ความสัมพันธ์ คนรัก ฉากกุ๊กกิ๊ก หวานแหววให้กระชุ่มกระชวยหัวใจ มักเป็นหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ และมักมีประเด็นนี้ปรากฎอยู่ในซีรีส์ต่างๆ ไม่ว่าจะของไทย ของจีน เกาหลี หรือญี่ปุ่น
แต่ปัจจุบัน ประเด็น ‘ความรัก’ ในซีรีส์เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น มากกว่าแค่สำหรับตัวละครหญิง-ชาย แต่ยังไปถึงตัวละครรักร่วมเพศ ที่แสดงออกถึงความรักอย่างเปิดเผย หรือซีรีส์บางเรื่องที่มีตัวพระ-นาง เป็นเพศเดียวกันเลยด้วย ซึ่งความนิยของซีรีส์ Y เหล่านี้เอง ก็ได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งในประเทศไทย และในประเทศแถบเอเชีย
โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมา ตลาดของซีรีส์แนวนี้ในประเทศจีน ก็เติบโตขึ้นมาก ซีรีส์ไทยแนว Y มีแฟนคลับ แฟนซับจีนจำนวนมาก หรือแม้กระทั่งซีรีส์แนวความสัมพันธ์ชาย-ชายในจีน ก็มาโด่งดังมากๆ ในเมืองไทย แต่ถึงอย่างนั้น จีนเองก็ยังคงเป็นประเทศที่มีกฎ และข้อห้ามชัดเจน มีการคุมเข้มสำหรับซีรีส์แนวนี้ ทำให้ละครแนวรักร่วมเพศไม่สามารถออกฉายได้อย่างสาธารณะ แม้ตลาดนี้จะทำเงินได้มหาศาล
วัฒนธรรม Y กับการเสพสื่อในจีน
วัฒนธรรม Y หรือชื่นชอบการเสพเรื่องราวของคนเพศเดียวกัน เกิดเป็นทางเลือกหนึ่งในปัจจุบัน ที่หลายคนชอบติดตาม ทั้งจากซีรีส์ นิยาย และการ์ตูน ซึ่ง รศ. ดร.นัทธนัย ประสานนาม อาจารย์ภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรม Y นี้ ก็ได้อธิบายถึงการเสพวัฒนธรรม Y เป็นสื่อบันเทิงว่า
“จุดกำเนิดของ Y หรือ Yaoi เกี่ยวข้องกับความบันเทิงอยู่แล้ว Y ยุคแรกสัมพันธ์กับ ani-paro คืองานเขียนที่นำตัวละครในอนิเมะมาสร้างเป็นเรื่องใหม่ โดยเขียนความสัมพันธ์แบบชายรักชายทับลงไป ซึ่งการเลือกนำความสัมพันธ์แบบชายรักชายมาใช้จึงทำให้ไปสัมพันธ์กับอีกคำหนึ่งคือ Boys’ Love หรือ BL การ์ตูนชายรักชายที่เขียนโดยผู้หญิง ในบางบริบทคำว่า y และ BL ใช้ในความหมายเดียวกัน แต่ในประเทศไทยคำว่า Y เป็นที่นิยมกว่า BL
อย่างไรก็ตาม จากระยะแรกเริ่มของวัฒนธรรม Y ในญี่ปุ่น ทุกอย่างเกิดจากการเล่นกับจินตนาการ เล่นกับความคาดหวังของคนในสิ่งที่อ่าน และยังเล่นกับขีดจำกัดของตัวบทต้นทางด้วย Y จึงสร้างความบันเทิง จนกระทั่งขยายไปสู่การที่กลุ่มแฟนสร้างจินตนาการความสัมพันธ์ชายรักชายในหมู่ดาราศิลปิน ซึ่งก็เป็นการสร้างความบันเทิง”
