ในโลกของเกมวางแผนอันแสนจะกว้างใหญ่มหัศจรรย์ คงไม่มีใครไม่รู้จักชื่อ Sid Meier เทพดีไซเนอร์ผู้ออกแบบ Civilization ซีรีส์เกมสร้างอารยธรรมอันโด่งดัง แต่ก่อนที่ Meier จะดังเป็นพลุแตกในปี 1991 เมื่อออก Sid Meier’s Civilization ภาคแรก หนึ่งปีก่อนหน้านั้นเขาก็ออกเกมที่ดังน้อยกว่าเล็กน้อย แต่สร้างประวัติศาสตร์เกมไม่แพ้กัน ชื่อ Railroad Tycoon
Railroad Tycoon เป็นเกมแรกที่ Meier ทำงานร่วมกับ Bruce Shelley อดีตนักออกแบบบอร์ดเกมจากบริษัท Avalon Hill เจ้าตลาดบอร์ดเกมแนวสงครามในสมัยนั้น ผู้กลายมาเป็นดีไซเนอร์คู่ใจ (จากนั้นคู่นี้จะผลิตเกมวางแผนเจ๋งๆ ที่มีกลิ่นอายของระบบบอร์ดเกมตามมาอีกมากมาย) และประวัติศาสตร์เกมก็ต้องจารึกไว้ว่า เกมนี้ให้กำเนิด ‘เกมจำลองธุรกิจ’ หรือ business simulation ตระกูล ‘Tycoon’ ทั้งมวลต่อมาอีกมากมายหลายสิบเกม เฉกเช่นที่ Civilization จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเกมแนว ‘4X’ (สร้างอารยธรรมด้วยการสำรวจ (eXplore), ขยายดินแดน (eXpand), ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (eXploit) และโจมตีคู่ต่อสู้ (eXterminate) เมื่อที่ดินเปล่าเริ่มเหลือน้อย) มากลืนกินเวลา (นอน) ของเราจวบจนปัจจุบัน
16 ปีให้หลัง และหลายปีหลังจากที่มีภาคสองและสามของ Railroad Tycoon (โดยที่ Meier เองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง) เขาก็ปิ๊งไอเดียว่าอยากเอาเกมนี้มาปัดฝุ่นทำใหม่ โดยรักษาบรรยากาศเจ๋งๆ ของเกมต้นฉบับ ที่บาลานซ์ระหว่างการจำลองแก่นสารของระบบเศรษฐกิจมาเป็นเกมได้อย่างสนุกสนาน (และไม่ปวดกบาลเกินไป) กับการทำให้เรารู้สึกเหมือนได้นั่งต่อโมเดลรถไฟจำลองในบ้านตัวเอง
ผลลัพธ์ในปี 2006 คือเกมชื่อ Sid Meier’s Railroads! ซึ่งหนึ่งทศวรรษผ่านไป ผู้เขียนยังเห็นว่าเป็นเกมที่สนุกและใช้แนะนำหลักการสำคัญๆ ของระบบทุนนิยม หรือจะเรียกว่า ‘ทุนนิยม 101’ ให้กับคนทั่วไป (ที่ไม่ใช่คอเกมหรือชอบจ้องดูจอหุ้น) ได้ดีที่สุดเกมหนึ่ง
Sid Meier’s Railroads! ให้เราเล่นเป็น ‘นายทุน’ ธุรกิจรถไฟ (บางคนเรียกว่า ‘เจ้าพ่อ’ น่าจะเหมาะกว่า) ตั้งแต่ยุคบุกเบิก ปี 1831 จนถึงปี 1970 โดยมีแผนที่ที่หลากหลาย ตั้งแต่ภูมิภาคในอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี แต่ละฉากเราปรับระดับความยากง่ายได้ (ระดับ ‘Robber Baron’ โหดหินพอสมควร เพราะคู่แข่งคอมพิวเตอร์จะแทบไม่ปล่อยให้เราขยายเส้นทางรถไฟได้สบายๆ เลย) และสามารถเลือกว่าจะเริ่มเล่นในปีไหน (ส่งผลต่อเทคโนโลยีหัวรถจักร และประเภทของอุตสาหกรรมต่างๆ บนแผนที่)
