1
ในสายตาของ เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ (J. Edgar Hoover) ‘ชาร์ลี แชปลิน’ อาจเป็น ‘คนชังชาติ’ ที่สมควรต้องกำจัดและไล่ออกไปนอกประเทศ
เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ คืออัยการสูงสุดของสหรัฐอเมริกา (United States Attorney General) ซึ่งแม้ตำแหน่งจะเป็นอัยการ ทว่าก็ไม่ใช่ข้าราชการทั่วไป ทว่าเป็น ‘ข้าราชการการเมือง’ ที่อยู่ในคณะรัฐมนตรี แต่เป็นตำแหน่งเดียวที่ไม่ได้เรียกว่า ‘รัฐมนตรี’ (หรือ Secretary) และใช้คำว่า Attorney โดยมีหน้าที่เป็นเหมือนหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงยังเป็นผู้นำทนายแผ่นดินของรัฐบาล จึงมีความคาบเกี่ยวเป็นได้ทั้งรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงมหาดไทยกลายๆ
ยิ่งในยุคของ เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ ด้วยแล้ว ตำแหน่งนี้แทบจะมีอำนาจล้นฟ้าล้นแผ่นดิน
2
ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1952 ชาร์ลี แชปลิน นักแสดงตลกที่ถือว่าเป็นอัจฉริยะแห่งวงการภาพยนตร์และเป็นที่รักของคนทั่วโลก ได้ขึ้นเรือควีนเอลิซาเบธเพื่อมุ่งหน้าไปยังยุโรป เขาจะไปประชาสัมพันธ์หนังเรื่องใหม่ของตัวเองที่ชื่อ ‘Monsieur Verdoux’
เมื่ออยู่บนเรือ แชปลินได้รับหนังสือแจ้งแก่เขาว่า เมื่อออกไปจากสหรัฐอเมริกาแล้ว เขาจะกลับมาที่นี่อีกไม่ได้
ที่จริงแล้ว ชาร์ลี แชปลิน ไม่ได้เป็นคนอเมริกัน อเมริกาไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอนของเขา เขาเกิดในปี ค.ศ. 1869 ที่ลอนดอน จึงนับเป็นคนอังกฤษแท้ๆ เขาเริ่มต้นอาชีพนักแสดงในอังกฤษ และโด่งดังถึงขั้นได้ออกตระเวนทัวร์ไปกับคณะแสดงในอเมริกาเหนือ ซึ่งนั่นนำไปสู่อาชีพนักแสดงบนจอภาพยนตร์
แม้ในตอนแรก ชาร์ลี แชปลิน จะไม่ชอบการแสดงภาพยนตร์ (ในตอนนั้นคือ ‘หนังเงียบ’) แต่เขาก็รู้วิธีหยิบจับ และเลือกเครื่องแต่งกายให้กับตัวเองตั้งแต่การปรากฏตัวต่อหน้ากล้องในครั้งที่สอง จนกระทั่งกลายเป็นเอกลักษณ์ และต่อมาก็คืออัตลักษณ์ของความเป็นชาร์ลี แชปลิน ที่ผู้คนหลงรักไปทั่วโลก
เขาใช้เวลาไม่กี่ปี ก็ได้กลายเป็น ‘ปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม’ และทำรายได้มากมายมหาศาล นั่นทำให้เขาตัดสินใจอยู่ในสหรัฐอเมริกาเพื่อทำงานภาพยนตร์ตลอดมา แม้เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และถูกประนามจากคนอังกฤษว่าไม่ยอมกลับบ้านมาช่วยรบ แต่แชปลินก็ยังคงทำงานที่เขารักต่อไป เขาบอกกับสาธารณชนว่า เขายินดีกลับไปร่วมรบในอังกฤษถ้าหากถูกเรียกตัว ทั้งยังลงทะเบียนเผื่อทางอเมริกาจะเรียกตัวไปเป็นทหารด้วย เขายินดีไปรบในนามประเทศไหนก็ได้ทั้งนั้น แต่โชคร้าย (หรือโชคดีก็ไม่รู้) ที่ไม่มีประเทศไหนเรียกตัวเขาไปรบเลย แชปลินจึงทำงาน แต่งงาน มีลูก เสียลูก
