เมื่อเดือนที่ผ่านมา คนรู้จักของผมคนหนึ่งเพิ่งไปรับบริการยุติการตั้งครรภ์
เปล่าเลยครับ เธอไม่ใช่หญิงสาววัยรุ่น แต่เป็นคุณแม่ลูกสามวัยกลางคนที่ทุกการท้องที่ผ่านมาจะมีอาการแพ้อย่างหนักจนลุกไปทำงานไม่ไหว คราวนี้เธอตั้งท้องโดยไม่ตั้งใจในช่วงเวลาที่ไม่พร้อมอย่างยิ่งที่จะให้กำเนิดสมาชิกครอบครัวใหม่ ในเมื่อเธอมีหลายปากท้องที่ต้องเลี้ยงจึงไม่ใช่เวลาที่จะเสียการงานในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้
เธอนับว่าโชคดีสองต่อ โชคชั้นแรกคือไทยเพิ่งบังคับใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ 28 เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาซึ่งเปิดทางให้การยุติการตั้งครรภ์ที่อายุต่ำกว่า 12 สัปดาห์ไม่ผิดกฎหมาย โชคชั้นที่สองคืออาการแพ้ท้องอย่างรุนแรงทำให้เธอรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ไม่ถึงหกสัปดาห์
หลังจากสอบถามข้อมูลต่างๆ จากเครือข่ายอาสาเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยซึ่งยังเปิดให้บริการแม้จะมีโควิด-19 ระบาด เธอเตรียมเงินไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาทเพื่อเข้ารับบริการ เมื่อวันนั้นมาถึง เธอไปติดต่อแผนกวางแผนครอบครัว พนักงานทุกคนยิ้มแย้ม ทุกอย่างราบรื่นปลอดภัย กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาราวสี่ชั่วโมง หลังจากพักผ่อนสองถึงสามวัน เธอก็สามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ
คำว่า ‘ท้องไม่พร้อม’ จึงไม่ได้จำกัดอยู่กับภาพจำของหญิงสาววัยรุ่นที่พลาดพลั้งตั้งครรภ์ แต่ยังกินความถึงคนรักหรือคู่สามีภรรยาที่แม้จะแต่งงานอยู่กินกันตามกฎหมายแต่ไม่พร้อมที่จะต้อนรับสมาชิกใหม่ในครอบครัว ในฐานะพ่อของเด็กน้อยอายุขวบครึ่ง ผมพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าการเป็นพ่อแม่นั้นเหนื่อยหนักและเต็มไปด้วยค่าใช้จ่าย ผมจึงไม่แปลกใจเลยกับการตัดสินใจของเธอในการยุติการตั้งครรภ์
เรามักชินกับการมองประโยชน์ของการยุติการตั้งครรภ์ในมิติความปลอดภัยที่ไม่ต้องไปเสี่ยงกับคลินิกทำแท้งเถื่อนซึ่งอาจไม่ได้มาตรฐาน หรือมิติด้านสิทธิของผู้หญิงในการตัดสินใจในชีวิตของตนเอง แต่หากถอยออกมามองภาพใหญ่ เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ากฎหมายดังกล่าวยังมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อคุณภาพชีวิตของผู้หญิงและประชากรรุ่นถัดไป
ทุนมนุษย์กับการยุติการตั้งครรภ์
มีงานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการที่กฎหมายไม่เอาผิดผู้หญิงที่ยุติการตั้งครรภ์ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีจุดเปลี่ยนสำคัญในปี พ.ศ.2516 ก่อนหน้านั้นมีเพียงห้ารัฐที่อนุญาตให้ผู้หญิงยุติการตั้งครรภ์โดยไม่ผิดกฎหมาย กลายเป็นสนามทดลองตามธรรมชาติที่สามารถเปรียบเทียบตัวแปรได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นโดยงานวิจัยส่วนใหญ่ในแวดวงเศรษฐศาสตร์จะเน้นไปที่มิติด้านการศึกษา การทำงาน และผลสัมฤทธิ์ของลูกๆ
ในด้านการศึกษา นับตั้งแต่การยุติการตั้งครรภ์ถูกกฎหมายเป็นเวลาสามปี นักวิจัยพบว่าจำนวนของวัยรุ่นที่คลอดบุตรลดลงราว 5 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มผู้หญิงผิวขาวและ 10 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มผู้หญิงผิวสี การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมส่งผลให้จำนวนปีที่ผู้หญิงจะยังอยู่ในรั้วโรงเรียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการคลอดบุตรในวัยเรียนจะเป็นการเพิ่มโอกาสเรียนไม่จบมัธยมปลายสูงขึ้นราว 16-35 เปอร์เซ็นต์และลดโอกาสเรียนต่อมหาวิทยาลัยถึง 52 เปอร์เซ็นต์
