จีนเป็นอีกหนึ่งในประเทศที่กำลังเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ หรือ aging society ข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2018 ระบุว่า ในจีนมีจำนวนคนสูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 241 ล้านคน คิดเป็น 17.3% ของประชากรทั้งประเทศ และภายในปี 2050 หรืออีกประมาณ 30 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุจีนจะครองพื้นที่ 60 % ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งจะก้าวสู่การเป็นประเทศผู้สูงอายุที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก
ทำไมผู้สูงอายุในจีนถึงมีอัตราส่วนที่สูงมาก?
เป็นที่รู้กันดีว่าประเทศจีนเคยเข้มงวดต่อนโยบาย ‘ลูกคนเดียว’ นโยบายวางแผนครอบครัวที่รัฐบาลจีนบังคับใช้ตั้งแต่ช่วงปี 1979 จนถึงราวปี 2014 ก่อนที่จะประกาศให้ทุกครอบครัวสามารถมีลูกคนที่สองได้ เพื่อแก้ปัญหาประเทศขาดแคลนคนรุ่นใหม่ และเต็มไปด้วยผู้สูงอายุ
แต่ดูเหมือนว่าการยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ดีนัก ตามข้อมูลล่าสุดจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน ในปี 2017 มีเด็กเกิดใหม่ไม่ถึง 20 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเกิดที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีจำนวน 241 ล้านคน
สาเหตุหลักที่อัตราการเกิดของประชากรในจีนอยู่ในอัตราต่ำ คืออัตราเด็กเกิดใหม่ 12.43 คน ต่อประชากร 1,000 คนนั้น มีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และผลก็มาจากอัตราการแต่งงานของคนจีนที่ลดน้อยลง ตัวเลขการแต่งงานในจีนมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา เมื่อดูตัวเลขในปี 2017 จีนมีผู้จดทะเบียนสมรส 10.6 ล้านคู่ ลดลงจากปีก่อนหน้า 7%
เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะมีคำถามเกิดขึ้นในห้วงความคิดว่า “ผู้สูงอายุในจีนมีกิจกรรมอะไรกันบ้างล่ะ?” หรือกล่าวง่ายๆ คือ คนจีนแก่แล้ว เขาไปไหน ทำอะไร ในสังคมผู้สูงอายุ ที่เป็นอยู่ในตอนนี้
แก่แล้ว ไปช้อปปิ้งออนไลน์
หากพูดถึงคำว่า ผู้สูงอายุ เราคงจินตนาการหรือมีภาพจำว่า บุคคลกลุ่มนี้จะต้องอยู่บ้านเฉยๆ รอลูกหลานมาเยี่ยมอย่างเดียว หรือไม่เปิดรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ขอบอกเลยว่า ผู้สูงอายุจีนมีความไฮเทค เปิดรับสิ่งใหม่ๆ และมีแนวโน้มชอบช้อปปิ้ง โดยเฉพาะการช้อปปิ้งออนไลน์ในอัตราที่สูงมาก จนถือว่าเป็นเทรนด์ใหม่ของตลาดสินค้าในจีนเลยก็ว่าได้ บริษัทสินค้าจึงเริ่มเจาะกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุมากขึ้น
Alibaba ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ เผยว่า 92% ของผู้สูงอายุชาวจีน นิยมซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านทางสมาร์ทโฟน ถ้าหากเรามีภาพจำว่า ผู้สูงอายุจะต้องใช้มือถือที่ดีไซน์ออกมาเพื่อพวกเขาโดยเฉพาะ ไอเดียนี้อาจจะใช้ไม่ได้กับผู้สูงอายุชาวจีน เมื่อ Suning.com แพลตฟอร์มซื้อขายเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังของจีนระบุว่า มือถือรุ่นที่ทำออกมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ยอดขายลดลง 30% ขณะที่ผู้สูงอายุซื้อมือถือสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น 12.5%
