ต้องยอมรับว่าเราอยู่ในช่วงเวลาที่น่าตื่นตาตื่นใจโดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยีที่ตอนนี้สกุลเงินดิจิทัลเริ่มได้รับความสนใจแม้จะยังจำกัดอยู่ในกลุ่มคนที่ไม่กว้างมาก แต่ถึงอย่างนั้น สังคม cashless ที่ไม่จำเป็นต้องพกเงินสดถือเป็นไอเดียอุดมคติของหลายคน
เงินก็คือเงินไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ตาม มีแต่คนอยากได้ทั้งนั้น สำหรับ Facebook พวกเขาเรียกมันว่า Libra สกุลเงินดิจิตอลที่มีเป้าหมายคือการรับ-ส่งเงินให้ทุกคนบนโลกใบนี้โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาธนาคาร แค่มีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวก็เพียงพอแล้ว
แม้ว่าเราอาจจะไม่รู้ตัว Facebook นั้นลองผิดลองถูกกับเรื่องนี้มานานแล้วหลายต่อหลายครั้งที่พวกเขาพยายามปรับเปลี่ยนวิธีการรับ/ส่งเงินของเราทั้งผ่านทางการใช้ Facebook Credits ที่ทำเงินจากแอพพลิเคชั่นหรือเกมส์บนแพลตฟอร์ม เช่น Farmville ให้เข้าใจง่ายอีกหน่อยก็เป็นเหมือนกับสกุลเงินแบบ in-app (คล้ายกับเหรียญทองใน Candy Crush) นั่นแหละ หรือฟีเจอร์ Send Money to Friends in Messenger ที่จำกัดอยู่แค่ในประเทศอเมริกา โดยกำหนดว่าจะต้องมีอายุ18 ปีขึ้นไป และต้องมีบัตรเดบิต Visa หรือ MasterCard ที่ออกโดยธนาคารในอเมริกา ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่ได้รับความนิยมมากนักเพราะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ไม่กว้างพอ
แต่ไอเดียเรื่องสกุลเงินดิจิทัลก็ยังคงเป็นอะไรที่มีเสน่ห์ Facebook ยังคงให้ความสนใจเรื่อยมาเพราะถ้าวันหนึ่งโลกหันมาใช้สกุลเงินที่พวกเขาสร้างขึ้น นั่นก็หมายความว่าพวกเขาจะเข้าถึงข้อมูลผู้ถือบัตรเครดิตหลายล้านคนที่พร้อมจับจ่าย และทำรายได้จากการทำธุรกรรมต่างๆ ด้วย
มาถึงตอนนี้ Libra โปรเจค cryptocurrency ใหม่ล่าสุดที่ทั้งโลกกำลังจับตามอง เป็นวิวัฒนาการที่เติบโตมาจากเป้าหมายที่ Facebook ตั้งเอาไว้ตั้งแต่แรก เพียงแต่ตอนนี้มีความทะเยอทะยาน(และความเป็นไปได้) ที่สูงกว่าเดิมมาก เพราะถ้าเรานับจำนวนผู้ใช้งานกว่า 2.3 พันล้านคนของพวกเขา ถ้าทำได้จริงเหมือนที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ การปล่อย Libra ออกสู่สาธารณะและทำให้ทุกคนที่มีสมาร์ทโฟนรับ-ส่งเงินหากันได้ทันที มันจะเปลี่ยนวิธีการที่คนทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ไม่ต้องยึดติดกับสกุลเงินที่ตนเองคุ้นเคยไม่ว่าจะเป็นดอลล่าห์ยูโร เยน หรือไทยบาท Libra จะทำให้การโยกย้ายเงินเกิดขึ้นทันทีแลกกับค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย—โลกการเงินจะเปลี่ยนแปลงในชั่วข้ามคืนเลยทีเดียว
แน่นอนว่าไอเดียของการมีสกุลเงินดิจิทัลเดียวที่รองรับและใช้กันทั่วโลกนั้นเหมือนความฝันที่ใกล้เป็นจริง ตั้งแต่การเริ่มต้นของ Bitcoin ซึ่งตอนนี้อาจต้องขอบคุณ Facebook ที่ในที่สุด เวลาของสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้งานได้จริงๆ มีผู้ใช้งานทุกที่ทั่วโลกอาจจะมาถึงแล้ว
แต่นี่คือ Facebook และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ตะขิดตะขวงใจ เพราะสำหรับพี่มาร์คแอนด์โคแล้ว…ทุกอย่างไม่มีทางเกิดขึ้นโดยไม่มีอะไรตอบแทนอย่างแน่นอน
แล้วทำไม Libra ถึงสำคัญ?
