ความหวัง ความฝัน พลังของมวลมนุษยชาติ ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นคำนิยามของ โอลิมปิก (Olympics) มหกรรมการแข่งขันกีฬาที่คนทั่วโลกรอรับชมทุกสี่ปี
โอลิมปิกเป็นงานที่รวมคนทั้งโลกเอาไว้ด้วยกัน ขอใช้คำว่าร่วมแสดง ‘สปิริต’ แบบที่ใช้กันบ่อยๆ แม้จะฟังดูคุ้นหูจนไม่น่าตื่นเต้น แต่พอใช้แล้วก็ดูจะจริง เพราะโอลิมปิกหลายครั้งที่ผ่านมากลายเป็นเหมือน ‘การเกิดใหม่’ ของอะไรหลายอย่าง หลังจากที่โลกหรือภูมิภาคในโลกผ่านวิกฤติใหญ่ที่ทำให้ผู้คนบอบช้ำ มันไม่ใช่แค่การแข่งขันกีฬาที่มีเพียงการวิ่งชนความฝันของนักกีฬาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความหวังของประเทศเจ้าภาพ ที่อยากให้โอลิมปิกในยุคสมัยของตัวเอง เป็นหน้าบทใหม่ของชาติตัวเอง
มหกรรมกีฬานี้หมายรวมถึงเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ความเป็นกอบเป็นกำของรายได้ การยกระดับประเทศ ประชาสัมพันธ์ตัวเอง ประกาศความยิ่งใหญ่ ผ่านการเตรียมพร้อมการจัดงานและพิธีเปิดที่ทุกสายตารอคอย
มีหลายเกมส์ที่ผ่านมา ที่เกิดขึ้นหลังความซบเซาของโลก โอลิมปิกจึงกลายเป็นอีเวนต์ที่ปักหมุดการเกิดใหม่ อย่าง The MATTER จึงขอคัดเลือกและพาย้อนกลับไปดูหลายโอลิมปิกในความทรงจำ ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศเจ้าภาพ และของโลก
อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่เราคัดนำมาให้ดูนี้ เป็นภาพรวมของผลทางเศรษฐกิจจากการจัดงานโอลิมปิก ซึ่งตัวเลขอาจไม่สะท้อนสถานการณ์ได้ทั้งหมด ในบางประเทศอาจไม่สามารถระบุตัวเลขชัดเจนเพราะไม่ได้บันทึกข้อมูลและขาดปัจจัยบางอย่าง
London Summer Olympics (1948)
- ต้นทุนการจัดงาน : 1,060,000 USD
- กำไร / ขาดทุน : กำไร 40,370 USD
- จำนวนนักกีฬา : 4,104 คน
ความสำคัญต่อเศรษฐกิจ :
โอลิมปิกแรกที่เราเลือกมานำเสนอคือ London Summer Olympics ในปี ค.ศ.1948 ซึ่งสำคัญตรงที่อีเวนต์นี้เป็นการจัดงานครั้งแรก หลังการประกาศสันติภาพที่เป็นผลต่อจากการยุติของสงคามโลกครั้งที่ 2 โดยก่อนหน้านี้โอลิมปิกต้องหยุดจัดไป 12 ปีเพราะสงคราม
แม้จะเป็นการจัดงานท่ามกลางซากปรักหักพังบางจุด และหมู่บ้านนักกีฬาก็ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพราะต้องรัดเข็มขัด ส่วนญี่ปุ่นกับเยอรมนีถูกห้ามเข้าร่วม ด้านผู้เข้าร่วมจะต้องนำอาหารมาเอง อาหารส่วนเกินถูกบริจาคให้กับโรงพยาบาลของอังกฤษ ไม่มีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่สำหรับการแข่งขัน มีเพียงแค่สนามกีฬาเวมบลีย์ที่รอดพ้นจากสงครามใช้ในการจัดแข่งขัน นักกีฬาชายใช้พักที่ค่ายทหารในอักซ์บริดจ์และผู้หญิงอยู่ที่หอพัก Southlands College
