โดยที่ใครๆ มิอาจปฏิเสธว่าโรคระบาด COVID-19 ได้แปรเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันของชาวโลกและชาวไทยอย่างเหลือหลาย สิ่งที่แลเห็นชัดเจนในหลายสัปดาห์ผ่านมาคือ คนต้องกักตัวอยู่กับบ้าน ไม่ได้ออกไปทำงานเหมือนเช่นเคย แต่อาศัยรูปแบบการทำงานจากบ้านหรือ work from home
ว่าถึงการทำงานอยู่บ้านท่ามกลางภาวะโรคระบาด ดูเหมือน ไอแซก นิวตัน (Isaac Newton) จะเป็นบุคคลหนึ่งผู้ถูกพาดพิงในฐานะให้แรงบันดาลใจทำนองแม้ต้องอยู่บ้านก็สามารถทำงานอย่างทรงประสิทธิภาพได้ นิวตันเคยทำงานศึกษาค้นคว้าที่บ้านของตนเองนานถึง 19 เดือน เพราะมหาวิทยาลัยปิดเนื่องจากกาฬโรคแพร่ระบาดในอังกฤษ ซึ่งเป็นช่วงที่เขาพากเพียรพัฒนาแนวคิดเรื่องกฎแรงโน้มถ่วงและแคลคูลัส
เหลียวมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ไทย ประเทศของเราต้องเผชิญและต่อสู้กับโรคระบาดต่างๆ นานามาหลายหน ผ่านสารพัด ‘โรคห่า’ ทั้งไข้ทรพิษ,กาฬโรค และอหิวาตกโรค รวมถึงช่วงต้นทศวรรษ 2460 ไข้หวัดใหญ่หรือ ‘ไข้หวัดสเปน’ ที่อุบัติขึ้นในทวีปยุโรปก็ยังมิเว้นแพร่เข้ามาจู่โจมชาวสยาม เมื่อประสบโรคระบาดเนืองๆ จึงนำไปสู่การที่รัฐให้ความสำคัญกับองค์ความรู้เรื่องสุขาภิบาล ดังในปี พ.ศ. 2461 เจ้าพระยาธรรมศักดิมนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ได้เรียบเรียงหนังสือ การสุขาภิบาลสำหรับบุคคลและครอบครัว เป็นความรู้เรื่องการต่อสู้กับข้าศึกที่เราไม่เห็นตัว โดยตอนหนึ่งเอ่ยถึงวิธีที่ประชาชนจะใช้กำจัดโรคระบาดด้วยการงดติดต่อไปมาหาสู่ ความว่า “ถ้ามีโรคติดต่อร้ายแรงที่เกิดขึ้น ต้องตัดโรคด้วยการงดไปมาติดต่อกับถึงกันเหมือนเวลาดีๆ” หรือจะเรียก ‘รักษาระยะห่างทางสังคม’ (social distancing) แบบปัจจุบันก็คงไม่ผิด และ “ต้องรู้คุณและความจำเป็นของการแยกคนไข้ติดต่อที่ร้าย และการราดยาฆ่าเชื้อโรค
อันที่จริง การประกาศให้คนอยู่บ้าน ไม่ออกไปไหน เพื่อให้เชื้อโรคค่อยๆ ลดการระบาดลงนั้น เกิดขึ้นแต่ครั้งอหิวาตกโรคระบาดสมัยรัชกาลที่ 2 ทว่ายุคนั้นชาวสยามก็อาจมิจำเป็นต้องออกไปทำงานนอกบ้านเท่าไหร่ ครั้นเมืองไทยเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ภาวะสังคมสมัยใหม่ช่วงทศวรรษ 2450 และทศวรรษ 2460 คนจึงเริ่มออกไปทำงานนอกบ้านเพิ่มขึ้น ยิ่งทศวรรษ 2470 เรื่อยมา หาใช่เพียงแค่ผู้ชายเท่านั้นที่ทำงานนอกบ้าน หากมีผู้หญิงจำนวนไม่น้อย
ห้วงยามเกิดโรคระบาด แน่นอน ผู้ที่ป่วยย่อมจะต้องลาจากงานประจำที่เคยทำนอกบ้านแล้วมาเก็บตัวพักผ่อนหรือทำงานจากที่บ้านของตนเอง แต่ผมกลับคิดว่าในประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมา น่าจะยังไม่เคยปรากฏลักษณะ work from home ของผู้คนมากมายได้เทียบเท่าสถานการณ์โควิด-19 ในปี พ.ศ. 2563 เลยกระมัง ช่วงที่ไข้หวัดใหญ่,วัณโรค อหิวาตกโรค และมาลาเรียระบาดในอดีต ผู้ที่ต้องกักตัวทำงานอยู่บ้านก็คือคนที่มีอาการป่วย ส่วนคนไม่ป่วยดูเหมือนจะออกมาทำงานตามปกติ