ในขณะที่ ผศ.ดร. อัมพร จิรัฐติกร ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ได้ทำวิจัยเรื่องการบริโภคละครไทยในประเทศอาเซียน ซึ่งความนิยมของซีรีส์ Y ไทยในจีน ก็เป็นหนึ่งเรื่องที่อาจารย์ศึกษา ก็ได้เล่าถึงวัฒนธรรมการเสพของสาว Y จีนว่า ตลาดการเสพ Y ในประเทศจีนถือว่าใหญ่มากๆ
“ช่วงที่เก็บข้อมูลปี 2560-2561 เราก็เห็นว่าซีรีส์ Y มีตลาดที่ใหญ่มาก และคนจีนเองก็เสพวรรณกรรม Y อยู่แล้ว ที่เรียกว่า ‘ตันเหม่ย’ สาว Y จีนจึงเป็นกลุ่มที่ใหญ่มากๆ ในโลกออนไลน์ มีเว็บไซต์ที่เผยแพร่นิยาย Y เยอะมาก แต่ว่าอันนี้มันเป็นโลกที่ไม่ได้เรียกว่า Live action การเสพมันจึงต้องมีจินตนาการเหมือนเราอ่านการ์ตูน”
อย่างในปี 2016 เอง ซีรีส์ชายรักชายเรื่อง ‘Addicted’ ที่สร้างจากนิยายแนว BL ก็เป็นกระแสโด่งดังมากในจีน โดยมีผู้เข้าชม 10 ล้านครั้งในวันเดียวหลังจากเปิดตัวครั้งแรก และยังเป็นรายการที่มีผู้ชมมากเป็นอันดับสองใน iQiyi แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ของจีนด้วย นักแสดงเองก็โด่งดัง จนมีแฟนมีตในหลายประเทศ รวมทั้งไทย
หรือในปีนี้ ปรมาจารย์ลัทธิมาร ซีรีส์ที่ดัดแปลงจากนิยาย Y ของจีน ก็โด่งดังและได้รับความนิยมมาก ทั้งในจีน และในต่างประเทศอย่างไทย ซึ่ง Tencent ก็ได้เปิดเผยว่าแอพฯ สตรีมมิ่งละคร ‘WeTV’ มีความนิยมเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากซีรีส์จีนเรื่องนี้ ที่ช่วยดันยอดผู้ใช้งาน WeTV โตขึ้น 250% ทั้งยังมีการจัดแฟนมีตในหลายประเทศ รวมไปถึงบ้านเราเองที่แฮชแท็กละครเรื่องนี้ติดเทรนด์เป็นอย่างมาก แม้ว่าตัวซีรีส์จะไม่เน้นความสัมพันธ์ชายรักชายแบบในนิยาย
นอกจากการเสพซีรีส์ Y ที่ผลิตในจีนเองแล้ว ในงานวิจัยของ อ.อัมพรยังระบุว่า จีนยังมีบ้านแฟนซับที่แปลซีรีส์ Y จากไทยหลายบ้าน โดยเฉพาะบ้านที่ชื่อว่า ‘เทียนฝู่ไท่จี้ว์’ ซึ่งก็มีผู้ติดตามในเว่ยป๋อมากที่สุดกว่า 2,850,000 คน เลยด้วย โดยเริ่มจากการแปลซีรีส์ชายรักชายที่เรื่อง ‘Love Sick the Series’
จีน กับการห้ามเสพรักร่วมเพศ
แม้ว่าเราจะเห็นว่า การเสพวัฒนธรรม Y จะขยายตัวมากในประเทศจีน แต่ในอีกทางหนึ่ง มันก็ไม่ได้รับการยอมรับในสังคม ซ้ำยังถูกแบน และมีกฎห้ามในสื่อบันเทิงด้วย โดยกฎนั้นจะเน้นอยู่หลักๆ ใน 3 ประเด็น คือ ‘ห้ามเรื่องรักร่วมเพศ’ ‘ผีหรือไสยศาสตร์’ และ ‘การกระทำผิดกฎหมายโดยเยาวชน’ ที่ห้ามปรากฏอยู่ในทีวีสาธารณะ หลายครั้งซีรีส์แนวนี้จึงออกอากาศได้แค่ในอินเทอร์เน็ตทีวีเท่านั้น
“การรักเพศเดียวกันในจีนยังผิดกฎหมายอยู่ เป็นกฎหมายที่มีมานานแล้ว และส่วนหนึ่งขัดต่อวัฒนธรรมขงจื่อที่ให้ความสำคัญแก่สถาบันครอบครัว การรักเพศเดียวกันอาจกระทบต่อสถาบันครอบครัวในความหมายดั้งเดิมได้” อ.นัทธนัยขยายในมุมนี้