อย่างไรก็ตามแม้จะไม่ได้เป็นงานที่มีพิธีเปิดอลังการ แต่เป็นโอลิมปิกส์ครั้งที่ 2 ที่มีการถ่ายทอดสดผ่านคลื่นวิทยุทั่วโลก และมีผู้ชมกว่า 85,000 คนในสนามเวมบลีย์ ถือเป็นการปักหมุดเศรษฐกิจหลังสงคราม หลังโลกได้รับความสูญเสียครั้งใหญ่
Tokyo Summer Olympics (1964)
- ต้นทุนการจัดงาน :280,000,000 USD
- กำไร / ขาดทุน : ไม่พบข้อมูลของรายได้ แต่ยังอยู่ในยุคที่การจัดโอลิมปิกฤดูร้อนขาดทุน
- จำนวนนักกีฬา: 5,151 คน
ความสำคัญต่อเศรษฐกิจ :
หากพูดถึงโอลิมปิกครั้งที่เปลี่ยนชีวิตประเทศชาติอย่างแท้จริง มหกรรมกีฬาในปี ค.ศ.1964 คือสิ่งนั้น หลังเป็นประเทศผู้แพ้สงครามและชวดโอกาสเป็นเจ้าภาพไปในสี่ปีก่อนหน้า ในปีนี้ ญี่ปุ่นได้รับโอกาสจัดงาน และเป็นโอลิมปิกครั้งแรกในเอเชีย
Tokyo Summer Olympics เปลี่ยนญี่ปุ่นไปตลอดกาล แม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะดีขึ้นหลังสงคราม แต่ในโตเกียวเต็มไปด้วยโรงงาน ควันพิษ และบ้านเมืองที่ไร้โครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้นโอลิมปิกครั้งนี้จึงทำให้ญี่ปุ่นทุ่มทุนสร้างเมืองใหม่ ย้ายโรงงานออก และพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่กลายเป็นตำนานอย่างรถไฟหัวกระสุน ชินคันเซน ขึ้นมา พร้อมเปิดตัวนาฬิกาจับเวลาที่ชื่อว่า Seiko เพื่อใช้เก็บสถิติด้วยคอมพิวเตอร์ แสดงให้ทั่วโลกได้เห็นความพร้อม
ครั้งนี้เป็นโอลิมปิกแรกที่ถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ทั่วโลก ทำให้ทีวีสีขายดีสุดๆ ในญี่ปุ่น การจัดงานฉายให้เห็นถึงความหวังของคนญี่ปุ่นในการรีแบรนด์ประเทศตัวเองจากตัวร้ายในสงคราม และแน่นอนว่าดูจะสำเร็จเสียด้วย เห็นได้จากในปี ค.ศ.1964 ที่ญี่ปุ่นยังเป็นมหาอำนาจที่ 4 ของโลก และถัดมาอีกสี่ปี แดนอาทิตย์อุทัยก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจอันดับที่ 2 เมื่อวัดจากตัวเลข GDP
Seoul Summer Olympics (1988)
- ต้นทุนการจัดงาน :ไม่พบข้อมูล (ข้อมูลจาก Los Angeles Times รายงานว่าเนื่องจากรัฐบาลโซลไม่ได้รวมต้นทุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในบัญขี จึงทำให้ไม่ทราบต้นทุนที่แท้จริงได้)
- กำไร / ขาดทุน : กำไร 300,000,000 USD
- จำนวนนักกีฬา : 8,391 คน
ความสำคัญต่อเศรษฐกิจ :
เป็นครั้งแรกที่งานโอลิมปิกจัดโดยรัฐบาลประจำประเทศเจ้าภาพ และยังเป็นโอลิมปิกที่ทำกำไรได้ แม้จะมีเสียงครหาว่าทำกำไรเพราะรัฐบาลไม่ได้ใส่ต้นทุนการสร้างสเตเดียมต่างๆ เข้าไปในบัญชี
อย่างไรก็ตาม Seoul Summer Olympics ก็ทำหน้าที่คล้ายๆ กับมหกรรมการแข่งขันที่ญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1964 เพราะย้อนกลับไป 70 ปีก่อน คือยุคสงครามเกาหลี ทำให้ราว 50–60 ปีที่แล้ว เกาหลีใต้คือประเทศที่ยากจนติดอันดับต้นๆ ของโลก มีภาพจำเป็นเรื่องของทหาร สงคราม เผด็จการ การปราบปรามนักศึกษา และเป็นฐานผลิตอาวุธให้สงครามเวียดนามที่ทำรายได้มหาศาล แต่สวนทางกับเสรีภาพประชาชน
