คนโง่มักไม่รู้หรอกว่าตัวเองโง่ คนพวกนี้อาจรู้ว่ามีอะไรผิดพลาด อาจสังเกตเห็นว่ามีอะไรไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ แต่คนพวกนี้แทบไม่รู้หรอกว่า มันเกิดขึ้นเพราะความโง่ของตัวเอง
จากหนังสือ The Room
โดยนักเขียนสวีเดน Jonas Karlsson
ความโง่อย่างหนึ่งของผม ก็คือการที่ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่า ฝุ่นควันพิษ หรือฝุ่นขนาดเล็กจิ๋วตั้งแต่ 10 ไมครอนลงไปจนถึง 2.5 ไมครอน และเล็กกว่านั้น อาจเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตของมนุษย์—อย่างการเป็นโรคซึมเศร้าได้ด้วย
นอกจากนี้ ยังเคมีการศึกษาเรื่องฝุ่นควันพิษ (แบบเดียวกับที่กำลังรมกรุงเทพฯ อยู่) และพบความสัมพันธ์ระหว่างยีนหรือพันธุกรรมของมนุษย์ ที่ถูกทำให้เปลี่ยนแปลงไปเพราะฝุ่นควันพิษพวกนี้ด้วย
ความโง่พาผมไปพบกับวารสารชื่อ UD/MH หรือ Journal of Urban Design and Mental Health ที่ตีพิมพ์งานเขียนเรื่อง ‘Air Pollution, Mental Health and Implications for Urban Design: a Review’ ของคุณเจค็อบ คิง (Jacob King) แห่ง Exeter Medical School ในอังกฤษ ที่บอกเราว่า ฝุ่นควันพิษพวกนี้ ‘ทำร้าย’ มนุษย์มากกว่าแค่ทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับปอด ทางเดินหายใจ และภูมิแพ้ ทว่าสภาวะทางจิต มลพิษทางอากาศ และการออกแบบเมือง ต่างเกี่ยวพันกันอย่างซับซ้อนด้วย
จึงน่าเสียดายอย่างยิ่ง หากความโง่เดียวกันนี้ของผม จะลุกลามไปแปดเปื้อนความรอบรู้และสติปัญญาของผู้บริหารบ้านเมือง จนเราต่างไม่อาจเห็นถึงความสัมพันธ์ซับซ้อนเหล่านี้ และละเลยเพิกเฉย ไม่ได้คิดแก้ปัญหาระยะยาว กระทั่งว่าเป็นไปได้ ที่อาจเกิดผลเสียหายในระยะยาวได้เป็นวงกว้าง
อะไรคือฝุ่นควันพิษ?
เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกแล้วว่า กระบวนการกลายเป็นเมืองที่รวดเร็ว (rapid urbanization) โดยปราศจากการควบคุมที่ดี เช่น เร่งสร้างตึก สร้างอาคาร สร้างสาธารณปูโภคใหญ่ๆ อย่าง รถไฟฟ้า รวมไปถึงการสร้างถนนให้รถยนต์วิ่งแล้วปล่อยมลพิษออกมานั้น เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดฝุ่นควันพิษรมเมือง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด ก็คือหลายเมืองในประเทศจีน รวมถึงปักกิ่งที่มีมลพิษสูงกว่าค่ามาตรฐานนับสิบเท่าเป็นเวลาหลายเดือนในแต่ละปีด้วย
องค์การอนามัยโลกหรือ WHO บอกว่า มลพิษทางอากาศเหล่านี้ คือสาเหตุที่ทำให้เกิดการตายก่อนวัยอันควรทั่วโลกในปี 2016 มากถึง 4.2 ล้านคน
คำถามก็คือ แล้วอะไรคือฝุ่นควันพิษกันแน่?
