1
ตอนที่ไลโอเนล ชริเวอร์ (Lionel Shriver) ขึ้นพูด เธอไม่คิดหรอกว่าจะมีใคร ‘วอล์คเอาท์’ ออกจากห้องไปเพื่อประท้วงสิ่งที่เธอพูดแบบนั้น
เอาเข้าจริง เธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีคนวอล์คเอาท์ ถ้าหากคนที่วอล์คเอาท์นั่น จะไม่เอาเรื่องที่เธอกำลังพูดไปเขียนโต้
ไม่ได้เขียนในเฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์ แต่เขียนแล้วส่งไปลงในหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่างเดอะการ์เดียนของอังกฤษ และเดอะการ์เดียนก็ลงให้เสียด้วย
เรื่องที่หลายคนอาจมองว่าเล็ก จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ และเผลอๆ ก็อาจถึงระดับโลกด้วยซ้ำ
มันคือเรื่องของ ‘วัฒนธรรม’
2
สิ่งที่ไลโอเนล ชริเวอร์ นักเขียนนิยายเจ้าของรางวัล Orange Prize for Fiction (ซึ่งถือเป็นหนึ่งในรางวัลที่ทรงเกียรติที่สุดในด้านวรรณกรรมของอังกฤษ) กล่าวไว้ในต้นเดือนกันยายน 2016 นั้น กล่าวอย่างรวบรัดตัดความที่สุด ก็คือการ ‘ปกป้อง’ นักเขียนผิวขาว ว่าพวกเขาควรมี ‘สิทธิ’ ที่จะ ‘จินตนาการ’ ถึงอะไรก็ได้ ในนามของการเขียนเรื่องแต่งหรือ Fiction โดยเฉพาะการเขียนจากมุมมอง (point of view) ของตัวละครที่มีปูมหลังทางวัฒนธรรมแบบอื่นที่แตกต่างจากตัวเอง
ฟังแล้วไม่น่ามีอะไรให้ต้องต่อต้านถึงขั้นวอล์คเอาท์ใช่ไหมครับ
แต่คนที่วอล์คเอาท์ย่อมไม่คิดเช่นนั้น
เธอคือ ยาสมิน อับเดล-มาฌีด (Yassmin Abdel-Magied) ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นวิศวกรชาวออสเตรเลีย เป็นนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว และเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรชื่อ Youth Without Borders เธอเคยพูดใน TedX Talk และมีคนดูมากถึง 1.5 ล้านคน แถมยังเคยมีหนังสือบันทึกความทรงจำชื่อ Yassmin’s Story – Who do you think I am? ซึ่งออกมาบอกเล่าถึงชีวิตของตัวเองที่เติบโตขึ้นในฐานะ ‘มุสลิมอพยพ’ ที่ย้ายจากบ้านเกิดอย่างเมืองคาร์ทูมในประเทศจอร์แดน เข้ามาเป็นพลเมืองของออสเตรเลีย
แล้วสองคนนี้ขัดแย้งกันตรงไหน
คำตอบก็คือ-ทั้งคู่ไม่เห็นพ้องต้องกันในเรื่องที่ผมขอแปลเป็นไทยว่า ‘วัฒนธรรมตู่ๆ’ ซึ่งฝรั่งเรียกว่า Culture Appropriation
ว่าแต่ว่า…มันคืออะไรกันแน่?
