มีหัวข้อหนึ่งครับที่ผมอยากเขียนมาสักพักใหญ่แล้ว แต่ไม่มีจังหวะดีๆ สักที เพราะมีดราม่าใหญ่ๆ มากมายแทรกมาให้เขียนถึงก่อนเสมอ หัวข้อที่ว่านั้นก็คือ ‘เทคโนโลยีในฐานะเครื่องมือที่เพิ่มอำนาจให้กับระบอบเผด็จการ’ ครับ อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา พรบ.ความมั่นคงไซเบอร์ ก็ได้ผ่านมติ สนช. แบบฉลุยไร้เสียงคัดค้านแล้ว[1] และแน่นอนว่ามันคือสิ่งที่ผมและหลายๆ คนเฝ้าคัดค้านมาโดยตลอด (รวมถึงทาง The Matter เองด้วย)
ผมจึงคิดว่าได้เวลาอันสมควรแล้วที่จะเขียนถึงเรื่องที่อยากจะเขียนถึงนี้ แต่บอกไว้ก่อนเลยว่า พรบ.ความมั่นคงไซเบอร์นั้น เป็นคนละเรื่องกับการใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มอำนาจให้ระบอบเผด็จการนะครับ (ค่อนข้างจะตรงกันข้ามเลยด้วยซ้ำ) แต่คนมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน จึงอยากจะมาพูดอภิปรายถึงน่ะครับ
ก่อนจะเข้าเรื่องที่อยากอภิปราย ผมอยากลงหมายเหตุชัดๆ ให้ก่อนว่า ตัวผมเองนั้นไม่ใช่และไม่ได้มีความเชี่ยวชาญอะไรใดๆ เลยในด้านเทคโนโลยีหรือเป็นคนที่รู้ลึกรู้จริงในด้าน Cyber studies หรือกระทั่งรายละเอียดลึกๆ ของ พรบ.ความมั่นคงไซเบอร์นี้ ที่อาจจะส่งผลกระทบในเชิงเทคนิคต่างๆ ได้ เรื่องแบบนี้อาจจะต้องรอฟังคุณอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล หรืออาจารย์ฐิติรัตน์ ที่คณะนิติศาสตร์ มธ. มาอธิบายให้ฟัง ที่ผมลงหมายเหตุไว้ชัดๆ ตรงนี้ก็เพราะท่านจะได้ไม่ต้องมาคาดหวังได้อ่านอะไรเกี่ยวกับเรื่องเชิงเทคนิคของโลกอินเทอร์เน็ตและเทคนิคในเชิงกฎหมายจากสิ่งที่ผมจะเขียนต่อไป บอกเลยครับว่า ‘ไม่มี’ ผมไม่ได้มีความรู้ด้านนั้น แต่สิ่งที่เราจะพูดถึงก็คือ ‘มุมมองอำนาจในทางการเมือง’ และ ‘พัฒนาการในเชิงอำนาจของรัฐ’ ครับ
อาจจะแลดูอ้อมโลกสักนิด แต่ผมคิดว่าการจะทำความเข้าใจไอ้ตัว พรบ.ความมั่นคงไซเบอร์ได้อย่างชัดแจ้งนั้น เราต้องย้อนกลับไปที่ ‘การกำเนิดของระบบรัฐสมัยใหม่’ หรือราวๆ 371 ปีก่อน ซึ่งก็คือช่วงที่เกิดระบบการจัดสรรแบ่งอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของรัฐต่างๆ ตามสนธิสัญญาเวสฟาเลียในปี ค.ศ. 1648 นั่นเอง (ใช่ครับ ผมย้อนไปนานมากทีเดียว) รัฐสมัยใหม่นั้น หากเรามองนิยามตามมักซ์ เวเบอร์ (Max Weber) แล้วเราก็จะพบว่ามันคือ “ชุมชนทางการเมืองของมนุษย์ซึ่งสามารถอ้างในสิทธิอย่างชอบธรรมในการใช้กำลังทางกายภาพแต่เพียงหนึ่งเดียวภายใต้ดินแดนหนึ่งๆ ได้” ซึ่งก็สอดคล้องกับระบบรัฐชาติแบบใหม่จากสนธิสัญญาเวสฟาเลีย ที่นำมาซึ่งการแบ่งแยกเขตแดนอย่างชัดเจน และแบ่งแยกอำนาจของตัวรัฐชาติออกจากศาสนจักรด้วย (ทำให้มีอำนาจชอบธรรมในการใช้กำลังแต่เพียงหนึ่งเดียว)
