“แม่ คนอายุ 16 ปี เขาสนใจอะไรกัน?”
“ตอนแม่อายุ 16 สิ่งที่แม่สนใจคือ การทำลายระบบชายเป็นใหญ่”
หมายเหตุ: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง Moxie
.
.
.
เปิดมาด้วยบทสนทนาที่ฟังแค่นิดเดียวก็รู้ว่าหนังเรื่องนี้จะพูดถึง ‘เฟมินิสต์’ หรือแนวคิดสตรีนิยม ดำเนินเรื่องโดยเด็กสาววัย 16 ปี ผู้เหนื่อยหน่ายและไม่อาจทนกับการกดทับผู้หญิงในโรงเรียนของเธอได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎการแต่งกายที่ห้ามผู้หญิงใส่เสื้อผ้าที่ดูโป๊ การคุกคามทางเพศที่พบเห็นได้อย่างชัดเจน แม้แต่ตามทางเดินของโรงเรียน และการจัดอันดับให้ผู้หญิงในโรงเรียนโดยเหล่านักเรียนชาย
ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็เป็นเรื่องที่พบเจอมายาวนาน และยังแก้ไขกันไม่ได้เสียที ซึ่ง Moxie ภาพยนตร์ของ Netflix เรื่องนี้ ก็นำเสนอออกมาได้กลมกล่อม เข้าใจได้ง่าย เหมือนดั่งคู่มือเข้าใจเฟมินิสต์แบบ 101 ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจได้ว่า ระบบโครงสร้างชายเป็นใหญ่กดทับคนทุกเพศ และความไม่เป็นธรรมทางเพศ คือเรื่องของทุกคน
หากไม่พอใจ อย่ากลัวที่จะส่งเสียงออกมา
เธอกำลังวิ่งอยู่ในป่า วิ่งหนีจากบางสิ่ง เธอกรีดร้องออกมาสุดเสียง แต่ทุกสิ่งกลับเงียบงัน
เรื่องราวเริ่มต้นด้วยฝันร้ายที่ปลุกให้ วิเวียน คาร์เตอร์ (รับบทโดย Hadley Robinson) เด็กสาววัย 16 ปี ตื่นขึ้นในคืนวันเปิดเทอมแรก บรรยากาศของหนังช่วงเปิดเรื่องไม่ต่างจากหนังวัยรุ่นฝรั่งทั่วๆ ไปเท่าไหร่นัก วิเวียนเป็นเด็กสาวที่ไม่ได้โดดเด่น สะดุดตา เธอเบื่อหน่ายกับหลายๆ สิ่งในโรงเรียน และไม่ได้สนใจหรือมองเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้น
จนเธอได้เจอกับ ลูซี่ (รับบทโดย Alycia Pascual-Peña) เด็กใหม่ที่ย้ายเข้ามา และพบเจอกับ ‘การคุกคาม’ จากมิทเชล (รับบทโดย Patrick Schwarzenegger) นักเรียนชายสุดฮอตในโรงเรียน โดยทุกคนต่างมองว่า เป็นเรื่องปกติ
วิเวียนเป็นตัวแทนของผู้ชมอย่างเรา และค่อยๆ พาไปดูปัญหาการเหยียดเพศที่เกิดขึ้นในโรงเรียน โดยช่วงแรกเธอก็มองว่า การคุกคามที่ลูซี่เจอนั้น เป็นเรื่อง ‘น่ารำคาญ’ ที่ไม่ควรเก็บมาใส่ใจ นิ่งเฉยไว้เดี๋ยวปัญหาก็คลายไปเอง
“เขาอันตราย” ลูซี่พูด
“ฉันไม่คิดว่าเขาอันตรายนะ เขาแค่น่ารำคาญ” วิเวียนตอบกลับ
“เธอรู้ว่า ‘น่ารำคาญ’ เป็นได้มากกว่าแค่ ‘น่ารำคาญ’ ใช่ไหม? มันอาจเป็นสัญญาณของสิ่งที่แย่กว่า”
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สะท้อนปัญหาหนักยิ่งขึ้น เมื่อลูซี่ไปแจ้งครูใหญ่ถึงเหตุการณ์คุกคามที่เธอเจอ แต่ครูกลับเลี่ยงให้เธอใช้คำว่าถูก ‘กวนใจ’ แทน เพราะหากจะใช้คำว่า ‘คุกคาม’ นั่นจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทันที
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการจัดอันดับต่างๆ ให้นักเรียนหญิง เช่น ผู้หญิงที่น่าฟัดที่สุด ผู้หญิงที่เชื่องที่สุด ผู้หญิงที่สะโพกสวยที่สุด และอื่นๆ อีกมากมาย ที่หลายคนมองว่าเป็นแค่เรื่องขำขันและสีสันในโรงเรียนเท่านั้น
เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาเรื่องการเหยียดเพศ การคุกคามทางเพศ และการถูกกดทับทางเพศ อาจมาในรูปแบบที่ดูเหมือนจะเป็นแค่เรื่องเล็กน้อยในสายตาของผู้ที่ไม่ถูกกระทำ แต่เรื่องที่ดูเหมือนจะเล็กน้อยเหล่านี้ ก็มีผลสืบเนื่องมาจากระบบโครงสร้างชายเป็นใหญ่ อันเป็นปัญหาฝังลึกอยู่ในสังคม
เสียงเรียกร้องของผู้ที่ถูกกดขี่ มักถูกปัดทิ้งไปด้วยทัศคติว่า ‘เรื่องแค่นี้เอง’ อยู่เสมอ
ไม่นานหลังจากนั้น วิเวียนก็ทำนิตยสารทำมือ โดยใช้ชื่อว่า ‘Moxie’ อธิบายเรื่องราวพื้นฐานของปัญหาชายเป็นใหญ่ และคำนิยามของเฟมินิสต์ พร้อมเชิญชวนให้ทุกคน ร่วมกันวาดรูปดาวบนมือ เพื่อเป็นการอารยะขัดขืนต่อปัญหาดังกล่าว ช่วงแรก เสียงของกลุ่ม Moxie ยังจำกัดกันในวงแคบ ก่อนจะค่อยๆ ดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อวิเวียนคอยตีพิมพ์นิตยสารทำมือ เพื่อเผยแพร่เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ จนขยายความคิดและการตระหนักรู้ให้หลายคน กลายมาเป็นพลังหญิงที่ต่อสู้กับโครงสร้างชายเป็นใหญ่นี้
และท้ายที่สุด เสียงกรี๊ดในความฝันของวิเวียนที่เคยเงียบงัน ก็ดังก้องออกมาได้ ด้วยพลังของกลุ่มคนที่ไม่ยอมทนกับการถูกกดขี่อีกต่อไป
เรียกร้องมากไป หรือแค่ไม่อยากฟัง?
แม้ว่าเสียงของผู้หญิงที่ถูกกดขี่จะได้รับการยอมรับจากหลายคน แต่ก็มีอีกหลายคนที่มองว่า เสียงเรียกร้องเหล่านี้ ‘ดัง’ เกินไป จนสร้างความไม่สบายใจให้กับพวกเขา
เป็นเรื่องธรรมดาที่การเรียกร้องของผู้ถูกกดขี่ จะสร้างความระแคะระคายใจให้เหล่าอภิสิทธิ์ชนที่ได้รับผลประโยชน์จาการกดขี่ทางเพศมายาวนาน โดยเฉพาะ มิทเชล หนุ่มนักกีฬาผู้โดดเด่นที่มักมองว่า การกระทำของเขาเองเป็นแค่การหยอกล้อกับพวกผู้หญิงเท่านั้น
มิทเชลมองว่า สิ่งที่เขาทำเป็นเรื่องปกติที่ผู้ชายหลายคนก็ทำกันมานานแล้ว ไม่ใช่ปัญหาอะไร อย่างเหตุการณ์ที่เขาพูดแย้งลูซี่ที่กำลังตั้งคำถามกับครูสอนวิชาภาษาอังกฤษว่าทำไมถึงให้นักเรียนอ่าน The Great Gatsby อยู่ ซึ่งเป็นหนังสือที่เขียนโดยผู้ชายผิวขาว ซึ่งได้รับอภิสิทธิ์มากมายพอแล้วในสังคม และเสนอความเห็นว่า ควรหาหนังสือของผู้หญิงผิวดำมาให้นักเรียนได้อ่านกันมากกว่า แต่มิทเชลกลับแย้งขึ้นมาด้วยเหตุผลว่า หนังสือเรื่อง The Great Gatsby เป็นของขึ้นหิ้งมานาน
“ผู้คนอ่านและรัก The Great Gatsby กันมาตั้งนาน ต้องมีอะไรสักอย่างสิ เราถึงได้อ่านมันปีแล้วปีเล่าที่โรงเรียน”
ยิ่งกว่านั้น มิทเชลยังเป็นตัวละครที่สะท้อนมุมมองของผู้ที่ได้รับอภิสิทธิ์หลายคน ที่มักมองว่าการเรียกร้องของผู้หญิงทั้งหลาย เป็นการคุกคามพวกเขา
“ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมตกเป็นเหยื่อ ตกเป็นเป้าโจมตีของโดยกลุ่มนิรนามที่ชื่อ Moxie กลุ่มนี้เผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อ และได้ทำให้ผมเสื่อมเสีย พูดง่ายๆ ก็คือ Moxie บูลลี่ผม”
