มีคำอธิบายไว้ว่าทำไมเราถึงชอบดูหนังแนววันสิ้นโลก โดยบอกว่า ลึกๆ แล้ว เราเองต่างรู้สึกว่า ไอ้ชีวิตประจำวัน อันหมายถึงชีวิตสมัยใหม่ ตื่น กินข้าว ไปทำงาน เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตและการบริโภควนไปจนแก่ตาย ชีวิตสมัยใหม่อันหมายถึงชีวิตตามครรลองของระบบทุนนิยมเป็นชีวิตที่แสนชืดชา และน่าเบื่อ และทำให้เราเองก็แอบอยากเห็นจุดสิ้นสุดของโลกทุนนิยมที่ไหลไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุดนี้ได้
และแล้ว ดูเหมือนว่าภาพในหนังฮอลลีวูด หรือนิยายดิสโทเปียซักเรื่องจะเกิดขึ้นเร็วอย่างคาดไม่ถึง แถมเป็นภาวะที่เริ่มลุกลามไปในประเทศมหาอำนาจแทบทุกประเทศทั่วโลก การชะงักงันของ ‘ชีวิตประจำวัน’ ยุติลงชั่วคราว ปัญหาของโลกทุนนิยม โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำ ความโหดร้ายที่ระบบมองเห็นผลกำไรและการหมุนเวียนขับเคลื่อนของระบบเศรษฐกิจสำคัญกว่ามนุษย์อันเป็นเฟืองตัวเล็กๆ ที่ค่อยๆ ตายตกไปตามกันจากโรคระบาด เราเห็นอคติทางชนชั้นที่เคยเหยียด เกลียดแรงงานอพยพ แต่การระบาดกลับเกิดขึ้นจาก bureaucrats โรคระบาดไม่เลือกชนชั้น ไม่เลือกชาติพันธุ์ แต่ในทางกลับกัน คนที่ครอบครองทุนมากกว่า ก็ย่อมมีโอกาสป้องกันตัวเองและอยู่รอดจากภาวะนี้ได้มากกว่า แต่จะรอดแค่เฉพาะหน้าหรือตลอด ก็ต้องดูกันต่อ
นักคิด นักทฤษฎีจำนวนหนึ่ง—ซึ่งส่วนใหญ่นักคิดเหล่านี้มักจะมีฐานคิดแบบมาร์กซิส คือมักจะทำหน้าวิพากษ์วิจารณ์ความอยุติธรรมและกลไกอันซับซ้อนที่โลกทุนนิยมบงการความคิดและวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง ในภาวะวิกฤติเช่นนี้จึงเป็นจังหวะที่มาร์กซิสออกมาชี้ให้เห็นว่า วิกฤติโรคระบาดนั้นส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความเฟื่องฟูของระบบทุนนิยม สอดคล้องกับนักออกแบบผังเมืองที่เห็นเมืองและความหนาแน่นของมหานครในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจพร้อมทั้งโลกโลกาภิวัตน์ การเชื่อมต่อกันของพรมแดนต่างๆ เองก็เป็นเหตุผลที่ทำการระบาดกลายเป็นการระบาดระดับโลกได้ ซึ่งจังหวะที่ ‘โลก’ อันหมายถึงโลกแห่งทุนกำลังชะงัก และกิจกรรมการผลิตและการบริโภคของชะลอตัว ก็ดูมีนัยสำคัญ
จากการระบาดสำคัญนี้ นักคิดต่างเห็นตรงกันว่าโลกของเราอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มาร์กซิสต์เช่น สลาวอย ชิเชค (Slavoj Žižek) ถึงขนาดมองว่า ปรากฏการณ์นี้อาจจะนำไปสู่จุดจบของระบบทุนนิยมก็เป็นได้
Interaction and Infection ว่าด้วยปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์และการติดเชื้อ