WHO บอกว่า ฝุ่นควันพิษสำคัญๆ มีอยู่ด้วยกันสี่อย่าง อย่างแรกสุดก็คือฝุ่นที่มีอนุภาคจิ๋วๆ เรียกว่า particulate matter หรือเรียกย่อๆ ว่า PM ซึ่งเจ้าฝุ่น PM นี้ถือว่าเป็นดัชนีชี้วัดมลพิษทางอากาศตัวสำคัญ มันส่งผลต่อมนุษย์เรามากกว่ามลพิษทางอากาศอื่นๆ ทั้งหมด โดยฝุ่นที่ว่านี้แบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ PM 10 กับ PM 2.5 คือฝุ่นที่มีขนาด 10 ไมโครเมตร (หรือไมครอน) หรือเล็กกว่า กับฝุ่นที่มีขนาด 2.5 ไมครอนหรือเล็กกว่า ซึ่งหลายคนก็อาจจะพอรู้จากข่าวต่างๆ อยู่แล้ว ว่าฝุ่นจิ๋วเหล่านี้ก่อให้เกิดอาการทางกายอย่างไรได้บ้าง
แต่นอกจากฝุ่น PM แล้ว มลพิษทางอากาศที่เกิดกับเมืองใหญ่ยังมีก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และโอโซนอีกด้วย
ปกติแล้ว ก๊าซและฝุ่นเหล่านี้เกิดขึ้นในธรรมชาติน้อยมาก แต่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นเมือง เราจะพบการปล่อยฝุ่นและก๊าซพวกนี้ได้จากกิจกรรมของมนุษย์ ตั้งแต่การก่อสร้าง อุตสาหกรรม รวมไปถึงกิจกรรมในครัวเรือนต่างๆ แต่หากตัว ‘เมือง’ มีการออกแบบที่ดี ฝุ่นและก๊าซเหล่านี้ก็จะไม่สะสมอยู่ในเมือง คือไม่อ้อยอิ่งค้างคาอยู่ในชั้นบรรยากาศ ทว่าเมืองที่ได้รับการออกแบบให้อากาศไหลผ่านเมืองได้ ไม่ได้ปล่อยให้เกิดการก่อสร้างกันตามมีตามเกิด ก็จะเกิดการระบายฝุ่นควันพิษพวกนี้ออกไป เช่น ออกแบบเมืองให้มีลักษณะเป็นกริด (grid) มีช่องทางตรงๆ ให้อากาศไหลผ่าน โดยช่องอากาศที่ว่านี้สอดรับกับการพัดของลมตามฤดูกาล
ในฤดูหนาว แม้อากาศในไทยจะไม่หนาวเหมือนเคย แต่ความกดอากาศสูงยังคงแผ่ลงมาปกคลุม ความกดอากาศสูงส่งผลเหมือนชื่อ คือมีการ ‘กด’ อากาศเอาไว้ ฝุ่นและควันพิษทั้งหลายอวลอบอยู่ในเมืองที่เดิมทีก็ออกแบบไม่ดี ไม่มีการไหลของอากาศอยู่แล้ว ยิ่งไม่อาจระบายออกไปไหนได้ ได้แต่ไหลวนๆ อยู่ใน ‘กระเปาะอากาศ’ ตามช่องว่างระหว่างตึก โดยอากาศไม่สามารถไหลขึ้นด้านบนผ่านพ้น ‘เรือนยอด’ ของตึก (urban canopy layer) ไปได้ ความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศในเมืองจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ แบบค่อยๆ สั่งสม
เมื่อเป็นเช่นนี้ มลพิษจึงส่งผลต่อมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่แค่ในทางร่างกาย
มลพิษทางอากาศยังส่งผลร้ายทางจิตกับพวกเราทุกคนอีกด้วย!
