ไปอ่านรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 กันหน่อยไหมครับ
มาตรา 27 เขียนไว้ว่า
บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน
การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมหรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้
คำถามที่เกิดขึ้นกับ ‘ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต’ หรือ Civil Partnership Bill ที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 รวมทั้งหมด 70 มาตรา, ก็คือ
ถ้าดูตามรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า – ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันและไม่สามารถ เลือกปฏิบัติได้ ก็แล้วทำไมเวลาที่ ‘ผู้หญิง’ จะแต่งงานกับ ‘ผู้หญิง’ (หรือ ‘ผู้ชาย’ จะแต่งงานกับ ‘ผู้ชาย’) ถึงต้องถูกเลือกปฏิบัติ ถูกบีบบังคับว่าต้องให้ไปใช้ ‘กฎหมายอื่น’ ที่ระบุว่าคนสองคนนั้นเป็นได้แค่ ‘คู่ชีวิต’ ไม่ใช่ ‘คู่สมรส’ (ซึ่งมีสิทธิแตกต่างลดหลั่นจากการแต่งงานระหว่าง ‘ผู้หญิง’ กับ ‘ผู้ชาย’ หลายเรื่อง)
เข้าใจว่า เจตนารมณ์ของการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เป็นไปเพื่อจะสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นกับคนรักเพศเดียวกัน เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นเมื่อมีคู่รักที่เป็นชายกับชาย เดินทางไปจดทะเบียนสมรสกัน แต่ถูกปฏิเสธ ทำให้ทั้งคู่ไปร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โดยบอกว่า การที่พวกเขาไม่สามารถจดทะเบียนกันได้ (เหมือนที่ชายกับหญิงจดกันได้) นั้น, เป็นเรื่องที่ ‘ละเมิดสิทธิ’ ตามรัฐธรรมนูญ (ซึ่งในขณะนั้นคือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550) ที่เขียนเอาไว้ตามหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนสากล และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็ยังยืนยันหลักการเหมือนเดิม
กฎหมายว่าด้วยการสมรสของคนรักเพศเดียวกัน (หรือเพศอื่นๆ) สะดุดลงไปช่วงหนึ่งเพราะผลพวงจากรัฐประหารปี 2557 แต่ในตอนหลังมีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ จนออกมาเป็นร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้
นักกฎหมายและนักวิชาการหลายคนวิจารณ์ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้สร้างความเสมอภาคที่แท้จริงและเท่าเทียมกับ ‘การสมรส’ (ที่ยังถูก ‘สงวน’ เอาไว้แค่สำหรับชายและหญิงเท่านั้น) ถ้าพูดให้ถึงที่สุด กฎหมายฉบับนี้มีอาการ ‘เหยียด’ คนรักเพศเดียวกันในทางปฏิบัติด้วยซ้ำ เพราะอย่างมากที่สุดที่กฎหมายนี้จะมอบให้ได้ (ในนามของสังคมไทยและรัฐไทย) ก็คือคนสองคนนั้นเป็นได้แค่ ‘คู่ชีวิต’ ที่ปราศจากสิทธิทัดเทียมกับ ‘คู่สมรส’ ในหลายเรื่อง เช่น สิทธิในการตัดสินใจเรื่องการรักษาพยาบาล การจัดการศพ สิทธิในการรับบุตรบุญธรรม การอุ้มบุญ การปกครองบุตรร่วมกัน รวมไปถึงผลประโยช์และสวัสดิการ หรือแม้กระทั่งสิทธิทางภาษี และอื่นๆ ซึ่งแตกต่างไปจาก ‘คู่สมรส’ ชายหญิง ที่รัฐไทยประกาศรับรองความรักและการใช้ชีวิตเอาไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการสมรส
เพราะฉะนั้น ถ้ากฎหมายนี้ออกมา ก็จะทำให้เกิดคำถามตามมาว่า นี่จะเป็นกฎหมายที่ ‘ขัด’ ต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 หรือเปล่า เพราะการแยกใช้กฎหมายต่างหากจากกฎหมายการสมรส อาจเข้าข่ายการ ‘เลือกปฏิบัติ’ ได้
ถ้าเราลองเทียบเคียงเรื่องนี้กับการเหยียดสีผิว ก็น่าจะเทียบเคียงได้กับกฎหมายเกี่ยวกับ Racial Segregation หรือการแบ่งแยกสีผิว ว่าคนดำกับคนขาวต้องใช้สถานที่ต่างๆ แยกจากกัน เช่น การกินอาหารในร้านอาหาร การดื่มน้ำจากน้ำพุ การเข้าโรงหนัง การโดยสารรถเมล์ ฯลฯ เพียงแต่ในกรณีนี้คือการ ‘แยก’ (Segregate) คนที่มีเพศสภาวะต่างกัน ให้ต้องไปใช้กฎหมายคนละฉบับในอันที่จะทำสิ่งเดียวกัน (คืออยู่กิน) เท่านั้น
เอาเข้าจริง การจดทะเบียนเป็น ‘คู่ชีวิต’ นั้น แทบไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติต่อหน้าสายตาของกฎหมายอะไรเลย นอกจากการประกาศว่าคนสองคนนั้นได้ลงลายมือชื่อประกาศความผูกมัดกันเอาไว้เท่านั้น สิ่งที่ได้มาเป็นแค่กระดาษใบเดียวที่เอาไปทำอะไรต่อได้น้อยมาก แต่ถ้าเป็นการ ‘สมรส’ ของชายกับหญิง เราจะเห็นได้ว่าการผูกมัดที่ว่า มีการรองรับทั้งทางกฎหมาย ทางสังคม ทางการเงิน ทางสุขภาวะ และกระทั่งทางศาสนา จึงเป็นเหมือนการที่สังคมยื่นมือเข้ามาช่วยโอบอุ้มคนสองคนให้อยู่ร่วมกันได้ยาวนาน (แต่ในหลายกรณีก็เป็นเหมือน ‘กรง’ ขังคนสองคนเอาไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะไม่พูดถึงในที่นี้)
ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน หรือ Same-Sex Marriage เราจะพบว่าหลายประเทศก็ไม่ยินยอมให้คนได้ ‘สมรส’ กันแบบเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะในประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์ เพราะคำว่า Marriage ถือว่ามีนัยศักดิ์สิทธิ์ เกิดขึ้นโดยมีพระเจ้าเข้ามาข้องเกี่ยว เมื่อคนรักเพศเดียวกันอยากจะอยู่ร่วมกัน ก็เลยออกมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า Civil Union
แล้ว Marriage กับ Civil Union มีอะไรต่างกันบ้าง?
คำว่า Marriage นั้น มีนัยที่เป็นสถานภาพทางกฎหมาย เมื่อมีการสมรสตามกฎหมายแล้ว ‘รัฐ’ จะมอบสิทธิ ข้อบังคับ และการปกป้องคุ้มครองต่างๆ ให้กับคู่สมรสนั้น เช่น ผลประโยชน์ทางภาษี สามารถยื่นภาษีร่วมกันได้, ผลประโยชน์ด้านสุขภาพ เช่น มีสิทธิในการตัดสินใจแทนคู่สมรสได้ เช่นว่าจะผ่าตัดไม่ผ่าตัด ในกรณีที่คู่สมรสไม่มีความสามารถที่จะตัดสินใจได้ หรือในบางประเทศก็ไปไกลถึงขั้นสามารถตัดสินใจทำการุณยฆาตได้ด้วย ไม่นับรวมสิทธิในการเข้าเยี่ยมผู้ป่วยที่ไม่จำกัด ฯลฯ รวมไปถึงสิทธิในเรื่องของการจัดการมรดกตกทอด สินสมรส และการจัดการผลประโยชน์ต่างๆ