ความหมายของสิ่งเรียกว่ารัฐชาติสมัยใหม่นั้นแปลว่าอะไรครับ? มันแปลว่ามโนทัศน์ในเชิงอำนาจของรัฐสมัยใหม่นั้นมันผูกติดอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า ดินแดนและเส้นเขตแดนที่เป็นตัวขีดเส้น ซึ่งกำหนดกรอบไกลที่สุดที่การใช้อำนาจอย่างชอบธรรมแต่เพียงผู้เดียวของรัฐนั้นๆ จะไปถึง ซึ่งรวมทั้งแผ่นดิน น่านน้ำ และกระทั่งน่านฟ้าด้วย เพราะฉะนั้นแล้วเราจึงต้องมีพาสปอร์ตเวลาเดินทางไปต่างประเทศ มีการตรวจคนเข้าเมืองต่างๆ หรือมีการกำหนดขอบเขตที่เป็นน่านน้ำทะเลของไทย เป็นตัวบ่งชี้ว่านี่คือดินแดนในพื้นที่ที่เราใช้อำนาจได้อย่างชอบธรรมแต่เพียงผู้เดียวแล้ว หากเลยออกไปยังน่านน้ำสากล นั่นก็ไม่ใช่พื้นที่ของรัฐไทยอีกต่อไป เพราะแม้เราจะสามารถใช้อำนาจ ทำโน่นทำนี่ได้อยู่ แต่อำนาจอันชอบธรรมไม่ได้อยู่ที่เราแต่เพียงผู้เดียวแล้ว แต่ความชอบธรรมในการใช้อำนาจนั้นกลับแชร์อยู่โดยคนหรือรัฐอื่นๆ อีกมากมายด้วย
กล่าวโดยสรุปที่สุดก็คือ มโนทัศน์ว่าด้วยอำนาจที่สำคัญที่สุดของรัฐสมัยใหม่นั้นผูกพันธ์กับ 2 สิ่งนั่นคือ ขอบเขตพื้นที่ที่ชัดเจนจำกัดและค่อนข้างจะตายตัว บวกกับการเป็นอำนาจสูงสุดทางกายภาพอย่างเป็นทางการแต่เพียงหนึ่งเดียวนั่นเองครับ
อย่างไรก็ดีนับแต่การกำเนิดขึ้นของอินเทอร์เน็ตในช่วงทศวรรษ 1960s และแพร่หลายไปทั่วโลกอย่างก้าวกระโดดมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่เกิดทั้งระบบปฏิบัติการทางอินเทอร์เน็ตต่างๆ, ระบบการสืบค้นทางอินเทอร์เน็ต, การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์, การเกิดบล็อกและเว็บบอร์ด, การเกิดอีเมล, ระบบวีดีโอสตรีมมิ่งออนไลน์, การฝากและดาวนโหลดข้อมูลในโลกออนไลน์ได้ ไปจนถึงโซเชียลเน็ตเวิร์กที่เราใช้กันในตอนนี้ หรือเหล่าคริปโตเคอร์เรนซี่ต่างๆ ที่เกิดขึ้น มันทำให้โลกเกิด ‘พื้นที่หรือสเปซแบบใหม่ที่มีความพิเศษมาก’ เพราะมันทั้งมีอยู่จริงและไม่ได้มีอยู่จริงไปพร้อมๆ กัน คือ มันไม่ใช่พื้นที่ที่สามารถจับต้องมองเห็นได้ในทางกายภาพแบบเดิมๆ เช่นเราไปดูที่ดินที่อยากจะซื้อหรือเดินห้างสรรพสินค้าในวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่พื้นที่ที่ว่านี้ก็มีอยู่จริง ข้อมูลต่างๆ ของเราถูกเก็บไว้ในพื้นที่ที่มองไม่เห็นนี้จริง รวมไปถึงข้อมูลของสิ่งที่เราอยากรู้ อยากเสพด้วย ไม่เพียงเท่านั้น แม้พื้นที่ที่ว่านี้จะไร้ซึ่งกายภาพของตัวมันเอง แต่มันก็สามารถ ‘แปลงตัวมันเอง’ ให้กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ในทางกายภาพได้อย่างมากมายด้วย เช่น รูปที่อยู่ใน Google Image ก็สามารถปรินต์ออกมาใส่กระดาษในโลกจริง และมีพื้นที่ในเชิงกายภาพของมันเองได้ พื้นที่ที่มีความพิเศษมากๆ นี้เองที่เรียกกันว่าไซเบอร์สเปซ หรือพื้นที่โลกไซเบอร์
