“กินขี้หมาดีกว่าค้าความ”
(ค้าความ หมายถึง การชอบมีคดีความหรือหาเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาล)
หลายคนอาจเคยได้ยินสุภาษิตไทยประโยคนี้ (ซึ่งอันที่จริงมีต้นกำเนิดจากสุภาษิตจีนอีกที) กันมาบ้าง สุภาษิตที่ว่านี้แสดงถึงนิสัยของคนไทยที่พยายามหลีกเลี่ยงเป็นคดีความกับคนอื่น เพราะถือว่าเป็นเรื่องอัปมงคล ไม่ก่อให้เกิดผลดีแก่ตัวเอง รังแต่จะนำพาความเดือดร้อนมาให้ หรือไม่ก็สูญเสียเวลาและทรัพย์สินไปเปล่าๆ ปลี้ๆ ดังนั้น เวลามีเรื่องมีราวอะไร คนไทยส่วนใหญ่ (รวมถึงตัวเราเองด้วยแหละนะ) ก็มักจะยอมๆ หยวนๆ กันไป ถ้าพอไกล่เกลี่ยตกลงกันได้ ก็ตกลงกันไป หรือถ้าตกลงกันไม่ได้ สุดท้ายต้องกลายเป็นผู้เสียหาย หรือโดนเอารัดเอาเปรียบ ก็มักจะคิดเสียว่าเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรมไปโน่น
แต่ศิลปินหนุ่มอย่าง ธิติบดี รุ่งธีรวัฒนานนท์ หาได้คิดเช่นนั้นไม่ เนื่องด้วยเหตุการณ์ในวันหนึ่ง เขาตัดสินใจสั่งซื้อเครื่องปรับอากาศ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘แอร์’ ผ่านช่องทางออนไลน์ จากการได้เห็นโฆษณาจากเพจเฟซบุ๊กของบริษัทค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านชื่อดังแห่งหนึ่ง ที่ประกาศโปรโมชั่นลดกระหน่ำหั่นแหลก ภายในวันเดียวเท่านั้น จากแอร์ราคาสองหมื่นนิดๆ ลดเหลือเก้าพันกว่า ในวงเล็บว่า (ราคานี้รวมค่าติดตั้ง) ช่างเป็นอะไรที่คุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม (จริงมะ?)
แต่ความเป็นจริงไม่ได้หอมหวานขนาดนั้น เพราะพอถึงวันที่พนักงานขนแอร์มาส่งที่อพาร์ตเมนต์ของธิติบดีเสร็จ พวกก็ทำท่าจะสะบัดตูดกลับไปโดยไม่มีทีท่าว่าจะติดตั้งแอร์ให้เขาแต่อย่างใด เมื่อเขาทักท้วง พวกก็ชี้ให้ดูข้อความเล็กๆ ในใบเสร็จรับเงิน/ใบส่งของที่เขาเพิ่งเซ็นรับไปว่า “สินค้าไม่รวมประกอบติดตั้ง” (นะจ๊ะ)
แถมยังบอกอีกว่า พวกเขาเป็นแค่พนักงานส่งของ ติดตั้งแอร์ไม่เป็น ถ้าไม่พอใจก็โทรไปร้องเรียนกับบริษัท หรือไม่ก็ไปจ้างช่างมาติดเอาเอง เชื่อว่าหลายคนคงเคยเจอเหตุการณ์ทำนองนี้มาบ้าง ไม่มากก็น้อย ตัวเราเองก็เคยเจอเหมือนกัน ซึ่งแน่นอนว่าโดยส่วนใหญ่ เราต่างก็ “ยอมๆ หยวนๆ กันไป” ถือซะว่าฟาดเคราะห์ก็แล้วกัน
แต่ธิติบดีไม่ได้คิดเช่นนั้น เพราะหลังจากที่เขาโทรไปร้องเรียนที่บริษัทดังกล่าว และไม่เห็นว่าจะทางบริษัทจะมีปฏิกิริยาหรือทีท่าจะดำเนินการอะไรให้สักอย่าง เขาจึงตัดสินใจเดินทางไปยื่นเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตามประสาผู้บริโภคที่เดือดร้อนจากการโดนแหกตาและเอารัดเอาเปรียบ แต่รอแล้วรอเล่าก็ไม่เห็นจะเกิดมรรคผลอันใดขึ้นมา
