ในช่วงหลายปีมานี้ กระแสของ ‘วิถีชีวิตทางเลือก’ อย่าง การปลูกบ้านดิน ปลูกสวน ทำไร่ อาศัยอยู่เอง กินเอง มีมาให้เห็นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สารพัดโฆษณาที่ผลิตขึ้นมา ฉายทั้งในโทรทัศน์ กลายเป็นแคมเปญของ สสส. หรือฉายก่อนเริ่มภาพยนตร์ จนกระทั่งมาถึงโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ค ที่เมื่อไม่นานนี้คุณ ‘หนูดี’ ก็ออกมาทวีตถึงวิถีชีวิตแบบอัจฉริยะสร้างได้ ปลูกผักถางหญ้ากินเอง ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่มาคู่กันกับ ‘ภาพ’ ของวิถีชีวิตแบบนี้ก็คือ การอ้างถึงวิถีชีวิตที่กลับคืนสู่ธรรมชาติ หันหลังให้ความวุ่นวายของวัตถุนิยมต่างๆ ที่รายล้อมตัวหรือกระทั่งควบคุมตัวเรา
สิ่งเหล่านี้ก็หนีไม่พ้นการถูกอ้างว่าเป็นวิถีชีวิตแบบโลกทุนนิยม ที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิตของคนในสมัยใหม่ไป…เราห่างไกลกันและกันมากขึ้น เราอยู่ติดกับวัตถุมากขึ้น เราไกลห่างจากธรรมชาติและความเป็นตัวเองมากขึ้น ว่าง่ายๆ คือ ‘ทุนนิยมนี่มันเลว’
และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ‘วิถีชีวิตบ้านดิน ปลูกผักขุดมันกินเอง’ สโลว์ไลฟ์นี่แหละ ที่เป็นทางเลือกที่จะไปต่อสู้กับวิถีชีวิตของโลกวัตถุนิยม ทุนนิยมนั่นได้ และอย่าไปอายว่าต้องเป็นชาวบ้านชาวไร่เท่านั้นที่ต้องอยู่แบบนี้ คุณจะจบการศึกษาสูงๆ มา จากเมืองนอกเมืองนา หรือเรียนคณะที่ไม่เกี่ยวกับการเกษตรเลย อย่างบัญชี หรือการออกแบบ ฯลฯ ก็สามารถจะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตแบบนี้ได้…เอาจริงๆ ด้วยค่านิยมของสังคมแบบนี้ หากคุณอยู่ในเงื่อนไขที่ว่ามา อาจจะโดนโหมกระหน่ำให้ดู ‘คูล’ ขึ้นไปอีก เป็น ‘ฮิปสเตอร์วิถีไทย’ ที่หันหลังให้กับความโสโครกของโลกในเมือง และกลับสู่การดำดิ่งหาตัวตนของตนในวิถีชีวิตที่สกัดให้เหลือเฉพาะ Essence of Life หรือแก่นของชีวิต
โอ้โห สวยหรู งดงามเหลือเกินครับ
แม้ผมจะมีน้ำเสียงกระแนะกระแหน (ซึ่งใช่เลย! ผมกระแนะกระแหนอยู่) แต่ไม่ได้แปลว่า ผมบอกว่า ใครเลือกใช้วิถีชีวิตแบบนี้คือเค้าผิดนะ Noๆๆๆ อยากจะอยู่อะไรของท่านก็เรื่องของท่าน เชิญกันไปเลย ไม่ได้หนักหัวผม และเป็นสิทธิของท่านโดยสมบูรณ์