กรณีคนป่วยเป็นโรค (แม้เป็นโรคประจำตัว มิได้ติดโรคระบาด) จนต้องออกมาอยู่บ้าน แต่ก็สามารถทำงานออกมาได้ประสบความสำเร็จนั้น ผมคิดว่ากลุ่มคนหนึ่งที่เข้าข่ายคือพวกนักเขียน ถ้าลองอ่านชีวประวัตินักเขียนไทย มักพบเรื่องราวการสร้างสรรค์ผลงานประพันธ์ขณะนอนซมล้มป่วยที่บ้านตนเองบ่อยๆ มิหนำซ้ำ ผลงานเหล่านั้นก็ยังมีคุณภาพ ผมใคร่ยกตัวอย่างนักเขียนหญิงคนสำคัญก่อนกึ่งพุทธกาล (พ.ศ.2500) ซึ่งต้องทำงานอยู่บ้านของตนเพราะโรครุมเร้าร่างกาย เธอคือ ร.จันทะพิมพะ
ร. จันทพิมพะเคยทำงานร่วมกองบรรณาธิการที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ ประชามิตร–สุภาพบุรุษ นานกว่าสิบปี ครั้นกิจการสำนักพิมพ์ล้มเลิก เธอก็ไปสมัครทำงานหนังสือพิมพ์ สยามสมัย ประจำโรงพิมพ์ระยะหนึ่งช่วงต้นทศวรรษ 2490 แต่เพราะร.จันทพิมพะเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจพิการ ส่งผลให้สุขภาพทรุดโทรมลงเรื่อยๆ เธอจึงลาออกจากงานมาสร้างสรรค์บทประพันธ์ที่บ้านของตนเองแล้วส่งไปตีพิมพ์ตามหน้านิตยสารต่างๆ แทน อย่างไรก็ดี ระหว่างนั้น ท่านผู้หญิงเชิญ พิศลยบุตร อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสตรีวรนาถ (น่าจะยุคที่โรงเรียนตั้งอยู่แถวบางขุนพรหม ยังไม่ย้ายไปแถวบางเขน) ได้มาชวนร.จันทพิมพะให้เป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษและวิชาอื่นๆ ยกเว้นวิชาเลข ท้ายสุดร่างกายเธอฝืนทนไม่ไหว ต้องลาออกจากครูมาผลิตผลงานประพันธ์อีกหลายๆ ชิ้นที่บ้านประตูน้ำ จนอาการเพียบหนัก ต้องเข้าโรงพยาบาลและถึงแก่กรรม
สิ่งหนึ่งที่ส่งผลกระทบในห้วงยามวิกฤติสงครามโรค COVID-19 ซึ่งคนต้องอยู่บ้าน มิได้ออกไปใช้ชีวิตข้างนอกตามปกติ คงมิพ้นด้านการเรียนการสอนหนังสือระหว่างครูอาจารย์กับนักเรียนนักศึกษาที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบมาสื่อสารผ่านทางระบบออนไลน์ เนื่องจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั้งหลายถูกปิด ชวนให้ผมหวนนึกถึงเมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กล่าวคือ ปลายปีการศึกษา 2484 เนื่องจากช่วงภาวะสงคราม นักเรียนไม่ค่อยได้ไปเรียนหนังสือจนเวลาเรียนไม่พอ ทางกระทรวงศึกษาธิการจึงออกคำสั่งให้งดการสอบไล่ของนักเรียนทุกชั้น ถ้าเข้าเรียนร้อยละ 60 และชำระค่าเล่าเรียนเรียบร้อย ก็นับเป็นผลการสอบไล่ผ่าน ตอนนั้นจึงเกิดคำว่า ‘หกโตโจ’ อันหมายถึงนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่สอบไล่ผ่านในปีที่กองทัพญี่ปุ่นยกทัพเข้าประเทศ ‘โตโจ’ ก็มาจากชื่อแม่ทัพทหารญี่ปุ่นคือ นายพลฮิเดกิ โตโจ