และในงานแจกรางวัลออสการ์ครั้งแรก เขาก็ได้รับรางวัลพิเศษ
ในฐานะอัจฉริยะผู้สร้างหนังแสนวิเศษอย่าง ‘The Circus’ ด้วย
แชปลินมีชีวิตอยู่กับยุคของหนังเงียบ มาจนกระทั่งถึงหนังเสียง เช่นเคย เขาไม่ชอบหนังที่มีเสียง เขาล้อเลียนมัน และเชื่อว่าการพูดในหนังจะทำลายศิลปะแห่งหนังเงียบ แต่ในที่สุด เขาก็ยอมรับ และใช้ประโยชน์จากมันอย่างชาญฉลาดอีกครั้ง ด้วยการที่เขาลุกขึ้นมาแต่งเพลงและดนตรีประกอบภาพยนตร์เองเสียเลย กับหนังอย่าง ‘City Lights’ ที่แม้ตัวละครไม่ได้พูดจาส่งเสียง ทว่าดนตรีประกอบและความชาญฉลาดในการสร้างหนังเรื่องนี้ก็ทำให้กลายเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จที่สุดแห่งยุค ก่อนจะมาถึงหนังที่วิพากษ์วิจารณ์ระบบการผลิตแบบสายพานอย่างเจ็บแสบและขำลึกอย่าง ‘Modern Times’ รวมถึงหนังที่จิกกัด อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ไว้เจ็บแสบอย่าง ‘The Great Dictator’
พูดได้ว่า แม้ ชาร์ลี แชปลิน จะไม่ใช่คนอเมริกัน แต่สิ่งที่เขาได้สร้างและทำไว้ให้กับวงการภาพยนตร์อเมริกันนั้น อาจมีคุณค่ามากยิ่งกว่าการไปออกรบในสงครามโลกครั้งไหนๆ จนตัวตายเสียอีก
มากกว่าสามสิบปี ที่ชาร์ลี แชปลิน อุทิศตัวเพื่อศิลปะภาพยนตร์ สร้างชื่อเสียงให้ตัวเองและประเทศ รวมทั้งสร้างงานศิลปะชิ้นสำคัญเอาไว้ให้โลก ดังนั้น การถูกสั่งห้ามเข้าประเทศซึ่งเท่ากับเป็นการ ‘เนรเทศ’ กลายๆ จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก
เขาเป็นคน ‘ชังชาติ’ ขนาดนั้นเลยหรือ?
3
ทำไม เจ. เอ็ดการ์. ฮูเวอร์ ในนามของรัฐบาลอเมริกัน ถึงได้ ‘ขับ’ ชาร์ลี แชปลิน ออกนอกประเทศ
เรื่องนี้มีความเป็นมายาวนาน รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้สืบสวนเรื่องราวของแชปลินมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1922 แล้ว เพราะสงสัยว่า แชปลินจะมีความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์ มีรายงานราว 1,900 หน้า เต็มไปด้วยคำกล่าวหาและใส่ร้ายจากการสัมภาษณ์และเก็บข้อมูล แต่เมื่อสอบไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็ไม่พบหลักฐานว่าแชปลินมีความสัมพันธ์ สนับสนุน หรือเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์
