ก่อนหน้านี้เรามักได้ยินข่าวเกี่ยวกับเรื่องที่เว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐถูกคนภายนอกเจาะเข้าไปได้ง่ายๆ ทั้งเหตุการณ์ที่ข้อมูลส่วนตัวของประชาชนหลุดจากระบบของกระทรวงสาธารณสุข หรือจะกรณีที่เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญถูกเปลี่ยนหน้าแรกของเว็บ เพราะโดนขโมยรหัสของเว็บไป จากเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงปีนี้ก็ชวนให้หวั่นใจเหมือนกันว่า ขนาดเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐที่น่าจะต้องมีระบบป้องกันที่แข็งแกร่งยังไม่ปลอดภัย แล้วคนธรรมดาแบบเราล่ะจะขนาดไหน…
ซึ่งเรื่อง Cyber Security หรือความปลอดภัยทางไซเบอร์ เอง ก็เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงผ่านหน้าสื่อหลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่ที่อินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิตของผู้คนบนโลกนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะธุรกรรมหลายอย่างสามารถทำผ่านอินเทอร์เน็ตได้แล้ว แต่ก็ไม่มีความปลอดภัยใดๆ รับประกันเลย
นั่นก็ทำให้ประเด็น Cyber Security ได้ถูกสื่อบันเทิงหยิบเอามาบอกเล่าหลายครั้ง ไม่ว่าจะในแง่จินตนาการล้วนๆ หรือมีการแฝงนัยยะให้มองย้อนกลับสู่ความเป็นจริงว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และถ้าไม่ระวังเราอาจจะตกเป็นภัยได้ อย่างซีรีส์ Black Mirror หรือ Mr. Robot ที่เล่าทั้งในมุมบันเทิงและมุมเทคนิคจริงจังอย่างดุเดือด
อย่างไรก็ตาม ซีรีส์เหล่านั้นอาจจะมีหลายซีซั่น และอาจจะกินเวลาผู้ชมมากเกินไป เราเลยขอชวนให้ทุกคนไปรับชมหนัง 7 เรื่องที่เล่าเกี่ยวกับ Cyber Security ที่ช่วงเวลาราว 1-2 ชั่วโมง อาจจะทำให้เราต้องตระหนักกันมากขึ้นเกี่ยวกับความสำคัญของ Cyber Security
The Net
หนังจากปี ค.ศ.1995 หรือยุคสมัยที่อินเทอร์เน็ตเพิ่งเริ่มเฟื่องฟูในวงกว้าง เล่าเรื่องของ แองเจล่า เบนเน็ตต์ วิศวกรระบบที่ทำงานอยู่ คอมพิวเตอร์ กับ อินเตอร์เน็ต จนแทบไม่มีตัวตนบนโลกออฟไลน์ เธอได้รับฟล็อปปี้ดิสก์จากเพื่อนร่วมทีมงาน และพบว่าภายในนั้นมีโปรแกรม ‘Gatekeeper’ ที่สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลของภาครัฐและทำการแก้ไขข้อมูลภายในได้อย่างง่ายดาย นั่นทำให้ แองเจล่า เจอปรับเปลี่ยนประวัติส่วนตัวของเธอในฐานข้อมูลทั้งหมด เธอกลายอีกคนหนึ่ง เพราะคนร้ายเกรงว่าเธอจะนำเอาโปรแกรมสุดพิเศษนั้นไปเปิดเผยสู่กลุ่บุคคลอื่น
หนังดังกล่าวสะท้อนความหวาดกลัวต่อโลกอินเทอร์เน็ตในยุคนั้น ที่หลายคนยังมีความหวาดกลัวต่อโลกไซเบอร์ (ยิ่งเห็นได้ชัดกับชื่อไทยของเรื่องที่ใช้ชื่อว่า ‘อินเทอร์เน็ตนรก’) ตัวผู้สร้างเลยจับประเด็นเอาความกลัวต่อสิ่งที่คนยังไม่คนเข้าถึงมาเล่นนั่นเอง หนังไม่ได้ใช้เวลากับการแฮกอยู่มากนัก (ซึ่งภาพยนตร์สายบันเทิงแทบทุกเรื่องมักทำแบบนั้น เพราะฉากการแก้โค้ดไม่ใช่เรื่องสนุกของคนดูเท่าไหร่) แต่ยังทำให้คนดูเข้าใจว่า กลุ่มวิศวกรระบบคอยตรวจสอบช่องว่างของระบบได้อย่างไร