ด้วยความอัดอั้นตันใจ ธิติบดีจึงไปสมัครเป็นสมาชิกเว็บบอร์ด Pantip และนำเรื่องราวนี้ไปโพสต์เป็นกระทู้ โดยหวังว่ามันอาจจะกลายเป็นกระแสสังคมจนทำให้เกิดอะไรขึ้นได้บ้างเหมือนอย่างคนอื่นเขา ซึ่งแม้กระทู้จะเป็นกระแสและมีคนแชร์กันเยอะจริง แต่ก็อยู่ได้ไม่กี่วัน ก่อนที่โดนแบนไป เคราะห์ดีที่ก่อนหน้านั้น มีผู้เล่นเว็บบอร์ดคนหนึ่งส่งข้อความแนะนำเขาให้ไปฟ้องศาลแผนกคดีผู้บริโภคแทน เขาจึงเดินทางไปที่ศาลจังหวัดมีนบุรี แต่ที่นั่นรับฟ้องคดีที่มีความเสียหายในมูลค่าสูงกว่าค่าเสียหายในการจ้างช่างมาติดตั้งแอร์เองของธิติบดี ที่มีมูลค่าเพียงแค่ 3,000 บาทเท่านั้น เขาจึงต้องเดินทางไปยื่นฟ้องที่ศาลผู้บริโภค ในเขตดินแดงแทน
หลังจากที่ธิติบดียื่นฟ้องศาล จนถึงตอนที่ศาลรับเรื่อง และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี อยู่ดีๆ ทางบริษัทดังกล่าวก็โทรติดต่อเขาทันที เพื่อนัดไกล่เกลี่ย (ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ทำเหมือนไม่รู้จักเบอร์โทรเขาด้วยซ้ำไป สงสัยจะได้รับหมายศาลแล้วอ่ะนะ) โดยแจ้งว่าทางบริษัทยินดีจะคืนเงินค่าติดตั้งแอร์ให้เขาทันที แถมยังใจป้ำ นำเสนอ “กิ๊ฟต์ว้าวเช่อร์” มูลค่า 3,000 บาท มอบให้เขาไปจับจ่ายซื้อสินค้าของบริษัทได้ตามใจปรารถนา แต่อนิจจา น่าเสียดายที่ธิติบดีไม่ยินดีตอบรับข้อเสนออันสุดแสนจะเย้ายวนนี้ และตัดสินใจปล่อยให้ศาลเป็นผู้พิจารณาติดสินคดีนี้แทน
ซึ่งบทสรุปหลังจากที่เขาดิ้นรนต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในฐานะผู้บริโภคของตนเองเป็นเวลา 5 เดือน สิ่งที่เขาได้รับจากการตัดสินคดีนี้ก็คือค่าเสียหายในการติดตั้งแอร์จำนวน 3,000 บาท กับค่าเยียวยาจากการเสียเวลา ค่าเดินทาง รวมถึงความบอบช้ำทางจิตใจเป็นเงินจำนวน 1,000 บาทถ้วน ซึ่งตัวแทนบริษัทดังกล่าวก็ควักเงินสดจ่ายให้ต่อหน้าต่อตาศาลในวันที่ตัดสินคดีนั้นเลยทันทีทันใด (ใจป้ำจริง อะไรจริง!)
แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียที ในฐานะที่เป็นศิลปินรุ่นใหม่ผู้มีความยียวนกวนโอ้ยที่สุดในแวดวงศิลปะไทย ธิติบดีจึงหยิบเอากระบวนการต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมในการซื้อแอร์ของเขาครั้งนี้มาทำเป็นงานศิลปะมันเสียเลย โดยจัดแสดงในอพาร์ตเมนต์ของเขา และผลงานที่ว่านี้ประกอบขึ้นเป็นนิทรรศการที่มีชื่อว่า
‘THE AIR’
ที่จัดแสดงในห้อง 276 บนชั้น 6 ของ ‘ดอนเจดีย์แมนชั่น’ อพาร์ตเมนต์เก่าแก่ทรุดโทรม ที่ธิติบดีใช้เป็นสตูดิโอทำงานและที่พักของเขา (ด้วยความที่ลิฟต์ของอพาร์ตเมนต์เสียอย่างน่าจะถาวร ทำให้การเดินขึ้นบันไดหกชั้นไปดูงานในนิทรรศการนี้ออกจะเป็นอะไรที่วัดใจมิตรรักแฟนศิลป์ของเขาอยู่ไม่น้อย)
ภายในห้องจัดแสดงผลงานภาพวาด(เกือบ)เหมือนจริง ที่จำลองชิ้นส่วนของสิ่งละอันพันละน้อยที่เป็นส่วนประกอบของกระบวนการเรียกร้องความยุติธรรมอันเนิ่นนานล่าช้าของเขาออกมาใหม่ด้วยเทคนิคสีอะคริลิคบนผ้าใบ
