การถกเถียง ทุ่มเถียงเรื่องสื่อเก่า – สื่อใหม่ อยู่ในกระแสความสนใจอีกครั้ง หลังจากที่มีเว็บไซต์ เพจ หรือสำนัก (ต่างๆ) ออนไลน์ตั้งขึ้นมาอย่างอุ่นหนาฝาคั่งในช่วงที่ผ่านมา ที่ครั้งนี้การถกเถียงเรื่องนี้ดูจะรุนแรง หรืออย่างน้อย, ก็ได้รับความสนใจ, มากกว่าทุกๆ ครั้งในประเทศ อาจเป็นเพราะสื่อใหม่เหล่านี้เป็นสื่อใหม่ที่รวบรวมคนทำงานจากสื่อเก่ามาทำ สัญญาณที่ออกมาจึงดูคล้ายกับว่าผู้คนในแวดวงสื่อ (ไม่ว่าจะเป็นข่าว, แมกกาซีน หรือหนังสือ) ‘หมดความเชื่อมั่น’ ในฟอร์แมตเดิม จึงต้องโยกย้ายมาหาหลักใหม่เกาะเพิ่มเพื่อให้อยู่รอด (ทั้งที่แท้จริงแล้ว หากมองว่านี่เป็นการขยายขอบเขตอาชีพของตนเฉยๆ ก็จะไม่น่าตกใจเท่าไรเลย)
โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่นึกชอบคำว่า “สื่อเก่า” นัก เพราะมันเป็นคำที่อาจมีคนเข้าใจผิดว่าเป็นการเหยียดว่าสื่อแบบดั้งเดิมนั้นคร่ำครึ โบราณ หากเป็นภาษาอังกฤษ ผมก็ชอบใช้คำว่า Traditional Media มากกว่า Old Media แต่เมื่อพิมพ์เป็นภาษาไทย คำว่า สื่อดั้งเดิม ก็ดูเยิ่นเย้อ ดังนั้นจึงอนุญาตใช้คำว่า “สื่อเก่า” เพื่อแทนความหมายว่าเป็น “สื่อที่มักจะจับต้องได้ มักถูกนำเสนอในรูปแบบก่อนหน้า เช่นแมกกาซีน หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ” และใช้คำว่า “สื่อใหม่” เพื่อแทน “สื่อที่นำเสนอบนโซเชียลมีเดียหรืออินเทอร์เนต” นะครับ
อย่างที่บอกไปแล้วว่า การถกเถียงว่าสื่อเก่าตาย สื่อใหม่มา หรือสื่อเก่าไม่ตาย สื่อใหม่ก็มา นี้เป็นข้อถกเถียงที่มีมาโดยตลอดตั้งแต่ยุคกำเนิดเว็บไซต์แล้ว เพียงแต่เปลี่ยนคู่ถกเถียงไปเรื่อยๆ เท่านั้น ตั้งแต่ หนังสือตายแล้ว อีบุ๊กกำลังมา (ที่มีบทความในนิวยอร์กไทมส์ตั้งแต่ปี 1992 หรือก่อนหน้านั้นอีก!) สักพักก็กลับมาเป็น หนังสือยังไม่ตาย อีบุ๊กต่างหากที่กำลังเสื่อมความนิยม สลับไปสลับมา หรือ โทรทัศน์ตายแล้ว เพราะยูทูปและเนตฟลิกซ์กำลังมา หรือ แมกกาซีนตายแล้ว บล็อกเกอร์กำลังมา แมกกาซีนยังไม่ตาย พวกเว็บไซต์คอนเทนต์สิเป็นฟองสบู่ ฯลฯ หรืออื่นๆ
ดูเหมือนว่า สื่อเก่าบางส่วนก็จะมองสื่อใหม่ด้วยสายตาไม่เป็นมิตร และสื่อใหม่บางส่วนก็จะมองสื่อเก่าด้วยสายตาที่ว่าพวกเขาโบราณ และไม่ยอมปรับตัวเช่นกัน ในขณะที่ส่วนที่เหลือก็พร้อมยืดหยุ่น ลื่นไหลไปมา ระหว่างสื่อเก่าและใหม่ได้อย่างไม่ขัดเขิน เพราะมองว่ามันเป็นเพียงแค่ ‘รูปแบบการนำเสนอ’ ซึ่งต่างฝ่ายก็ต่างมีข้อดีและข้อจำกัดของตน