คำพูดนี้สะท้อนให้เห็นว่า การเรียกร้องของกลุ่ม Moxie เข้าไปกระทบกระเทือนกลุ่มที่ได้อภิสิทธิ์อย่างมิทเชลจริงๆ และทางฝั่ง Moxie เองก็มองว่า สิ่งที่พวกเธอทำมันได้ผล เพราะสร้างความกลัวให้กับคนที่เคยชินกับการคุมคามมาตลอดได้
แต่ต้องย้ำกันว่า การต่อต้านชายเป็นใหญ่ ไม่ใช่การต่อต้าน ‘ผู้ชาย’ หรอกนะ ในหนังเองก็มีตัวละครชายอีกหลายคนที่สนับสนุนการเรียกร้อง ทั้งยังรับฟัง และพยายามทำความเข้าใจปัญหานี้อย่างถ่องแท้ อย่าง เซธ (รับบทโดย Nico Hiraga) แฟนหนุ่มของวิเวียน
อย่างที่บอกว่า Moxie เป็นภาพยนตร์ที่อธิบายความคิด ความเข้าใจในแนวคิดเฟมินิสต์แบบพื้นฐานมากๆ ความสัมพันธ์ของวิเวียนและเซธ จึงเป็นไปในทางที่ดีมากกว่าจะเป็นผลเสีย แม้จะมีการทะเลาะกันบ้าง แต่ก็ไม่มีการบังคับฝืนใจกัน หรือการใช้อำนาจข่มอีกฝ่าย ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ร้ายแรงอื่นๆ ได้
ประเด็นเรื่องชายเป็นใหญ่หรือปิตาธิปไตย เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบไปถึงทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม เพียงแต่บางคนอาจไม่ทันสังเกต หรือไม่ทันมองเห็นว่า พวกเขาเองก็เป็นคนที่ได้รับผลจากปัญหานี้เช่นกัน อย่างบุคลิกของมิทเชล ที่มักได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนผู้ชายด้วยกัน และถูกจัดให้เป็นหนุ่มฮอตของโรงเรียน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เขาเชื่อว่าพฤติกรรมคุกคามต่างๆ ที่ตัวเองกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องก็ได้ แต่หนังเรื่องนี้ไม่ได้ลงรายละเอียดในประเด็นดังกล่าวมาก เรื่องของผู้ชายที่ถูกกดขี่จากความชายเป็นใหญ่ จึงไม่ได้ฉายชัดมากนัก
การนิ่งเฉย คือการเลือกข้างผู้กดขี่
ถ้านิ่งเฉย ในสถานการณ์ที่มีคนถูกทำร้าย นั่นแปลว่าคุณได้เลือกข้างผู้กดขี่ไปแล้ว .. ประโยคที่เราอาจคุ้นหูกันดี แต่ก็นำมารีรันใหม่ได้ทุกครั้งที่มีคนนิ่งเฉยกับปัญหาตรงหน้า
แน่นอนว่า ในหนังเรื่องนี้ ปัญหาที่ว่าก็เกิดขึ้นมาเช่นกัน เมื่อมีนักเรียนหญิงคนหนึ่งสวมเสื้อกล้ามมาโรงเรียน (โรงเรียนในสหรัฐฯ ไม่มีกฎการแต่งกาย) แต่เธอมีหน้าอกขนาดใหญ่ ครูจึงเรียกให้หาอะไรมาสวมทับเพื่อปิดหน้าอก แต่พอเธอไม่มี ครูให้เธอกลับบ้านไปเสีย ขณะที่เพื่อนสาวอีกคน ก็สวมเสื้อกล้ามเช่นกัน แต่เธอไม่ได้มีหน้าอกขนาดใหญ่มาก ทำให้ไม่โดนคุณครูว่ากล่าวอะไร หรือกรณีของนักเรียนชายอีกคน ที่ก็ใส่เสื้อกล้ามเหมือนกัน แต่กลับไม่มีใครว่าอะไร
ครูต้องการให้นักเรียนหญิงคนนี้หาอะไรมาปกปิดหน้าอกของเธอ เพราะกลัวนักเรียนหญิงคนนี้จะถูกลวนลามทางสายตาจากผู้ชายในโรงเรียน นับเป็นความหวังดีที่แก้ปัญหาได้ผิดจุด ซ้ำยังทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ทำไมผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายหาอะไรมาปกปิด หรือลงมือทำอะไรสักอย่างเสียเอง? สิทธิในการแต่งตัวตามความต้องการของผู้หญิง ถูกผูกมัดไว้กับกฎที่ว่า ‘ต้องมิดชิด ไม่กระตุ้นอารมณ์ทางเพศผู้ชาย’ อย่างนั้นเหรอ?
