“นี่ไม่ใช่ลูกชายฉัน”
“อย่าทำให้ตำรวจดูโง่ เอาเด็กคนนี้กลับไปที่บ้านก่อน”
1.
วันที่ 18 สิงหาคม ปี 1928 ณ สถานพินิจและคุ้มครองเด็ก เหล่านักสืบและผู้บังคับบัญชาระดับสูงจากกรมตำรวจลอสแอนเจลิส (Los Angeles) สหรัฐอเมริกา ต่างเดินทางมาด้วยสีหน้าชื่นมื่น ท่ามกลางสื่อมวลชนซึ่งพกกล้องใหญ่โตโอฬาร เพื่อมาสัมภาษณ์ทำข่าว
กรมตำรวจลอสแอนเจลิส ถือกำเนิดด้วยแนวคิดแบบทหาร มันคือหน่วยติดอาวุธซึ่งมีหน้าที่ปราบปรามโจรผู้ร้ายอย่างเฉียบขาด รุนแรง ถึงรากถึงโคน ล้างให้สิ้น ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ อาชญากรและโจรผู้ร้ายเต็มไปหมด ตำรวจเมืองนี้ใช้กำปั้นเหล็กกวาดล้างภัยสังคมให้สิ้นซาก ซ้อมกระทืบ ยิงทิ้งเป็นว่าเล่น โดยหวังว่าจะทำให้ทุกอย่างสงบราบคาบได้
ปัญหาก็คือ เมื่อเจ้าหน้าที่ถือปืน มีอำนาจมหาศาล ไร้การควบคุม จึงเอื้อให้คนในเครื่องแบบใช้อาญาสิทธิ์ผิดทาง แทนที่อาชญากรจะหาย กลายเป็นว่าตำรวจดันเป็นโจรเสียเอง ต่างกอบโกยฉ้อฉล ทั้งการเรียกรับผลประโยชน์ เก็บส่วย หากินกับเงินเจ้าพ่อ บ่อนพนันและซ่องโสเภณี จนกลายเป็นข่าวใหญ่ สร้างความเสื่อมเสียให้องค์กรอย่างมาก
อย่างไรก็ดี งานแถลงข่าววันนี้ จะเป็นหมุดหมายสำคัญ มันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการกอบกู้ชื่อเสียงของกรมตำรวจ ผลงานชิ้นนี้ พวกเขาใช้เวลาถึง 5 เดือนด้วยกัน เพื่อปิดคดี
พลันที่ คริสตีน คอลลินส์ (Christine Collins) ปรากฏตัวขึ้น เจ้าหน้าที่ก็พาเธอเข้ามา แสงแฟลชจากช่างภาพทำงาน นักข่าวต่างระดมยิงคำถาม ผู้บังคับบัญชาระดับสูง พูดสรุปสั้นๆ ว่า หลังจากทำงานกันอย่างเหน็ดเหนื่อย พวกเขาพบลูกชายของเธอที่หายตัวไปแล้ว
แท้จริงแล้วตำรวจลอสแอนเจลิสต้องขอบคุณตำรวจจากชิคาโก ที่แจ้งว่าพบตัวลูกของคริสตีน แล้วมีการประสานข้อมูล ไปรับตัวน้องขึ้นรถไฟมาให้ทันงานแถลงข่าวนี้
อย่างไรก็ดีเมื่อแม่กับลูกพบกัน หญิงสาวตกตะลึง ก่อนจะพูดกับผู้กองที่เป็นคนทำคดีนี้ว่า
“นี่ไม่ใช่ลูกชายฉัน”
โชคดีที่สื่อไม่ได้ยินประโยคนี้ ผู้กองหนุ่มตรงเข้าประชิดหญิงสาว แล้วกระซิบออกมาด้วยน้ำเสียงเข้มๆ ว่า “อย่าทำให้พวกเรา (ตำรวจ) ดูโง่เด็ดขาด เอาเด็กคนนี้กลับบ้านไปก่อน”
คริสตีนน้อมรับคำสั่งของผู้กอง พาเด็กออกจากงานแถลงข่าวไป ทุกอย่างชื่นมื่น สื่อนำเสนอข่าว ชื่นชมในความเก่งกาจของตำรวจเมืองนี้ กลายเป็นข่าวใหญ่อยู่หลายวัน
จนกระทั่ง 3 อาทิตย์ผ่านไป
คริสตีนก็พาเด็กคนนี้ กลับมายังโรงพัก
“นี่ไม่ใช่ลูกฉัน”
ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องชีวิตประชาชน ผู้กองที่ทำคดีนี้ ตัดสินใจในฉับพลัน
จับกุมตัวคริสตีน แล้วโยนเข้าโรงพยาบาลบ้า
“อีนี่เป็นบ้าแน่ๆ ทำไมถึงจำลูกตัวเองไม่ได้วะ”
2.
