เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (18 มิถุนายน ค.ศ.2021) มูลค่าตลาดคริปโตเคอร์เรนซีโดยเฉพาะ ‘บิตคอยน์’ ลดลงอีกครั้ง ทว่าครั้งนี้ไม่ใช่เพราะคนดังคนไหนในโลกตะวันตกออกมาส่งข้อความมีอิทธิพลกับตลาด แต่เป็นเพราะทางการของ ‘เสฉวน’ มณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ ประเทศจีน สั่งห้ามบริษัทขุดบิตคอยน์ดำเนินธุรกิจต่อ โดยเสฉวนถือเป็นศูนย์กลางเหมืองบิตคอยน์ที่ใหญ่ที่สุดของจีนเลยก็ว่าได้
ในใบคำสั่งจากทางการเสฉวนระบุว่า 26 บริษัทที่ทำธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ใน 5 เมืองของมณฑลเสฉวน จะต้องยุติกิจกรรมในทันทีภายในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ.2021 และสั่งโรงไฟฟ้าห้ามจ่ายไฟให้เหมืองขุดบิตคอยน์ทุกแห่งตามรายชื่อ
ผลของคำสั่งดังกล่าวทำให้ราคาบิตคอยน์ในตลาดโลกร่วงลงไปราว 4% ในวันเดียวกัน ขณะที่ผู้ประกอบการเหมืองขุดบางส่วนทำการย้ายอุปกรณ์ออกไปนอกประเทศซึ่งเป็นพันธมิตร เช่น ทางประเทศฝั่งอเมริกาเหนือ หรือรัสเซีย เพื่อจะได้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้
มีผู้สังเกตการณ์ให้สัมภาษณ์กับ Global Times China ว่า ผู้ประกอบการคาดหวังว่า การกำกับของรัฐบาลจะไม่รุนแรงแบบนี้ เพราะในเมืองเสฉวนมีพลังงานน้ำปริมาณมาก น่าจะสามารถปรับหาทางออกกันได้ อย่างไรก็ตามการตัดสินใจของทางการในการกวาดล้างก็ชัดเจนแล้วว่า พวกเขาต้องการควบคุมความเสี่ยงทางการเงินมากกว่าการรักษาผลประโยชน์ให้ผู้ประกอบการท้องถิ่น
การกวาดล้างเหมืองคริปโตฯ ณ เสฉวน ไม่ใช่ครั้งแรก อันที่จริงรัฐบาลจีนได้ดำเนินแผนการกวาดล้างเหมืองคริปโตฯ ในจีนมานับเดือนแล้ว และเพิ่งถึงคิวการเข้าปราบปรามในเสฉวน แต่เนื่องจากกว่า 90% ของการขุดในประเทศจีนเกิดที่เสฉวน ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ‘หมดยุคสมัยเหมืองขุดบิตคอยน์จีน’ อย่างเป็นทางการ (ก่อนการกวาดล้าง จีนนับเป็นแหล่งขุดคริปโตฯ คิดเป็น 1 ใน 3 ของโลก)
ย้อนกลับไปราวกลางเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม (ไล่เลี่ยกับที่ อีลอน มัสก์ ออกมางดรับการใช้บิตคอยน์เพื่อซื้อสินค้าจากบริษัทเทสลา) ข่าวการแบนคริปโตฯ จากจีนพัดพาตลาดซื้อ-ขายดิ่งลงจนมูลค่าหายไป 1.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากบิตคอยน์เพิ่งทำราคาสูงสุดใหม่ได้สำเร็จเมื่อสองสัปดาห์ก่อนจะเกิดเรื่อง
บทวิเคราะห์จาก โพสต์ทูเดย์ พูดถึงการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนหลัง COVID-19 ที่เกี่ยวพันกับคริปโตเคอร์เรนซีไว้ว่า
เพราะรัฐบาลจีนมองว่า นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนจะทำให้เงินหมุนเวียนในกระเป๋าของนักลงทุนง่ายขึ้น โดย ‘หลิวเฮ่อ’ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจที่ สี จิ้นผิง โปรดปราน กล่าวในการประชุมคณะกรรมการเสถียรภาพทางการเงินและการพัฒนาของสภาแห่งรัฐว่า “ระบบการเงินจะต้องปฏิบัติตามการตัดสินใจและการปรับใช้ของคณะกรรมการกลางพรรคและสภาแห่งรัฐอย่างเฉียบขาด”
นำมาซึ่งนโยบาย “ปราบปรามบิตคอยน์ พฤติกรรมการขุดและการซื้อขาย และป้องกันการส่งผ่านความเสี่ยงของปัจเจกบุคคลไปยังภาคสังคมอย่างเด็ดขาด จำเป็นต้องรักษาการดำเนินการอย่างราบรื่นของตลาดหุ้น หนี้ และตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ปราบปรามกิจกรรมด้านหลักทรัพย์ที่ผิดกฎหมายอย่างรุนแรง และลงโทษกิจกรรมทางการเงินที่ผิดกฎหมายและเป็นอาชญากรรมอย่างรุนแรง”
