‘เพื่อนกินหาง่าย เพื่อนตายหายาก’ คงจะเป็นอีกหนึ่งสุภาษิตที่ได้ยินกันอยู่บ่อยๆ แถมมักจะนึกเอง เออเอง บวกเข้าด้วยการมโนกันไปเองว่า สุภาษิตบทนี้คงจะเก๋ากึ้กระดับปฐมบรมเก่าทีเดียว แต่เอาเข้าจริงแล้ว สุภาษิตที่คลุ้งไปด้วยกลิ่นไอแบบฝรั่งจ๋ามาแต่ไกล หรืออะไรทำนองนี้ มันจะเก่าแก่สักแค่ไหนกันเชี้ยวววว?
นักประวัติศาสตร์ระดับไอคอนของไทยอย่าง อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ เพิ่งจะหล่นความเห็นเกี่ยวกับคำว่า ‘เพื่อน’ เอาไว้ในบทความ ‘ให้เหล้า ≠ แช่ง’ (ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 12-18 มกราคม 2561) อย่างน่าสนใจทีเดียวว่า
“เพื่อนในภาษาไทยแต่เดิมหมายถึง companion ไม่ใช่ friend ‘เพื่อน’ ในความหมายนี้เป็นความสัมพันธ์ใหม่ที่เราไม่เคยมีมาก่อน จึงมีการอภิปรายความสัมพันธ์อันใหม่นี้ในนามของ ‘มิตรภาพ’ จำนวนมาก ทั้งในบทความ, นวนิยาย และโคลงกลอนในช่วงนี้ สืบมาจนเมื่อผมเข้าโรงเรียน”
คำว่า ‘เพื่อน’ ที่ อ. นิธิ หมายถึงในข้อความที่ผมยกมาให้อ่านกันข้างต้นคือ เพื่อน ในความหมายของ ‘ชนชั้นกลาง’ ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ความทันสมัยในระยะแรกๆ ซึ่งก็น่าจะหมายถึง ราวสมัยรัชกาลที่ 5 หรือ 6 โน่นเลยแหละ
และสำหรับคนที่จะผ่านโลกมาครบ 78 ฝนในปีนี้อย่าง อ. นิธิ ช่วงที่เข้าโรงเรียนของอาจารย์ ก็น่าจะตกอยู่ราว พ.ศ. 2490 (บวกลบได้ เอาตามสะดวกใจ) เท่านั้นแหละครับ ที่ อ. นิธิ บอกกับเราว่า คือช่วงเวลาในระยะเปลี่ยนผ่านที่ทำให้ ‘เพื่อน’ ค่อยๆ กลายมามีความหมายและแปลกลับไปเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘friend’ เหมือนในปัจจุบันนี้
สำหรับฝรั่งโดยทั่วๆ ไปแล้ว friend นั้นต่างกับ companion ตรงที่คำแรกมีอารมณ์ที่แสดงถึงความสนิทสนม และรักใคร่ชอบพอกันอยู่ในที ส่วนคำหลังนั้นหมายถึง คนรู้จัก หรืออะไรที่เคยผ่านเวลา หรือสถานการณ์บางอย่างมาด้วยกันเท่านั้น ก็พอจะเรียกอย่างนี้ได้แล้ว
แปลง่ายๆ ว่า อ. นิธิ กำลังบอกว่า คำว่า ‘เพื่อน’ เพิ่งจะมามีความหมายเกี่ยวโยงกับเรื่องมิตรภาพเอาก็เมื่อไม่นานนี้แหละนะครับ เพราะก่อนหน้าที่สังคมไทยจะก้าวเข้าสู่ความทันสมัยนั้น แค่รู้จักกันผ่านๆ ก็พอจะเรียกใครคนนั้นว่าเพื่อนได้แล้วนี่เนอะ
และถ้าจะเป็นอย่างนั้นแล้ว ก่อนหน้าสมัยรัชกาลที่ 5 ขึ้นไป จะเป็นเพื่อนชนิดไหนก็น่าจะหาง่ายด้วยกันทั้งนั้น ไม่ใช่เฉพาะเพื่อนกินเสียหน่อย
ยิ่งถ้าหากเราย้อนกลับไปดูอะไรที่มีอยู่ในสังคมไทยมาแต่เดิม ก่อนจะเข้าสู่ยุคสมัยใหม่อย่าง ‘สุภาษิตพระร่วง’ นั้น ก็จะยิ่งเห็นภาพของ เพื่อน ที่น่าจะแปลว่า companion หรือคนรู้จัก อย่างที่ อ. นิธิ ได้บอกกับเราชัดเจนขึ้นในระดับ Full HD เลยทีเดียว