เย็นวันที่ 10 มีนาคม ปี 1928 คริสตีนไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่า นี่จะเป็นช่วงเวลาสุดท้ายที่ได้เห็นหน้าลูกชายสุดที่รัก
วอลเตอร์ คอลลินส์ (Walter Collins) วัย 9 ขวบ ขอเงินแม่ เพื่อจะไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์ใกล้ๆ เมื่อเขาออกจากบ้านไป เด็กชายตัวน้อยไม่เคยกลับมาพบมารดาบังเกิดเกล้าอีกเลย
คริสตีนรอลูกอยู่นาน เมื่อวอลเตอร์ไม่กลับบ้าน ด้วยความร้อนใจจึงออกตามหา และแจ้งตำรวจทันที ผู้กองหนุ่มนามว่า เจ.เจ.โจน์ (J.J.Jones) นายตำรวจดาวรุ่ง สั่งระดมตำรวจกว่า 100 นาย ปูพรมหาเบาะแสกว่า 200 เหตุ เพื่อหาตัววอลเตอร์ทันที
พ่อของเด็ก สามีของคริสตีน ติดคุกในข้อหาปล้น เมื่อเขาทราบเรื่อง ก็คิดว่าคู่อริก่อเหตุนี้ขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อเจ้าหน้าที่เช็กทุกอย่างโดยละเอียด พบว่าเรื่องนี้ไม่มีมูล
การหายตัวไปของวอลเตอร์ เป็นข่าวใหญ่ทั้งประเทศ มีข้อมูลแจ้งมามากมาย ทั้งจมน้ำตาย เห็นคนอุ้มไป ผู้กองโจนส์ไล่เช็กทุกอย่าง แต่ไม่พบความคืบหน้า เวลาผ่านไป ทุกอย่างริบหรี่ แม้คริสตีนจะหวังและเชื่อว่า วันหนึ่งต้องมีคนพบลูก แต่ในใจก็หวั่นเกรงว่า จะไม่มีวันได้พบหน้าวอลเตอร์อีก
จนกระทั่งในเดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน ตำรวจชิคาโกโทร.แจ้งข้อมูลแก่ผู้กองโจนส์ว่า พบวอลเตอร์แล้ว โดยบอกว่าเด็กถูกลักพาตัว และมีอาการความทรงจำบางส่วนหายไป จึงจำเรื่องราวไม่ได้ทั้งหมด
ผู้กองรายงานผู้บังคับบัญชา นำไปสู่การแถลงข่าวใหญ่โต แม้คริสตีนจะยืนยันตั้งแต่แรกเห็นว่า เด็กคนนี้ไม่ใช่ลูกเธอ แต่เป็นใครก็ไม่รู้ กระนั้นโจนส์ซึ่งถูกกดดันจากนายๆ อีกต่อ เข้าไปขู่และโน้มน้าวให้หญิงสาวเอาเด็กคนนี้ไปก่อน
“ให้เขาได้กลับบ้าน เห็นของเล่น เห็นบรรยากาศที่คุ้นเคย ความทรงจำเขาจะกลับมาเอง”
อย่างไรก็ดีสุดท้ายคริสตีนก็เอาเด็กมาคืน พร้อมเอกสารทำฟันมายืนยันว่า นี่ไม่ใช่ลูกแท้ๆ ของเธอ วอลเตอร์นั้นสูงกว่าเจ้าหนูนี้ เสียงแตกต่างกว่า ดวงตาก็ไม่ใช่ หลักฐานทางแพทย์ชัดขนาดนี้ เจ้าหน้าที่มั่วมากกับการเอาเด็กผิดคนมาคืน
นี่เป็นเรื่องอื้อฉาวครั้งสำคัญ หากหลุดไปถึงสื่อ กรมตำรวจจะต้องอับอายขายขี้หน้าเป็นอย่างยิ่ง แต่แทนที่พวกเขาจะรีบรับผิด และตั้งทีมหาวอลเตอร์กันใหม่ ผู้กองโจนส์กลับทำในสิ่งที่ตำรวจฉ้อฉลชอบกัน นั่นก็คือขู่ผู้เสียหาย จับแพะ และยัดข้อหา
“คุณกำลังจะหลอกพวกเราเหรอ” ผู้กองหนุ่มตะคอกใส่คริสตีน พร้อมแจ้งว่าหญิงสาวละเลยหน้าที่เลี้ยงดูลูก
