ความสงสัยเป็นความรู้สึกเร้าอันเย้ายวน ความสงสัยทำให้เราเป็นทุกข์ทรมาน ความสงสัยทำให้เราหมดเวลาหลับนอนไปมากมายในการหาให้พบ ไม่มีสิ่งใดดับความกระหายสงสัยได้จนกว่าจะได้รู้ เลยอยากชวนมาส่องหลายมุมของความสงสัยในประวัติศาสตร์
ในศตวรรษ 18 และ 19 แค็ตตาล็อกหนังสือ Curious หมายถึงหมวดหมู่ภาพโป๊ โจ๋งครึ่ม หรืออีโรติก ซึ่งกระตุ้นให้อยากแอบดู … เดิมที ‘curious’ อันหมายถึง ‘สงสัย อยากรู้อยากเห็น’ ในอดีตของภาษาอังกฤษมีความหมายในเป็นเชิงลบ อยากรู้อยากแอบดูในเรื่องที่ไม่ควรรู้ ‘curiosity’ เคยหมายถึง คนที่แปลกประหลาด หายาก จนน่าตื่นเต้น น่าประหลาดใจ (queer, rare, strange, odd, peculiar, surprising) ความหมายของความคำนี้ ค่อยๆ เปลี่ยนไปในภาษาอังกฤษ จนหมายถึงความสงสัยอยากรู้ (desire to know) อย่างที่เราคุ้นเคย
ภาวะความสงสัยคืออะไร?
ในยุค 90s George Loewenstein นักจิตวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์จาก Carnegie Mellon ได้อธิบายไว้ว่า เราจะเกิดความสงสัยขึ้นได้ต่อเมื่อมี ‘information gaps’ (ช่องว่างระหว่างข้อมูล) ความสงสัยเกิดจากความต้องการจะกระชับช่องว่างระหว่าง ‘สิ่งที่เรารู้’ กับ ‘สิ่งที่เราอยากรู้’ ความสงสัยไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในสุญญากาศ เราต้องมีความรู้พื้นฐานเรื่องนั้นๆ ก่อน
เพื่อทดสอบทฤษฎีนี้ ในปี 2009 มีทดลองทางประสาทวิทยา ณ Caltech ให้นักศึกษาใส่เครื่องตรวจสแกนสมอง และตอบคำถามทั่ว ๆ ไป 40 ข้อ จากนั้นก็ให้คะแนนความสงสัยของตัวเอง จากนั้นพวกเขาก็ได้เห็นคำถามอีกครั้งพร้อมคำตอบที่ถูกต้อง สิ่งที่พบก็คือ พวกเขาสงสัยมากที่สุดในคำถามที่ตัวเองรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นเล็กน้อย ทำให้ไม่มั่นใจในคำตอบ การทดลองสิ่งนี้สนับสนุน แนวคิด information gaps ของ Loewenstein
นักเล่าเรื่อง (storyteller) เก่งๆ สามารถทำให้คนสงสัยอยากรู้เรื่องต่อ สามารถให้ข้อมูลที่กำลังพอดี ไม่มากไปและไม่น้อยไป จนผู้รับสารเกิดความสงสัยและสนใจอยากรู้ต่อ
ส่องความสงสัย 2 แบบ
ความสงสัยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
- Diversive curiosity คือ ความอยากรู้ทั่วๆ ไป เช่น ความอยากรู้อันเกิดจาก clickbait การจั่วหัวข้อให้น่าสนใจโดยที่ข้างในไม่มีอะไร (เด็กคนนี้นั่งอยู่ดีๆ จากนั้นเขาก็พบว่า…) เมื่อเราเริ่มรู้ แยก clickbait ออกจากบทความปกติได้ เราก็ไม่อยากรู้ไม่สงสัยอีกต่อไป ความสงสัยชนิดนี้ยังครอบคลุมถึงความอยากรู้เรื่องชาวบ้านที่ทำให้เราสามารถฆ่าเวลาไถลดู feed ไปเรื่อยๆ ทั้งวัน เคยไหมที่รู้สึกว่าไม่น่าสงสัยเรื่องนี้เลย
