“ใครไม่มีลูกไม่มีวันเข้าใจ”
เราได้ยินประโยคบอกเล่าแบบนี้กันบ่อยๆ ในบริบทที่ต่างกันออกไป ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเชิงเปรียบเปรยถึงการกระทำบางอย่างที่ดูเข้าใจยากของคนมีลูกในสายตาคนไม่มีลูก เช่น ทำไมไม่สอนลูกแบบนั้น ทำไมไม่ห้ามลูกแบบนี้
วันนี้เราจะไม่เถียงกันเรื่องการเลี้ยงลูก แต่เราจะคุยกันเรื่องที่เป็นความยากลำบากที่คนมีลูกทั่วไปน่าจะต้องเคยพบเจอกันมาแล้วทั้งสิ้น นั่นคือ สัมภาระที่เยอแยะมากมายที่ต่างพากันงอกเงยมาจากไหนไม่แน่ใจได้ เมื่อเจ้าลูกตัวน้อยของเราลืมตาขึ้นมาดูโลก
ถ้าคุณคิดว่าคุณเป็นคนมินิมอล ของน้อย เน้นซื้อของและใช้สอยเท่าที่จำเป็นแล้ว เราขอให้คุณรอจนกว่าคุณจะมีลูกดูก่อน เพราะร้อยละส่วนใหญ่ของคนที่เรารู้จักทั้งสิ้น ล้วนแต่กลายร่างจากบุคคลนิยมมินิมอลที่พกของน้อยๆ ไปไหนมาไหนมีเพียงกระเป๋าใบเล็กๆ กลายเป็นคนขนสมบัติหรือเป็นพี่โดราเอมอนขึ้นมาในบัดดลเมื่อมีลูก
สิ่งนั้นก็ต้องมี สิ่งนี้ก็จำเป็น ถ้าไม่พกอันนั้นไปเผื่อลูกต้องใช้ขึ้นมาจะทำยังไง จากปกติทั่วไปไปไหนมาไหนตัวคนเดียวหรือไปกับแฟนอาจจะหาซื้อของทั่วไปได้ง่ายๆ ใช้อะไรก็ได้ กินอะไรก็ได้ อะไรตกหล่นก็หาซื้อเอาที่ไหนก็ได้
แต่พอมีลูกแล้วมันกลับไม่ใช่แบบนั้น
น้ำเปล่าที่จะเอามาชงนมให้ลูกเป็นน้ำที่กรองและต้มสุกมาแล้วรึยัง? ขวดนมได้ล้างและอบฆ่าเชื้อมาแล้วรึเปล่า? ผ้าอ้อมสำเร็จรูปยี่ห้อนี้ที่ลูกเคยใช้แล้วไม่แพ้มีติดกระเป๋าตลอดเวลาไหม? ผ้าอ้อมที่เอาไว้เช็ดหน้าลูกตอนจับลูกขึ้นพาดบ่ามีติดตัวสามารถหยิบใช้ได้สะดวกทุกเมื่อรึเปล่า?
สารพันคำถามเหล่านี้หากคุณยังไม่มีลูก คุณอาจจะยังนึกภาพไม่ค่อยออกว่ามันจำเป็นต้องซีเรียสขนาดนั้นเลยหรอกับการมีเด็กน้อยหนึ่งคนในครอบครัว และมันจำเป็นขนาดนั้นเลยหรอที่จะต้องเตรียมของมากมายเพื่อหนูน้อยหนึ่งคนในเวลาที่เราต้องพาเขาเดินทางออกไปข้างนอกบ้าน
คำตอบ คือใช่ มันจำเป็นทั้งหมดที่ว่ามาเลย และนั่นยังไม่ใช่ทั้งหมดที่จำเป็นด้วยซ้ำ สิ่งของที่จำเป็นสำหรับการเลี้ยงและพาเด็กน้อยคนหนึ่งออกนอกบ้านมีเยอะกว่านั้นมาก นั่นเป็นที่มาของการต้องหอบหิ้วข้าวของมากมายของคุณพ่อคุณแม่ที่มีเบบี้น้อย และปัญหาคลาสสิคตลอดกาลก็ตามมา คือ ความกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบของข้าวของที่อยู่ในกระเป๋า ทำให้หาของยาก หาของไม่เจอ หรือในบางกรณีคือ ทำให้เราลืมของที่เราควรจะพกมา เพราะความไม่เป็นระเบียบของข้าวของในกระเป๋า ทำให้เราเช็คของไม่ได้ว่าสิ่งใดขาดสิ่งใดเกิน