ในหนังสือเก่าเล่มนี้มีทั้งคำว่า ‘เพื่อน’ และคำว่า ‘มิตร’ ซึ่งเป็นไวพจน์ คือคำที่มีความหมายเหมือนกันของคำว่า เพื่อน ตามพจนานุกรมสมัยปัจจุบันนี้ แต่ก็มีรูปแบบการใช้ที่แตกต่างกันอย่างน่าสนใจเลยทีเดียว
ถึงแม้ว่าในหนังสือเก่า ที่มีมิติใหญ่ยาวไม่ถึง 5 หน้า A4 ฉบับนี้ จะมีคำว่า ‘เพื่อน’ ปรากฏอยู่เพียงสองแห่งเท่านั้น โดยแห่งแรกแทรกตัวอยู่ในประโยคที่ว่า ‘อย่าอวดหาญแก่เพื่อน’ แต่ก็เป็นประโยคที่น่าสังเกตในระดับเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเลยว่า คำว่า ‘อวดหาญ’ คือ อวดกล้า, อวดดี, อวดเก่ง หรืออะไรเทือกๆ นี้เมื่อแปลเป็นภาษาไทยที่ใช้กันในปัจจุบันแล้ว มันก็ควรจะไม่ทำกับใครทั้งนั้นไม่ใช่เหรอครับ ไม่ใช่แค่เพื่อน?
ส่วนคำว่า ‘เพื่อน’ ที่พบอีกแห่งก็เบียดเสียดตัวเองอยู่ในประโยค ‘ที่ทับจงมีไฟ ที่ไปจงมีเพื่อน’ ซึ่งแปลตรงตัวเป็นภาษาปัจจุบันว่า ที่อยู่อาศัย (อันที่จริงแล้ว ‘ทับ’ หมายถึงที่อยู่อาศัยชั่วคราว หรือกระท่อมก็ได้) จงมีไฟ จะไปที่ไหนก็จงมีเพื่อน
ทำไมถึงต้องมีไฟไว้ในที่อยู่อาศัยชั่วคราว ระดับที่ต้องใช้ประโยคคำสั่งว่า ‘จง’ คงจะไม่ใช่ประเด็นในที่นี้ ดังนั้นเราจึงควรสังเกตเฉพาะแค่ในประโยคหลังคือ การจะไปที่ไหนแล้วต้องมีเพื่อน เพราะเอาเข้าจริงแล้วคำว่า ‘เพื่อน’ ในที่นี้ ก็ไม่ได้มีความหมายเฉพาะเจาะจงอีกเช่นกัน
ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ถ้าเราหยิบเอาคำว่า ‘คนรู้จัก’ ไปใส่แทนคำว่า ‘เพื่อน’ ในประโยคที่ว่า ก็ไม่ได้มีผลอะไรต่อภาพโดยรวมของประโยคนี้เลยสักนิด เพราะการจะไปไหนมาไหน (โดยเฉพาะการไปในโลกสมัยโน้น) ถ้ามีคนรู้จักอยู่ที่นั่นด้วย ยังไงมันก็อุ่นใจกว่า (แต่ก็แน่นอนด้วยว่าถ้าคนรู้จักคนนั้น ถูกอัพเลเวลเป็นเพื่อน ที่มีความผูกพันอันดีในระดับที่ลึกซึ้งแล้วมันก็อุ่นใจยิ่งกว่า) ดังนั้นเพื่อนในประโยคนี้จึงอาจจะหมายถึง เพื่อนในคนละความหมายกับปัจจุบันอยู่นั่นเอง
ในขณะที่คำว่า ‘มิตร’ นั้นพบอยู่บ่อยครั้งกว่าในหนังสือฉบับนี้ โดยทั้งหมดนั้นมีแนวโน้มที่หมายถึง เพื่อนที่ดีต่อใจระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็น ‘อย่าเบียดเสียดแก่มิตร ที่ผิดช่วยเตือนตอบ ที่ชอบช่วยยกยอ’ ‘อย่าขอของรักมิตร ชอบชิดมักจางจาก’ ‘ยอครูยอต่อหน้า ยอข้าเมื่อแล้วกิจ ยอมิตรเมื่อลับหลัง ลูกเมียยังอย่าสรรเสริญ’ ‘อย่าชังครูชังมิตร’ และ ‘เมตตาตอบต่อมิตร’