ความสนุกอย่างหนึ่งของเกมนี้คือการได้เห็นเมืองต่างๆ ค่อยๆ ขยายใหญ่ตามเส้นทางรถไฟ ตึกรามบ้านช่องเปลี่ยนโฉมไปตามยุค และรถไฟดังๆ ของแต่ละประเทศปรากฎตัวในช่วงเวลาที่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ อย่างเช่นรถไฟความเร็วสูง TGV ในประเทศฝรั่งเศสสมัยใหม่
เป้าหมายของเราในฐานะนายทุน (ที่ย่อมอยากจะผูกขาด) แน่นอนว่ามีอย่างเดียวเท่านั้น คือทำกำไรให้ได้มากกว่าคู่แข่งและหาโอกาสไล่ซื้อหุ้นของบริษัทคู่แข่งจนสามารถฮุบกิจการของทุกคนมาเป็นของตัวเอง กลายเป็นนายทุนหนึ่งเดียวในตลาด ก่อนจะทำแบบนี้ได้ เราต้องลงทุนสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างเมืองต่างๆ (ส่งผู้โดยสารและไปรษณีย์) ระหว่างแหล่งวัตถุดิบกับโรงงานอุตสาหกรรม (เช่น ส่งน้ำมันดิบไปโรงกลั่น เสร็จแล้วก็รอส่งน้ำมันสำเร็จรูปไปขายต่อในเมือง ส่งไม้จากโรงเลื่อยไปโรงงานกระดาษ รอรับกระดาษไปขายต่อในเมือง ฯลฯ) ซื้อหัวรถจักร วางแผนว่าจะส่งอะไรไปขายที่ไหนให้ได้กำไรสูงสุด (โดยที่ไม่ต้องตีรถเปล่าระหว่างทาง)
บางครั้งเราอาจจะอยากลงทุนประมูลซื้อโรงงานอุตสาหกรรมหรือแหล่งผลิตวัตถุดิบมาเป็นของตัวเอง อัพเกรดเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มกำไรในอนาคต รวมถึงต้องเจียดเวลามาประมูลสิทธิบัตร (ให้เราได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ไปคนเดียวยี่สิบปี เช่น ‘น้ำมันหล่อลื่น’ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาหัวรถจักร) หาจังหวะซื้อหุ้นของคู่แข่ง และสร้างทางรถไฟตัดหน้ามัน (ฮ่าฮ่า) แต่ก็ต้องระวังไม่ให้คู่แข่ง (คนหรือคอมพิวเตอร์) ใช้กลยุทธ์แบบเดียวกันกับเราเหมือนกัน!
คุณูปการอย่างหนึ่งของ Sid Meier’s Railroads! คือความง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปากของการสร้างทางรถไฟ เพียงแต่ใช้เม้าส์ลากเส้นจากเมืองหนึ่งไปอีกเมือง (หรือแหล่งวัตถุดิบ/โรงงาน) เกมจะสร้างทางรถไฟให้โดยอัตโนมัติ (และหักเงินค่าก่อสร้างทั้งเส้น) ถ้าจะต้องมีสะพานข้ามแม่น้ำหรือขุดอุโมงค์ทะลุภูเขา เกมก็จะคำนวณให้เองเสร็จสรรพ ไม่ต้องเสียเวลาเล็งแผนที่ คลิกทีละแผ่นและปรับระดับความสูงของเส้นทางทีละนิด
ความง่ายของการสร้างทางรถไฟแปลว่าเราจะสามารถเอาเวลามาสนุกกับแบบจำลองเศรษฐกิจในเกม ซึ่งไม่ซับซ้อนเท่ากับ Railroad Tycoon ภาคสองและสาม แต่ผู้เขียนคิดว่าสอนหลักการสำคัญๆ ของระบบทุนนิยมได้อย่างค่อนข้างครบถ้วน ผู้เขียนสรุปบทเรียนจากเกมนี้ที่ตรงกับโลกจริงได้อย่างน้อย 3 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. ลงทุนอย่างคุ้มค่าเพื่ออนาคต และเข้าใจหลักอุปสงค์-อุปทาน