3
ก่อนอื่นต้องบอกว่า เรื่องของ Culture Appropriation นี่ ถือว่าเป็นการถกเถียงของสังคมที่ ‘ก้าวหน้า’ แล้วนะครับ คือไม่จำเป็นต้องมาถกเถียงกันว่า บ้านเมืองควรเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการหรือควรตัดสินคดีในศาลทหารหรือศาลพลเรือน แต่สามารถ ‘รุดหน้า’ ไปถกเถียงเรื่องที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้งต่างๆ ได้
Culture Appropriation เคยมีคนแปลเป็นไทยว่า ‘การฉวยใช้ทางวัฒนธรรม’ หรือถ้าพูดกันแบบบ้านๆ ก็คือการ ‘ตู่วัฒนธรรม’ เป็นการที่คนในวัฒนธรรมหนึ่งไป ‘เอา’ อะไรบางอย่างของคนอีกวัฒนธรรมหนึ่งมาใช้ ซึ่งฟังดูเผินๆ ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะเราก็คงเห็นบ่อยไปที่วัฒนธรรมนั้นถ่ายเทระหว่างกันอยู่เสมอ
แต่ Culture Appropriation ไม่เหมือนการรับวัฒนธรรมแบบที่เรียกว่า Acculturation นะครับ เพราะอย่างหลังคือกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของสองกลุ่มสังคม (หรือมากกว่า) ในแบบที่ไม่ได้มีใครแสดง ‘อำนาจ’ เหนือใครออกมาให้เห็น พูดง่ายๆ ก็คือเป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรม รับความรู้ ความงาม ความจริง ระหว่างกันเข้ามากลายกลืนอยู่ในวัฒนธรรมของตัวเอง ซึ่งจริงๆ แล้วมีรายละเอียดหลายอย่าง และก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า Acculturation กับ Transculturation หรือ Cultural Assimilation มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร (ซึ่งคงต้องขอละไว้ในที่นี้ แต่สามารถไปเสิร์ชหาดูได้นะครับว่ามันคืออะไรกันบ้าง)
ในขณะที่ Culture Appropriation มีคนให้นิยามเอาไว้ว่าเป็นการที่คนในสังคม ‘หมู่มากทางวัฒนธรรม’ (Cultural Majority) เอาอะไรบางอย่างของชนกลุ่มน้อยทางวัฒนธรรมมาใช้ในลักษณะที่แฝงเร้นไปด้วยการ ‘กดขี่’ ชนกลุ่มน้อยๆ นั้นๆ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามที
และตัวอย่างล่าสุดของ Culture Appropriation ที่น่าสนใจ น่าคิดตาม และน่าถกเถียงด้วย ก็คือความขัดแย้งระหว่างไลโอเนลกับยาสมินนี่แหละครับ!
4
ไลโอเนลไปพูดในงาน Brisbane Writers Festival โดยตั้งคำถามว่า นักเขียนเรื่องแต่งควรได้รับอนุญาตให้เขียนถึงสิ่งที่ตัวเอง ‘ไม่รู้’ อย่างถ่องแท้ได้ไหม เช่นการที่นักเขียนผิวขาวจะเขียนเรื่องของคนผิวดำในแอฟริกาในแบบ POV หรือ Point of View คือเขียนเล่าแทนตัวคนผิวดำคนนั้นไปเลย
ไลโอเนลเห็นว่านั่นคือ ‘สิทธิ’ ที่จะทำได้ เพราะว่า ‘เรื่องแต่ง’ คือสิ่งที่ Fake (เธอพูดว่า Fiction, by its very nature, is fake.)
แต่ยาสมินมองทะลุไปกว่านั้น และเห็นว่าเรื่องของ fiction ที่ไลโอเนลยกมานั้น แท้จริงเป็นแค่ ‘หุ่นฟาง’ เท่านั้น สิ่งที่เธอต้องการจะโจมตีอย่างแท้จริงก็คือปัญหาเรื่อง Culture Appropriation ซึ่งโดยเนื้อแท้ของมันก็คือ ‘การเมืองเรื่องอัตลักษณ์’ (Identity Politics) อย่างหนึ่ง ยาสมินบอกว่า ถ้ายึดถือตรรกะของไลโอเนล ก็แปลว่า ‘ผู้ชายผิวขาว’ สักคนหนึ่ง สามารถจะแปลงตัวเองเป็น ‘เด็กสาวชาวไนจีเรีย’ แล้วเขียนเล่าเรื่องของเด็กสาวไนจีเรียออกมาได้ ซึ่งแม้ตัวเรื่องจะเหมือนเด็กสาวเป็นคนเล่า แต่แท้จริงแล้วทั้งหมดคือวิธีคิดแบบชายผิวขาว ซึ่งน่าตั้งคำถามเหมือนกันว่า-นี่เป็นงานที่เหมาะควร (decent) แล้วหรือเปล่า เพราะเอาเข้าจริงแล้ว มันอาจเป็นการ ‘เฉลิมฉลอง’ การ ‘ฉวยใช้’ ประสบการณ์ของคนอื่นโดยใช้หน้ากากของ ‘เรื่องแต่ง’ มาอำพรางก็เป็นได้
และสิ่งนี้แหละครับ ที่เรียกว่า Culture Appropriation!