ในด้านการทำงานพบว่าการที่ผู้หญิงที่สามารถเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ได้ง่ายจะเพิ่มโอกาสให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงผิวสี อีกทั้งเพิ่มจำนวนผู้หญิงที่ทำงานมากกว่า 40 สัปดาห์ต่อหนึ่งปี อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างรายได้ในช่วงก่อนและหลังการยุติการตั้งครรภ์โดยไม่ผิดกฎหมาย
การศึกษาชิ้นหนึ่งวิเคราะห์ประชากรเฉพาะผู้หญิงผิวสีโดยพบว่านับตั้งแต่มีการแก้ไขกฎหมาย จำนวนการเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้หญิงผิวสีเพิ่มขึ้นเกือบ 6 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นว่าการมีลูกในขณะที่ผู้หญิงไม่พร้อมนั้นส่งผลกระทบต่อทั้งชีวิตของเธอมากเพียงใด สอดคล้องกับการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งระบุว่าคุณแม่ผิวสีวัยใสจะมีแนวโน้มเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตน้อยลงราว 47–58 เปอร์เซ็นต์
หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่ากฎหมายดังกล่าวจะส่งผลไปถึงประชากรรุ่นถัดไป
การศึกษาพบว่าในยุคที่กฎหมายอนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์ เด็กๆ ที่เกิดในครอบครัวที่ยากจนและต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากรัฐนั้นมีสัดส่วนน้อยลง เพราะจำนวนพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวมีน้อยลงนั่นเอง เด็กกลุ่มนี้ยังมีการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น มีโอกาสมากขึ้นที่จะเรียนจบระดับมหาวิทยาลัย และมีแนวโน้มน้อยกว่าที่จะกลายเป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือต้องรับความช่วยเหลือจากรัฐเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน
คงไม่ผิดนักหากจะสรุปว่ากฎหมายที่เอื้อให้ผู้หญิงตัดสินใจด้วยตนเองว่าพร้อมจะเป็นแม่หรือไม่นั้น เปิดทางให้เธอสามารถเลือกที่จะเรียนต่อและทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ อีกทั้งยังสามารถตัดสินใจว่าเมื่อไหร่จึงจะพร้อมทั้งในด้านการเงินและเวลา เพื่อต้อนรับสมาชิกตัวน้อยๆ เข้ามาในครอบครัวซึ่งไม่ต่างจากการยกระดับคุณภาพประชากรรุ่นถัดไปในทางอ้อม
เกิดอะไรเมื่อถูกบังคับให้เป็น ‘คุณแม่’
แม้ว่ากฎหมายฉบับใหม่จะเปิดทางให้สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ แต่ก็มีเงื่อนไขสำคัญคืออายุครรภ์ต้องไม่เกิน 12 สัปดาห์ หากเกินกว่านั้นแต่ไม่ถึง 20 สัปดาห์ ผู้หญิงจะต้องผ่านกระบวนการรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้เชี่ยวชาญตามเกณฑ์และวิธีที่ประกาศโดยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นั่นหมายความว่าผู้หญิงที่รู้ตัวช้าว่าตั้งครรภ์หรือใช้เวลาในการตัดสินใจเนิ่นนานก็อาจเสียโอกาสที่จะยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย และถูกบังคับให้เป็น ‘คุณแม่’ โดยไม่มีทางเลือก