อย่างไรก็ดี ที่อาจจะเป็นปัญหาอยู่บ้าง ผมคิดว่ามี 2 เรื่อง คือ (1) การสร้างภาพแฟนตาซีของวิถีชีวิตแบบชนบทในฐานะกลไกที่กีดขวางการพัฒนา และ (2) ความหลงผิดคิดว่าไอ้ตัวเลือกชีวิตแบบนี้คือสิ่งที่ ‘จะไปต่อสู้กับวิถีชีวิตแบบทุนนิยม’ อะไร สำหรับผมแล้ว 2 ประเด็นนี้เป็นจุดที่เป็นปัญหา (ไม่นับถึงเรื่อง การเอางบส่วนกลาง อย่าง สสส. หรืออะไรพวกนี้ มาพร่ำโฆษณาตัวเลือกชนิดนี้อย่างล้นเกิน ปานจับยัดภาพวิถีชีวิตที่พึงเป็น ซึ่งมันนอกจากจะเป็นปัญหาเชิงงบประมาณแล้ว มันยังเป็นปัญหาในการ ‘กำหนดภาพเชิงโครงสร้าง’ ที่จะพูดถึงในข้อแรกด้วย)
1. การสร้างภาพแฟนตาซีซ้ำๆ ของโลกชนบทไทย
ประเด็นเรื่องการ ‘วาดภาพความสวยงาม’ ของชีวิตในชนบทนั้น ไม่ใช่ปัญหาใหม่ แม้อาจจะไม่นานเท่ากับปัญหาที่ดูจะตรงข้ามกันแต่ก็มีอยู่คู่กันเสมอมาอย่าง ‘การดูถูกคนชนบท’ อย่างการสร้างวาทกรรม ‘โง่ จน เจ็บ’ และฉายภาพของความเป็นคนจนไร้การศึกษาของคนชนบทออกมาก็ตาม อย่างไรก็ดีภาพของวิถีชีวิตตามชนบทที่ ‘ถูกต้องตามครรลองวิถีไทย’ นั้น ก็ถูกสร้างขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในฐานะแฟนตาซีแบบหนึ่ง ทั้งผ่านละคร รูปภาพ โฆษณาต่างๆ หรือแม้แต่การเป็นฉากในงานวรรณกรรมต่างๆ ที่ตัวเอกผู้ซึ่งหนีจากชีวิตวุ่นวายในเมืองกรุงออกมาใช้ชีวิตอย่างสันโดดในบ้านไร่ พบรักกับวิถีชีวิตแบบนี้และชุมชนที่พยายามช่วยเหลือตัวเอง ให้ยืนบนลำแข้งของตนเองได้…แล้วก็มาสู่ฉากจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง
แสนจะคลีเช่ เห็น อ่าน ดู หรือกระทั่งนึกฝันกันซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นฉากที่คลีเช่พอๆ กับเวลาเห็นฉากบริเวณโกดังท่าเรือมืดๆ ก็จะรู้ได้เลยว่า เดี๋ยวมันต้องมีการฟัดกันเละระหว่างฝ่ายฮีโร่กับตัวร้าย หรือระหว่างแก๊ง 2 แก๊ง ไม่ก็มาแลกของนอกกฎหมายอะไรกัน คลีเช่ระดับฉากพระเอกนางเอกล้มพร้อมๆ กันแล้วแม่มต้องทับกัน ไม่เผลอจูบกันหน้าแดง ก็จ้องตากันนาน แช่กล้องไว้พักนึงแล้วค่อย ‘ชะอุ้ย ขวยเขิน’
ที่ผมเน้นย้ำความคลีเช่แบบนี้ไม่ใช่อะไร ผมต้องการจะให้ท่านเห็นภาพว่า ‘ภาพของชนบท’ แบบที่ว่ามานี้ มันถูกฉายมาซ้ำๆ มากเพียงใด และเอาจริงๆ การฉายภาพลักษณะนี้ มันสร้างปัญหาให้กับ ‘ชุมชนชนบทในโลกจริง’ ด้วย อย่างน้อยๆ ในสองระดับคือ
ระดับแรก อย่างที่บอกไปว่าปัญหาการสร้างภาพแฟนตาซีของชีวิตติดดิน ชนบทนี้ มันวางตัวอยู่คู่กับอีกภาพปัญหาหนึ่งด้วยนั่นคือ การ ‘ดูถูกความเป็นชนบท’ โดยเฉพาะในแง่ของความแร้นแค้นขาดแคลนในทุกๆ ด้าน ทั้งในแง่วัตถุหรือสมอง ฉะนั้นต่อให้เป็นในภาพคลีเช่แฟนตาซีแดนฝันที่ตัวเอกของภาพถูกสร้างขึ้นมาให้ค้นพบในสเน่ห์ของ ‘วิถีชีวิตชาวบ้าน’ อย่างที่ว่ามานี้เอง พร้อมๆ กันไปมันก็จะฉายภาพปัญหาที่มีในชุมชนชนบทนั้น ซึ่งเรื้อรังมายาวนาน