ตัวอย่างอื่นๆ ของการ ‘ตู่’ ทางวัฒนธรรมแบบนี้มีอีกหลายอย่าง เช่นการที่ทีมกีฬาหลายทีมในอเมริกาเอาสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายของชนเผ่าอินเดียนแดงไปใช้เป็นมาสค็อตของทีมตัวเอง ซึ่งในสายตาของคนผิวขาวที่มีความเหนือกว่าหรือเป็นคนหมู่มากทางวัฒนธรรม ก็อาจจะมองว่าไม่เห็นเป็นไร เป็นเรื่องปกติที่ทำได้ แต่ชาวอินเดียนแดงที่ถูกกดขี่มาตลอด พอมาถึงปัจจุบันยังถูกแย่งชิงความหมายเชิงอัตลักษณ์ของตัวเองเอาไปใช้ผิดๆ อีก-พวกเขาย่อมควรมีสิทธิที่จะออกมาโต้แย้ง
อีกตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือการแสดงที่เรียกว่า Blackface คือการที่คนผิวขาวแต่งหน้าให้เป็นสีดำ แล้วก็ขึ้นแสดงว่าตัวเองเป็นตัวแทนของคนดำ การแสดงแบบนี้ที่ได้รับความนิยมมากในช่วงศตวรรษที่ 19 ส่วนยุคปัจจุบัน ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากๆ ก็คือการแต่งตัวในวันฮัลโลวีน ที่หลายคนเลือกแต่งชุดของชาติอื่นๆ เช่น แต่งเป็น Pocahottie (คือเอาโพคาฮอนทัสมาทำเซ็กซี่) หรือ Kung Fool (คือเอากังฟูมาแต่งให้ดูงี่เง่าๆ) อะไรทำนองนี้ โดย Culture Appropriation ที่เกิดบ่อยที่สุดและถูกวิจารณ์มากที่สุด ก็คือการ์ตูนของดิสนีย์ ล่าสุดก็เรื่อง Frozen ที่เป็นเรื่องของชาว Sami ในแถบสแกนดิเนเวียที่เป็นชาวอินูอิต (คือไม่ใช่คนผิวขาว) แต่ตัวละครเป็นคนผิวขาวทั้งหมด เป็นต้น
หากมองในแง่นี้ Culture Appropriation ที่เกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องของ ‘อำนาจ’ ระหว่างผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่ที่เนียนขึ้น ละเอียดขึ้น และมองเห็นยากขึ้น
ยาสมินบอกว่า การที่ชายผิวขาวเอาเรื่องของเด็กสาวไนจีเรียไปเขียนแล้วขายดิบขายดีเป็นล้านๆ เล่ม (จากตัวอย่างของเธอน่ะนะครับ ไม่ได้แปลว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ) ไม่ใช่เรื่องที่ ‘โอเค’ เสมอไป ถ้าหากว่าในโลกที่เราอาศัยอยู่นี้ ตัว ‘เด็กสาวชาวไนจีเรีย’ ไม่ได้มอบ ‘โอกาส’ ให้กับเด็กสาวคนนั้นในอันที่จะเขียนเล่าหรือตีพิมพ์เรื่องราวของตัวเองได้อย่างเสมอภาคกับชาวผิวขาว เธอบอกว่ามันจะโอเคไปได้อย่างไรที่คนผิวขาวจะ ‘หากำไร’ เอาจากประสบการณ์จริงของคนอีกคนหนึ่งที่ต่ำต้อยทางอำนาจมากกว่า ทั้งที่ประสบการณ์นั้นไม่ใช่ของคนผิวขาวคนนั้น แถมยังมีโอกาสสูงมาก ที่คนขาวคนนั้นจะใส่อคติและมายาคติผิดๆ ลงไปในงานของเขา แล้วเผยแพร่สิ่งเหล่านั้นออกไปในวงกว้าง ทำให้คนเข้าใจเด็กสาวไนจีเรียผิดๆ จึงเหมือนเป็นการที่คนที่เหนือกว่าฉกชิงฉกฉวยทุกสิ่งไปจากคนที่ต่ำต้อยกว่า ไม่เว้นแม้แต่ ‘เรื่องราว’ ในชีวิตของคนเหล่านั้น
ยาสมินบอกว่า สิ่งที่ไลโอเนลพูดนั้นแปลว่าไลโอเนลไม่สนใจสิ่งที่สำคัญหรือศักดิ์สิทธิ์ของคนอื่น ถ้าเธอต้องการจะเขียนถึงอะไรก็มีสิทธิที่จะเขียนถึง ประสบการณ์ของคนอื่นจึงเป็นแค่ ‘เครื่องมือ’ ที่ถูกนำมา ‘รับใช้’ ศิลปะแห่งการเล่าเรื่องเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ‘คนอื่น’ ของไลโอเนลนั้น แท้จริงมีความเป็นมนุษย์ที่ต่ำต้อยกว่า
นี่คือการไม่ ‘เคารพ’ ซึ่งกันและกันอย่างที่สุด
และทำให้ยาสมิน ‘วอล์คเอาท์’ ออกมาเพื่อประท้วง!
