กว่า 300 ปีก่อน นับตั้งแต่ Adam Smith เขียนหนังสือชื่อ The Wealth of Nations ‘เศรษฐศาสตร์’ ก็ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านการวิพากษ์วิจารณ์ มาอย่างโชกโชน จนในปัจจุบันที่เราต่างเข้าใจว่าเศรษฐศาสตร์ คือ วิชาที่ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในบทความนี้ เราจะไม่หาคำตอบว่าจัดสรรอย่างไร ทรัพยากรที่ว่าคืออะไร ทำไมจึงมีจำกัด และทำไมต้องเกิดประโยชน์สูงสุด แต่เราจะชวนคุยถึงปัญหาของวิชาเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์แถวหน้าของโลกหลายคน อาทิ Dani Rodrik (Harvard University) Suresh Naidu (Columbia University) และ Gabriel Zucman (University of California, Berkeley) ร่วมกันก่อตั้ง Economics for Inclusive Prosperity (EfIP) ซึ่งเป็นเครือข่ายนักเศรษฐศาสตร์ที่ต้องการปฏิวัติวิชาเศรษฐศาสตร์ให้มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาเศรษฐกิจและสังคมมากยิ่งขึ้น โดยเครือข่ายดังกล่าวจะทำการเผยแพร่แนวคิด/ข้อเสนอแนะทางด้านนโยบาย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้วางนโยบาย นักเศรษฐศาสตร์คนอื่นที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก เช่น Daron Acemoglu (ผู้เขียนหนังสือ Why Nations Fail) David Autor (นักเศรษฐศาสตร์แรงงานที่ MIT) และ Ilyana Kuziemko (นักเศรษฐศาสตร์ด้านความเหลื่อมล้ำที่ Princeton University)
จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งเครือข่ายนักเศรษฐศาสตร์ในครั้งนี้ คือความกังวลว่า ทฤษฎีและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ได้จากแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน ไม่สามารถใช้อธิบายและใช้เป็นกรอบเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญได้ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และทรัพย์สิน ระบบสวัสดิการที่ไม่ครอบคลุมและทั่วถึง ค่าจ้างแรงงานปรับขึ้นช้ากว่าค่าครองชีพ การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่อาจส่งผลกระทบตลาดแรงงาน รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้จึงเชิญชวนให้ ‘นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์’ ร่วมแสดงจุดยืนและข้อคิดเห็นต่อปัญหาสังคมในประเด็นหลากหลาย เช่น ตลาดแรงงาน การค้าระหว่างประเทศ การเงินและการธนาคาร และการคลังสาธารณะ เป็นต้น
คำถามก็คือว่า แล้วแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันเป็นอย่างไร?
และทำไมจึงเป็นปัญหา?
แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันมีชื่อว่า ‘Neoliberalism’ (แปลเป็นไทยเก๋ ๆ แต่เข้าใจยากว่า ‘เสรีนิยมใหม่’ —วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร อธิบายว่า อะไรเสรี? นิยมอะไร? และอะไรใหม่?) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับบทบาทของตลาด (market) มากกว่ารัฐ (government) โดยมีศัพท์ภาษาอังกฤษอีกหนึ่งคำที่สะท้อนความหมายได้ดี คือ คำว่า ‘Market Fetishism’แปลเป็นไทยก็คง ‘บทบาทของตลาดยืนหนึ่ง’ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวถูกพัฒนาในช่วงทศวรรษ 1980s-1990s เป็นช่วงที่ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์เป็นนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร และโรนัลด์ เรแกน เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม ต้นตอของแนวคิดดังกล่าวสามารถย้อนไปได้ไกลถึง Mont Pelerin Society ซึ่งร่วมก่อตั้งโดยนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของโลกอย่าง Friedrich Hayek (นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรีย เจ้าของรางวัลโนเบล ปี ค.ศ. 1974) และ Milton Friedman (นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล ปี ค.ศ. 1976) โดยMPS เป็นกลุ่มของนักคิด (ทั้งนักเศรษฐศาสตร์ นักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ รวมไปถึงนักธุรกิจ) ที่รัก ‘ตลาด’และชัง ‘การแทรกแซงของรัฐ’