ใครก็ตามที่อ่านข่าวในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมาน่าจะได้ยินเรื่องราวของ bitcoin, cryptocurrency และblockchain กันไปบ้างแล้ว(ตรงนี้จะไม่เจาะลึกนะครับผมสามารถหาอ่านได้ตามอินเตอร์เน็ตทั่วไปเลย) เพียงแต่ว่ามันยังไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากจนกระทั่งสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันเท่าไหร่ มีคนเพียงหยิบมือที่ใช้ bitcoin เพื่อซื้อกาแฟ การรับ-ส่ง bitcoin ก็ยุ่งยากสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยด้วย เอาเป็นว่าเข้าใจก็ยาก ใช้ก็ไม่ง่าย คนก็เลยไม่รู้จะหันมาใช้ทำไม หยิบเงินสดจ่ายหรือโอนธนาคารกันต่อไปก็สะดวกดี
แต่ที่สิ่งที่ทำให้ Libra น่าสนใจก็คือจำนวนผู้ใช้งานของ Facebook ที่มหาศาลถึง 2.3 พันล้านคน เพราะเมื่อเทียบกับคนที่ใช้ blockchain wallet อยู่ตอนนี้ประมาณ 35 ล้านคน (คิดเป็นประมาณ1%) Libra สามารถเข้าถึงผู้ใช้งานจำนวนมหาศาล ไม่เหมือนกับสกุลเงินดิจิทัลแบบเดิมที่จำนวนผู้ใช้งานค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละนิด แถมไม่พอ ภายในปีค.ศ. 2020 แอพพลิเคชั่นแชทที่สามารถใช้บนสมาร์ทโฟนทุกเครื่องที่เรารู้จักกันดีอย่าง Facebook Messenger และ WhatsApp ก็จะเริ่มรองรับ Libra แล้วเช่นกัน
มันมีสองส่วนที่ต้องทำความเข้าใจก่อน : หนึ่งคือ ‘สกุลเงิน’ ที่เรียกว่า Libra และส่วนที่สองที่เป็นแอพพลิเคชั่นทำหน้าที่เหมือนกระเป๋าสตางค์ดิจิทัล(มีเงินก็ต้องมีที่เก็บ) เรียกว่า Calibra ซึ่งถ้าใครเคยใช้ Venmo น่าจะคุ้นเคยกันอยู่ (หรือก็เหมือนบัญชีธนาคารนั้นแหละ)
สิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้งานโดยทั่วไป ‘อาจจะ’ ไม่รู้หรืออย่างน้อยก็ไม่จำเป็นต้องรู้ก็คือเจ้า Libra นั้นเป็น cryptocurrency การรับส่ง Libra นั้นจะถูกทำให้เรียบง่ายที่สุดโดยคนที่ใช้งานไม่จำเป็นต้องรู้เลยว่าด้านหลังมีเทคโนโลยี blockchain คอยทำงานอยู่ เงินนี้ก็อยู่ในแอพพลิเคชั่น(FB Messenger, WhatsApp, Calibra) ไม่ต้องไปปรับแต่งอะไรให้วุ่นวาย ลองสมมุติเหตุการณ์แบบนี้ว่า วันหนึ่งเราเดินทางไปญี่ปุ่น มันจะสะดวกสบายขนาดไหนถ้าเราเดินไปร้านราเม็งข้างทางแล้วเปิด Calibra ขึ้นมาเพื่อจ่ายค่าราเม็งราคา 2 Libra? นั้นคืออนาคตที่ Facebook อยากให้มันเกิดขึ้นและมันก็คงดีไม่น้อยเลยทีเดียว
