สวรรค์ชั้น 7 ของน้องๆ หนูๆ อย่าง ‘สวนสัตว์ดุสิต’ หรือที่เรียกกันในภาษาบ้านๆ ว่า ‘เขาดิน’ (หรือจะเรียกให้โก้ขึ้นอีกนิดก็ให้เติมคำว่า ‘วนา’ ต่อเป็นสร้อยท้ายคำ) นั้น กำลังจะถูกย้ายนะครับ แถมยังว่ากันอีกด้วยว่า บ้านใหม่ของบรรดาสารพัดสัตว์นี้ จะอยู่ห่างออกไปจากวิลล่าพาฝันแห่งเดิมของพวกมันไกลถึงในระดับพิกัดใหม่ที่ คลอง 6 ธัญบุรีโน่นเลย
ส่วนเหตุผลที่ทำให้ลิง ค่าง บ่าง ชะนี ละอง ละมั่ง ไปจนกระทั่งยีราฟ ฮิปโปฯ และอีกสารพัดน้องสัตว์ ต้องย้ายสำมะโนครัวออกไปไกลจากบ้านเดิมขนาดนั้นก็เป็นเพราะว่า พื้นที่บริเวณเขาดินทุกวันนี้มันแออัดเกินไป จนวิลล่าไฮโซได้กลายสถานะเป็น ‘สลัมบอมเบย์’ เรียบร้อยไปแล้วนั่นเอง
แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไรนัก เพราะแรกเริ่มเดิมที ‘เขาดิน’ ก็ไม่ใช่สวนสัตว์อยู่แล้ว จึงไม่น่าที่จะมีการเตรียมแผนการสำหรับรองรับทั้งปริมาณนักท่องเที่ยว และจำนวนสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้นไว้สักเท่าไหร่ แถมเดิมทีเขาดินนั้นยังเป็นเพียงพื้นที่ ‘สวน’ ส่วนหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ในเขตพระราชวังสวนดุสิตเดิม อันเป็นพระราชวังที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 ก็ยิ่งน่าจะทำให้มีข้อจำกัดในแง่ของการใช้พื้นที่อีกแหงแซะ
ว่ากันว่าครั้งหนึ่งหมอหลวงประจำพระองค์ในรัชกาลที่ 5 ได้กราบบังคมทูลว่า พระบรมมหาราชวัง (ก็ตรงบริเวณที่ติดอยู่กับวัดพระแก้วฯ นั่นแหละ) อันเป็นพระราชนิเวศน์ที่ประทับมาแต่เดิมนั้นปลูกสร้างไม่ถูกสุขลักษณะ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีตึกบังอยู่โดยรอบ จึงขวางทางลม และในฤดูร้อนจะมีอากาศร้อนจัด ซ้ำยังอับชื้น ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ทรงพระประชวรกันอยู่เสมอ
แน่นอนว่า ในบรรดาพระมหากษัตริย์ที่ทรงเคยประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และทรงพระประชวรด้วยเหตุดังกล่าว ย่อมหมายรวมถึงรัชกาลที่ 5 ด้วย จึงทำให้พระองค์ทรงวางเมกะโปรเจกต์ในการสร้างพระราชวังใหม่ให้ถูกสุขลักษณะ ซึ่งก็คือ ‘พระราชวังสวนดุสิต’ นี่เอง
พ.ศ. 2441 รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดระเนตรพื้นที่ ‘สวน’ และ ‘ทุ่งนา’ บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระบรมมหาราชวัง ซึ่งก็ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงคลองสามเสน ด้วยเงินพระคลังข้างที่ ซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แล้วพระราชทานชื่อตำบลแห่งนี้ว่า ‘สวนดุสิต’ พร้อมๆ กับที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพลับพลาขึ้นสำหรับใช้เป็นที่เสด็จประทับแรมชั่วคราว และให้เรียกที่ประทับแรมแห่งนี้ว่า ‘วังสวนดุสิต’
พระราชวังสวนดุสิตจึงถือกำเนิดขึ้นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการสร้างพระราชวัง ในที่ถูกสุขลักษณะ ตามหลักการแพทย์และสุขอนามัยแบบตะวันตกสมัยใหม่ ซึ่งต้องมีอากาศถ่ายเทสะดวก และโปร่งโล่งสบายนะครับ
และจึงไม่แปลกอะไรเลยที่นอกจากพระราชวังแห่งนี้จะมีคำว่า ‘สวน’ นำอยู่ข้างหน้าชื่อของสถานที่แล้ว ภายในเขตพระราชวังแห่งนี้จะมีสวนโน่นนั่นนี่อยู่เต็มไปหมด
แต่ก็ไม่ใช่ว่านึกจะสร้างสวน ก็สร้างกันอย่างตามมีตามเกิด ยิ่งเมื่อเป็นสวน หรืออุทยานภายในพระราชวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘สวน’ ของพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงมีภูมิประสบการณ์เสด็จเที่ยวชมสวน หรืออุทยานชั้นนำหลากหลายแห่งของโลก อย่างรัชกาลที่ 5 ด้วยแล้ว ก็เป็นที่รับประกันได้เลยว่า สวนที่ถูกจัดสร้างขึ้นในพระราชวังแห่งใหม่ของพระองค์ ก็ย่อมต้องไม่ธรรมดาแน่!