ฝุ่นควันพิษกับโรคทางจิต
มีสมมติฐานใหญ่ๆ อยู่สองสมมติฐาน ที่ว่ามลพิษทางอากาศอาจมีผลต่อสุขภาพจิตของมนุษย์ได้
อย่างแรกเรียกว่า Neuroinflammatory Hypothesis เป็นสมมติฐานที่เกิดจากการศึกษาสภาวะที่เรียกว่า neuroinflmmation หรือการอักเสบที่เกิดขึ้นกับเซลล์ประสาทในสัตว์ทดลอง พบว่าการที่สัตว์ต้องเผชิญหน้ากับมลพิษทางอากาศเข้มข้นเป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะกับฝุ่นระดับ PM 2.5 และโอโซนนั้น ทำให้เซลล์ประสาทถูกทำลายได้เนื่องจากอาการอักเสบ
ที่ฝุ่นควันระดับ PM 2.5 ทำให้เกิดอาการเช่นนี้ได้ก็เพราะมันมีขนาดเล็กจิ๋วมาก จึงแทรกซึมเข้าไปได้ถึงระดับเซลล์ประสาท ซึ่งหากมีไม่มากนัก ร่างกายก็อาจควบคุมได้ แต่ถ้ามีมากและเกิดกระบวนการอักเสบมากจนควบคุมไม่ได้ ก็จะเกิดการผลิตสารที่เป็นพิษต่อระบบประสาท (neurotoxic factors) ต่างๆ ขึ้นมา สารพวกนี้ไม่ได้เป็นพิษในตัวเองโดยตรง แต่เป็นสารที่ทำให้เกิดกระบวนการออกซิเดชั่นในร่างกาย (เหมือนอนุมูลอิสระ) แล้วจึงเกิดโรคต่างๆ ที่สัมพันธ์กับการแก่ชราหรือโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งโรคหนึ่งที่มีการศึกษาว่าเกี่ยวพันกันก็คือ โรคซึมเศร้า (ไม่ใช่แค่เพราะอากาศหม่นทึมซึมเซาจนรู้สึกเศร้าแบบอาการป่วยเพราะสภาวะอากาศอย่างที่เรียกว่า S.A.D. Syndrome เท่านั้น)
สมมติฐานที่สองลงลึกไปกว่าอาการอักเสบของเซลล์ประสาท คือมีการตั้งข้อสันนิษฐานกันว่า ฝุ่นควันพิษนั้นลงไปทำลายกันถึงระดับยีนหรือระดับสารพันธุกรรมเลยทีเดียว มีการค้นพบเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ว่ายีนของมนุษย์นั้นเปลี่ยนแปลงได้ไวและเร็วกว่าที่เราคิดมาก โดยสิ่งแวดล้อมต่างๆ สามารถมีผลต่อยีนของเราได้ ที่สำคัญก็คือ นักพันธุกรรมศาสตร์สาขาใหม่ที่เรียกว่า Phylogenetics พบว่าคนเราสามารถโน้มนำให้ยีนหรือพันธุกรรมของคนอื่นเปลี่ยนแปลงได้ด้วย (แทนที่จะรับสืบทอดยีนจากพ่อแม่เท่านั้น) พูดอีกอย่างคือ พันธุกรรมสามารถถ่ายทอดสู่กันในแนวระนาบของคนรุ่นเดียวกัน แทนที่จะต้องถ่ายทอดในแนวดิ่งจากรุ่นพ่อแม่สู่ลูกอย่างเดียว
คุณเจค็อบ คิง บอกว่าเคยมีการศึกษาว่ามลพิษทางอากาศอาจก่อให้เกิดโรคสำคัญๆ คือซึมเศร้ากับวิตกกังวล
ในโรคซึมเศร้า คุณคิงศึกษางานของนักวิทยาศาสตร์หลายที่ พบว่าในกลุ่มคนที่ต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศเป็นเวลานาน อัตราการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะพุ่งสูงขึ้นกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เผชิญกับมลพิษทางอากาศ มีการศึกษาที่บาร์เซโลนาและที่กรุงโซลในเกาหลีใต้ (โดยนักวิทยาศาสตร์คนละกลุ่มกัน) ได้ผลลัพธ์ออกมาตรงกัน แม้ว่านักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องเดียวกันนี้ในบอสตันและในยุโรปจะไม่พบผลแบบเดียวกันนี้ก็ตาม ส่วนอาการวิตกกังวล เป็นการศึกษาพยาบาลในสหรัฐอเมริกา พบว่าพยาบาลที่ต้องเผชิญกับฝุ่นระดับ PM 10 และ PM 2.5 เป็นเวลานาน จะมีอาการวิตกกังวลมากกว่าปกติ
ในขณะที่โรคจิต (psychosis) อื่นๆ เช่น จิตเภท มีการศึกษาความสัมพันธ์ของมลพิษทางอากาศกับโรคจิตประเภทต่างๆ แม้พบว่าอาจมีผลต่อกันได้ แต่หลักฐานยังเบาบางอยู่ ต้องการการศึกษาเพิ่มเติมอีก และส่วนใหญ่จะเป็นผลที่เกิดจากโลหะหนัก เช่น แคดเมียมและตะกั่ว (ที่ก็อาจมากับอากาศได้เหมือนกัน) มากกว่าฝุ่นควันพิษในแบบที่เราเผชิญกันอยู่
แล้วทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องอะไรกับการออกแบบเมือง?