นอกจากการเดินทางไปต่างประเทศ การรับส่งเงินข้ามประเทศ การจ่ายบิลต่างๆ การสมัครสมาชิก (อย่าง Spotify ) การไปซื้อของตามตลาดหรือซุปเปอร์มาเก็ต ทุกอย่างเป็นไปได้หมด ซึ่งนี่ก็เป็นจุดหนึ่งที่แตกต่างจากสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ ที่อยู่ในตลาด (Bitcoin, Ethereum, Ripple และอีกมากมาย) เพราะ Libra นั้นเน้นย้ำเพียงแค่ไอเดียการใช้งาน ไม่ใช่ความซับซ้อนของเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง แน่นอนสำหรับคนที่สนใจมันเป็นเรื่องที่สนุก แต่สำหรับคนทั่วไปที่แค่ต้องการใช้งาน การอธิบายหรือบอกว่า blockchain ทำงานยังไงก็ทำให้คนเหล่านั้นเบื่อและคิดว่ามันยุ่งยากเกินไป
อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ Libra แตกต่างคือสกุลเงินนี้
จะได้รับการดูแลโดยองค์กรจากบริษัทต่างๆ ร่วมกัน
เรียกว่า ‘Libra Association’
โดย Libra จะถูกค้ำโดยเงินสำรองซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีอยู่จริง (อย่างดอลล่าห์, ยูโร หรือพันธบัตรรัฐบาล)โดยไม่ได้อิงจากเพียงสกุลเงินเดียว แต่เป็นตะกร้าของสกุลเงินประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพื่อทำให้เกิดมูลค่าในตัวมันเอง (Intrinsic Value) และไม่ประสบปัญหาค่าเงินผันผวนเหวี่ยงเหมือนกับสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ ในตลาด
แต่ก็ด้วยเหตุผลนี้ Libra อาจจะได้รับผลกระทบโดยค่าเงินเฟ้อและความผันผวนอื่นๆ เหมือนกับที่เกิดขึ้นในสกุลเงินทั่วไปที่ถูกควบคุมโดยธนาคารกลาง และก็หมายความว่าจะมี Libra เพียงจำนวนหนึ่งที่หมุนเวียนในระบบ เพราะฉะนั้นถ้ามีคนซื้อเก็บเอาไว้ราคาตลาดก็อาจจะสูงขึ้นเหมือนกับค่าเงินทั่วไปเช่นกัน
จากคำกล่าวของ Facebook บอกว่า Libra Association นั้นเป็นองค์กรอิสระที่ไม่หวังผลกำไร ตั้งอยู่ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีหน้าที่สองอย่างก็คือ หนึ่ง ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้น และสองคือควบคุมดูแลเงินสำรองที่ค้ำประกัน Libra รวมถึงจัดงบประมาณเพื่อช่วยสังคม
ในองค์กรแห่งนี้ก็จะมีกลุ่มที่ควบคุมดูแลเรียกว่า Libra Association Council ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากกลุ่มสมาชิกที่จะคอยทำหน้าที่โหวตลงคะแนนเสียงคอยตัดสินใจและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
บริษัทที่วางเงินอย่างน้อย 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 320 ล้านบาท) จะถูกวางให้เป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้ง Libra Association โดยตอนนี้มีทั้งPayPal, Ebay, Spotify, Uber และ Lyft เข้าร่วมแล้ว ส่วนทางฝั่งการเงินการลงทุนก็มี Andreessen Horowitz, Thrive Capital, Visa และแน่นอน Mastercard
