ทำไมสำหรับบางคน อะไรๆ ก็ดูตลกไปหมด
รู้สึกตลกตั้งแต่อาหารที่ต่อคิวรอมาเป็นชั่วโมงร่วงลงพื้น ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้กินสักคำ เงินเดือนที่นิ่งเฉยไม่มีท่าที่ว่าจะขึ้น หวยก็ไม่ถูก หรือทำงานผิดพลาดจนงงว่า มันผิดขนาดนี้ได้ยังไง ฯลฯ หลายต่อหลายครั้งในตลอดชีวิตที่ผ่านมา เราอาจพบเจอเข้ากับวันห่วยๆ ที่ไม่มีส่วนไหนเรียกว่าดีได้เลย แต่แทนที่จะคุกเข่าลงแล้วร้องไห้ด้วยความสิ้นหวัง บ่อยครั้งเรากลับหัวเราะใส่ชะตากรรมอันห่วยแตกของเรา ราวกับมันเป็นเรื่องตลกที่สุดที่เคยเจอ เรามักหัวเราะเยาะใส่ตัวเองจนเรียกกันว่า ‘ชีวิตเล่นตลก’
เราตลกเรื่องอะไรในความเศร้าของเรา? ในสถานการณ์ที่เราควรจะร้องไห้ อารมณ์ขันช่วยเราได้ยังไงนะ? และหากมองในฐานะการปรับตัวเมื่อเราต้องเผชิญกับปัญหา หรือ Coping Mechanism อารมณ์ขันจะช่วยเราจากสถานการณ์ตึงเครียดยังไงบ้าง?
Coping Mechanism คือกลไกที่ช่วยให้มนุษย์จัดการกับความเครียดและความรู้สึกอันไม่พึงประสงค์ เป็นกลไกที่มนุษย์ทำไปโดยรู้ตัว แต่ก็ไม่ใช่กลไกอัตโนมัติที่มาจากจิตใต้สำนึกแบบ Defense Mechanism เรียกง่ายๆ คือการที่มนุษย์เลือกจะปรับตัวด้วยตัวเอง เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาหรือประสบการณ์ในชีวิตที่ไม่พึงใจ
เราสามารถจำแนกประเภทของ Coping Mechanism ได้ด้วยเกณฑ์และสายความคิดแบบต่างๆ ในบทความนี้เราจะยึดการจำแนกจากงานศึกษาเกี่ยวกับการรับมือความเครียดชื่อว่า Coping: pitfalls and promise โดยซูซาน โฟล์กแมน (Susan Folkman) นักวิจัยจาก Osher Center for Integrative Medicine มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซึ่งงานศึกษานี้จำแนกการปรับตัวของมนุษย์ เมื่อเผชิญปัญหาออกเป็น 4 หมวดใหญ่ๆ ซึ่งได้ผลแตกต่างกันไปตามแต่ละสถานการณ์และบุคคล ดังนี้
-
- เน้นแก้ปัญหา (Problem-focused) มักใช้ได้ดีกับสถานการณ์ที่ต้องอาศัยการวางแผน เพื่อนำตัวเองไปสู่รากของปัญหา หรือการจำกัดกิจกรรมที่ไม่นำไปสู่สภาวการณ์ที่ดีขึ้น
- เน้นเยียวยาความรู้สึก (Emotional-focused) มักเล็งไปที่การลดอารมณ์แง่ลบในห้วงขณะนั้น
- เน้นตามหาความหมาย (Meaning-focused) มองหาบทเรียนหรือจุดประสงค์บางอย่างในสถานการณ์
- ตามหาการสนับสนุน (Social Coping หรือ Support-seeking) เดินหาชุมชน ผู้เชี่ยวชาญ หรือ Support System ของตัวเองเพื่อปรับตัว
