เนื่องในโอกาสที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควบตำแหน่งท่านผู้นำของประเทศ ได้กล่าวให้โอวาทเนื่องในวันข้าราชการพลเรือน ประจำปี พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมานี้ ท่านผู้นำก็ได้แสดงออกถึงความเป็นห่วงเป็นใยต่อประเทศอย่างที่เราได้ยิน ได้ฟัง กันเกือบจะทุกสัปดาห์ (บางทีก็สัปดาห์ละหลายหน) ตลอด 3 ปีที่ผ่านมานั่นแหละนะครับ
แต่ที่ท่านผู้นำเน้นย้ำเป็นพิเศษ โดยไม่ต้องตอกไข่ใส่เพิ่ม ในครั้งนี้ ก็ว่าด้วยเรื่องของการใช้ภาษาเขียนผิดๆ อย่างที่เห็นได้อยู่ละลานตาในสังคมออนไลน์ปัจจุบัน ดังข้อความบางส่วนของคำโอวาทคราวนี้ที่ว่า
“การพัฒนา หรือการปฏิรูปบางอย่างก็ต้องพึงระวัง เช่น การใช้ภาษา ปัจจุบันแทบจะต้องพิมพ์พจนานุกรมฉบับเด็กเพิ่มอีกหนึ่งฉบับ เช่น คำว่า เด๋ว (เดี๋ยว) เขียนกันจนติด ในภาษาคอมพิวเตอร์ ภาษาโทรศัพท์ ในแอพพลิเคชั่นไลน์ จนปัจจุบันจะเขียนกันไม่ถูกแล้ว ขอให้กระทรวงศึกษาธิการไปทบทวน เพราะอนาคตในวันข้างหน้าภาษาไทย เด็กๆ จะสอบตก ต้องกลับมาดูว่าจะทำอย่างไรให้เด็กสอบผ่านภาษาไทย และสอบผ่านทุกวิชา ถือเป็นความท้าทายของข้าราชการทุกกระทรวง”
ใช่ครับใช่ สำหรับผู้หลักผู้ใหญ่ระดับชาติอย่างท่านผู้นำแล้ว ก็ย่อมจะมีข้อคิดเห็นตามประสาผู้ใหญ่ และย่อมต้องมีความเป็นห่วงเป็นใย (ที่พ่วงเป็นแพกเกจเสริมด้วยอะไรที่เรียกว่า ความหวังดี อีกหนึ่งกระทอก) ตามประสาคนที่อาบน้ำร้อนมาก่อน ต่อใครๆ ที่เป็นผู้เยาว์ หรือเป็นเด็กสำหรับท่าน
แต่ผู้ที่เป็น ‘เด็ก’ เมื่อเปรียบกับตัวท่านผู้นำแล้ว ก็คงหมายถึงคนเกือบจะทั้งประเทศนั่นแหละ เพราะในเมื่อท่านสามารถให้ ‘โอวาท’ กับบรรดาข้าราชการได้ทั้งประเทศ ก็คงจะมีคนโตกว่าท่านอีกจำนวนเพียงไม่กี่มากน้อย แถมคำว่า ‘โอวาท’ ก็มีความหมายตรงตัวตามพจนานุกรมสำหรับราชบัณฑิตยสถาน และอีกหลายๆ ฉบับ (แน่นอนว่า ไม่ได้รวมถึงพจนานุกรมฉบับสำหรับเด็ก ที่ท่านผู้นำแสดงความห่วงใยว่าอาจจะต้องพิมพ์เพิ่มเติมออกมาอีกฉบับ) ว่า ‘คำตักเตือน’ หรือ ‘คำสั่งสอน’ ซึ่งก็แน่นอนว่า ผู้ที่ให้โอวาทนั้นคือผู้ที่มีอาวุโส หรือสถานภาพทางสังคมสูงกว่าผู้ที่รับโอวาทอันนั้นอยู่
ก็เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่นั้น พร้อมที่จะรับฟังคำอะไรต่อมิอะไร หรือความคิดเห็นของเด็กๆ ซะที่ไหนกัน? นี่ยิ่งไม่ต้องไปไกลจนถึงการรับฟังคำสั่งสอน หรือคำตักเตือนจากผู้ที่มีอายุ หรือสถานภาพทางสังคมต่ำกว่าหรอกนะครับ
