ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาได้ยกระดับทลายเพดานชนิดวันต่อวัน อาทิตย์ต่ออาทิตย์ จน ณ เวลานี้ เสียงเรียกร้องวิพากษ์วิจารณ์ได้ส่งตรงไปสู่สถาบัน หรือผู้ทรงอำนาจสูงสุดในสังคมไทย อย่างพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนครับว่า หัวขบวนของความเคลื่อนไหวไม่ได้เป็นนักคิด-นักเขียน-ศิลปิน ใดๆ แต่กลับเป็นนักเรียน-นักศึกษา-ประชาชนธรรมดาผู้ใช้ถ้อยคำสามัญประกาศความคิด ที่เมื่อก่อนหน้านี้เราทำได้แต่เพียงรำพึงในใจ ในที่รโหฐาน หรือเอื้อนเอ่ยออกมาผ่านการอุปมาอุปไมยและระบบสัญลักษณ์ซ่อนนัยที่รัดกุมของบทกวีและวรรณกรรมเท่านั้น
เหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้แม้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นยินดี แต่ในอีกทางก็ก่อให้เกิดคำถามมากมายติดตามมาว่า ศิลปะและงานสร้างสรรค์ทั้งหลายจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างไร? มันยังคงมีความหมายในตัวเอง หรือพลังในการเปลี่ยนแปลงความคิดใดๆ อีกหรือไม่? และเป็นไปได้ไหมว่า การสร้างสรรค์นี้ได้ถูกถ่ายโอนไปสู่ประชาชนคนธรรมดาและไม่ได้จำกัดอยู่ในมือของนักเขียนและศิลปินชั้นนำอีกต่อไป?
เพราะชัดเจนว่า ความท้าทายของนักศึกษาประชาชนไม่ได้จำกัดแต่เพียงแค่ผู้มีอำนาจ (เช่นประมุขของรัฐ รัฐบาลเผด็จการ หรือกองทัพ) แต่คงรวมไปถึงผู้ทำงานสร้างสรรค์ทั้งหลายที่มีไม่น้อยขอเลือกยืนอยู่รั้งท้ายขบวนความเปลี่ยนแปลง
อย่างเหตุการณ์ที่ได้สร้างข้อถกเถียงกันและบทสะท้อนถึงวิกฤตปัญหาในโลกศิลปะและความสร้างสรรค์ ก็คือเรื่องที่มีผู้ประท้วงรายหนึ่งได้ใช้สีน้ำเงินสาดใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ จนได้มีนักเขียน-ศิลปิน รวมถึงนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยหลายคนออกมาแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ว่า ‘ไม่เหมาะสม’ ‘เป็นความรุนแรง’ หรือ ‘ไม่เป็นศิลปะ’ เหมือนเช่นที่เจ้าตัวอ้าง เพราะไม่ครบเงื่อนไขหนึ่งสองสามสี่ที่จะเรียกว่าเป็น ‘งานศิลป์’ หรือหากเป็นได้ก็เพียงแค่ ‘งานหยาบ’ ขาดความครุ่นคิดพินิจลึก
จนฟังดูคล้ายว่านักเขียน-ศิลปินเหล่านี้ ปกป้องพรมแดนของความเป็นศิลปะด้วยการตัดสินว่า การสาดสีดังกล่าว เป็นการแสดงออกที่รุนแรงและขาดความคิดที่รอบคอบ ซึ่งหลายข้อวิจารณ์เป็นทั้งการสร้างข้อจำกัดและตีกรอบให้ศิลปะโดยเฉพาะศิลปะทางการเมืองต้องวางอยู่ในกรอบของความสุภาพและความสงบเรียบร้อย จนเลยเถิดไปถึงการเรียกร้องความชอบธรรมให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่โดนสาดสี
แน่นอนว่าอะไรที่ขึ้นชื่อว่า ‘ประวัติศาสตร์’ มันก็ย่อมเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ยอกย้อนและขันขื่นเสมอ เพราะภายในไม่กี่วันหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับการปกป้องอุ้มชูโดยนักเขียน ศิลปิน และนักเคลื่อนไหวจำนวนหนึ่งก็ได้ใช้สีน้ำเงินจากเงินภาษีของประชาชน ฉีดพ่นใส่ผู้ประท้วงที่นั่งชุมนุมกันอยู่โดยสงบ หลายคนก็เป็นเพียงนักเรียนชั้นมัธยมเพียงเท่านั้น
หลากประเด็นที่เป็นดราม่าในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้เอง ดูจะสอดคล้องต้องตรงกับผลึกความคิดในหนังสือเล่มๆ ของอัลแบรต์ กามูส์ (Albert Camus) ที่มีชื่อว่า ‘Create Dangerously[1]’ ซึ่งแม้จะถูกเขียนขึ้นเมื่อครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา หากยังคงทันสมัยและเข้ากับเหตุการณ์ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