อ.อัมพรเอง ก็เสริมว่า ข้อห้ามของจีนเป็นที่ “โครงสร้างทางสังคม ที่อุดมการณ์รัฐ และอุดมการณ์ครอบครัว ปิดกั้นเรื่องรักร่วมเพศ อุดมการณ์สังคมนิยมก็คือการผลิตลูกเพื่อตอบสนองอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่ผลิตคนออกมาทำงาน เรื่องรักร่วมเพศก็เป็นเรื่องต้องห้าม
การเซ็นเซอร์ของรัฐบาลจีน อาจจะมองได้ว่า เป็นเรื่องของการยิงปืนนัดเดียว ได้นก 2 ตัว ก็คือแบนเนื้อหาที่ควรถูกเซ็นเซอร์ซึ่งคือสิ่งที่รัฐบาลจีน มองว่าผิดปกติทางเพศ และก็แบนเนื้อหาที่กลุ่มแฟนๆ แปล เพราะว่าเนื้อหาเหล่านี้ ไม่ได้ถูกซื้อลิขสิทธิ์มาอย่างถูกต้อง”
โดยที่ผ่านมา การห้าม หรือแบนสื่อชายรักชายนั้น ก็เห็นได้บ่อยครั้งในจีน เช่น การแบนภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ‘Call me by your name’ ไม่ให้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ หรืออย่างในปี 2561 ก็มีนักเขียนนิยายแนวชายรักชายชื่อดัง นามปากกาว่า ‘เทียนอี’ ถูกตำรวจเข้าจับกุมและถูกโทษจำคุกถึง 10 ปี จากการเขียนเนื้อหาเกี่ยวกับกิจกรรมรักร่วมเพศ
หรืออย่างซีรีส์ Addicted เอง ที่ถึงแม้จะออกฉายในอินเทอร์เน็ตทีวีแล้ว แต่ก็ยังมิวายถูกเซ็นเซอร์เช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่า เรื่องนี้เข้าข่ายเรื่องของรักร่วมเพศ และได้ถูกระงับการออกอากาศกลางคันในช่วง3 ตอนสุดท้าย แม้ภายหลังจะให้ฉายลงในอินเตอร์เน็ตต่อได้ แต่ก็มีการตัด และเซ็นเซอร์ฉากต่าง ที่แฟนๆ รอคอยออกไปจนเกือบหมด แต่ถึงอย่างนั้น กระแส Y ก็ยังเป็นที่นิยม และเติบโตมาก สวนทางกับการแบนและเซ็นเซอร์
“พอมันออกมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า Live action หรือมีคนแสดงเล่นแล้ว ซีรีส์ Y จำนวนมากต้องผลิตแบบอยู่ในอินเทอร์เน็ตทีวีเท่านั้น ฉะนั้นการเซ็นเซอร์เองก็อาจจะไม่เท่าการผลิตออกมาแบบสาธารณะ เพราะว่าจีนเองก็มีมาตรฐานของการเซ็นเซอร์ทีวีอินเทอร์เน็ต ที่แตกต่างจากทีวีสาธารณะ ถึงแม้จะมีการต้องส่งบทและพล็อตให้ก่อนฉาย แต่ว่ามันก็ถูกแบนไปจำนวนมาก อย่างซีรีส์เรื่อง Addicted ก็ถูกแบนไป และหลังจากนั้นมันก็จะมีอยู่บ้างที่ถูกแบนไปด้วย”
และนอกจากการแบนของรัฐบาลจีนแล้ว อ.อัมพรยังเล่าว่า วัฒนธรรมการเสพ Y ในจีน ยังไม่ได้รับความเข้าใจ และเปิดกว้างจากผู้ปกครองด้วย