‘เขาดินวนา’ ก็เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไข และภูมิหลังอย่างนี้นี่แหละ การก่อสร้างพระราชวัง และสวนต่างๆ ภายในพระราชวังใหม่แห่งนี้ ทำให้ต้องมีการขุดสระน้ำขนาดใหญ่ขึ้นมาเก๋ๆ จะให้เก๋อย่างเดียวไม่พอ เพราะถ้าน้ำขังจนเน่าเหม็น กลิ่นโชยขึ้นมานี่ก็จะกลายเป็นเรื่องที่ไม่ชิคเอาแน่ๆ จึงต้องมีการขุดคูคลองระบายน้ำ (พร้อมๆ กับทำถนนไว้เป็นทางเดินเที่ยวกันชิลๆ ในสวนพวกนี้) แล้วนำดินที่ขุดทำสระน้ำคูคลองต่างๆ ขึ้นมาถมเป็นเนินเขาขึ้นที่กลางน้ำ จนเกิดเป็นเกาะกลางน้ำ
และก็เป็นเจ้าเกาะกลางน้ำที่ก่อขึ้นจากดินที่ถูกขุดขึ้นมานี่แหละครับ ที่คนในยุคโน้นเรียกกันว่า ‘เขาดิน’
ที่น่าสนใจก็คือ รัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เพาะปลูกพรรณไม้นานาชนิดขึ้น เพื่อทำเป็นสวนพฤกษชาติ ขึ้นในบริเวณเขาดินและปริมณฑลรายรอบ โดยเรียกว่า ‘วนา’ และทรงโปรดเรียกอาณาบริเวณนี้รวมๆ กันว่า ‘เขาดินวนา’ อย่างที่เราคุ้นหูกันในปัจจุบัน ดังนั้นไอ้ชื่อเรียกบ้านๆ เบๆ อย่าง สวนสัตว์เขาดินนั้น จึงพอจะกล้อมแกล้มเรียกได้ว่า เป็นชื่อที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานให้เรียกพื้นที่บริเวณนี้ มาตั้งแต่ยังไม่ได้ถูกใช้เป็นสวนสัตว์
แถมเมื่อแรกที่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้สร้างอะไรที่ทรงเรียกว่า ‘เขาดินวนา’ ขึ้นมานั้น ก็คงจะไม่ได้ทรงตั้งพระทัยไว้ให้เป็นสวนชิคๆ ชิลๆ เพียงเท่านั้น แต่คงจะทรงตั้งพระทัยที่จะให้เป็นรวบรวมพรรณไม้ ในลักษณะของการเป็น ‘สวนพฤกษชาติ’ (Botanic Garden) ตามเทรนด์ของโลกในยุคอาณานิคม ที่มักจะมีการรวบรวมพรรณไม้ต่างๆ มาปลูกเอาไว้เพื่อทำการศึกษาในเชิงธรรมชาติวิทยา พร้อมกับที่เป็นการสะสม ไม่ต่างอะไรกับที่เก็บของเก่าเข้าไปโชว์เอาไว้ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ เพื่อแสดงถึงอำนาจเหนือแหล่งพรรณไม้นั้น ซึ่งพระองค์ก็ทรงเคยเสด็จทอดพระเนตรกิจการของสวนพฤกษศาสตร์ชื่อดังของโลกยุคโน้น มาหลายแห่งเลยทีเดียว
คำว่า ‘วนา’ ที่แปลความตรงตัวได้ว่า ‘ป่า’ ที่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ห้อยเอาไว้ข้างท้ายคำว่า ‘เขาดิน’ นั้น จึงมีนัยยะสำคัญว่าเป็นสวนจำลองป่า โดยนำเอาพรรณไม้ต่างๆ มาเก็บรวบรวมไว้ในที่เดียวกัน
ซึ่งก็แน่นอนนะครับว่า เมื่อป่าจำลองแห่งนี้ตั้งอยู่ในพระราชวังแล้ว ใครที่ไหนจะมีสิทธิ์เข้าไปเที่ยวเล่น หรือนั่งปิกนิกกันเก๋ๆ อะไรในนั้นได้
ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรเลยที่ รัชกาลที่ 5 จะทรงปลูกต้นสักทองร่วมกับเจ้าชายวัลดิมา พระราชโอรสของพระเจ้าคริสเตียนที่ 8 แห่งเดนมาร์ก เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2443 เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างสยามกับเดนมาร์ก ขึ้นในบริเวณสวนพฤกษชาติส่วนพระองค์ที่เรียกว่า ‘เขาดินวนา’ นี่แหละ (ต้นสักทองอายุร้อยกว่าปีต้นนี้ ปัจจุบันยังสามารถชมดูได้ เพราะปลูกอยู่ที่บริเวณเขาน้ำตก ภายในสวนสัตว์ดุสิตปัจจุบัน)
