“This content is not available in your region.”
เคยเจอข้อความนี้กันไหมครับ?
มันเป็นข้อความที่มักจะขึ้นมาหากคุณพยายามจะดูวิดีโออะไรที่คุณ ‘ไม่ควรดู’ หรือ ‘เขาไม่อนุญาตให้ดู’ ในพื้นที่ของคุณ
มันเป็นข้อความที่มักจะขึ้นมา ถึงแม้คุณจะจ่ายเงินค่าบริการไปแล้ว แต่ ‘การบริการ’ นั้น (เช่น Netflix) ถูกออกแบบมาให้คนในแต่ละพื้นที่ได้รับอะไรที่ไม่เท่าเทียมกัน
หรือกระทั่งขึ้นมาในกรณีที่ คุณมีเงิน และคุณพร้อมที่จะจ่ายเพื่อรับบริการนั้นๆ (เช่น อยากดูซีรีส์ถูกลิขสิทธิ์จาก HULU จังเลย! แค่เดือนละไม่กี่ร้อยบาทเอง ฉันจ่ายได้) แต่เขากลับปฏิเสธที่จะให้บริการคุณ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า – เออ คุณไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่เขาจะให้บริการนะ ใช่สิ… ฉันมัน ‘บ้านนอก’ นี่นา!
ถ้าเคยเจอ คุณคงรู้สึกปวดใจเหมือนผม จริงๆ แล้ว ถึงแม้เราจะได้ยินคำกล่าวว่า “อินเทอร์เนตคือโลกไร้พรมแดน” แต่ประโยคที่ว่า “This content is not available in your region.” ก็ยังย้ำเตือนว่าคำว่า “ไร้พรมแดน” นี่มันไม่ไร้พรมแดนจริงๆ หรอก ถ้าไร้พรมแดนจริงๆ ตัวคุณที่อยู่ที่ประเทศไทย กับนายจอห์นที่อยู่ในอเมริกา ต้องได้อ่าน ได้เห็น ได้ดู อะไรที่เท่าๆ กันสิ
Geo-blocking กำแพงดิจิทัล มรดกแห่งความล้าหลัง
การ ‘บล็อกคอนเทนต์ให้ดูตามพื้นที่’ แบบนี้มีคำศัพท์เรียกว่า Geo-blocking ซึ่งก็อย่างที่ทราบแหละครับ, ว่าผู้ให้บริการคอนเทนต์สามารถที่จะตรวจสอบพื้นที่ที่เราใช้บริการได้ด้วยเทคนิคต่างๆ ง่ายที่สุดคือเช็คตาม IP Address เพื่อตรวจดูว่า IP นี้อยู่ใน ‘พื้นที่ที่ควรให้บริการ’ ไหม เพื่อจำกัดการเข้าถึงคอนเทนต์ หรือกระทั่งในบางกรณี อาจใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงคอนเทนต์ให้เหมาะสมตามพื้นที่ด้วย
การ ‘จำกัดการเข้าถึงตาม IP’ นี้ ยังสามารถใช้เพื่อแสดงราคาของสินค้าให้ต่างกันไปตามบริเวณของผู้ใช้ได้ด้วย เช่น สินค้าชนิดเดียวกัน หากใช้อินเทอร์เนตที่ออสเตรเลีย อาจมีราคาแพงกว่าการใช้อินเทอร์เนตที่สหรัฐอเมริกาเข้าเว็บเดียวกันเพื่อซื้อสินค้าแบบเดียวกันเป๊ะ
ทำไมถึงต้องมี Geo-blocking? Geo-blocking เป็นประดิษฐกรรมที่โดยส่วนตัวแล้ว – ผมคิดว่าเป็นมรดกตกทอดมาจากยุคก่อนอินเทอร์เนต ยุคที่สินค้าประเภทคอนเทนต์ยังไม่สามารถแพร่กระจายได้โดยไร้แรงเสียดทาน ยุคที่ยังเต็มไปด้วย ‘ตัวกลาง’ ประเภทยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ที่คอยรับสินค้าจากผู้ผลิตมากระจายให้ผู้บริโภคเป็นทอดๆ