“สาว Y เหล่านี้ ก็จะไม่สามารถที่จะดูซีรีส์ Y หรืออ่านการ์ตูน Y ได้อย่างเปิดเผยอยู่แล้ว ต้องเก็บเป็นความลับ ในกรณีของผู้ปกครอ มันเป็นความแตกต่างระหว่างวัย เพราะผู้ปกครองจะรู้สึกว่าสาว Y มีรสนิยมที่ผิดเพี้ยนทางเพศ ซึ่งสาว Y ก็จะยืนยันตัวเองเลยว่า ไม่ได้ชอบเพศเดียวกัน เขาแค่มีรสนิมการเสพเท่านั้น ที่ชอบดูผู้ชาย 2 คนรักกัน แต่ว่าผู้ปกครองจะไม่เข้าใจตรงนี้ จะคิดว่าเขาไปชอบผู้หญิง ไปเบี่ยงเบน กลายเป็นเกย์เป็นเลสเบี้ยน จึงไม่สามารถเปิดเผยกับผู้ปกครองได้”
Y จีน กับการอยู่ใต้ดิน และการปรับตัวของผู้ผลิต-บ้านแฟนซับ
“ซีรีส์ Y ไม่เคยอยู่บนดินได้อย่างถูกต้องในประเทศจีนเลย” อ.อัมพรกล่าว
และด้วยความที่ไม่สามารถออกฉายอย่างเปิดเผยได้ ในขณะที่ซีรีส์ Y ของจีนอยู่ได้ด้วยเว็บซีรีส์ ที่ถูกตรวจสอบบ้าง ถูกแบนบ้าง ซีรีส์ Y ของไทยไปอยู่ในจีนได้แบบใต้ดิน และอยู่ได้ด้วยบ้านแฟนซับ ซึ่งอาจารย์ยังเสริมว่า
“กลุ่มแฟนซับ แม้จะไม่รู้ภาษาไทยดีพอ แต่ด้วยความที่ชื่นชอบซีรีส์ Y ก็จะพยายามไปเรียนรู้ภาษาไทยจนแปลได้ อย่างกลุ่มแฟนซับที่ลุกขึ้นมาแปลซีรีส์ Y ของไทย ก็เริ่มจากการไม่รู้ภาษาไทย แต่ไปอ่านเวอร์ชั่นนิยายไทย ที่มีคนแปลไว้ เอามาแปลพร้อมซีรีส์ แกะจากพจนานุกรมทีละคำ ค่อยๆ แปล ไม่เข้าใจก็ถามเพื่อนคนไทย แปลเรื่อยๆ ก็คล่องมากขึ้น
ในจีน ที่มีกลุ่มแฟนซับมากกว่า 10 กลุ่ม ก็มีคนที่ตั้งขึ้นมา เพื่อแปลซีรีส์ Y โดยเฉพาะด้วย ไม่มีโฆษณา ไม่มีการค้าใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแฟนที่มาแปลให้แฟนๆ เลย ใส่ในเว็บไซต์ และดูกันเองอยู่ใต้ดิน”
เมื่อพูดถึงวัฒนธรรม Y ที่ต้องถูกแบน และอยู่เพียงใต้ดินในจีนนี้ ว่าควรได้รับการยอมรับ และขึ้นมาอยู่บนดินไหม อ.นัทธนัย มองว่าสิ่งที่น่าสนใจ คือการดิ้นรนของวัฒนธรรมนี้ในใต้ดินมากกว่า
“ส่วนตัวสนใจว่า วัฒนธรรมดิ้นรนอย่างไรในภาวะที่ต้องอยู่ใต้ดิน ต่อรองอย่างไรกับอำนาจรัฐ หรือวัฒนธรรมกระแสหลัก และเมื่อวัฒนธรรม Y ขึ้นมาอยู่บนดินก็ไม่ได้แปลว่าการต่อสู้ดิ้นรนหมดไป แต่การต่อสู้อาจเกิดจากสาเหตุที่ต่างกัน เช่น สาววายยังอาจต้องต่อสู้กับองค์กรธุรกิจที่ทำให้วัฒนธรรมของพวกเธอกลายเป็นสินค้าจนพวกเธอต้องกลับมาตั้งคำถาม ถึงตัวตนหรือตำแหน่งแห่งที่ของตนเองด้วย”
เมื่อซีรีส์ถูกแบน ไปไม่ได้อย่างถูกกฎหมาย และต้องอยู่ใต้ดิน แฟนคลับ และผู้ผลิตหลายคนก็ต้องปรับตัวกับสถานการณ์ในประเทศจีนตรงนี้ โดย อ.อัมพร ก็เล่าว่า ผู้ผลิต และแฟนซับเหล่านี้ ได้เปลี่ยนจากการนำเข้าซีรีส์ เป็นการเอานักแสดงไปทำกิจกรรมแฟนมีตติ้งแทน