ซึ่งในยุคการเตรียมงานก็ยังเต็มไปด้วยข้อกังขาเรื่องการใช้อำนาจของประชาชน แม้เศรษฐกิจจะโต แต่เกาหลีใต้ซึ่งผ่านสงครามกลางเมืองกวางจูมาก็ได้อเมริกาผลักดันให้เป็นเจ้าภาพ นัยหนึ่งเพื่อเป็นการแสดงศักยภาพของประเทศโลกฝั่งเสรี ข่มขวัญประเทศคอมมิวนิสต์ ในยุคปลายสงครามเย็น
แต่การเป็นเจ้าภาพแปะป้ายเผด็จการก็ดูจะไม่ดีต่อสายชาชาวโลก ดังนั้น ประชาชนจึงกดดันเรียกร้อง และรัฐบาลทหารยุคของ ชุน ดูฮวาน ก็เริ่มเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก ลดการเซ็นเซอร์สื่อสาธารณะลง และสุดท้ายนำไปสู่การคืนอำนาจประชาชนหลังถูกประท้วงครั้งใหญ่ก่อนปีจัดงาน
Seoul Summer Olympics จึงเป็นการเปิดประตูประเทศสู่สากลอย่างเป็นทางการ และเป็นปีที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าเกาหลีใต้เป็นจำนวนมาก นำมาซึ่งการก้าวสู่มหาอำนาจเอเชียในเวลาต่อมา เพราะหลังจากปี ค.ศ.1988 ทั่วโลกให้การรับรองเกาหลีใต้ในฐานะคู่ค้าทางเศรษฐกิจ จากความสำเร็จของเจ้าภาพการจัดงาน
Barcelona Summer Olympics (1992)
- ต้นทุนการจัดงาน :9,690,000,000 USD
- กำไร / ขาดทุน : กำไร 10,000,000 USD
- จำนวนนักกีฬา : 9,356 คน
ความสำคัญต่อเศรษฐกิจ :
เป็นอีกหนึ่งเจ้าภาพที่ใช้โอลิมปิกในฐานะเครื่องแสดงความสำเร็จทางเศรษฐกิจ หลังสเปนหมดยุคของระบอบเผด็จการในประเทศ เป็นโอลิมปิกที่ได้ชื่อว่าใช้เงินมากที่สุดในยุค 90s และแสดงให้เห็นถึงความฟุ่มเฟือยในการจัดงานแบบขีดสุด
Barcelona Summer Olympics เป็นโอลิมปิกครั้งแรกหลังทลายกำแพงเบอร์ลิน โดยมีทีมเยอรมนีเล่นรวมทีมกัน และเป็นโอลิมปิกแรกหลังเหตุการณ์โซเวียคลี่คลาย ทิ้งท้ายด้วยว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีที่ไม่มีประเทศใดคว่ำบาตรทางการเมืองกับกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ (ก่อนหน้านั้นมักจะเป็นการแข่งขันที่ใช้แสดงจุดยืนทางการเมืองมาตลอด)
มหกรรมกีฬาครั้งนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นโอลิมปิกส์ที่เป็นจุดตัดเชือกยุคหลังความวุ่นวายโลก และเป็นการจัดงานที่ทำให้ผู้คนในประเทศมารวมตัวกันเฉลิมฉลองทุกคืนในเมือง
Beijing Summer Olympics (2008)
- ต้นทุนการจัดงาน : 6,810,000,000 USD
- กำไร / ขาดทุน : กำไร 146,000,000 USD
- จำนวนนักกีฬา : 10,942 คน
ความสำคัญต่อเศรษฐกิจ :