กับหนังพยายามคุยเรื่อง ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ที่ควรจะมีในทุกหน่วยงาน และเป็นการทำนายกลายๆ ว่า ชาวเน็ตในอนาคต (จากในหนัง) ก็ควรจะใช้ชีวิตกับโลกจริงเสียบ้าง มิฉะนั้นอาจจะถูกหลงลืมจากชาวโลกได้
Hackers
หนังอีกหนึ่งเรื่องจากปี ค.ศ.1995 แต่ขยับไปเล่าเรื่องของเด็กวัยรุ่นที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างไวรัสที่ล่มระบบคอมพิวเตอร์กว่าพันเครื่อง ทั้งยังถูกพิพากษาตัดสินไม่ให้ใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ปุ่มกดจนถึงอายุ 18 ปี แต่เมื่อเขาก้าวเข้าสู่วัยดังกล่าว สิ่งแรกที่เขาทำก็คือการกลับมาเป็นแฮ็คเกอร์อีกครั้ง และในยุคสมัยใหม่ (ตามท้องเรื่อง) มีเหล่าแฮ็คเกอร์เพิ่มมากขึ้น ทำให้เขาได้ร่วมกลุ่มกับเพื่อนแฮกเกอร์วัยเดียวกัน แต่วัยรุ่นกลุ่มนี้กลับไปเจอความลับในองค์กรหนึ่ง จนกลายเป็นศึกระหว่างแฮ็คเกอร์ เพื่อรักษาอิสรภาพในโลกอินเทอร์เน็ตไว้
Hackers เป็นหนังที่ทำให้โลกได้เข้าใจมากขึ้นว่า วัฒนธรรมย่อยของกลุ่มแฮกเกอร์นั้นเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการที่กลุ่มคนนี้เลือกใช้ชื่อฉายาต่างๆ แทนตัว, การเจาะระบุแล้วทิ้งข้อความเพื่อแสดงความเป็นเจ้าถิ่นของพื้นที่ที่ถูกเจาะระบบไปแล้ว, การปฏิบัติตัวที่มีความเป็นขบถต่อสังคม และพื้นที่บนโลกอินเทอร์เน็ตนั้นมีความเสรีกว่าโลกแห่งความจริง สอดคล้องกับ ‘พลเมืองโลก’ (Global Citizen) ในปัจจุบันอย่างยิ่ง
นอกจากนั้นในหนังยัง ชี้ช่องเบาๆ ว่าแฮกนั้นเป็นหลักตรรกะคณิตศาสตร์ ไม่ใช่แค่การเปิดภาพสวยๆ บนหน้าจอเท่านั้น และการเล่นสเก็ตบอร์ดกับโรลเลอร์เบลดภายในตัวอาคารหรือตามถนนของเมืองใหญ่ น่าจะไม่ใช่กิจกรรมที่ดีเท่าไหร่นัก
WarGames
ก่อนจะขยับไปถึงหนังที่สอดคล้องกับยุคปัจจุบันมากขึ้น ขอย้อนถอยหลังไปหาหนังยุคเก่าเล็กน้อยอย่างเรื่อง WarGames ซึ่งออกฉายในปี ค.ศ.1983 กับเรื่องของ เดวิด ไลท์แมน เด็กนักเรียน ม.ปลาย ที่มีความสามารถในการแฮกผ่านระบบโทรศัพท์ Dial-Up เห็นได้จากที่เขาเข้าไปแก้เกรดของตัวเองในโรงเรียน แล้ววันหนึ่งเขาบังเอิญไปเจอกับระบบที่ไม่ระบุตัวตน แต่ระบบดังกล่าวนั้นเรียกร้องขอเล่นเกมอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่เดวิดจะพบว่าระบบที่ว่าแท้จริงเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ที่อยู่ภายใน NORAD หรือกองกำลังป้องกันอากาศยานของอเมริกาเหนือ และถ้าเดวิดไม่สามารถเอาชนะเกมกับปัญญาประดิษฐ์ตัวนี้ได้ อาจจะทำให้เกิดการยิงนิวเคลียร์ที่ก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สามได้เลยทีเดียว
