หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศฮังการีกลับต้องอยู่ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียตเฉกเช่นประเทศอื่นๆ ในยุโรปตะวันออก นอกจากประเทศฮังการีแล้ว สหภาพโซเวียตยังได้เข้ายึดครองรัฐบาลในประเทศแอลเบเนีย บัลแกเรีย เชโกสโลวาเกีย เยอรมนีตะวันออก โปแลนด์ โรมาเนีย และยูโกสลาเวีย มีเพียงกรีซและออสเตรียเท่านั้นที่ยังคงเป็นอิสระ
แต่เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ.1956 กลุ่มนักศึกษาและประชาชนชาวฮังการีได้จัดการประท้วงขนาดใหญ่ตามท้องถนนเพื่อเรียกร้องอิสรภาพคืนจากสหภาพโซเวียต พวกเขาโค่นล้มรูปปั้น โจเซฟ สตาลิน อดีตผู้นำของสหภาพโซเวียต ในกรุงบูดาเปสต์ เมืองหลวงของประเทศฮังการี และบุกเข้าไปยังสถานีวิทยุของรัฐเพื่อให้สถานีทำการอ่านแถลงการณ์ของพวกเขาออกอากาศ
ตำรวจลับฮังการี (Hungarian Secret Police) ซึ่งเป็นหนึ่งในกองกำลังตำรวจลับของสหภาพโซเวียตได้เปิดฉากตอบโต้ด้วยการยิงนักเรียนและนักศึกษาชาวฮังการี สิ่งนี้ทำให้สมาชิกของกองทัพฮังการีตัดสินใจมอบอาวุธของพวกเขาให้แก่เหล่าผู้ประท้วงเพื่อขับไล่กองทัพสหภาพโซเวียตที่อยู่ในประเทศออกไปให้หมด
พรรคคอมมิวนิสต์ได้พยายามลดความรุนแรงนี้ด้วยการแต่งตั้ง อิมเร นาจ (Imre Nagy) อดีตผู้นำสายเสรีนิยมที่ถูกไล่ออกจากพรรคเนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของสตาลิน ให้กลับมาเป็นผู้นำทางการเมืองอีกครั้ง
อิมเร นาจ พยายามฟื้นฟูสันติภาพด้วยการขอให้สหภาพโซเวียตถอนกำลังทหารออก สหภาพโซเวียตยอมทำตามคำขอร้องนั้นโดยหวังว่าการปกครองระหว่างสองประเทศจะยังคงเป็นแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ และในวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ.1956 กองทัพสหภาพโซเวียตที่ประจำการอยู่ในประเทศฮังการีก็ได้ถอยทัพกลับทั้งหมด
แต่ อิมเร นาจ ไม่ต้องการเพียงแค่สันติภาพ เขาต้องการให้ประเทศกลับมาสู่ประชาธิปไตยอีกครั้ง หลังจากสหภาพโซเวียตยอมถอยทัพไปเพียงไม่กี่วัน อิมเรก็ผลักดันแนวคิดของเขาด้วยการยกเลิกการปกครองแบบพรรคเดียว นอกจากนี้เขายังประกาศด้วยว่าประเทศฮังการีจะถอนตัวออกจากสนธิสัญญาวอร์ซอและประกาศตัวเป็นกลางในสงครามเย็น เขาคิดว่าชัยชนะในครั้งนี้จะเป็นของชาวฮังการี ประเทศฮังการีจะไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของสหภาพโซเวียตอีกต่อไป และอิมเรก็มั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมว่าประเทศสหรัฐอเมริกาจะเข้ามาแทรกแซงด้วยการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือพวกเขา
มันคือการตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างมหันต์