ล่วงปลายปีการศึกษา 2485 ในระหว่างสงคราม กรุงเทพฯ และหลายจังหวัดยังประสบภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่จนต้องปิดโรงเรียนประมาณหนึ่งเดือนครึ่ง จึงให้มีการจัดสอบก่อนสอบไล่จริง 3 เดือน เดือนละครั้ง เพิ่มคะแนนให้ครั้งละ 1% ครั้นสอบไล่จริง ก็ใช้เกณฑ์สอบได้ร้อยละ 45 ถือว่าสอบไล่ผ่าน ทำให้มีนักเรียนสอบไล่ผ่านเยอะโข
จะว่าไป การเรียนหนังสืออยู่ที่บ้านตนเองมิใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรหรอก ปัจจุบันนี้อาจจะสะดวกกว่าในแง่ที่มีระบบสื่อสารทางออนไลน์รวดเร็วฉับไว อาจารย์สอนนักเรียนแบบเห็นหน้าค่าตากันได้ผ่านทาง Zoom หรือทาง Microsoft Teams แต่คนไทยในอดีตก็เคยเรียนหนังสือวิชาต่างๆอยู่ที่บ้านผ่านทางไปรษณีย์ ผมสังเกตว่านับแต่ทศวรรษ 2470 และทศวรรษ 2480 เรื่อยมา การเรียนทางไปรษณีย์แพร่หลายยิ่งนัก พบโรงเรียนเปิดสอนหลายแหล่ง เช่น โรงเรียนกรุงเทพอังกฤษศึกษา ถนนสี่พระยา พระนคร เปิดสอนวิชาภาษาอังกฤษและทำการบัญชี มีหลักสูตร ได้แก่ ภาษาอังกฤษเรียนเร็ว 1 ปี, ภาษาอังกฤษเรียน 3 ปี และการทำบัญชีเรียน 6 เดือน ใครสนใจ สามารถขอรับระเบียบการของหลักสูตรฟรี เว้นแต่หลักสูตรภาษาอังกฤษเรียน 3 ปี พึงส่งแนบแสตมป์ 6 สตางค์มาด้วย
ปณิธานของโรงเรียนกรุงเทพอังกฤษศึกษาคือ ปรารถนาให้ ‘บ้านเป็นโรงเรียน’ ดังโฆษณาผ่านหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ความว่า “ท่านต้องการรู้ภาษาอังกฤษหรือบัญชีดี จงสมัคร์เรียนทางไปรษณีย์ที่โรงเรียนนี้ ซึ่งได้ตั้ง ๑๑ ปีเศษและได้รับความนิยมจากนักเรียนทั่วไป การเรียนทางไปรษณีย์ก็เท่ากับท่านสร้างโรงเรียนขึ้นที่บ้านของท่าน, ซึ่งจะทำให้ทุกคนในครอบครัวของท่านพอใจ.”
ขณะโรงเรียนวิชัยวิทยา ถนนสมเด็จเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี เปิดสอนวิชาการบัญชีทางไปรษณีย์ทั่วราชอาณาจักร โดยแนบบัตรไว้กับประกาศในหนังสือพิมพ์เพื่อให้ตัดบัตรนี้ส่งมาขอระเบียบการของหลักสูตรฟรี
อีกโรงเรียนริมถนนสมเด็จเจ้าพระยาที่มุ่งเน้นสอนภาษาอังกฤษทางไปรษณีย์คือโรงเรียนอักษรศาสตร์วิทยาลัย เสนอแนวการสอนวิธีใหม่เรียกว่า ‘Good English’ ใช้ตำรา 60 เล่มช่วยทำให้สามารถอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษได้ภายในเวลา 1 ปี ถ้าใครสมัครเรียนจะแจกปทานุกรมภาษาอังกฤษ 1 เล่ม
ส่วนโรงเรียนสุวิทยาสามัญศึกษา เลขที่ 769 ถนนหลานหลวง พระนคร เปิดสอนวิชาสามัญทางไปรษณีย์ให้แก่ชายหญิงทั่วประเทศ ยึดตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 การสมัครเรียนที่นี่ยังถือว่าได้ช่วยสร้างชาติ นั่นเพราะ