จากจุดนี้เอง เราที่เป็นผู้ใช้งานของโลกไซเบอร์ย่อมทราบกันดีว่าโลกไซเบอร์นั้นไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘เส้นเขตแดน’ ที่ชัดเจนในตัวมันเอง เราสามารถโหลดหนังโป๊จากญี่ปุ่น อ่านข่าวจากสำนักข่าวของแคนาดา หรือสั่งของจากประเทศจีนได้ โดยไม่ต้องวุ่นวายขอวีซ่าอะไรใดๆ และพร้อมๆ กันไปภายในไซเบอร์สเปซนั้นมันก็ไม่ได้มีใครหรือสิ่งใดที่ทำหน้าที่เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด (authority) ที่สามารถควบคุมความเป็นไปของสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกไซเบอร์ได้ อย่างมากก็มีแต่เพียงมาตรฐานที่กำหนดขึ้นอย่างหลวมๆ ในโลกจริง และพยายามกำหนดให้เป็นคุณค่าร่วมในพื้นที่ของโลกไซเบอร์ด้วย แต่นั่นก็ไม่ได้มีอำนาจบังคับหนึ่งเดียวอะไร เพราะคนตัดสินว่าจะทำตามหรือไม่ก็ตามแต่นโยบายของแต่ละเว็บไซต์อยู่ดีนั่นเอง ฉะนั้นมันจึงไม่มีผู้ใช้อำนาจสูงสุดเหนือใคร ไม่ต้องพูดถึงอำนาจในทางกายภาพด้วยซ้ำ เพราะไม่มี ‘กายภาพ’ ให้ไปใช้อำนาจด้วยตั้งแต่แรก ผมคิดว่าหากเราจะอธิบายไซเบอร์สเปซว่าเป็น ‘พื้นที่จริงจำลอง’ ก็อาจจะไม่ผิดไปมากนัก
จากลักษณะคร่าวๆ มากๆ ของไซเบอร์สเปซ เราจะเห็นได้เลยครับว่ามันแทบจะเป็นลักษณะที่ ‘ตรงกันข้าม’ กับมโนทัศน์ในเชิงอำนาจของรัฐสมัยใหม่ คือ มันไม่มีพรมแดน ในขณะที่รัฐสมัยใหม่นั้น ‘มี’ และในขณะที่รัฐสมัยใหม่ให้ความสำคัญมากกับการเป็นผู้มีอำนาจทางกายภาพอย่างชอบธรรมแต่เพียงผู้เดียวนั้น โลกไซเบอร์กลับไม่มีทั้งกายภาพให้ใช้อำนาจในทางนั้นด้วยได้ และไม่มีทั้งความเป็นหนึ่งเดียวสูงสุดในการปกครองอะไรใดๆ เลย กล่าวโดยสรุปก็คือ
อำนาจของรัฐชาติสมัยใหม่นั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาตั้งแต่แรกสำหรับพื้นที่ที่มีลักษณะการทำงานและกลไกของอำนาจแบบไซเบอร์สเปซ
การที่บอกว่าอำนาจของรัฐไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับพื้นที่อย่างไซเบอร์สเปซนั้น ก็ย่อมรวมถึงตัวบทกฎหมายซึ่งเป็นกลไกเชิงอำนาจแบบหนึ่งของรัฐด้วย ซึ่งส่วนนี้เราต้องเข้าใจและยอมรับกันแต่ต้นนะครับว่า ไม่ว่าจะเป็นมักซ์ เวเบอร์, ชาร์ลส์ ทิลลี่, ไล่ไปยันเฮเกล หรือคานท์ หรือกระทั่งมาร์กซ์ ที่เป็นเจ้าพ่อของความคิดทางการเมืองมากมาย และอภิปรายถึงกลไกการทำงานและอำนาจรัฐต่างๆ อย่างมากมายนั้น ในช่วงเวลาของเขาเองก็ไม่ได้สามารถจะจินตนาการถึง ‘พื้นที่ทางอำนาจอย่างไซเบอร์สเปซนี้ขึ้นมาได้’ เพราะโลกมันเปลี่ยนแปลงเร็ว และหลายครั้งมันเหนือเกินกว่ากระทั่งจินตนาการของนักคิดนักปรัชญาที่เก่งที่สุดของโลกมารวมกันเสียอีก โลกทัศน์ของรัฐชาติสมัยใหม่จึงจำกัดอยู่แต่เพียงพื้นที่ทางกายภาพที่รัฐชาติสมัยใหม่ถูกเตรียมตัวไว้เท่านั้น แต่มันไม่เคยเตรียมตัวมาถึงจุดของไซเบอร์สเปซได้เลย