เหตุผลที่บริษัทเหล่านี้มารวมตัวกันได้ก็คงชัดเจนในตัวมันเอง นี่เป็นโอกาสอันดีในการตัดตัวกลางและกฎที่ยุ่งยากของตลาดการเงินซึ่งเป็นตัวชะลอทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ล่าช้า และอาจช่วยเพิ่มช่องทางให้คนทำธุรกิจทั่วโลกได้รับความสะดวกมากขึ้น เมื่อมี Libra บริษัทต่างๆ ก็จะสามารถถ่ายโอนเงินหากันได้โดยไม่ต้องมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายก็น้อยกว่าเดิม ซึ่งตอนนี้ปัญหาน่าจะตกไปอยู่กับเหล่าธนาคารในแต่ละประเทศแล้ว
มองในมุมของการทำธุรกิจ Libra จะกลายเป็นตัวกลางที่รื้อระบบและเครื่องมือที่ซับซ้อนที่เคยอยู่ตรงกลางออกไปทั้งหมด สมมติว่าบริษัทญี่ปุ่นมาเปิดบริษัทขายแผ่นเสียงในประเทศไทย ซึ่งรูปแบบของรายรับที่คุณอยากได้คือบัตรเครดิตเพื่อการตรวจสอบที่ง่ายขึ้น แต่คนไทยไม่ค่อยใช้บัตรเครดิต คุณอาจจะต้องไปใช้ระบบ Rabbit Pay หรืออะไรก็ตามที่มีอยู่ในตลาด ไม่งั้นคนก็ไม่มาซื้อแผ่นเสียงที่ร้าน
อาจจะเป็นตัวอย่างที่น่าจะเป็นไปได้ยากแต่ก็พอทำให้เห็นภาพว่าในทุกตลาดจะมีระบบตรงกลางที่ซับซ้อนโดยเฉพาะเรื่องการเงินในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ซึ่ง Libra จะเข้ามาเป็นผู้ช่วยสำหรับบริษัทที่ต้องการขยายไปทั่วโลกโดยไม่ต้องกังวลเลยว่าแต่ละที่รับบัตรเครดิตได้ไหม มีเครื่องมืออะไรที่ต้องนำเข้ามาใส่ในระบบค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกเท่าไหร่
ภายในปีค.ศ. 2020 Libra จะนำไปใช้บน Facebook Messenger และ WhatsApp โปรแกรมแชทที่มีผู้ใช้งานเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
ซึ่งก็นำมาสู่ปัญหาที่เรียกว่า ‘Facebook’
แม้ทางเทคนิคแล้ว Libra จะควบคุมและดูแลโดย Libra Association ที่มี Facebook เป็นเพียงเสียงหนึ่งในกลุ่มสมาชิกเท่านั้น โดยมีคะแนนโหวตและตัดสินใจเพียงหนึ่งเสียงเหมือนกับทุกคน แต่พวกเขาเป็นส่วนประกอบสำคัญ และเป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างมาต้ังแต่แรก เพราะฉะนั้นเพียง 24 ชั่วโมงหลังจากข่าวของ Libra ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ หลายๆ รัฐบาลทั่วโลกก็ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับตัวสกุลเงินดิจิทัลอันนี้ อย่างในยุโรป Bruno Le Maire รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศสกล่าวว่า “เงินดิจิตอลนั้นไม่มีทางแทนที่เงินที่ออกโดยรัฐบาลของประเทศได้”
และ Mark Carney ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศอังกฤษบอกอีกว่า “Libra ต้องต้านทานการตรวจสอบที่หนักหน่วงและต้องไม่กลายเป็นเครื่องมือของการฟอกเงินและเงินที่ถูกใช้เพื่อการก่อการร้าย”
ในส่วนของประเทศไทยเอง อ้างอิงจากประชาชาติธุรกิจ นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กรธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า