ที่หยิบยกหนังเรื่องนี้มาพูดถึง ส่วนหนึ่งมาจาก การนำเสนอการแฮกแบบ Phreaking / Phone Hacking การเจาะข้อมูลผ่านระบบโทรศัพท์ การแฮกซึ่งได้รับความนิยมในช่วงปี ค.ศ.1980-1990 ได้อย่างสมจริง ก่อนที่ระบบอินเตอร์เน็ตแบบดิจิทัลจะเข้ามาทดแทน ทำให้วิธีการเจาระบบเปลี่ยนแปลงไป
แม้ว่าตัวเนื้อหาที่เหลือในหนังจะไม่ได้คุยเรื่อง Cyber Security แบบชัดเจน (นอกจากการตั้งรหัสโดยอิงมาจากชื่อคนใกล้ชิด) แล้วข้ามไปเป็นการนำเสนอเกี่ยวกับสงครามและภัยที่อาจจะเกิดจากเทคโนโลยีอัตโนมัติทั้หลาย แต่ก็เป็นการชวนให้ระลึกอยู่เสมอว่า ไม่มีอะไรปลอดภัย 100% และเป็นการทำให้เห็นว่า การถูกเจาะเข้าระบบนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องของยุคสมัยใหม่แต่อย่างใด
Untraceable
หนังที่ออกฉายในปี ค.ศ.2008 เล่าเรื่องของ เจนนิเฟอร์ มาร์ช เจ้าหน้าที่ FBI แผนกอาชญากรรมไซเบอร์ที่ทำหน้าที่ตามปกติ อย่างการตรวจสอบข้อมูลการซื้อขายของผิดกฎหมายออนไลน์, แฝงตัวตามโปรแกรมพูดคุยออนไลน์เพื่อดักจับคนร้าย หรือการตรวจสอบว่ามีการใช้ตัวตนปลอมเพื่อก่อเหตุอาชญกรรม เป็นต้น จนกระทั่งทีมงานของเธอได้พบกับเว็บไซต์ชื่อ KillWithMe ที่เริ่มทำการสังหารสิ่งมีชีวิตเล็กๆ จนเริ่มกลายเป็นการฆ่าบุคคลอื่นผ่านโลกออนไลน์ แถมผู้จัดทำเว็บนี้ ใช้เทคนิคที่ทำให้ไม่สามารถปิดเว็บไซต์ได้โดยง่าย แล้วทีม FBI จะไล่จบคนร้ายได้อย่างไร
Untraceable หยิบเอาอีกมุมของ Cyber Security มานำเสนอ เพราะนี่เป็นมุมจากฝั่งผู้พิทักษ์กฎหมายที่ไล่ล่าคนร้ายโดยตรง แม้ว่าตัวเรื่องราวหลักของหนังอาจจะเป็นการติดตามการพยายามแข่งขันกันหาตัวจริงระหว่าง ตัวเอกกับตัวร้าย แต่รายละเอียดการทำงานนางเอกและเพื่อนร่วมงานนั้น เป็นการจำลองมาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงหลายเหตุการณ์
ในไทยเองก็มี ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ PCT – Police Cyber Taskforce ก็ทำหน้าที่เพื่อดูแลคดีอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับโลกไซเบอร์ในภาพรวม หรือหน่วยงานย่อยอย่าง ชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต หรือ TICAC – Thailand Internet Crimes Against Children ก็เคยเปิดเผยว่าได้ทำการมีการปลอมตัวเข้าไปในกลุ่มแชทลับเพื่อทำการเก็บหลักฐานจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นอาทิ
แต่จุดที่ในหนังกับเหตุการณ์จริงเหมือนกัน (ไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือโดยเจตนา) ก็คือหลายคดีที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์นั้น ทางผู้รักษากฎหมายต้องใช้เวลาพักใหญ่ในการไล่ล่าคนร้าย ซึ่งบางกรณีนั้นพอเข้าใจได้ว่ามาจากการที่คนร้ายก่อเหตุสดใหม่จนยังไม่มีหลักฐานมากพอ แต่บางกรณีที่มีความล่าช้าแม้จะหลักฐานเกินพอแล้วก็ไม่แน่ใจนักว่าติดขัดจากปัญหาใด
The Great Hack
