เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีข่าวว่าประเทศญี่ปุ่นจะลงโทษประหารหนึ่งในผู้นำและผู้ก่อตั้งลัทธิโอมชินริเกียว[1]ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้รับผิดชอบหลักต่อการปล่อยแก๊สพิษซาริน (Sarin Gas) ในรถใต้ดินโตเกียว เมื่อปี 1995 ทำให้กระแสข้อถกเถียงเรื่องการประหารชีวิตในไทยที่ดีเบตดูจะคาราคาซังอยู่หวนกลับมาอีกครั้ง โดยเป็นที่ชัดเจนว่าตั้งแต่ในรอบแรกกระแสสังคมก็ชัดเจนมากแล้วว่า ‘กระแสสังคมเอนเอียงไปที่การสนับสนุนโทษประหารชีวิต’
และเมื่อในรอบนี้มีข่าวว่าทางญี่ปุ่นจะมีการประหารขึ้นอีก ก็ยิ่งเป็นกระแสให้ฝั่งสนับสนุนออกหน้าออกตาเคลม ‘ความน่าจะทำ’ กันเสียยาวยืดและเขียนอ้างราวกับมีหลักการเสียเหลือเกินครับ กระทั่งบอกว่า Amnesty International (AI) ของญี่ปุ่นเค้ายังไม่ว่าอะไรเลย
ข้ออ้างหลักที่ฝั่งสนับสนุนโทษประหารนั้น มีหลักๆ ดังนี้ (ผมจะคัดมาเฉพาะข้ออ้างที่เห็นว่ามีประเด็นบ้างและควรต้องพูดถึงนะครับ ข้ออ้างจำเจมากๆ อาจจะไม่ได้ยกมา)
1. การประหารชีวิตทำให้คนไม่กล้าทำผิด เป็นการป้องกันการเพิ่มขึ้นของการก่ออาชญากรรมโดยเฉพาะประเภทร้ายแรง
2. หลายประเทศที่ถือกันว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้วก็ยังยอมรับอยู่ แม้แต่องค์การระหว่างประเทศที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชนหลายแห่งก็ยังคงยอมรับให้มีได้อยู่ แล้วไยไทยจะมีไม่ได้?
3. คนที่ทวงสิทธิมนุษยชนให้กับคนที่โดนโทษประหารเอง ก็มักจะลืมนึกถึงสิทธิมนุษยชนของฝั่งเหยื่อ สิทธิในการแก้แค้น ได้รับความรู้สึกยุติธรรมผ่านกระบวนการตัดสินความของรัฐมิใช่หรือ?
4. กฎหมายเป็นสิ่งที่มีขึ้นเพื่อใช้กับสังคมมนุษย์ เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และในระบอบประชาธิปไตยที่เสียงของประชาชนเป็นใหญ่ เช่นนั้นหากประชาชนในรัฐส่วนใหญ่สนับสนุนให้มีการประหารมันก็ควรจะต้องมีต่อไปมิใช่หรือ?
นี่คือ 4 ข้อที่ผมจะพยายามตอบ โดยผมจะไม่ไปพูดถึงประวัติศาสตร์ของเรื่องโทษประหารอะไร และคงไม่ได้ลงไปที่เรื่องเทคนิคทางกฎหมายเป็นการลึกอะไร เนื่องจากไม่ใช่ผู้ชำนาญการเป็นการส่วนตัว แต่ผมจะตอบในมุมของคำอธิบายทางหลักการสากลเป็นหลักแทนในประเด็นเหล่านี้นะครับ
1. ประหารชีวิตลดอาชญากรรม?
ในตอนแรกผมคิดว่าจะไม่ตอบประเด็นนี้แล้ว เพราะเป็นเรื่องที่จำเจมากๆ และพูดกันมานานปีแล้ว ฉะนั้นจะขอตอบโดยกระชับนะครับว่า “การประหารชีวิตไม่ได้ทำให้อัตราการก่ออาชญากรรมร้ายแรงลดลงเลย” ครับ
Death Penalty Information Center มีรายงานในปี 2017 โดยมาจากการเก็บรวบรวมสถิติเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตและประเด็นต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับมัน ทั้งสถิติของปริมาณการเกิดคดีฆาตกรรม สถิติความเสี่ยงในการโดนฆาตกรรม จำนวนเจ้าหน้าที่ที่ถูกฆ่า ฯลฯ ในช่วงปี 1987 – 2015 ของสหรัฐอเมริกา (สถิติต่อเนื่องประมาณ 28 ปี) โดยเขาเปรียบเทียบข้อมูลสถิติที่เกิดขึ้นในรัฐซึ่งยังคงมีโทษประหารอยู่ รัฐที่อยู่ระหว่างการปรับตัว (Transitional state) และรัฐซึ่งยกเลิกโทษประหารไปแล้ว ผลลัพธ์ออกมาน่าสนใจครับคือ การมีอยู่ของโทษประหารไม่ได้ช่วยให้อะไรพวกนี้ดีขึ้นเลย[2]