“ต้องรอฟังความชัดเจนของรูปแบบและกลไกการทำงานขององค์กรที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการการรับแลก Libra รวมทั้งความคืบหน้าในการหารือกับหน่วยงานกำกับดูแลในอีกหลายๆ ประเทศ”
ในอเมริกา สมาชิกวุฒิสภาแจ้งให้ Facebook นั้นหยุดการพัฒนาเทคโนโลยีทันทีและส่งผู้บริหารมาชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมในวันที่ 16 กรกฎาคมที่จะถึงนี้
เพราะฉะนั้นจากที่ดูกระแสตอบรับโดยรวมแล้ว แม้ว่าLibra จะถูกออกแบบมาอย่างดีและ(น่าจะ) มีอิทธิพลอย่างมากต่อยุคสมัยต่อไปของธุรกรรมการเงิน แต่เหมือนว่า Facebook ไม่ได้มองหรือเข้าใจเลยว่านี่เป็นช่วงเวลาที่ไม่ค่อยดีนักสำหรับการปล่อยผลิตภัณฑ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะคนภายนอกบริษัทนั้นต่างเชื่อเหลือเกินว่านี่เป็นเพียงหมากตาหนึ่งที่ Facebook ต้องการเดินเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับตัวเองเหมือนกับที่ผ่านๆ มา
หลังจากเหตุการณ์อื้อฉาวของ Cambridge Analytica ไล่มาถึงความไม่ปลอดภัยของข้อมูลของผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มของตัวเอง ไม่ว่ารัฐบาลไหนในโลกตอนนี้ ต่างก็ระวังตัวอย่างมากและมีความลังเลใจที่จะเชื่อทุกอย่างที่ Facebook กล่าวแบบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์
สมาชิกวุฒิสภา Sherrod Brown จากรัฐ Ohio เตือนผ่าน Twitter ว่า
“Facebook นั้นมีอำนาจและอิทธิพลเป็นอย่างมากอยู่แล้ว และพวกเขาก็ได้ใช้อำนาจนั้นเพื่อนำเอาข้อมูลของผู้ใช้งานมาใช้ประโยชน์โดยไม่ได้ปกป้องความเป็นส่วนตัวเลย เราไม่ควรอนุญาตให้ Facebook ทำสกุลเงินดิจิทัลที่มีความเสี่ยงอันใหม่นี้ผ่านทางธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์โดยไม่มีการเฝ้าระวังเลย”
รวมกับเรื่องความกังวลเกี่ยวกับเรื่องระบบผูกขาดของ Facebook ที่รวมระบบแชทของ Facebook Messenger, WhatsApp และ Instagram เข้าด้วยกัน สกุลเงินใหม่นี้ทำให้เป้าความน่าสงสัยตกอยู่กลางหลัง Facebook และอาจจะเป็นชิ้นส่วนสุดท้ายที่เป็นหลักฐานในคดีละเมิดกฎหมายป้องกันการผูกขาดก็เป็นได้
Libra เป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของการที่บริษัทใช้อำนาจในมือที่ตนเองมีเหนือคู่แข่งที่ไม่มีทางสู้เพื่อการันตีความสำเร็จของสินค้าใหม่โดยเพิ่มเติมเข้าไปในแอพพลิเคชั่นที่ตนเองมีอยู่แล้ว และการที่จะบอกว่าตนเองไม่ได้ทำแบบนั้นยิ่งทำให้เกิดคำถามตามมาอีกมากมาย