ตัวอย่างแนวคิดหรือนโยบายที่เป็นมรดกของ Neoliberalism เช่น การผ่อนปรนกฎ/กติกา (Deregulation) ธนาภิวัตน์ (Financialization) การยกเลิกรัฐสวัสดิการ (welfare state) การลดความสำคัญของสหภาพแรงงาน การลดภาษีให้กับภาคธุรกิจ รวมไปถึงกระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization) นอกจากนั้น Neoliberalism ยังมองว่า ความเหลื่อมล้ำนั้นดีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะกระจายไปยังคนอื่นๆ (นอกจากเจ้าสัว) ในภายหลัง ระบบตลาดจะทำให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
แนวคิดการลดความเหลื่อมล้ำจึงถูกมองว่า
เป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนา
ในปัจจุบัน แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์แบบเสรีนิยมใหม่ จึงเป็นคำพ้อง หรือ synonym ของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก (mainstream economics) นักเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันจึงมุ่งศึกษา ‘ตลาด’ และมีความภาคภูมิใจ (ที่เกินเหตุ) ว่าตลาด คือ เครื่องมือที่ดีที่สุดในการจัดสรรทรัพยากร เราคงจะคุ้นชินกับคำพูดที่ว่า “ดีมานด์เท่ากับซัพพลาย ตลาดเข้าสู่จุดดุลยภาพ ไม่มีของเหลือในตลาด” นอกจากนั้น ‘หลักความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ’ (comparative advantage) ยังถูกนำมาอธิบายรูปแบบและทิศทางการค้าระหว่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ เหนือสิ่งอื่นใด พวกเขาคิดว่า ‘คน’ มีเหตุผลและตอบสนองต่อแรงจูงใจเสมอ
แม้ว่าเศรษฐศาสตร์จะถูกเรียกว่า ‘Dismal Science’ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนก็ยังไม่ละความพยายามที่จะทำให้ ‘เศรษฐศาสตร์’ กลายเป็น ‘วิทยาศาสตร์’ ผ่านการวิเคราะห์เชิงปริมาณ (เช่น Econometrics และ Computable General Equilibrium Model) รวมถึงทฤษฎีที่เขียนโดยสูตรคณิตศาสตร์อันซับซ้อนซ่อนเงื่อน(ที่ไม่รู้ว่ากลับมาดูอีกครั้ง จะยังจำได้หรือเปล่าว่าคืออะไร) ซึ่งทำให้พวกเขาหลงลืมไปว่า เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ข้องเกี่ยวกับคน และคนไม่ใช่หิน การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ การหาคำตอบว่า ‘ทำไม’ นอกจาก ‘ผลกระทบคืออะไร’ จึงมีความสำคัญไม่แพ้กัน
นักเศรษฐศาสตร์ยังชอบใช้แบบจำลองในการอธิบายปัญหา ซึ่งแม้จะย่อยเรื่องซับซ้อนให้เข้าใจง่ายขึ้น แต่ภาพที่ได้กลับ ‘ตื้นเขิน’ นอกจากนั้น ข้อแนะนำที่ได้จากแบบจำลองหรือการศึกษา อยู่ภายใต้แนวคิด First-best solution (เหมือนปวดหัว แล้วต้องกินพารา) แต่หลงลืมทางเลือกอื่นๆ (Second-best solution) ที่สังคมควรจะหันไปพึ่งพาหากตัวเลือกแรก ‘แพงเกินไป’หรือ ‘ไม่เหมาะสม’ กับบริบทของสังคม
นอกจากนั้น ผลกระทบทางอ้อม (Externality) ที่ตามมาจาก First-best solution ก็ยังไม่ถูกวิเคราะห์อย่างกว้างขวาง ยกตัวอย่างเช่น งานศึกษาจากนักเศรษฐศาสตร์ด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจบอกว่าให้ประเทศ A ส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพราะจะช่วยให้เกิดผลิตภาพในการผลิตเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้คิดถึงผลกระทบต่อตลาดแรงงาน นักเศรษฐศาสตร์การค้าระหว่างประเทศศึกษาแนะนำให้ลดภาษีนำเข้าโดยไม่ได้คำนึงถึงการล้มหายตายจากอุตสาหกรรมในประเทศ นักเศรษฐศาสตร์การเงินเขียนกฎระเบียบเพื่อให้แน่ใจว่าธนาคารจะอยู่รอดโดยไม่ได้คำนึงถึงวงจรทางเศรษฐกิจมหภาค
ดังนั้นนักเศรษฐศาสตร์จึงขาดการมองประเด็นปัญหา
ให้ครอบคลุมไปถึงบริบทอื่นๆ ของสังคม