ตัวอย่างความเกลียดชังของสื่อเก่าที่มีต่อสื่อใหม่ เช่น ในปี 2014 บนเวทีพูดคุยเรื่องอนาคตของสื่อที่จัดโดยนิตยสาร Vanity Fair, Kara Swisher บรรณาธิการบริหารของเว็บไซต์ Re/Code ก็ระบายความในใจออกมาว่า
“ฉันยังคิดว่าสื่อเก่ายังเกลียดอินเทอร์เนตอยู่ และพวกเขาก็คิดว่าเมื่อไหร่อินเทอร์เนตจะไปให้พ้นๆ เสียที”
ซึ่งทั้ง CEO ของ Buzzfeed และผู้ก่อตั้ง Vice ที่อยู่บนเวทีเดียวกันก็เห็นพ้องกับเธอ
ว่าแต่ เวลาที่เขาถกเถียงกันเรื่อง สื่อเก่า-สื่อใหม่ ข้อถกเถียงนั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ผมคิดว่า น่าจะแบ่งประเด็นได้คร่าวๆ 3-4 ประเด็น คือ
เรื่องเสน่ห์ (Aesthetics)
ข้อสังเกตแรกที่สื่อเก่า หรือผู้นิยมสื่อเก่ามักหยิบยกขึ้นมาคือเรื่องเสน่ห์ เช่น เสน่ห์ของกระดาษ, ความสามารถในการพับ พลิก หยิบ ม้วนของมัน, กลิ่นหอมและเนื้อสัมผัส, ความสามารถในการ ‘วางไว้บนหัวเตียง’ ‘วางไว้ในชั้น’ ‘มองเห็นได้โดยไม่ต้องเปิดหน้าจอ’, สะสมได้, ความที่มันรองรับเลย์เอาท์ได้หลากหลายแบบ มีการ ‘ออกแบบ’ ลำดับเนื้อหาก่อน-หลัง ประสบการณ์ในการเสพหนังสือหรือนิตยสารสักเล่ม คือประสบการณ์ที่ผู้สร้างตั้งใจมอบให้กับผู้อ่าน ตั้งแต่การเลือกสีของปก ความแข็งของมัน การเลือกแบบอักษรและระยะที่เว้นไว้จากขอบ การเรียงลำดับบทและการเว้นหน้า ซึ่งเหล่านี้ ผู้นิยมสื่อเก่ามักบอกว่าสื่อออนไลน์ หรือสื่อใหม่ ‘ให้ไม่ได้’ (หากเป็นการต่อสู้ระหว่างแผ่นไวนิลกับไฟล์เสียง ผู้นิยมสื่อเก่าก็จะหยิบยกคุณภาพ สัมผัส แพคเกจ ขึ้นมา)
สื่อออนไลน์หรือสื่อใหม่นั้นมีลักษณะยืดหยุ่นสำหรับผู้อ่านมากกว่า คุณอาจไม่สามารถกำหนดแบบฟอนต์และสัมผัสได้ หรือกระทั่งหากคุณกำหนดมา คนอ่านก็อาจจะเปลี่ยนแบบฟอนต์ตามใจพวกเขา จอที่ใช้อ่านก็กำหนดไม่ได้นักว่าใหญ่หรือเล็ก ตัวหนังสือที่วางไว้จะจิ๋วเกินไปจนต้องเพ่งไหม หากเขาอ่านเรื่องนี้จากเฟซบุ๊ก คุณก็ไม่สามารถบอกให้คนอ่านดึงความสนใจไว้ที่ตัวบทความได้นานเท่ากับนิตยสาร ประสบการณ์ที่หลอมรวม-ไหลรวม-และในขณะเดียวกันก็แตกกระจายนี้ ทำให้ผู้นิยมสื่อเก่าไม่ชอบเอาเสียเลย เพราะพวกเขารู้สึกว่า ‘ประสบการณ์’ ที่ได้จากสื่อใหม่นั้นไม่สมบูรณ์แบบ
แต่ในขณะเดียว ผู้ยืนฝั่งสื่อใหม่ (หรืออย่างน้อย เห็นข้อดีของมัน) ก็มักยกความสามารถของสื่อใหม่ที่สื่อเก่าไม่อาจทำได้ขึ้นมา เช่น หากเทียบคู่ระหว่างนิตยสารกับเว็บไซต์ เว็บไซต์ก็สามารถใส่เอฟเฟกต์ภาพเคลื่อนไหว เสียง หรือวิดีโอลงไปได้ สามารถทำฟีเจอร์อินเทอร์แรคทีฟกับคนเสพได้ อนุญาตให้คนอ่านคอมเมนต์และได้รับการโต้ตอบทันทีได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สื่อเก่าอาจทำได้ไม่ดีเท่า หรือทำไม่ได้เลย