ในยุคนั้น ผู้ผลิตคอนเทนต์ (เช่น HBO) ไม่สามารถที่จะกระจายคอนเทนต์ที่ตนเองผลิตสู่ผู้บริโภคในทุกภูมิภาคได้ด้วยตนเอง จึงต้องอนุญาตให้ผู้ให้บริการในแต่ละประเทศไปจัดการกันเอาเอง โดยที่ HBO ก็จะได้ส่วนแบ่งหรือได้เงินมาก้อนหนึ่ง (แต่ไม่ได้เงินโดยตรงจากผู้เสพคอนเทนต์) โดยผู้ให้บริการแต่ละประเทศก็สามารถตัดสินใจ (โดยการตกลงร่วมกันก่อน) ได้ว่าจะเอาคอนเทนต์นั้นๆ ไปฉายให้ผู้บริโภคดูตอนไหน อย่างไร เช่นภาพยนตร์หรือซีรีส์ เรื่องเดียวกัน อาจมีวัน หรือเวลาที่ฉายแตกต่างกันมากในแต่ละประเทศ
ต่อมา ถึงแม้อินเทอร์เนตจะมีความสามารถในการ ‘ตัดตอน’ ตัวกลางออกไปได้แล้ว แต่สายสัมพันธ์หรือสัญญาเก่าก่อนที่ผู้ผลิตคอนเทนต์กับตัวกลาง (ที่มีประสิทธิภาพลดลง) ก็ยังคงอยู่ ทำให้ยังคงต้องมีสัญญาแบบนี้
นอกจากเหตุผลเรื่อง ‘ตัวกลางที่ไร้ประสิทธิภาพ’ แล้ว Geo-blocking ยังอาจเกิดขึ้นด้วยเหตุผลอื่นๆ เช่น คอนเทนต์นั้นๆ ไม่ถูกกฎหมายในพื้นที่ เช่น คอนเทนต์ที่อาจผิดศีลธรรม หรือขัดต่อความเชื่อของคนในพื้นที่หนึ่งๆ ก็อาจถูกปิดกั้นไม่ให้คนในพื้นที่นั้นชม (แต่ยังสามารถรับชมได้ในที่อื่น)
ในกรณีนี้ ก็อาจถือได้ว่า Geo-blocking เป็นวิธีที่หยาบที่สุดในการจัดการปัญหาเรื่องคอนเทนต์เพราะแค่ใช้วิธีว่า ‘พื้นที่ไหนมีปัญหา ก็ปิดเฉพาะไม่ให้พื้นที่นั้นดู หรือเห็น หรืออ่าน ก็แล้วกัน’ ซึ่งเป็นการดูเบา ‘ความสามารถในการไหลไปมาของข้อมูล’ เหลือเกิน
แล้วการพยายามดูโดยที่เขาไม่ให้ดูนี่ผิดมากไหม ถ้าจ่ายเงิน
ปัจจุบันมีการพยายาม ‘ข้าม’ หรือ ‘มุด’ Geo-blocking ด้วยวิธีการต่างๆ เช่นการใช้เครือข่าย VPN (Virtual Private Network) เพื่อหลอกให้ผู้ให้บริการเข้าใจว่า อ๋อ ไอ้นี่มันอยู่ในพื้นที่ที่ให้บริการได้ (เช่น เราอยู่ในไทย แต่เราใช้โปรแกรมบางอย่าง เพื่อหลอก HULU ว่าเราอยู่ในอเมริกา โดยที่จ่ายเงิน HULU ทุกอย่างตามปกติเหมือนคนอเมริกัน) การทำแบบนี้ก็ตามมาด้วยคำถามว่า ‘มันผิดไหม’
ถ้ามองในฝั่งผู้บริโภค การมุดท่อ หรือการใช้โปรแกรมต่างๆ เพื่อลักลอบเข้าไปดูคอนเทนต์ของพื้นที่อื่น ดู ‘น่าจะไม่ผิด’ เพราะผู้บริโภคคนนั้นๆ จ่ายเงินให้กับผู้ให้บริการตามปกติ (และยังมีค่าใช้ในการใช้โปรแกรมมุดท่อ หรือค่าใช้จ่ายในการใช้บัตรเครดิต virtual ที่เป็นของพื้นที่นั้นๆ) เมื่อผู้ให้บริการได้เงิน ผู้ใช้บริการจ่ายเงิน นี่จึงดูเป็นความผิดที่น้อยกว่าการโหลดไฟล์เถื่อน การโหลดบิตทอร์เรนต์ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ฝั่งผู้ให้บริการอาจถือว่าการกระทำแบบนี้ผิดข้อตกลงการใช้งาน ตัวกลางใหม่ๆ เช่น Netflix ที่ก่อนหน้านี้ไม่เอาจริงเอาจังกับเรื่อง Geo-blocking หรือเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ กับผู้ใช้ที่ใช้ VPN มุดท่อเข้ามาขอรับบริการ ก็ต้องเอาจริงเอาจังมากขึ้นเพื่อผู้ผลิตคอนเทนต์ไม่ยอม เพราะถือว่าแบ่งสรรผลประโยชน์กันไม่ลงตัว และต้องมีมาตรการที่เข้มงวดขึ้น เช่น ตรวจจับว่าหากผู้ใช้ ใช้บริการ VPN ก็อาจระงับการเข้าถึงไปเลย
ถ้าเธอนั้นจะปิด ฉันก็คิดจะเปิด?