กราฟข้างต้นนี้แสดงสถิติการเกิดคดีฆาตกรรมขึ้นในสหรัฐอเมริกาครับ สีดำคือ ค่าเฉลี่ยรวมของสหรัฐอเมริกาทั้งประเทศ สีเหลืองคือรัฐที่ยังมีโทษประหาร สีเขียวคือรัฐที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านมาสู่การงดเว้นโทษประหาร และสีฟ้าคือรัฐที่ไม่มีโทษประหารอยู่อีกต่อไปแล้ว ผมคิดว่าจากข้อมูลข้างต้นนี้ชัดเจนครับว่าการเพิ่มลดของปริมาณคดีฆาตกรรมนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีอยู่ของโทษประหารเป็นพิเศษเลย เพราะทุกๆ รัฐมีทิศทางของการเพิ่มลดเหมือนๆ กันหมด ไม่ว่าจะเป็นรัฐที่มีโทษประหาร เปลี่ยนผ่านอยู่ หรือไม่มีโทษประหารก็ตาม
แม้ว่ารัฐที่ไม่มีโทษประหารจะพูดได้ว่าเริ่มต้นด้วยการมีอัตราการเกิดคดีฆาตกรรมที่ต่ำกว่ารัฐแบบอื่นๆ บ้าง (คือ Better start) แต่อย่างที่อธิบายไป เราไม่ได้ดู ‘จำนวนตัวเลข’ กัน ฉะนั้นข้ออ้างนี้หากคิดจะอ้างก็ตกไปนะครับ เพราะที่เราสนใจคือทิศทางภาพรวมของตัวปริมาณคดี ซึ่งการเพิ่มลดนั้นมันสอดคล้องกันในทุกแบบ ไม่พอ จะเห็นได้ว่ารัฐที่มีโทษประหารอยู่นั้น เริ่มต้นด้วยอัตราที่ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศอย่างไร (คือ สูงกว่าค่าเฉลี่ยรวมเล็กน้อย) มันก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยไปตลอด ไม่ได้ทำให้ปริมาณลดลงได้เลย กลับเป็นรัฐที่พยายามจะเปลี่ยนเป็นไม่มีโทษประหารเสียด้วยซ้ำครับ ที่ดูมีแนวโน้มจะลดปริมาณลงมาได้ จากที่เห็นได้ในช่วงปี 1988 – 1994 ที่มีปริมาณสูงกว่าค่าเฉลี่ยรวมทั้งประเทศค่อนข้างชัด ก็ค่อยๆ ปรับลดลงมาสูสีกับค่าเฉลี่ยเกือบตลอดเส้น จนกระทั่งมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยได้ในช่วงปี 2014 – 2015
ฉะนั้นหากอิงกับข้อมูลนี้จะเห็นทิศทางได้ว่า การพยายามเปลี่ยนมาเป็นไม่มีโทษประหารอาจจะดูมีแนวโน้มในการลดปริมาณอาชญากรรมได้มากกว่าเสียด้วยซ้ำครับ (แต่ก็เพียงแต่เล็กน้อยนะครับ และใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะเห็นผล ไม่ได้เห็นผลทันตา)
นอกจากสถิติหลักตัวนี้แล้ว ข้อมูลที่น่าสนใจอื่นๆ ก็มีอีกมากมายครับ อย่างการถูกฆ่าของเจ้าหน้าที่ตำรวจในรัฐที่มีโทษประหารนั้น สูงกว่ารัฐที่ไม่มีโทษประหารอย่างเห็นได้ชัดมาก (บางรัฐอย่างหลุยเซียนานี่เรียกว่ากระโดดเด้งขึ้นมาเลย) คำอธิบายหนึ่งก็คือ เพราะผู้ก่อเหตุรู้ว่ามีโทษประหารและกลัวว่าหากตัวเองโดนจับไปก็จะโดนประหารอยู่ดี จึงเลือกที่จะสู้กับเจ้าหน้าที่มากกว่า (เผื่อรอด) เลยทำให้รัฐที่มีโทษประหารกลายเป็นว่ามีแนวโน้มที่จะมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตมากกว่ารัฐที่ไม่มีโทษนี้ไปครับ และสถิติอื่นๆ อีกมากมาย
ก็ตามที่สรุปไปแต่แรกนั่นแหละครับ โทษประหารไม่ลดอาชญากรรมครับ
2. ประเทศที่พัฒนาแล้วยังรับได้ เราจะมากระแดะทำรับไม่ได้ไปไย?