กระนั้นไอ้พื้นที่จริงจำลองอย่างไซเบอร์สเปซนี้ เมื่อทั้งกึ่งจริงและกึ่งไม่จริงในตัวมันเอง มันจึงมีสถานะที่กึ่งๆ จะ ‘ซ้อนทับ’ กับขอบเขตอำนาจของรัฐชาติสมัยใหม่อยู่ด้วย เพราะอย่างที่ผมกล่าวไปข้างต้นว่า รัฐสมัยใหม่นั้นต้องการจะเป็นผู้ใช้อำนาจทางกายภาพโดยชอบธรรมแต่เพียงผู้เดียว แต่ในเมื่อมันมีพื้นที่จริงจำลองนี้เสมือนหนึ่งว่าเข้ามาอยู่ในเขตแดนอันเป็นพื้นที่ทางอำนาจของตนด้วย แต่พร้อมๆ กันไปรัฐเองกลับไม่ได้มีอำนาจสูงสุดในการเข้าไปจัดการกับไซเบอร์สเปซนี้เหมือนอย่างที่เดิมเคยสามารถเข้าไปจัดการกับส่วนอื่นๆ ของชุมชนการเมืองในเขตแดนตัวเองได้ ตัวไซเบอร์สเปซเองจึงสั่นคลอนความเป็นรัฐสมัยใหม่โดยรากเหง้าไปในตัวด้วย นั่นเพราะไซเบอร์สเปซกำลังทำให้อาณาเขตของรัฐนั้นแปรสภาพไปเป็นเสมือนน่านน้ำสากล ที่อำนาจสูงสุดไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียวอีกต่อไป แต่มันกลับมีคนที่มีอำนาจอันชอบธรรมและสามารถบริหารจัดการอำนาจสูงสุดของตนเองได้ โดยที่รัฐไม่อาจเข้าไปก้าวก่าย ไม่ว่าจะ Google, Facebook, Tweeter, Times Online, Amazon ฯลฯ อำนาจที่เคยเป็นหนึ่งเดียวในเขตแดนหนึ่งๆ กลับไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียวเสียแล้ว เช่นนั้น รัฐจะยังคงสามารถถูกเรียกว่าเป็นรัฐได้อยู่หรือไม่ ภายใต้การทับซ้อนไปมาของพื้นที่ทางกายภาพกับไซเบอร์สเปซนี้? นี่แหละครับคือการสั่นคลอนตัวตนของรัฐในระดับรากเหง้าที่ว่า
อย่างไรก็ดี เมื่อมีไซเบอร์สเปซขึ้นมาแล้ว พื้นที่นี้อุดมไปด้วยประโยชน์ (และผลประโยชน์) มหาศาล ไม่ใช่เฉพาะกับปัจเจกชนทั่วไป (ทั้งในและนอกรัฐหนึ่งๆ) แต่กับตัวรัฐเองด้วยทั้งในแง่การบริหารจัดการ การอำนวยความสะดวก เก็บสะสมข้อมูลประชากรที่ตนจะปกครองต่างๆ ไปจนถึงการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ต่างๆ ทั้งมันยังสั่นคลอนตัวตนของรัฐอย่างที่ว่ามา รัฐเองจึงต้องหาวิธีการเท่าที่เครื่องมือทางอำนาจของตนจะพอมีและทำได้ในการแทรกแซงชิงชัยความเป็นเจ้าของอำนาจเหนือพื้นที่จริงจำลองนี้ ด้วยการออกกฎหมายและมาตราการต่างๆ ขึ้นมาครับ ซึ่งผมคิดว่าหลักๆ แล้วมี 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ Passive Cyber Security (ตั้งรับ) และ Active Cyber Security (เชิงรุก)
