มีข้อมูลหลายแหล่งที่ยืนยันตรงกันว่า เวลาเกินกว่าครึ่งในช่วงที่ลืมตาตื่นอยู่ คนไทยจำนวนไม่น้อยใช้เวลาไปกับโลกอินเทอร์เน็ต
แล้วทำไมเราจะไม่อยากรู้ล่ะว่า คนไทยเข้าไปทำอะไรใน ‘โลกเสมือน’ ที่ในปัจจุบัน ควรจะเรียกว่า ‘โลกอีกใบ’ มากกว่า
ข้อมูลจากรายงาน Digital 2020: Global Digital Review ของ We Are Social ให้ภาพการใช้ชีวิตในอินเทอร์เน็ตของคนไทยไว้อย่างคร่าวๆ แต่ก็น่าสนใจ
รายงานดังกล่าวระบุว่า คนไทย 75% ของประชากรทั้งหมดเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และใช้เวลาเฉลี่ยวันละ 9 ชั่วโมง 1 นาทีอยู่ในโลกใบนั้น (55% ใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือ) มากเป็นลำดับที่ห้าของโลกเป็นรองเพียงฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ บราซิล และโคลอมเบีย
โดย 2 ชั่วโมง 55 นาที หมดไปกับการใช้งานโซเชียลมีเดีย แต่กว่าครึ่งยืนยันว่า การใช้โซเชียลฯ ‘เป็นการทำงาน’
สำหรับโซเชียลฯ ยอดนิยมของคนไทย ยังเป็นเฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์ เมสเซนเจอร์ อินสตาแกรม ฯลฯ ที่น่าสนใจก็คือ ติ๊กต๊อก มาแรงมากจนขึ้นมาอยู่ในลำดับที่หก
รายงานของ We Are Social ยังสำรวจพฤติกรรมอื่นๆ บนโลกอินเทอร์เน็ตของคนไทย สอบถามจากคนที่มีอายุระหว่าง 16-64 ปี ซึ่งพบว่า
82% เคยซื้อของออนไลน์ (สองในสามซื้อผ่านมือถือ)
65% ใช้งานแอพฯ อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง
54% ดูวีดิโอสตรีมมิ่ง เช่น เน็ตฟลิกซ์
17% ใช้งานแอพฯ เรียกรถ
12% ครอบครองสกุลเงินดิจิทัล
เมื่อแยกออกมาเฉพาะพฤติกรรมในการเสพสื่อ พบว่า
99% ดูวีดิโอออนไลน์
68% ฟังเพลงสตริมมิ่ง
52% ฟังวิทยุออนไลน์
44% ฟังพอดคาสต์
สำหรับ keyword ที่คนไทยใช้เสิร์ชเวลาหาข้อมูลต่างๆ บนกูเกิ้ลก็ยังเป็น “บอล” “หนัง” “หวย” เช่นเดียวกับที่รายงานมาในทุกๆ ปี ส่วนในยูทูบจะเป็น “เพลง” “หนัง” “ผี”
นี่คือข้อมูลที่เป็นภาพกว้างๆ การใช้ชีวิตบนโลกอินเทอร์เน็ตของคนไทย ที่ได้จากรายงานของ We Are Social
สัปดาห์ที่ผ่านมา เรายังได้ไปฟังผู้บริหารโซเชียลมีเดียต่างๆ พูดเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนไทยและแผนธุรกิจที่จะทำในปีนี้ ไว้บนเวที Thailand Zocial Awards 2020 ซึ่งจัดโดยไวซ์ไซท์ บางส่วนน่าสนใจ ขอหยิบมาถ่ายทอดต่อ
เฟซบุ๊ก