ดูเหมือนว่ารัฐบาลจีนจะเอาจริงเรื่องการแบนคริปโตฯ อยู่ไม่น้อย ขณะเดียวกันก็เดินหน้าผลักดัน ‘เงินหยวนดิจิทัล’ อย่างจริงจังไม่แพ้กัน ซึ่งหยวนดิจิทัลเป็นเงินสกุลดิจิทัลที่ทางการจีนต้องการให้เป็นสกุลเงินหลักของประเทศ ปัจจุบันมีการทดสอบใช้ชำระข้ามประเทศร่วมกับฮ่องกงแล้ว
ทั้งนี้ความแตกต่างของหยวนดิจิทัล กับคริปโตฯ คือ หยวนดิจิทัลเป็นสกุลเงินที่มีธนาคารกลางจีนเป็นตัวกลางคอยกำกับ ขณะที่คริปโตฯ อื่นๆ นั้นเป็นสกุลเงินที่เกิดขึ้นมาบนคอนเซปต์ที่ต้องการต้องตัดตัวกลางทางการเงิน (ไม่ว่าจะรัฐหรือธนาคาร) ออกไปจากการทำธุรกรรม และใช้คอมพิวเตอร์ในการจัดการธุรกรรมล้วนๆ
ข้อแตกต่างนี้ทำให้ราคาของคริปโตฯ สามารถขึ้นลงและเก็งกำไรได้จากการร่วมกันให้ค่าของชาวนักลงทุน ซึ่งข้อนี้ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทางการจีน เดินหน้าแบนคริปโตฯ ในประเทศอย่างจริงจังตามที่เป็นข่าวปรากฏ
ที่พอจะคาดการณ์ได้ คือ ทางการจีนจะให้เหตุผลเรื่องการกวาดล้างเหมืองบิตคอยน์ และตลาดคริปโตฯ ในทิศทางที่ว่า เรื่องแรกเป็นเรื่องความเสี่ยงทางการเงิน มีการใช้คริปโตฯ ในตลาดมืดเพื่อการฟอกเงิน ส่วนเรื่องที่สองเป็นเหตุผลทางพลังงาน คือการขุดบิตคอยน์นั้นใช้พลังงานจำนวนมหาศาลและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่งนั่นเอง (โดยจีนยังถือเป็นประเทศที่ใช้พลังงานถ่านหินมากที่สุดในโลก)
ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนมิถุนายน Weibo โซเชียลมีเดียของจีนได้สั่งแบนบัญชีเกี่ยวกับคริปโตฯ ที่มีอิทธิพลหลายบัญชี รวมถึงคอนเทนต์ต่างๆ หลังจากพบว่าคนดังหลายคนโพสต์ถึงสกุลเงินดิจิทัลกันอย่างแพร่หลาย เป็นอีกหนึ่งผลต่อเนื่องจากนโยบายที่จีนประกาศไว้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนที่การกวาดล้างเหมืองครั้งล่าสุดจะเป็นการย่างก้าวที่แทบจะล้างบ้างนักขุดบิตคอยน์รายใหญ่ในเสฉวน
มาดูกันว่าประเทศไหนบ้างที่มีอิทธิพลต่อการขุดบิตคอยน์
Cambridge University เคยทำรีเสิร์ชเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยประมวลผลส่วนแบ่งตลาดของแต่ละประเทศที่มี ‘การขุดบิตคอยน์’ ทั่วโลก ในปี ค.ศ.2020 ระบุว่า สัดส่วนของประเทศที่มีการขุดบิตคอยน์มากที่สุดคือ
จีน (65.08%)
สหรัฐอเมริกา (7.24%)
รัสเซีย (6.90%)
คาซักสถาน (6.17%)
มาเลเซีย (4.33%)
อิหร่าน (3.82%)
โดยภูมิภาคที่มีการขุดมากที่สุดในจีนคือ ซินเจียง, เสฉวน, มองโกเลียใน, ยูนนาน, ปักกิ่ง, เจ้อเจียง, และซานซี ตามลำดับ
และถ้าดูจาก Cambridge Bitcoin Electricity Consumption Index (CBECI) สิ่งที่ดัชนีนี้บอกคือ การขุดบิตคอยน์ใช้พลังงานไฟฟ้ามากถึง 121.36 เทราวัตต์ชั่วโมงต่อปี เป็นตัวเลขที่สูงกว่าจำนวนไฟฟ้าที่ประเทศอาร์เจนตินาใช้เสียอีก พอเอาการขุดบิตคอยน์ทั่วโลกมารวมเป็นหนึ่งประเทศ ประเทศแห่งการขุดบิตคอยน์นี้จะติดอันดับการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดอันดับที่ 30 ของโลก เท่ากับว่าการทำเหมืองบิตคอยน์คิดเป็นการใช้ไฟฟ้า 0.5% ของจำนวนพลังงานทั้งหมดของโลก และการใช้ไฟฟ้าจะสูงขึ้นตามการเติบโตของตลาดคริปโตเคอร์เรนซี
หันไปดูจีนที่มีสัดส่วนการขุดบิตคอยน์เป็น 65.08% ของโลกแล้ว ก็นับว่าเป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่อตลาดคริปโตฯ อยู่ไม่น้อย แถมยังใช้พลังงานไปมากทีเดียว
อ้างอิงข้อมูลจาก
#Explainer #Bitcoin #TheMATTER