แล้วเราจะวางการใช้อารมณ์ขันไว้ในประเภทไหนของ Coping Mechanism ดีล่ะ? คำตอบคือ อารมณ์ขันจัดอยู่ในหมวดเน้นเยียวยาอารมณ์นั่นเอง เพราะบ่อยครั้งที่เราหลุดหัวเราะออกมาเวลากำลังถูกตำหนิจากหัวหน้า ลูกค้า หรืออาจารย์ จนเป็นต้นเหตุที่ทำให้เราแชร์มีมต่างๆ ผ่านการเอาเรื่องจริงของเรามาเล่นเป็นมุกตลก แม้เรื่องเหล่านั้นจะไม่ได้ตลกโดยตัวมันเอง แต่เพราะว่าการนำความตลกมาเสริมเข้าไป จะช่วยลดแรงกดดันและความตึงเครียดในช่วงเวลานั้นได้
อย่างไรก็ดี การปรับตัวเมื่อเผชิญกับปัญหาในหมวดเน้นเยียวยาอารมณ์นี้ มีลักษณะเฉพาะตัวอยู่ คือเป็นวิธีการปรับตัวในสถานการณ์เฉพาะหน้ามากกว่าการแก้ปัญหา เนื่องจากมันเป็นการปรับตัวที่เกิดขึ้นและจบลงภายในตัวของเรา แม้ว่าการลดความตึงเครียดจะมีคุณค่าในตัวของมันเอง แต่บางปัญหาและความตึงเครียด อาจต้องการทางออกที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงภายนอกมากกว่านั้น ซึ่งก็กลายเป็นปัญหาในเวลาต่อมาเช่นกัน เพราะบางครั้งความเปลี่ยนแปลงที่ต้องเกิดขึ้นนั้นไม่ได้อยู่ในมือเรา
เป็นธรรมดาที่โลกของเราจะไม่ได้เป็นไปตามต้องการตลอดเวลา บางครั้งสิ่งที่ทำให้เราเครียด ไม่ใช่การกระทำของเราหรือคนใกล้เรา แต่กลับเป็นสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ บางทีเราก็ออกไปเลือกตั้งตามหน้าที่พลเมืองของเรา แต่ผลสุดท้าย รัฐบาลชุดเดิมที่เราต้องการจะโหวตให้ออกไปดันกลับมาซะงั้น? การร่วมลงรายชื่อครั้งที่ 400 แต่ผู้มีอำนาจกลับไม่เคยรับรู้ การเมืองโลกที่กำลังเดินไปทางขวา หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่เราในฐานะปัจเจกไม่รู้ว่าจะไปทำอะไรได้ด้วยซ้ำ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนอาศัยกำลังและการเปลี่ยนแปลงที่เหนือไปกว่ากำลังของเรา
ลองถามตัวเองกันว่า หากเรายืนอยู่ ณ จุดที่พยายามอย่างถึงที่สุด เพื่อต้องการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง แต่โลกกลับไม่ยอมแม้แต่จะเคลื่อนไปสักมิลลิเมตรเดียว แล้วเราจะทำอะไรได้นอกจากหัวเราะออกมาด้วยความขมขื่น? แม้ว่าอารมณ์ขันอาจไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดขึ้นได้จากใคร หากไม่ใช่พวกเราช่วยกันผลักดันอย่างไม่ย่อท้อในระดับสังคม? แน่นอนว่าเสียงหัวเราะของเราอาจไม่เปลี่ยนโลก แต่มันจะทำให้เราเดินไปข้างหน้าต่อได้เสมอ
แม้ว่าอารมณ์ขันจะเป็นการปรับตัวชั่วครู่ชั่วคราว แต่มันอาจมีผลกระทบระยะยาวรูปแบบอื่น ซึ่งบทความวิชาการชื่อ Humor and Resiliency: Towards a Process Model of Coping and Growth โดยนิโคลัส ไคเปอร์ (Nicholas Kuiper) จากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยออนแทรีโอตะวันตก ได้พาเราไปดูงานวิจัยเกี่ยวกับอารมณ์ขัน ในรูปแบบของการสร้างความคงทนทางใจ อันเป็นเกราะป้องกันเราต่อความเครียดและแผลทางใจ