และแก้ไขไม่ได้สักที “จนกระทั่งตัวเอกจากเมืองกรุงย้ายเข้ามา และฟัดชนกับปัญหาคาราคาซังเหล่านั้นให้ จนแก้ปัญหาของชุมชนอย่างถอนรากถอนโคนได้ในที่สุด” การสร้างภาพแบบนี้เองที่มีให้เห็นซ้ำๆ เรื่อยๆ นั้น แม้จะมองชีวิตชนบทอย่างแฟนตาซีสวยงามในตัว แต่ก็ยังคงวางอยู่บนฐานของการมองว่าคนชนบทนั้นโง่หรือไร้ความสามารถพอจะแก้ปัญหาเองได้ ต้องรอผู้มีการศึกษาจากเมืองกรุงหรืออย่างน้อยก็ไปผ่านมาตรฐานการศึกษาจากเมืองใหญ่มา แล้วมาช่วยเหลือเพื่อให้เข้มแข็งพอจะยืนด้วยลำแข้งตัวเองได้
แฟนตาซีของวิถีชีวิตดีงามกลางทุ่งเหล่านี้ จึงเป็นแฟนตาซีที่มาจากสายตาของความเอ็นดู เมตตา เสมือนหนึ่งการได้นำตัวเองมาโปรดสัตว์ โดยที่ตัวผู้กระทำเองก็ไม่รู้ตัว เพราะเข้าใจแต่เพียงว่าตนเองกำลังชำระล้างเสนียดของวัตถุนิยมและคราบของระบบทุนในกระแสเลือดอยู่
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นโฆษณาของ Isuzu โดยเฉพาะชุด ‘ชีวิตออกแบบได้’ ที่เห็นกันทั่วไปหมด (ดูได้ที่ www.youtube.com) ไปจนถึงคำพูดถึงวิถีชีวิตทางเลือกแนวใหม่ของหนูดี ที่จะไปปลูกผักขุดรากหญ้าทำกิน รวมถึงวัยรุ่นคนเมืองทั้งหลายที่หันหลังให้วิถีชีวิตทางวัตถุในเมือง ไปอยู่แบบละม้ายคล้ายโครมันยองขึ้นเรื่อยๆ นี้ จึงมักได้รับการมองว่า ‘คูลเหลือเกิน’
ไอ้ความคูลที่ว่านี้ มันไม่ใช่แค่ความคูลที่สามารถตัดสินจะทิ้งวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ที่ตัวเองเคยชินได้ แต่บ่อยๆ ครั้งมันรวมไปถึง ‘ความเสียสละในการเลือกจะกลับไปพัฒนาชุมชนชนบทเหล่านั้นด้วย’ โดยเฉพาะตามวิถีคิดแบบโฆษณา Isuzu ที่ว่าหรือหนูดี ที่มันไม่ใช่การพัฒนาให้ชนบทสามารถเติบโตขึ้นมาได้แบบเมือง แต่เป็นการทำให้ชนบทเจริญไปในวิถีที่ใกล้เคียงกับภาพแฟนตาซีของตนเองที่สุด คือ เติบโตสะดวกสบายขึ้นบ้าง โดยไม่ต้องพึ่งวิถีของทุน
ผมบอกไปแล้วว่าใครจะเลือกใช้ชีวิตแบบไหน เรื่องของท่าน! เชิญเลย! แต่การที่ภาพแบบที่ว่านี้ถูกทำให้ดูคูล เป็นคุณสมบัติของความดี การรู้จักตนเอง และเสียสละอะไรนั้น ผมว่า มันคือความดัดจริตและเห็นแก่ตัวชะมัด เพราะถ้าไอ้วิถีชีวิตแบบชนบทอะไรที่ว่านั่นมัน ‘วิเศษวิโส’ จริงๆ คนที่กลับไปช่วย ‘ชนบทบ้านเกิดตัวเอง’ คงไม่ถูกมองว่า เป็นผู้เสียสละ หรอกครับ ที่มองว่ามันเสียสละกันก็เพราะ จริงๆ แล้วชนบทที่ว่านั้น มันไม่ได้สะดวกสบายอะไร หลายครั้งมันแร้นแค้น มันมีปัญหา มันอยู่ในเงื่อนไขของความเสียเปรียบเชิงโครงสร้างตลอดมาครับ และนี่เองคือปัญหาประการที่สองที่ผมอยากพูดถึง
