ตระหนักเป็นอย่างดี และเสนอทางแก้ไขต่างๆ เช่นเยอรมนีทำแคเมปญรณรงค์ให้คนพักผ่อนจากงานกันมากขึ้น ฝรั่งเศสมีการเรียกร้องให้ผู้บริหารที่สร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เป็นมิตรรับผิดชอบหลังจากมีพนักงานฆ่าตัวตาย องค์กรด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักรก็สื่อสารให้นายจ้างมีความเข้าใจเรื่องสมดุลการทำงานที่ดีขึ้น และมีการกำหนดกฎเกณฑ์และขอบเขตในการทำงานที่หากนายจ้างฝ่าฝืนและใช้งานลูกจ้าง ‘เกินไป’ ก็อาจถูกจับหรือปรับ เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่มีการตระหนักเรื่อง Karoshi (หรือทำงานหนักจนตาย) มากขึ้น
(เกร็ด: การทำงานหนักเกินไปจนตาย ญี่ปุ่นใช้คำว่า Karoshi จีนใช้คำว่า Guolaosi เกาหลีใต้ใช้คำว่า Gwarosa)
หมดไฟเพราะความคาดหวังจากตัวเอง
การใช้โซเชียลมีเดียนั้นไม่ได้ทำหน้าที่เพียง ‘กินพื้นที่ในเวลาชีวิตเรา’ เท่านั้น มันยัง ‘กินพื้นที่ความคาดหวัง’ ของเราด้วย นอกจาก FOMO จะมีความหมายเล็กๆ ในเชิง ‘กลัวการพลาดกิจกรรมบางอย่าง’ ผมคิดว่า FOMO ยังมีความหมายใหญ่ขึ้นในแบบที่ว่า ‘กลัวว่าทางเลือกที่ตัวเองลงหลักปักฐานไปแล้ว จะเป็นทางเลือกที่ผิด’ (เมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ในรุ่นเดียวกัน) ฉะนั้นสาเหตุร่วมที่อาจสำคัญพอๆ กับการกดดันจากบริษัทหรือเพื่อนร่วมงาน ก็คือ ‘คนรุ่นใหม่มีความคาดหวังต่อตนเองสูงมาก’ – สูงเสียจนเป็นการกดดันตัวเอง และนั่นอาจทำให้พวกเขาหมดไฟเร็วขึ้น
แน่นอนว่าความคาดหวังต่อตนเองของคนรุ่นใหม่ก็มาพร้อมกับวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกทั้งหลายนั่นแหละครับ แต่เมื่อถูก ‘คาดหวัง’ ตั้งแต่ยังเด็ก (“ลูกจะเป็นอะไรก็ได้บนโลกนี้” “ลูกมีพรสวรรค์” “ลูกเป็นคนพิเศษ”) เรื่อยมาจนโต (“คุณต้องลงทุนในการพัฒนาตนเอง” “จงเป็นคนที่ดีกว่าเดิม”) ความคิดที่ว่า “จะต้องพยายามให้มากกว่าเดิม” จึงสมานรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับคนรุ่นใหม่อย่างช่วยไม่ได้ – ‘ช่วยไม่ได้’ ถึงขนาดที่ว่า ถึงแม้เรากำจัดปัจจัยภายนอกออกไป ก็อาจต้องใช้เวลาสักพักกว่าที่พวกเขาจะเลิกกดดันตัวเองได้
ศาสตราจารย์ Bogdan Costea แห่งมหาวิทยาลัยการจัดการ Lancaster พูดถึงเรื่องนี้ว่า “วัฒนธรรมการทำงานในปัจจุบันนั้นพุ่งเป้าอย่างเข้มข้นไปที่ ‘ตัวบุคคล’ (self) นี่กลายเป็นวัฒนธรรมที่เสมือนเป็นข้อบังคับกลายๆ ไปแล้วตั้งแต่ระยะแรกเริ่มของการทำงาน จนขนาดว่านักศึกษาฝึกงานก็ยังรู้สึกว่าการฝึกงานนั้นเป็นดังสนามทดสอบคุณภาพของตน”
