“Dude you are so woke!”
“นายนี่มันตาสว่างสุดๆ ไปเลยเพื่อน!”
จนถึงตอนนี้ ใครๆ ก็น่าจะเคยผ่านตาคำว่า Woke มาแล้ว เพราะคำคำนี้ฮิตเหลือเกิน ฮิตเป็นต้นมาตั้งแต่ปี 2014 จนเมื่อเดือนมิถุนายน (ปี 2017) ที่ผ่านมา Oxford English Dictionary ก็ยอมเพิ่มคำว่า Woke ในความหมายใหม่เข้าไปจนได้
ก่อนหน้านี้ คำว่า Woke ดูเหมือนจะไม่มีความหมายอื่น นอกจากทำหน้าที่เป็นช่องสองของคำว่า Wake ที่แปลว่าตื่น (เวค โวค โวเค่น! หลายคนคงเคยท่องเทนส์ของกิริยาต่างๆ ตอนเด็กๆ แล้วก็อาจนึกรู้สึกเกลียดภาษาอังกฤษ! ทำไมมีการผันหลายรูปจังนะ!) จนกระทั่งขบวนการ Black Lives Matter ซึ่งเรียกร้องการปฏิบัติที่เท่าเทียมและความยุติธรรมให้กับคนผิวสี โดยเฉพาะในกรณีที่คนผิวสีถูกยิงโดยนายตำรวจได้รับความสนใจขึ้นมานั่นเอง คำว่า Woke ในความหมายที่ว่า “ตื่นตัวทางการเมือง” หรือ “ตาสว่าง” (มีนัยว่า หลังจากมืดบอดมานาน) จึงเริ่มได้รับความนิยมขึ้น จนคุณอาจเคยเห็นคำว่า Woke ในประโยคเช่น Get woke (ตาสว่างกันหน่อย!) Stay angry, stay woke, people! (อย่าให้ความโกรธมอดดับ ตื่นตัวกันหน่อย!) ตามป้ายประท้วงหรือขบวนการเรียกร้องต่างๆ รวมไปถึงแฮชแท็กอย่าง #StayWoke ด้วย
Oxford English Dictionary สืบค้นที่มาของคำว่า Woke แล้วก็พบว่าจริงๆ คำนี้มีท่ีมาเก่าแก่กว่าที่คิด และที่เก่าแก่ ก็หมายถึงว่าเก่าแก่ในความหมาย ‘ตื่นตัวทางการเมือง’ นี้ด้วยนะครับ ไม่ใช่เก่าแก่ในความหมายที่เป็นช่องสองของ Wake เฉยๆ เขาค้นไปค้นมา ก็ไปเจอบทความนิวยอร์กไทมส์ปี 1962 (ห้าสิบกว่าปีก่อน!) ของ William Melvin Kelley นักเขียนผิวสี และต่อมาก็ในละครเรื่อง Garvey Lives! ซึ่งทั้งสองการใช้ก็พูดถึงการที่คนผิวสีลุกขึ้นมาเรียกร้องความเท่าเทียมให้กับตนเอง
หลังจากนั้นในช่วงปี 2008 นักร้องโซล Erykah Badu ก็หยิบคำว่า Woke และ Stay woke มาใช้ ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีความหมายเชื่อมกับความยุติธรรมทางสังคมตรงๆ แต่ต่อมาผู้คนก็ให้เครดิตว่าเป็นเพราะเพลงนี้เองที่เป็นต้นกำเนิดของการใช้คำว่า Woke ในขบวนการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนผิวสีในปี 2012 เดวิด สโตวาล ศาสตราจารย์ด้านแอฟริกันอเมริกันที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์บอกว่า ที่บาดูร้องว่า Stay woke นั้นเธอหมายถึง ‘การไม่ถูกปิดปาก ไม่ถูกวางยา’ (not being placated, not being anesthetized.)