โรคระบาดเกิดขึ้นพร้อมๆ กับสังคมมนุษย์ และแน่นอนว่าโรคระบาดเฟื่องฟูขึ้นพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของเมืองใหญ่ ระบบทุนนิยมและโลกอุตสาหกรรมทำให้คนเข้ามารวมตัวกัน ความแออัดคับคั่ง รวมถึงสมัยก่อนที่จะมีแนวคิดเรื่องอาคารที่ดีและระบบสาธารณสุข เมืองใหญ่ๆ ล้วนเผชิญหน้ากับการระบาดกันเป็นกิจวัตร บางที่เช่นนิวยอร์กในฐานะดินแดนความฝันใหม่กลับมีอัตราการตาย เช่นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบในเมือง ตายเยอะกว่าเด็กในชนบทถึง 5 เท่า ผู้อพยพใหม่จากยุโรปทะลักและหามออกเป็นศพหมุนเวียนไม่รู้จบ จนกระทั่งช่วงทศวรรษ 1900 อเมริกาถึงได้เริ่มมีการปฏิรูปเรื่องที่อยู่อาศัย มีข้อบังคับหน้าต่าง ห้องน้ำ และระบบระบายอากาศของอาคาร เรื่อยมาจนถึงแนวคิดเรื่องเมืองที่ดี
เดวิด ฮาร์วีย์ (David Harvey) นักทฤษฎีแนวมาร์กซิสเองก็มีงานเขียนที่พูดถึงการระบาดของ COVID-19 ว่าเป็นปัญหาของระบบทุนนิยม ส่วนหนึ่งที่ฮาร์วีย์บอกว่า ด้วย ‘ระบบ’ ต่างๆ ภายในระบบทุนนิยมเองนั้น เป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนทั้งสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ หน้าตาของเมือง รวมไปถึงรูปแบบที่เรามีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน นึกภาพความสำคัญของโลกทุนนิยมคือการมี ‘ปฏิสัมพันธ์ (interaction)’ มีการทำธุรกรรม ติดต่อ แลกเปลี่ยน ซื้อขาย ส่งต่อกันเป็นการมโหฬาร เป็นสายพานการผลิตต่อเนื่องที่สัมผัสกันเป็นทอดๆ
ไม่ว่าจะเรื่องโลกร้อน หรือกระทั่งเชื้อไวรัสรูปแบบใหม่ที่ฟักตัวนาน อาการน้อย ตรวจจับยากและแพร่ไวนี้ ปัญหาใดๆ ก็ไม่สามารถแยกออกจากระบบที่มนุษย์เติบโตเฟื่องฟูขึ้นมา ภาพของการผลิตของระบบทุนนิยมโลก ที่มีสายพานสำคัญจากจีนนั้น เมื่อเกิดการระบาดขึ้นที่อู่ฮั่น ย่อมกระทบกับห่วงโซ่มหึมาของระบบทุนนิยมโลก ล้มและลุกลามติดเชื้อเนื่องกันไป
โลกติดต่อ-โรคโลกาภิวัตน์
คำว่าการระบาดสัมพันธ์กับการสัมผัสเชื่อมต่อกัน (connectivity) ของมนุษย์ คำเท่ๆ เช่นคำว่า ‘โลกาภิวัตน์’ (globalization) กระทั่งการเดินทางข้ามโลกของการล่าอาณานิคม ต้องอย่าลืมว่าในคอนเซปต์ขับเคลื่อนสำคัญแทบทั้งหมดนั้นล้วนมีระบบทุนนิยมเป็นแกนกลางผลักดัน ชาวตะวันตกเดินทางข้ามโลกไปสู่ดินแดนใหม่ๆ ก็เพื่อมองหาตลาดสำหรับสินค้าที่ถูกผลิตออกมาจำนวนมหาศาล เพื่อหาแหล่งของแรงงานและวัตถุดิบใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนความมั่งคั่งกันต่อไป โลกโลกาภิวัตน์เองก็เช่นกัน การเชื่อมต่อกันของสารพัดมหานครทั่วโลก ก็เกี่ยวข้องกับการมาถึงของบรรษัทข้ามชาติ ตลาดสินค้าและบริการที่ข้ามพรมแดน กลายเป็นระบบทุนนิยมโลก