คือการสร้างภาพแฟนตาซีแบบนี้ ที่คนจากเมืองหลวง หรือผ่านการเทรนจากเมืองหลวงเข้าไปกู้ให้ชนบทยืนบนลำแข้งตัวเองได้ โดยยังคงความเป็นแฟนตาซีแบบที่ ‘ตัวเอก’ อยากคงไว้อยู่ ห่างไกลจากวิถีทุนนั้น เป็นการสร้างภาพที่นอกจากจะตอกย้ำคติความโง่ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ของคนชนบทอย่างที่ว่าไปแล้ว มันยังเป็นการสร้างแฟนตาซีที่ไร้ความรับผิดชอบและเห็นแก่ตัวอย่างมาก เพราะมันเท่ากับการพยายามตัดความรับผิดชอบของรัฐในการแบ่งจ่ายงบประมาณ รวมไปถึงการกระจายอำนาจมาสู่ชุมชนชนบทในการพัฒนาตัวเองให้เป็นอย่าง ‘เมืองใหญ่’ ได้
ในเมื่อคนชนบทโง่ ก็อย่าคิดเองเลย รักษาวิถีชีวิตคิ้วต์แบบเดิมของตัวเองไว้ รอคนจากส่วนกลางลงมาโปรดสัตว์
ในเมื่อคนชนบทสามารถยืนบนลำแข้งของตนได้ (จากการโปรดสัตว์ของตัวเอกชาวกรุงผู้เสียสละ) พึ่งพาตัวเองได้แล้ว ก็ไม่ต้องพึ่งพางบประมาณอะไรอีกก็คงได้
ในเมื่อคนชนบทสามารถใช้ทรัพยากรเท่าที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดได้ โดยไม่ต้องพึ่งระบบทุน อย่างงั้นก็ไม่ต้องเอาทุนไปลงก็ได้ รักษาวิถีชีวิตจากการจัดสรรทรัพยากรใหม่และห่างไกลความมุ่งหวังในระบบทุนที่ได้รับการโปรดสัตว์มานี้ ธำรงชุมชนของตนเองไว้เถอะ จะได้กลายเป็นชุมชนแฟนตาซีตัวอย่างให้ชุมชนชนบทอื่นๆ พึ่งพาตัวเองตามได้ด้วย
…เฮ้ยยยย นี่มันบ้าอะไรกันครับ?
นี่มันคือการอาศัยแฟนตาซีความงามของ ‘วิถีชีวิตชาวบ้านที่สวยหรูไม่อิงทุนไม่อิงวัตถุ’ และวาทกรรมความยั่งยืนในฐานะกลไกที่มาปกปิดปัญหาเชิงโครงสร้างชัดๆ ครับ
ว่างบประมาณประเทศนี้ถูกรวมศูนย์ให้แต่ในเมือง พัฒนาแต่เมือง ทั้งๆ ที่ชาวบ้านเหล่านี้ก็จ่ายและเป็นเจ้าของภาษีพอๆ กะพวกคนเมืองทั้งหลาย, เป็นการยุติความจำเป็นและอาจจะบ้าบอไปถึงความชอบธรรมในการอยากมีความสะดวกสบายบ้างแบบคนเมือง มีระบบขนส่งมวลชน มีโรงพยาบาลชุมชนที่ดี มีน้ำประปาที่แรง มีไฟฟ้าที่เสถียร มีอินเทอร์เน็ตใยแก้ว ที่เร็วมากพอให้ตามความเคลื่อนไหวราคาบิตคอยน์ที่เปลี่ยนเร็วเหลือเกินได้ทัน, มีโรงเรียนในชุมชนที่ดีพอจะไม่ต้องหวังเพิ่งคนไปเรียนจบจากเมืองใหญ่มา, ฯลฯ
นี่แหละครับที่ผมบอกว่า ไอ้แฟนตาซีบ้านี่ มันเห็นแก่ตัว เพราะคุณกำลัง “ครอบหรือจำกัดโอกาสในการพัฒนา รวมถึงงบประมาณที่ชนบทควรจะได้ด้วยภาพแฟนตาซีแสนคูลและยั่งยืนของพวกคุณ” การมาทำอ้างว่า นี่ไงเรียนจบกลับมา กลับมาพัฒนาให้ท้องถิ่นใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิมให้ได้เต็มที่ ไม่มุ่งหวังเรื่องการขายหรือผลกำไรมากนัก มันทุเรศครับ!