5
แน่นอน ไลโอเนลย่อมต้องตอบโต้
เธอเขียนบทความในอีกสิบกว่าวันถัดมา แต่ไม่ได้ตีพิมพ์ในเดอะการ์เดียนนะครับ ผมไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม, แต่บทความของเธอตีพิมพ์ในนิวยอร์คไทม์ส โดยใช้ชื่อว่า Will the Left Survive the Millennials?
ประเด็นของยาสมินนั้นน่าสนใจมาก แต่ประเด็นของไลโอเนลก็น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
เธอบอกว่า สมัยที่เธอเติบโตขึ้นในยุคหกศูนย์เจ็ดศูนย์นั้น โลกตกอยู่ใต้การปกครองของพวก ‘ฝ่ายขวา’ เพราะฉะนั้น คนจึงตั้งข้อสงสัย โต้แย้ง และตรวจสอบพวกฝ่ายขวากัน แต่ ณ เวลานี้ เธอบอกว่าคนที่มีอำนาจและเป็น ‘ผู้กดขี่’ (Oppressors) คือฝ่ายซ้าย เพราะฝ่ายซ้ายยึดกุมวาทกรรมหลักต่างๆ ของสังคมเอาไว้ โดยเฉพาะเรื่องของ Political Correctness ทั้งหลาย เธอยกตัวอย่างในออสเตรเลียว่า มีกฎหมาย Racial Discrimination Act ที่ห้ามใครพูดอะไรที่ ‘อาจจะ’ ไป offend, insult, humiliate หรือ intimidate คนอื่นๆ ซึ่งสำหรับเธอแล้ว มันกลายไปเป็นการจำกัดสิ่งที่เรียกว่า Free Speech และฝ่ายอนุรักษ์นิยมของออสเตรเลียก็กำลังพยายามโต้แย้งเพื่อแก้ไขกฎหมายข้อนี้กันอยู่
เธอบอกว่า ทุกวันนี้ ฝ่ายซ้ายกำลังทำตัวคล้ายๆ ฝ่ายขวาสมัยก่อน คือออกมาบอกว่าคนต้องทำอะไรไม่ทำอะไรบ้างภายใต้สิ่งที่เรียกว่า political correctness และเป็นวิธีคิดแบบนี้ของฝ่ายซ้ายเองนี่แหละ ที่ก่อให้เกิดอาการ ‘อ่อนไหวติดอาวุธ’ (weaponized sensitivity) จนผลักดันให้คนทั่วๆ ไปเกิดอาการรักใคร่ชอบพอคนอย่างโดนัลด์ ทรัมพ์ ขึ้นมาได้ เพราะกลายเป็นว่า ‘ฝ่ายซ้าย’ เองนั้น เมื่อ ‘ซ้าย’ มากเข้าๆ ก็กลับโอบรับข้อจำกัด โอบรับการเซนเซอร์ และโอบรับความเคร่งครัดเข้มงวดบางอย่าง เหมือนกับที่ฝ่ายขวาสมัยก่อนเคยเข้มงวดกับการต่อต้านคอมมิวนิสต์
เธอปิดท้ายว่า สมัยที่เธอยังเด็กๆ อยู่ คนที่เป็นเสรีนิยมนั้นจะปกป้องสิทธิแม้กระทั่งสิทธิของ ‘นีโอนาซี’ ที่จะเดินขบวนบนถนน แต่เธอนึกไม่ออกเลยว่าฝ่ายซ้ายในปัจจุบันจะมีใครทำแบบนั้นได้
6