ผมทราบดีครับว่าประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่ อย่างตะกี้ที่พูดไปก็มีสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นที่พูดถึงตั้งแต่ตอนแรก ตามสถิติของ The Telegraph ที่ทำไว้เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2018 ปัจจุบันในโลกยังมีประเทศที่ยังคงมีโทษประหารอยู่ทั้งสิ้น 53 ประเทศครับ ทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ ไต้หวัน และอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย ดูได้ตามแผนที่ประเทศที่ยังมีโทษประหารนี้ครับ[3]
ประเทศสีแดงในรูปคือประเทศที่ยังมีการใช้โทษประหารเป็นการทั่วไปครับ สีส้มคือกำลังอยู่ระหว่างการยกเลิกโทษประหาร สีฟ้าคือประเทศที่ยกเลิกโทษประหารแล้ว (แต่อาจจะมีการใช้ขึ้นมาในกรณีที่เป็นเคสรุนแรงมากจริงๆ) และสุดท้ายสีเขียวคือประเทศที่ยกเลิกโทษประหารโดยสมบูรณ์แล้วครับ
นอกจากประเทศสีแดงในแผนที่ข้างต้นแล้ว ผมเองก็ทราบดีนะครับว่าแม้แต่ทางองค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ถือกันว่าเป็นหัวหอกของการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนนั้น ก็ยังมีข้อตกลงที่ยัง “พอจะอนุญาตให้มีโทษประหารอยู่ได้ ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ (อย่างพวกกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อะไรไป)” นั่นคือ มาตรา 6 ของ International Covenant on Civil and Political Rights (ICCP) ครับ[4]
สิ่งเหล่านี้แหละครับคืออาหารอันโอชะของผู้สนับสนุนโทษประหาร ก็อ้างกันไปว่าที่ต่างๆ เหล่านี้ยังมีได้อยู่เลย หรืออนุญาตให้มีได้ แต่ว่าผมคิดว่ามันเป็นวิธีคิดที่ออกจะไม่ใคร่ครบถ้วนนัก ขอเริ่มจากตัว UN ก่อนก็ได้ครับ อย่างที่บอกไปว่ามาตรา 6 ที่ว่านั้น นอกจากจะจำกัดเงื่อนไขในการใช้โทษประหารมากๆ แล้ว เขายังมีวรรคที่สำคัญมากๆ อย่างวรรคที่ 4 (ของมาตรา 6 เอง) อยู่ด้วยครับ ความว่าดังนี้
“Anyone sentenced to death shall have the right to seek pardon or commutation of the sentence. Amnesty, pardon or commutation of the sentence of death may be granted in all cases.” (เน้นคำโดยผมเอง)
แม้จะอนุญาตให้มีได้ แต่ผมคิดว่ามาตรานี้ของ UN เองมีความชัดเจนว่าต้องการให้โทษนี้นั้น ‘ไม่ถูกใช้จริง’ ครับ เพราะคนที่ถูกตัดสินให้ถูกโทษประหารนั้น ทุกคนมีสิทธิขอลดโทษได้ และการขอลดหย่อนโทษในกรณีนี้ต้องได้รับการอนุมัติทุกครั้ง ว่าง่ายๆ ก็คือ มาตรา 6 ของ UN นี้โดยเจตนารมย์แล้วเป็นเพียงแค่ให้การประหารชีวิตนี้นั้นเป็น “ระดับโทษสูงสุดในทางกฏหมายเท่านั้น แต่ไม่ได้มีไว้ปฏิบัติจริง” คือ มีขึ้นเพื่อแค่ให้ศาลตัดสินว่า ไอ้คนนี้ผิดร้ายแรงระดับโทษประหารนะ แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่ได้ประหารจริงๆ เพราะลดหย่อนโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต หรืออะไรอื่นๆ ก็ว่าไป มันจึงเป็นการทำให้โทษประหารชีวิตกลายเป็นเพียง “บันทึกในทางกฎหมาย” ไม่ใช่การใช้งานจริง ฉะนั้นการมาอ้างว่า UN ยังอนุญาตในหมู่ผู้สนับสนุนโทษนี้บางกลุ่มนั้น ผมก็ได้แต่ก่นด่าไปทั้งในใจและนอกใจ
ข้อคิดเห็นผมต่อมาตรา 6 ที่ว่านั้น สอดคล้องกับทิศทางของ UN ตามที่ Secretary-General ของ UNคนปัจจุบัน Antonio Guterres ก็ได้ออกมาประกาศชัดเจนในปี 2017 ครับว่า “The death penalty has no place in 21stCentury.”[5]ทิศทางที่ท่านเลขาธิการใหญ่ว่าไว้นี้สอดคล้องกับทิศทางในแผนที่ข้างบนเลยทีเดียว คือ ในเชิงพื้นที่แล้วประเทศสีเขียว (คือ ยกเลิกโทษประหารโดยสมบูรณ์) นั้นอาจจะดูพื้นที่ไม่เยอะนะครับ แต่นั่นคือ ปริมาณหลักหรือทิศทางหลักของโลกเราแล้ว อย่างประเทศในยุโรปทุกประเทศก็ยกเลิกโทษนี้ไปแล้ว (แต่ในแผนที่ พื้นที่มันน้อยครับ เจอสีแดงแบบจีนประเทศเดียวล่อพื้นที่ในรูปไปเยอะ) ฉะนั้นทิศทางของโลกและประเทศที่ ‘พัฒนาแล้ว’ ส่วนใหญ่เขาไปในทางนี้แน่นอน
