TIME ฉบับใหม่ว่าด้วยเรื่อง “พวกเกรียนทำลายอินเทอร์เน็ตไปได้ยังไง” และ “ทำไมเราจึงสูญเสียอินเทอร์เนตให้กับวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังไปแล้ว” น่าสนใจมาก เลยมาสรุปให้อ่านกันจ้ะ
เนื้อหาภายในบอกว่า ตอนนี้จะเล่นอินเทอร์เน็ตก็ต้องระวังตัว เพราะบุคลิกภาพของอินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนไปแล้ว จากที่ครั้งหนึ่งอินเทอร์เน็ตเคยมีภาพแบบกี๊กๆ แต่ตอนนี้อินเทอร์เน็ตมีภาพที่ทำให้เรานึกถึงพวกโรคจิต (sociopath) ที่เป็นโรคแอสเพอร์เกอร์ไปแทน
อันนี้ก็อาจจะเป็นการเปรียบเทียบโรคแอสเพอร์เกอร์แบบไม่ดีไปนิด แต่ก็เป็นการเปรียบเทียบที่ทำให้เราเห็นภาพได้ดีมาก
บทความยกตัวอย่างว่า ถ้าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าโพสท์อะไรลงในเน็ต เน็ตก็มักจะตอบด้วยข้อความที่อยากทำให้เธอหรือเขาฆ่าตัวตาย ซึ่งการไม่เห็นหน้า และการเหลื่อมเวลากัน (หมายถึงว่า เวลาพิมพ์ลงไปกับคนพิมพ์ตอบไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน) ยิ่งทำให้เกิดพวกโทรลหรือเกรียนได้ง่ายขึ้น เพราะคนไม่ได้ “เห็นใจ” กันจริงๆ
เกรียนในปัจจุบันร้ายกาจขึ้นเรื่อยๆ เช่นในปี 2011 เกรียนไปบุกเพจในเฟซบุ๊กที่เอาไว้รำลึกถึงผู้เสียชีวิตแล้วไปล้อเลียนการตายของพวกเขา (โหดมาก) หรืออย่างในกรณี #GamerGate เกรียนออนไลน์ก็ไปโจมตีเฟมินิสต์ที่อยู่ในวงการเกมหลายๆ คน
โดยผลการสำรวจจาก PEW บอกว่ามีวัยรุ่นมากถึง 70% ที่เคยโดนเกรียนทำร้ายออนไลน์ และมีการสำรวจพวกเกรียน (ซึ่งเขาบอกว่ามีประมาณ 5% ของผู้ใช้อินเทอร์เนตทั้งหมด?) ว่ามีลักษณะบุคลิกภาพแบบที่หลงตัวเอง เป็นโรคจิตอ่อนๆ ชอบควบคุม และเป็นซาดิสม์ด้วย
เกรียนหลายคนบอกว่าการเกรียนนั้นทำให้พวกเขารู้สึกมีอำนาจ เกรียนคนหนึ่งบอกว่า “ก็สมมติว่าถ้าผมเขียนจดหมายไปหานิวยอร์กไทมส์ว่าไม่ชอบบทความของนักเขียนคนหนึ่ง กองบก. เขาก็คงจะแค่โยนทิ้งใช่มั้ยล่ะ แต่บนทวิตเตอร์ ผมก็สามารถไปสื่อสารตรงๆ กับนักเขียนคนนั้นได้เลย เนี่ยแหละมันคือการรื้อโครงสร้างสถาบันอะไรออกให้หมด”
การเกรียนในลักษณะนี้ยังเป็นการต่อสู้ในทางการเมืองด้วย เป็นเครื่องมือและเป็นอาวุธของฝ่ายขวา ที่พยายามต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้ชาย (แทนที่จะต่อสู้เพื่อผู้หญิง) และยังมีไว้เป็นอาวุธในการต่อกรกับผู้ลี้ภัยด้วย พวกนี้เลยเชียร์โดนัลด์ ทรัมป์ เพราะไม่ใช่ว่าโดนัลด์ ทรัมป์จะแค่คิดคล้ายๆ พวกเขาเท่านั้น แต่ยังมีความสามารถในการเกรียนในระดับสุดยอดด้วย
ในบทความยังมีการสัมภาษณ์ Andrew Auernheimer ซึ่งว่ากันว่าเป็นเกรียนที่เกรียนที่สุดในประวัติศาสตร์ คือโดยจับขังคุกไปแล้วในข้อหาการปลอมแปลงตัวตนและจุดไฟให้ทฤษฎีสมคบคิด แล้วยังไม่เข็ด ก็ยังเกรียนต่อ โดยการฟลัดปรินเตอร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในอเมริกาให้พิมพ์สวัสดิกะออกมาจำนวนมากๆ ด้วย
การเกรียนยังเป็นพฤติกรรมที่ติดต่อได้ด้วย จากการศึกษาครั้งหนึ่งในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย หากเราแสดงให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กเห็นการกระทำดีๆ (good deeds) ต่อกัน ก็มีโอกาสที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนนั้นจะทำดีต่อไปมากกว่าเดิม 10% แต่การทำเลวก็ติดต่อกันได้ด้วยในลักษณะเดียวกัน
“ถ้าใครเห็นว่ามันโอเคที่จะเรียกคนอื่นๆ ว่าเป็นสัตว์หรือเป็นสิ่งที่ต่ำกว่าคน คนพวกนี้ก็จะเริ่มทำร้ายคนอื่นๆ ด้วย” ศาสตราจารย์ Zeev Kain ที่ศึกษาเรื่องนี้กล่าว
ปัญหาของการปราบเกรียนในปัจจุบัน (อย่างน้อยก็ในอเมริกา) ก็คือ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนพยายามจะปราบเกรียน เกรียนจะใช้ข้ออ้าง First Amendment (ซึ่งคือเสรีภาพในการแสดงออก) มาป้องกันตนเองทันที ซึ่งนี่ทำให้ตำรวจทำงานยุ่งยากขึ้นมาก
ปัจจุบันวิธีการต่อต้านเกรียนวิธีหนึ่งก็คือ เมื่อเรารู้ว่ามีเหยื่อคนไหนที่กำลังถูกเกรียนอยู่ด้วยการฟลัดข้อความเกลียดชังรัวๆ ผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กบางส่วนก็จะร่วมกันฟลัดข้อความดีงามรัวๆ ไปเพื่อต้านข้อความเกลียดชังเช่นกัน อย้่างเช่นในกรณีของนักยิมนาสติกของอเมริกาและเม็กซิโกที่ผ่านมา ก็มีการใช้มาตรการทำนองนี้อยู่
ถึงแม้ว่าจะมีภาษิตอินเทอร์เน็ตว่า Don’t Feed The Troll หรือเกรียนมาอย่าตอบกลับ แต่การรู้ทันกลเกรียนเป็นทักษะหนึ่งของการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ให้ปลอดภัย และมีความสุข
อ่านบทความเต็มที่ TIME – http://time.com/4457110/internet-trolls/