แบบ Passive Cyber Security นั้น ไม่ค่อยมีปัญหาอะไรมากนักครับ เพราะจะเรียกว่าเป็นรูปแบบที่รัฐค่อนข้างจะยอมถอย หรือยอมปรับเปลี่ยนวิธีคิดในทางอำนาจของตัวเองก็ว่าได้ว่า “เออ ไม่ต้องมีอำนาจสูงสุดแต่เพียงคนเดียวก็ได้วะ” และออกกติกามาแค่ ‘ป้องกันการโจมตีข้อมูลต่างๆ รวมถึงระบบปฏิบัติการส่วนกลางของรัฐ’ นั่นเอง เพราะไซเบอร์สเปซเป็นประโยชน์มากๆ สำหรับตัวรัฐเองด้วยอย่างที่บอกไปครับ ฉะนั้นไซเบอร์สเปซส่วนที่รัฐใช้งาน ทั้งในการเก็บข้อมูล การใช้ในการปกครอง หรืออำนายความสะดวกต่างๆ หรือในทางการปกครองนั้น ย่อมมีลักษณะในแง่การเป็น ‘ทรัพยากร’ ที่สำคัญยิ่งของรัฐนั้นๆ (หากพูดในแง่อรรถประโยชน์แล้ว มันสำคัญกว่าอาคารรัฐสภาอะไรพวกนี้เยอะด้วย) เพราะฉะนั้นการทำลายทรัพยากรชิ้นสำคัญของรัฐนี้ ย่อมนำมาซึ่งความเสียหายแก่รัฐอย่างมากได้ เช่น ระบบการเงินการธนาคารในประเทศอาจจะปั่นป่วน, ระบบไฟจราจรอาจจะฉิบหาย, ฐานข้อมูลประชากรอาจจะพังพินาศ เป็นต้น มันจึงมีการโจมตีรัฐด้วยการ ‘จู่โจมในโลกไซเบอร์’ ขึ้น ไม่ต้องลุยไปกราดยิง หรือระเบิดตัวเองตายในทางกายภาพอะไรอีกต่อไป แต่อาจจะสร้างความเสียหายให้กับรัฐได้มากยิ่งกว่าวิธีการแบบเดิมๆ เสียอีก ซึ่งบางครั้งเราเรียกการทำแบบนี้ว่า ‘การก่อการร้ายไซเบอร์’ หรือ Cyber Terrorism นั่นเอง และกฎหมายในแบบ Passive (ตั้งรับ) นี้ก็คือ การมีขึ้นเพื่อป้องการการถูกโจมตีข้อมูลเหล่านี้เป็นหลัก แต่ไม่ได้มุ่งเป้าจะไปยุ่มย่ามอะไรส่วนอื่นอีก
แบบ Active Cyber Security หรือมาตรการความมั่นคงไซเบอร์ ‘เชิงรุก’ นั้นคือตัวที่ผมคิดว่าน่าเป็นห่วง และเป็นสิ่งที่ ‘พรบ. ความมั่นคงไซเบอร์’ ของไทยที่เพิ่งผ่านมติ สนช. ไปนั้นเป็นด้วย ในจุดนี้ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่าสิ่งที่เรียกว่าเชิงรุก นั้นมันคือ ‘รุกใส่อะไร?’ เอาจริงๆ แล้วคำว่าเชิงรุกนั้นมันก็คือการรุกใส่ผู้มีอำนาจอื่นๆ ในพื้นที่จริงจำลองนี้ ว่า “อย่ามาแหยมกับกู (รัฐ) นะ อยู่ในพื้นที่ของกู กูก็ต้องใหญ่ที่สุด” ว่าง่ายๆ ก็คือ การใช้มาตรการแบบ Active นี้มักจะปรากฏอยู่ในรัฐที่ยึดติดกับความเป็นหนึ่งเดียวของการได้ครอบครองอำนาจสูงสุดไว้ในมือของตน เพราะฉะนั้นนิยามของความมั่นคงของโลกไซเบอร์ในแง่นี้จึงไม่ใช่เพื่อ ‘ป้องกันการถูกรุกราน’ จากคนอื่น แบบกรณี Passive แต่เป็นการมองว่า พื้นที่ของตน (รัฐ) กำลังถูกรุกรานอยู่แล้ว จึงต้องหาทางยึดพื้นที่ทางอำนาจคืนมา