- Epistemic Curiosity คือ ความกระหายในความรู้อย่างเข้มข้นลงลึก ความกระหายในความรู้อันก่อแรงจูงใจอยากค้นพบแนวคิดใหม่ๆ อยากลบล้างช่องว่างระหว่างข้อมูล และแก้ปัญหาด้วยปัญญา (intellectual problems) ความอยากรู้ในแบบนี้ก่อให้เกิดปัญญาและความเข้าใจ มีชื่อเรียกอื่นๆ อีกว่า cognitive curiosity, intellectual curiosity, scientific curiosity ความสงสัยอันลึกซึ้งนี่อาจเริ่มจากความสงสัยทั่วๆ ไปในแบบแรก จนค่อยๆ ลงลึกเกิดองค์ความรู้ขึ้นมาก็ได้ ความสงสัยชนิดนี้ทำให้เกิดความสุขและช่วยทำให้ความจำดีขึ้น
เมื่อเริ่มสงสัยในความสงสัย ทำให้พบว่าในโลกนี้มีกลุ่มนักวิชาการที่สนใจประเด็นนี้จนเกิดเป็นกลุ่ม Community of Curiosity Researcher (ชุมชนนักวิจัยเรื่องความสงสัย) ใน Researchgate.com ทำให้รู้ว่าการศึกษาเรื่องความสงสัยสามารถต่อยอดไปตอบโจทย์งานวิจัยเพื่อพัฒนาการศึกษาและเทคโนโลยีการศึกษา, ความสงสัยในตัวเอง (intrapersonal curiosity) และความสนใจในผู้อื่น (interpersonal curiosity) ในหมู่วงการวิชาการด้านความสงสัย
ดาวินชี : คนช่างสงสัยในประวัติศาสตร์
ย้อนไป 500 ปีที่แล้วในยุคเรอเนซองส์ Leonardo Da Vinci คือต้นฉบับของคนช่างสงสัยอย่างเข้มข้น เขามีทักษะและมีหัวข้อที่สนใจมากมาย เขาเป็นทั้งศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ และนักประดิษฐ์ ดาวินชีสนใจหมกมุ่นทุกส่วนของร่างกายของมนุษย์อย่างจริงจัง ในสมุดบันทึก เขาได้ระบุถึงสิ่งที่อยากศึกษาเกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์ จึงได้ไล่รายชื่อหัวข้อ กลไก การทำงานส่วนต่างๆ ของร่างกาย สิ่งอยากสำรวจศึกษาไว้ในสมุดบันทึกของเขา ดังนี้
“ประสาทใดที่ทำให้ตาขยับเคลื่อนไหว และทำให้ดวงตาข้างหนึ่งนำพาอีกข้าง, การลดเปลือกตา, การยก, เปลือกตา, การหรี่ตา, การลืมตา, การหลับตา, การเปิดริมฝีปากในขณะที่ฟันยังปิด การพาริมฝีปากไปยังจุดต่างๆ, การหัวเราะ, การแสดงออกถึงความประหลาดใจ, อธิบายจุดเริ่มต้นของมนุษย์ว่าถูกสร้างขึ้นในครรภ์เมื่อไหร่, และทำไมทารกวัย 8 เดือนถึงไม่รอดชีวิต, การจามคืออะไร, การหาวคืออะไร, โรคลมบ้าหมู ,อาการชักกระตุก, อัมพาต, ความหนาวสั่นจากไข้หวัด, การเหงื่อออก, ความง่วง, ความหิว, การนอนหลับ, ความกระหาย, ความปรารถนาทางเพศ, ประสาทใดที่ทำให้หัวไหล่ขยับเคลื่อนไหวแยกจากข้อศอก, การเคลื่อนไหวจากข้อศอกสู่มือ, จากข้อมือสู่นิ้วมือ, จากโคนนิ้วสู่กลางนิ้ว, จากกลางนิ้วสู่ปลายนิ้ว, ประสาทใดที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของสะโพก, จากเข่าถือเท้า จากข้อเท้าถึงหัวแม่เท้า, รวมถึงจากตรงกลาง, การหมุนของขา”