ต่อให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิมได้เต็มที่อย่างที่อ้างและบอกว่า ‘ยั่งยืนๆ’ อะไรนั่น มันไม่ได้แปลว่าไอ้ของเดิมที่มีอยู่น่ะ มันเพียงพอแล้ว หรือมันดีพอแล้ว การสร้างภาพแฟนตาซีที่พยายามตัดความสัมพันธ์ของโลกชนบทออกจากวิถีของทุนและวัตถุนิยม มันจึงเป็นความเห็นแก่ตัวของชนชั้นกลางในเมือง ที่พยายามหยุดเวลาของโลกชนบทเอาไว้ให้เป็นสวนสนุกหรือที่หย่อนใจทางอารมณ์ของตน เมื่อตนไม่สามารถทนไหวกับความเคร่งเครียดเร่งรีบในเมืองแล้ว กูก็ออกมาชำระกายสักทีให้จิตผ่อง แล้วก็ปล่อยให้ชุมชนชนบทเหล่านั้น ลอยเท้งเต้งอยู่ในสุญญากาศของเวลาและการพัฒนาต่อไป
ในขณะที่เมืองหลวงอย่าง กทม. ได้รับการจัดสรรงบประมาณทุกอย่าง มีรถไฟฟ้าสารพัดสาย มีโรงพยาบาลใหญ่ๆ นับไม่ถ้วน มีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยดีๆ เต็มไปหมด ทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ที่ตัวเมือง แต่สื่อต่างๆ ที่สร้างโดยคนจาก ‘ตัวเมืองและศูนย์กลางของประเทศ’ ดันบอกให้ชนบทไม่ต้องมุ่งหวังไปที่การพัฒนาในวิถีทุนเนี่ยนะ! มันต้องหน้าด้านเบอร์ไหนกัน? เห็นแก่ตัวเบอร์ไหนกัน ถึงจะพูดหรือเอนจอยน้ำหูน้ำตาแตกกับอะไรแบบนี้ได้?
ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป ไม่ต้องมาหวังอะไรหรอกครับกับ ‘การกระจายอำนาจทางการเมือง’ เลิกพูดได้เลย…มาเริ่มพูดกันที่การรวมความเป็นคนกันก่อนน่าจะดีกว่า เพราะตอนนี้สิ่งเดียวที่ดูจะ ‘กระจาย’ ไปทั่ว ไม่ใช่อำนาจของทุน พลังของวัตถุนิยม หรือสิทธิทางการเมืองอะไรหรอก แต่คือความเป็นคนที่ดูจะกระจัดกระจาย ไม่เป็นตัวไม่เป็นตนเสียทีนี่แหละ…ในขณะที่พาเหรดกันพูดเรื่องยั่งยืนบ้างพอเพียงบ้าง ความเป็นคนดูจะไม่ค่อยเพียงพอพิกล
2. ความหลงผิดว่าแฟนตาซีบ้านดิน คือ การต้านระบบทุน(นิยม)
สำหรับผมแล้ว นี่คือเรื่องความเข้าใจผิดที่ตล้กตลกด้วย ดูเผินๆ แล้ว คนมักจะเข้าใจกันไปว่า ‘วิถีชีวิตทางเลือก’ แบบนี้ คือตัวแทนของความยั่งยืน คือการต่อสู้หรือคู่ตรงข้ามของระบบทุน โดยเฉพาะทุนนิยมสามานย์ที่ครอบงำชาติของเราในเวลานี้ ฉะนั้นเราจึงต้องพูดถึงเรื่องการช่วยเหลือตนเอง ไม่สนใจทุน บลาๆๆๆ แบบโฆษณาชุดชีวิตออกแบบได้ของอิซูสุหรือคำกล่าวของหนูดีที่ว่าๆ มา