ในช่วงเวลาเดียวกันกับความวุ่นวายในทวีปยุโรปตะวันออกที่กำลังคุกกรุ่นอยู่นั้น การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 1956 ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ก็กำลังจะเริ่มต้นขึ้นเช่นกัน อีเวนต์ถูกจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนและต้นเดือนธันวาคมปี ค.ศ.1956 เพื่อให้ตรงกับฤดูร้อนในประเทศออสเตรเลีย
นักกีฬาทีมชาติฮังการีต่างเตรียมตัวเดินทางไปยังประเทศออสเตรเลียด้วยความตื่นเต้นกับความสำเร็จในการปฏิวัติประเทศที่พยายามให้กลับมาสู่ประชาธิปไตยอย่างรวดเร็ว นักกีฬาทุกประเภทรวมถึงนักกีฬาโปโลน้ำทีมชาติซึ่งเป็นตัวเก็งเหรียญทองในการแข่งขันครั้งนี้ได้ขึ้นเครื่องบินเดินทางไปยังประเทศออสเตรเลีย โดยต่างเชื่อว่าพวกเขาจะเป็นตัวแทนกลุ่มแรกที่จะประกาศสู่นานาชาติว่าประเทศฮังการีได้กลับมาเป็นอิสรภาพอีกครั้งหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง
แต่มันไม่เป็นเช่นนั้น 4 พฤศจิกายน ค.ศ.1956 เพียงแค่ 7 วันหลังจากสหภาพโซเวียตยอมถอยทัพ นิกิตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) ผู้นำสหภาพโซเวียตก็ได้สั่งให้กองทัพพร้อมรถถังบุกเข้ามายังประเทศฮังการีอีกครั้ง คราวนี้สหภาพโซเวียตได้ตอบโต้กลับอย่างรุนแรง รถถังกว่าสามพันคันพร้อมทหารหลายหมื่นคนได้บุกโจมตีเหล่านักศึกษาและประชาชนชาวฮังการีที่ตัดสินใจไม่ยอมแพ้อีกต่อไป กรุงบูดาเปสต์เต็มไปด้วยห่ากระสุนและเลือดนองทั่วท้องถนน มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายพันคน และประชาชนชาวฮังการีกว่าสองแสนคนต้องหนีออกนอกประเทศ
อิมเร นาจ ประกาศออกวิทยุไปทั่วประเทศว่า ’บัดนี้ประเทศถูกรุกรานอีกครั้งอย่างโหดร้าย’ เขาได้ขอลี้ภัยที่สถานทูตยูโกสลาเวียในกรุงบูดาเปสต์ แต่ไม่นานหลังจากนั้นเขาก็ถูกกองทัพสหภาพโซเวียตจับตัวไป
สหภาพโซเวียตบัดนี้ได้ทำลายความฝันของหนุ่มสาวฮังการีไปจนหมดสิ้น
นักกีฬาโอลิมปิกทีมชาติฮังการีต้องใช้เวลาเดินทางหลายวันกว่าจะมาถึงเมืองเมลเบิร์น เนื่องจากเส้นทางบินหลายแห่งถูกปิดจากวิกฤตการณ์คลองสุเอซ (The Suez Crisis) ที่ นิกิตา ครุสชอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียตขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์กับประเทศฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรหากพวกเขาไม่ยอมถอนกำลังทหารออกจากประเทศอียิปต์ มันคือเหตุการณ์ที่คนทั้งโลกให้ความสนใจ และบดบังข่าวความเลวร้ายที่ นิกิตา ครุสชอฟ ทำกับประเทศฮังการีไปจนหมดสิ้น กว่านักกีฬาโอลิมปิกทีมชาติฮังการีจะทราบเรื่องนี้เข้า พวกเขาก็ถึงเมืองเมลเบิร์นเรียบร้อยแล้ว มันคือการเดินทางที่เต็มไปด้วยความหวังและมาถึงด้วยสภาพที่พังทลายเต็มไปด้วยความโศกเศร้าและโกรธแค้นต่อสหภาพโซเวียต สิ่งเดียวที่พวกเขาจะทำได้ตอนนี้ คือการแก้แค้นผ่านการแข่งขัน