กระทั่งความสามารถที่สื่อเก่าบอกว่าสื่อใหม่ทำไม่ได้ เช่น การกำหนดฟอนต์หรือเลย์เอาท์ อันที่จริงแล้ว สื่อใหม่ก็สามารถทำได้หากใช้เครื่องมือที่สนับสนุน
ข้อดีบางอย่างของสื่อเก่า ก็กลับเป็นข้อเสียสำหรับผู้เสพบางคน เช่น คนหนึ่งอาจบอกว่าชอบหนังสือตรงที่วางเก็บไว้ในบ้านแล้วสวยดี ขณะที่อีกคนอาจบอกว่า ไม่มีที่เก็บ ซื้อมาก็รก
ทั้งสื่อเก่าและสื่อใหม่ต่างเสนอชุดประสบการณ์ของตน แต่ประสบการณ์ที่สื่อใหม่นำเสนอนั้น สื่อเก่าอาจมองว่าไม่บริสุทธิ์ ไม่สมบูรณ์แบบ (เช่น อ่านอีบุ๊กอยู่ แล้วมีโนติฟิเคชั่นเด้งขึ้นมา – อ่านแมกาซีน แต่ไม่ได้สัมผัสของกระดาษ) เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำรวจในอนาคตว่า กับคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับประสบการณ์ของสื่อใหม่ตั้งแต่อ้อนแต่ออก จะ ‘หวนคำนึง’ ถึงประสบการณ์ที่สื่อเก่ามอบให้ได้ไหม เมื่อเขาไม่ได้มีประสบการณ์ที่เข้มข้นกับหนังสือ แมกาซีน นิตยสาร โทรทัศน์และวิทยุแบบเดิม แต่เติบโตมากับอินเทอร์เนต พวกเขาจะชอบชุดประสบการณ์แบบใดกว่ากันหรือเปล่า
นั่นคือ – ความดีงามที่เรามองเห็นว่าสื่อเก่ามี บางอย่างเกิดจากความคุ้นชินหรือไม่
เรื่องจริยธรรม (Ethics)
อีกหนึ่งความเห็นของสื่อเก่าที่มักมีต่อสื่อใหม่คือ สื่อใหม่มักไม่มี ‘จริยธรรม’ ในการดำเนินงาน เช่น ใช้บทความที่ ‘ก๊อปมา’ หรือ ‘แปลมา’ จากภาษาต่างประเทศ ไม่มีระบบบรรณาธิการ ทำให้ไม่สามารถดูแลเนื้อหาได้อย่างทั่วถึง เสนอเนื้อหาโอนเอียง เลือกข้าง หรือไร้สาระ ไม่มีน้ำหนัก ไม่พิสูจน์อักษล (อันนี้ตั้งใจ (ต้องวงเล็บไว้เพราะกลัวคนไม่เก็ต))
เรื่องนี้ต้องดูเป็นสื่อๆ ไป และไม่ว่าสื่อเก่าหรือสื่อใหม่ก็ต่างถูกตั้งข้อหาเหล่านี้ได้ทั้งสิ้น สื่อเก่าก็อาจหยิบยืมคอนเทนต์จากออนไลน์มาใช้ในบางคอลัมน์ ขณะที่สื่อออนไลน์ก็อาจมองว่าตัวเอง ‘curate’ หรือจัดคอนเทนต์ให้เป็นระบบตามกลุ่มเป้าหมาย และการที่ถูกมองว่าแปล จริงแล้วก็อาจเป็นการสรุปความที่ถือว่ามีอินพุตใหม่ๆ จากคนเขียนลงไป (เช่นเดียวกับสื่อเก่าที่อาจใช้วิธีเดียวกันในการพัฒนาบางคอนเทนต์)
ความ ‘เป็นต้นแบบ’ (original) ของสื่อใหม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกตั้งคำถาม แต่อย่างที่เราได้เห็นแล้วว่า สื่อใหม่หลายเจ้าในไทย ก็พยายามที่จะแก้ปัญหาข้อนี้อยู่ ด้วยการไปสัมภาษณ์ถึงแหล่งข่าว ตั้งประเด็นใหม่ๆ รวบหรือทำสกู๊ปที่เป็นมากกว่าการใช้ข้อมูลเดิมตรงๆ