ทว่าเรื่องคอมมิวนิสต์ไม่ใช่เรื่องเดียวเท่านั้นที่มีการปั่นขึ้นมาใส่ร้ายแชปลิน อีกเรื่องหนึ่งที่แลดูจริงจังกว่านั้น ก็คือปัญหาการค้ามนุษย์ เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะแชปลินว่าจ้างนักแสดงสาวคนหนึ่งผู้มีชื่อว่า โจน บาร์รี (Joan Barry) แล้วมีความสัมพันธ์กับเธอ ต่อมา บาร์รีอ้างว่าเธอท้องกับแชปลิน แล้วเขาไม่ยอมรับ นั่นทำให้ เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ ที่สงสัยอยู่แล้วว่า แชปลินน่าจะมีความโน้มเอียงทางการเมือง หรือมีอุดมการณ์ทางการเมืองไม่พึงปรารถนาต่อความเป็นคนอเมริกัน (ในยุคนั้น) หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นใหญ่
ในตอนนั้น มีกฎหมายที่เรียกว่า Mann Act หรือกฎหมายว่าด้วยการค้า ‘ทาสผิวขาว’ (ซึ่งก็คือการค้ามนุษย์) ฮูเวอร์ใช้กฎหมายนี้จัดการกับแชปลิน ด้วยการตั้งข้อกล่าวหาในเรื่องนี้กับแชปลิน
เรื่องของเรื่องก็คือ แชปลินซื้อตั๋วเรือโดยสารให้กับบาร์รี เพื่อให้เธอเดินทางไปทำงานร่วมกับเขา แต่ฮูเวอร์ใช้การซื้อตั๋วนี้เป็นหลักฐานกล่าวหาว่า – นี่ไง แชปลินกำลังกระทำสิ่งที่เรียกว่า Human Trafficking คือการเคลื่อนย้ายมนุษย์อีกคนหนึ่งเพื่อเป้าหมายทางเพศ
แน่นอน – ในปีค.ศ. 1944 แชปลินก็รอดพ้นจากคดี เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ และกระทั่งนักประวัติศาสตร์หลายคนก็ยังบอกเลยว่า คดีนี้เป็นเรื่อง absurd หรือไร้สาระอย่างสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตาม – แชปลินก็ตระหนักแน่ตั้งแต่นั้นมา
ว่าใครคือศัตรูที่ตามล่าล้างผลาญเขาในทุกเรื่อง
4
ฮูเวอร์มีหลักฐานมากมายตามใจคิด เขาพยายามค้นหาทุกวิถีทางที่จะกำจัด เนรเทศ หรือ ‘ไล่’ ชาร์ลี แชปลิน ออกนอกประเทศไปให้ได้
แน่นอน – ชาร์ลี แชปลิน เป็น ‘ฝ่ายซ้าย’ เขาเป็นคนหัวก้าวหน้า เขามาถึงสหรัฐอเมริกาหลังเกิดการปฏิวัติรัสเซียไม่นานนัก เขาได้เห็นความเจ็บปวดของการว่างงาน ความแร้นแค้นและกระวนกระวายของผู้คนในสหรัฐอเมริกา คนว่างงานในอเมริกาเพิ่มจาก 950,000 คนในปีค.ศ. 1919 มาเป็นกว่าห้าล้านคนในปีค.ศ. 1921 นั่นคือยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำกำลังใกล้จะกรายเข้ามา
หนังตลกของชาร์ลี แชปลิน คือวาล์วเปิดให้ผู้คนได้หนีออกจากความคับแค้น ความยากจน และความยากลำบากของชีวิต ให้ได้หัวเราะ และมองเห็นว่าชีวิตยังพอมีความหวังอยู่บ้าง
หลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าชาร์ลี แชปลิน เห็นด้วยกับลัทธิคอมมิวนิสม์ก็คือเมื่อเขาบอกกับเพื่อนนักแสดงอย่าง บัสเตอร์ คีตัน ว่า ถ้าหาก ‘หลักการ’ แบบคอมมิวนิสม์เป็นจริงขึ้นมาได้ จะเกิดความเท่าเทียมในสังคม ทุกอย่างจะเปลี่ยนไป ความยากจนจะหายไป