การใช้อำนาจในลักษณะแบบ Active นี้จึงมีลักษณะของความพยายามจะเปลี่ยนความไม่มีกายภาพของไซเบอร์สเปซ ให้กลายเป็นพื้นที่เชิงกายภาพขึ้นมาให้ได้มากที่สุด แล้วนำเอากลไกอำนาจในทางกายภาพของตนเข้าไปควบคุมหน่วยทางกายภาพนั้นๆ ที่ถูกรัฐแปลงโฉมมา อย่างมาตรา 64 และ 65 ของ พรบ.ความมั่นคงไซเบอร์เองก็มีลักษณะดังที่ว่ามา (ผมจะไม่ลงรายละเอียดส่วนนี้นะครับ เพราะไม่ใช่พื้นที่ที่มีความถนัดในทางวิชาการอีกต่อไป) คือ ส่วนหนึ่งของทั้งสองมาตรานี้ ได้ตรึง (locate) พื้นที่ให้ไซเบอร์สเปซที่ไม่ได้มีพื้นที่ทางกายภาพจริงๆ กลับมีขึ้นมา อย่างการมีอำนาจบุกตรวจค้น ยึด และจัดการกับตัวคอมพิวเตอร์ได้ และในบางกรณีไม่ต้องขอคำสั่งศาลก่อนด้วย กล่าวก็คือ แม้ตัวไซเบอร์สเปซเองจะไม่มีกายภาพในตัวมันเอง แต่กฎหมายเชิงรุกนี้ก็ได้เปลี่ยนเอา platform หรือที่แสดงผลปลายทางของข้อมูลที่ส่งผ่านไซเบอร์สเปซนั้น มานับเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่โลกไซเบอร์ไปแทน เพราะไซเบอร์สเปซไม่มีกายภาพ แต่คอมพิวเตอร์นั้นมี ก็จึงอุปโลกน์เอาอุปกรณ์แสดงผลปลายทางของข้อมูล ในฐานะ ‘พื้นที่ทางกายภาพของโลกข้อมูล’ ไปด้วยเสียเลย เป็นต้น และกำหนดการใช้อำนาจสูงสุดทางกายภาพแต่เพียงหนึ่งเดียวของตนเข้ากับสิ่งของทางกายภาพเหล่านี้แทนอย่างอุกอาจและไม่ได้สนใจเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนอะไรใดๆ เลย
ซึ่งเราต้องไม่เข้าใจผิดว่านี่คือการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับระบอบเผด็จการอำนาจนิยมนะครับ
ไม่ใช่เลย เพราะนี่เป็นเพียงวิธีการแบบโบราณดั้งเดิมของการใช้อำนาจรัฐที่ ‘ก้าวไม่ทันเทคโนโลยี’ แต่ก็ดึงดันในการจะครอบครองอำนาจสูงสุดแต่เพียงผู้เดียวไว้กับตนให้จงได้ อันเป็นวิถีความคิดแบบเผด็จการรุ่นโบราณมากๆ ฉะนั้นเมื่อตัวเองก้าวตามความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีไม่ทัน และกลไกอำนาจของรัฐสมัยใหม่ก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รับมือกับพื้นที่แบบใหม่นี้ได้ ก็ต้องสู้ด้วยหนทางเดียวนั่นก็คือ ‘ลาก’ (เท่าที่จะลากได้) เอาโลกใหม่ พื้นที่แบบใหม่ให้มากลายสภาพมาเป็นพื้นที่แบบเก่าตามวิถีคิดแบบเดิมๆ ที่ตนเองเคยชินและมีกลไกการรับมือเอาไว้แล้วให้ได้ นั่นย่อมไม่ใช่การพัฒนาตามเทคโนโลยี แต่เป็นการรั้งเทคโนโลยีไว้ ให้มาอยู่เท่ากับความดักดานบ้าอำนาจของตนเอง
และเราไม่ควรจะลืมด้วยว่า สิ่งซึ่งถูกนับว่าเป็นปลายทาง เป็นเพียงส่วนแสดงผลของข้อมูลนั้นไม่จำเป็นจะต้องบ่งบอกถึงหรือกระทั่งโยงไยกับตัวข้อมูลที่ไหลผ่านพื้นที่จริงจำลองอะไรนักเลย ทั้งไม่ได้สะท้อนด้วยว่าตัวคนที่เป็นเจ้าของส่วนแสดงผลปลายทางนั้นจะเกี่ยวข้องกับ “ตัวข้อมูลที่ปรากฏอยู่ ณ ส่วนแสดงผลอันมีกายภาพจับต้องได้” ซึ่งรัฐพยายามเข้าไปครอบงำ และใช้อำนาจของตัวเองรุกชิงพื้นที่คืน ผมอยากให้ลองนึกถึงคดี ‘อากง’ ดูครับ คนแก่คนหนึ่งที่ส่งเมสเสจข้อความอะไรก็ไม่เป็น ถูกตัดสินจำคุกเพราะโทรศัพท์มือถือของเขาถูกกล่าวหาว่า “ส่งข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” โดยที่ก็ไม่เคยมีใครได้เห็นความจริงอะไร และสุดท้ายชายแก่ผู้ส่งเมสเซจไม่เป็นคนนี้ก็ต้องเสียชีวิตลงในคุกนั้น โดยที่ความยุติธรรมยังคงถูกตั้งข้อกังขาอยู่เสมอ