“ไม่ใช่คอนเทนต์ที่จะไป แต่เป็นคนแทน เพราะผู้ผลิตก็ปรับตัว จากการที่คอนเทนต์มันดัง เพราะว่าปกติซีรีส์ที่ไป ไปจากการที่บ้านซับเอาไปแปล ผู้ผลิตไม่ได้ประโยชน์อะไรจากตรงนี้เลย จึงปรับเป็นการเอาเด็กๆ นักแสดง ไปทำแฟนมีตติ้งที่นู่น เป็นการส่งออกแบบอื่น ไม่ใช่การส่งออกคอนเทนต์ ส่งออกคนแทน ซึ่งแฟนคลับเอง ก็จะมาเที่ยวไทยด้วย ไปดูที่ตึก GMM ทุกวันนี้ ก็เห็นแต่คนจีนมาเฝ้าที่ตึก มาหานักแสดง แล้วก็จะเห็นได้ว่า GMM จัดคอนเสิร์ต Y หลายรอบ แฟนจีนก็เหมาเครื่องบินกันมาเลย ต้องหาล่ามจีนมาเลย ต้องแปลเป็นภาษาจีน”
เช่นเดียวกัน อ.นัทธนัย ก็เพิ่มเติมถึงจุดนี้ว่า
“ผู้ผลิตเนื้อหา Y ในไทยยังทำการตลาดอย่างจริงจัง มีการจัด fan meet ทั้งในไทย และต่างประเทศทั่วเอเชีย เช่น ในบางพื้นที่ของประเทศจีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ นอกจากนั้นบริษัทที่ผลิตเนื้อหา Y ยังปั้นดาราที่มาจากซีรีส์ Y แล้วส่งไปร่วมแสดงในซีรีส์ต่างประเทศ เช่นซีรีส์ที่สร้างในโลกที่พูดภาษาจีน ในขณะเดียวกันก็มีการร่วมทุนจากบริษัทต่างชาติเช่นจีน ในการสร้างซีรีส์ y ที่กำกับโดยผู้กำกับชาวไทย แสดงโดยนักแสดงชาวไทย การร่วมทุนในที่นี้จึงน่าจะเกี่ยวข้องกับการเปิดตลาดในประเทศจีนด้วย”
ซึ่งที่ผ่านมา เราก็จะเห็นว่า มีดาราจากซีรีส์ Y หลายเรื่องของไทย ที่โด่งดังถึงขั้นจัดแฟนมีตในจีน เลยด้วย อย่าง นักแสดงจากซีรีส์เดือนเกี้ยวเดือน ที่จัด ‘2moons Asia Tour’ ซึ่งไปเยือนจีนถึง 4 มณฑล หรือ กัปตัน ชลธร นักแสดงนำจากซีรีส์ LOVESICK ที่จัดแฟนมีตเดี่ยวของตัวเองในปักกิ่ง หรือ คริส พีรวัส และ สิงโต ปราชญา จาก Sotus The Series ที่ก็ได้จัดมีตติ้งจีน ในหลายเมืองด้วย
ความนิยมนี้ทำให้บ้านซับอย่าง ‘เทียนฝู่ไท่จี้ว์’ ที่ขยับจากการทำแฟนซับ มาเป็นบริษัทที่จัดกิจกรรมแฟนมีตติ้งเลยด้วยเช่นกัน
หนีจากกรอบชายเป็นใหญ่ ด้วยการเสพ Y
แม้ว่าจะมีกฎหมายห้าม มีการแบนจริงจังในจีน แต่วัฒนธรรมนี้ก็มีความนิยมที่สวนทางกับข้อห้าม และมีท่าทีว่าจะนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง อ.อัมพร ได้สรุปเรื่องนี้กับเราว่า การเสพซีรีส์ Y ในสังคมที่ต้องห้ามอย่างจีน ยิ่งเป็นแรงขับเคลื่อนให้คนสนใจ
“ถ้าดูจากบริบททางสังคม มันกดทับตรงนี้อยู่ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องต้องห้าม และถ้าเรามองเพิ่มเติมไปว่า ผู้ชมเองก็อยากแสวงหาอะไรที่เป็นเรื่องต้องห้าม และไม่ได้รับการยอมรับในสังคมโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ซึ่งเขามีสื่อ มีอินเทอร์เน็ต เขาสามารถแสวงหารสนิยม หรือสื่อในโลกออนไลน์ได้ ยิ่งโดยเฉพาะเป็นสิ่งที่รัฐบาลห้าม ก็ยิ่งเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้คนเหล่านี้ ต้องมาดูอะไรที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ดู”