คนรุ่นใหม่มีอิสระในการเลือกงานมากขึ้น พวกเขาสามารถเลือกเป็นนายตัวเองได้ พวกเขาสามารถเลือกเป็นฟรีแลนซ์ได้ การเริ่มธุรกิจไม่ใช่เรื่องแปลกเมื่อวัฒนธรรมสตาร์ทอัพถูกโปรโมตซ้ำแล้วซ้ำเล่าผ่านทางสื่อต่างๆ พวกเขามีทักษะในเชิง ‘กว้าง’ มากกว่าความเชี่ยวชาญในวงแคบๆ ทำให้การเปลี่ยนงานไม่ใช่เรื่องเกินเอื้อม ‘ทางเลือก’ และ ‘ความต้องการพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดหย่อน’ นี้ทำให้พวกเขานึกสับสนสงสัยเสมอว่าสิ่งที่ตนเองทำอยู่นั้นคุ้มค่าที่สุดหรือยัง พวกเขา ‘พลาด’ อะไรไปหรือเปล่า และยิ่งเมื่อพวกเขาเปรียบเทียบกับคนรุ่นเดียวกันที่ประสบความสำเร็จในบางมาตรวัดมากกว่า ราวกับว่าการใช้ชีวิตนั้นเป็นสนามรบที่มีผู้ชนะและผู้แพ้ พวกเขาก็ยิ่งรู้สึกสับสนสงสัย และนั่นก็นำมาซึ่งความรู้สึกหมดไฟ
ทางเลือกที่มากขึ้น ทำให้เกิดความกดดันที่มากขึ้น
เมื่อคุณมีความสามารถในการเลือกมากเท่าไหร่ คุณก็อาจรู้สึก ‘ไม่พอใจ’ กับทางที่เลือกแล้วมากเท่านั้น (เพราะคุณรู้สึกว่า ‘เปลี่ยนได้’ ‘ทิ้งได้’ ตลอดเวลา)
แล้วเราควรทำอย่างไร
นี่คือส่วนที่ ‘พูดง่าย แต่ทำน่ะมันยากนะ’ ที่สุดในบทความนี้ – ผมคิดว่าคุณก็รู้อยู่แล้วว่าต้องทำอย่างไร อย่างแรกคือคุณอาจต้องหาสาเหตุหลักของความกดดัน หรือความคาดหวังเสียก่อนว่ามาจากไหน หากมาจากองค์กร ก็อาจต้องมีการเจรจาเรื่องสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสม หรือพยายามจัดสรรเวลาในแต่ละวันให้มีช่องว่างพอสำหรับการปฏิสัมพันธ์หรือการหายใจหายคอบ้าง (และเรียนรู้ที่จะพูดคำว่า ‘ไม่’ ในเวลาที่ควร)
แต่หากความคาดหวังนั้นมาจากตนเอง ก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากลดความคาดหวัง และอาจต้องพยายามลดความเชื่อมโยงระหว่างค่าของคน (ค่าของคุณ) กับผลของงานลง
Andrew Hill บรรณาธิการบริหารของ Financial Times ตั้งข้อสังเกตว่า “คนทำงานที่ดูจะหลีกเลี่ยงการหมดไฟได้ดีที่สุด ก็คือคนที่มีความทะเยอทะยานพอเหมาะพอควร (modest aspiration) คนที่มองโลกจริง (realist) เหล่านั้นไม่ได้เอางานมาเป็นศูนย์กลางของชีวิต พวกเขาไม่ได้คิดว่างานของตนเองจะเป็นการพลิกโลก เมื่อพวกเขาคิดแบบนี้แล้ว ก็ดูเหมือนว่าพวกเขาจะสามารถตื่นเต้นและมีความสุขกับงานของตนเองได้นานกว่าคนอื่นๆ”
‘ฝันให้ไกล แล้วไปให้ถึง’ อาจเป็นปณิธานสำหรับใครหลายๆ คน – แต่สำหรับวันไหนที่รู้สึกหมดไฟ เราอาจต้องฝันไม่ใหญ่ แล้วค่อยๆ ไป น่าจะทำให้เดินได้นานกว่า
อ้างอิง
FOBO, Newport :
https://www.fastcompany.com/3068512/is-digital-minimalism-the-new-digital-detox
https://journal.thriveglobal.com/fear-of-burning-out-is-the-new-fear-of-missing-out-7dbf5836f7a7
https://www.nytimes.com/2016/11/20/jobs/quit-social-media-your-career-may-depend-on-it.html?_r=1
Deep Work
https://www.amazon.com/Deep-Work-Focused-Success-Distracted/dp/1455586692
Digital Minimalism
คนรุ่นใหม่เครียดจนนอนไม่หลับ
http://www.apa.org/news/press/releases/stress/2014/stress-report.pdf
หลายประเทศตระหนักเป็นอย่างดีและเสนอทางแก้ไข
http://www.huffingtonpost.com/2013/07/30/worker-burnout-worldwide-governments_n_3678460.html
ความคาดหวังต่อตัวเองสูง
ศาสตราจารย์ Bogdan Costea, Andrew Hill
https://www.ft.com/content/be3289be-2c3e-11e7-bc4b-5528796fe35c