และ พรบ. ความมั่นคงไซเบอร์นี้ ดูจะทำให้เราทุกคนกลายเป็นอากงกันได้ง่ายๆ ทีเดียว เขาแอบมองเรา เขาบุกจับเรา โดยที่เราอาจจะไม่รู้ห่าอะไรเลยก็ได้ หรือต่อให้เรารู้เรื่องด้วย แท้จริงแล้วมันก็เป็นการคิดการทำ ‘นอกพื้นที่ขอบเขตอำนาจของรัฐ’ เลยหรือไม่? นั่นคงเป็นสิ่งที่ต้องคิด โดยเฉพาะ สนช. ที่อนุมัติผ่าน พรบ. นี้อย่างฉลุยฉุยแฉก และบอกตรงๆ ครับมันเป็นการสะท้อนวิธีการใช้อำนาจของเผด็จการที่โง่เง่าไร้สมองมาก เพราะนี่ไม่ใช่การใช้เทคโนโลยี แต่เป็นการใช้กฎหมายมาจำกัดพลังของเทคโนโลยีต่างหาก
เผด็จการที่ชาญฉลาดย่อมรู้ดีว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ หากใช้ดีๆ แล้วอาจจะเป็นประโยชน์กับตนเองได้มากเสียยิ่งกว่ากับระบอบประชาธิปไตยได้ เราเคยได้ยินเรื่องเทคโนโลยีที่ช่วยกระจายอำนาจให้กับประชาชนมามากแล้ว กระทั่งเทคโนโลยีที่อาจจะนำมาสู่ประชาธิปไตยทางตรงได้ด้วยซ้ำ แต่พร้อมๆ กันไป เทคโนโลยีเองหากใช้ให้เป็น ใช้ให้ชาญฉลาด ก็อาจจะทำให้เผด็จการที่ไม่โง่แข็งแกร่งได้มากด้วย เพราะข้อมูล ความต้องการ ความรู้ต่างๆ ที่เคยกระจัดกระจายมากมายไปทั่วนั้น ก็สามารถส่งเข้าหาศูนย์กลางได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น การตอบสนองของผู้นำอำนาจนิยมที่ชาญฉลาดลงไปสู่พื้นที่ต่างๆ เพื่อเอาใจประชากรและรักษาฐานอำนาจของตนก็ทำได้ง่ายขึ้นเช่นเดียวกัน ไม่ต้องนับว่าสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ การตัดสินใจโดยคนที่มีอำนาจสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว ไม่ต้องการความโปร่งใสและตรวจสอบได้นั้น มันเร็วกว่าการตัดสินใจในระบอบประชาธิปไตยเสมอ เพราะประชาธิปไตยต้องการการตรวจสอบและถกเถียงอย่างชัดแจ้งเสียก่อน เผด็จการมีสมองที่รู้จักอาศัยความเร็วของข้อมูลให้เป็นประโยชน์ย่อมอาจเอาชนะใจคนเหนือระบอบประชาธิปไตยได้ด้วยพัฒนาการทางเทคโนโลยีนี้เสียด้วยซ้ำ
แต่ พรบ. ความมั่นคงไซเบอร์ไทยที่ออกมาและจำกัดขีดความสามารถของเทคโนโลยีนั้น ดูจะเป็นข้อพิสูจน์ชัดให้กับเราแล้วว่า รัฐบาลประเทศเราไม่เพียงแต่เป็นเผด็จการที่มีมโนทัศน์เรื่องอำนาจแบบคร่ำครึแล้วเท่านั้น แต่ยังเป็นเผด็จการชนิดที่โง่ดักดานเป็นหนักหนาด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดอ่าน www.facebook.com