เหตุการณ์นั้นสะท้อนให้เห็นว่า สิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง และคำสอนต่างๆ ที่มีต่อผู้หญิง ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นโดยผู้หญิงเอง แต่ถูกกำหนดและกดทับโดยเพศชายมาตลอด นำไปสู่การนัดกันสวมเสื้อกล้ามไปโรงเรียน เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและสนับสนุนเพื่อนผู้หญิงที่ถูกครูไล่กลับบ้าน
แล้วครูสอนวิชาอังกฤษ (ซึ่งเป็นผู้ชาย) ก็พูดขึ้นมาในห้องเรียนว่า เขาไม่คิดจะแสดงความคิดเห็นอะไรกับการแต่งกายของกลุ่มนักเรียนหญิง เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นปัญหาของผู้หญิง และครูจะไม่ก้าวก่าย นั่นทำให้นักเรียนหญิงที่เผชิญปัญหานี้มาตลอด ต้องลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นแย้งครูคนดังกล่าว
“รู้ไหมครูไม่เข้าใจอะไร การแต่งตัวแบบนี้อาจดูไม่สำคัญสำหรับครู มันอาจดูไม่สำคัญสำหรับพวกนาย แต่มันเป็นอีกวิธีที่จะกดผู้หญิง แล้วถ้าครูไม่ทำอะไร ครูก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหานั้นแล้ว”
การนิ่งเฉยในภาวะที่ผู้คนถูกกดขี่ ทำร้าย และคุกคาม เป็นดั่งสัญญาณอนุญาตให้ผู้กระทำลงมือต่อไปเรื่อยๆ เพราะไม่มีใครไปห้ามปราม หรือขัดขวางการกระทำดังกล่าว ซ้ำยังเหมือนเป็นการยอมรับอย่างกลายๆ ด้วย และนี่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเพศยังคงแฝงลึกอยู่ในสังคมนั่นเอง
ปัญหาการกดทับทางเพศ มีหลายเฉดสี
ประเด็นสำคัญที่แทรกมาในหนังเรื่องนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือ วิเวียน ตัวละครหลักที่เป็นผู้ดำเนินเรื่อง เป็นผู้หญิงผิวขาวซึ่งถือเป็นผู้หญิงได้รับอภิสิทธิ์ในสังคมโลกมากกว่าผู้หญิงกลุ่มไหน ดังนั้น ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเพศที่เล่าผ่านวิเวียน ย่อมเป็นปัญหาของผู้หญิงที่ถูกกดขี่แตกต่างไปจากผู้หญิงกลุ่มอื่นๆ
แม้จะไม่ได้ลงรายละเอียดมากหนัก แต่หนังเรื่องนี้ก็ไม่ถึงกับละเลยประเด็นดังกล่าว ด้วยการสอดแทรกความหลากหลายของปัญหาผ่าน คลอเดีย (รับบทโดย Lauren Tsai) เพื่อนสนิทของวิเวียนซึ่งเป็นลูกครึ่งอเมริกัน-จีน ซึ่งเผชิญกับปัญหาที่แตกต่างไป
คลอเดียเป็นอีกหนึ่งคนที่เห็นด้วยกับการปฏิวัติที่กลุ่ม Moxie ก่อขึ้น และอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งด้วย แต่หลายเหตุการณ์ในหนัง ทำให้เราเห็นว่า เธอมักเลือกที่จะช่วยเหลือแบบเงียบๆ มากกว่าจะตะโกนส่งเสียงออกไปเต็มแรงเหมือนอย่างที่วิเวียนทำ นั่นเป็นเพราะ อคติทางเชื้อชาติที่กดซ้ำลงไปบนตัวของคลอเดีย ทำให้คลอเดียไม่สามารถแสดงความเห็นออกมาได้อย่างเต็มที่ และเผชิญกับความยากลำบากในการไล่ตามรูปแบบการเรียกร้องของเพื่อนสนิทตัวเอง