และก็แน่นอนด้วยนะครับว่า ณ ขณะจิต ที่ทั้งสองพระองค์ทรงปลูกไม้สักทองต้นที่ว่า สยามก็กำลังอยู่ในช่วงที่กำลังเจรจาปักปันเขตแดน เพื่อให้ได้มาซึ่งดินแดน และแผนที่เขตแดนของตนที่ได้รับการยอมรับจากชาติมหาอำนาจอยู่อย่างหนักหน่วง
แต่ก็ไม่ใช้ว่าสวนพฤกษชาติอย่างเขาดินวนาจะเป็นของหลวง ที่มีเฉพาะคนชั้นสูงที่มีสิทธิ์เข้าไปเที่ยวชมเท่านั้น เพราะว่ารัชกาลที่ 7 เคยทรงมีพระราชดำริในการทำนุบำรุงเขาดินวนาให้ดี และกว้างขวางกว่าที่เคย แถมยังทรงเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจกันชิลๆ อีกด้วย แต่ก็ไม่ได้มีบันทึกเอาไว้ว่า มีผู้ไปใช้บริการแฮงค์เอาท์ในนั้นกันสักกี่คน หรือมีคนกลุ่มไหนบ้างที่จะเข้าไปชิลกันในนั้น?
อย่างไรก็ตาม ก็เป็นเพราะรัชกาลที่ 7 ทรงแผ้วถางทางเอาไว้นี่แหละครับ ที่จะทำให้ ‘เขาดิน’ ได้กลายสถานภาพมาเป็นสวนสัตว์ เพราะว่าหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กราบบังคมทูลของสวนดุสิต มาจัดทำเป็นสวนสาธารณะ เพื่อใช้ในการพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ซึ่งพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมัยนั้นก็ได้ลงนามพระราชทาน ในนามของรัชกาลที่ 8 ให้เทศบาลกรุงเทพมหานครรับเอาพื้นที่บริเวณ เขาดินวนา สนามเสือป่า และสวนอัมพร มาจัดเป็นสวนสาธารณะได้
และเมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาติแล้ว ทางเทศบาลกรุงเทพมหานครจึงได้ทำการย้ายกวางดาว และสัตว์ชนิดต่างๆ มาจากสวนอัมพร ลิง และจระเข้ มาจากสวนสราญรมย์ เพื่อมาจัดแสดงที่เขาดินวนา พร้อมกันกับที่ขอให้ทางสำนักพระราชวังจัดส่งช้างหลวงมาให้ประชาชนได้ชมกันในทุกวันอาทิตย์ จนกระทั่งมีการเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เที่ยวชม และพักผ่อนหย่อนใจโดยสมบูรณ์ ภายใต้ชื่อ ‘สวนสัตว์ดุสิต’ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2481 หรือเมื่อเฉียดๆ 80 ปีที่แล้ว เป็นครั้งแรก จนนับได้ว่าเป็นสวนสัตว์แห่งแรกของประเทศไทย (จอมพล ป. ดำรงนายกรัฐมนตรีสมัยแรกเมื่อ วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 แต่ว่าในสมัยนั้นยังนับวันขึ้นปีใหม่ว่าตรงกับวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี ดังนั้นการเปิดให้บริการสวนสัตว์ดุสิต จึงเกิดขึ้นหลังการก้าวขึ้นเป็นท่านผู้นำประเทศของจอมพล ป.)
เอาเข้าจริงแล้ว ถึงเขาดินจะเป็นสวนสัตว์แห่งแรกของประเทศไทย (ก็เก่าขนาดยังใช้ชื่อประเทศสยาม) แต่ก็เป็นสวนพฤกษชาติแห่งแรกของสยามมาก่อน แถมแต่แรกเริ่มนั้นยังเป็นสวนพฤกษชาติในรั้วในวัง ที่คนทั่วไปไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะคิดฝันว่าจะได้เข้าไปเที่ยวชมเสียด้วยซ้ำไปนะครับ
ถ้าวันหนึ่งสวนสัตว์แห่งนี้จะต้องถูกโยกไปไว้ที่อื่น ก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่ต้องฟูมฟายแต่อย่างใด อย่างน้อยก็ช่วยให้พวกลิง ค่าง บ่าง ชะนี ละอง ละมั่ง ไปจนกระทั่งยีราฟ ฮิปโปฯ และอีกสารพัดน้องสัตว์ทั้งหลายเขาไปอยู่สบายๆ ในที่ที่ไม่แออัดอย่างกับเป็นสลัมบอมเบย์นั่นแหละน่า