ทั้งสังคมจีนเอง นอกจากมีอุดมคติลัทธิขงจื้อ ที่ไม่ยอมรับรักร่วมเพศแล้ว ก็ยังมีค่านิยมชายเป็นใหญ่ ที่โครงสร้างสังคมกดทับผู้หญิงตลอดมา ซึ่งอ.อัมพรก็มองว่า การเสพวัฒนธรรม Y ยังเป็นหนึ่งทางที่ต่อต้านอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ไปในตัวด้วย
“มีทฤษฎีที่อธิบายเรื่องนี้ได้หลายแบบ เรื่องแรกคือการเอาผู้ชายมาเป็นวัตถุ เนื่องจากว่าที่ผ่านมา เวลาเราดูซีรีส์ หรืออะไรต่างๆ ผู้หญิงจะเป็นวัตถุ ผู้ชายไม่เคยเป็วัตถุแห่งการจ้องมองมาก่อนในอดีต ถ้ามีวรรณกรรมโป๊ หรือออกจะโป๊ มันก็คือการที่ผู้หญิงเป็นวัตถุ แต่ตอนนี้การที่ผู้ชาย 2 คนมามีความสัมพันธ์เชิงโรแมนติก เขาก็ตอบสนองผู้หญิงได้ ได้ดูผู้ชายทั้ง 2 คนเลย อันนี้ในทางทฤษฎีแล้ว ก็ทำให้ผู้ชายเป็นวัตถุได้
อีกอย่างนึง คือการต่อต้านอุดมการณ์ ‘ชายเป็นใหญ่’ ในความสัมพันธ์นี้ได้ในตัว เวลาบริโภคซีรีส์หญิงชาย เราก็จะเห็นว่ามันเป็นอุดมการณ์ที่ผู้หญิงจะแสวงหาความรักจากผู้ชาย โดยทั่วไปว่าความรักจะเติมเต็มผู้หญิง ผู้หญิงเป็นคนไขว่คว้าหาความรัก ในซีรีส์ Y เราจะเห็นได้ว่า ในความสัมพันธ์ชายกับชายทั้งคู่ มันไม่มีใครเป็นใหญ่ในความสัมพันธ์นี้ มันเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นอุดมคติมาก เพราะผู้ชายคนนี้ที่มารักกัน มันก้าวพ้นเรื่องเพศ
เวลาเค้าสร้างเรื่องเหล่านี้ขึ้นมา มันก้าวพ้นคำว่าหญิงหรือชาย มันคือแค่คนสองคนที่รักกัน ถึงแม้ว่าในนั้น มันพยายามจะให้มีเคะ กับเมะ แต่มันเป็นเคะ กับเมะที่อุดมคติมากๆ ไม่ใช่ว่าชายจะเป็นใหญ่ได้ในความสัมพันธ์นี้
เพราะบางทีความเป็นเคะ ก็อยู่ในร่างคนๆ นี้ หรือความเป็นเมะก็อยู่ในร่างคนๆ นี้ มันไม่มีใครอยู่เหนือใครในความสัมพันธ์นี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้หญิงเอาไปจินตนาการได้ว่า เราอยากได้ความสัมพันธ์แบบนี้ ที่มันน่ารัก น่าเอ็นดู ทะเลาะกันบ้าง แต่เอ็นดู เอื้ออาทรกัน
จริงๆ มันก็เป็นความสัมพันธ์แบบหญิงชาย แต่ว่ามันอุดมคติมากๆ เพราะว่าไม่มีใครเป็นใหญ่ พอไปอยู่ในร่างชาย 2 คน มันเลยทำให้เราเสพมันได้ ในอุดมคติที่มันซ่อนไว้ในความต้องการของเรา
ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นการต่อต้านสังคมไปในตัว เพราะว่าสังคมไม่เคยยอมรับที่จะมีผู้หญิงเหล่านี้ ที่มองดูผู้ชาย 2 คนรักกัน ก็เลยกลายเป็นว่ามันทั้งตอบสนองแฟนตาซีของตัวเอง ตอบสนองการจ้องมอง ตอบสนองอุดมคติ และก็ในขณะเดียวกันมันก็ต่อต้านโครงสร้างที่กดทับผู้หญิงด้วย”
อ้างอิงจาก