นักธุรกิจจำนวนไม่น้อยชอบแห่กันผลิตสินค้าหรือบริการที่ก๊อปปี้คนอื่นมาเป๊ะๆ เพียงเพราะเห็นว่าเจ้าแรกทำแล้วรวย แล้วก็เชื่อลมๆ แล้งๆ ว่าตัวเองเดี๋ยวก็จะรวยเหมือนกัน (บางคนแถมพกด้วยความเชื่อมั่นผิดๆ ว่า ของฉันดีกว่าของเจ้าแรกเยอะแยะ ลูกค้าต้องแห่มาซื้อแน่ๆ) คนที่คิดแบบนี้ไม่เข้าใจ ‘กฎเหล็ก’ ของระบบทุนนิยมที่ว่า ความต้องการในตลาดใช่ว่าจะมีไม่สิ้นสุด (เพราะไม่มีใครมีเงินไม่จำกัด) เมื่อใดที่ผลผลิตอะไรก็ตามมีมากเกินกว่าความต้องการ ราคาของมันก็ย่อมจะลดลง และในทางกลับกัน เมื่อใดที่ความต้องการมีมากกว่าผลผลิต ราคาก็จะถีบตัวสูงขึ้น ดึงดูดให้พ่อค้ารายใหม่ๆ เข้าตลาด
ระบบเศรษฐกิจใน Sid Meier’s Railroads! มีสินค้ามากกว่า 20 ชนิด และอุตสาหกรรมราว 30 ประเภท เราจะเล่นแบบชิลล์ๆ ด้วยการส่งผู้โดยสารและไปรษณีย์ไปมาระหว่างเมืองก็ได้ (เกมนี้ยากที่เราจะขาดทุนหลุดลุ่ยจนต้องออกจากเกมไป แต่ก็ไม่ง่ายที่จะทำเงินได้เป็นหลักหลายสิบล้าน) แต่กำไรงามๆ อยู่ที่การฉวยโอกาสสร้างทางรถไฟเพื่อแปรรูปและส่งสินค้าที่มีความต้องการสูงตั้งแต่ต้นเกม เช่น รถยนต์ เพื่อกอบโกยกำไร (ผูกขาด เพราะยังไม่มีใครมาแข่ง) ให้ได้มากที่สุด ก่อนที่คู่แข่งจะมองเห็นโอกาสและเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด (กดดันให้ราคาตลาดลด เราได้กำไรน้อยลง)
แนวโน้มที่จะทำกำไรในฐานะ ‘เจ้าแรก’ ที่ยึดหัวหาดตลาดสินค้าความต้องการสูงหมายความว่า บางครั้งอาจคุ้มค่าที่เราจะทุ่มเงินประมูลซื้อโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้านั้นๆ ไปเลย (ต้องคิดดูดีๆ เพราะแพงมาก อาจต้องใช้เงินถึง 100,000 เหรียญสหรัฐถ้าคู่แข่งประมูลสู้ เงินจำนวนนี้เอาไปซื้อหัวรถจักรได้หลายคันและสร้างทางรถไฟยุคบุกเบิกได้หลายเส้น) เพราะเราจะได้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงงานนั้นตลอด ต่อให้เราไม่ได้สร้างทางรถไฟเอง คู่แข่งเป็นคนที่มาสร้างทางรถไฟขนสินค้าของเราไปขาย ยิ่งเมืองนั้นเติบโตตามกาลเวลา โรงงานนั้นๆ ก็จะเติบโตตาม และส่วนแบ่งกำไรของเราก็จะโตตามไปด้วย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็จะต้อง ‘เก็ง’ ให้ถูกเหมือนกันว่าอุตสาหกรรมไหนในเมืองไหนที่น่าจะเติบโตในอนาคต เพราะการลงทุนครั้งแรกต้องใช้เงินทุนสูง อีกทั้งเรายังต้องประมูลแข่งกับคนอื่น ถ้าใช้เงินมากเกินไป กว่าจะได้กำไรจนคืนทุนคงต้องรอชาติหน้าตอนบ่ายๆ (เหมือนประมูลคลื่น 4G!)