แต่ใน Civil Union เราจะพบว่าไม่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษี คือรัฐยอมแค่ให้อยู่ด้วยกัน แต่ไม่ยอมรับว่าเป็น entity เดียวกันที่จะสามารถยื่นภาษีร่วมกันได้ ไม่สามารถตัดสินใจแทนกันในเรื่องการรักษาพยาบาลได้ รวมไปถึงเรื่องมรดกตกทอดทั้งหลายก็ทำไม่ได้ด้วย
จะเห็นว่า ‘พระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต’ นั้น เข้าข่ายอยู่ในระดับของ Civil Union (ซึ่งก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศด้วย) เอาเข้าจริง จะเป็น Civil Union หรือไม่ ไม่ได้ปัญหาอะไรเลยนะครับ ถ้าหากว่าเราจะไม่ได้มี ‘รัฐธรรมนูญ’ อันเป็นกฎหมายสูงสุด เขียนค้ำคอเอาไว้อย่างท่ีเกริ่นมาข้างต้น
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ดังนั้น กฎหมายใดๆ ก็ตามที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญจึงไม่มีผลอะไร ในเรื่องนี้ อยากชวนไปดูตัวอย่างในประเทศเพื่อนบ้านของเราประเทศหนึ่ง นั่นคือไต้หวัน
กรณีที่เกิดขึ้นกับไต้หวันน่าจะคลับคล้ายกรณีที่เกิดข้ึนในไทย นั่นคือกฎหมายเกี่ยวกับการสมรสของคนรักเพศเดียวกันนั้นมัน ‘ขัด’ ต่อรัฐธรรมนูญ เพียงแต่กฎหมายเดิมของไต้หวันนั้น ‘ห้าม’ คนเพศเดียวกันสมรสกัน แต่เมื่อปีที่แล้ว ศาลฎีกาไต้หวันวินิจฉัยว่า กฎหมายที่ห้ามคนเพศเดียวกันสมรสกันนั้น เป็นเรื่องที่ ‘ขัดรัฐธรรมนูญ’ และ ‘ละเมิดสิทธิ’ ในความ ‘เสมอภาค’ ของพลเมือง โดยคำวินิจฉัยบอกว่า
“Sexual orientation is an immutable characteristic that is resistant to change. The freedom of marriage for two persons of the same sex, once legally recognised, will constitute the collective basis, together with opposite-sex marriage, for a stable society.”
คำวินิจฉัยนี้มีผลให้ไต้หวันต้องออกกฎหมาย Same-Sex Marriage ภายในสองปี กฎหมายมีกำหนดคลอดในปีหน้า แต่แน่นอน คนที่ไม่เห็นพ้องย่อมสามารถคัดค้านได้ตามระบอบประชาธิปไตย ตอนนี้จึงมีคนรวมกลุ่มกันเสนอให้ทำประชามติว่าไต้หวันจะเอาหรือไม่เอากฎหมายนี้ นั่นแปลว่าถนนไปสู่ Same-Sex Marriage ในไต้หวันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
ปัญหาของกฎหมายเกี่ยวกับการสมรสในไทย อยู่ที่ความโบราณของวิธีคิดทางกฎหมาย เพราะเราแข็งตัวอยู่กับแนวคิด ‘คู่ตรงข้าม’ (binary opposition หรือ binarism) ในเรื่องเพศ
คือเห็นว่ามนุษย์มีแค่สองเพศ คือชายกับหญิง และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ระบุว่าการสมรสเป็นเรื่องของผู้ชายกับผู้หญิง ดังนั้น ผู้ชายกับผู้ชาย หรือผู้หญิงกับผู้หญิง จึงสมรสกันไม่ได้
ความคิดที่แข็งตัวอยู่กับสองเพศ เป็นเนื้อนาบุญที่ทำให้ ‘อคติ’ หลายเรื่องสามารถฝังตัวอยู่ได้โดยไม่มีใครเห็นว่าแปลก แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราจะแก้ไขอคติพวกนี้ไม่ได้ อคติอย่างหนึ่งที่มีการแก้ไขกันไปเมื่อหลายปีก่อน ก็คือพระราชบัญญัติชื่อบุคคล ซึ่งแต่เดิม เวลาแต่งงาน ผู้หญิงต้องใช้นามสกุลของสามี แต่เรื่องนี้ถูกมองว่าเป็นการไม่เสมอภาคกันทางกฎหมาย ด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศและสถานะของบุคคลอันเป็นเรื่องที่ ‘ขัดต่อรัฐธรรมนูญ’ ดังนั้น กฎหมายนี้จึงใช้ไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข
กฎหมายว่าด้วยการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันก็เช่นกัน ถ้ามันขัดรัฐธรรมนูญเพราะถือเป็นการ ไม่เสมอภาคกันทางกฎหมาย ด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศและสถานะของบุคคล(เช่นถ้ามีเพศสภาวะแบบนี้ ต้องไปใช้กฎหมายนี้ ถ้ามีเพศสภาวะอีกแบบ ต้องไปใช้กฎหมายอีกฉบับหนึ่ง และเป็นกฎหมายที่ให้สิทธิแตกต่างกัน) ก็ไม่น่าจะเป็นกฎหมายที่ใช้การได้
อีกประเด็นหนึ่งที่คนถกเถียงกันมาก โดยเฉพาะฝ่ายอนุรักษ์นิยมในอเมริกา ก็คือการสมรสนั้นเป็น ‘สิทธิ’ (Rights) หรือเปล่า หรือว่าเป็นสิ่งที่สังคมมอบให้ในฐานะ ‘อภิสิทธิ์’ (Privilege) อย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าหากว่ามันเป็นสิทธิพื้นฐาน ก็แปลว่าไม่ว่าจะมีเพศสภาวะแบบไหน จะต้องได้รับสิทธิ์นี้เท่าเทียมกัน แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมแย้งว่า การสมรสเป็นอภิสิทธิ์ มอบให้เฉพาะกับคู่รักที่สามารถ ‘ผลิต’ ทรัพยากรบุคคลให้กับสังคมได้ แต่คู่รักที่เป็นเพศเดียวกันไม่มีความสามารถที่จะสร้างทรัพยากรบุคคลให้สังคม จึงไม่สมควรได้รับ ‘อภิสิทธิ์’ นี้ ดังนั้น การที่คนรักเพศเดียวกันได้รับสิทธิแค่ Civil Union (หรือในกรณีของไทย คือ ‘พรบ. คู่ชีวิต’) จึงเป็นเรื่องที่สมควรแล้ว
ข้อถกเถียงนี้ค่อนข้างเก่า เพราะเถียงกันมาราวๆ สิบปีแล้ว แม้จะไม่ได้มีใครมาตัดสินชี้ขาด แต่โดยส่วนใหญ่คนก็เห็นว่าการแต่งงานควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ยิ่งถ้าพิจารณาว่าหญิงชายแต่งงานกันได้เพราะผลิตทรัพยากรบุคคลได้ ก็อาจแปลว่าคนที่เป็นหมันแต่กำเนิด เป็นโรค หรือเกิดอุบัติเหตุต่างๆ จนไม่สามารถมีลูกได้ (เช่นต้องตัดมดลูกทิ้ง) ย่อมต้องไม่สามารถสมรสได้ตามกฎหมายด้วย การถกเถียงแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายมองว่าไม่ค่อยเป็นสาระสักเท่าไหร่ที่รัฐจะต้องเอื้อมมือเข้าไปก้าวก่ายในความรักของผู้คนด้วยการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้พวกเขาสมรสหรือไม่สมรสกัน
เมื่อได้เห็นกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนคู่ชีวิต ผมจึงอยากตั้งข้อสังเกตเอาไว้ตรงนี้เสียก่อนว่า เป็นไปได้ไหมว่า ‘ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต’ ซึ่งเป็นร่างที่สาม (และจำกัดสิทธิมากขึ้นเรื่อยๆ นับจากร่างแรก) จะกลายเป็นกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
และถ้ามันขัดรัฐธรรมนูญ – เราจะทำอย่างไรกับเวลาและพลังงานที่สูญเสียไปกับการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้
เราคงไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาแค่เพื่อให้ต่างชาติยอมรับ หรือเพื่อให้ได้ป่าวประกาศว่า – นี่ไง, ฉันก็มีรัฐธรรมนูญที่เป็นสากลเหมือนกัน – เท่านั้นหรอกใช่ไหมครับ