ทีนี้ คำว่า Woke ก็ไม่ได้หมายความถึงการตื่นตัวทางการเมืองด้วยน้ำเสียงเรียบๆ เท่านั้นนะครับ แต่ยังมีความหมายไปถึงการตื่นรู้ถึงความอยุติธรรม ‘การตื่นรู้ถึงความอยุติธรรม’ นี้ เดิมทีก็มีความหมายเฉพาะความอยุติธรรมสำหรับคนผิวสีเท่านั้น แต่ในปัจจุบันก็เริ่มขยายความหมายไปครอบคลุมประเด็นอื่นๆ เช่นความเหลื่อมล้ำ สิ่งแวดล้อม หรือเรื่องเพศ
ประเด็นก็คือ พอมันเริ่มขยายไปมากๆ กว้างขึ้นมากๆ เข้า (หลายคนบอกว่า โดยเฉพาะเมื่อขยายไปถึงคนขาว!) สิ่งที่เคยเป็นรากเหง้าดั้งเดิมคือการพยายามเรียกร้องสิทธิที่เท่าเทียมกันให้กับคนผิวสีก็เริ่มบิดเบือน คำว่า Woke เริ่มมีความหมายในเชิงล้อเลียนว่า ‘แหม ตื่นตัวจังนะ ตาสว่างจังเลยนะจ๊ะเธอ’ คนเริ่มรำคาญคำคำนี้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในอินเทอร์เนต (ซึ่งคนก็รำคาญอะไรกันง้ายง่ายอยู่แล้ว)
ตัวอย่างเช่นใน Urban Dictionary คำนิยามของคำว่า Woke ที่ได้รับการโหวตมากที่สุดก็เป็นความหมายล้อเลียน เขาให้ความหมายว่า
“A state of perceived intellectual superiority one gains by reading the Huffington Post” (สถานะที่คิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่นเพราะอ่านฮัฟฟิงตันโพสท์มา)
บทความ “Earning the ‘Woke’ Badge” (ทำยังไงให้ได้ป้ายว่าฉันน่ะ Woke) ใน New York Times โดย Amanda Hess ก็พูดถึงปัญหานี้ เธอบอกว่าคำว่า Woke กลายเป็นคล้ายๆ คำสถานะที่ประกาศว่าฉันน่ะตื่นรู้ทางการเมืองนะโว้ย ฉันน่ะรับรู้ถึงความอยุติธรรมต่างๆ และเปรียบเทียบคำว่า Woke กับคำว่า ‘radical chic’ ในยุค 70’s ที่หมายถึงคนที่ตอบแทนสังคมด้วยการไปร่วมงานคอกเทลปาร์ตี้ เธอยังยกตัวอย่าง Matt McGorry ว่าเป็นชายหนุ่มที่ช่าง Woke เหลือเกิน (ใครที่ไม่คุ้นหน้า เขาคือคนที่แสดง Orange is the New Black และ How to get with with Muder นะครับ)
เดิมที Matt McGorry เป็นนักแสดงหนุ่มที่มักจะลงรูปตัวเองใส่เสื้อกล้ามบ้าง ถ่ายบนเรือยอชต์บ้าง แต่หลังจากที่เขาฟังสปีชของเอมม่า วัตสัน เขาก็เริ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง Amanda ชี้ในบทความของเธอว่า รูปหนึ่งของ Matt บนอินสตาแกรมเป็นรูปเขากำลังอ่านหนังสือ The New Jim Crow (ซึ่งเป็นหนังสือเรื่องสิทธิสีผิว) และในเดือนธันวาคมปี 2015 ก็ยังมีบทความฟีเจอร์ว่า “มาคุยกันเถอะว่า Matt McGorry นี่ Woke แค่ไหนในปีนี้”
สรุปสั้นๆ ก็คือ Amanda Hess คิดว่า Woke ได้กลายมาเป็นไลฟ์สไตล์ กลายมาเป็นแบรนด์ไปเรียบร้อยแล้ว และเป็นแบรนด์ที่ ‘เหมาะเหม็ง’ สำหรับวัยรุ่นยุคใหม่ด้วย เธอสรุปว่า ดังนั้นใครที่ประกาศว่าตัวเอง ‘woke’ ก็คือพวกที่ยังไม่ ‘woke’ นั่นเอง (And so those who try to signal their wokeness by saying “woke” have revealed themselves to be very unwoke indeed.)
เธอยังเล่าต่อว่าในตอนนี้ชาวผิวสีก็เลยพยายามทวงคืนคำว่า Woke กลับมาเป็นของตนเอง เริ่มมีการใช้คำว่า Fake Woke หรือ Faux Woke เพื่อแยกพวกที่ ‘ตื่นจริง’ กับ ‘ตื่นไม่จริง’ ออกจากกัน (ซึ่งก็น่าสนใจมากว่าแยกยังไง) การเกิดใหม่ของคำว่า Woke นี้ไม่ได้เป็นการกันคนผิวขาวที่ตื่นตัวเรื่องความไม่เท่าเทียมออกไป แต่เลือกที่จะกันเฉพาะคนที่พยายามแสดงออกเหลือเกินว่าตัวเอง Woke ออกไปแทน
การทวงคืนครั้งนี้ก็ดูจะไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไร เมื่อคำว่า Woke กลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม และเลื่อนขั้นเข้าสู่สถานะทรัพยากรที่สามารถใช้เพื่อโฆษณาไปเรียบร้อย