การถกเถียงระหว่างไลโอเนลกับยาสมินทำให้ผมนึกขึ้นมาว่า คนขาวมักจะเขียนอะไรๆ แบบที่ยาสมินว่าแล้วไม่ค่อยถูกวิจารณ์ในแง่เสียหายเท่าไหร่ แต่สมมุติว่าถ้าเราเป็นคนไทยแล้วเขียนถึงชีวิตคนในลอนดอนหรือนิวยอร์คแบบ POV คือมีตัวละครชื่อพอลชื่อเท็ดอะไรก็ว่าไปทำโน่นทำนี่แล้วมันผิดเพี้ยนไปจากวิถีชีวิตจริงๆ ของคนเหล่านั้น ก็เป็นไปได้ที่เราจะถูกวิจารณ์เสียหายว่าไม่สมจริง (โดยเฉพาะจากคนร่วมชาติที่ไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น) นี่จึงเป็นเรื่องของ ‘อำนาจ’ อย่างหนึ่ง ที่ทำให้ Ignorance ของคนขาวถูกมองว่าแย่น้อยกว่า Ignorance ของคนอื่นๆ
ที่ผมเอาเรื่องของไลโอเนลกับยาสมินมาเล่าให้ฟังนี้ ไม่ได้มีเจตนาจะหาข้อสรุปใดๆ หรือเข้าข้างใครนะครับ เพียงแต่อยากจะบอกว่า ในสังคมอื่นๆ นั้น เขามีความสามารถที่จะ ‘ถกเถียง’ กันในประเด็นที่ลึกซึ้งแหลมคมละเอียดอ่อน โดยต่างฝ่ายต่างสามารถหยัดยืนอยู่ในที่ทางของตัวเองแล้ว ‘ชก’ กันได้อย่างตรงไปตรงมา
จะว่าไป ประเด็นอย่าง Culture Appropriation หรือการ ‘ตู่วัฒนธรรม’ นี้ ถ้าเราเอามาใช้มองเรื่องต่างๆ ในสังคมไทย ผมว่าจะน่าสนใจมากเลยนะครับ อย่างเรื่องทศกัณฐ์ ถ้ามองด้วยแนวคิดนี้ ก็จะเห็นว่ามีการ ‘แย่งชิง’ ทศกัณฐ์ระหว่างคนสองกลุ่ม (เป็นอย่างน้อย) ที่สมาทานวัฒนธรรมคนละแบบ (จะพูดว่าเป็น Generational Culture Appropriation ก็อาจพอได้) ซึ่งถ้ามองในแง่ของอำนาจกันอย่างถี่ถ้วน ก็อาจกลับข้างย้อนแย้งกับข้อเสนอของยาสมินและไลโอเนล แต่การใส่แว่นนี้จะทำให้เราสามารถเห็นความซับซ้อนและย้อนแย้งของประเด็นเกี่ยวกับอำนาจในสังคมไทยในมุมอื่น ยิ่งหากเปลี่ยนจากทศกัณฐ์ไปเป็นเรื่องอื่นๆ ที่ใหญ่โตกว่า และลองเปลี่ยนความขัดแย้งระหว่าง ethnic group หรือคนในแต่ละเจนเนอเรชั่น ไปเป็นความขัดแย้งของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมการเมืองที่มีวัฒนธรรมเฉพาะของตัวเอง ผมว่าก็จะยิ่งน่าสนใจและทำให้เราเห็นอะไรใหม่ๆ ในสังคมที่เราอาศัยอยู่นี้ได้
แต่อย่างน้อยที่สุด การถกกันของไลโอเนลกับยาสมินก็ทำให้เราเห็นว่า-ฝรั่งกำลังถกกันเรื่อง ‘การตู่ทางวัฒนธรรม’ แต่สังคมไทยเรายังอยู่ใน ‘วัฒนธรรมตู่ๆ’ อีกแบบ และทำให้การถกกันอย่างตรงไปตรงมากลายเป็นเรื่องต้องห้ามจนเราต้องเถียงกันแต่เรื่องพื้นฐานที่สังคมอื่นเขาเถียงกันเมื่อร้อยปีที่แล้ว
ดีออก!