ในการรับมือแรกๆ ของการระบาด ความกังวลอันดับต้นๆ จากการปิดพรมแดนคือความกังวลว่าระบบเศรษฐกิจ การไหลเวียนของเงินตรานั้นจะชะงักงันลง ทำให้การเจริญเติบโต และธุรกรรมสำคัญสะดุด อันเป็นสิ่งที่ระบบทุนนิยมนั้นรับไม่ได้อย่างเด็ดขาด ผลคือแทบทุกประเทศทั่วโลกที่พยายามลดทอนผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้น ก็เผชิญกับการระบาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ตรงนี้เอง เราเริ่มเห็นข้อวิจารณ์สำคัญของนักทฤษฎีเชิงวิพากษ์ที่บอกว่าระบบทุนนิยมนั้น ตัวมันเองเป็นเหมือนเครื่องจักรขนาดใหญ่ มองเห็น ‘มนุษย์’ อย่างเป็นมนุษย์นั้นน้อยมาก มนุษย์ที่มีเลือดเนื้อลมหายใจ ทำหน้าที่เป็นเหมือนเฟืองที่ถอดเปลี่ยน ทดแทนเพื่อให้เครื่องจักรนี้ผลิตกำไรอย่างไร้ที่สิ้นสุดต่อไปได้ ระบบหรือโลกเราเห็นค่าตัวเลข กราฟ และสถิติ ไปจนถึงผลกำไรมากกว่าการดำรงอยุ่ของมนุษย์ในระบบนี้
การมาถึงของโรคระบาดจึงดูจะเป็นรอยบุบอันสำคัญ และทำให้เราเห็นถึงข้อจำกัดของระบบทุนนิยม ทำให้เห็นข้อบกพร้องของระบบตลาด การแข่งขันเสรี แนวคิดเรื่องปัจเจกชนที่ผลักภาระไปให้ผู้คนมากกว่าการกระจายทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม ภาวะโรคระบาดเปิดเผยให้เห็นความไร้ศักยภาพ ไร้ชีวิตจิตใจ ซึ่งการทำงานของฟันเฟืองและการผลิตน้อยใหญ่ที่เริ่มสะดุดในครั้งนี้ อาจจะรุนแรง และมากมายเกินกว่าที่ตัวระบบจะปฏิเสธความรับผิดชอบได้
วิกฤติทางสุขภาพนั้นทำให้เห็นการกลับมาทบทวนประเด็น และความเป็นไปต่างๆ ของระบบทุนนิยม เห็นว่าโลกทุนนิยมไม่อาจอยู่รอดในวิกฤติได้โดยลำพัง เราเริ่มกลับมาพูดถึงปัจจัยสำคัญๆ ที่ต้องทำผ่านแนวคิดแบบรัฐสวัสดิการ เห็นความสำคัญของการจัดสรรและจัดหาบ้านให้เหมาะสม เห็นถึงประเด็นเรื่องรายได้พื้นฐาน (universal income) เมื่อคนแทบทั้งชนชั้นเสี่ยงจะสลายหายไป เห็นเรื่องระบบประกันสุขภาพและบริหารทรัพยากรที่ปล่อยไปตามระบบตลาดไม่ได้อีกต่อไป ในหลายประเทศที่แม้จะเริ่มมีระบบอันก้าวหน้าแล้วก็ยังรับผลกระทบจากการระบาดอย่างหนักหน่วง แต่บางประเทศนั้นที่ดูจะเป็นทุนนิยมโดยรัฐ รัฐทำตัวเป็นนายทุนที่มีอำนาจเต็ม ประชาชนตาดำๆ ก็คงต้องดิ้นหาเจลล้างมือและหน้ากากกันต่อไปตามอัตภาพ
ไม่แน่ใจว่าโลกเรา—โลกทุนนิยมจะวิกฤติและดำเนินไปจนถึงขั้นที่ชิเชคมองรึเปล่า ว่าทัศนะแบบมาร์กซ์ที่ระบบหนึ่งๆ จะถูกท้าทายจนเกิดเป็นสังคมหรือความสัมพันธ์ในการผลิตรูปแบบใหม่ หรือทุนนิยมจะถึงจุดจบแล้วหรือไม่
แต่ในภาวะทุกวันนี้ พวกเราเองก็ยังดิ้นรนเพื่อฟังก์ชั่นให้ระบบทุนนิยมยังดำเนินต่อ ยังคงต้องทำเพื่อปากท้อง และการเอาตัวรอดกันอยู่ ชิเชคเองก็อาจจะต้องไม่ลืมว่าตัวเองก็เคยพูดไว้ถึงหนังแนวล้างโลก- ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง ‘capitalism realism’ ของฮาร์วีย์ว่า “เรานั้นคิดถึงโลกที่ล่มสลายได้ แต่เราไม่อาจจินตนาการถึงการล่มสลายของระบบทุนนิยมได้เลย”
อ้างอิงข้อมูลจาก