คำถามของเขาไม่ได้เป็นปริศนาอีกต่อไป เพียงผ่านมา 500 ปี คำตอบทั้งหมดสามารถสืบค้นได้อย่างง่ายดายด้วย Google
ในปี 1994 Bill Gates ได้ซื้อสมุดบันทึกฉบับจริงของ Leonardo Da Vinci ไปในราคา 30.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เกตส์ประทับใจและหลงใหลในความกระหายอยากรู้ของดาวินชี เขาบอกว่า “ดาวินชีได้ค้นพบว่าความรู้นั้นเป็นสิ่งที่สวยงามที่สุด”
ความสงสัยทำให้เราเป็นสุข
การทดลองข้างต้นโดย Caltech นอกจะจากพบว่า information gaps นั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความสงสัยแล้ว เมื่อวัดผล fMRI ความเคลื่อนไหวในสมองของกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาที่ตอบคำถามและให้เรตความสงสัยของตัวเอง พบว่า ภาวะที่กลุ่มตัวอย่างกำลังสงสัยมาก สมองก็ยิ่งมีกลไก ‘rewarding system’ และหลั่งสาร Dopamine อันทำให้รู้สึกดีมากตามไปด้วย เมื่อกิจกรรมความสงสัยทำให้สมองสร้างความสุขได้เอง กลไกเหล่านี้เองที่ช่วยให้มนุษยชาติก้าวไปข้างหน้า และไม่หยุดค้นหาคำตอบใหม่ๆ
กล่าวคือ สมองขณะกำลังหาคำตอบมีกลไกดเดียวกับตอนเสพยา กินอาหารอร่อย มีเพศสัมพันธ์ หรือได้ฟังเพลงที่ชอบ เป็นแรงขับเคลื่อนทางชีวภาพ จนเกิดพฤติกรรม curiosity-seeking behavior คือพาตัวเองให้ไปอยู่ในสถานการณ์ที่เกิดความสงสัย
ประเมินกันว่า ในหนึ่งปีมีบทความวิทยาศาสตร์ถูกตีพิมพ์กว่า 1.8 ล้านชิ้น ใน 28,000 วารสาร แล้วใครคือคนที่ได้อ่านงานวิจัยเหล่านี้ ในการศึกษาหนึ่งพบว่า มีคนอ่านไม่มาก ครึ่งหนึ่งของงานวิจัยวิชาการถูกอ่านโดยตัวผู้เขียนกับบรรณาธิการของวารสารเท่านั้น และ 90% ของงานวิจัยไม่เคยถูกอ้างอิงถึงนอกงานเขียนนั้นเลย น่าตกใจที่มีความรู้มากมายที่ถูกผลิตขึ้นมาทุกๆ ปี แต่ไม่ได้ถูกหยิบไปพูดถึง และเมื่อไม่รู้ว่ามีอยู่จึงไม่มีโอกาสได้เกิดความสงสัย
วารสาร Nature ได้ออกมาคัดค้านความคิดดังกล่าว แล้วนำสถิติมาอ้างว่า เนื่องจากตัวเลขสัดส่วนของงานวิจัยถูกอ้างอิงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นสาขาวิทยาศาสตร์ สังคม หรือมานุษยวิทยา เมื่อเปรียบเทียบจากยุคก่อน เพราะเทคโนโลยีข้อมูลทำให้สืบค้นได้ง่าย Nature ชี้แจงว่างานที่ไม่ได้ถูกอ้างอิงมักจะมาจากวารสารที่เล็กและไม่มีใครรู้จัก วงการวิชาการไม่ได้ไร้ประโยชน์และสิ้นหวังไร้ความหมายอย่างที่หลายคนถอดใจ
ความสงสัยคือความเป็นมนุษย์