“บทเรียนของโรงเรียนนี้ พิมพ์ด้วยกระดาษไทย และใช้หมึกไทยซึ่งประกอบขึ้นด้วยวัตถุดิบอันเกิดขึ้นในประเทศล้วน เมื่อท่านเปนนักเรียนของโรงเรียนสุวิทยาแล้ว นอกจากได้ความรู้ดี ยังได้ชื่อว่าเปนผู้มีส่วนในการช่วยสร้างชาติด้วย จงสมัครเรียนที่โรงเรียนสุวิทยา เพราะครูดี_บทเรียนดี_ระเบียบดี_มีวิธีสอนดี_ ท่านไม่ต้องกังวลถึงการเรียนไม่สำเร็จ โรงเรียนนี้มีหลักฐานมั่นคงดีที่สุด ผู้ที่ยังสงสัย ขอระเบียบการได้ฟรี โรงเรียนจะส่งให้ถึงที่อยู่ทั่วประเทศไทย จงแจ้งสถานที่ไปให้ชัดเจน”
วิชาทางช่างก็เปิดสอนทางไปรษณีย์ สำนักงานตั้งอยู่ละแวกวังกรมพระสมมต เสาชิงช้าและสำราญราฎร์ หลักสูตรมีทั้งวิชาวาดเขียนแบบแปลน, ช่างก่อสร้าง, ช่างทาง, ช่างเทศบาล,ช่างแผนที่,ช่างกล,ช่างยนต์, ช่างแก้นาฬิกา,ช่างไฟฟ้า,ช่างโทรเลข,ช่างโทรศัพท์,ช่างตัดเสื้อ,ช่างสุขา,ช่างรถไฟ,ช่างชลประทาน และช่างการประปา ดังโปรยถ้อยคำโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ว่า
“สำหรับประเทศเรากำลังเจริญนี้ พวกที่มีความรู้ในวิชาช่างจะมีโอกาสเข้าทำงาน ส่วนคนที่ไม่มีความรู้ซึ่งสมัยก่อนในเมื่อยังไม่มีคนที่ได้รับการศึกษาวิชาช่าง กรมบางกรมก็จำต้องบรรจุไว้ก่อน มาสมัยนี้ คนเหล่านี้ก็จะต้องระบายออกไปตามอายุขัย พวกที่มีความรู้ช่างก็จะมีโอกาสก่อนผู้อื่นเข้าแทน
กรมโยธาฯ จึงมีการสอบวิชาช่างแก่ผู้ที่มีความรู้ไม่จำกัด สอบทั่วๆ ไป อัตราเงินเดือน ๕๕ บาท แต่กระนั้นก็ดีก็ยังขาดช่างอยู่มาก จะมีการสอบกันอีกเสมอไป
กรมอื่นๆ เล่า ก็ยังมีงานอีกมากซึ่งรอท่านที่มีความรู้วิชาช่าง เงินเดือน ๓๐-๔๕-๖๐ บาทจนถึง ๑๑๐ บาท ก็ยังมีโอกาสอยู่สำหรับผู้ที่รู้วิชาช่าง เว้นแต่ท่านไม่รู้จักหางาน ไม่อดทนมานะ คอยแต่จะเอางานสบายๆจึงลำบาก ท่านจะไปเอาอย่างสมัยก่อนจะไปได้ละหรือ?
ฉะนั้น จงเสี่ยงโชคเรียนวิชาช่างณะบัดนี้ ก็จะมีหวังความรุ่งโรจน์ในชีวิตของตน การศึกษาไม่เคยทำให้มนุษย์ถึงกับสิ้นเนื้อเหมือนการพนัน เวลาว่างวันละชั่วโมง ก็พอจะทำให้ท่านก้าวหน้าขึ้นได้ ขอให้เรียนกันจริงๆเถิด ต้องได้รับประโยชน์อย่างแน่นอน
ฉะนั้น จงขอระเบียบการฟรีโดยเร็ว สอนโดยนายช่างปริญญาแห่งอังกฤษ ไม่จำกัดความรู้ในวิชาเหล่านี้”
ทางโรงเรียนยังหยิบยกคำรับรองของนายช่างรถไฟมาแสดงไว้ด้วยว่า “ข้าพเจ้าทราบเรื่องโรงเรียนช่างทางไปรษณีย์ได้ดี ซึ่งนับว่าเปนโรงเรียนแรกในสยามประเภทนี้ ที่เท่ากับช่วยเหลือราชการ,ประเทศ,ชาติ เปนทางอ้อมในการที่ทำให้คนมีความรู้ขึ้น จะใช้คน ผู้ใช้ก็สบาย ราชการก็ดีขึ้น เร็วก็เร็ว ไม่ต้องมัวจ้ำจี้จ้ำไชกัน เงินหลวงก็ประหยัดลง ฝรั่งเขาพยายามอุ้มชูผู้ที่เอาใจใส่ในการเรียนก็เพราะเหตุนี้ เราถึงเวลาแล้วที่จะสนับสนุนผู้ที่รักการศึกษาให้มากๆ รู้สึกดีใจด้วยที่คนในบังคับบัญชาของข้าพเจ้าหลายคนได้เปนนักเรียนของโรงเรียนนี้ ข้าพเจ้ารับรองว่าจะสนับสนุนในเมื่อมีโอกาส จริงอยู่ใบประกาศนียบัตร์ของท่านเปรียบเหมือนใบนำทาง จะให้ถือเป็นวิทยถานะไม่ได้ แต่ถ้าผู้ใดถือใบนำทางของท่านมา ถ้างานใดอยู่ในอำนาจของข้าพเจ้า และมีตำแหน่งว่างข้าพเจ้าก็จะสอบ และจะบรรจุให้ตามอำนาจของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าเข้าใจว่าผู้ที่ได้รับการศึกษาสูงมาแล้วคงจะยินดีสนับสนุนผู้ที่รักการศึกษาทั่วๆ ไปเป็นแน่”
ในปี พ.ศ. 2490 ใครใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียนคงจะยิ้มแก้มปริ เพราะเปลื้อง ณ นคร เจ้าของนามแฝงนายตำรา ณ เมืองใต้ได้จัดตั้งโรงเรียนการประพันธ์ทางไปรษณีย์ โดยเชิญนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ผู้โด่งดังมาเป็นที่ปรึกษา ไม่ว่าจะยาขอบ (โชติ แพร่พันธุ์), เรียมเอง (มาลัย ชูพินิจ), สันต์ เทวรักษ์, ถนอม มหาเปารยะ และสุภา ศิริมานนท์ มีมาผู้สมัครเรียนมากมาย เปลื้องยังเรียบเรียงหนังสือ คำบรรยายโรงเรียนการประพันธ์ (ทางไปรษณีย์) ตีพิมพ์เผยแพร่ โรงเรียนการประพันธ์ทางไปรษณีย์เปิดสอนอยู่แค่ 3 ปีก็มีอันล้มเลิกไป
การเรียนหนังสือทางไปรษณีย์ปรากฏในสังคมไทยถัดมาอีกหลายสิบปี สักทศวรรษก่อน ผมยังพบเห็นลักษณะการเรียนหนังสือรูปแบบนี้อยู่ แต่ปัจจุบัน การเรียนการสอน กระทั่งการทำงานจากที่บ้านผ่านระบบออนไลน์น่าจะสะดวกที่สุด แทบกล่าวได้ว่า สถานการณ์วิกฤติ COVID-19 หากไร้ซึ่งระบบออนไลน์ เราๆ ท่านๆ ก็คงย่ำแย่ไม่เบาทีเดียว ฉะนั้น โปรดฉวยใช้เทคโนโลยีมาเสริมสร้างกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดคุณประโยชน์ระหว่างอยู่บ้านเถิดหนา
เอกสารอ้างอิง
ณรงค์ จันทร์เรือง. เย็นน้ำหมึก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554
ด้วยความรักแด่ ร.จันทพิมพะ. รวบรวมโดย พิมพา ปิณฑะสุต. พระนคร: ม.ป.ท., 2498
ธรรมศักดิมนตรี, เจ้าพระยา. การสุขาภิบาลสำหรับบุคคลและครอบครัว เป็นความรู้เรื่องการต่อสู้กับ
ข้าศึกที่เราไม่เห็นตัว. ม.ป.ท. : ม.ป.พ., 2461
ประชาชาติ (27 สิงหาคม 2480)
ประชาชาติ (13 กันยายน 2480)
ประชาชาติ (22 ธันวาคม 2480)
ปราณี พรหมจรรย์. วิเคราะห์เรื่องสั้นของ “ร. จันทพิมพะ” ในแง่กลวิธีการแต่ง ศิลปะการใช้ภาษา
และแนวคิด. ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา, 2531
เปลื้อง ณ นคร. คำบรรยายโรงเรียนการประพันธ์ (ทางไปรษณีย์). พระนคร: ไทยวัฒนาพานิช, 2492.
รอง ศยามานนท์ และคณะ. ประวัติกระทรวงศึกษาธิการ (2435 – 2507). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์คุรุ
สภา, 2507.
ลาวัณย์ โชตามระ. ชีวิตชาวกรุงสมัยค่อนศตวรรษมาแล้ว และชีวิตชาวกรุงสมัยสงคราม.กรุงเทพฯ:
แพร่พิทยา, 2527
หลักเมือง (20 ตุลาคม 2483)