มีการศึกษาว่าเมื่อผู้ชมเกิดความหงุดหงิดงุ่นง่านใจที่โดนบล็อกไม่ให้ดูคอนเทนต์บางอย่าง (ทั้งที่พวกเขาพร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อให้ได้ดู) พวกเขาก็อาจเลือกทางที่ผิดกฎหมายไปเลย เช่นโหลดไฟล์ผิดลิขสิทธิ์มาดูแทน นี่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นในออสเตรเลีย ที่คณะกรรมการที่ทำงานเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา บอกว่าระบบในปัจจุบันนั้นไม่สมดุล และให้อำนาจกับผู้ถือสิทธิและประเทศที่ส่งออกทรัพย์สินทางปัญญามากเกินไป และให้อำนาจกับผู้บริโภคและผู้จ่ายภาษีน้อยเกินไป จึงต้องมีการทบทวนกฎหมายเรื่อง Geo-blocking กันใหม่
Karen Chester เจ้าหน้าที่ที่ศึกษาเรื่องนี้บอกว่า “ยิ่งคนหงุดหงิดจากการเข้าถึงคอนเทนต์ไม่ได้เท่าไหร่ คนก็ยิ่งไปหาของผิดลิขสิทธิ์มากเท่านั้น การแก้ปัญหาลิขสิทธิ์ที่ดีที่สุด คือการเปิดให้ทุกคนเข้าถึงได้ และมาตรการจัดการเรื่องราคาของคอนเทนต์ให้เป็นธรรม ไม่ใช่การเพิ่มบทลงโทษ หรือการเฝ้าจับตาเหมือน Big Brother” (ทำไมหน่วยงานที่ทำงานเหมือนกรมทรัพย์สินของเขาก้าวหน้าจังก็ไม่รู้)
ในสหภาพยุโรปก็มีการถกเรื่องนี้อย่างจริงจัง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปมีมติที่สอดคล้องกับ Digital Single Market (คือจะรวมตลาดดิจิทัลให้เป็นผืนเดียวกันทั่วสหภาพ) โดยจะออกข้อกำหนดว่าต่อไปนี้ชาวยุโรปจะต้องได้รับการบริการออนไลน์ที่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในยุโรปก็ตาม
Andrus Ansip กรรมาธิการตลาดดิจิทัลยุโรป บอกว่า “ข้อตกลงที่เราทำร่วมกันนี้จะมีประโยชน์อย่างยิ่งกับชาวยุโรป ใครก็ตามที่สมัครบริการดูซีรีส์ ฟังเพลง หรือรับชมกีฬา จะสามารถเพลิดเพลินไปกับคอนเทนต์แบบเดียวกัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในยุโรป นี่ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากในการทำลายกำแพง เพื่อควบรวมตลาดดิจิทัลให้เป็นผืนเดียว” อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคำทักท้วงจากผู้ถือลิขสิทธิ์ทั่วยุโรปว่ามาตรการเช่นนี้จะทำลายโมเดลธุรกิจของพวกเขา (ก็แน่สิ…)
การปะทะกันระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ พรมแดนที่เห็นได้กับพรมแดนเสมือน
Geo-blocking คือความพยายามในการนำ ‘กำแพงที่มีอยู่บนโลกจริง’ ไปไว้บนโลกเสมือนอย่างบนอินเทอร์เนต กำแพงนี้จะคอยบังคับ กำกับ ให้อินเทอร์เนตกลายเป็นพื้นที่ของแต่ละประเทศและคอยคัดกรองสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมาย (หรือไม่ถูกตามข้อตกลงแต่เดิม) ของแต่ละรัฐออกไป
แต่คำถามก็คือ ในโลกที่อินเทอร์เนตค่อยๆ กร่อนอำนาจบนพื้นที่ทางภูมิศาสตร์แบบดั้งเดิมไปทีละเล็กทีละน้อยนี้ สำนึกแบบโลกาภิวัตน์จะแข็งแรงพอที่จะล้มกำแพงเช่นนี้หรือไม่ และเมื่อเรามีโลกที่ซ้อนทับกับความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ (เช่นการเข้ามาของ Augmented Reality, Virtual Reality หลายโลก หลายเลเยอร์) ถึงแม้จะอยากควบคุมแค่ไหน, รัฐจะสามารถเข้าไปกำกับด้วยวิธีคิดแบบเดิมๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือ
อ้างอิง
กรณีออสเตรเลีย
รายงานจากออสเตรเลีย
http://www.pc.gov.au/inquiries/completed/intellectual-property#report
สหภาพยุโรป