ในเมื่อราคาสินค้าทุกชนิดแปรผันตามหลักอุปสงค์-อุปทาน นั่นแปลว่าเราต้องคอยมองหาโอกาสใหม่ๆ ตลอดเวลา โดยเฉพาะโอกาสที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม ขยับเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่ยังไม่มีใครบุก และกระจายความเสี่ยงด้วยการส่งสินค้าหลายประเภท แต่ก็ต้องระวังไม่ให้ความหลากหลายมีน้ำหนักมากกว่าประสิทธิภาพด้วย เพราะตำแหน่งของเมืองเทียบกับแหล่งวัตถุดิบและโรงงานอาจไกลเกินกว่าจะทำให้เส้นทางนั้นคุ้มค่า (จนกว่าจะมีเทคโนโลยีหัวรถจักรใหม่ๆ ที่วิ่งเร็วกว่าเดิม)
2. วิ่งตามเทคโนโลยีให้ทัน แต่ใช้มันอย่างเหมาะสม
หัวรถจักร เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมใน Sid Meier’s Railroads! มีวิวัฒนาการอย่างไม่หยุดยั้งและจำลองมาจากประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในโลกจริง ถ้าเราละเลยไม่ไล่ตามเทคโนโลยี ไม่อัพเกรดหรือซื้อหัวรถจักรใหม่ๆ เลย ไม่นานค่าบำรุงรักษาหัวรถจักรรถไฟขบวนเก่าของเราก็จะสูงมากจนไม่คุ้ม และเราก็จะเริ่มสู้คู่แข่งไม่ได้เพราะรถไฟของเขาเร็วกว่าและมีประสิทธิภาพดีกว่า
Sid Meier’s Railroads! จำลองบทบาทของรัฐกับเทคโนโลยีเรื่องหนึ่งได้ดี นั่นคือ การประมูลสิทธิบัตร เทคโนโลยีใหม่ๆ ในเกมนี้ เช่น หัวรถจักรไอน้ำแบบใหม่ จำลองมาจากประวัติศาสตร์จริงแต่จะเกิดแบบสุ่ม ไม่ใช่ปรากฏในปีเดียวกันทุกเกม (ทำให้เล่นแต่ละครั้งไม่เหมือนเดิม) เราจะได้เลือกว่าจะแข่งประมูลสิทธิบัตรใบนั้นหรือไม่ (คล้ายกับตอนประมูลซื้อโรงงานอุตสาหกรรม) ถ้าประมูลแล้วชนะ เราจะได้สิทธิผูกขาดการใช้เทคโนโลยีนั้นคนเดียว 20 ปี ก่อนที่มันจะกลายเป็นสาธารณสมบัติ (ให้ทุกคนใช้ได้โดยไม่ต้องเสียสตางค์) เล่นๆ ไปเราจะพบว่า บางครั้งเราจะอยากทุ่มเงินประมูลซื้อเทคโนโลยีที่เราไม่จำเป็นต้องใช้ เพียงเพื่อกีดกันไม่ให้คู่แข่งได้ใช้ (ฮ่าฮ่า)
เกมนี้ไม่ต่างจากโลกจริงตรงที่คิดแต่จะทุ่มทุนเพื่อเทคโนโลยีล่าสุดอย่างเดียวไม่พอ ต้องคิดเรื่องประสิทธิภาพและความเหมาะสมของการใช้เทคโนโลยีนั้นๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ไม่จำเป็นที่เราจะพยายามอัพเกรดให้รถไฟทุกขบวน ‘วิ่งเร็วที่สุด’ เพราะมันต้องเหมาะสมกับสินค้าที่จะขนส่งด้วย (คงไม่มีใครเอา TGV ไปส่งน้ำมันดิบ เพราะการกลั่นน้ำมันไม่ได้ต้องการความเร็วสูงหรือห้องโบกี้หรูหราเหมือนกับผู้โดยสารที่มีสตางค์)
3. ตลาดหุ้นคือสนามรบทางธุรกิจ