และแล้วชะตากรรมก็ทำให้ทั้งสองประเทศมาพบกัน เมื่อทีมชาติฮังการีและทีมชาติสหภาพโซเวียต ต้องมาพบกันในการแข่งขันโปโลน้ำรอบรองชนะเลิศ และบังเอิญเป็นกีฬาที่แอบทำร้ายฝ่ายตรงข้ามได้ง่ายที่สุดกีฬาหนึ่ง
ในกีฬาโปโลน้ำ แม้จะมีกฎชัดเจนถึงการห้ามทำร้ายคู่ต่อสู้ฝ่ายตรงข้าม แต่ในบางครั้งก็เป็นเรื่องยากมากสำหรับกรรมการผู้ตัดสินในการติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นใต้น้ำของนักกีฬาทุกคน และบ่อยครั้งที่จะมีผู้เล่นตั้งใจหาจังหวะทำร้ายคู่ต่อสู้ใต้น้ำโดยพ้นสายตาของผู้ตัดสินไป
“สำหรับนักกีฬาชาวฮังการี การเดิมพันในเกมนี้นั้นชัดเจนมาก นี่คือที่ที่พวกเขาสามารถเผชิญหน้ากับสหภาพโซเวียตในสนามแข่งขันที่ยุติธรรม มันไม่มีรถถัง และไม่มีเครื่องบิน พวกเขากำลังจะชำระแค้นทุกอย่างที่เจอลงในน้ำ” คอลิน เกรย์ ผู้สร้างภาพยนตร์ ‘Freedom’s Fury’ ซึ่งเป็นสารคดีเกี่ยวกับการแข่งขันโปโลน้ำในครั้งนี้กล่าว
กัปตันทีมโปโลน้ำของทีมชาติฮังการีในตอนนั้นคือ เดซโซ ยาร์มาตี (Dezsö Gyarmati) เขาคือนักกีฬาโปโลน้ำผู้โด่งดังในเรื่องความน่าเกรงขามและพละกำลังที่เหนือกว่าใคร เขาขึ้นชื่อว่าสามารถขว้างลูกโปโลน้ำได้ไกลถึง 30 เมตร ลูกบอลในตอนนั้นทำมาจากหนังและมีน้ำหนักมากอย่างไม่น่าเชื่อ เดซโซ ยาร์มาตี สามารถขว้างลูกโปโลน้ำนี้จากปลายด้านหนึ่งของสระไปอีกด้านหนึ่งของสระได้ และในเวลาซ้อม เดซโซ ยาร์มาตี จะขว้างไปสุดสระและว่ายไปมาตามลูกบอลนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยแทบจะไม่เหนื่อยแต่อย่างใด
นักโปโลน้ำทีมชาติฮังการีและสหภาพโซเวียตส่วนใหญ่แล้วรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะทั้งสองทีมต่างเคยฝึกซ้อมด้วยกันที่ประเทศฮังการี ทีมโปโลน้ำของสหภาพโซเวียตเคยมาเก็บตัวฝึกซ้อมกับทีมชาติฮังการีเพื่อเตรียมตัวแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้ บางคนสนิทกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกัปตันของทั้งสองทีมอย่าง เดซโซ ยาร์มาตี และ ปีเตอร์ แมสเวเนียรัดเซ่ (Petre Mshvenieradze) เขาคือกัปตันทีมสหภาพโซเวียต ที่ตัวใหญ่และมีความสูงเกือบสองเมตรจนได้รับฉายาว่า “Peter the Great”
แมสเวเนียรัดเซ่มักจะมาพักอาศัยที่บ้านของยาร์มาตีในกรุงบูดาเปสต์ช่วงการฝึกซ้อม เขารู้จักและสนิทกับภรรยาและลูกของยาร์มาตีเป็นอย่างดี
เดซโซ ยาร์มาตี ได้นำภรรยาของเขามาที่เมืองเมลเบิร์นด้วย แต่ความน่าเศร้าใจคือลูกสาววัย 3 ขวบของพวกเขายังอยู่กับญาติๆ ในกรุงบูดาเปสต์ และทั้งสองก็ไม่ทราบชะตากรรมของเธอ เฉกเช่นผู้เล่นคนอื่นๆ ที่ไม่ทราบชะตากรรมของครอบครัวตนเองในประเทศฮังการีว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไรบ้าง พวกเขาไม่สามารถติดต่อใครได้เลย