โย—พุฒิพัฒน์ กีรติทวีพงศ์ จาก Daddy Finger เข้าใจปัญหานี้ดี เพราะความเป็นคุณพ่อลูกอ่อนมาก่อนและเคยหาของไม่เจอในกระเป๋าสัมภาระของลูกน้อยเหมือนกัน เลยเริ่มคิดที่จะทำกระเป๋าที่สามารถจัดเก็บสิ่งของทุกอย่างของ คุณลูก (และของคุณแม่หรือคุณพ่อ) เอาไว้ในใบเดียวกันได้แบบหาง่าย หยิบของมาใช้ได้สะดวก
ว่าแล้วก็เลยเริ่มต้นคิดคอนเซ็ปต์ของกระเป๋าเองที่จะต้องมีช่องไว้เก็บของเยอะๆ แบ่งสีของแต่ละช่องให้ต่างกันเพื่อความสะดวกของสายตาในการแยกสีเพื่อจัดเก็บของ ผ้าที่ใช้บุกระเป๋าด้านในเป็นผ้าคอตตอนทอมือ ไม่มีสารเคมีจากพี่น้องชาวบ้านที่เชียงใหม่
ก็ขนาดว่าน้ำยาที่ใช้ซักผ้าสำหรับเบบี้ หลายบ้านยังใช้น้ำยาซักผ้าโดยเฉพาะสำหรับผิวแพ้ง่ายของเด็กอ่อน เพราะฉะนั้นกระเป๋าที่ทำขึ้นมาเพื่อเก็บของของลูกรักตัวน้อย หากต้องใส่เสื้อผ้าสิ่งของเครื่องใช้ใดๆ เราคงอยากแน่ใจว่าผิวสัมผัสที่จะเก็บของของลูกเรา ก็ต้องเป็นผ้าที่ไร้สารเคมีและจะไม่ระคายผิวใสๆของลูกรักเราแน่ๆ
Daddy Finger จึงผลิตกระเป๋าที่หลายคนชอบเรียกว่าเป็น ‘กระเป๋าแบกบ้าน’ เนื่องด้วยมันเก็บเอาบ้านหลังน้อยๆ ไปไหนมาไหนกับคุณได้ทุกที่เพราะมีช่องจัดเก็บของที่เป็นระเบียบเป็นสิบๆ ช่อง
แต่คุณสังเกตหรือไม่ว่ากระเป๋าของ Daddy Finger เป็นกระเป๋าที่ดีไซน์ภายนอกดูไม่ค่อยเหมือนกระเป๋าคุณพ่อคุณแม่ลูกอ่อนทั่วไปที่มักเป็นลายการ์ตูน ลายดอกไม้ ลายสีสันสายรุ้ง ตรงกันข้าม Daddy Finger เป็นกระเป๋าที่มีดีไซน์เก๋ไก๋ใช้งานได้ทั่วไป คนธรรมดาทั่วไปก็ใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อไปเพื่อใส่ของเด็กอ่อนก็ได้
เหตุก็เพราะคุณโย รับหน้าที่เป็นทั้งเจ้าของแบรนด์และผู้ใช้จริง ผู้ที่ต้องสะพายกระเป๋าสัมภาระให้คุณภรรยาและลูกน้อยเองเป็นปกติ ก็อยากจะสะพายกระเป๋าที่เข้ากับบุคลิกของตนเองที่อาจจะไม่ได้ออกแนวลายการ์ตูนหรือลายสีชมพูอ่อนขนาดนั้น คุณโยจึงทำกระเป๋า Daddy Finger ขึ้นมาเพื่อให้ตน ในฐานะคุณพ่อสามารถสะพายกระเป๋าใบนี้ไปไหนมาไหนได้จริงโดยไม่เขอะเขิน แถมเมื่อคุณลูกโตขึ้นไปแล้ว คุณโยก็ยังอยากจะใช้กระเป๋าใบนี้ ใบที่เคยไปไหนมาไหนกับลูกตั้งแต่เขายังเด็กยังเล็กไปกับคุณโยเรื่อยไปจนลูกคุณโยโตเป็นเด็กตัวใหญ่และเป็นผู้ใหญ่ต่อไปในอนาคต
เหมือนเครื่องหมายและความทรงจำบางอย่างที่ยังคงอยู่อย่างนั้นไม่ว่าเวลามันจะผ่านไปแล้วกี่ปี ไม่ว่าลูกน้อยจะตัวสูงใหญ่โตขึ้นแค่ไหน แต่กระเป๋าที่เคยเก็บผ้าอ้อมให้ลูกใบนั้นยังคงเป็นใบเดิมที่พ่อหรือแม่ยังคงสะพายและใช้ติดตัวอยู่ได้ต่อไปอยู่อย่างนั้น เหมือนความรักที่พ่อแม่เคยให้ลูกไว้เมื่อตอนตัวเท่าฝาหอยยังไง ต่อให้ลูกโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่สักแค่ไหน พ่อกับแม่ก็ยังรักลูกอยู่อย่างนั้น… ไม่มีวันเปลี่ยน