ในสหรัฐอเมริกามีรายงานฉบับหนึ่งชื่อว่า “การศึกษาว่าด้วยกลุ่มผู้ที่ถูกปฏิเสธ” (The Turnaway Study) ซึ่งติดตามผลกระทบจากการที่ผู้หญิงถูกปฏิเสธไม่ให้ยุติการตั้งครรภ์เนื่องจากอายุครรภ์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งบทสรุปก็น่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนคาดเดาได้ว่าผู้หญิงเหล่านั้นต้องเผชิญกับความยากลำบากและความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างยิ่ง โดยมีแนวโน้มว่าจะมีรายได้ในครัวเรือนต่ำกว่าเส้นความยากจนถึงสี่เท่าและมีโอกาสว่างงานมากกว่าถึงสามเท่า ส่วนใหญ่จึงต้องดำรงชีพโดยไม่มีเงินเพียงพอที่จะใช้จ่ายสิ่งจำเป็นในครัวเรือน และต้องกู้ยืมเงินเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเธอยังต้องติดต่อผู้เป็นพ่อแม้ว่าเข้าจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงอย่างไม่มีทางเลือก
แต่ที่ย่ำแย่ไปกว่านั้นคือ ผู้หญิงที่ถูกบังคับให้เป็นแม่ทั้งที่ตนไม่พร้อมไม่อาจเชื่อมสัมพันธ์กับลูกน้อยได้อย่างสนิทใจ พวกเธอรู้สึกว่าต้องแบกความรับผิดชอบที่ตนไม่ต้องการ
บ้างก็รู้สึกโกรธแค้นลูกที่เกิดมา และเฝ้าฝันหาวันเวลาที่ลูกยังไม่ถือกำเนิด
ผู้อ่านคงจินตนาการออกว่าเด็กๆ ที่เกิดมาในครอบครัวที่บกพร่องทั้งด้านเงินทองและความอบอุ่นจะเติบโตมาเป็นประชากรเช่นไรในสังคม น่าแปลกใจที่ผู้ใหญ่ในสังคมหลายคนเลือกที่จะเบือนหน้าหนีปัญหา พร้อมสวมหน้ากากผู้มีจริยธรรมอันสูงส่งเพื่อปกป้องชีวิตน้อยๆ ‘ผู้ไม่มีความผิด’ รู้สึกอิ่มสุขที่ได้ทำหน้าที่ของผู้ธำรงศีลธรรมโดยไม่มองผลกระทบต่อผู้หญิงและเด็กในระยะยาว
แม้การแก้กฎหมายของไทยจะเป็นก้าวสำคัญในการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงยุติการตั้งครรภ์ แต่กลับสร้างเงื่อนไขที่ยุ่งยากหลังจากอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์โดยให้เหตุผลที่คลุมเครือเช่นอ้างถึงหลักศาสนา ทั้งที่ความจริงแล้วการยุติการตั้งครรภ์สามารถทำได้อย่างปลอดภัยถึง 24 สัปดาห์ซึ่งเป็นเกณฑ์ทั่วไปของหลายประเทศในสหภาพยุโรป
อย่างไรก็ดี การแก้กฎหมายขยายอายุครรภ์ในการยุติการตั้งครรภ์คงไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ รัฐจึงมีหน้าที่บรรเทาความผิดพลาดของตนเองโดยจัดหาสวัสดิการเพื่อให้มั่นใจว่าผู้หญิงสามารถเข้าถึงบริการหรือผลิตภัณฑ์ตรวจการตั้งครรภ์ได้ในราคาประหยัด รวมถึงดูแลผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมแต่ถูกปฏิเสธการยุติตั้งครรภ์เป็นกรณีพิเศษ เพราะนี่คือผลผลิตของกฎหมายที่ขาดความเข้าอกเข้าใจ รัฐจึงไม่ควรผลักภาระความรับผิดชอบให้เป็นของประชาชน
ส่วนเหล่าตำรวจศีลธรรมที่คิดเองเออเองว่าการยุติการตั้งครรภ์โดยถูกกฎหมายจะทำให้คนไทยมีเซ็กซ์โดยไม่ป้องกัน ผมอยากให้ลองหาเวลานั่งคุยกับผู้หญิงที่เคยทำแท้งดูครับ คุณจะตระหนักได้ว่าการยุติการตั้งครรภ์ไม่ใช่เรื่องสนุก เพราะผู้หญิงต้องแบกรับทั้งค่าใช้จ่ายในรูปเงินตรา ร่างกาย และอารมณ์ความรู้สึก (ส่วนใครที่ต้องการหลักฐานเชิงประจักษ์ลองอ่านการศึกษาชิ้นนี้ดูครับ)
ไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากที่จะท้องไม่พร้อม ไม่มีผู้หญิงคนไหนตั้งเป้าหมายในชีวิตว่าเกิดมาอยากจะมีประสบการณ์ยุติการตั้งครรภ์สักครั้ง แต่มันคือความจำเป็นที่รัฐควรอำนวยความสะดวกเพื่อผู้หญิง คนรุ่นหลัง และสังคมโดยรวม
อ่านเพิ่มเติม
The Economic Effects of Abortion Access: A Review of the Evidence
Illustration by Punyaporn Rurkjaree