เป็นครั้งแรกของจีน—ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก—ที่รับหน้าที่เจ้าภาพ ซึ่งรัฐบาลก็วางแผนที่จะประมูลเจ้าภาพมานานหลายปีก่อนหน้านั้น ด้วยวิสัยทัศน์ที่ว่าพวกเขาจะใช้โอลิมปิกนี้แหละเป็นเวทีเพื่อแสดงศักดิ์ศรี ยกภาพลักษณ์ และประกาศความเป็นมหาอำนาจของโลกยุคใหม่ เพื่อบอกกับโลกว่าประเทศที่ถูกครหามาตลอดนี้ก็มีศักยภาพจะทำได้ แม้จะรู้ว่าการจัดงานโอลิมปิกส์หลังปี ค.ศ.2001 (เหตุการณ์ 9/11) อาจจะทำให้ไม่ได้รายได้เป็นกอบเป็นกำเพราะต้องลงทุนความปลอดภัยมากขึ้นก็ตาม
อย่างไรก็ตาม Beijing Summer Olympics ก็ถูกจัดขึ้น ในวัน ‘ตอง 8’ หรือวันที่ 8 เดือน 8 ปี ค.ศ.2008 ซึ่งในจีนออกเสียงว่า ‘ปา’ พ้องกับคำว่า ‘ฟา’ ที่แปลว่า เจริญรุ่งเรือง ร่ำรวย
ความพิเศษของงานครั้งนี้ทำให้แบรนด์จีนถูกจดจำจากการเป็น Worldwide Olympic Partners ซึ่งหลังเกมครั้งนี้ ‘Lenovo’ ก็ได้ก้าวสู่แบรนด์ระดับโลกในเวลาถัดมา
Tokyo Summer Olympics (2020)
- ต้นทุนการจัดงาน : 28,000,000,000 USD
- กำไร / ขาดทุน : TBC (รอการรายงาน)
- จำนวนนักกีฬา : 11,090
ความสำคัญต่อเศรษฐกิจ :
โอลิมปิกกำลังเกิดขึ้น ณ วันนี้ที่กรุงโตเกียว น่าจะเป็นอีกหนึ่งโอลิมปิกในตำนาน เพราะเป็นมหกรรมกีฬาที่ไม่ได้ขายบัตรให้ผู้ชมเข้าชม และไม่มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาในประเทศมหาศาลแบบที่คาดการณ์ไว้
รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนอย่างยาวนานเพื่อชิงเป็นเจ้าภาพปี ค.ศ.2020 ญี่ปุ่นหวังว่าโอลิมปิกครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาจากสังคมสูงอายุ ดังนั้นเงินลงทุนจัดงานจึงสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ทว่ากลับเจอการระบาดของ COVID-19 ซึ่งทำให้ต้องเปลี่ยนปีจัดงานจากปี ค.ศ.2020 เป็น ค.ศ.2021 แทน
ท่ามกลางการระบาดของโรคร่วมสมัย ญี่ปุ่นก็ยังทำได้ดี มีพิธีเปิดที่น่าจดจำ ผสมผสานซอฟต์พาวเวอร์ญี่ปุ่นอย่างมังงะและเพลงต่างๆ ได้อย่างลงตัว
ส่วนในด้านรายได้ แม้จะไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้ และหลายฝ่ายบอกว่าอาจจะไม่คุ้มทุนเลยเพราะขายบัตรไม่ได้ แต่ก็ยังมีเรื่องของงบสปอนเซอร์ที่มากที่สุดในประวัติการณ์ และลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ที่ NBCUniversal ถือไว้ โดยบอกว่าน่าจะได้กำไรมากที่สุดเท่าที่เคยจัดงานมา มีคนต่อคิวลงโฆษณากันมากมาย ทำให้ทาง NBC บอกว่าการจัดงานครั้งนี้น่าจะยังทำกำไรได้อยู่ (และอาจจะมากที่สุดในประวัติศาสตร์บริษัท) แต่คงต้องรอการสรุปตัวเลขอีกครั้งกัน
ทั้งหมดนี้คือโอลิมปิกในประวัติศาสตร์และความทรงจำ ที่เราเลือกมานำเสนอภายใต้ธีมรวมๆ ของการเริ่มต้นใหม่ แต่แม้ว่างานโอลิมปิกจะเป็นสัญลักษณ์ของความหวัง แต่ในหลายครั้งก็ไม่ใช่แบบนั้น เช่น โอลิมปิกฤดูร้อนมอสโก ปี ค.ศ.1980 ยุคสงครามเย็น ที่สหรัฐอเมริกานำ 64 ชาติบอยคอตการแข่งขัน หรือในปี ค.ศ.1996 ที่มีเหตุระเบิดในบอสตัน
อ้างอิงข้อมูลจาก