จีน เป็นหนึ่งประเทศที่เข้ามามีอิทธิพลต่อโลกมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จากทั้งการเป็นประเทศที่มีประชากร 1.4 พันล้านคน และตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมไปถึงบริษัทเทคโนโลยีที่ก้าวเข้ามามีอิทธิพล และการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า จีนเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจที่มาแรง จนหลายคนมองว่า มีโอกาสจะเป็นเบอร์ 1 ของโลกได้
ในปี 2019 จีน เฉลิมฉลองการครบรอบ 70 ปี การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนไป ซึ่งมีการเดินขบวนทหาร และพาเหรดอย่างยิ่งใหญ่ และในการเข้าสู่ทศวรรษ 2020 นี้ ในปีหน้าเอง จีนยังมีหมุดหมายใหญ่อีก กับการเฉลิมฉลอง 100 ปี พรรคคอมมิวนิสต์ และเป้าหมายใหญ่ อย่างความฝันสูงสุดของจีน หรือ China Dream 2049 ที่จะเป็นประเทศสังคมนิยมมหาอำนาจใหม่ และปราศจากความยากจนด้วย
แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น ในปีนี้ จีนเป็นอย่างไรบ้าง มีการเติบโตในจุดไหน และยังมีความท้าทายอะไรที่ต้องก้าวไป รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจีน จะกระทบต่อโลกอย่างไรบ้าง The MATTER ได้พูดคุยกับ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องประเทศจีน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงประเทศจีนในทศวรรษ 2020 นี้กัน
อ.อาร์ม ชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าปัจจุบัน เราอาจจะเทียบการเติบโต และพัฒนาของจีน กับอีกมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ แต่การแข่งขันของ 2 ประเทศนี้ ก็ไม่เหมือนกับการต่อสู่ในอดีต สมัยราชวงศ์ชิง กับตะวันตกแล้ว
“ถ้าเรามองการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ตอนนี้มันเป็นการต่อสู้ของสังคม 4.0 และ 5.0 ทั้งคู่ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าแนวโน้มไม่ใช่จีนจะมาแทนที่สหรัฐฯ หรือแซงหน้าสหรัฐฯ แต่เราเรียกว่าเป็นจุดจบของการนำเดี่ยวของสหรัฐฯ จากที่เราบอกว่าสหรัฐฯ เป็นที่ 1 คนเดียว ไม่มีใครมาทัดทาน มันไม่ใช่แล้ว ปัจจุบันมีเบอร์ 2 ที่ขึ้นมาแข่งขัน ท้าทาย และช่วงชิงการเป็นผู้นำเทคโนโลยี
ผมว่าภาพมันจะไม่ใช่สหรัฐฯ จะพัง สหรัฐฯ ยังแข็งแกร่งมาก ยังเป็นผู้นำ เพียงแต่ว่าตอนนี้เรามีจีนขึ้นมาใกล้เคียงกัน เป็นภาพการแข่งขันที่ชัดเจนของ 2 อำนาจนี้”
ด้านเศรษฐกิจ
ปัจจุบันนี้ จีนลำดับเศรษฐกิจที่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ แต่ในทางเศรษฐศาสตร์ อ.ปิติ แสงสีนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เล่าให้เราฟังว่า ถ้ามองในอีกมุมนึง เราก็จะเห็นว่า จีนแซงสหรัฐฯ และมีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว
“พอเราพูดว่าเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก เรามักจะดูค่าจากสิ่งที่เรียกว่า GDP nominal หรือการคำนวนมูลค่าผลผลิตที่เกิดขึ้นในปีๆ ตามราคาตลาด แต่ในความเป็นจริงแล้ว สำหรับนักเศรษฐศาสตร์เรามองว่า มันมีความแตกต่างกันในเรื่องของค่าเงิน หรือในค่าครองชีพของแต่ละประเทศ เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่แล้ว นักเศรษฐศาสตร์ เรามักจะนิยมดูตัวที่เรียกว่า GDP (PPP) หรือว่า Purchasing Power Parity คือตัวที่จัด ปรับค่าของเงิน และค่าครองชีพให้มันเท่ากันทั้งโลกก่อน ถ้ามองด้วยแบบนี้ เราพบว่าเศรษฐกิจจีนมีเรื่องของ GDP (PPP) แซงหน้าสหรัฐฯ แล้ว ตั้งแต่ช่วง 2012-2013 ดังนั้นเราก็จะเรียกได้ว่า จีนเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก”
สำหรับเศรษฐกิจจีน เราเห็นเศรษฐกิจจีนเจริฐรุ่งเรืองมากเป็นเวลาประมาณ 30 ปี แต่ว่าหลังจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจที่เราเรียกว่า subprime crisis จีนก็รับผลไปเต็มๆ ทำให้จีนอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ก็ยังขยายตัว แต่ว่าขยายตัวในระยะที่ถดถอยลง และในช่วง 2-3 ปีนี้ ก็ยิ่งถดถอยลงไปอีก”
ซึ่ง อ.ปิติ เองก็เล่าว่า จีนเองก็ได้ออกมาหานโยบาย เพื่อตอบโต้กับวิกฤตเศรษฐกิจนี้ โดยจีน ออกนโยบายที่มีชื่อว่า ‘New Normal’ หรือ ซิน ฉาง ไท่
“New Normal คือนโยบายที่มองว่า จีนคงไม่ได้มีอัตราการเจริญเติบโต 10% แต่ว่าจีนคงจะมีอัตราการเจริญเติบโตที่ลดลง แต่เป็นการพูดถึงการเจริญเติบโตที่กระจายรายได้ การลดความเหลื่อมล้ำ การรักษาสภาพแวดล้อม และเติบโตแบบพัฒนายั่งยืนมากขึ้น
“นโยบายหลักๆ ใน ซินฉางไท่ มีอยู่ 2 นโยบาย นโยบายนึงก็คือ Made in china 2025 ซึ่งส่วนนึงถูกดีไซน์ขึ้นมา เพื่อให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศจีน อยากได้รับการส่งเสริม จีนจะให้สิทธิประโยชน์เต็มที่ โดยข้อนึงคือต้องย้ายสำนักงานใหญ่มาตั้งในประเทศจีน และ 2 คือต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีมาให้กับจีนด้วย ซึ่งนโยบายเพื่อยกระดับคนจีนให้มีงานทำ มีรายได้ที่สูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็กลัวว่า ถ้ารายได้สูง และรวยขึ้นแล้ว จีนอาจจะซื้อของนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นนโยบายนี้ จึงออกมาแบบมาให้การพัฒนาด้าน supply site โดยมีอุตสาหกรรมที่เน้น ทั้ง 10 ด้าน”
“ฉะนั้นปรากฎการณ์ที่เราเห็นจาก New normal คือ คนจีนรวยขึ้นจริง คนจีนเริ่มเดินทางออกมาเที่ยวต่างประเทศ เราเริ่มเห็นทัวร์จีนเข้ามาในประเทศไทย เริ่มเห็นคนจีนเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยจำนวนมาก แต่ปัญหาของ Made in china 2025 คือประเทศตะวันตกเขามองว่านโยบายนี้ไม่เป็นธรรม เพราะเท่ากับว่ารัฐบาลจีน ลงมาเล่นในเรื่องที่ควรจะเป็นของภาคเอกชน และการบอกให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยเฉพาะ 10 อย่าง ก็มีเรื่องของความมั่นคงด้วย”
นอกจาก Made in China 2025 แล้ว ยังมีอีกนโยบายหนึ่ง ที่เราเริ่มได้ยินกันมากในช่วงที่ผ่านมา คือ เส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ One Belt One Road (OBOR) หรือ Belt and Road Initiative ซึ่งอาจารย์ก็เล่าว่า มันได้เชื่อมจีนกับหลายประเทศเกือบทั้งโลกไว้ด้วยกัน
“มันคือการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ตอนนี้ เป็นการเชื่อมโยงจีนเข้าไปใน 2 พื้นที่ คือการเข้าไปใน Heartland คือ จากจีน ไปรัสเซีย ไปยุโรป เอเชียกลาง แอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ตรงนี้ถือเป็นทวีปหลักของโลก คือยูเรเซีย กับอีกอันนึง เชื่อมโยงประเทศที่อยู่ในมหาสมุทร ดังนั้นจีนก็เลยมี one belt ที่เชื่อมโยงในภาคพื้นทวีป และ one road ที่เชื่อมมหาสมุทร”
อ.ปิติยังเล่าว่า นโยบายนี้ ได้ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน มีการสร้างงาน เข้าไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ได้สร้างมิตรกับประเทศเหล่านี้ ผลักดันให้ตัวเองเป็นมหาอำนาจด้วย ซึ่งการประชุมของ OBOR Summit ยังทำให้จำแนกนโยบายนี้ออกเป็น 4 ด้าน
คือ 1.) สร้างระเบียงเศรษฐกิจ เชื่อมโยงทั้งโลก 2.) การสร้างแพลตฟอร์ม ที่จะทำให Belt and Road เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3) Belt and Road ในแบบที่ คุณขอมา เราจัดให้ คือถ้าทั่วโลกมีโปรเจ็กต์อะไร ให้เสนอไปที่จีน และถ้าจีนรู้สึกว่ามัน win-win ประเทศที่ขอได้ แล้วจีนก็ได้ด้วย จีนก็จะสนับสนุน และสุดท้ายคือ People to People connectivity คือเรื่องของการให้ทุนการศึกษา เพื่อที่จะสร้าง soft power หรืออำนาจละมุน”
ด้านเทคโนโลยี
ไม่ใช่เพียงเศรษฐกิจจีน ที่เติบโตขึ้นมา แต่ในด้านเทคโนโลยี จีนเองก็มีการพัฒนา วิจัย และคิดค้นนวัตกรรมใหญ่ๆ รวมถึงบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนเอง ก็ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทที่มีอิทธิพลของโลกด้วย ซึ่ง อ.อาร์มก็ได้อธิบายภาพของโลกเทคโนโลยีปัจจุบันไว้ว่า จีน จะทำให้เกิดการแยกโลกเทคโนโลยีออกมาเป็นอีกโลกหนึ่ง
“ถ้าเราพูดถึงเทคโนโลยี มันมี 2 มิติที่เราควรจะคิดถึง มิติแรกคือ การริเริ่มสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ (breakthrough) ที่วันนี้เข้าสู่ยุคดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ ยกระดับไปอีกเป็น 4.0 หรือ 5.0 แต่อีกมิตินึงคือ การใช้งาน ซึ่งหมายถึงว่า พอมีเทคโนโลยีแล้ว เราทำยังไงในการนำไปใช้ ต่อยอดคิดอะไรต่อ
เราจะเห็นว่าโลกตะวันตกเก่งมาก ในมิติแรก แต่จีนก็เก่งมากในมิติที่ 2 ก็คือมิติเรื่องการประยุกต์ใช้ การเอาเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นออกมาแล้ว ก็คือปัญญาประดิษฐ์ หรือ 5G มาใช้ในวงกว้าง เพราะจีนก็มีสเกลที่ใหญ่มาก มีตลาดขนาดใหญ่มหาศาล
มันมีความพิเศษก็คือเทคโนโลยี 4.0 หรือ 5.0 การประยุกต์ใช้มีผลต่อการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วย พูดง่ายๆ เราพูดถึงเทคโนโลยีแยกแยะใบหน้า หรือ social recognition คนที่จะทำได้ดีที่สุด คือคนที่มีใบหน้าดิจิทัลได้ดีที่สุด ดังนั้นไม่ใช่ว่าต้องมีโปรแกรมเมอร์ที่เก่ง หรือมีเงินทุนมหาศาลอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญอันนึงคือ ปริมาณข้อมูลมหาศาล ซึ่งเกิดขึ้นได้ก็เพราะว่าการเอาเทคโนโลยีเหล่านี้ไปปรับใช้ในสังคม”
อ.อาร์มเล่าต่อว่า การแบ่งแยกโลกเทคโนโลยีของจีนกับตะวันตก ยังไม่ใช่แค่ใน 2 มิตินั้น แต่ยังแยกกันลงไปลึกซึ้งกว่านั้นด้วย