‘Create Dangerously’ มาจากบทความประกอบคำบรรยายที่ชื่อ The Artist in His Times ซึ่งกามูส์ได้พูดไว้ที่มหาวิทยาลัยอุบซาลา ประเทศสวีเดนในปี ค.ศ.1957 หรือภายหลังจากเขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม[2]
กามูส์ได้เริ่มต้นกล่าวถึงสถานะและความปรารถนาของปราชญ์จากโลกตะวันออกในอดีต ที่ต้องการเพียงแค่ความสงบและการดำรงอยู่ซึ่งไกลห่างจากผลประโยชน์ใดๆ ทั้งปวง โดยเขาเห็นว่ามันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับนักเขียนในโลกปัจจุบัน ที่แม้แต่การเงียบหรือไม่แสดงออกใดๆ ต่อเหตุการณ์หนึ่งๆ สามารถตีความได้เท่ากับแสดงออก ยอมรับ หรือแม้แต่จุดยืนร่วมบางอย่าง
การไม่เลือก
คือการเลือกในแบบหนึ่ง
เป็นสิ่งที่เกิดแก่นักเขียน-ศิลปินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การก้าวเข้ามาในพรมแดนนี้ดูเหมือนมีหน้าที่ให้เราต้องแสดงออก หรือไม่สามารถคิดเบาๆ ได้อีกต่อไป
มากกว่าบทบาทมันคือ ‘พันธะผูกพัน’ ตัวเราในฐานะของผู้สร้างสรรค์ ที่ต้องจับฝีพายบ่ายหน้าไปสู่มหาสมุทรที่บ้าคลั่ง ต้องมีชีวิตรอด และสร้างสรรค์ตราบจนสิ้นลมหายใจ
ศิลปะคือความเสี่ยงในทุกฝีก้าวของชีวิต เพราะไม่เพียงแต่ไม่มีหลักประกันเรื่องความคิดและฝีมือที่เที่ยงแท้แน่นอน ก็ยังรวมไปถึงความมั่นคงทางการเงินอีกด้วย ศิลปินนักเขียนที่เคยยืนอยู่บนอัฒจันทร์ เพื่อเปล่งเสียงแซ่ส้องเพื่อปลุกใจคนสู้สิงโต หรือคอยล่อหลอกและกล่อมสิงโตให้คลายความกระหายเลือดลง เหมือนถูกผลักลงมาสู่ลานต่อสู้ด้านล่าง และเสียงอันก้องกังวานของพวกเขาก็ค่อยๆ เบาลงพร้อมๆ กับความหวาดกลัวที่เพิ่มมากขึ้น
กามูส์พยายามชี้ให้เห็นถึงสถานะและบทบาทของนักเขียนและศิลปินที่อยู่ในสภาพเสี่ยงภัยตั้งแต่แรกเริ่ม การหาสิ่งยึดเหนี่ยวหาความมั่นคง การเขียนงานเอาใจตลาด หรือผู้มีอำนาจในสังคมก็เป็นสิ่งแรกๆ ที่นักเขียนและศิลปินจำนวนมากพยายามไขว่คว้า ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราในปัจจุบันย่อมมองเห็นและเข้าใจได้ แต่ในมุมมองของเขา
การสร้างสรรค์ผลงานโดยหวังความมั่นคงในชีวิตตนเอง
ย่อมจะปราศจากความหมายใดๆ
หากผลงานของเรานั้นปราศจากความแหลมคมท้าทาย
“อะไรคือสิ่งที่ศิลปะพูดออกจริงๆ หากมันเป็นสิ่งที่ต้องเป็นไปตามที่คนในสังคมส่วนใหญ่ปรารถนา ศิลปะนั้นก็คงเป็นได้เพียงแค่ความบันเทิงที่ปราศจากแก่นสาร ถ้าศิลปินปฏิเสธสังคมอย่างไม่ลืมหูลืมตาและเลือกปลีกวิเวกตนเองในความฝัน พวกเขาก็จะไม่สามารถแสดงออกใดๆ นอกจากการเป็นปฏิปักษ์ เราก็คงมีเพียงงานเพื่อความบันเทิง หรือไม่ก็ผลงานที่เป็นเลิศในทฤษฎีแห่งแบบ[3] ซึ่งทั้งสองแบบตัดขาดออกจากความเป็นจริงของชีวิต” (Create Dangerously, 12)
สำหรับกามูส์แล้ว สิ่งที่เรียกว่า ศิลปะเพื่อศิลปะ (art for art’s sake) ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความพยายามของศิลปินในการตัดขาดจากโลกความจริง แต่ยังทำให้เขารู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง และในทางกลับกันก็ทำให้พวกเขารู้สึกเป็นเหมือนพระเจ้าที่สร้างโลกลวงตาขึ้นมาเพื่อปกครองและควบคุมด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ เพราะพวกเขาได้สร้างโลกความเป็นจริงของตนเองขึ้นมา โดยไม่สนใจว่าโลกนี้จะสัมพันธ์ข้องเกี่ยวกับโลกความเป็นจริง จริงๆ อย่างไร จึงไม่แปลกที่นักเขียน-ศิลปินบางคนจะสถาปนาตน เพื่อปกครองดินแดนนามธรรมเหล่านี้ ผ่านการชี้วัดตัดสินว่าอะไรคือศิลปะไม่ศิลปะ หรือวรรณกรรมไม่วรรณกรรม