การเข้าใจว่า มลพิษทางอากาศเหล่านี้มาจากไหน คือจุดเริ่มต้นในการหาทางแก้ไข
เมืองแต่ละเมืองมีที่มาของมลพิษทางอากาศแตกต่างกันไป (ซึ่งก็ทำให้มลพิษที่ว่ามีองค์ประกอบและความเข้มข้นไม่เหมือนกันด้วย) ที่มีการศึกษามากที่สุด ก็คือฝุ่นจิ๋วแบบ PM 2.5 และ PM 10 นี่แหละครับ เขาพบว่า ถ้าดูจากค่าเฉลี่ยทั่วโลก พบว่าฝุ่นจิ๋วพวกนี้ 25% เป็นฝุ่นจิ๋วที่เกี่ยวข้องกับการจราจร ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือมาจากท่อไอเสียรถยนต์ 15% มาจากอุตสาหกรรม คือเป็นฝุ่นจากโรงงาน 20% เป็นฝุ่นที่เกิดจากการเผาในครัวเรือนต่างๆ (ซึ่งจะเห็นว่าไม่น้อยเลยทีเดียว) 22% มาจากกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ และอีก 18% มาจากธรรมชาติ เช่น ภูเขาไฟระเบิด ฝุ่นจากทะเลทราย หรือเกลือทะเลที่แห้ง ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม มลพิษที่เกิดจากการจราจรนั้นมีความซับซ้อนและย้อนแย้งในตัวของมันไม่น้อย เช่น ถ้าคนเราอาศัยอยู่ในที่ที่ใกล้กับเส้นทางจราจรหลัก—อยู่ใกล้ถนนสายใหญ่ ปกติแล้วก็มักทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น สุขภาพกายอาจแย่เพราะพบกับฝุ่นจิ๋วทั้งหลาย ส่วนสุขภาพจิตก็อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าฝุ่นจิ๋วอาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวลได้ แต่การอยู่ใกล้กับทางสัญจรหลักก็เป็นข้อได้เปรียบของคนเมืองในหลายเมืองด้วย เนื่องจากการอยู่ใกล้ทางสัญจรหลัก จะทำให้เราสามารถเลือกเดินทางด้วยแรงของตัวเอง (เรียกว่า active travel) อย่างเช่นการเดินหรือปั่นจักรยานได้ และมีการศึกษาพบว่ากิจกรรมแบบนี้ ทำให้มนุษย์เราได้ประโยชน์ในด้านสุขภาพจิต
แต่คำถามก็คือ ระหว่างประโยชน์ที่ได้จากการเดินทางด้วยแรงของตัวเอง กับโทษที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ อย่างไหนจะมากกว่ากัน คำตอบนั้นง่ายมาก—ก็ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของมลพิษไงครับ
เคยมีการศึกษาในนิวเดลี เมืองที่มีมลพิษทางอากาศรุนแรงมาก พบว่าถ้าเดินในระยะสั้น การเดินจะให้ประโยชน์จนเมื่อหักลบกลบหนี้กันแล้ว จะยังมีประโยชน์มากกว่าโทษ แต่ถ้ายิ่งเดินนานเท่าไหร่ ประโยชน์สุทธิก็จะน้อยลงเรื่อยๆ ถ้าเดินนานถึง 1 ชั่วโมง 30 นาที พบว่าไม่เหลือประโยชน์อยู่อีกต่อไป คือทั้งประโยชน์และโทษหักลบกลบหนี้กันจนเป็นศูนย์ และถ้ายังเดินนานกว่านั้นอีกไปจนถึง 4 ชั่วโมง 45 นาที พบว่าประโยชน์จะเหลือน้อยมาก จนนำไปหักลบอะไรกับโทษไม่ได้เลย