ทั้งนี้ การให้ความสำคัญของ ‘ตลาด’ ที่มากเกินไป ทำให้เมื่อนักเศรษฐศาสตร์เห็นสิ่งผิดปกติในตลาด (Market failure) เช่น เห็นว่าปริมาณของวัคซีนมีน้อยเกินไป หรือ เห็นว่าการจราจรสาหัสเหลือเกิน เป็นต้น พวกเขากลับคิดว่าการแก้ไขปัญหาโดยการแทรกแซงของรัฐ เช่น การช่วยอุดหนุนราคาวัคซีน หรือ การจัดทำ Electronic Road Pricing จะยิ่งทำให้ทุกอย่างแย่ลง เพราะมันขัดกับแนวคิด ‘ตลาดยืนหนึ่ง’ และทำให้ไม่มีใครเชื่อถือ ‘เศรษฐศาสตร์’ อีกต่อไป
แต่เมื่อย้อนมาดูว่า เศรษฐศาสตร์ถูกสอนอย่างไรในปัจจุบัน ก็พบว่า ‘ตลาด’ ไม่ได้ถูกสอนให้เป็นสิ่งสวยงามที่สุด ในวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาค ความล้มเหลวของตลาด (market failure) และวิธีการแก้ไข (เช่น ภาษี และการอุดหนุน เป็นต้น) มีเนื้อหาที่มากกว่าตลาดแข่งขันสมบูรณ์ ในวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค เรามักเรียนแนวทางการแก้ปัญหาการว่างงาน เงินเฟ้อ และเสถียรภาพทางการเงิน มากกว่าแบบจำลองสำนักคลาสสิกที่คิดว่าตลาดจะจัดการตัวมันเอง (self-adjusting)
ในวิชาการเงินและการธนาคาร เรามักเรียนรู้วิกฤตการณ์ทางการเงิน การประกันความเสี่ยง มากกว่าแค่อัตราดอกเบี้ยดุลยภาพ ดังนั้น เราจะเห็นว่า นอกเหนือจาก ECON 101แล้ว นักเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ในชั้นปีอื่นๆ ต่างก็ต้องเรียนรู้ความไม่สมบูรณ์และการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของตลาดด้วยกันทั้งสิ้น
แล้วเหตุใดนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมใหม่
จึงยังทำตัวเสมือนว่าได้เรียนเพียงแค่ ECON 101 อยู่?
ในระยะหลัง เศรษฐศาสตร์ได้ผสมผสานกับสาขาวิชาอื่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิชาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (behavioral economics) ที่ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ไม่ใช่มนุษย์เศรษฐศาสตร์ (Homo Economicus) ที่คิดและตัดสินใจได้ดีและมีเหตุผลเสมอ หรือการศึกษา ‘การกระจาย’ (distribution) เช่น การกระจุกตัวของทรัพย์สิน และการเคลื่อนไหวทางสังคมอันเนื่องมาจากความปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้เราเริ่มเห็นปัญหาของ ‘ตลาด’ และไม่เชื่อว่ามันคือทางสู่นิพพานเสมอไป
งานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์คงยังเปลี่ยนไปอย่างมากในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเน้นการประยุกต์และศึกษาเชิงประจักษ์มากขึ้น มีคำพูดหนึ่งของ Alan Krueger (นักเศรษฐศาสตร์ที่ Princeton University ที่เพิ่งเสียชีวิตเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา) คือ “The idea of turning economics into a true empirical science, where theories can be rejected, is a BIG, revolutionary idea” การศึกษาเชิงประจักษ์ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญและท้าทาย เพราะผลการศึกษาอาจจะแตกต่างจากข้อสันนิษฐานที่ได้จากทฤษฎี โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานในสาขาเศรษฐศาสตร์แรงงาน เศรษฐศาสตร์การพัฒนา การคลังสาธารณะ และเศรษฐศาสตร์มหภาค ยกตัวอย่างเช่น การค้นพบว่าการเปิดเสรีการค้าชะลอการลดความยากจน ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ลดการจ้างงาน รวมไปถึงการเปิดเสรีทางการเงินเป็นต้นตอของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจแทนที่จะให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
จุดดุลยภาพที่นักเศรษฐศาสตร์ค้นพบเมื่อวาดเส้นอุปสงค์และอุปทานไม่ได้สะท้อนปัจจัยทางด้านสังคมและสถาบัน ทำให้มีความจำเป็น (prerequisite) ที่จะทำให้ดุลยภาพนั้นเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ค่าจ้างแรงงานจะปรับตัวลดลงได้อย่างไรหากความต้องการแรงงานลดลงเพราะมีกฎหมายแรงงานขั้นต่ำคุ้มครองอยู่ หรือ การลงนามความตกลงการค้าเสรีจะทำให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้ก็ต่อเมื่อการคุ้มครองสิทธิของทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Rights) มีความชัดเจน ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามต่อ Status quo ของตลาด เมื่อ ‘Laissez-faire’ ไม่ได้บอกเราว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะส่งผลไปยังคนจนหรือเปล่า หรือการค้าระหว่างประเทศจะยั่งยืนหรือไม่ เราจึงต้องการนโยบายและสถาบันที่ทำให้เรามั่นใจได้ว่า เราไม่ได้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นักเศรษฐศาสตร์จึงมีหน้าที่ร่วมออกแบบและปฏิรูปวิชาเศรษฐศาสตร์