อย่างเหตุการณ์ที่กลุ่ม Moxie นัดกันใส่เสื้อกล้าม คลอเดียเองก็กลั้นใจหยิบเสื้อกล้ามของเธอมาสวมด้วย แต่ยังไม่ทันจะได้ออกจากบ้าน คลอเดียกลับถูกแม่ดุและไล่ให้ไปเปลี่ยนชุด พอวิเวียนพบว่าเธอไม่ได้สวมเสื้อกล้ามมาตามที่นัดกันไป ก็มองคลอเดียอย่างไม่เข้าใจ กลายอีกหนึ่งชนวนที่ทำให้ทั้งคู่ทะเลาะกัน
“ฉันไม่ได้ขอให้เธอมาร่วมด้วยนะ” วิเวียนกล่าว
“ใช่สิ เธอขอ เธอทำให้ฉันรู้สึกแย่เพราะฉันทำไม่มากพอ และเธอไม่เข้าใจ เธอไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับฉัน เพราะว่าเธอผิวขาว” คลอเดียโต้กลับ
“อะไรนะ?”
“รู้ไหมว่า แม่ฉันต้องยอมสละอะไรบ้างเพื่อมาประเทศนี้ เธอต้องทำอะไรเพื่อให้ฉันเข้ามหาวิทยาลัยได้ ฉันอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลเลย และฉันไม่มีอิสระที่จะเสี่ยงแบบที่เธอทำ”
นอกจากคลอเดีย ซึ่งเป็นผู้หญิงเอเชียแล้ว เรายังเห็นผู้หญิงผิวดำ ผู้หญิงฮิสแปนิก ผู้หญิงทรานส์ รวมถึง ผู้หญิงที่มีความพิการ ซึ่งแน่นอนว่า ปัญหาที่พวกเธอต้องเผชิญล้วนมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป น่าเสียดายว่า หนังเรื่องนี้ไม่ได้เล่าเรื่องราวที่แต่ละคนต้องพบเจอ แต่ก็เข้าใจได้ว่า ด้วยเวลาอันจำกัด คงไม่สามารถหยิบยกเรื่องราวของทุกคนมาเล่าได้เพียงพอ
หากเจอกับการคุกคาม อย่ากังวลที่จะส่งเสียง
หากไม่เข้าใจเรื่องราวของผู้ถูกกดขี่ ก็รับฟังให้มากขึ้น
หากเห็นปัญหาอยู่ตรงหน้า อย่าได้นิ่งนอนใจ
และขอให้เข้าใจว่า ในกลุ่มถูกกดทับด้วยกันเอง ก็มีเฉดสีที่หลากหลาย เกินกว่าจะเหมารวมให้เหมือนกันหมดได้
ภาพยนตร์เรื่อง Moxie กำกับโดย เอมี่ โพห์เลอร์ (Amy Poehler) สร้างขึ้นจากวรรณกรรมเยาวชนชื่อเดียวกัน ซึ่งประพันธ์โดย เจนนิเฟอร์ มาตีเยอ (Jennifer Mathieu) ซึ่งในหนังเรื่องนี้ยังประกอบด้วยเพลง ‘Rebel Girl’ ของวง Bikini Kill อันเป็นบทเพลงที่ปลุกพลังผู้หญิงให้เชิดหน้าขึ้น และไม่ยอมก้มหัวให้ปิตาธิปไตย
เรื่องราวของ Moxie สอดรับไปกับการเคลื่อนไหว #metoo แคมเปญที่ส่งเสริมให้ผู้ถูกล่วงละเมิดออกมาส่งเสียง เพื่อต่อต้านปัญหาการคุกคามทางเพศ อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นอีกมากในหนังเรื่องนี้ที่ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพูดถึง ทั้งเรื่องของความเสมอภาคทางเพศในวงการกีฬา อคติที่มีต่อทรานส์เจนเดอร์ และการข่มขืน
เราอยากให้ทุกคนลองไปรับชมเรื่องราวของกลุ่มเคลื่อนไหว Moxie กันด้วยตัวเอง และหวังว่าหนังเรื่องนี้จะช่วยให้ผู้รับชมเข้าใจได้ว่า