ความสัมพันธ์ของพวกเขายังคงมีอยู่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีความเมตตาในสระท่ามกลางผู้ชมจากทั่วประเทศที่กำลังจับตามองความตึงเครียดนี้ และในช่วงเวลานั้น บางประเทศถือว่าการเอาชนะสหภาพโซเวียตในการแข่งขันได้นั้น นับเป็นเกียรติประวัติของชาติไปเลยทีเดียวไม่ต่างอะไรกับการได้เหรียญทอง
ธรรมเนียมปกติก่อนการแข่งขันจะเริ่มต้นขึ้น กัปตันของทั้งสองทีมพร้อมผู้ตัดสินจะมายืนที่ริมสระน้ำและจับมือกัน แต่ในครั้งนี้ เดซโซ ยาร์มาตี กัปตันชาวฮังการีปฏิเสธที่จะจับมือกับกัปตันทีมสหภาพโซเวียต เสียงกองเชียร์ชาวฮังการีกว่า 5,000 คนที่อัดแน่นอยู่ในอัฒจันทร์กระหึ่มขึ้นมาทันที พวกเขาต่างโบกธงชาติ ร้องเพลงให้กำลังใจ และตะโกนด่าชื่อผู้เล่นสหภาพโซเวียตเรียงตัว
การแข่งขันโปโลน้ำรอบรองชนะเลิศเริ่มต้นขึ้น ในนาทีแรกของเกม ผู้เล่นชาวสหภาพโซเวียตคนหนึ่งได้ใส่ท่าแฮมเมอร์ล็อกใส่นักกีฬาทีมชาติฮังการีและถูกส่งตัวไปยังเขตลงโทษทันทีท่ามกลางเสียงเยาะเย้ย หลังจากนั้นทีมชาติฮังการีก็ทำประตูแรกได้ ตามมาด้วยการชกเข้าที่คางของผู้เล่นทีมชาติสหภาพโซเวียตขณะหมุนมายิง ทีมชาติฮังการียังยิงได้อีกสามประตู โดยได้สองประตูจาก เออร์วิน ซาดอร์ (Ervin Zador) นักกีฬาพรสวรรค์ชาวฮังการี
นักกีฬาฮังการีต่างเยาะเย้ยนักกีฬาสหภาพโซเวียตจนพวกเขาเสียสมาธิและรู้สึกหงุดหงิดมากขึ้น จนถูกส่งไปยังเขตลงโทษหลังจากทำร้ายผู้เล่นชาวฮังการีอย่างที่กรรมการเห็นได้ชัด
“พวกเราต่างตะโกนใส่นักกีฬาสหภาพโซเวียตว่า ‘ไอ้พวกสกปรก พวกแกมาทำลายประเทศของเรา’ ส่วนพวกเขาเรียกเราว่าคนทรยศ มันมีการปะทะต่อสู้รบกันทั้งเหนือน้ำใต้น้ำ” เออร์วิน ซาดอร์ กล่าว
กลยุทธ์ของทีมชาติฮังการีนั้นจะใช้วาจาที่รุนแรงและการแอบทำร้ายร่างกายผู้เล่นฝ่ายสหภาพโซเวียตจนกว่าพวกเขาจะถึงจุดเดือดและตอบโต้กลับด้วยความรุนแรงในระยะเขตโทษจนทำให้กรรมการเห็น ซึ่งจะทำให้ทีมชาติฮังการีได้รับจุดโทษ
ยาร์มาตี ไม่พูดพร่ำทำเพลง เขาใช้เวลาในการแข่งไปกับการเอาแขนกระแทกไปที่หน้าของแมสเวเนียรัดเซ่จนจมูกหัก และหลังจากกัปตันทีมชาติสหภาพโซเวียตขึ้นไปรักษาอาการบาดเจ็บชั่วคราวและกลับมายังสระอีกครั้ง ยาร์มาตีก็กระแทกจมูกของแมสเวเนียรัดเซ่ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่เพียงแค่ยาร์มาตีเท่านั้นที่เก่งเรื่องการเตะและต่อยใต้น้ำ เพื่อนร่วมทีมของเขายังทำร้ายผู้เล่นทีมสหภาพโซเวียตหลายครั้งจนเลือดนองไปทั่วสระ เห็นได้ชัดว่าทีมโปโลน้ำสหภาพโซเวียตไม่ได้เก่งเรื่องเหล่านี้เลย