ทั้งภาพวาดหน้าโฆษณาขายแอร์โปรโมชั่นลดกระหน่ำหั่นแหลกออนไลน์ในเพจเฟซบุ๊กของบริษัทค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ และของแต่งบ้านชื่อดัง, ภาพวาดใบเสร็จรับเงิน/ใบส่งของแอร์ที่พนักงานนำมาส่งมอบ, ภาพวาดเอกสารร้องเรียนที่ธิติบดีส่งให้ สคบ. , ภาพวาดหน้าจอเว็บบอร์ด pantip.com ที่แสดงหน้ากระทู้ของเขาที่ถูกลบทิ้ง, ภาพวาดแผนผังกระบวนการระงับข้อพิพาทในคดีแพ่ง, ภาพวาดเอกสารบัญชีนัดความแพ่งทั้งภาพเต็ม และภาพขยายเฉพาะส่วนที่ลงชื่อของเขา รวมถึงภาพวาดเอกสารรายงานกระบวนการพิจารณาคดีระบุผลการไกล่เกลี่ยและถอนฟ้องบริษัทดังกล่าว (โดย ธิติบดี เลือกที่จะเซ็นเซอร์ชื่อของเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ในข้อมูลและเอกสารเหล่านี้จนหมด คงเหลือไว้แต่ชื่อของตัวเขาเองและบริษัทที่เป็นคู่กรณีเท่านั้น)
ภาพวาดชิ้นกะทัดรัดเหล่านี้ถูกแขวนอยู่บนผนังห้อง เรียงรายตามลำดับตามเข็มนาฬิกาบนผนังรอบเตียงนอนที่วางอยู่กลางห้อง มีทางแคบๆ ให้ผู้ชมเดินดูงานไปรอบๆ เตียง ราวกับจะให้พวกเขาเหล่านั้นเดินดูหลักฐานของความอ่อนเปลี้ยของกระบวนการยุติธรรมไทย ที่แม้จะผ่านช่วงเวลามาเป็นสิบๆ ปี ก็ยังเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลง
อ้อ มุมด้านบนของผนังห้องตรงข้ามประตูทางเข้า มีแอร์ตัวดีที่เป็นต้นเหตุของเรื่องราวทั้งหมดติดตั้งอยู่อย่างเตะตา ทว่าธรรมดาสามัญ จนเราเองก็ลืมถามไปว่ามันเป็นงานศิลปะอีกชิ้นนึงในห้องนี้ด้วยหรือเปล่าก็ไม่รู้?
ถึงผลงานในนิทรรศการนี้จะยอกย้อนยียวนเพียงไร แต่ธิติบดีเองก็ชี้แจงแถลงไขว่า “เรื่องราวในนิทรรศการศิลปะที่เกิดขึ้นไม่มีเจตนาดูหมิ่นหรือจงใจทำให้เกิดความเสียหายต่อจำเลยและศาลแต่อย่างใด เนื่องจากคดีความสิ้นสุดลงที่ศาลแล้ว”
ผลงานชุดนี้ของธิติบดีนอกจากจะเต็มไปอารมณ์ขันอันยียวนแล้ว มันยังตีแผ่แฉเหลี่ยมเล่ห์กลเม็ดที่บริษัทใหญ่ๆ ในระบอบทุนนิยม (หรือถ้าจะให้เก๋ๆ ก็เรียกว่า ‘เสรีนิยมใหม่’) มักจะใช้กัน ได้อย่างแสบสัน
อีกทั้งเป็นการตั้งคำถามถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น เศรษฐกิจ และช่องโหว่ในกระบวนการยุติธรรมและกฏหมายในบ้านเราที่มักจะเอื้อประโยชน์ อะลุ่มอล่วย เปิดโอกาสให้คนร่ำรวยที่เป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศเพิ่มพูนความร่ำรวยยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ในขณะที่คนยากคนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ กลับต้องใช้ชีวิตภายใต้กฎเกณฑ์และข้อจำกัดมากมาย ต้องอยู่อย่างอึดอัดขัดข้อง เต็มไปด้วยความอัตคัตขัดสน และเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่ร่ำไป แถมกว่าจะได้รับความยุติธรรมแต่ละครั้งแต่ละที ต้องมีราคาที่จ่ายแพงกว่าเสมอ
แต่ก็ไม่แน่ว่าผลงานและเรื่องราวที่ถูกบอกเล่าในนิทรรศการนี้ของธิติบดี อาจจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ชมบางคนฉุกคิดและลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับปัญหาเหล่านี้บ้างก็เป็นได้ ใครจะไปรู้?