ปัญหาก็คือ หากคอนเทนต์แบบนี้เป็นที่นิยม คนก็จะจำภาพสื่อนั้นๆ จากคอนเทนต์ชิ้นที่มีความเป็นต้นแบบ แต่ถ้าคอนเทนต์แบบนี้ไม่เป็นที่นิยม คนไม่แชร์ แต่ไปแชร์ชิ้นที่มีเนื้อหา หรือการลงทุนน้อยกว่า คนก็จะติดภาพและมองว่าสื่อนั้นไม่มีกึ๋น หรือไม่ตอบความคาดหวัง และกลายเป็นภาพจำไป
และอีกปัญหาคือธรรมชาติของอินเทอร์เนตที่มีความเร็ว และธรรมชาติของโซเชียลมีเดียที่มีการจัดวางเรื่องแบบไม่เป็น ‘แพคเกจ’ ทำให้ผู้อ่านอาจรู้สึกว่า หลายเว็บไซต์เสนอข่าวที่เหมือนกัน ในเวลาไล่เลี่ยกัน ในขณะที่หากสิ่งเดียวกันเกิดขึ้นในนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ ก็จะไม่รู้สึกนัก (เพราะไม่ได้แสดงคอนเทนต์ที่เหมือนกันไว้ ‘ติดกัน’ แต่มีตัวช่วยแบ่ง ทั้งด้านพื้นที่และเวลาที่อ่าน)
Jonah Peretti CEO ของ Buzzfeed ได้แสดงความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่าบริษัท ‘สื่อใหม่’ เหล่านี้กำลังเคลื่อนตัวขึ้นไปตาม ‘Disruption chain’ (ห่วงโซ่แห่งการ ‘พลิกโฉมหน้า’) เช่น หากตัวอย่าง Buzzfeed ก็คือ เว็บ Buzzfeed เริ่มต้นด้วยบทความที่เต็มไปด้วยลิสท์สนุกๆ (เช่นว่า 14 แมวที่จะทำให้คุณต้องฮา, 20 วิธีสุดครีเอทีฟในการกินแมคโดนัลด์, คุณเป็นเจ้าหญิงคนไหนในดิสนีย์) แต่ปัจจุบัน พวกเขาก็ขยับขึ้นมาทำเนื้อหาที่มี ‘คุณค่า’ มากขึ้น (คำว่า ‘คุณค่า’ นี้ถือว่าเป็นการนิยามแบบคลาสสิกละกันนะครับ) เช่นทำข่าวเจาะ และร่วมมือกับนิวยอร์กไทมส์ เพื่อทำเนื้อหาที่ครบเครื่องขึ้น
แต่ก็อย่างที่เห็นว่าในปัจจุบัน ภาพลักษณ์ของ Buzzfeed, ถึงแม้ดีขึ้น ในกลุ่มผู้ที่ตระหนักว่าพวกเขาทำข่าวเจาะด้วย, แต่สำหรับกลุ่มผู้เสพสื่อทั่วไปแล้ว ก็ยังเป็นเว็บไซต์รวมรูปแมว รวมลิสท์ อยู่ดี
เรื่องสภาพแวดล้อมและการส่งสาร (Environment & Delivery)
หลังจากที่มีเว็บไซต์คอนเทนต์เกิดขึ้นมาก และเกิดขึ้นถี่ๆ ในระยะเวลาสั้น ก็มีผู้แสดงความเห็นไปในทางว่า ‘เว็บคอนเทนต์หรือสำนักข่าวเกิดขึ้นมากจนชักจะเบื่อ’ ‘อ่านไม่ทัน’ ‘มีแต่คอลัมน์ของคนซ้ำๆ กันเต็มไปหมด’ หรือ ‘อิ่มตัว’ อาจเปรียบเทียบกับการเกิดขึ้นของช่องโทรทัศน์ดิจิทัล (ซึ่งส่วนตัวแล้วคิดว่าเป็นการเปรียบเทียบแบบผิดฝาผิดตัวอยู่บ้าง – หากเปรียบเทียบกับฟรีก๊อปปี้อาจใกล้เคียงกว่า แต่ก็ยังไม่เหมือนโดยสมบูรณ์อยู่ดี)
