“อยู่ในประเทศนี้ที่รู้อะไร ไม่สำคัญเท่าว่าเรารู้จักใคร” ใครสักคนบอกเราสมัยยังเป็นวัยรุ่น
“คนทำงานเก่ง ไม่สำคัญเท่าคนพูดเก่ง” รุ่นพี่ตั้งสเตตัสตัดพ้อ
“เหนื่อยมากที่ต้องไปเข้างานสังคม แต่มันจำเป็น” รุ่นพี่คนที่เพิ่งเปิดบริษัทใหม่มาหมาดๆ
“หากไม่มารับน้อง จะไม่มีเพื่อนตลอดไป รุ่นพี่ก็จะไม่เอาน้อง” message หลักของการรับน้อง
คำพูดเหล่านี้ทำให้เรา-ผู้เพิ่งเริ่มต้นอาชีพขวัญผวา-เราจะอยู่รอดได้ไหมในสาขาอาชีพที่เราทำ เราจะประสบความสำเร็จไหม จะอดตายไหม หากเราไม่รู้จักใครเลย จริงๆ แล้วคอนเนกชั่นสร้างเครือข่ายเป็นบันไดสู่ความสำเร็จเสมอไปจริงไหม?
บทความนี้ไม่ได้สนับสนุนให้คนบนโลกเป็นคนต่อต้านสังคม เลิกคบหาสมาคมกับทุกคนโลก ก้าวสู่ชีวิตอัจฉริยะผู้โดดเดี่ยว (Lone Genius) แต่อยากปลอบประโลมว่าชีวิตเรายังไม่จบสิ้น อย่าเพิ่งหมดหวัง น้อยใจในโชคชะตา เพียงแค่เราไม่รู้จักใครเลย
หากรู้จักกัน ฉันมีโอกาสมากกว่า
ในปี 2016 Linkedin ได้ทำแบบสำรวจ มีผู้มาตอบแบบสอบถามจำนวน 3,000 คน พบว่า 85% ของตลาดแรงงานเป็นการแสวงหาผ่านคอนเนกชั่น คือผ่านคนรู้จักแนะนำ เพียง 15% เกิดจากการ Apply ผ่านการสมัครงานปกติ ฟังดูน่าสะพรึงกลัวมาก ชวนผวาว่าหากเราไม่รู้จักใคร แล้วเราจะประกอบอาชีพได้อย่างไร ดูจะเป็นเรื่องที่มีเหตุผลมากๆ ที่จะแสวงหาคอนเนกชั่น เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำมาหากินให้ไม่อดตาย
วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมสร้างคอนเนกชั่น การใช้ความรู้จักให้เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะการฝาก การเส้น เพื่อกระชับความสัมพันธ์ เราผูกมิตรกระทั่งกับผีและเจ้าที่เจ้าทาง สิ่งศักดิ์ทั้งหลายและเทวดา
คนที่มาจากต่างวัฒนธรรมอาจจะงงที่เราต้องไหว้เจ้าที่เมื่อเราไปถิ่นแปลก ย้ายเข้าที่ใหม่ เราติดกับความคิดประเภทที่ว่า “ที่นี่ใครเป็นใหญ่” “ใครเป็นเจ้าของ” “ใครมี Authority” “ใครคือผู้ใหญ่ในที่แห่งนี้” ฯลฯ การบนบานศาลกล่าวเพื่อให้ได้สิ่งของต้องประสงค์ สำหรับหลายๆ คนดูเป็นกลยุทธ์ที่น่าลองดูไม่เสียหายอะไร หากสำเร็จก็จ่ายด้วยสิ่งของบนบานที่เรากำหนดเองได้
สมัยวัยรุ่น ผู้เขียนและเพื่อนๆ ได้ไปสอบเข้าโรงเรียนม.ปลายชื่อดังแห่งหนึ่งที่วัยรุ่นหลายคนหมายตา ยังจำได้ว่าเพื่อนหรือผู้ปกครองเพื่อนร่วมกันคิดสูตรบนบานมา Offer ให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นบนของเล็กไปจนของใหญ่แล้วแต่ความทุ่มเท ยันการบนบานด้วยแรงงาน (เช่น วิ่งรอบสนามบอล 100 รอบ) ทำไมสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงอยากให้เราสอบติดมากกว่าคนอื่นอีกมหาศาลที่ไปบนเหมือนกัน พวกท่านคัดกรองอย่างไร เรียงตามความศรัทธา หรือว่าเลือกดีลที่โปรดปราน?
เพราะวัยรุ่นเป็นวัยทดลอง ตอนเราอยู่ม.ต้น ลองไปสอบเข้าดู ถ้าไม่ติดก็ไม่เป็นไร โดยลองไม่เรียนพิเศษและไม่บนดู อยากรู้ว่าจะสอบเข้าได้ไหม (อยากทดลอง 2 อย่างเลย ผลคือ มันก็ทำได้นะ) หลายคนอาจบอกว่า เธอพูดได้นี่ก็เธอสอบติดไปแล้ว เรากลับมองว่า การพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นความคิดที่ดูถูกตัวเองมากเลย ความสำเร็จของเราถูกโอนไปให้เป็นเครดิตของการบนบานได้ถูกต้องหรือเพราะหาคอนเนกชั่นได้ถูกคน แล้วมันน่าภูมิใจตรงไหน
เพราะเป็นคนจึงต้องสะสมความสัมพันธ์สร้างวงวาร
มนุษย์เราเกิดมาเพื่อสร้างสัมพันธ์และรวมกลุ่มเพื่อความอยู่รอด สมองของเราจำแนกแบ่งกลุ่มคนที่เราพบเป็น ‘พวกเรา’ กับ ‘พวกเขา’ แบบอัตโนมัติ สาร Oxytocin เพื่อความสุขจะหลั่งออกมาเมื่อพบคนที่เราไว้ใจได้ว่าเป็นพวกเรา รู้สึกอุ่นใจและปลอดภัยกับเพื่อนและพวกพ้องของเรา
เมื่อเราเจอหน้า Them หรือพวกเขาที่เป็นคนอื่น ซึ่งสมองตัดสินว่าไม่อยู่ในพวกพ้องเผ่าเรา เราจะมีอาการโกรธไม่ไว้ใจ ความรู้สึกรังเกียจนี้มาจากการทำงานของสมองส่วน Insula เป็นสมองส่วนเดียวกันที่ Active ยามกินอาหารบูด ดังนั้นความรู้สึก ’เหม็นหน้า’ กับคนที่ไม่ใช่พวกของเราจึงเป็นคำที่เหมาะสมมาก ซึ่งกลไกนี้ไม่ได้มีแต่เราโฮโมซาเปี้ยน สัญชาตญาณเหล่านี้ช่วยส่งสัญญาณให้ลิงฆ่าลิงตัวผู้ของเผ่าอื่น
แต่ความรู้นี้ ไม่ควรจะถูกใช้อ้างหาความชอบธรรมว่า เราก็ทำตามธรรมชาติสัญชาตญาณมนุษย์ไง แต่ให้เรารู้เท่าทันและหลุดพ้นจากกลไกอัตโนมัติ อย่าเหม็นหน้าใครไวเกินไป เพียงเพราะเขาดูไม่ใช่ ’พวกพ้อง’ ของเผ่าเรา และอย่าไว้ใจใครไวเกินไปเพียงเพราะเขาดูดี ดูเป็นพวกเรา เป็นเพื่อนเรา ชื่นชมให้เราดีใจ แต่เราต่างตัดสินคนจากความประทับใจแรกเป็นอัตโนมัติ เพียงเพราะเราขี้เกียจประมวลผลใหม่อยู่บ่อยๆ
เท่าที่กล่าวมาเหมือนว่าผู้เขียนพยายามจะโน้มน้าวว่า การหาคอนเนกชั่นนั้นมีคุณประโยชน์มหาศาล ช่วยเหลือแบ่งเบาภาระได้มากมาย เหมือนจะสบายไปตลอดชีวิตเพียงมีมิตรที่ดีงาม จริงๆ แล้ว กลับเป็นจุดอันตรายมากๆ เมื่อเราใช้พลังงานทั้งหมดที่มีไปกับการสร้างคอนเนกชั่น จนไม่เหลือเผื่อเวลาให้สร้างผลงานที่ดีให้สมกับคอนเนกชั่นที่เรามี กลายเป็นผีเสื้อสังคม (Social Butterflies) ที่โฉบไปโฉบมาตามงานให้คนเห็นหน้าบ่อย ๆ ก็พอแล้ว ไม่ต้องผลิตอะไรที่มีคุณค่าขึ้นมา
อย่าใช้คอนเนกชั่นพรํ่าเพรื่อ มันน่าเบื่อรู้ไหม
ในวงสังคมของทุกคน ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร ผ่านช่วงวัยเด็กยันมหาลัยยันวัยทำงานจนตายไป เราจะมีคนๆ นั้นที่ทุกคนรู้จัก มีเพื่อนมากมาย เหมือนเป็นผู้มีอิทธิพลในวงสังคม คนใหญ่ในวงการ แต่ไม่มีใครรู้ว่าจริงๆ เนื้องาน เขาทำอะไร เขาอาจจะเป็นคนนิสัยดีมากๆ จนทุกคนรักใคร่เชิดชูเพราะดูดี หรือไม่ก็อาจสร้างภาพว่าเก่ง หลายครั้ง เราไม่มีทางรู้จนกว่าจะได้ลองทำงานกับเขา
บางคนหมดเวลาจำนวนมากกับการปรากฏตัวและพูดๆๆๆๆๆ เป็นนํ้าท่วมทุ่งแต่หาสาระไม่ได้ ทำทีสนิทสนมกับทุกคนบนโลก เพราะเชื่อว่าแค่คอนเนกชั่นดีก็มีชัย มีศัพท์กริยาเฉพาะกับอาการสร้างคอนเนกชั่นคือคำว่า ‘Schmooze’ หลายคนอาจจะเคยเห็นคำนี้จากการเล่นซิมส์
Schmooze คือ การเข้าหาคนอื่นเพื่อสร้างมิตรและพรีเซนต์ตัวเองเบาๆ ชมตัวเองเบาๆ ถ่อมตัวแต่ก็อวด (Humblebrag) และพูดชื่นชมคนที่มีชื่อเสียง หรือคนใหญ่คนโต เพื่อให้เขาชอบเรา หวังว่าเขาจะพาเราไปสู่สถานะที่ดีขึ้น
เราผจญกับประสบการณ์ Schmooze กันไปมาในงานที่คนในวงการจะมาพบเจอกัน หลายๆ ครั้ง เราแค่อยากไปหาความรู้ใหม่ๆ จากการสัมมนาและ workshop ต่างๆ ที่มีประโยชน์กับอาชีพโดยที่ไม่รู้จักใครเลย งานแลกเปลี่ยนความรู้ แชร์ทักษะประสบการณ์ กลายเป็นงานแลกเปลี่ยนนามบัตร และสร้างโอกาสได้เฉิดฉายเพื่อออกงาน เพิ่มโอกาสแห่งความสำเร็จ ช่างน่ากระอักอ่วนใจ
เมื่อลองกลับไปมองย้อนดูคนหลายๆ คนที่ประสบความสำเร็จ เขาก็ไม่ได้โด่งดังขึ้นมาเพียงเพราะไปออกงานออกหน้าตลอดเวลา แต่เกิดจากทักษะที่เขามี ความสามารถ และผลงานที่เขาสร้างขึ้นมา Usher ไม่ได้ค้นพบ Justin Bieber ตามงานเลี้ยงสังคม แต่เจอเขาผ่านคลิปออนไลน์ที่เขาได้อัดไว้ Mark Zuckerberg ไม่ได้พบกับ Sean Parker ที่งานสังคม แต่เพราะแฟนสาวของ Sean ได้เล่น Facebook ลองนึกว่า สามารถร่ายลิสต์ได้อีกมากมายไม่จบสิ้น ยิ่งสมัยนี้เรายิ่งมีโอกาสถูกค้นพบได้ง่ายในโลกอินเทอร์เน็ต
แต่หากจะอยากถูกค้นพบ ก็ทำให้คนอื่นค้นพบเราได้ง่าย
แน่นอนว่าหากเลือกที่จะไม่ไปออกงานเพราะการ schmoozing นี้ไม่เหมาะกับเรา แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยหากอยู่บ้านเฉยๆ รอให้คนมาค้นพบอัจฉริยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเราก็น่าจะเป็นเรื่องยากมาก เราจึงต้องทำให้งานของเราถูกค้นพบได้แทน หาเราต้องนำเสนอทักษะและผลงานทางอื่น ไม่ใช่เพราะเราอยากอวด (ซึ่งภูมิใจก็อวดๆ ไปเถอะ ไม่เห็นผิดเลย) ทำให้งานของเรามีความหมาย พูดแทนเราแทนกายหยาบของเราที่เข้าสังคมไม่เก่ง ไม่อยากไปร่วมพื้นที่กับคนแปลกหน้า แน่นอนว่าเราอาจรู้สึกว่างานของเราไม่ดีพอจะโชว์ใครอยู่เสมอ แต่เราก็ควรแสดงมันออกไปเพื่อให้คนค้นพบเราได้ง่ายขึ้น
อาชีพแรกที่ผู้เขียนได้รับโอกาสได้ทำ ไม่ได้เกิดจากเราไปงานสังคม แต่เกิดจากเจ้านายของเรา (ซึ่งก็เป็นคนแปลกหน้า ไม่รู้จักกันมาก่อน) เดินผ่านเข้ามาดูงานเราตอนจัดแสดงวิทยานิพนธ์ เราคงไม่ได้รับโอกาสนี้หากไม่ได้แสดงงาน มีคนมากมายพบเจองานดีๆ จากการแสดงผลงาน วิธีการก็แค่ส่งไป Apply เมื่อเปิดรับสมัคร ไม่ได้ใช้เวทมนตร์พิเศษหรือคอนเนกชั่นขั้นเทพใดๆ เลย หากไม่เก่งเรื่องการเข้าสังคมตรงหน้า การมีทักษะเหล่านี้อาจสำคัญมาก
- ให้พอร์ตฟอลิโอพูดแทนเรา ในยุคสมัยนี้เราสามารถหาทางแสดงผลงานของเราได้มากมาย และอินเทอร์เน็ตก็เป็นสถานที่นัดพบที่สวยงาม เราสามารถสร้างเว็บ บล็อกของตัวเอง หรือสมัครบริการมากมาย เช่น ถ้าเป็นนักออกแบบก็สมัคร Behance หรือ Cargo Collective ฯลฯ หรือ ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรก็แค่ทำมันออกมา และพางานไปอยู่ในสถานที่ๆ ทำให้คนค้นพบได้ ไม่ว่าจะเป็นการประกวด หรือว่าแสดงงานทางออนไลน์ไม่ต้องหวังว่าคอนเนกชั่นจะพาเราไป แต่มีผลงานและแนวความคิดที่ดีที่พาเราไป ถ้างานเราดีจะมีคนอยากรู้จักเราเอง
- เขียนอีเมลที่ดีให้เป็น จดหมายสมัครงานที่ใส่ใจและแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ จะทำให้เราโดดเด่นจากคนเป็นร้อยเป็นพันที่ส่งมางั้นๆ มีคนกล่าวว่าการเขียนจดหมายสมัครงานได้ดี คือการเขียนจดหมายรักทางการงานและอาชีพ (Professional Love Letter) แต่พึงระวังไว้ว่า แต่ในโลกนี้มีคนที่ไม่ชอบอะไรยืดยาว ชื่นชมหยดย้อยเลี่ยนๆ อยู่เหมือนกัน เช่นคนแบบ Elon Musk ชอบอีเมลที่สั้นกระชับตรงประเด็น ลองศึกษาดูหานํ้าเสียงที่เหมาะสมกับคนที่เราจะส่งไปให้เขา และเตรียมรับความเสียใจได้เลยเพราะบางครั้งก็อีกฝั่งอาจไม่ตอบอะไรกลับมา เขาอาจจะยุ่งมาก ได้รับเมลมากมายจนไม่มีเวลา แต่ก็พยายามต่อไป
ลงทุนเวลากับการทำงานให้ดี ต่อให้ไม่มีใครเห็น เรายังมีงานที่ดีให้เราภูมิใจ อย่าถอดใจเพราะแค่เราไม่มีต้นทุนทางสังคม ไม่มีมิตรสหายเพื่อนฝูง ยํ้าอีกครั้งว่า ทำงานหนักและให้มันพูดแทนเรา และแม้เราจะรักสันโดษ ชอบอยู่คนเดียว แต่จงเป็นคนที่น่าอยู่ร่วมโลกด้วย เป็นเพื่อนร่วมงาน ลูกค้า หรือผู้ถูกจ้างที่น่าทำงานด้วย มีความรับผิดชอบ ทำงานดี ให้คนที่ได้ร่วมงานกับเราเขาพูดแทนเรา เพราะเขาได้ประสบการณ์ที่ดีจากการทำงานร่วมกับเรา เพราะผู้คนจะชอบและนับถือเรามากกว่าถ้าเราไม่ชมตัวเอง แต่มีคนอื่นชมเรา
Adam Grant ได้เขียนเตือนใจใน The New York Times ไว้ว่างานสังคมใดๆ ก็ตาม ควรเป็นโอกาสที่จะโปรโมตความคิดของเรา ไม่ใช่โปรโมตตัวเรา และ การสร้างเครือข่ายที่แข็งแรง คุณไม่จำเป็นต้องเก่งการสร้างเครือข่าย แต่คุณควรจะเก่งอะไรสักอย่าง Building a powerful network doesn’t require you to be an expert at networking. It just requires you to be an expert at something.
“ Be so good they can’t ignore you.”
จงทำงานให้ดีมากๆ จนคนเขาเมินเราไม่ได้ เลิกสงสารตัวเอง และเลิกน้อยใจหากเข้าสังคมไม่เป็น หรือไม่รู้จักใครเราควรจะเปลี่ยนความคิดว่าการสร้างคอนเนกชั่นจะนำพาอัปเกรดเราไปสู่ภพภูมิ ชนชั้น วรรณะ สถานะที่ดีขึ้น เพื่อมีการงานที่ดีขึ้น ทางออกที่เรามี คือตั้งใจทำงานให้ออกมาดีและสังคมจะเข้ามาหาเราเอง
สร้างมิตรภาพที่ยืนยาวเพราะเราอยากรู้จักเขา สร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมาย มากกว่าแลกนามบัตรตามมารยาท บางคนอาจดูใช้พลังงานจำนวนมากทำให้ตัวเองดูดี เพื่อนเป็นพัน คนไลค์เป็นร้อย จะลองถ่ายรูปคู่กับคนดังแล้วโม้ว่าซี้กันก็ทำได้ แต่อาจไม่มีความหมายอะไรเลยในการทำงาน เพราะสุดท้ายผลงานของเราควรจะเสียงดังกว่าคำสัญญาลอยๆ มิตรภาพลมๆ และภาพลักษณ์ที่ปั้นได้ง่ายมากในยุคนี้ หากคนที่เราอยากจะร่วมสมาคมด้วย ไม่ได้คิดเห็นเช่นนั้น ก็อาจไม่มีค่าให้เราอยากไปร่วมเป็นพวกเชื่อมต่อกับเขาแต่แรก
การมีความสัมพันธ์หรือคอนเนกชั่นดีมีประโยชน์มากมาย เป็นทักษะสำคัญของชีวิตทำงาน แต่มันไม่ควรเป็นทักษะเดียวที่เรามี เพราะหากเราทำงานไม่ได้เรื่องสมกับชื่อที่สร้างไว้ ความสัมพันธ์ที่มีอาจไม่มีความหมายอะไรเลย เป็นเพียงการเชื่อมต่อจางๆ หลอกเราให้ไม่รู้สึกเดียวดายในโลกนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก
Why Your Brain Hates Other People
http://nautil.us/issue/49/the-absurd/why-your-brain-hates-other-people
New Survey Reveals 85% of All Jobs are Filled Via Networking
https://www.linkedin.com/pulse/new-survey-reveals-85-all-jobs-filled-via-networking-lou-adler
Good News for Young Strivers: Networking Is Overrated
https://www.nytimes.com/2017/08/24/opinion/sunday/networking-connections-business.html?mcubz=1
Don’t Waste Your Time on Networking Events
https://hbr.org/2016/09/dont-waste-your-time-on-networking-events