หยิบจับหนังที่เป็นเรื่องแต่งมาเยอะแล้ว ก็ขอนำเอาหนังสารคดีที่หยิบข้อมูลจากโลกความจริงมาบอกเล่ากันบ้าง โดยในสารคดี The Great Hack นี้ เล่าเรื่องราวของ ‘การแฮกข้อมูลก้อนใหญ่ที่สุด’ นั่นคือ ข้อมูลของทุกท่านที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตในทุกวันนี้ ที่ทุกคนอาจจะ ได้ทำการมอบข้อมูลเหล่านั้นให้บริการต่างๆ ไปด้วยตัวเอง แต่มีคนพร้อมจะหยิบจับข้อมูลเหล่านั้นไปใช้งานต่อ ไม่ใช่แค่การทำให้โฆษณาขึ้นมาบนหน้าจอของท่านประหนึ่งว่ามีคน ‘แอบดักฟังเสียงเราบ่นตอนอยากได้ของ’ แต่ยังสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ เพื่อปรับเปลี่ยนทิศทางด้านการเมืองได้อีกด้วย
ทีมผู้สร้างสารคดีนี้ ได้นำเอา คดีของบริษัท เคมบริดจ์ อนาเลติก้า (Cambridge Analytica) ที่มีอดีตบุคลากรขององค์กรมาเผยว่าว่า บริษัทดังกล่าวนำเอาข้อมูลที่หลุดออกมาจากเฟซบุ๊ก และช่วยเหลือนายจ้างที่เป็นผู้เกี่ยวข้องกับวงการเมือง ด้วยการนำข้อมูลก้อนใหญ่มาประเมินว่าชื่นชอบแนวทางการเมืองฝ่ายไหน แล้วจะทำการส่งอีเมลสนับสนุนฝ่ายนายจ้าง กับส่งข่าวฝายป้ายสีหรือทำร้ายที่อยู่ตรงข้ามนายจ้าง จนเกิดข้อกังขาขึ้นว่า ถ้าปล่อยให้มีการใช้ข้อมูลแบบนี้ต่อไป จะไม่มีการเลือกตั้งที่มาจากเจตจำนงค์เสรีของประชาชนอีกต่อไป
นี่อาจจะไม่ใช่รูปแบบการแฮกที่พยายามโจมตีจากภายนอก เพื่อฉกเอาข้อมูลภายใน แต่เป็นการขโมยข้อมูลด้วยการอาศัยช่องว่างที่เกิดขึ้นจาก Bug ในระบบเฟซบุ๊ก แต่ตัวสารคดีก็ชวนให้คิดว่า ขนาดประเทศที่ซีเรียสในด้านการเก็บข้อมูลยังเกิดเหตุนำเอาข้อมูลส่วนตัวไปใช้งานในทางที่ผิดได้
แล้วประเทศไทยที่หลายครั้งผู้เกี่ยวข้องกับ Cyber Security ยังแคร์แค่การบล็อกเว็บไซต์ที่มีตนเองไม่พอใจไปวันๆ จะใส่ใจรับมือความเป็นส่วนตัวของประชาชนบ้างหรือไม่
Citizenfour
เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน (Edward Snowden) เป็นชื่อของชายที่ทำให้โลกต้องใส่ใจ Cyber Security กันมากขึ้น เพราะอดีตลูกจ้างของทาง NSA (สำนักงานความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา) และอดีตนักวิเคราะห์ข่าวกรองของ CIA (สำนักข่าวกรองกลาง) ได้เปิดเผยว่า รัฐบาลสหรัฐใช้วิธิการหลากหลายในการสอดแนมและเก็บข้อมูลส่วนตัวหลากประเภทจากประชาชนในอเมริกาเอง หรือจากการสอดแนมคนในประเทศอื่นก็ตามที และแนวคิดกับมุมมองชีวิตส่วนหนึ่งของเขาก็ถูกนำเสนอโดยภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Citizenfour ที่ออกฉายในปี ค.ศ.2014
สารคดีบอกเล่าเรื่องราวของ ลอร่า พอยทราซ (Laura Poitras) ผู้เป็นผู้สร้างภาพยนตร์ ได้รับจดหมายเข้ารหัสจากบุคคลที่ใช้ชื่อ Citizenfour ก่อนที่เธอจะถ่ายทำเรื่องราวในช่วงที่ เอ็ดเวิร์ด พูดคุยกับนักข่าวที่มีความควบคู่กับบุคคลอื่นๆ ที่ตั้งคำถามถึง ความปลอดภัยบนโลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เพราะถ้าอ้างอิงจากผู้คนที่เกี่ยวข้อง