“อีนี่บ้าไปแล้ว ต้องพาตัวเข้าโรงพยาบาลโรคจิต”
สิ้นเสียงนี้ เขาก็สั่งการให้จับกุมแม่ของวอลเตอร์ แล้วพาตัวเข้าโรงพยาบาลประสาททันที เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์หยุดยาว คริสตีนเลยต้องอยู่ในสถานที่ซึ่งมีคนบ้าจริงๆ ถึง 5 วันด้วยกัน
“มีผู้หญิงที่นอนห้องเดียวกับฉัน เธอร้องไห้บ่อย พอเริ่มมืด ก็กรีดร้อง และสวดมนต์ จากนั้นก็พยายามมาดึงผมฉัน พอเริ่มหลับ ก็รู้สึกอีกฝ่ายเอามือมาบีบคอ”
นี่คือความทรมานและน่าหวาดกลัวอย่างมาก คริสตีนสติดีพร้อมทุกอย่าง แต่ถูกจับยัดหาว่าเป็นคนบ้า ต้องไปอยู่กับคนป่วย และหลายคนมีท่าทางอันตรายยิ่งนัก
โชคดีที่สุดท้าย จิตแพทย์ได้ประเมินอาการคริสตีนแล้วเห็นว่า เธอไม่ได้บ้า จึงสั่งปล่อยตัว หญิงสาวออกจากโรงพยาบาล โดยไม่มีสื่อมาทำข่าว เพราะยังไม่มีใครทราบเรื่องฉาวนี้
คริสตีนโกรธที่ถูกกระทำด้วยความอยุติธรรม จากเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ก็โล่งใจที่ได้รับอิสรภาพ เพราะกลัวว่าจะตกงาน ปัญหาต่อไปคือ เธอต้องตัดสินใจว่าจากนี้ ควรเลือกหนทางใด จะยังเอาวอลเตอร์ตัวปลอมกลับไปดูแล หรือจะงัดกับผู้กองโจนส์และตำรวจเมืองนี้อีกครั้งไหม
คำถามที่เธอสงสัย ไม่ต้องรอนาน ไม่ถึง 24 ชั่วโมง คำตอบก็มาถึง คราวนี้สื่อนำเสนอข่าวอย่างคึกคัก แต่ไม่ใช่แบบที่คริสตีนต้องการเลย เพราะพวกเขาหาลูกเธอไม่พบ
แต่อาจเจอฆาตกรที่สังหารวอลเตอร์แล้ว
3.
เด็กชายวัย 15 ปี แจ้งข้อมูลกับตำรวจ บอกว่าเคยเห็นลุงของเขาอยู่กับวอลเตอร์ในบ้าน และที่ตรงนั้น มีเยาวชนกว่า 4 คนเคยถูกพาตัวเข้าไป และไม่ได้ออกมาอีกเลย
นักสืบแจ้งข้อมูล เรื่องหลุดไปถึงหูนักข่าว หากสิ่งที่พยานเล่าคือเรื่องจริง แล้วเด็กที่ตำรวจอพาตัวมาให้คริสตีนคือใครกันแน่
เจ้าหน้าที่เข้าสอบถามวอลเตอร์ที่ทางชิคาโกพบ เค้นอยู่นาน ในที่สุดก็ได้ความจริงว่า หนูน้อยคนนี้แต่งเรื่องขึ้น เขาเป็นเด็กกำพร้า ไร้ที่ซุกหัวนอน และอยากเดินทางมาเมืองแห่งสีสัน ซึ่งวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดตั้งอยู่ เพราะอยากพบดาราคนโปรดเท่านั้น เลยปั้นน้ำเป็นตัวขึ้น
หนังสือพิมพ์นำเสนอข่าวความขายขี้หน้าของตำรวจ พอขุดไปลึกเข้า ก็พบข้อมูลว่า คริสตีนได้บอกต่อเจ้าหน้าที่แล้วว่า หนูน้อยรายนี้ ไม่ใช่ลูกเธอ แต่กลับถูกสั่งให้รับตัวไปก่อน พอเอามาคืน ก็ถูกยัดเข้าโรงพยาบาลประสาท
มันเป็นสกู๊ปและประเด็นใหญ่ เอาเด็กมาคืนผิดคน ก็ยิ่งฉาวห่วยแตกแล้ว ยังจับแม่ที่ลูกหาย เข้าโรงพยาบาลบ้าอีก นี่มันเป็นความเลวร้าย เพราะผู้ก่อเหตุ คือผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ด้วย