แต่ผมอยากจะบอกตรงนี้เลยครับว่า ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติแล้วมันตรงกันข้ามเลย มันส่งเสริมการทำงานของระบบทุนนิยมและโลกของวัตถุนิยมอย่างมากมาย
ก่อนที่ผมจะอธิบายว่าทำไมมันไม่เพียงไม่ลดทอนพลังของทุนนิยม แต่ยังดันไปสนับสนุนระบบทุนนิยมนั้น ผมจำเป็นต้องขออธิบายความสำคัญของแนวคิดมาร์กซิสม์ ที่กลายมาเป็นการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์บ้าง สังคมนิยมบ้างในช่วงศตวรรษที่ 20 และได้รับการถือว่า เป็นพลังฝั่งตรงข้ามกับทุนนิยมเสรีที่แข็งแกร่งที่สุดแล้ว ก่อนครับ โดยผมจะไม่ไปแตะหรอกนะว่าคอมมิวนิสต์พูดอะไรไว้บ้าง หรือคาร์ล มาร์กซ์คือใคร เนื่องจากไม่ใช่ประเด็นหลักในจุดนี้
อย่างไรก็ตามไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคอมมิวนิสม์หรือสังคมนิยม ความสำคัญของมันที่ต้องยอมรับว่ามันคือคุณูปการสำคัญที่มาร์กซ์ได้สร้างขึ้นก็คือ การเสนอทางเลือกอื่นในการดำเนินชีวิตนอกเหนือจากระบบทุนนิยมเสรีด้วยเงื่อนไขของชีวิตในยุคสมัยใหม่
ว่าง่ายๆ ก็คือ มาร์กซ์ไม่เคยให้เราปฏิเสธวัตถุ ไม่เคยให้เราละทิ้งความเป็นมนุษย์ยุคใหม่ สิ่งที่มาร์กซ์เสนอนั้นคือ “ทางเลือกในการดำเนินชีวิตอีกแบบหนึ่งโดยยังเป็นมนุษย์สมัยใหม่อยู่” คุณไม่จำเป็นต้องไปขุดรากไม้กิน ไม่ต้องย้อนวิถีชีวิตตัวเองกลับไปสู่วิถีชีวิตยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือ Pre-Industrial Life อีก นี่แหละครับที่มันทำให้มาร์กซิสม์มันทรงพลัง!
การจะบอกว่าเรา “ไม่ร่วมกับระบบทุนนิยม” ด้วยการบอกว่า เออ งั้นกูจะจาริกแสวงบุญ เข้าป่า กลับไปเป็นมนุษยถ้ำ ไปขุดรากไม้ ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ทำไร่ไถนา ให้ตัวเองกิน ไม่สนใจทุนนิยมและโลกทางวัตถุอะไรอีกต่อไป …โอ้ยยยย ใครมันก็พูดได้ แบบนั้น? แต่พูดไปแล้วยังไง มันไม่มีพลังอะไรจริงๆ เพราะมันไม่ practical หรือมันไม่เวิร์คในทางปฏิบัติ ไม่ต้องไปดูไกลหรอกครับ วัดทุกวัดในไทยที่บอกว่าละกิเลส เลิกยุ่งกับโลกทางวัตถุ ยังตั้งตู้รับบริจาคและทำงานในระบบทุนกันหมดเลยนั่นแหละ ตั้งแต่วัดป่ายันธรรมกาย! เพราะไอ้วิธีชีวิตแบบที่อ้างๆ เนี่ย มัน ไม่ PRACTICAL โว้ย ถ้ามันเวิร์คจริง ป่านนี้คงเป็นอรหันต์และนิพพานกันทั้งประเทศแล้ว!