เสน่ห์อย่างหนึ่งของ Railroad Tycoon ภาคก่อนๆ ที่ผู้เขียนยังตราตรึงไม่ลืมเลือน คือการที่เกมนั้นไม่เพียงแต่ให้เราสวมบทบาทเป็น ‘นักธุรกิจรถไฟ’ ที่ชื่นชอบการสร้างทางรถไฟ ปลุกปั้นอุตสาหกรรม ส่งสินค้าและผู้โดยสารเท่านั้น แต่ยังตรงตามประวัติศาสตร์จริง (ที่สนุกมาก) ของทุนนิยมโลก ตรงที่นักธุรกิจรถไฟยุคแรกๆ ยังเป็น ‘นายทุน’ ที่หลายคนช่ำชองการกว้านซื้อหุ้นของบริษัทคู่แข่ง (จนรู้ตัวอีกทีก็ถูกฮุบกิจการไปแล้ว) มากกว่าการเป็นผู้ประกอบการรถไฟ มาถึง Sid Meier’s Railroads! ทำระบบการเงินให้ ‘ง่าย’ กว่าเกมก่อนๆ ตรงที่ไม่แยกระหว่างเงินส่วนตัว (ของเรา ในฐานะผู้ถือหุ้น) กับเงินของบริษัท และไม่ให้เราระดมทุนเพิ่ม (ด้วยการออกหุ้นกู้ของบริษัท) แต่ยังรักษาความสนุกของการไปซื้อหุ้นของบริษัทคู่แข่ง โดยเฉพาะตอนที่บริษัทยังเล็กอยู่ ราคาหุ้นยังไม่แพง
เราจะซื้อหุ้นของบริษัทคู่แข่งเมื่อใดก็ได้ จะซื้อแบบเก็งกำไรในตลาดหุ้นจริงๆ คือซื้อถูกเพื่อรอขายแพงก็ได้ หรือจะซื้อหุ้นของบริษัทตัวเองด้วยก็ได้ (เพื่อรอขายแพงเหมือนกัน หรือสะสมเพื่อป้องกันการถูกซื้อกิจการ เพราะเริ่มต้นเราถือหุ้นในบริษัทตัวเองเพียงเล็กน้อยเท่านั้น) เพราะระดมทุนจากนักลงทุนคนอื่นมา แต่เราจะเริ่มสนใจที่จะใช้ตลาดหุ้นเป็น ‘สนามรบ’ ก็ตอนที่คู่แข่งดอดมาซื้อหุ้นของเรา หรือเริ่มกีดกันวิธีทำเงินของเรา เช่น เจ้าบ้า เจ.พี.มอร์แกน (J.P. Morgan – คู่แข่งคอมพิวเตอร์ทุกคนในเกมนี้มีที่มาจากนายทุนรถไฟตัวจริงในประวัติศาสตร์) อาจจะมาสร้างทางรถไฟตัดหน้าเส้นรถไฟที่เรากำลังมุ่งหน้าสู่ลาสเวกัส หรือเจ้าเบื๊อก คอร์เนลิอุส แวนเดอร์บิลท์ (Cornelius Vanderbilt) อาจจะผูกขาดเหมืองถ่านหินรอบเมืองใหญ่ๆ ไว้หมดแล้ว ร่ำรวยขึ้นทุกครั้งที่เราจำใจขนถ่านหินไปขายโรงไฟฟ้า เมื่อนั้นล่ะก็ เราจะอาฆาตแค้นและวางแผนทยอยซื้อหุ้นมัน เมื่อใดที่เรากว้านซื้อหุ้นครบ 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อนั้นกิจการของมันก็จะตกเป็นของเรา และเราก็จะได้กำจัดคู่แข่งไปหนึ่งคน (ฮ่าฮ่า)
ใครที่อยากรู้ว่าระบบทุนนิยมสมัยใหม่ทำงานอย่างไร แต่ไม่อยากเล่นเกมซับซ้อนที่ต้องลงทุนใช้เวลาทำความเข้าใจกับแบบจำลองเศรษฐกิจจนไม่ต่างจากไปนั่งเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ ผู้เขียนคิดว่า Sid Meier’s Railroads! จะไม่ทำให้ผิดหวัง อีกทั้งยังนับเป็นวิธีคลายเครียด เฝ้าดูพัฒนาการอันเกรียงไกรในอดีตของทางรถไฟชาติอื่น ในยุคที่รถไฟเมืองไทยดูจะสาละวันเตี้ยลง เตี้ยลง วิ่งถอยหลังลงทุกวัน.
หมายเหตุ 1 : เกมนี้มีภาคเสริมที่แฟนๆ ผลิตเองหลายฉาก ผู้เขียนแนะนำ Intercontinental
หมายเหตุ 2: Railroad Tycoon เกมคลาสิกปี 1990 ยังเปิดให้ดาวน์โหลดฟรีจากเว็บไซต์เกม
หมายเหตุ 3 : ถ้าสนใจเกมซีรีส์นี้แต่ชอบความท้าทาย อยากรับมือกับระบบเศรษฐกิจที่ซับซ้อนกว่านี้และเจอคู่ต่อสู้ (คอมพิวเตอร์) ที่ “เขี้ยว” กว่านี้ ผู้เขียนแนะนำ Railroad Tycoon II และ Railroad Tycoon III เกมภาคต่อของต้นฉบับ (และออกก่อน Sid Meier’s Railroads!) ระหว่างสองเกมนี้ ภาคสองคือ Railroad Tycoon II จำลองเศรษฐกิจได้ดีกว่าและซับซ้อนกว่า แต่ก็ต้อง micromanage รายละเอียดมากกว่าภาคสาม