แถมถ้าเราจะลองดูอะไรอื่นที่พูดถึงแนวคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคม จากหนังสือเล่มนี้แล้ว ก็จะเห็นได้ว่ามีลักษณะที่รักษาช่วงชั้น หรือระยะห่างของชนชั้นทางสังคมอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็น ‘ไปเรือนท่านอย่านั่งนาน’ ‘อย่านั่งชิดผู้ใหญ่ อย่าใฝ่สูงให้พ้นศักดิ์’ ‘อย่าขัดแย้งผู้ใหญ่ อย่าใฝ่ให้เกินตน’ ‘ตนเป็นไทอย่าคบทาส’ ‘อย่าผูกมิตรคนจร ท่านสอนอย่าสอนตอบ’ ฯลฯ ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่ไม่ชวนให้นึกไปใกล้ชิดกับใครต่อใครในฐานะเพื่อน ตามความหมายปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นวัยใกล้เคียงกัน หรือต่างวัย ต่างสถานภาพ ต่างฐานันดร และอีกให้เพียบสารพัดไปยาลใหญ่เลยสักนิด
เมื่อนับข้อดีได้อย่างนี้แล้ว ‘เพื่อน’ ในหนังสือเก่าอย่าง สุภาษิตพระร่วง ก็ดูจะมีความหมายค่อนไปทาง companion มากกว่า friend อย่างที่ อ. นิธิว่าไว้จริงๆ นั่นแหละ
แต่ถึงแม้ว่า เจ้าหนังสือเล่มนี้จะมีชื่อว่า สุภาษิตพระร่วง (แถมเนื้อในก็ยังอ้างว่า พระร่วง ทรงแต่งขึ้นเอง จนคนเอาไปโยงกันต่ออีกไกลว่า ‘พระร่วง’ ที่ว่าก็คือ ‘พ่อขุนรามคำแหง’) แต่เมื่อดูจากภาษา และสำนวนที่ใช้แล้ว เจ้าสุภาษิตพระร่วงก็ไม่น่าจะเก่าไปถึงยุคที่คนมักจะสลักตัวอักษรลงไปบนแผ่นหิน อย่างสุโขทัยหรอกครับ แถมยังมีหลักฐานชวนให้เชื่ออีกด้วยว่า สุภาษิตทั้งหมดในนั้นน่าจะเป็นอะไรที่คล้ายๆ กับ ‘quote’ หรือ ‘คำคม’ ของสิ่งมีชีวิตประเภทที่ปัจจุบันเรียกกันว่า ปราชญ์ชาวบ้าน หลายๆ คน ที่ถูกนำมารวบรวม และเรียบเรียงขึ้นแถวๆ วัดโพธิ์ โดยสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เมื่อประมาณรัชกาลที่ 3 นี้เอง
ดังนั้นถึงสุภาษิตพระร่วงจะเป็นหนังสือเก่า ที่มีมาแต่เดิมก่อนที่สังคมไทยจะก้าวเข้าสู่ความทันสมัย แต่ก็ไม่ได้เก่าไปจนถึงสมัยสุโขทัยโน่นเสียหน่อย และการที่มันเก่าไม่มากไปถึงขนาดนั้นนี่เอง จึงทำให้เป็นตัวอย่างที่ดีของ การจำกัดความคำว่า ‘เพื่อน’ ในภาษาไทย ก่อนที่จะกลายไปมีความหมายตรงกับคำว่า ‘friend’ ในภาษาอังกฤษ
เอาเข้าจริงแล้ว ไอ้เจ้าสุภาษิตแบบ ‘เพื่อนกินหาง่าย เพื่อนตายหายาก’ ที่ว่านี่ จึงเป็นทั้งเพื่อนกิน และเพื่อนตายของคนไทยในยุคที่ก้าวเข้าสู่สมัยใหม่ หรือความทันสมัย ตามสำนวนของ อ. นิธิ แล้วนั่นเอง
และถึงแม้สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘เพื่อน’ ของผู้คนในสังคมไทยยุคก่อนที่ล่วงเข้าสู่ความทันสมัย จะมีดีกรีผิวเผิน และชืดชาในระดับของ ‘คนรู้จัก’ ที่มีกันให้เกลื่อนในชีวิตของใครต่อใคร แต่ ‘เพื่อนตาย’ ของคนในยุคโน้นก็คงหาได้ยากกว่าบางคนในยุคนี้อยู่ดีนะครับ
ก็บางคนเขามีเพื่อนตายมากเสียจนมีนาฬิกาหรู 20 กว่าเรือนกันเลยนี่เนอะ