“Eric Schmidt ผู้เคยเป็น CEO ของ Google เคยทำนายไว้อย่างน่าสนใจมากว่า โลกในอนาคต จะเป็นโลก 2 อินเทอร์เน็ต แต่ในความหมายที่ Schmidt พูดตอนนั้น ก็คือบอกว่า สมัยก่อนเราเห็นแต่บริษัทอินเทอร์เน็ตตะวันตก Facebook, Google, Microsoft ที่ออกไปบุกโลก แต่ว่ากลายเป็นว่าเทรนด์ใหม่มันไม่ใช่แค่บริษัทตะวันตก แต่เราเริ่มเห็นบริษัทของจีน เข้ามาบุกตลาดในประเทศอื่นๆ ด้วย
ที่นี้ จริงๆ แล้วเราพูดถึงปี 2020 มีเทรนด์นึงที่เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ การที่สหรัฐฯ ออกมาแบนการค้าขายกับ Huawei ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทเทคโนโลยีอันดับ 1 ทางการค้าของจีน ผลกระทบแรก ไม่ใช่แค่ที่ Schmidt บอกว่ามีบริษัทตะวันตกกับจีน แข่งกันในตลาดโลก แต่ว่าต่อจากนี้ 2 บริษัทนี้จะแยกออกจากกัน ในลักษณะที่ ชิ้นส่วนของ Huawei ก็พยายามที่จะไม่ใช้ชิ้นส่วนจากสหรัฐฯ หรือการผลิตโทรศัพท์ของบริษัท Google ก็ไม่ผลิตที่จีนแล้ว ไปผลิตที่เวียดนาม ดังนั้นการแยกกัน มันแยกกันลึกซึ้งขึ้นไปอีกขั้นนึง
ดังนั้นอีกผลกระทบนึงที่น่าสนใจ คือมันทำให้นโยบายของจีนที่สำคัญมากในปัจจุบัน และ 10 ปีถัดจากนี้ ก็คือนโยบายที่จีนจะต้องพึ่งพิงตัวเองให้ได้ ในเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันนี้ ฝรั่งเริ่มบอกว่า จะไม่ให้เทคโนโลยีคนจีนแล้ว หรือว่าจะไม่ค้าขายเทคโนโลยีด้วย”
นอกจากนี้ อ.อาร์มยังเสริมว่า ในปีนี้ ยังมีประเด็นที่น่าจับตาจากการที่จีนใช้เทคโนโลยีมาปรับใช้ในสังคมอย่างเรื่องของ Social Credit Score ด้วย
“เราพูดถึงคะแนน Social Credit Score หรือคะแนนจิดพิสัยสังคม จริงๆ แล้วมันยังไม่ได้เกิดขึ้น หรือยังไม่ได้เป็นระบบที่สมบูรณ์แบบ แต่รัฐบาลจีนเคยมีเอกสารที่บอกว่าในปี 2020 จะมีการออกระบบนี้อย่างสมบูรณ์
รัฐบาลจีนก็มีการทดลองว่า ในบางเมืองก็ให้นำร่องว่าจะใช้ไปทางไหน และเราก็พบว่าไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จในทุกเมือง บางเมืองก็พบว่าคนไม่ชอบมาก บางเมืองคนก็ถูกใจ โดยเราก็พบว่าเมืองที่คนไม่ชอบ คือเมืองที่ใช้คะแนนนี้ในการลงโทษคน เช่น คะแนนคุณต่ำกว่าเท่าไหร่ ก็จะไม่สามารถทำนู่นทำนี่ได้ แต่เมืองที่คนชอบก็เหมือนกับคะแนนนี้เป็นโบนัส คุณทำคะแนนดี ความประพฤติดี เวลาไปติดต่ออำเภอ มีแถวพิเศษให้
ซึ่งมันเป็นสิ่งที่น่าติดตามในปี 2020 ว่าระบบเหล่านี้พัฒนาไปยังไง เพราะมันยังมีความเป็นไปได้ในเชิงรายละเอียดมากมาย ซึ่งไม่ได้แปลว่ามันเป็นได้แบบเดียว ซึ่งก็ต้องรอดูว่ามันจะออกมาเป็นรูปแบบไหน และสุดท้ายคนจีนรับได้มากน้อยแค่ไหน
แต่ว่าขณะเดียวกันเราก็บอกได้ว่ามันก็มีปัญหาที่เกิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยของระบบข้อมูลส่วนบุคคล ความเป็นส่วนตัว การที่รู้สึกว่า รัฐบาลสามารถที่จะมีข้อมูลเกี่ยวกับตัวเขามหาศาล หรือว่าเข้ามายุ่งเกี่ยวกับตัวเขาได้มหาศาล ซึ่งพวกนี้ก็เป็นปัจจัยอันนึงที่ตั้งข้อสงสัยกันมาก”
ด้านการเมือง
ปัจจุบัน ตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีน ถูกจำกัดวาระไว้ที่ 10 ปี แต่เมื่อปี 2018 สภาประชาชนจีนได้ลงมติรับรอง ข้อเสนอของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่เสนอให้ตัดข้อความในธรรมนูญของพรรค ซึ่งระบุให้จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีออกไป ทำให้จากเดิม ที่สี จิ้นผิง จะหมดวาระผู้นำลงในปี 2023 สามารถต่อเวลาการเป็นผู้นำไปได้อีก
ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของอ.อาร์ม ที่มองว่า สี จิ้นผิงจะดำรงตำแหน่งต่อไปด้วย
“เป็นทิศทางที่ค่อนข้างชัดเจนว่า สี จิ้นผิงจะเป็นผู้นำต่อไป และน่าจะอยู่ยาว ทีนี้ถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงที่ผ่านมา ที่เปิดทางให้สี จิ้นผิง อยู่ในอำนาจต่อไปได้ ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมที่สำคัญอันนึง เพราะว่าสมัยก่อนผู้นำจีนจะอยู่ในตำแหน่งเพียง 10 ปี แต่สิ่งที่ทางจีนสื่อสารออกมาก็คือ ต้องการเสถียรภาพ ความมั่นคง
ตอนนี้ปัจจัยภายนอกรอบด้านที่รุมเร้าจีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงครามการค้า ความตึงเครียดมากขึ้นกับสหรัฐฯ เรื่องพวกนี้ จีนก็บอกว่าต้องการผู้นำที่แข็งแกร่ง หลังจากนั้นก็อาจจะเกี่ยวข้องกับการที่สี จิ้นผิง ใช้นโยบายปราบปรามคอร์รัปชั่นที่รุนแรง และก็มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นส่วนนึงที่ทำให้เขาอยากจะรักษาอำนาจต่อไป
จึงเป็นภาพค่อนข้างชัดเจนว่า เราจะมีผู้นำ และนโยบายที่เป็นชุดเดิม ก็คือไม่ว่าจะเป็นนโยบายเส้นทางสายไหมใหม่ในศตวรรษที่ 21 หรือนโยบายที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นศูนย์กลาง และนโยบายที่ต้องการจะยืนบนลำแข้งตัวเองให้ได้ในทางเทคโนโลยี” อ.อาร์มกล่าว
ความท้าทาย และสถานการณ์ในปัจจุบัน
แม้ว่าจีนจะมีความก้าวหน้า และการพัฒนาในด้านต่างๆ แต่ อ.อาร์มก็มองว่า ความท้าทายหลักของจีนในทศวรรษหน้า คือ ทรัพยากร และสิ่งที่ทำให้จีนสร้างตัว จนประสบความสำเร็จได้นั้น เริ่มหมดไป และจีนต้องเริ่มหาสิ่งใหม่มาทดแทนให้ได้
“ความท้าทายที่สำคัญอันนึงในทศวรรษ 2020 สิ่งที่เป็นสิ่งพิเศษของจีนที่ช่วยให้จีนประสบความสำเร็จหลายอย่าง มันกำลังหมดไป ทั้งเรื่องความได้เปรียบที่จีนมีแรงงานราคาถูกมหาศาล ตอนนี้จีนก็มีปัญหาค่าแรงที่สูงขึ้นเรื่อยๆ กว่าประเทศรอบข้าง และปัญหาโครงสร้างประชากร ที่มีแนวโน้มว่าประชากรจีนจะไม่เติบโตไปมากกว่านี้ ดังนั้น จีนจำเป็นที่จะต้องหาจุดใหม่สำหรับการเติบโต จุดใหม่ที่จะขับเคลื่อนประเทศขึ้นไปได้
ดังนั้นผมคิดว่าโจทย์ที่ท้าทายที่สุดสำหรับรัฐบาลจีน ไม่ใช่แค่ปี 2020 นี้ แต่ทศวรรษถัดจากนี้ไป คือ ต้องหาวิธีใหม่ที่จะประสบความสำเร็จ เพราะว่าใช้วิธีเดิมๆ ไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่จับตามองมาก และก็เป็นสิ่งที่เป็นหัวใจอันนึงของรัฐบาลจีน คือเป็นการยกระดับ พัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งเขามองว่าเป็นความท้าทายที่จะกลับมาตอบโจทย์จีน”
ทั้งในปัจจุบันเอง จีนยังเผชิญกับปัญหาการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่ทำให้มีการปิดเมืองในหลายเมือง มีการยกเลิกเที่ยวบินไปจีนของหลายสายการบิน ซึ่งแน่นอนว่าสถานการณ์นี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของจีนในปีนี้อย่างหนัก
ในตอนนี้ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากการแพร่ระบาดของไวรัสอาจจะยังไม่สามารถชี้อย่างชัดเจนได้ แต่นักเศรษฐศาสตร์บางรายก็คาดการณ์กว่า อัตราการขยายตัวของจีน อาจลดลง 2% ในไตรมาสนี้ ซึ่งหมายถึง การเติบโตจำนวน 6.2 หมื่นล้านดอลล่าร์ที่จะหายไป ซึ่งการเติบโตปีที่แล้ว ที่อ่อนตัวลงในรอบเกือบ 3 ทศวรรษ ก็จะยิ่งอ่อนตัวลงอีกในปีนี้ ซึ่งทำให้รัฐบาล อาจต้องออกมาลดภาษี กระตุ้นการใช้จ่าย และลดอัตราดอกเบี้ย ในภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางด้วย
รวมไปถึงภาคการท่องเที่ยว ที่จีนอาจจะกลายเป็นจุดหมายที่หลายประเทศหลีกเลี่ยง ปัจจุบัน ถูกยกเลิกทัวร์ การเข้าพักโรงแรม และสายการบินส่วนใหญ่เองก็ระงับไฟล์ทบินมายังประเทศจีน ซึ่งแม้ว่าการระบาดจะจบลง แต่ก็ต้องเรียกความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับมาได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือนเลยด้วย
แน่นอนว่า สถานการณ์นี้ไม่ได้กระทบเพียงแค่จีนเท่านั้น แต่ยังคงกระทบต่อเศรษฐกิจโลกด้วย โดยมีการคาดการว่า ผลกระทบที่จะส่งผลต่อจีน และเศรษฐกิจโลก จะรุนแรงกว่าช่วงการระบาดของโรคซาร์ส เนื่องจากปี 2003 เมื่อไวรัสโรคซาร์สระบาด GDP ของจีนนั้น อยู่ที่ 1.6 ล้านล้านดอลลาร์เท่านั้น และเศรษฐกิจของจีนยังอยู่ที่ลำดับ 6 ของโลก แต่ในขณะที่ ปัจจุบันนี้ จีนขยับขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก และ GDP ของจีนเอง ก็อยู่ที่ประมาณ 13 ล้านล้านดอลลาร์แล้วด้วย
โดยสถาบันโลก McKinsey ระบุว่า ปัจจุบัน เศรษฐกิจโลก และการค้าขายของหลายประเทศนั้น พึ่งพิงกับเศรษฐกิจจีน จากทั้งที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ผู้นำเข้าน้ำมันดิบ และนักท่องเที่ยวจีนเอง ที่มีกำลังใช้จ่าย และมีการเดินทางไปต่างประเทศกว่า 150 ล้านครั้ง ทำเงินกว่า 277 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในปี 2018 และประชากรจีนเอง ยังเป็นตลาดสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคด้วย
ทั้งยังอาจจะกระทบในภาคแรงงานของจีน โดยในช่วงการระบาดของซาร์สนั้น ข้อมูลจากทางการจีนระบุว่า มีคนตกงานประมาณ 8 ล้านคน (มีความเป็นไปได้ว่า ตัวเลขจริงอาจสูงกว่านี้ เพราะข้อมูงของรัฐบาลไม่ครอบคลุมแรงงานอพยพ) ซึ่งแม้ว่าช่วงนั้นจะมีคนตกงาน เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านการเข้ามาของเทคโนโลยี แต่ก็มีความกังวลว่า ในการแพร่ระบาดของไวรัสครั้งนี้ ก็อาจจะกระทบต่อภาคแรงงาน และมีคนตกงานจำนวนมหาศาลได้ จากการชะงักของเศรษฐกิจ และช่วงการปิดเมืองต่างๆ ด้วย
ดังนั้นถือเป็นภาพความท้าทายใหญ่ที่รัฐบาลกำลังผชิญ จากทั้งเศรษฐกิจหดตัว การต้องหาวิธีใหม่ในการประสบความสำเร็จ ทั้งด้านอุตสหกรรม และเทคโนโลยี ไปถึงการจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างการระบาดอย่างไวรัส
ที่ในปี 2021 ซึ่งจีนจะมีการฉลองครบรอบ 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์นั้น จีนต้องเร่งขับเคลื่อนประเทศไปพร้อมเป้าหมายที่ประกาศว่า ประเทศจะปราศจากความยากจน ยกระดับให้เป็นชนชั้นกลาง ก่อนจะไปถึงฝันของจีนอย่าง China dream ในปี 2049 ซึ่งอาจจะไม่ได้ง่าย และมีอุปสรรคมากกว่าที่จีนเคยผ่านมาได้ จนเป็นมหาอำนาจในจุดนี้
อ้างอิงจาก