คนไทยใช้งานเฟซบุ๊ก 57 ล้านคน พยายามชูเรื่องการใช้งานวีดิโอ โดยเฉพาะ Facebook Watch ที่มียอดดูเฉลี่ย 720 ล้านครั้ง และเวลาเฉลี่ยในการดูคือ 26 นาที ในปีนี้จะทำพรีเมียมคอนเทนต์ออกอากาศเฉพาะที่นี่ ขณะที่ stories ทั่วโลกมีผู้ใช้งานวันละ 1,000 ล้านคลิป โดยผู้ใช้ไม่ได้มีแต่ Gen Z แต่มีทุก Gen ทางเฟซบุ๊กยังอ้างด้วยว่า ตอนนี้เทรนด์ ‘วีดิโอแนวตั้ง’ กำลังได้รับความนิยม เริ่มเห็นแบรนด์ต่างๆ มาใช้มากขึ้น กระทั่ง Taylor Swift ก็ยังทำเอ็มวีแนวตั้ง
สำหรับ Facebook Messenger มีการสำรวจแล้วพบว่าช่วยให้ปิดการขายออนไลน์ในไทยได้ถึง 40% เพราะทำให้คนมั่นใจว่าผู้ขายมีตัวตนจริงๆ
ทวิตเตอร์
ปี ค.ศ.2019 คนไทยทวีตข้อความรวมกันกว่า 1,400 ล้านทวีต โดยคนไทยที่ดังที่สุดในทวิตเตอร์คือ ‘เป๊ก-ผลิตโชค อายนบุตร’ ที่มีทวีตเกี่ยวกับเขา 133 ล้านทวีต ทั้งนี้เริ่มมีการทำแคมเปญเชิงสังคมมากขึ้น เช่น ลดการใช้ถุงพลาสติก ชวนมารักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ สำหรับแบรนด์ต่างๆ ที่อยากทำโฆษณาบนทวิตเตอร์ ให้ใช้คาถา Don’t Talk at Them, Talk With Them เพราะคนในทวิตเตอร์จะมีภาษาของเขาเอง และมีลักษณะเปิดกว้าง หากสามารถซื้อใจได้ก็จะทำให้ได้รับการพูดถึงมากขึ้น
สำหรับความเปลี่ยนแปลงในเชิงธุรกิจ การลงโฆษณาตรง top trend ที่เดิมมีแค่ตัวอักษร จะให้ใส่รูปหรือวีดิโอเข้าไปได้
ไลน์ ทีวี
คนไทยดูคอนเทนต์มากขึ้น เพียงแค่ต้องเปลี่ยนตัวกลาง เท่าที่สัมผัส คนไทยรู้ว่ามีอำนาจในการอยากดูอะไรและเมื่อไร คอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมบน LIVE TV กว่า 75% ละครและซีรีส์ 15% บันเทิงและวาไรตี้ 10% อื่นๆ ส่วน LINE TODAY สิ่งที่คนอ่านเยอะสุดสามลำดับแรก ข่าวทั่วไป บันเทิง และดวง ปัจจุบันมีคนเข้ามาใช้บริการ 36 ล้านคน และอ่านเฉลี่ย 36,000 บรรทัดต่อปี
ติ๊กต็อก
ถือคติว่า “Video is now but short video is the future” ถึงปัจจุบัน Tiktok มีผู้ใช้งานทั่วโลกมากกว่า 154 ประเทศ มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 1,000 ล้านครั้ง วีดิโอที่ได้รับความนิยมจะมี 3 รูปแบบ คือ 1.evolving video technology 2.influencers taking the lead และ 3.power of Gen Y and Z
สำหรับผู้ใช้งานคนไทยบน Tiktok ตอนนี้ 80% เป็นผู้หญิง และมีทุกช่วงอายุตั้งแต่ 13 ปี ไปจนถึง 55 ปี
สปอติฟาย
ผลสำรวจของเราพบว่า 61% ของคน Gen Z และ Millennials ยอมรับว่า สื่อเสียง (audio) ถูกใช้เพื่อหนีจากในปัจจุบันที่มีสื่อต่างๆ กระตุ้นการมองเห็นมากเกินไป โดยเขาจะฟังเพลงตลอดเวลา ทั้งระหว่างเดินทาง อยู่ในที่ทำงาน หรืออยู่ที่บ้าน
เพลง hip hop ได้รับความนิยมในหมู่คนไทย โดยเฉพาะนับแต่มีรายการ The Rapper และ Show me The Money
อ่านแล้วก็ชวนทบทวนกันดูว่า คุณใช้งานอินเทอร์เน็ตวันละมากน้อยเพียงใด และใช้ทำอะไรบ้าง