น่าตลกนะครับที่คนที่เสนอการสนับสนุนที่ยกข้ออ้างลักษณะนี้มาอ้างนั้น มักจะชูแต่สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เป็นหลัก โดยที่ไม่ได้ยกตัวอย่างประเทศอย่าง อิรัก ซีเรีย ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ เกาหลีเหนือ ฯลฯ มาพูดด้วยว่า
การใช้โทษประหารนั้นก็ยังมีอยู่ในประเทศเหล่านี้ด้วย และนั่นทำให้เราก็อยู่ในเลเวลเดียวกับประเทศเหล่านี้ในประเด็นนี้
ว่ากันตรงๆ ผมค่อนข้างจะโกรธเวลาเห็นความเห็นลักษณะนี้นะครับ เพราะเวลาเราเจอเรื่องที่ประเทศเรามีปัญหา ควรต้องแก้ไขพัฒนา เรามากางแผนที่โลกหาประเทศพัฒนาแล้วที่ ‘ยังคงมีปัญหาแบบเดียวกันกับเราขึ้นมาให้เจอ’ แล้วก็อ้างแม่งไปนี่แหละว่า “นี่ไง ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาก็มีปัญหานี้เหมือนกัน เราไม่แปลกหรอก” แล้วปัญหาก็ไม่ถูกแก้ไขอะไร ประเทศที่พัฒนาแล้วมีปัญหากันทุกประเทศนั่นแหละครับ แตกต่างกันไป หากเราจะใช้วิธีนี้อ้างเอาสีข้างเข้าถู มีปัญหาอะไรขึ้นมา ก็จิ้มหาสักประเทศนึงให้เจอก็จบ จะเอางี้หรือ? อย่างกรณีรถไฟดีเลย์ ประเทศสาธารณรัฐเช็ค ก็อารมณ์ประมาณพี่ไทยเรานี่แหละครับ และนี่คือหนึ่งในรัฐสมาชิก EU ด้วยเลย เราจะมองหาประเทศที่เค้าก็รถไฟเลวทรามครือกัน แล้วมาบอกว่า “เออ โอเค ความต่ำทรามของรถไฟบ้านเรามันก็ไม่ต่างจากโลกหรอก ประเทศรัฐสมาชิก EU เขายังเป็นกันเลย” เช่นนี้หรือครับ? แทนที่จะหาตัวอย่างของประเทศที่เขา ‘เด่น ดี ก้าวหน้า’ ในจุดที่เป็นข้อด้อยของเราแล้วหาทางพัฒนาต่อไป กรณีเรื่องโทษประหารนี้ก็วางอยู่บนฐานตรรกะแบบเดียวกันนั่นแหละ
ประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเอง เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วแน่นอน แต่มันไม่ได้ไร้ข้อเสียครับ อะไรที่เป็นข้อเสียของเค้า พัฒนาไม่ทันโลกของเค้า ก็ไม่ต้องไปบ้าอ้างแล้วทำตามสิครับ นอกจากเรื่องโทษประหารที่แย่แล้ว ญี่ปุ่นยังมีวัฒนธรรมการทำงานหนักที่แย่ ยังมีจุดยืนเรื่อง LGBTQ ในสังคมที่ไม่ดีนัก ยังมีระบบธนาคารที่โบราณมาก ยังมีระบบเดินเรื่องเอกสารที่น่ามึนหัว ฯลฯ (ของสหรัฐฯ นี่ไม่ต้องพูดถึงเลย บานเบอะ) เราไม่ต้องไปตามเขาก็ได้ครับ ไอ้เรื่องที่แย่ๆ ของเขาเนี่ย การอ้างแบบที่ว่านี้จึงเป็นการอ้างที่ Lame ในทางตรรกะมากๆ ครับ
3. โทษประหารชีวิตในฐานะกลไกการล้างแค้น
ข้ออ้างนี้อาจฟังดู ‘เข้าหู’ ที่สุดในบรรดา 4 ข้อที่เกริ่นไว้ครับ และเรื่องนี้อธิบายได้ในเชิงปรัชญาการเมืองด้วย ผมไม่ขอพูดเรื่องๆ เก่าๆ ที่พูดจนเบื่อแล้ว อย่างเรื่องกระบวนการยุติธรรมไทยหรือการบวนการพิสูจน์ความจริงไทย หรือที่ใดในโลกมันไม่เที่ยงตรงพอ มีโอกาสจับคนผิดได้ และหากเขาตายไปแล้วเราชดเชยอะไรคืนให้เค้าไม่ได้อีก ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากนะครับ ถูกต้องมากๆ ด้วยครับ และพื้นฐานมากด้วยจนขี้เกียจจะพูดซ้ำแล้ว
คือ อย่างงี้ครับ รัฐชาติสมัยใหม่นั้น ในแง่หนึ่งมันเกิดขึ้นมาเพื่อดูแลพลเมืองของตนน่ะครับ (ในขณะที่รัฐสมัยเก่ากลไกหลักคือการรับใช้เจ้าผู้ปกครอง) การมีหน้าที่ดูแลพลเมืองคืออะไร? มันแปลว่ารัฐนั้นทำหน้าที่ในการคุ้มครอง สร้างความมั่นคง จัดหาสวัสดิการขั้นพื้นฐาน และดูแลความสงบเรียบร้อยต่างๆ ของสังคมชุมชนการเมืองที่รวมกันอยู่ในรัฐครับ การเกิดขึ้นของรัฐแบบใหม่นี้เอง ในบางครั้งเราเรียกมันว่ารัฐทำหน้าที่ในฐานะพระเจ้าองค์ใหม่ เพราะเราไม่ต้องไปขอพรจากพระผู้เป็นเจ้าอีกต่อไปให้คุ้มครองให้ปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย หรือให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ (คือ อาจจะมีบ้างในเชิงจิตใจ แต่ไม่ได้หวังผลในทางปฏิบัติขนาดนั้น) รัฐกลายมาเป็นคนทำหน้าที่นี้แทน รัฐต้องมีระบบกฎหมายที่เข้มแข็ง การสร้างความมั่นคงภายในที่มากพอ หรือมีระบบสาธารณสุขที่ครบครันให้พลเมืองของตน เป็นต้น