สินค้าที่ผู้สูงอายุจีนนิยมซื้อนิยมช้อปปิ้งออนไลน์ ได้แก่ สินค้าไฮเทค เครื่องสำอาง เสื้อผ้า และสินค้าสุขภาพ โดยมีการซื้อสินค้าโดยเฉลี่ย 5,000 หยวน หรือประมาณ 25,000 บาทต่อเดือน ซึ่ง 60% ของกลุ่มผู้สูงอายุที่ซื้อสินค้าออนไลน์ มีสถิติซื้อเครื่องสำอาง เฉลี่ย 6 ครั้งต่อปี โดยเฉพาะเครื่องสำอางเพื่อสุขภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์ชะลอความแก่และลดริ้วรอยเฉพาะจุด โดยมีอัตราการซื้อสูงกว่าปีก่อนหน้า 4 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผู้สูงอายุกลุ่มเดียวกันนี้ยังมีความคุ้นเคยในการใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือหรือระบบสังคมไร้เงินสดเป็นอย่างดี ตามข้อมูลที่ Alipay รายงานเมื่อปีที่ผ่านมาพบว่า “ผู้สูงอายุจีนใช้ฟีเจอร์จ่ายเงินด้วยสแกนลายนิ้วมือ และผ่านทางสแกนใบหน้าเพิ่มมากขึ้นจากเดิม 2.5 เท่า” ทำให้ทุกกิจกรรม ทุกค่าใช้จ่ายที่สามารถจ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือได้ พวกเขาไม่ลังเลที่จะใช้มัน อย่างเช่น การจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าแก๊ส ด้วย Alipay ที่สูงขึ้น 108% เมื่อเทียบกับปี 2017
แก่แล้วไปผ่อนคลาย เสริมสวย นวดคลายเส้น และออกกำลังกายเพื่อเพิ่มหุ่นให้ฟิตแอนด์เฟิร์ม
สถิติจาก Koubei แพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์ออนไลน์ชื่อดังของจีนชี้ให้เห็นว่า กลุ่มผู้สูงอายุชาวจีนใช้บริการนวด สปา ซาวน่า ทำเล็บ-เสริมสวย เพิ่มมากขึ้น และพฤติกรรมงานอดิเรกยังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากเดิมที่ผู้สูงอายุจีนส่วนใหญ่ชอบ ว่ายน้ำ ตีแบดฯ เต้นกิจกรรมเข้าจังหวะแบบที่เราจะเห็นได้ตามสวนสาธารณะในจีน ตอนนี้เปลี่ยนเป็นตีกอล์ฟ และ ออกกำลังเพาะกายมากขึ้น
ไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมเรามักจะเห็นภาพคุณปู่คุณย่าชาวจีน ในรูปร่างที่ฟิต มีซิกแพ็ค และอายุยืนมากกว่า 100 ปี ตามหน้าสื่อต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง หนึ่งในปัจจัยที่ผลักดันให้ผู้สูงอายุชาวจีนออกมาทำกิจกรรมที่กล่าวมาคือ “ไม่ต้องการทำตัวเป็นคนแก่ที่ล้าหลัง และอยู่คนเดียวแบบเหงาๆ”
แก่แล้ว ไปทำงานหาอาชีพเสริมแบบสบายใจ แถมได้เงิน
เป็นเรื่องปกติของมนุษย์เรา ที่ไม่อยาก ‘เหงา’ ไม่ว่าจะในวัยไหนก็ตาม ดังนั้นหากเรามีโอกาสไปเยือนเมืองจีน เราจะเห็นเลยว่าผู้สูงอายุที่จีนมีกิจกรรมให้ทำเยอะมาก ไม่ต้องกลัวเหงาอยู่ที่บ้าน ถ้ามีหลานก็จะเห็นภาพคุณตาคุณยายคุณปู่คุณย่า ขี่จักรยานหรือเดินมาส่งมารับหลานที่โรงเรียน บ้างก็นั่งเล่นไพ่นกกระจอก จิบน้ำชา สังสรรค์สมาคมผู้สูงวัย ช่วงเช้าและเย็นก็จะมารวมกลุ่มกันออกกำลังกาย รำไทเก๊ก กิจกรรมเข้าจังหวะ ที่สวนสาธารณะบ้าง หน้าห้างสรรพสินค้าบ้าง
แต่ถ้าผู้สูงอายุคนไหนรู้สึกยังมีไฟอยากทำงานหารายได้เสริม ในจีนก็มีงานสำหรับผู้สูงอายุที่สามารถทำได้ไม่หนักเกินไป เช่น ในช่วงเวลาเร่งด่วนตามสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน เราจะเห็นคุณตาคุณยายกลุ่มหนึ่ง มาช่วยเจ้าหน้าที่ของสถานีรถไฟฟ้าช่วยจัดคิวผู้โดยสารให้เข้าแถวอย่างเป็นระเบียบ หรือตามแยกไฟแดงในช่วงเร่งด่วน เราก็สามารถพบเห็นคุณตาคุณยายมาทำหน้าที่อำนวยความสะดวกพาประชาชนเดินข้ามถนน
ในความเป็นจริงแล้ว ‘การทำงานตอนแก่’ ของกลุ่มผู้สูงอายุในจีนมีบางอย่างแฝงอยู่
ซึ่งก็คือปัญหาสวัสดิการผู้สูงอายุในอีก 30 ปีข้างหน้า ช่วงเวลาเดียวกับที่จีนจะขึ้นแท่นมีประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก ทำให้รัฐบาลจีนเริ่มปรับนโยบายขยายเวลาการเกษียณของคนจีน จากเดิมที่ผู้ชายปลดเกษียณอายุ 60ปี และผู้หญิง 55 ปี เป็น 65 ปี ภายในปี 2045-2050 นอกจากนี้ คนจีนจำนวนไม่น้อยที่เป็นผู้ใช้แรงงานมีความกังวลในเงินเก็บและสวัสดิการบำนาญที่อาจจะไม่เพียงพอ เนื่องจากนายจ้างบางแห่งเพิ่งจะมีสวัสดิการส่วนนี้ให้กับลูกจ้างเมื่อไม่กี่ปีมานี้ พวกเขาเหล่านี้ก็ยังคงต้องใช้แรงงานต่อไป แม้จะอายุมากขึ้นทุกที