มีการศึกษามากมายที่บ่งชี้ว่า การออกแบบเมืองที่ดีมาตั้งแต่ต้นนั้นช่วยได้ อย่างที่บอกไปแล้วข้างต้นนะครับ ว่าเมืองที่มีการระบายอากาศดี จะช่วยให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก แต่นอกจากนี้แล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยกรองอากาศได้ดีมากๆ ก็คือต้นไม้ หรือการทำให้เมืองมีสิ่งที่เรียกว่า Urban Vegetation คือมีพื้นที่สีเขียวที่มีความหลากหลายต่างระดับกัน
มีงานวิจัยเรื่องการปลูกต้นไม้ใน 10 เมืองของสหรัฐอเมริกา ว่าจะส่งผลอย่างไรต่อมลพิษทางอากาศบ้าง (ดูงานวิจัยได้ ที่นี่ ) เขาบอกว่า การปลูกต้นไม้ในเมืองนั้น ช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ได้ตั้งแต่ปีละ 4.7 ตัน จนถึง 64.5 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่เยอะมาก และถ้าแปลงมลพิษที่หายไปนี้ออกมาเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ ก็จะยิ่งเยอะเข้าไปอีก เพราะมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ได้เพิ่มเข้ามานั้น มีตั้งแต่ 1.1 ล้านเหรียญ ไปจนถึง 60.1 ล้านเหรียญ (กรณีหลังคือในนิวยอร์ก)
การศึกษาเรื่องฝุ่นควันพิษ สุขภาวะ (ท้ังทางกายและจิต) มีอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่เกิดขึ้นในกระบวนการ ‘เป็นเมือง’ (urbanization) ในโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเราสามารถนำข้อมูลและการศึกษาต่างๆ มาเชื่อมโยงกันเป็นภาพใหญ่ เพื่อทำความเข้าใจและหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้
ถ้าใครเป็นผู้บริหารเมืองที่ยอมรับได้ว่าตัวเองไม่ได้รู้ทุกเรื่อง ไม่ได้เป็นแบบในคำพูดของ Jonas Karlsson ที่ว่า “คนโง่มักไม่รู้หรอกว่าตัวเองโง่ คนพวกนี้อาจรู้ว่ามีอะไรผิดพลาด อาจสังเกตเห็นว่ามีอะไรไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ แต่คนพวกนี้แทบไม่รู้หรอกว่า มันเกิดขึ้นเพราะความโง่ของตัวเอง” ก็จะสามารถขวนขวายหาความรู้มาบำบัดความไม่รู้ของตัวเองได้ ไม่ใช่เพื่อสร้างอัตตาและความเก่งให้ตัวเอง แต่เพราะเขา ‘แคร์’ ต่อมนุษย์คนอื่น และ ‘แคร์’ ต่อหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง ในอันที่จะนำพาเมืองและประเทศของตัวเองไปสู่สภาวะที่สะอาดปลอดจากโรคและภัยต่างๆ ให้มากที่สุด
คงเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก—หากความหนาทึบของฝุ่นควันและสติปัญญาจะบดบังกันและกันเสียจนเราไม่อาจมองเห็นภาพนี้ได้