ด้วยสถานะแบบนี้เอง รัฐจึงเป็นผู้ถือครองอำนาจทางกายภาพที่แข็งแกร่งที่สุดในสังคมนั้นๆ ครับ รัฐไม่อนุญาตให้คนทำร้ายกันเอง เข่นฆ่ากันเองผ่านข้อตกลงที่เรียกว่ากฎหมาย หากใครทำผิด ก็ไม่ได้ให้คนที่โดนทำร้ายไปแก้แค้นด้วยตัวเองได้นะครับ เพราะเราตกลงกันแล้วว่าไม่ลงมือทำร้ายกัน เพราะฉะนั้นรัฐจึงเป็นคนลงมือจัดการแก้แค้นหรือทวงคืนความยุติธรรมให้กับพลเรือนของตน แทนตัวฝั่งผู้ถูกกระทำก่อนครับ เราจึงไม่ต้องอยู่ในสังคมแบบหนังจีนกำลังภายในน่ะครับที่มากับประโยคคู่ใจทุกเรื่องไปว่า “แค้นนี้ต้องชำระ ลูกผู้ชายแก้แค้นสิบปีก็ไม่สาย” มึงไม่ต้องไปไล่ฆ่าใครเองแล้วนะครับ ไปแจ้ง ไปฟ้องกับรัฐ แล้วรัฐเขามีหน้าที่จัดการให้ กระบวนการที่ว่านี้เอง เราจึงสามารถพูดได้ว่ากลไกหลักอย่างหนึ่งของกฎหมายก็คือ “เครื่องมือในการแก้แค้น ทวงคืนความรู้สึกเป็นธรรมทางอารมณ์คืนให้กับประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ” ในแง่หนึ่งจะอธิบายว่านี่คือแนวคิดที่วางอยู่บนฐานคิดเรื่องอรรถประโยชนิยมทางอารมณ์ หรือ Emotional Utilitarianism ก็ได้ครับ คือ มีกลไกในการพยายามชั่งตวงวัดความรู้สึกว่าความเป็นธรรมได้รับการชดเชยคืนให้ได้มากที่สุด
ฉะนั้นการถามหาความเป็นธรรม สิทธิมนุษยชนต่อความรู้สึกอยากจะล้างแค้น หรือทวงความเป็นธรรมให้เหยื่อนั้นไม่ใช่เรื่องผิดครับ เป็นเรื่องที่ควรพูดถึงมากๆ ด้วย และควรจะเรียกร้องให้มีมากกว่านี้ในสังคมเรา (และอีกหลายๆ สังคม) เพราะยังมีหลายเคสที่ความเป็นธรรมยังไม่ได้รับการดูแลเลย
กระนั้นก็ตามสิ่งหนึ่งที่เราต้องเข้าใจเสมอก็คือ รัฐสมัยใหม่หรือรัฐแบบใดๆ ก็ตาม มันไม่มีทางส่งมอบความเท่าเทียมต่อความรู้สึกในการแก้แค้น หรือความเป็นธรรมที่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ได้หรอกครับ หากจะเอาแบบนั้น ใกล้เคียงที่สุดอาจจะต้องล่อกลับไปที่กฎหมายฮัมบูราบีที่ตาต่อตา ฟันต่อฟันโน่น แต่ต่อให้สมมติกลับไปใช้ตาต่อตา ฟันต่อฟันขึ้นมาได้จริงๆ มันก็ไม่มีทางเกิดความเท่าเทียมกันในเชิงความรู้สึกถึงความสูญเสียหรอกนะครับ เพราะอัตวิสัยของมนุษย์ทุกคนมันเป็นปราการชั้นถัดมาเสมอ การลงมือแบบเดียวกันกับที่เราโดนกระทำมาใส่อีกฝ่าย ไม่ได้แปลได้เลยว่าเขาจะรู้สึกอย่างที่เรารู้สึกเสมอไป
ยิ่งเป็นกฎหมายของรัฐเสรีสมัยใหม่ (Liberal modern state) ยิ่งทำเช่นนั้นไม่หนักขึ้นไปอีกครับ จริงอยู่ว่ากฎหมายมีกลไกหลักอย่างหนึ่งคือการแก้แค้นแทนเรา แต่เค้าก็ต้องทำโดยไม่ไปละเมิดต่อหลักการพื้นฐานที่สุดเป็นหลักการในการสถาปนารัฐและตัวระบอบขึ้นมาครับ
ฉะนั้นการแก้แค้นแทนเราที่ว่านี้จึงเป็นการแก้แค้นที่อยู่ในกรอบที่ต้องยอมรับร่วมกันว่า ไม่มีทางจะได้คืนมาร้อยเปอร์เซ็นต์หรอกนะ เพราะถ้าได้กลับคืนมาเต็มที่สำหรับปัจเจกคนหนึ่ง มันจะไปละเมิดหลักการอันเป็นมาตรฐานร่วมของสังคมทั้งมวลได้
ผมพูดกว้างๆ แบบนี้อาจจะนึกภาพไม่ออก ผมลองยกตัวอย่างที่เราจะ ‘ยอมรับและเห็นภาพ’ ได้มากขึ้นสักอย่างหนึ่งก่อน นะครับ (แล้วค่อยไปสู่เรื่องโทษประหาร) ตัวอย่างเช่น มีคนร้ายคนหนึ่งทำร้ายลูกสาวของเรา (ข่มขืนก็ได้ หรือตบ ทุบตี หรือฆ่าอะไรก็ได้) และคนร้ายคนนั้นมีลูกสาวอยู่คนหนึ่งพอดี อายุไล่เลี่ยกับลูกสาวเราที่เสียไปเลย แต่ลูกสาวของคนร้ายไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไรด้วยกับการกระทำเลวร้ายของพ่อเขาแม้แต่น้อย ทีนี้หากเรามองความเที่ยงธรรมของการแก้แค้นและได้รับเติมเต็มทางอารมณ์อย่างเท่าเทียมเป็นหลักแล้ว ว่ากันอย่างตาต่อตาฟันต่อฟันแล้ว รัฐก็ควรจะให้เราไปตบ ทุบ ตี ฆ่าหรือข่มขืนลูกสาวของคนร้ายนั้น หรืออย่างน้อยรัฐก็ควรต้องกระทำเช่นนั้นแทนที่เราในฐานะกลไกการแก้แค้นแทน เพื่อให้คนร้ายนั้นได้รับรู้ถึงความรู้สึกอย่างเดียวกับเรารู้สึกถูกไหมครับ?