แก่แล้วพาตนเองไปศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ในบ้านเรา คำว่า ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือบ้านพักคนชรา คงเป็นคำต้องห้ามที่มักจะมีเรื่องราวดราม่าแฝงไว้ เวลาเราเอ่ยว่าจะพาผู้สูงอายุในครอบครัวของเราไปอยู่ที่นี่
ในจีนมีผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งที่สมัครใจพาตนเองไปอยู่ในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแทนที่จะอยู่กับลูกหลาน เหตุผลหลักคือ ความเหงา และภาระการดูแลครอบครัวของลูกที่เป็นลูกคนเดียว แต่ต้องมาดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว ทั้งฝ่ายพ่อแม่ตนเองและพ่อแม่ของคู่สมรส ทำให้มีการพูดคุยและตัดสินใจร่วมกันในครอบครัวก่อนจะเข้าไปอยู่ในความดูแลของศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ จีนจึงไม่ค่อยจะมีเรื่องราวดราม่าการนำพ่อแม่ไปทิ้ง (มีผลการสำรวจในจีนเกี่ยวกับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุในจีนพบว่า 45% ของผู้สูงอายุอาศัยอยู่กับลูกหลานวัยทำงานอย่างน้อย 1 คน โดยแม้จะเป็นภาระที่หนักอึ้งในการดูแลผู้สูงอายุหลายคนในครอบครัว แต่เด็กรุ่นใหม่ในจีนยังคงมีความคิดที่จะเลี้ยงดูพ่อแม่ให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ และหากพ่อแม่มีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะไปอยู่ในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ลูกหลานก็จะไปเที่ยวหาทุกสัปดาห์)
นอกเหนือจากศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือบ้านพักคนชราที่ให้ผู้สูงอายุได้พักอาศัยแบบระยะยาว ยังมีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุระยะสั้นและดูแลเกี่ยวกับสุขภาพเกิดขึ้นจำนวนมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ถือเป็นธุรกิจหนึ่งที่เริ่มได้รับความนิยมในจีน สืบเนื่องมาจาก จำนวนประชากรผู้สูงอายุจีนที่เติบโตขึ้น
แก่แล้วไปมหาวิทยาลัยผู้สูงอายุ
ขอจบบทความนี้ไปด้วย ที่มาที่ไปของกิจกรรมทั้งหมด ที่ทำให้ภาพจำของเราเกี่ยวกับผู้สูงอายุหรือคนแก่แบบทั่วไปลบหายไปแทบจะพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งก็คือ ‘มหาวิทยาลัยผู้สูงอายุ’ แหล่งบ่มเพาะให้ผู้สูงอายุจีน กลายเป็นเด็กรุ่นใหม่อีกครั้ง
นับตั้งแต่จีนเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเป็นทางการ ทางรัฐบาลจีนได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาเพื่อผู้สูงอายุทั้งของรัฐและเอกชน มากกว่า 60,000 แห่งทั่วจีน คอร์สเรียนที่มีให้เลือกเรียนในมหาวิทยาลัยผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะเป็นคอร์สระยะสั้น อาทิ สอนใช้สมาร์ทโฟน, สอนซื้อสินค้าออนไลน์ คอร์สออกกำลังกายฟิตเนส, คอร์สเต้น มหาวิทยาลัยเหล่านี้มีจุดประสงค์ในการผลักดันให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้และทำกิจกรรมใหม่ๆ ให้รู้สึกว่ามีคุณค่า ไม่เป็นไม้ใกล้ฝั่ง หรือเป็นภาระของลูกหลานเหมือนที่เคยประสบในอดีต
“อายุเป็นเพียงตัวเลข หากใจของเรายังไม่แก่ อายุหรือสถานะทางกายภาพ ก็ไม่สามารถทำอะไรเราได้” นี่คงเป็นความในใจที่อาม่าอากง คงอยากที่จะบอกพวกเรา