เพราะฉะนั้น ไอ้แนวทางแฟนตาซีแบบวิถีชนบทชีวิตชาวบ้าน ที่กลับไปปลูกไร่ ไถนา เลี้ยงควายอะไรเองใหม่เนี่ย มันไม่เวิร์ค มันไม่ practical ครับ
การที่คุณมาสร้างข้อเสนอแบบที่ต้อง “ย้อนตัวเองกลับไปยุคก่อน หรือปฏิเสธความใกล้ชิดกับโลกทางวัตถุ” นั้น มันยิ่งเป็นการเน้นย้ำกลับคืนมาในโลกจริงว่า “เออ ทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากทางเลือกการดำเนินชีวิตในระบบทุนมันช่างยากลำบากเสียจริง ฉะนั้นต่อให้ทุนนิยมมันจะเลวทรามสามานย์ยังไง ก็ทนอยู่กับมันต่อไปเถอะ”
มันไม่ได้ช่วยลดทอน ไม่ได้ต่อสู้กับทุนนิยมอะไรเลยครับ ตราบเท่าที่ข้อเสนอทางเลือกของคุณมันยังคือการทำให้ (Post-)Industrialized Man ต้องกลายเป็น Pre-Industrialized Man อยู่ มันก็มีแต่ไปเสริมพลังอำนาจให้ทุนนิยมต่อไปนั่นแหละครับ
ไอ้วิถีชีวิตพริมิถีฟแบบบ้านดินอะไรเนี่ย อยากอยู่ก็อยู่ไปเองเถอะ แต่อย่ามาอ้างไปเลยว่าอยู่ง่ายแสนง่ายชีวิตแสนสบายอะไร เหตุผลที่บ้านดินมันสร้างง่ายก็เพราะมันพริมิถีฟหรือบรรพกาลมากๆ เนี่ยแหละ ไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ทางวิศกรรมศาสตร์ หรือการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์อะไรมากนัก ก็พอจะ ‘ซุยๆ’ ไปได้ แต่มันก็แลกมาด้วยความไม่แข็งแรง มีข่าวบ้านดินถล่มอยู่เรื่อยๆ รวมไปถึงอีกสารพัดปัญหา ‘ซึ่งวิทยาการและความก้าวหน้าในยุคต่อๆ มา หาทางแก้ไขจุดบอดของมันเรื่อยมา’ จนกลายเป็นบ้านแบบที่เราอยู่กันทุกวันนี้ ตามความสามารถของทุนและสถานะทางเศรษฐกิจ
ไม่ได้บอกว่าอย่าไปอยู่บ้านดิน อยากอยู่อยู่ไป แต่อย่ามาดัดจริตตอแหลไปว่ามันไร้ปัญหา อย่าแฟนตาซีบ้าบอว่ามันจะดีกว่าบ้านที่อยู่กันตอนนี้อะไรไปได้ บ้านดินเนี่ย ย้อนไปอีกนิดก็ชีวิตโครมันยองแล้วครับ!
ฉะนั้นถ้าหนูดี หรือเหล่าอัจฉริยะสร้างได้ท่านใด อยากจะต้านทานหรือต่อสู้กับระบบทุนนิยมจริงๆ นะครับ ผมแนะนำว่า ควรใช้สมองอันชาญฉลาดสมกับที่เคลมตัวเองเป็น ‘อัจฉริยะ’ นั้น ไปลองหาทางเลือกที่ Practical และอยู่กับวิถีโลกแบบสมัยใหม่ได้ นอกเหนือจากทุนนิยมจะดีกว่าครับ นั่นต่างหากที่จะเป็นการสู้กับทุนนิยมที่แท้จริง! (นี่ไม่อยากจะกระแนะกระแหนต่อด้วยว่า “ที่มาโพสต์เรื่องชีวิตปลูกผักปลูกหญ้ากินเอง” ผ่านโซเชียลมีเดียนี่ โดยตัวมันเองก็ “ไม่ทุนนิยมเล้ยยยยยยย”)
ก็ขอเป็นกำลังใจให้แปลงผักพืชไร่ของอัจฉริยะผู้นี้หรือบ้านดินของใครๆ ไม่โดนน้ำท่วมพังทลายหมดไปก่อนเพราะผู้นำโง่นะครับ (แต่เอาเถอะ ถึงพังไปก็คงไม่เป็นไร เพราะพวกท่านคือผู้ไม่สนใจทุนและโลกทางวัตถุอยู่แล้ว)
Illustration by Namsai Supavong