แต่เราไม่ทำเช่นนั้น อันนี้เป็นเรื่องที่เราเข้าใจกันโดยทั่วไปเลย หากมันมีกฎหมายแบบนี้อยู่ แปลว่ากฎหมายนั้นมันเฮงซวยมาก ถูกไหมครับ เพราะอะไร เพราะลูกสาวของคนร้าย ‘ไม่ได้ทำผิดอะไร’ เขาคือผู้บริสุทธิ์ เราจะไปล่วงละเมิดไม่ได้ ทางรัฐต้องพยายามอย่างที่สุดไม่ให้ความซวยไปถึงครอบครัวของคนร้าย เพื่อให้เขายังสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้โดยปกติที่สุดด้วย เห็นมั้ยครับว่าแม้การล้างแค้นจะเป็นกลไกสำคัญหนึ่งของกฎหมาย แต่มันมีหลักการบางอย่างอยู่ที่สำคัญเหนือกว่ากลไกนี้ และตัวกลไกดังกล่าวก็ต้องปรับลดลงมาให้อยู่ในกรอบที่ไม่ไปละเมิดหลักการที่อยู่เหนืออำนาจในเชิงกลไกอีกที คิดว่าคงจะพอเห็นภาพนะครับ
การประหารชีวิตก็เช่นเดียวกันครับ ที่มันถูกเลขาใหญ่ UNบอกว่า “ศตวรรษที่ 21 ต้องไม่มีที่ยืนให้การประหารชีวิตอีกต่อไป” นั้น ก็เพราะว่ากลไกการล้างแค้น การลงโทษด้วยการประหารชีวิตนั้น มันไปก้าวข้ามหลักการสำคัญมากๆ ที่จริงๆ แล้วมัน ‘อยู่เหนืออำนาจในเชิงกลไกการล้างแค้นของกฎหมาย’ อยู่ หลักการที่ว่านี้ก็คือเรื่อง Right to Life หรือสิทธิในการมีชีวิตอยู่ครับ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ทุกคน ที่ไม่มีใครมีสิทธิพรากไปได้ แม้แต่รัฐ และกลไกการเกิดขึ้นของรัฐเองก็คือ “การคุ้มครองชีวิต การรักษาชีวิตของประชาชนของตน” ฉะนั้นการมีอยู่ของโทษประหารโดยตัวมันเองนั้น ในทางทฤษฎีแล้วมันกลับไปทำลายเหตุผลการมีอยู่ของรัฐสมัยใหม่เองแต่แรกด้วย โทษประหารจึงเป็นหลักการที่อยู่กว่าอำนาจเชิงกลไกการล้างแค้น เช่นเดียวกับกลไกการล้างแค้นไม่อาจจะก้าวล่วงเหนือกว่าการไม่มีสิทธิ์ไปล่วงละเมิด ลงโทษคนที่ไม่ได้มีความผิดนั่นเองครับ ฉะนั้นเราจะไม่ได้เห็นการประหารเจ็ดชั่วโคตรแบบในหนังจีนกำลังภายในแล้วนะครับ เพราะชั่วโคตรของคนทำผิดไม่เกี่ยวด้วย และโทษประหารก็ทำลายเหตุผลแห่งการมีอยู่ของตัวรัฐเอง หรือที่เรียกแรดๆ ว่า Raison d’état เลยครับ
พูดอีกอย่างก็คือ ในสภาวะทั่วไป กฎหมายทำหน้าที่เป็นเครื่องมือการล้างแค้นแทน ด้วยตรรกะแบบอรรถประโยชน์นิยมทางอารมณ์น่ะครับ แต่เมื่อมันถูกใช้จนมาชนเพดานของหลักการที่อยู่เหนือมัน และครอบมันอยู่ มันต้องทิ้งบทบาทที่ทำตามวิธีคิดแบบอรรถประโยชน์นิยมที่ว่านั้นลงก่อน แล้วยึดตามหลักการใหญ่ที่เหนือกว่าก่อน
ผมขอยกตัวอย่างเรื่อง Right to Life นี่ให้เห็นภาพอีกสักนิดนึงนะครับ จากกรณีทีมหมูป่าติดถ้ำหลวงนี่แหละครับ จะได้เห็นภาพมากขึ้น คือ อย่างที่บอกไปรัฐมีหน้าที่ กลไกหลักในการดูแลชีวิตและความปลอดภัยความมั่นคงของประชาชนพลเมืองของตน ในฐานะเหตุผลในการมีอยู่ของรัฐเลย ฉะนั้นเพื่อทำให้ทีมหมูป่ารอด เขาก็ต้องหาทางทำทุกวิธีทางที่จะเป็นไปได้ ที่จะทำได้ (โดยไม่เสี่ยงให้เกิดเหยื่อเพิ่มขึ้น) ที่จะช่วยชีวิตเด็กๆ และโค้ชออกมาถูกมั้ยครับ เราคิดว่านี่คือเรื่องที่ถูกต้องกัน และเราก็เอาใจช่วยกัน (ซึ่งถูกแล้วครับ นี่คือเรื่องที่ถูกต้อง) นั่นก็เพราะเมื่อวิ่งมาชนเพดานของหลักการหลักที่ครอบกลไกอื่นๆ ของรัฐไว้อยู่ เราต้องยึดตามวิถีคิดของหลักการหลักก่อน อย่างกรณีนี้คือเรื่อง ความเป็นความตายของพลเมืองที่ติดในถ้ำอยู่ จะต้องทำอย่างไรด้วยวิธีการไหนก็ต้องทำ ลืมกลไกปกติแบบอื่นๆ ไปชั่วคราวก่อน ซึ่งก็คือการยอมกระทั่งให้มีสภาวะยกเว้นฉุกเฉินเป็นการเฉพาะได้ (ผมได้เขียนอธิบายเรื่องนี้ไปยาวยืดแล้ว ไม่ขอซ้ำนะครับ)