นับเป็นช่วงเวลาที่ไม่ดีนักสำหรับ Facebook การเร่งให้สกุลเงินดิจิทัลของพวกเขาออกมาสู่ท้องตลาด ยิ่งทำให้พวกเขาตกเป็นเป้าโจมตีของกฎหมาย Libra มีศักยภาพมากพอที่จะพลิกโฉมโลกของการเงินในทันทีที่เปิดตัว ลองนึกภาพคนที่ไปทำงานต่างประเทศแล้วต้องการส่งเงินกลับมาให้พ่อแม่ครอบครัวคนรักที่บ้าน โดยไม่ต้องไปที่ธนาคารอีกต่อไป รวมถึงตัดคนกลางออกไปเลยทั้งหมด เพียงเท่านี้ธุรกิจการเงินทั้งหลายที่เคยดูแลการแลกเปลี่ยนเงินตราและกินค่าส่วนต่างก็ถูกกระทบโดยตรง
ปัญหาที่พวกเขาเจอ—ทั้งความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับข้อมูลลูกค้า ทั้งเรื่องระบบผูกขาดทางธุรกิจ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่มีหลักฐานอะไรที่บ่งบอกว่า Facebook ได้รับฟังและพยายามแก้ไขให้เป็นรูปธรรม แต่กลับพยายามพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาเหมือนกับว่าที่ผ่านมานั้นไม่ได้เกิดอะไรขึ้น คำถามก็คือทำไมเราถึงจะเชื่อใจให้ Facebook นั้นออกสกุลเงินใหม่ของตัวเองออกมาให้คนทั้งโลกใช้ ทั้งๆ ที่ที่ผ่านมาพวกเขาไม่ได้เห็นความสำคัญของผู้ใช้งานอย่างจริงๆ จังๆ เลย
Facebook เหมือนชายที่เพรียบพร้อมไปด้วยเงินตราและอำนาจภายใต้รอยยิ้มและคำสัญญาที่เลื่อนลอย เขาสามารถทำอะไรก็ได้ตราบที่ยังไม่ถูกจับได้คาหนังคาเขา และถ้าเขาบอกว่าสิ่งที่กำลังทำนั้นเป็นการทำเพื่อสังคมและโลกใบใหม่ที่ดีกว่าเดิม แต่ก็ไม่มีใครรู้ได้ว่าแท้จริงแล้วความตั้งใจของเขาคืออะไรกันแน่
แน่นอนว่า Libra นั้นถูกออกแบบมาให้เหมือนกับว่ามันไม่ใช่ของ Facebook เพราะมีองค์กรที่ไม่หวังผลกำไรที่อยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ นำโดยบริษัทมากมายให้เป็นคนนำทางการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ แต่ก็เหมือนกับที่ Google นั้นทำให้ Chrome เป็น ‘open source ไม่ว่าจะมีการโต้แย้งและแนะนำของหลายๆ ฝ่าย สุดท้าย Libra ก็ยังเป็นผลิตภัณฑ์ของ Facebook อยู่ดี
ไอเดียของ ‘Global Digital Currency’ ที่จะมาเปลี่ยนแปลงการใช้จ่ายเงินของเราตั้งแต่ลูกชิ้นทอดไปจนถึงรถยนต์บ้านและที่ดินเป็นสิ่งที่ดีมาก แม้ Facebook ไม่ใช่บริษัทที่น่าเชื่อถือนัก แต่ก็เป็นเพียงไม่กี่บริษัทในโลกที่จะทำให้เรื่องนี้กลายเป็นความจริง แต่มันคงจะดีกว่านี้ถ้า Facebook ไม่ได้มีส่วนร่วมหรือ—ในทางที่ดีกว่านั้น ก็คือไม่ได้เป็นคนริเริ่มและควบคุมมาตั้งแต่แรก มันยากที่จะจินตนาการว่าต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น จะมีกฎหมายอะไรที่มาป้องกันหรือหยุดยั้งไม่ให้มันออกมาสู่ท้องตลาดไหม หรือแต่ละประเทศทั่วโลกจะพร้อมรับมือกับมันแค่ไหน
คำถามสุดท้ายคือ “เราสามารถเชื่อใจ Mark Zuckerberg ได้มากพอที่จะให้เขาดูแลเงินในกระเป๋ารึเปล่า?”
อ้างอิงข้อมูลจาก