ความมีเสรีภาพถึงที่สุดแล้วอาจไม่ใช่สิ่งที่สำคัญสูงสุดสำหรับศิลปิน ที่จริงๆ แล้วเขาควรทำหน้าที่เป็นเหมือนหน่วยจู่โจม เพื่อทลายเพดานและกรอบจำกัดทางความคิดนั้น เหมือนดังคำกล่าวของนักปรัชญาชาวอเมริกัน ราล์ฟ วัลดู อีเมอร์สัน (Ralph Waldo Emerson) ที่ว่า ‘ทุกกำแพงคือประตู’
แต่การอยู่ในโลกแห่งความคิดและจินตนาการเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่ช่วยให้เราเห็นเส้นแบ่งและกำแพงต่างๆ การเอาตาและตีนไปในโลกแห่งความจริง จึงเป็นความจำเป็นอย่างมากสำหรับกามูส์ และอาจเป็นภาคบังคับของคนทำงานสร้างสรรค์ ที่ถึงที่สุดแล้วต้องพยายามเข้าใจความจริงรอบๆ ตัวเราเอง ที่บางครั้งเป็นเสียงสนทนาของผู้คนธรรมดาสามัญ เพื่อนมนุษย์ผู้มีชีวิตร่วมโลกใบเดียวกับเรา มีความสุขทุกข์ เจ็บปวด และความตายเหมือนเช่นเดียวกันกับเรา แต่เราอาจไม่เคยมองเห็น
หน้าที่และภาระของศิลปินจึงไม่ใช่การต่อสู้เพื่อหลักการของตนเอง อำนาจ หรือชนชั้นปกครอง แต่คือมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ ซึ่งเราอาจใช้คำกล่าวของกามูส์ในย่อหน้าสุดท้ายของ Create Dangerously เป็นบทสรุปของปริทัศน์ชิ้นนี้ด้วยว่า
“บางคนพูดว่าความหวังดังกล่าวนำพามาจากความเป็นชาติ จากใครคนใดคนหนึ่ง แต่ผมกลับเชื่อไปในทางตรงข้ามว่า ความหวังนี้ถูกปลุกขึ้นมา คงอยู่ได้ด้วยปัจเจกนับล้านผ่านข้อตกลงและการกระทำในทุกๆ วัน การทำลายพรมแดนกั้นขวางและแข็งขืนยืนหยัดต่อห้วงเวลาที่เลวร้ายในประวัติศาสตร์ เพื่ออนุญาตให้ความจริง ที่มักจะเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงอันตราย ได้เจิดจ้าปรากฏ กระทั่งได้โบยบินออกไป ความจริงที่ปัจเจกทั้งหลายได้สร้างขึ้นเพื่อเราทุกคน สร้างสรรค์ขึ้นทั้งจากความทุกข์ตรมและสุขสม” (Create Dangerously, 46)
อ้างอิงข้อมูล
[1] ฉบับพิมพ์ล่าสุดในปี ค.ศ.2019 โดยสำนักพิมพ์ Vintage เป็นสำนวนแปลใหม่โดยแซนดรา สมิธ (Sandra Smith)
[2] อัลแบรต์ กามูส์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อตอนที่เขามีอายุได้ 44 ปี และภายหลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปีเขาก็เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ ความตายของเขามักถูกนำไปอธิบายแนวคิดเรื่องความไร้แก่นสารแห่งชีวิต (Absurd) โดยที่หลายคนเกือบจำไม่ได้แล้วว่าในช่วงท้ายของชีวิตกามูส์นั้นเขาพยายามต่อสู้กับปรัชญาที่มีลักษณะแบบสุญนิยม (Nilhilism) ที่ปฏิเสธคุณค่าและสาระสำคัญต่างๆ ของการดำรงอยู่
[3] Theory of Form ในที่นี้น่าจะอ้างอิงถึงโลกแห่งแบบ โลกแห่งอุดมคติของเพลโต (Plato) ซึ่งเป็นแนวคิดที่อธิบายว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นและเป็นจริงบนโลกใบนี้ถูกถอดออกมาจากโลกแห่งแบบ แต่ก็ไม่มีความสมบูรร์มากเท่า ข้อวิจารณ์ต่อนักเขียนและศิลปินกลุ่มนี้เน้นไปที่กลุ่มความเคลื่อนไหวแบบเซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism) ที่กามูส์เล็งเห็นว่ามีความน่าสนใจ แต่เป้าหมายปลายทางของกลุ่มดังกล่าวยังคงขาดความเชื่อมโยงกับสังคมและโลกความเป็นจริง