แต่หากเราอาศัยแต่มุมมองตามตรรกะแบบอรรถประโยชน์นิยมเนี่ย บอกตรงๆ ครับ ทีมหมูป่านี่ ไม่ได้มีใครไปช่วยหรอกครับ เพราะต้นทุนในการช่วยเหลือชีวิตพวกเขาเหล่านั้น มันสูงมากเกินกว่าที่พวกเขาน่าจะสามารถทดแทนคืนกลับมาได้ เมื่อชั่งตวงวัดด้วยฐานคิดนี้แล้ว การไม่ช่วยทีมหมูป่าจะได้อรรถประโยชน์ในเชิงภาพรวมสูงกว่า ก็จะไม่ต้องช่วยกัน ซึ่งวิธีคิดแบบนี้มันไม่ได้ไงครับ เพราะการทำแบบนี้ เท่ากับเป็นการลดคุณค่าของมนุษย์ให้อยู่ในมูลค่าของอรรถประโยชน์ที่จะสร้างได้ ซึ่งมันเท่ากับเป็นวิถีการมองที่นำมนุษย์กลับไปเป็นปศุสัตว์การเมืองอีกครั้ง แบบยุคก่อนสมัยใหม่ และผมเชื่อว่าหลายคนก็คงจะยอมรับวิธีคิดแบบเดียวกันนี้ไม่ได้
กรณีการประหารชีวิตก็เช่นเดียวกันครับ หากเรายอมรับให้มีการประหารชีวิตด้วยเหตุผลนี้ มันก็เท่ากับเป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ให้อยู่ในรูปผลตอบแทนของอรรถประโยชน์ว่า หากประหารไอ้นี่แล้วจะก่อให้เกิดอรรถประโยชน์เชิงอารมณ์ที่เหยื่อจะได้รับการชดเชยคืนไปเท่าไหร่ รากฐานวิธีคิดมันแบบเดียวกันเลยครับ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้นะครับ
4. กฎหมายมนุษย์สร้าง และในสังคมประชาธิปไตย ถ้าเสียงส่วนใหญ่อยากให้อยู่ ก็ควรได้อยู่สิ
ผมไม่ปฏิเสธ และไม่เคยคิดจะปฏิเสธแนวคิดเรื่องเสียงส่วนใหญ่ในระบอบประชาธิปไตยเลยนะครับ สนับสนุนมาโดยตลอดเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในเรื่องการดำเนินการและกลไกทางการเมือง (ที่สำคัญพื้นที่ผมเกินมาเยอะแล้ว ฉะนั้นจะเขียนแบบกระชับนะครับ) แต่หากพูดอย่างถึงที่สุดแล้ว ประชาธิปไตยมันเป็นระบอบที่เกิดขึ้นมา ในฐานะเครื่องมือหรือกลไกที่ทำให้หลักคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนมันทำงานได้ครับ นับแต่จุดเริ่มต้นของระบอบเลย หรือก็คือประชาธิปไตยมันเป็น ‘ฟังก์ชั่นตาม’ ของหลักสิทธิมนุษยชนอีกที ฉะนั้นประชาธิปไตยจึงมีได้หลายแบบ หลายเฉด หรือแม้แต่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเสรีแบบที่คุ้นเคยกัน เป็นคอมมิวนิสม์เลยก็ได้ ก็เกิดขึ้นมาลองรับหลักคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนเหมือนกันหมด แค่มีจุดที่เน้นต่างกันไป
เมื่อเป็นแบบนี้ แปลว่ามันมีหลักการบางอย่างที่เป็นแกนกลางของสิทธิมนุษยชนที่เป็น ‘ตัวแปรต้น/หลัก’ ที่ตัวเครื่องมือ อย่างเสียงส่วนมากจะมาหักล้างพังลงไม่ได้ และหลักการต่างๆ เหล่านี้ถูกสะท้อนออกมาอย่างสำคัญสุดผ่านรูปร่างหน้าตาของกฎหมายของรัฐนั้นๆ ครับ เพราะนอกจากกฎหมายจะทำหน้าที่ในฐานะกลไกการล้างแค้นแล้ว มันยังทำหน้าที่ในฐานะตัวสะท้อนความหวังด้วย เราอยากเห็นสังคมเป็นอย่างไร อยากให้สังคมพัฒนาไปในทิศทางไหนมันถูกสะท้อนออกมาจากตัวกฎหมายด้วย ในแง่นี้กฎหมายก็ทำหน้าที่เสมือนกระดาษคำตอบว่าเราอยากเห็นสังคมแบบใด และเมื่อมันมีแกนกลางอยู่ที่การรับใช้สิทธิมนุษยชน (อันนี้พูดบนฐานว่าเราคือรัฐเสรีสมัยใหม่นะครับ – หรืออย่างน้อยก็อยากจะเป็นแบบนั้น) มันก็ต้องยึดแกนกลางนี้เป็นบรรทัดฐานที่จะผลักดันให้สังคมมุ่งไปในทิศทางแบบนั้นๆ ได้ครับ มันจะทำหน้าที่เป็นมาตรฐานในสังคมนั้นๆ ที่คนในสังคมจะมองและเดินตาม
ฉะนั้นหลายๆ ครั้งกฎหมายก็ไม่ได้พร้อมที่จะรับใช้ความนิยมของคนเสมอไป โดยเฉพาะในส่วนที่มันผูกพันธ์กับหลักการอันเป็นแกนกลางหลักของตัวระบอบที่ใครจะไปล้มไม่ได้ เราอาจจะร่วมกันลงชื่อเสนอข้อกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงาน หรือการดำเนินชีวิตของเรา (Operational rule) ได้ แต่การทำลายแกนกลางของหลักการนั้น ต่อให้เป็นกระแสประชาชน นิยมชมชอบมา ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะไปทำลายมันได้นะครับ ไม่งั้นพลังของกฎหมายในฐานะมาตรฐานหลักของสังคม ก็จะไม่มีสภาพเป็นมาตรฐานอีกต่อไป หากขยับตามเสียงความชอบได้ในทุกกรณี
อ่านแล้วอาจจะรู้สึกว่าผมฟุ้งๆ ผมลองยกเคสให้นึกภาพออกดีกว่าครับ อย่างเคสกรณีของคุณทักษิณครั้งแรกที่ถูกฟ้องทำผิดคดีทุจริต หรือกรณีเพื่อไทยเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ฯลฯ นั้น หากว่ากันตามคะแนนเสียงความนิยมของคนส่วนใหญ่เลย ผมคิดว่าเสียงสนับสนุนพรรคไทยรักไทยในตอนนั้น หรือเพื่อไทยในครั้งนั้น มากพอที่จะกลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ได้แน่นอนครับ แต่อารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการ แรงเชียร์นั้น มันไม่สามารถทำแบบนั้นได้ เพราะอำนาจในทางกฎหมาย เมื่อได้ลงมือทำครั้งหนึ่งแล้ว มันมีอำนาจในการสร้างมาตรฐานในตัวของมันเองอยู่ด้วย หากไอ้นี่ขอให้ทำแบบนี้ได้ ฉันก็ต้องขอได้บ้างสิ ฉะนั้นเสียงส่วนใหญ่แบบนี้ มันกลายเป็นดาบสองคม ที่ทำลายมาตรฐานของตัวกฎหมายเอง และกฎหมายก็จะไม่ต้องมีมาตรฐานอีกต่อไป (ซึ่งก็เท่ากับหมดสภาพความเป็นกฎหมายไปกลายๆ ในทางปฏิบัติ)
เมื่อกฎหมายเป็นการเซ็ตมาตรฐานและต้องอิงกับหลักการพื้นฐานบางอย่างอยู่อย่างไปทำลายหรือยกเลิกไม่ได้นั้น กรณีการประหารชีวิตก็เช่นเดียวกันครับ ที่มันผูกเกี่ยวกับสิทธิในการมีชีวิตอยู่อย่างสำคัญ มันไม่ควรจะถูกพัดพาให้ไหลตามกระแสอารมณ์หรือความต้องการของสังคมในเวลานั้นๆ หากเราเอาหลักสิทธิมนุษยชนอยู่ ก็ต้องมีสิทธิในการมีชีวิตเป็นพื้นฐาน และการไม่มีโทษประหารโดยเด็ดขาด ก็ต้องเป็นหลักที่แน่นิ่ง ไม่ไหวติง ไม่ว่ากระแสสังคมจะเป็นไปในทางใด เกรี้ยวกราดแบบไหนก็ต้องไม่สนครับ แทบไม่มีที่ไหนหรอกครับที่เกิดมาแล้วเก็ตการไม่มีโทษประหารเลย และในความไม่เก็ตนั้นหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการยกเลิกโทษประหารก็เจอกับดราม่ากระแสสังคมมาแล้วแทบทั้งนั้น แต่หลักการนี้เป็นหลักการที่ผูกกับหลักคิดหลัก ต้องไม่ยอมให้มันถูกพัดพาไปตามกระแสชั่วขณะครับ แล้วใช้เวลาหน่อย สังคมแต่ละที่จะเก็ตมันขึ้นมาเอง
ผมบอกแล้วนะครับว่ากฎหมายทำหน้าที่เป็นความหวังที่จะเห็นสังคมของตนพัฒนาไปในทิศทางใดด และเพื่อยืนยันในหลักสิทธิมนุษยชนนั้น ก็ได้เกิดการสู้ฝ่าดราม่ามามากมาย จนตอนนี้ทิศทางหลักของสังคมโลกคือ “โลกเรายืนอยู่บนฟากฝั่งของการไม่เอาโทษประหารเป็นส่วนใหญ่แล้ว”
เส้นทางนี้ไม่ได้มาถึงโดยง่ายครับ คนส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าใจหรือยอมรับแต่แรก แต่ความหวังที่จะเห็นสังคมในไปในทิศทางที่ยึดเอาหลักสิทธิมนุษยชนเป็นแกนนั้นมันเกิดขึ้นได้ กรณีโทษประหารนี้เป็นเคสหนึ่งที่พิสูจน์เรื่องนี้แล้ว ก็อย่าเอาโทษประหารนี้มาเป็นของเล่นในสนามอารมณ์ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือกระแสสังคมนักเลยนะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู www.japantimes.co.jp
[2] โปรดดู deathpenaltyinfo.org
[3] โปรดดู www.telegraph.co.uk
[4] โปรดดู www.ohchr.org
[5] โปรดดู news.un.org