จากสัญญาณของนักเศรษฐศาสตร์แถวหน้าของโลก
ทำให้เราต้องกลับมาคิดว่า แล้วนักเศรษฐศาสตร์ไทย
รวมไปถึงการเรียนการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทย
ควรจะเดินไปในทิศทางไหน
ในช่วงที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์ไทยไม่ค่อยออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่าง ๆ เฉกเช่นที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะทัศนคติ “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” หรือไม่ก็อาจกำลังวุ่นกับการแก้ไขบทความวิจัยที่ต้องใช้ในการขอตำแหน่งทางวิชาการ ลองคิดถึงกรณีของ ‘บัตรคนจน’ ‘ภาษีของเค็ม’ ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษ’ ‘เหลื่อมล้ำอันดับ 1ของโลก’ หรือแม้กระทั่ง ‘ฝุ่น PM 2.5’ เหตุใดจึงมีแค่นักเศรษฐศาสตร์ไทยไม่กี่ราย เป็นคนหน้าเดิมๆ หรือเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่อยู่ในสถาบันหรือมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ที่ออกมาวิจารณ์หรือให้แง่คิดกับสังคมได้ขบคิด
ทำไมเราจึงไม่ค่อยเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานที่ภาคเหนือ ออกมาวิพากษ์ให้ถึงแก่นถึงปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือที่มีทุกปี ทำไมเราจึงไม่เห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานที่ภาคใต้ออกมาสะท้อนปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ ทำไมเราจึงไม่เห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานในภาคอีสานออกมาพูดถึงปัญหาความยากจนและเหลื่อมล้ำของคนในพื้นที่ นั่นสิ…ทำไม?
เมื่อนักเศรษฐศาสตร์ไทย ไม่ออกมาโชว์ของ หรือโชว์แต่ในที่มืด (ที่ต้องเสียเงินในการอ่าน!) เด็กวัย 18 ปีที่กำลังตัดสินใจเลือกคณะเพื่อเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยจึงไม่รู้ว่า “เรียนเศรษฐศาสตร์ไปเพื่ออะไร” เมื่อไปถามพ่อ-แม่ ก็คิดไปเองว่า เศรษฐศาสตร์ก็คือ ‘ข่าวเศรษฐกิจ’ เมื่อเปิดทีวีไปก็เจอแต่หุ้น จึงคิดไปว่าเศรษฐศาสตร์คงเรียนเกี่ยวกับหุ้นและบิตคอยน์ ซึ่งส่งผลให้คนทั่วไปรู้จักเศรษฐศาสตร์ในมุมมองที่แคบลง
หรือบางคนอาจมีความคิดว่า เรียนเศรษฐศาสตร์นั้นยาก ใช้คณิตศาสตร์เยอะ ขีดเส้นยังไม่ตรงเลยจะให้มาวาด IS-LM ได้อย่างไร จึงทำให้ในช่วงหลัง ยอดนักศึกษาที่เลือกมาเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ลดน้อยลง ทำให้มหาวิทยาลัยบางแห่งเริ่มไม่แน่ใจว่า ควรจะมีคณะเศรษฐศาสตร์ต่อไปหรือไม่ แม้ปากจะบอกว่า เศรษฐศาสตร์นั้นสำคัญ แต่ในเมื่อมันไม่ทำเงินให้มหาวิทยาลัย คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารว่าจะอยู่…หรือไป (เสียงคำราม “พี่จะอยู่” ของมาช่า วัฒนพานิช ในรายการ The Face ลอยมาแต่ไกล)
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ (หรือนักเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์) จะต้องรู้จักตลาดหุ้น ตลาดทุน อัตราดอกเบี้ย นโยบายการเงิน-การคลัง เป็นอย่างดี นักเศรษฐศาสตร์หัวกะทิก็ไม่จำเป็นที่จะต้องนั่งหัวชนกันในธนาคารแห่งประเทศไทย มองวิวแม่น้ำเจ้าพระยา หรือทำงานในกระทรวงการคลังเสมอไป ความสนใจของนักเศรษฐศาสตร์กว้างกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็น การค้าชายแดน ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ สุขภาพ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อาชญากรรม การแจกมุ้งเพื่อป้องกันไข้มาลาเรีย โสเภณี ร็อคสตาร์ ปัญหาโลกร้อน พลังงานทดแทน นโยบายอุตสาหกรรม รวมไปถึงเรื่องจิปาถะทั้งหลายรอบตัว เราจึงควรเลิกตื่นเต้นเมื่อรู้ว่าเพื่อนไปฝึกงานที่แบงค์ชาติ หรือได้ทำงานที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เพราะมันไม่ได้มีความหมายอะไรพิเศษมากไปกว่าความสนใจเรื่องเงินๆ ทองๆ