สิ่งเดียวที่แชปลินต้องการ ก็คือให้เด็กทุกคนมีอาหารกินมากพอ มีรองเท้าใส่ และมีหลังคาคุ้มหัวพวกเขาเอาไว้
นั่นเป็นคำขอที่มากเกินไปสำหรับมนุษย์หรือเปล่า – สำหรับแชปลิน เขาคิดว่านั่นไม่ได้ ‘มากเกินไป’
“แต่ชาร์ลี” บัสเตอร์ คีตัน บอกเขา “นายไม่คิดเหรอว่าจะมีใครบางคนไม่อยากให้สังคมเป็นอย่างนั้น”
และใครคนนั้น – ก็คือคนอย่าง เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์
5
เสื้อผ้าที่ชาร์ลี แชปลิน เลือกใส่ คือเสื้อผ้าแบบคนจรหมอนหมิ่นหรือที่เรียกว่า Tramp Figure มันคือเสื้อผ้าของคนจน ของคนเหงา ของคน ‘นอกสังคม’ ที่ถูกทอดทิ้ง แต่เขาเลือกที่จะสร้างความตลกขึ้นบนอัตลักษณ์ที่แสนเจ็บปวดนี้ และแฝงเร้นเนื้อหาวิพากษ์สังคมเอาไว้อย่างแนบเนียนและแยบยล
“ประเด็นสำคัญของบุคลิกแบบนี้” แชปลินเคยพูดไว้ในปีค.ศ. 1925 ถึงตัวตนแบบ The Tramp “ก็คือไม่ว่าเขาจะตกต่ำหมดตูดแค่ไหน ไม่ว่าพวกอันธพาลจะประสบความสำเร็จในการฉีกทึ้งเขาเป็นชิ้นๆ มากแค่ไหน เขาก็ยังคงมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์”
แชปลินอยู่ข้างคนใช้แรงงานตลอดมา
นั่นทำให้เกิดความนิยมล้นเหลือในตัวเขา
แต่ก็เป็นความนิยมเดียวกันนี้เอง ที่ก่อความกังวลให้กับผู้มีอำนาจ กับเอฟบีไอ และกับฮูเวอร์ – ผู้กุมอำนาจแห่ง ‘ความยุติธรรม’ เอาไว้เหนือหัวผู้คนในสังคมอเมริกันทั้งปวง
เอฟบีไอเคยมีรายงานเขียนไว้ว่า
มีชายหญิงมากมายในที่ห่างไกลของโลก ที่ไม่เคยได้ยินแม้แต่ชื่อของพระเยซู แต่คนเหล่านี้กลับรู้จักและรัก ชาร์ลี แชปลิน
และนั่นคือเรื่องอันตราย
6
เมื่อเกิดลัทธิฟาสซิสม์และความหลงชาติขึ้นในยุโรป ไม่ว่าจะกับนาซีเยอรมันหรือกับมุสโสลินีในอิตาลี ทำให้แชปลินยิ่งถูกดูดเข้าสู่ฝั่งตรงข้าม นั่นคือแนวคิดแบบเสรีนิยมที่ถูกเรียกว่า ‘ฝ่ายซ้าย’
เขาบินไปนิวยอร์กเพื่อพูดในงานที่ถูกมองว่าได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์ เขาขึ้นเวทีที่คาร์เนกี้ฮอลล์ และเรียกผู้ชมว่า comrades หรือ ‘สหาย’ อันเป็นศัพท์คอมมิวนิสต์ และบอกกับคนอื่นๆ ว่า คอมมิวนิสต์ก็คือมนุษย์ธรรมดาๆ เหมือนพวกเราทุกคน เป็นคนที่รักความงาม และรักชีวิตเหมือนกันกับเรานี่เอง
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง อเมริกากับรัสเซียก่อสงครามเย็นระหว่างกัน นั่นทำให้เลือดรักชาติอีกแบบที่ไม่ต่างอะไรนักกับลัทธิฟาสซิสม์เติบโตขึ้นในอเมริกา กระทั่งกลายเป็นลัทธิ ‘ล่าคอมมิวนิสต์’ หรือที่หลายคนเรียกว่า McCarthyism อันเป็นวิธีปฏิบัติในการกล่าวหาผู้คนดะไปหมด เกิดจากวิธีการของวุฒิสมาชิกชื่อ โจเซฟ แม็คคาร์ธี (Joseph McCarthy)
จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดเลย
ที่แชปลินจะถูก ‘ไล่ออกนอกประเทศ’ ในปีค.ศ. 1952
ที่จริงเขาสามารถกลับเข้าสหรัฐอเมริกาได้ ถ้าหากจะมาผ่านกระบวนการสอบสวนที่เรียกว่า Naturalization เสียก่อน แต่แชปลินปฏิเสธ เขาไม่ได้กลับไปสหรัฐอเมริกาอีกเลยจนกระทั่งถึงปีค.ศ. 1972
นั่นคือปีประวัติศาสตร์ เพราะมันคือปีเดียวกับที่ เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ เสียชีวิต แต่ก็เป็นปีเดียวกันด้วยที่เวทีออสการ์มอบรางวัลเกียรติยศยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ศิลปินคนหนึ่งจะมีได้ นั่นคือรางวัลเกียรติยศ Lifetime Achievement ให้กับชาร์ลี แชปลิน
แล้วอีกห้าปีถัดมา ชาร์ลี แชปลิน ก็เสียชีวิตลงในวันคริสต์มาส
ไม่ – ไม่ใช่ที่อเมริกา ไม่ใช่อังกฤษบ้านเกิด และไม่ใช่ดินแดนคอมมิวนิสต์ที่ไหน
แต่คือดินแดนที่เป็นกลางที่สุดในโลกเท่าที่จะเป็นได้
นั่นคือสวิตเซอร์แลนด์
7
ในตอนแรก ชาร์ลี แชปลิน ลังเล
เขาไม่อยากไปรับรางวัลเกียรติยศนั่นจากเวทีออสการ์ อเมริกาคงสร้างบาดแผลไว้ในใจเขาไม่น้อยทีเดียว
แต่ที่สุด แชปลินก็ตัดสินใจจะไป ผู้เขียนชีวประวัติของแชปลินบอกว่า เขาตัดสินใจไปก็เพื่อ ‘ซ่อมแซม’ ความสัมพันธ์ หรือเพื่อแสดงสัญญาณ ‘คืนดี’ กับอเมริกา ซึ่งก็ประจวบเหมาะมากที่บังเอิญมันคือปีสุดท้ายในชีวิตของฮูเวอร์พอดี
ในงานนั้น ผู้คนยืนปรบมือให้เขานานถึง 12 นาที ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ออสการ์
หลังจากนั้น แชปลินก็อ่อนแอลง เขาอายุมากแล้ว และพูดได้ว่าชีวิตของเขาสมบูรณ์แบบ ผ่านร้อนหนาวมาแล้วทุกแบบ และกระทั่งในวาระสุดท้าย เขาก็ยังสู้ เขามีอาการเส้นเลือดในสมองแตก – ไม่ใช่ครั้งเดียว, ทว่าหลายครั้ง และนั่นทำให้เขาต้องนั่งรถเข็น
ในปีค.ศ. 1975 สถาบันกษัตริย์อังกฤษ ได้แต่งตั้งให้เขาเป็นอัศวิน แต่เขาอ่อนแอเกินกว่าจะคุกเข่าลง จึงได้รับการแต่งตั้งจากควีนเอลิซาเบธที่สองทั้งที่อยู่บนรถเข็น
เขาเสียชีวิตในเช้าตรู่ของวันคริสต์มาสปีค.ศ. 1977 ในห้อมล้อมของภรรยาคนสุดท้ายและลูกๆ แปดคน
งานศพเล็กๆ จัดข้ึนในวันที่ 27 ธันวาคม ร่างของเขาถูกฝังอยู่ที่สุสาน Corsier-sur-Vevey ในสวิตเซอร์แลนด์ แต่เรื่องราวของเขาก็ยังไม่จบ
ในปีค.ศ. 1978 มีชายสองคนมาขโมยขุดศพของชาร์ลี แชปลิน ไป ด้วยหมายจะเรียกเงินค่าไถ่ศพจากภรรยาของเขา แต่ในที่สุดก็ถูกจับได้ แชปลินถูกชายสองคนนั่นพาร่างไปฝังไว้ในหมู่บ้านใกล้ๆ และสุดท้ายก็มีการนำร่างของเขากลับมายังสุสานเดิม แต่คราวนี้ต้องสร้างรั้วคอนกรีตล้อม เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมาอีก