อันเนื่องมาจากเดือนกุมภาพันธ์ถูกโลกทุนนิยมกำหนดให้เป็นเดือนแห่งความรักไปเรียบร้อยแล้ว และการแสดงออกถึงความรักโรแมนติกก็ทำได้ทุกเพศสถานะเพศวิถี และที่สำคัญการจัดพาเหรดในนาม ‘Pride’ ของไทยก็ถูก localize แล้ว
จาก Gay pride สากลที่มีอเมริกาเป็นศูนย์กลาง ที่จัดขึ้นเพื่อร่วมระลึกเหตุการณ์ Stonewall Riots ที่นิวยอร์คปี ค.ศ.1969 ที่กลุ่มเกย์กะเทยแดร็กควีนชักธงรบปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐที่คอยปราบปรามจับกุมใช้ความรุนแรงคนรักเพศเดียวกันในฐานะอาชญากร นำไปสู่การปฏิวัติความหลากหลายทางเพศในสังคมและรัฐ และเพื่อเป็นปฏิกิริยาโต้กลับกระแสสำนึกที่รักเพศเดียวกันเป็นความน่าอับอายรู้สึกผิดบาปต้องปกปิดเก็บซ่อนไว้ในเบื้องลึกของตนเอง ด้วยการประกาศความภาคภูมิใจในตนเอง เปิดเผยตัวตนอย่างสง่าผ่าเผยบนที่สาธารณะ
และเพื่อประกาศว่าทุกเพศสถานะเพศวิถีก็สามารถแสดงออกบนพื้นที่สาธารณะได้ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย เราต่างภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเอง และมีสิทธิเสรีภาพทางเพศ แต่ในการจัดตั้งกิจกรรมที่จะต้องใช้เสียงดังในการประกาศตัวบนที่สาธารณะ จึงมีการนำเสนอภาพตัวแทน (representation) ซึ่งเป็นชุดความหมายอัตลักษณ์ที่มาจากกระบวนการเลือกเฟ้นคุณลักษณ์บางประการหยิบมาเรียบเรียง ขับเน้น เบลอคุณลักษณ์อื่นไม่ให้เห็นแล้วก็นำเสนอใหม่ จนราวกับว่าเป็นตัวแทนของทั้งหมด มันถึงออกมาฟู่ฟ่า อลังการดาวล้านดวง หวือหวาก๋ากั่น ส่งสารเสียงดังให้ปั๊วะปัง
พี่ไทยจึงจัดเกย์พาเหรดครั้งแรกที่สีลม ในวันฮาโลวีน พ.ศ.2542
เป็นปาร์ตี้แต่งแฟนซีหวือหวาอลังการเพื่อความสนุกสนานของคนกรุงเทพฯ ชนชั้นกลางในพื้นที่กึ่งปิดกึ่งปิดในชุมชนเกย์ และมีความหมายนัยยะเพื่อการค้าการท่องเที่ยวมากกว่า ก่อนที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิเสรีภาพทางเพศ ความเท่าเทียมของคุณค่าศักดิ์ศรี LGBT ให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา HIV-Aids ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ลดอคติต่อคนรักเพศเดียวกัน กะเทย ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี การกดขี่เด็กและผู้หญิง สิทธิของพวกเขาและเธอที่ควรจะได้รับแต่ยังไม่ได้
และในปี พ.ศ.2563 พัทยาจึงจัดงานไพรด์ 14 – 16 กุมภาพันธ์ และที่เชียงใหม่ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ซึ่งวันเสาร์ที่ 22 กุมภาฯ นี้ไม่ได้ปัดหมุดวันมาเพราะโชคช่วย หากแต่มาจากบาดแผลความเจ็บปวดและคราบน้ำตา สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความรุนแรงต่อกลุ่ม LGBT และผู้ที่ร่วมงานไพรด์ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 ที่เชียงใหม่ เมื่อ 11 ปีที่ผ่านมา
ความรุนแรงอันน่าสลดใจนี้ ชนวนเหตุเกิดจากองค์กรเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศบางกลุ่มในเชียงใหม่ไม่เห็นด้วยกับเกย์ไพรด์
เช่น กลุ่มเชียงใหม่อารยะ กลุ่มเกย์การเมืองไทย เรนโบว์ดรีม ผู้หญิงไม่แท้ของล้านนา บ้านสีม่วง ได้รวมตัวกันยื่นจดหมายร้องหน่วยงานราชการจังหวัด ทั้งผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสาขาเชียงใหม่ นายกเทศมนตรีเชียงใหม่ สำนักงานวัฒนธรรมเชียงใหม่ และผู้ว่าราชการจังหวัด ล๊อบบี้ให้ยุติกิจกรรมนี้ เพราะเชื่อว่าเกย์ไพรด์จะทำให้วัฒนธรรมล้านนาถูกมองในแง่ลบ เยาวชนจะเลียนแบบ และเป็นการเบี่ยงเบนวัฒนธรรมเชียงใหม่เพื่อเอื้อผลประโยชน์ตนเอง นักเคลื่อนไหวเกย์อนุรักษ์นิยมชื่อดัง ‘เกย์นที’ ก็เป็นปากเป็นเสียงตั้งป้อมโจมตีต่อต้านคัดค้านการจัดเกย์ไพรด์อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู จนแทบไม่เชื่อว่าผู้คนและองค์กรเหล่านี้เคยทำงานเคลื่อนไหวเพื่อ LGBT มาก่อนจริงๆ
ไม่เพียงทางผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานวัฒนธรรม และเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่แสดงท่าทีว่า เกย์ไพรด์ไม่เหมาะสมและขัดต่อวัฒนธรรมเชียงใหม่ ราวกับว่าเป็นผู้ผูกขาดความหมายวัฒนธรรมเชียงใหม่เพียงผู้เดียว ด้วยแรงยุต่างๆ หนังสือพิมพ์ ‘เชียงใหม่นิวส์’ และสถานีวิทยุท้องถิ่นที่ประกาศตนว่าเป็นผู้อนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงาม ก็ปลุกปั่นด่าทอสร้างความเกลียดชังเกย์กะเทย หาว่าขัดต่อจารีตประเพณีล้านนา ขึดบ้านขึดเมือง ปลุกระดมมวลชนเตรียมป่วนกิจกรรมให้ขว้างปาข้าวของเสียใส่ขบวนพาเหรด ก่อนวันงาน 1 วันกลุ่มคนเสื้อแดงบางกลุ่มที่ประกาศว่าตนเองรักสิทธิเสรีภาพรักนักรักหนา ก็ขับรถตามท้องถนนป่าวประกาศให้ออกมาขัดขวางเกย์ไพรด์
และแล้วระเบิดเวลาก็นับถอยหลังมาถึงเวลา 4 โมงเย็นของวันเสาร์ของวันที่ 21 กุมภาฯ เมื่อกลุ่มคนเสื้อแดงติดอาวุธในนาม ‘กลุ่มฮักเชียงใหม่ 51’ กว่า 1,000 คน ตบเท้าเข้าปิดล้อมพร้อมด้วยรถบรรทุกขนเครื่องขยายเสียง ป้ายต่อต้าน ปิดประตูพุทธสถานเชียงใหม่ซึ่งเป็นจุดนัดพบเริ่มต้นขบวนพาเหรด กักขังกลุ่มคนร่วมงานไพรด์ไม่ให้ได้เริ่มกิจกรรม พร้อมทั้งสลับหมุนเวียนกันตะโกนสาปแช่งด่าทอหยาบๆ คายๆ ขว้างปาข้าวของก้อนหิน แก้วน้ำและเศษอาหาร จนทีมจัดเกย์ไพรด์บาดเจ็บ ขณะเดียวกันผู้ที่จะมาร่วมพาเหรดก็ไม่สามารถเข้าไปรวมตัวกับกลุ่มที่ถูกปิดล้อมภายในได้เพราะถูกขัดขวางตามจุดต่างๆ
ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้พิทักษ์สันติราษฎร์กว่า 100 นาย ไม่เพียงกว่าจะมาปฏิบัติหน้าที่ช้าจนเกิดจลาจลแล้ว แต่มาก็แค่สังเกตการณ์อย่างดูดาย ไม่ห้ามปราม แม้จะถูกร้องขอให้ดูแลความปลอดภัยก็ตาม ซ้ำยังบอกให้กลุ่มจัดไพรด์ปฏิบัติตามคำสั่งของกลุ่มฮักเชียงใหม่ 51 อีก ยอมยกเลิกงานกล่าวขอโทษแล้วกลับบ้านไป เรื่องจะได้จบ
ระยะเวลากว่า 4 ชั่วโมงที่ถูกปิดล้อมและตกเป็นเป้าความกักขฬะป่าเถื่อน คณะผู้จัดงานที่ติดอยู่ในวงล้อมได้แต่ภาวนา นั่งสมาธิแผ่เมตตาใช้สันติวิธีสู้กับความรุนแรง แล้วปล่อยลูกโป่งเปิดงาน ก่อนจะฝูงชนที่บ้าคลั่งบังคับให้คลานออกกราบขอโทษ และสั่งห้ามไม่ให้จัดเกย์ไพรด์ในเชียงใหม่ไปอีก 1,500 ปี (ยาวนานกว่าปะวัติศาสตร์ชาติล้านนาอีก) สุดท้ายคณะผู้จัดงานจำต้องขอโทษ เพราะเห็นว่าในกลุ่มที่ถูกกักขังมีเยาวชนอายุน้อยซึ่งตื่นกลัวและยังไม่ได้ทานข้าวเย็น
เมื่อพ้นค่ำคืนอันโหดร้ายโกลาหลเหมือนกับต้องผจญกับฝูงซอมบี้ในหนัง night of the living dead บรรดาผู้ประสบภัยได้รวมตัวและก่อตั้ง ‘กลุ่มเสาร์ซาวเอ็ด’ เพื่อเคลื่อนไหวยุติความรุนแรงในกลุ่มความหลากหลายทางเพศ สื่อสารกับสังคมให้รู้จักการอยู่ร่วมกับความแตกต่าง และทวงถามความยุติธรรมความรับผิดชอบจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น
และกำหนดให้วันที่ 21 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น ‘วันยุติความรุนแรงต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ’ ในไทย
แต่พอเมื่อทวงถามความรับผิดชอบก็ทำให้พวกขาและเธอต้องเผชิญกับความรุนแรงอีกรูปแบบ ไม่เพียงถูกเมินเฉยปัดความรับผิดชอบ ซ้ำยังถูกกลั่นแกล้งในนามของภาครัฐ เมื่อกลุ่มเสาร์ซาวเอ็ดจัดกิจกรรมเรียกร้องความยุติธรรมที่ข่วงประตูท่าแพ เทศกิจเชียงใหม่ก็เข้ามาเร่งให้ยุติงาน สั่งให้รื้อถอนเวทีป้ายข้อความกลางคัน
ทั้งปราศจากผู้ที่เกี่ยวข้องออกมารับผิดชอบ เยียวยา เสียงเรียกร้องของพวกเขาและเธอยังถูกทำให้เป็นเสียงตะโกนในสุญญากาศที่ไม่มีใครได้ยิน ถูกทำให้ราวกับว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในครั้งนั้นไม่เคยเกิดขึ้น
เหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของให้กลุ่มเสื้อแดงรักเชียงใหม่ 51 ว่าไร้ความเข้าใจในวัฒนธรรมประชาธิปไตย แต่ยังเผยว่ารัฐเองก็พึ่งไม่ได้ ไม่สามารถคุ้มครองสวัสดิภาพประชาชนที่เต็มไปด้วยความหลากหลายได้ และความเพิกเฉยความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็ย่อมเท่ากับสนับสนุนความรุนแรงให้ดำรงอยู่
หากการบุกยึดสนามบินของเสื้อเหลืองในปี พ.ศ.2551 และประกาศตัวเป็น กปปส. ไปเป่านกหวีดขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยและอัญเชิญเผด็จการทหาร เป็นตราบาปและอดีตอันน่าอับอายให้ใครต่อใครฉันใด
เสื้อแดงเชียงใหม่ท้องถิ่นนิยมที่เรียกร้องเสรีประชาธิปไตย แต่ไปใช้ความรุนแรงกับงานไพรด์ในปี พ.ศ.2552 ก็เป็นตราบาปและความน่าอัปยศอดสูเช่นกันฉันนั้น
และนั่นก็ได้ทิ้งบาดแผลขนาดใหญ่ให้กับจิตใจนักเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางเพศ หลายคนรู้สึกไม่ปลอดภัยกับคนเสื้อแดงลามไปถึงนักเคลื่อนไหวและกลไกที่เป็นประชาธิปไตย ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหว LGBT บางกลุ่มฉีกตนเองออกจากกลไกและขบวนการเคลื่อนไหวที่เป็นประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม ในปีที่แล้วที่จัดงาน Chiang Mai Pride 2019 และรำลึก 10 ปีเสาร์ซาวเอ็ด ผ่านไปด้วยดี เป็นหมุดหมายที่แสดงถึงชุมชนและผู้คนในพื้นที่ได้รับการยกระดับจิตใจและเพดานความคิดมากขึ้น เปิดรับยอมรับความหลากหลายทางเพศและกิจกรรม LGBT มากขึ้น สามารถจัดไพรด์ได้อย่างปลอดภัยจากอคติและความรุนแรงจากพวก homophobia transphobia
และเพื่อเป็นการยืนยันว่าท้องถิ่นนิยมก็สามารถอยู่กับโลกสากลได้ อนุรักษ์นิยมก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่ได้เช่นกัน วัฒนธรรมท้องถิ่นที่ดีงามสามารถเป็นมิตรและโอบรับทุกกลุ่มอัตลักษณ์ในท้องที่ได้ไม่เลือกปฏิบัติและไม่ใช้กำลัง และไม่ว่าเพศไหนก็สามารถร่วมงาน pride ได้ เพราะความภาคภูมิใจเกิดขึ้นได้ในทุกเพศสถานะเพศวิถีได้
และเพื่อให้นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวที่นำไปสู่งานไพรด์ไม่ถูกโดดเดี่ยว ไม่ถูกหลงลืมประสบการณ์ประวัติศาสตร์ว่ากว่าจะได้เดินอย่างสง่าผ่าเผยบนที่สาธารณะต้องประสบพบเจออะไรบ้าง ต้องโดนมาเยอะเจ็บมาเยอะแค่ไหน และที่สำคัญเพื่อย้ำเตือนว่าเราจะไม่กลับไปสู่ยุคที่ใช้ความรุนแรงต่อเพศสถานะเพศวิถีใดอีกต่อไป
Chiang Mai Pride 2020 ที่จะจัดวันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์นี้… ไปกันนะ
หนังสืออ้างอิง
– กลุ่มเสาร์ซาวเอ็ด. รำลึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 21 กุมภาพันธ์ 2552 เชียงใหม่เกย์ไพรด์. เชียงใหม่: เชียงใหม่ขุมทรัพย์การพิมพ์, 2552.