สำหรับเงื่อนไขอย่างนี้ใครๆ ในสังคมก็คงจะมีจำนวนมากกว่าอย่างมหาศาลที่จะต้องใช้ ‘พจนานุกรมสำหรับเด็ก’ เล่มที่ท่านผู้นำบ่นงึมงำถึง แต่คงจะมีน้อยยิ่งกว่าน้อยพจนานุกรมสำหรับผู้ใหญ่ เล่มเดียวกับที่ท่านผู้นำหมายใจจะให้ใครๆ หันมาใช้ให้เป็นเกณฑ์มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ทั้งที่ถ้าจะว่ากันด้วยเกณฑ์อย่างในโอวาทดังกล่าวแล้ว ใครที่เลือกจะยึดถือพจนานุกรมฉบับเด็กที่สะกดคำว่า ‘เดี๋ยว’ ผิดไปเป็น ‘เด๋ว’ นั้นก็คงจะสอบตก เพราะไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานวิชาภาษาไทยของประเทศ
และทีนี้ก็คงจะมีใครต่อใครพากันสอบตกอีกให้เพียบเลยทีเดียวเหอะ
แต่ที่อะไรต่อมิอะไรจะประกอบร่างรวมกันขึ้นมาเป็น ‘สังคม’ นั้น ไม่ได้ประกอบไว้ด้วยช่วงชั้น ลำดับต่ำสูงทางสังคมเพียงอย่างเดียว พจนานุกรมฉบับเด็ก ฉบับผู้ใหญ่ หรือจะฉบับไหนก็จึงไม่จำเป็นต้องมองผ่านแว่นที่มีเลนส์ของการลำดับสูงต่ำทางสังคม เพียงเลนส์เดียวเสมอไป พจนานุกรมเล่มที่บรรจุคำว่า ‘เด๋ว’ อยู่ในนั้นจึงอาจจะไม่ใช่พจนานุกรมสำหรับเด็ก ถ้ามองผ่านแว่นที่สวมไว้ด้วยเลนส์ประเภทอื่น เช่นเดียวกับพจนานุกรมเล่มที่บรรจุคำว่า ‘เดี๋ยว’ เอาไว้ ก็อาจจะไม่ใช่พจนานุกรมสำหรับผู้ใหญ่
ความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร ในยุคที่ถ้าใช้คำว่าโลกาภิวัฒน์อาจจะเชยไปแล้วด้วยซ้ำ หมุนโลกให้เร็วกว่ายุคที่เรายังส่งข่าวกันด้วยม้าเร็วไม่รู้กี่พันเท่า ความแม่นยำของอักขรวิธีกลายเป็นสิ่งที่สำคัญน้อยกว่าความรวดเร็วที่มากขึ้นอีกนิดก็ยังดีในการสื่อสาร การส่งข่าวด้วยวิธีห้อม้าคงจะเป็นเรื่องที่วุ่นวายแน่ถ้าสะกดคำตกหล่นจนเข้าใจถ้อยกระทงความผิดกัน แต่ในยุคที่ใครก็สามารถรีเช็กเนื้อความที่ไม่เข้าใจได้พร้อมกับที่ยังนั่งกระดิกตีนชิลๆ อยู่ในร้านกาแฟได้ทันทีนี่มันก็อีกเรื่องนึงแล้วนะครับ
อักขรวิธีที่จะทำให้คุณครูภาษาไทยอาจจะหงุดหงิดเสียจนต้องให้เด็กคนนั้นสอบตก จึงดูจะเป็นเหมือนโลกคนละใบเดียวกันกับการย่นย่อการสะกดคำแบบนี้เลยทีเดียว และเอาเข้าจริงแล้ว ลักษณะแบบนี้มันก็เกิดขึ้นให้เพียบกรณีในส่วนต่างๆ ของโลก มีคำว่า ‘dunno’ ซึ่งก็ย่นย่อมาจาก ‘don’t know’, คำว่า ‘brunch’ ซึ่งหมายถึงอาหารไม่เช้า ไม่เที่ยง แต่ควบเอาคำว่า ‘breakfast’ และ ‘lunch’ มารวบเข้าเป็นคำเดียว, ‘fyi’ ที่ย่อมาจากคำว่า ‘for your information’ ซึ่งไม่เคยมีรัฐแห่งใดในโลกต้องประกาศใช้เป็นตัวย่ออย่างเป็นทางการ จะมีก็แต่ดิกชันนารี (dictionary, ซึ่งก็แปลว่า พจนานุกรม นันแหละ!) ดีๆ ที่รู้จักรวมเอาคำพวกนี้เข้าไปผนวกไว้ ให้ใครสามารถไปค้นอ่านได้ถ้าไม่เข้าใจ (ถึงแม้ว่าจะเป็นคำที่เห็นจนชินตาในโลกออนไลน์ก็เถอะ)
ในกรณีนี้ การสะกดคำอะไรอย่างย่อๆ ให้พอรู้กัน โดยไม่ใส่ใจกับอักขรวิธีมาตรฐานมากนักแบบนี้ จึงเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กันกับการประดิษฐ์คำใหม่ๆ ขึ้นเพราะความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และวัฒนธรรม การมองปรากฏการณ์เหล่านี้โดยแยกขาดจากกันจึงอาจจะไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมเท่าไหร่
ว่ากันว่ากวีเอกของโลกภาษาอังกฤษอย่าง วิลเลียม เชคสเปียร์ (William Shakespeare) ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2107-2159 (คาบเกี่ยวกับช่วงอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 1 สมัยของสมเด็จพระนเรศวร และพระเจ้าทรงธรรมทรงพบพระพุทธบาทที่สระบุรี ในประเทศไทย) ประดิษฐ์ศัพท์ขึ้นมาเองในงานของเขาไม่ว่าจะเป็น กวี บทประพันธ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ราว 10,000 คำ โดยยังคงใช้มาจนถึงกระทั่งทุกวันนี้ถึง 1,700 คำ เลยทีเดียวนะครับ
และถึงแม้จะมีผู้ออกมาปฏิเสธว่า เชคสเปียร์ไม่ได้ผูกศัพท์ขึ้นมาเยอะขนาดนั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เขาผูกศัพท์คำที่กลายเป็นคำบ้านๆ ในภาษาอังกฤษปัจจุบันนี้อย่าง ‘eyeball’ (ลูกนัยน์ตา) ‘manager’ (ผู้จัดการ) ‘cold-blooded’ (เลือดเย็น) ‘assassination’ (การลอบสังหาร) ‘lonely’ (อาการหว่อง) และอื่นๆ อีกสารพัด ดังนั้นเมื่อมองอีกด้านอย่างเป็นธรรมแล้ว ปรากฏการณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอักขระวิธีอะไรทำนองนี้ จึงอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดีอย่างที่ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองทั้งหลายกังวลไปเสียทั้งหมด ไม่อย่างนั้นฝรั่งเขาก็คงเห็น เช็คสเปียร์ เป็นเพียงพวกเกรียนคีย์บอร์ดรุ่นโปรโตไทป์ และไม่มีใครยกให้เป็นกวีเอกของโลกอย่างทุกวันนี้แน่
อันที่จริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่ส่งผลต่ออักขระวิธีในการเขียนนั้น ก็เกิดขึ้นในไทยมาตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะมีอินเตอร์เน็ตมานานแล้ว เก่าแก่ที่สุดก็โน่นเลย ตั้งแต่เทคโนโลยีการพิมพ์เข้ามาในกรุงเทพฯ ชาวสยามเริ่มประสบปัญหาขึ้นมาว่า ไอ้เจ้าสระ และวรรณยุกต์ ที่ลอยอยู่เหนือพยัญชนะบ้าง (-ั, -่, -็ เป็นต้น) เป็นเชิงอยู่ใต้พยัญชนะบ้าง (-ุ, ฐ, ญ และอีกสารพัด) นั้นเป็นสิ่งที่เกะกะสิ้นดีสำหรับการพิมพ์ รัชกาลที่ 4 จึงทรงคิดค้นฟอนต์ที่เรียกว่า ‘อักษรอริยกะ’ ซึ่งจับเอาทั้งตัวเชิง วรรณยุกต์ สระทั้งที่ลอยอยู่เหนือพยัญชนะ และเป็นเชิงอยู่ใต้พยัญชนะ มารวบไว้ในบรรทัดเดียวกันเหมือนตัวอักษรโรมัน ที่ใช้กันโดยทั่วไปในยุโรป (ฟอนต์อริยกะนี้ มีความใกล้เคียงกันกับวิธีการเขียนในจารึกพ่อขุนรามคำแหง ที่รัชกาลที่ 4 ทรงอ้างว่าเป็นผู้ค้นพบอย่างน่าพิศวง!) เพียงแต่ว่า ไม่มีใครเห็นด้วยกับพระองค์ พวกเราในปัจจุบัน จึงได้แต่ใช้ฟอนต์ดาดๆ อย่าง Cordia บ้าง ThaiSarabun บ้าง แต่ไม่มีฟอนต์อริยกะให้ใช้ 😛
ในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีการปรับเปลี่ยนอักขรวิธีเพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสาร เป็นการขนานใหญ่เลยนะครับ เพราะอดีตท่านผู้นำคนนี้สั่งให้ตัดพยัญชนะในภาษาไทยเหลือเพียง 31 ตัว ได้แก่ ก ข ค ง จ ฉ ช ซ ญ ด ต ถ ท น บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ส ห อ ฮ, สั่งเลิกใช้ไม้ม้วน, ฤ, ฤา, ฦ, ฦา, เปลี่ยน ‘ทร’ เป็น ‘ซ’ ทั้งหมด (เช่น ทราย เป็น ซาย) และให้ตัดเชิงที่ตัวพยัญชนะ ญ
แน่นอนว่า พอกระเด็นออกจากวงโคจรของอำนาจ ก็ไม่มีใครเอากับอดีตท่านผู้นำคนนี้ด้วย แถมยังขนานนามให้ด้วยว่าเป็นยุค ‘อักขรวิบัติ’ เราจึงยังมีพยัญชนะครบ 44 ตัวมาจนกระทั่งทุกวันนี้ แต่ไม่ใช่ว่า อักขรวิธีของจอมพล ป. ท่านจะไม่มีมรดกตกทอดอยู่ในภาษาไทยทุกวันนี้เอาเสียเลย อย่างน้อย ทุกวันนี้ก็ไม่มีใครเขียนคำว่า ‘ระลึก’ ด้วยตัวสะกด ‘รฦก’ อีก
เอาเข้าจริงแล้ว อักขรวิธีในแต่ละภาษาจึงมีการปรับเปลี่ยนไปด้วยเงื่อนไขต่างๆ อยู่แทบจะตลอดเวลา เพราะวัฒนธรรมและสังคมมนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ วัฒนธรรมที่หยุดอยู่กับที่คือวัฒนธรรมที่ตายไปแล้ว ภาษาก็เช่นกัน
ดังนั้น การที่ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองจะจับเอาคำว่า ‘เด๋ว’ ไปยัดใส่ในพจนานุกรมสำหรับเด็ก (แม้จะเป็นเพียงคำเปรียบเปรยก็ตาม) จึงไม่ใช่วิธีที่สมเหตุสมผลเท่าไหร่นักหรอกนะครับ สิ่งที่ควรจะกระทำยิ่งกว่าคือการทำความเข้าใจ และอยู่ร่วมกันโดยสันติ พร้อมกับทำความเข้าใจกับผู้คนในสังคมว่า ในกาลเทศะเช่นไรควรสะกดด้วยคำว่า ‘เดี๋ยว’ และในกาลเทศะเช่นไรที่สะกดว่า ‘เด๋ว’ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะสังคมที่ชวนให้รู้สึกสิ้นหวัง ไม่ใช่สังคมที่เด็กจะสอบตกเพราะสะกดเขียนคำว่า ‘เดี๋ยว’ ผิด แต่เป็นสังคมที่เด็กไม่รู้กาลเทศะว่า จะใช้คำว่า ‘เด๋ว’ ได้เมื่อไรต่างหาก