สื่อและสังคมลากไส้เจ้าหน้าที่ ผลงานเลวร้ายโผล่เต็มหน้าหนังสือพิมพ์ กรมตำรวจอับอาย ต้องสั่งพักงานผู้กองโจนส์ และนำกำลังบุกจับชายที่มีพยานแจ้งว่าจับตัววอลเตอร์ไป
เมื่อค้นฟาร์มอย่างละเอียด พวกเขาพบกระดูกเด็ก กะโหลกหนูน้อยเป็นจำนวนมาก แม้กระนั้นก็ไม่มีใครพบร่องรอยหลักฐานของวอลเตอร์
เจ้าหน้าที่คาดว่าชายคนนี้น่าจะเป็นฆาตกรสังหารเด็กหลายคน ทางผู้ต้องหารรับสารภาพว่า เขาหลงรักเด็กชาย จึงลักพาตัวไป ข่มขืนแล้วเอาของแข็งทุบทิ้ง คำให้การนี้เพียงพอให้พาตัวปีศาจร้ายขึ้นศาล และถูกตัดสินให้ประหารชีวิต
อย่างไรก็ดี ฆาตกรโหดไม่เคยยอมรับว่าลักพาตัววอลเตอร์ และไม่รู้เห็นอะไรในกรณีลูกคริสตีนหายทั้งสิ้น
ผ่านไปหลายปี มีข้อมูลว่าเหยื่อของนักฆ่ารายนี้บางคน ยังมีชีวิตอยู่ นี่ทำให้หญิงสาวมีความหวัง และเชื่อว่าลูกของเธอ ยังหายใจ และเติบโตอยู่ในที่สักแห่งของโลกใบนี้
ดังนั้นเมื่อว่างจากการทำงาน หญิงสาวจะออกตามหาลูกเสมอ ขณะที่อีกภารกิจหนึ่ง เธอตัดสินใจยื่นฟ้องต่อกรมตำรวจ เรียกร้องค่าเสียหายที่คนถือกฎหมายกระทำกับเธออย่างโหดเหี้ยม
โดยเรียกวงเงินสูงถึง 5 แสนเหรียญด้วยกัน
4.
เดิมนั้น คริสตีนแจ้งแก่ศาลให้ตรวจสอบเรื่องอยุติธรรมนี้ แต่มีการโยนไปให้คณะกรรมการตำรวจพิจารณาแทน แน่นอนว่าด้วยความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐอาชีพเดียวกัน ผู้กองโจนส์จึงโดนโทษจิ๊บจ๊อยแค่ตักเตือนเท่านั้น
การปกป้องพวกเดียวกันเองจากความผิดขั้นร้ายแรงนี้ ทำให้องค์กรสตรีซึ่งเรียกร้องสิทธิผู้หญิงของอเมริกา และบาทหลวงที่เห็นความเน่าเฟะของตำรวจเมืองนี้ พร้อมกับผู้เสียหายแพะรายอื่นๆ รวมถึงสื่อ ได้รวมตัวกัน เรียกร้องความยุติธรรมให้กับคริสตีน
แรงกดดันนี้ นำไปสู่การฟ้องร้องผู้บังคับบัญชาระดับสูง จนต้องสั่งพักงานโจนส์อีกครั้ง แต่ช้าไปแล้ว มันไม่อาจหยุดประกายไฟที่ลามทุ่งได้ ร้อนไปถึงนายกเทศมนตรีเมือง ต้องสั่งปลดอธิบดีกรมตำรวจ กวาดล้างเจ้าหน้าที่เลว ลดอำนาจ เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลตำรวจ ถือเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานกันยกใหญ่
จากนั้นจึงมีการนัดหมายเจรจากับคริสตีน เพื่อลดหย่อนเงินค่าเสียหาย ให้เหลือแค่ 5 หมื่นจะได้ไหม
เมื่อนักการเมืองสั่ง หน่วยงานก็ทำตาม หญิงสาวยอมรับจำนวนเงิน แต่ดูเหมือนตำรวจเมืองนี้ยังคงเจ้าเล่ห์ พอได้คืบแล้วก็จะเอาศอก เกิดการโยกโย้ ไม่ยอมชดใช้ โดยอ้างว่าคนที่ต้องจ่ายเงิน ไม่น่าใช่กรมตำรวจ แต่น่าจะเป็นผู้กองโจนส์มากกว่า เพราะถือเป็นผู้กระทำผิดในเรื่องนี้โดยตรง