เมื่อการ ‘ตื่นมาสู้ปัญหาสังคม’ กลายเป็นแฟชั่น นักโฆษณาจึงหยิบเอาชิ้นส่วนต่างๆ มาประกอบเสียใหม่เพื่อขายของ The Guardian บันทึกถึงปรากฏการณ์นี้ไว้ในบทความเดือนมิถุนายนชื่อ Faking ‘Wokeness’: How advertising targets millenial liberals for profit (Woke ปลอม : วงการโฆษณาขายของให้เด็กๆ ลิเบอรัลยุคใหม่อย่างไร) ซึ่งในบทความก็มีการพูดถึงโฆษณาของ Kia ที่ใช้ Melissa Mckarthy มาแสดงเป็น Eco-warrior หรือนักรบเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือโฆษณา AirBNB ที่พยายามโปรโมตความหลากหลายของชาติพันธุ์
Alissa Quart ผู้เขียนบทความ บอกว่าบริษัทโฆษณาไม่ได้โง่ พวกเขารู้ว่าชาวอเมริกันรุ่นใหม่นั้นเป็นลิเบอรัลมากกว่าแต่ก่อน และโฆษณาเหล่านี้ก็พุ่งเป้าไปที่พวกเขานั่นเอง คือพยายามที่จะ woke เพื่อบอกว่า เราเป็นพวกเดียวกันนะ
แต่การ Woke แบบปลอมๆ หรือพยายามแสดงออกว่าบริษัทฉัน Woke เสียเหลือเกิน ดูโฆษณาที่แสนดีต่อสังคมของฉันสิ ก็ยังมีปัญหาอยู่ หนึ่งก็คือปัญหาเมื่อโฆษณาพลาด หลายคนคงจำโฆษณาเป็ปซี่ที่มีเคนดัล เจนเนอร์ ยื่นขวดเป็ปซี่ในขณะที่มีการประท้วง (ซึ่งดูเหมือน Black Lives Matter) ให้กับตำรวจได้ โฆษณาครั้งนั้นถูกโจมตีอย่างหนักเพราะเหมือนเป็นการเอาขบวนการที่ซีเรียส จริงจัง มาขายของ จนเป็ปซี่ต้องขอโทษและถอดออกในที่สุด
อีกหนึ่งปัญหาที่ใหญ่ขึ้นคือคำถามที่ว่า ‘บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้มีสิทธิที่จะพูดเรื่องเหล่านี้จริงๆ หรือ’ ตามคำบอกเล่าของผู้บริหารบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง (ซึ่งทำโฆษณาให้กับพริงเกิ้ลส์) แล้ว คำตอบดูเหมือนว่าจะเป็น ‘ไม่มีสิทธิ’ ผู้บริหารรายนี้บอกว่าความพยายามจะ Woke ของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ เป็นเพียงการคว้าฟางเส้นสุดท้ายเท่านั้น และพวกเขาไม่มีสิทธิดันตัวเองเข้าไปในบทสนทนาที่ตัวเองไม่ควรเข้าไปยุ่งขึ้น เขายกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองดูแลอยู่ว่า ‘บางครั้ง พริงเกิลส์ก็เป็นแค่พริงเกิลส์’ (หมายถึงว่า อย่าพยายามให้มันฝรั่งแผ่นเป็นอะไรมากกว่านั้นเลย)
Woke เป็นคำคำหนึ่งที่มาไกลจากต้นกำเนิดมาก อย่างที่เห็นว่ามีการพยายามช่วงชิงความหมายคำนี้กลับไปกลับมา เมื่อคำว่า Woke มีความหมายไปในทางที่ไม่ดี ก็มีการพยายามกีดกัน Woke ออกจากความหมายที่ไม่ดีพวกนั้นด้วยคำว่า Fake Woke หรือ Faux Woke อีกรอบ
จากคำที่มีความหมายเฉพาะ ปัจจุบัน Woke ได้ถูกใช้เพื่อปลุกระดม เสียดสี ล้อเลียน จนกระทั่งขายของ นั่นคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อขบวนการหนึ่งๆ ใหญ่โตและเข้าสู่วงสนทนาของสังคม มันอาจจะผิดจากจุดประสงค์ดั้งเดิมไปจนจำหน้าตาไม่ได้ ไม่ว่าผู้หยิบ Woke ไปปรับใช้เพื่อโฆษณา (ไม่ว่าจะเพื่อไปพูดว่าตัวเองนั้น woke หรือว่าผลิตภัณฑ์นั้น woke) นั้นจะหวังดีต่อสังคมจริงๆ หรือเป็นการใช้เพื่อฉาบฉวย สิ่งเหล่านี้ก็อาจเป็นสิ่งที่ผู้ริเริ่มการเคลื่อนไหวต้องคำนึงไว้ล่วงหน้าว่าจะรับมืออย่างไร
อ้างอิงข้อมูลจาก
ความหมายของ Woke
blog.oxforddictionaries.com/2016/11/woke/
ความหมายของ Woke ใน Urban Dictionary
www.urbandictionary.com/define.php?term=woke
หนึ่งในซีรีส์ที่มีการบอกว่า นี่มันเป็นซีรีส์คนผิวสีที่สร้างมาให้คนผิวขาวดูหนิ คือ Dear White People (ซึ่งหลายคนก็บอกว่า อ้าว ชื่อก็บอกอยู่แล้วนี่หว่า)
www.theroot.com/can-we-talk-about-this-thing-bothering-me-about-dear
โฆษณา Liberal อย่างไร
โฆษณาของ Pepsi มีคนโกรธเยอะมากๆ
มันคือโฆษณาตัวนี้