บัดนี้พวกเขาเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนความโกรธแค้นของชาวฮังการีนับล้านคน ที่ได้ปลดปล่อยออกมาทางมือและเท้าของตัวแทนชาติที่พยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้สหภาพโซเวียตได้รับความบาดเจ็บมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
1 นาทีก่อนการแข่งขันจะจบลง เออร์วิน ซาดอร์ ได้ยินเสียงนกหวีด เขาจึงหันไปมองที่ปลายสระอีกด้านที่ผู้ตัดสินอยู่โดยไม่ได้ระมัดระวังศัตรูที่อยู่ด้านข้าง ทันใดนั้นเอง ผู้เล่นทีมสหภาพโซเวียตก็โผล่มาจากน้ำและตั้งใจต่อยเข้าที่ตาของซาดอร์ สิ่งนี้สร้างความเดือดดาลให้กับบรรดากองเชียร์ชาวฮังการีที่ดูอยู่ทันที พวกเขาลุกจากอัฒจันทร์และมาเบียดเสียดกันบริเวณรอบสระว่ายน้ำพร้อมทั้งโวยวายและข่มขู่ผู้เล่นทีมสหภาพโซเวียต ผู้ตัดสินสั่งหยุดการแข่งขันเพื่อป้องกันการทะเลาะวิวาททันที ตำรวจออสเตรเลียต้องมาคุ้มกันนักกีฬาทีมชาติสหภาพโซเวียตไปที่ห้องแต่งตัว ส่วน เออร์วิน ซาดอร์ ที่ถูกต่อยเข้าที่ตา เขาลุกออกจากสระด้วยสภาพตาข้างขวามีเลือดไหลครึ่งใบหน้าจนกลายเป็นภาพที่ทุกคนทั่วโลกจดจำไปตลอดกาล
สุดท้ายแล้วนักกีฬาโปโลน้ำทีมชาติฮังการีก็เอาชนะทีมชาติสหภาพโซเวียตไปได้ด้วยคะแนน 4–0 ท่ามกลางความวุ่นวายและความกังวลว่าจะก่อเหตุจลาจลจากกองเชียร์และผู้เข้าชม
ซาดอร์ถูกส่งไปปฐมพยาบาล เขาต้องเย็บบริเวณรอบตาถึงแปดเข็ม และตาของเขามีอาการบวมมากจนไม่สามารถแข่งขันในนัดชิงชนะเลิศที่พวกเขาต้องพบกับทีมชาติยูโกสลาเวียได้
แม้ เออร์วิน ซาดอร์ จะต้องนั่งดูการแข่งขันในนัดชิงชนะเลิศที่ริมสระแข่งขัน แต่สุดท้ายแล้วทีมชาติฮังการีก็สามารถเอาชนะทีมชาติยูโกสลาเวียไปได้ด้วยคะแนน 2–1 นักกีฬาโปโลน้ำทีมชาติฮังการีต่างขึ้นแท่นรับเหรียญทองด้วยความดีใจและความเศร้าโศก เออร์วิน ซาดอร์ จำได้ว่าในวินาทีนั้นเขาตัวสั่นเทาไปหมด เขาและเพื่อนร่วมทีมต่างหัวเราะและร้องไห้ไปพร้อมๆ กัน
พวกเขาร้องไห้ให้กับประเทศฮังการี พวกเขารู้ว่าจะไม่สามารถกลับบ้านเกิดของตนเองได้อีกต่อไป เพราะหากพวกเขาไม่ลี้ภัยไปยังประเทศอื่นและกลับไปยังประเทศฮังการีที่ในตอนนี้ถูกสหภาพโซเวียตปกครองแล้วเรียบร้อย พวกเขาอาจไม่มีชีวิตรอดและอาจโดนประหารชีวิตทันทีที่เดินทางถึงประเทศ
การกระทำของสหภาพโซเวียตต่อประเทศฮังการีนั้นทำให้หลายประเทศในฝั่งตะวันตกต้องตะลึงในความโหดร้ายของพวกเขา เพราะ นิกิตา ครุสชอฟ ผู้นำสหโซเวียตเคยให้คำมั่นว่าจะลดความรุนแรงในการปราบปรามลง แต่การกระทำอันรุนแรงและโหดร้ายในประเทศฮังการีกลับไม่เป็นเช่นคำมั่นที่เขาเคยให้ไว้ ชาวฮังการีประมาณ 2,500 คนต้องเสียชีวิตและอีกกว่า 200,000 คนต้องหนีลี้ภัยไปยังต่างประเทศ ในประเทศยังคงมีการต่อสู้ประปราย ประชาชนเกือบทุกคนประท้วงหยุดงาน เกิดการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ และการจับกุมประชาชนผู้เห็นต่างยังคงดำเนินต่อไป
การคาดการณ์ของ อิมเร นาจ อดีตผู้นำทางการเมืองที่ถูกจับตัวไปและถูกประหารในปี ค.ศ.1968 ที่บอกว่าประเทศสหรัฐอเมริกานั้นจะเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองและช่วยเหลือประเทศฮังการีให้เป็นประชาธิปไตยนั้นผิดไปทั้งสิ้น ประธานาธิบดีด ไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ แห่งสหรัฐอเมริกา และ จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ต่างเพิกเฉยต่อประเทศฮังการีจนทำให้ประชาชนชาวฮังการีหลายคนโมโหและผิดหวัง ทั้งสองคนทำเพียงแค่กล่าวแถลงการณ์ผ่านวิทยุของ Voice of America ว่าทางสหรัฐอเมริกานั้นสนับสนุนการปลดปล่อยของประชาชนในประเทศคอมมิวนิสต์ แถลงการณ์นี้ไม่ได้ช่วยให้รถถังของสหภาพโซเวียตหยุดใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงได้เลย
นักกีฬาชาวฮังการีที่เมืองเมลเบิร์น 46 คนในตอนนั้นจึงตัดสินใจขอลี้ภัยไปยังประเทศอื่น พวกเขาได้รับคำเชิญจากเจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองกลาง (Central Intelligence Agency) หรือ ซีไอเอ (CIA) ของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ปลอมตัวเป็นสื่อมวลชนในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เจ้าหน้าที่ซีไอเอสามารถให้วีซ่าสำหรับนักกีฬาทุกคนที่ต้องการหลบหนีไปยังตะวันตก
สมาชิกทีมโปโลน้ำของฮังการีหลายคนรวมถึง เดซโซ ยาร์มาตี กัปตันทีม และ เออร์วิน ซาดอร์ ก็เป็นหนึ่งในนักกีฬา 46 คนที่ตัดสินใจลี้ภัยเช่นกัน
“พวกเขามีการประชุมกันก่อนการแข่งขันรอบรองชนะเลิศ โดยพูดว่า ‘ไปเอาชนะโซเวียต คว้าเหรียญทอง แล้วพวกคุณแต่ละคนก็ทำในสิ่งที่ใช่สำหรับอนาคตของพวกคุณเอง’” คอลิน เกรย์ ผู้สร้างภาพยนตร์ ‘Freedom’s Fury’ สารคดีเกี่ยวกับการแข่งขันโปโลน้ำในครั้งนี้ กล่าว
เดซโซ ยาร์มาตี ย้ายไปอาศัยในประเทศสหรัฐอเมริการะยะหนึ่งก่อนจะถูกขอร้องจากรัฐบาลให้กลับไปประเทศฮังการีเพื่อเล่นให้กับทีมโอลิมปิกอีกครั้ง ส่วน เออร์วิน ซาดอร์ ตัดสินใจตั้งรกรากในรัฐแคลิฟอร์เนียและเขาได้กลายเป็นโค้ชว่ายน้ำทีมชาติสหรัฐอเมริกา หนึ่งในลูกศิษย์ของเขาก็คือ มาร์ก สปิตซ์ (Mark Spitz) นักว่ายน้ำชาวอเมริกันเจ้าของสถิติแชมป์ว่ายน้ำ 7 เหรียญทองในการแข่งขันโอลิมปิกปี ค.ศ.1972 ที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ก่อนที่จะถูก ไมเคิล เฟลป์ส ทำลายสถิติแซงหน้าด้วย 8 เหรียญทองในการแข่งขันโอลิมปิกปี ค.ศ.2008 ที่เมืองปักกิ่ง ประเทศจีน
อ้างอิงข้อมูลจาก