แน่นอนทางตำรวจหนุ่มอ้างว่า ไม่มี (เงิน) ไม่หนี (ไปไหน) และ (กู) ไม่จ่ายโว้ย
นี่เองทำให้คริสตีนและแนวร่วม ระดมพลังกันแน่นกว่าเดิม ยื่นฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อทุกศาล เป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์ มันยิ่งสร้างความเละเทะให้กับตำรวจเข้าไปอีก
หญิงสาวยืนยันว่าเธอต้องได้เงินค่าเสียหายจากเหตุการณ์นี้ ซึ่งทางผู้กองโจนส์ยังดื้อแพ่งไม่จ่าย แต่พยายามต่อรองขอลดค่าเสียหาย
โดยในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1934 เขาขอจ่ายแค่ 500 เหรียญ ถือเป็นตัวเลขที่น้อยมาก หากเทียบกับ 5 แสนในตอนแรก การเจรจาต่อรองโยกโย้กันไปมา แม้ศาลจะสั่งให้ต้องจ่าย แต่โจนส์ก็ยังยื้อไปเรื่อยๆ ไม่ยอมชดใช้อะไรเลย โดยใช้เทคนิคกฎหมาย อ้างว่าตกลงค่าเสียหายไม่ลงตัว
10 ปีหลังโดนยัดเข้าโรงพยาบาลบ้า คริสตีนยังไม่ได้สักแดง ส่วนโจนส์เพิ่งจะถูกไล่ออกจากกรมตำรวจ หลังมีหลักฐานชัดว่ารับเงินแก๊งอาชญากร แต่เขาก็มีเงินมหาศาล พาเมียไปเที่ยวต่างประเทศได้ แต่แค่ชดใช้หญิงสาว อีกฝ่ายกลับไม่ทำ
สื่อเกาะติดเรื่องนี้อย่างคึกคัก ตามกันมายาวนาน ทางนายโจนส์บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาทั้งหมดนี้ “เหมือนผมติดคุกทั้งเป็นเลย”
ทางนักข่าวที่ได้ฟัง ก็เลยย้อนไปแบบแสบๆ คันๆ ว่า “มันเหมือนอยู่ในโรงพยาบาลบ้าไหมครับ”
ในที่สุด วันที่ 28 มกราคม 1941 หรือ 13 ปี หลังลูกหายตัว และคริสตีนโดนยัดเข้าโรงพยาบาลบ้า ศาลตัดสินให้โจนส์ต้องชดใช้ค่าเสียหายรวมดอกเบี้ย เป็นเงิน 1.5 หมื่นเหรียญ
แต่โจนส์ยังคงดื้อแพ่ง กูไม่จ่ายดังเดิม
ปี 1951 อดีตผู้กองจอมฉ้อฉลตาย โดยไม่เคยควักกระเป๋าตัวเองชดใช้คริสตีนแม้แต่น้อย กระนั้นชื่อเสียงของเขาก็เต็มไปด้วยความเน่าเฟะ เป็นความอับอายให้กับกรมตำรวจ จนถึงปัจจุบัน
ส่วนคริสตีน เธอผ่านช่วงเวลาเศรษฐกิจตกต่ำ สงครามโลกครั้งที่ 2 ภัยคอมมิวนิสต์ หญิงสาวไม่เคยแต่งงานใหม่ ไม่เคยมีลูก และหากว่างจากการฟ้องร้องกับตำรวจ เธอจะออกตามหาลูกเสมอ ด้วยความหวังและความฝันว่าจะได้พบกับวอลเตอร์ ลูกชายอีกครั้ง และทั้ง 2 จะได้อยู่ด้วยกันตลอดไป
อย่างไรก็ดีความตั้งใจนี้ ไม่เป็นความจริง ในปี 1964 คริสตีนเสียชีวิตลง โดยไม่ได้พบหน้าบุตรสุดที่รักอีกเลย และที่สำคัญ หญิงสาวตายจากโลกใบนี้ไป
“โดยที่ตำรวจไม่เคยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เธอ แม้แต่เหรียญเดียวด้วย”
อ้างอิงจาก