นี่เป็นปัญหาของแพลตฟอร์ม ของสภาพแวดล้อมในการส่งสาร หากเกิดสถานการณ์เดียวกันในสื่อเก่าเช่น คอลัมนิสต์คนเดิม เขียนให้นิตยสารทุกฉบับ หรือมีนิตยสารหลายหัวมากจนเต็มแผง เราก็อาจไม่รู้สึกอะไรนัก เพราะมันเสนอทางเลือกให้เราเสพ โดยที่ไม่มาเคาะประตูและยื่นเนื้อหาให้ถึงบ้าน (เช่นเดียวกับ ถ้ามีเว็บไซต์เกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ไม่มีศูนย์กลางรวมที่เฟซบุ๊กที่ทุกคนแชร์มาลงหน้าฟีดของเรา เราก็จะไม่รู้สึกอะไร)
ความรู้สึกว่า ‘อิ่มตัว’ นี้ ส่วนหน่ึงจึงอาจเกิดขึ้นจากผู้รับสารเอง แต่ก็เป็นโจทย์ของผู้ทำสื่อต่อไป ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้รับสารไม่ ‘เลี่ยน’ กับเนื้อหาซ้ำๆ หรือรูปแบบที่ซ้ำๆ กัน – ส่วนในตลาดคอนเทนต์ออนไลน์นั้น ในประเทศไทยเองน่าจะยังมีที่ว่างให้เล่นอีกมาก แต่หากสื่อใหม่ใดก้าวอย่างไม่ระมัดระวังและใช้ต้นทุนเกินตัวเมื่อไร ก็อาจล้มเหลวได้รวดเร็ว
Shane Smith ผู้ก่อตั้ง Vice แสดงความเห็นว่า “สื่อนั้นควรถูกสร้างด้วยคนรุ่นใหม่” (media has to be made by young people.) แน่นอนว่าสื่อดั้งเดิมก็ยังจะกินลูกค้ากลุ่มเบบี้บูมเมอร์ได้อยู่ แต่เขาคิดว่าเนื้อหาสำหรับ Generation Y นั้นคืออนาคต ที่สนุกคือ ถึงแม้บางคนจะรู้สึกว่า ‘ทำไมมีเว็บคอนเทนต์เกิดขึ้นเต็มไปหมด’ (โดยเฉพาะในตลาดภาษาอังกฤษ) แต่ Smith ก็ยังบอกว่า “ผมเซอร์ไพรส์มาก ว่าทำไมไม่มีคนทำสื่อ (สำหรับคนรุ่นใหม่ ด้วยคนรุ่นใหม่) ให้มากกว่านี้”
โดยส่วนตัว ผมไม่เลือกนิยมสื่อเก่าหรือสื่อใหม่ไปกว่ากัน บางครั้ง ผมไม่ได้ใส่ใจรูปแบบของมันเลยด้วยซ้ำ ผมอาจซื้อหนังสือเล่มหนึ่งเป็นอีบุ๊ก เล่มหนึ่งเป็นเล่มจริงๆ และอีกเล่มหนึ่งเป็นออดิโอบุ๊ก ถ้าชอบมากๆ และพอซื้อไหว ก็อาจซื้อหลายฟอร์แมตพร้อมกัน
หลายครั้งผมรู้สึกว่าหนังสือเล่มนั้นเป็นมิตรกว่าหน้าจอ – แต่อีกหลายครั้งผมก็รู้สึกว่ามันเทอะทะเกินกว่าจะพก ผมไม่ปฏิเสธนิตยสารและยังตามเป็นแฟนอยู่หลายหัว แต่การเป็นแฟนนี้ก็อีกนั่นแหละ, ซื้อเป็นเล่มจริงๆ บ้าง หรือซื้อเป็นดิจิทัลเอดิชั่นบ้าง ผมไม่เกี่ยงว่าเว็บไซต์นั้นจะเป็น ‘คลิกเบท’ หรือไม่ ถ้ามันเป็นเรื่องที่อยากอ่าน (15 ไลฟ์แฮ็กอัจฉริยะแห่งจีเนียสปี 2017, 30 ครั้งที่คุณรู้สึกว่าโลกนี้มันช่างโหดร้าย) แต่ก็รู้ตัวอยู่เสมอว่ากำลังอ่านอะไร ผมชอบการออกแบบหน้าปกและเลย์เอาท์ของนิตยสารและหนังสือทั้งมวล แต่ก็คิดเช่นกันว่าเว็บไซต์และกราฟิกที่แสดงบนหน้าจอก็มีคุณค่าในแบบของมัน และในโลกที่สื่อต่างๆ ประดังประเดมาเสิร์ฟเรา (หรือเราต้องออกไปซื้อมาเสิร์ฟตัวเองบ้าง) นี้ ผมก็คิดว่า ถ้าไม่ต้องบังคับตัวเองให้เลือก ก็ถือว่าโชคดีจะตาย