Richard Feynman นักฟิสิกส์ทฤษฎีรางวัลโนเบล ผู้บุกเบิก quantum mechanics ไว้ในบทหนึ่งของหนังสือ Pleasure of Finding Things Out เขาถูกถามว่า “การเข้าใจทฤษฎีพฤติกรรมของอนุภาคอะตอม จะเอาไปทำอะไรได้ต่อในทางปฏิบัติ?” Feynman อธิบายว่า การนำไปใช้ (application) ไม่ใช่สิ่งสำคัญสิ่งเดียวบนโลก การการเข้าใจว่าโลกประกอบด้วยอะไรก็สำคัญเช่นกัน จริงๆ เขาก็ไม่รู้ว่า การค้นพบจักรวาลมีประโยชน์ใดกับมนุษย์ จะนำไปทำอะไรได้ ตัวเขาอาจโง่เกินกว่าจะตอบได้ว่าจะนำไปทำอะไรต่อได้ แต่การวิ่งไล่ตามหาคำตอบและความจริง เพราะความสงสัยและเพราะมันน่าสนใจก็เพียงพอแล้ว หากแก่นของมนุษยชาติคือการค้นพบและเข้าใจความจริงของโลกและจักรวาลที่เราดำรงอยู่
“ผมคิดว่ามันน่าสนใจกว่าตั้งเยอะที่จะมีชีวิตแบบไม่รู้ มากกว่าอยู่กับคำตอบที่อาจจะผิด”
Feynman เขียนหนังสือเพื่อสื่อสารกับคนที่อยู่ในและนอกวงวิชาการ กลาย role model ของใครหลายๆ คนที่เลือกเดินทางสายวิทย์ กลายเป็นต้นแบบของ ‘curious character’ หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลที่คนรู้จักเยอะที่สุด
เพื่อนศิลปินคนหนึ่งของ Feynman เปรยกับเขาว่า การที่ Feynman เป็นนักวิทยาศาสตร์ คงจะไม่เห็นความสวยงามของดอกไม้แบบที่คนทั่วไปเห็น เพราะวิทยาศาสตร์ได้ชำแหละทุกอย่างออกมา จนกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อไปเสียหมด
Feynman จึงต้องโต้แย้งว่า ความงามที่เพื่อนเห็นในดอกไม้ เขาก็รับรู้ได้และชื่นชมเช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันเขาก็เห็นดอกไม้เป็นมากกว่าที่เพื่อนเห็นด้วยตา ความงามของความซับซ้อนที่ซ่อนอยู่ข้างใน กลไกของดอกไม้นั้นสวยงาม ยังมีความงามในระดับจุลภาคที่เล็กไปกว่าความสวยงามในระดับ 1 เซ็นติเมตร เขาเห็นความงวามในกระบวนการ ดอกไม้วิวัฒนาการให้มีสีสันเพื่อดึงดูดแมลง นั่นหมายความแมลงก็รับรู้สีได้ด้วยเช่นกัน แล้วความงามนี้ปรากฏในสิ่งมีชีวิตที่เล็กกว่านั้นด้วยไหม
เขาไม่คิดว่าความรู้จะลดทอนความงามได้อย่างไร มีแต่จะเพิ่มพูนให้งดงามขึ้นไปกว่าเดิม
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Curiosity: Etymology
www.etymonline.com/word/curious
- Psychology of Curiosity: Re
www.cmu.edu/dietrich/sds/docs/loewenstein/PsychofCuriosity.pdf
- Epistemic Curiosity: Jordan Litman
www.researchgate.net/publication/302346266_Epistemic_Curiosity
- THE ITCH OF CURIOSITY
www.wired.com/2010/08/the-itch-of-curiosity
- The science that’s never been cited
www.nature.com/articles/d41586-017-08404-0
- Why Curiosity Can Be Both Painful and Pleasurable: The emerging neurology of one of our most human characteristics.
nautil.us/issue/52/the-hive/why-curiosity-can-be-both-painful-and-pleasurable
- The Wick in the Candle of Learning: Epistemic Curiosity Activates Reward Circuitry and Enhances Memory