ความคงทนทางใจตามที่บทความข้างต้นเล่าไว้คือ “ขั้นตอนการเจรจา การปรับตัว หรือการจัดการแหล่งความเครียดและแผลทางใจที่สำคัญ โดยทรัพยากรที่ใช้ คือสิ่งที่อยู่ภายในตัวคนคนนั้น ทั้งชีวิตของเขาและสภาพแวดล้อม ทั้งหมดจะทำให้เขาสามารถ ‘ลุกขึ้นสู้กลับ’ ไปยังสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ได้” ไคเปอร์ยังเสริมอีกว่า แก่นสำคัญของความคงทนทางใจ คือการสร้างความถึกทนส่วนตัว
ไคเปอร์กล่าวสรุปทั้งหมดว่า จากการสำรวจผ่านงานวิจัยต่างๆ มีหลักฐานน้อยมากที่มาสนับสนุนว่า อารมณ์ขันจะเป็นยารักษาแผลที่เกิดขึ้นภายในแบบ “ลุกขึ้นสู้กลับ” ได้
แต่อารมณ์ขันถือเป็นผู้เล่นสำคัญต่อการปรับตัว
เพื่อสู้กับแผลใจของใครสักคนได้สำเร็จลุล่วงอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ อารมณ์ขันในตัวของมันเองยังส่งผลบวกต่อสุขภาพกายและใจของเราด้วย โดยชีเลีย เคนนิสัน (Shelia Kennison) จากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยรัฐโอคลาโฮมา บอกไว้ผ่าน The Cognitive Neuroscience of Humor หนังสือเกี่ยวกับประสาทวิทยาของอารมณ์ขัน ซึ่งเคนนิสันรวบรวมและวิเคราะห์ผลการวิจัยในอดีตและปัจจุบัน ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของอารมณ์ขันต่อจิตใจและร่างกายไว้ในบทที่ 8
เคนนิสันพบว่า การวิจัยปรากฏความเชื่อมโยงระหว่างการมีอารมณ์ขัน กับการมีสุขภาพกายและใจที่ดีขึ้นจริงว่า “ผลบวกต่อสุขภาพเหล่านี้ อาจมาจากผลกระทบของอารมณ์ขันต่อร่างกาย รวมถึงระบบประสาทอิสระที่มีผลต่อการหายใจ การเต้นหัวใจ และการหลั่งฮอร์โมน รวมทั้งการสร้างเอ็นโดรฟินให้สมอง” นอกจากอารมณ์ขันจะช่วยลดความเครียด และลดผลกระทบของความเครียดแล้ว เคนนิสันยังกล่าวอีกว่า อารมณ์ขันนำมาสู่ภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นด้วย
หนึ่งสิ่งที่น่าสนใจในงานของเคนนิสัน คือการพูดถึงผลกระทบ ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละประเภทของมุกตลกที่เราเล่นกันด้วย โดยหนึ่งในงานวิจัยที่เธอยกมาอ้างอิงพบว่า การเล่นมุกตลกส่งผลดีต่อสุขภาพกายที่ทำให้แข็งแรงจริง แต่การเล่นมุกตลกในแง่มุมบวกนั้น ก็มีความเชื่อมโยงต่อระดับความซึมเศร้าที่ต่ำกว่า และระดับความเป็นอยู่ดีที่สูงกว่าเช่นกัน
ข้อสรุปข้างต้นจึงอาจแปลความได้ว่า ในขณะที่เรามองโลกและปัญหาให้เป็นมุกตลกใหญ่ๆ นั้นมันก็พาให้เราลุกขึ้นเดินหน้าได้ ด้วยการคลายความกดดันที่หนักอึ้งบนไหล่เพียงชั่วครู่ชั่วคราว
มันคงจะดีกว่า หากเราได้ยิ้มและหัวเราะไปกับอะไรที่ให้ความสุขแก่เราจริงๆ
อ้างอิงจาก