ประเด็นเพิ่มเติมที่คนในแวดวงเศรษฐศาสตร์ต้องมีการขบคิดก็คือ
1) คุณค่าของนักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้วัดกันที่รางวัลโนเบล
และ 2) ความสำคัญของผู้หญิงในแวดวงวิชาการ
สำหรับประเด็นแรก รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ (ชื่อเต็ม คือ Sveriges Riksbank Prize in Economic Sciences in Memory of Alfred Nobel) เริ่มให้ในปี ค.ศ. 1969ผู้ที่ได้รับคือ Ragnar Frisch และ Jan Tinbergenแม้รางวัลโนเบลจะให้แก่ผู้ที่มีผลงานวิจัยหรือมีความเชี่ยวชาญที่โดดเด่นและสร้างคุณูปการต่อมนุษยชาติ แต่ไม่ได้หมายความว่า นักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ได้รางวัลโนเบลจะไม่เก่ง หรือ ไม่มีประโยชน์ต่อแวดวงเศรษฐศาสตร์ ลองนึกถึง Joan Robinson และ Piero Sraffa (นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Cambridge ที่เป็นคู่ถกเถียงกับ Paul Samuelsonและ Robert Solow ที่รู้จักกันในชื่อ Cambridge Capital Controversy), Albert Hirschman (เจ้าของแนวคิด Unbalanced growth theory และผู้แต่งหนังสือ The Strategy of Economic Development (1958) รวมไปถึง Jagdish Bhagwati (นักเศรษฐศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ เจ้าของหนังสือขายดีอย่าง In Defense of Globalization) ก็ยังไม่ได้รับรางวัลโนเบลเช่นกัน
สืบเนื่องจากข้อแรก นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1969 มีเพียงนักเศรษฐศาสตร์สตรีคนเดียวที่ได้รับรางวัลโนเบล นั่นก็คือ Elinor Ostrom (เธอได้รับหลังจากรางวัลนี้มอบให้นักเศรษฐศาสตร์เพศชายไปแล้วกว่า40คน) ซึ่งทำให้เกิดปัญหา underrepresentation ของผู้หญิงในวงการเศรษฐศาสตร์ กรณีที่เพิ่งเกิดขึ้น คือ หนังสือแนะนำ Summer Books of 2018: Economicsโดย Martin Wolf บรรณาธิการที่ Financial Times ซึ่ง 12 ใน 13 นักเขียนเป็นเพศชาย ซึ่งทำให้เกิดปัญหาอคติในงานเขียน อีกปัญหาคือกรณีที่ Oxfamได้สรุป 10 นักคิดทางด้านการพัฒนา ซึ่งปรากฏว่า มีผู้หญิงอยู่ในรายชื่อเพียงแค่คนเดียว นั่นก็คือ Esther Duflo ทำให้เกิดเป็นแฮชแท็ก #sausagefest และ #manel (จากการที่ผู้ร่วมสัมมนา (Panelist) เป็นผู้ชายทั้งหมด) ซึ่งมี Alice Evans อาจารย์ที่ Department of International Development, King’s College London เป็นผู้เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ ย้อนกลับมาดูที่งานสัมมนาทางด้านเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทย ก็พบว่า ประเด็นเรื่อง underpresentation ของผู้หญิงจะเป็นปัญหาอยู่ไม่น้อย ตัวอย่าง (1) และ (2)
ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้วที่วิชาเศรษฐศาสตร์ในสมัยนั้นไม่อาจแก้ไขสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (The Great Depression) ได้ John Maynard Keynes จึงได้เขียน The General Theory of Employment, Interest and Money อันเป็นรากฐานของวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค เมื่อถอดบทเรียนจากการมองปัญหาและกลับมาทบทวนสาขาวิชาในปัจจุบัน สภาพสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงอันเนื่องมาจากคนที่ไม่สามารถแข่งขันได้ในระบบตลาด ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศที่พัฒนาแล้ว วิชาเศรษฐศาสตร์จึงถูกท้าทายอีกครั้งหนึ่ง คำถามสำคัญก็คือ แล้วนักเศรษฐศาสตร์ไทย รวมถึงการเรียนการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ไทยจะปรับตัวอย่างไร