ด้วยความที่เป็นสารคดีที่นำเสนอภาพแบบค่อนข้างดิบ ทั้งยังใช้ฟุตเตจจากข่าวจำนวนมาก หรือถ้าอธิบายสั้นๆ ก็คือ เนื้อหาในสารคดีนั้นมีหลายส่วนที่บอกได้ทันทีว่าเป็นเรื่องจริง อย่างเช่นชื่อโปรแกรมบางตัวที่ถูกใช้งานสำหรับสอดแนม ก็มีการยืนยันจากผู้ชำนาญการด้าน Cyber Security แล้วว่าเป็นของจริง และบริการอีเมลอย่าง Lavabit ที่ปรากฏตัวในสารคดี ระบุว่าอย่างน้อยที่สุดตัวผู้ให้บริการเองก็รักษาความเป็นส่วนตัวให้กับผู้ใช้งานโดยไม่ส่งข้อมูลให้ใครเลยแม้แต่ FBI
ตามวิสัยของหนังสารคดี ที่อาจจะไม่ได้บอกคำตอบให้คนดูชัดเจน ว่าควรคิดเห็นเช่นไรต่อไป แต่ในหนังก็มีคำพูดหนึ่งที่ระบุว่า ‘เมื่อเราสูญเสียความเป็นส่วนตัว ถูกคุกคามได้ เราก็จะสูญเสียเสรีภาพ และมันจะทำให้เราเสียอิสรภาพในการนำเสนออย่างอิสระอีกต่อไป’
กับอีกส่วนที่ชวนคิดก็คือ ขณะที่ประเทศแถบยุโรปมีการขยับตัวเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและสิทธิส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ต กับสิทธิของสื่อในหลายทิศทางแล้วนับตั้งแต่มีภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ออกฉาย แต่ที่อื่นจะทำตัวอย่างไรบ้างนั้น ก็คงจะยากที่จะหาคำตอบได้
The Social Dilemma
หนังเรื่องสุดท้ายเกี่ยวข้องกับ Cyber Security คือหนังแนว สาระละคร (Docudrama) เรื่อง The Social Dilemma ที่นำเอาบุคลากรวงในจากทางซิลิคอนวัลเลย์ที่เคยทำงานในกูเกิ้ล, เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม, ยูทูบ ฯลฯ ออกมาพูดถึงแนวทางการทำงานบริษัท IT ในปัจจุบันที่เน้นการขายข้อมูลของผู้ใช้งานและออกแบบบริการของแพลตฟอร์มให้เกิดการเสพติดได้ง่ายที่สุด โดยจะสลับกับฉากละครที่มีครอบครัวหนึ่งได้รับอิทธิพลใดๆ จากบริการเหล่านั้น
จุดที่หนังเรื่องนี้นำเสนอมากกว่าเรื่องอื่นๆ ไม่ใช่ความปลอดภัยของระบบที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งาน แต่เป็นความปลอดภัยทางด้านสุขภาพจิตของผู้ใช้งานระบบที่อาจจะโดนพูดถึงน้อยกว่าในหลายพื้นที่ เพราะในด้านการเก็บข้อมูลสำคัญๆ นั้น เราอาจจะยังเห็นภาครัฐในหลายประเทศออกกฎควบคุมได้ แต่เรื่องโดนชักจูงหรือทำร้ายด้านจิตใจ อาจจะออกกฎในมาคุมได้ยากกว่า รวมถึงแต่ละคนนั้นก็มีความแข็งแกร่งทางใจไม่เท่ากัน
และเมื่อย้อนนึกได้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายอยู่บนแพลตฟอร์ม Netflix ที่ขึ้นชื่อว่าอัลกอริทึมล้ำหน้าล้ำยุคที่สุดเจ้าหนึ่งเสียด้วย ก็ทำให้เรากลับมาพินิจและพึงระวังตัวว่า ผู้ชมแบบเราเองก็ต้องรักษาความปลอดภัยของจิตใจตัวเองด้วย รวมถึงควรตั้งคำถามว่า เราจะได้เห็นมุมมองของรัฐแห่งใดบ้างที่จะมาใส่ใจความปลอดภัยไซเบอร์ที่เกี่ยวกับจิตใจของผู้คน
อ้างอิงข้อมูลจาก
YouTube: Insider