กลายเป็นดราม่าใหญ่โต เมื่อคุณบรรยง พงษ์พานิช ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สินมากที่สุดในโลก โดยอ้างข้อมูลที่จัดทำโดย Credit Suisse เกิดเป็นที่วิพากย์วิจารณ์ของสังคมจนสภาพัฒน์ รวมถึงนักวิชาการต้องออกโรงมาชี้แจงแถลงไข แต่ผ่านไปไม่นานก็ดูเหมือนว่า ดราม่าดังกล่าวจะมลายหายไปจากสื่อ คล้ายว่าเรื่องดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ที่ผ่านมา มีนักวิชาการของไทยหลายคน เช่น ธนสักก์ เจนมานะ ใน 101, อิสร์กุล อุณหเกตุ ใน The Momentum, อารยะ ปรีชาเมตตา ในกรุงเทพธุรกิจ, และผาสุก พงษ์ไพจิตร ในกรุงเทพธุรกิจ ได้พยายามอธิบายปรากฏการณ์ความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย ซึ่งนับเป็นเรื่องดีไม่น้อยเพราะช่วยทำให้สังคมเข้าใจความเหลื่อมล้ำมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของความเหลื่อมล้ำไม่ได้หยุดอยู่ที่การดูตัวเลขสถิติ (เช่น Gini coefficient, Thiel index, Palma Index) ผมมักจะมี 2 คำถามต่อประเด็นความเหลื่อมล้ำ 1) ในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการลดความเหลื่อมล้ำ (เช่น หลายประเทศในลาตินอเมริกา) เขาทำกันได้อย่างไร และ 2) ความเหลื่อมล้ำส่งผลอะไรกับคนทั่วไปบ้าง สำหรับคำถามแรก นักวิชาการเขียนวิพากษ์ออกมาค่อนข้างเยอะแล้ว ทั้งนี้ อาจจจะไม่มีใครหรือบทความไหนออกมาพูดถึงประเด็นที่สองมากนัก จึงทำให้เรายังสงสัยกันอยู่ว่า “เหลื่อมล้ำแล้วยังไง”
เราอาจจะแบ่งความเหลื่อมล้ำออกเป็น 2 ประเภท คือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ (Global inequality) และความเหลื่อมล้ำประจำชาติ (Within inequality)
ความเหลื่อมล้ำประเภทแรกเป็นการดูรายได้ของคนทั้งโลกโดยไม่สนใจเชื้อชาติ ขณะที่ความเหลื่อมล้ำประจำชาติ เราก็ดูการกระจายรายได้เฉพาะของคนในประเทศ ซึ่งนักวิชาการก็ยังไม่มีข้อสรุปว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำนั้นเพิ่มหรือลดกันแน่ แต่เสียงส่วนใหญ่ไปในทางที่ว่า ‘ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ’ ลดลงเนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและอินเดีย (คนจนลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในจีน) ขณะที่ความเหลื่อมล้ำในประเทศกลับเพิ่มขึ้น ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา และประเทศกำลังพัฒนา โดยสาเหตุหลักที่มักถูกหยิบยกมาอธิบาย คือ การค้าระหว่างประเทศ ภายใต้รูปแบบของโลกาภิวัตน์ (Economic globalization) ในปัจจุบัน สินค้าอุตสาหกรรมส่วนมากถูกผลิตในประเทศกำลังพัฒนา เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ คนจนในประเทศกำลังพัฒนาลดลง ในขณะเดียวกัน แรงงานไร้ฝีมือในประเทศที่พัฒนาแล้วก็อาจจะตกงาน เพราะบริษัทใหญ่ ๆ ไปตั้งโรงงานในประเทศอื่นที่ต้นทุนถูกกว่า เหลือไว้เพียงงานที่ใช้ทักษะสูง ๆ เงินเดือนสูง ๆ ความเหลื่อมล้ำในประเทศร่ำรวยจึงเพิ่มขึ้น แต่การค้าระหว่างประเทศก็เป็นเพียงสาเหตุส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำ เพราะระบบภาษีและค่าจ้างขั้นต่ำก็มีส่วนช่วย (หรืออาจทำลาย) การกระจายรายได้สู่คนจนเช่นกัน (Baldwin, 2016; Bourguignon, 201; Ferreira, 2018; Milnovic, 2016)
มีคำถามหนึ่งที่น่าสนใจ คือ หากเศรษฐกิจดีขึ้นและ(สมมติว่า)ทุกคนมีรายได้ที่มากขึ้น จับจ่ายคล่องขึ้น ทำไมเราต้องไปสนใจด้วยว่าบางคนรวยล้นฟ้าเหลือเกิน คนรวยทำงานหนัก แบกรับความเสี่ยงจากการลงทุน ก็สมควรแล้วมิใช่หรือที่จะรวยกว่าคนอื่น (หรือบางคนถามสงสัยว่า ได้บัตรคนจนไปแล้วยังจะบ่นอะไรอีก?) ผมมี 4 ประเด็นด้วยกัน ที่พยายามจะตอบคำถามว่า…เหลื่อมล้ำแล้วยังไง
ประการแรก ความเหลื่อมล้ำส่งผลอย่างไรต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์สนใจความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาอย่างยาวนานย้อนกลับไปตั้งแต่สมัย Ricardo จนกระทั่งถึง Arthur Lewis (นักเศรษฐศาสตร์ผิวสีคนแรกและคนเดียวที่ได้รับรางวัลโนเบล) ประเด็นของความเหลื่อมล้ำซ่อนอยู่ในเรื่องของ ‘กำไร’ บริษัทจำเป็นที่จะต้องนำกำไรไปลงทุนต่อ และการลงทุนต่อเนี่ยแหละคือที่มาของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงจำเป็นที่ คนบางกลุ่มต้อง ‘รวย’ มากพอที่จะออมและลงทุน ถ้ามองในแง่นี้ ความเหลื่อมล้ำถือเป็นเรื่องดีเพราะช่วยให้เศรษฐกิจโต
ถึงอย่างนั้น การเติบโตจะไม่เกิดขึ้นเลยหากคนรวยเหล่านี้ไม่ได้นำกำไรที่ได้ไปลงทุนต่อ แต่กลับไปซื้อเรือยอร์ชเพื่อขับเล่นในพัทยา ซื้อคอนโดหรูที่หัวหิน หรือนำไปซื้อหุ้นคืน (share buyback) เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งสูงสุดให้ผู้ถือหุ้น (maximisation of shareholder value) ซึ่งประเด็นดังกล่าวถูกวิพากย์โดย Mariana Mazzucato ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำย่ำแย่ลง เพราะกิจกรรมดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้เกิดการผลิตที่แท้จริง และไม่สนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน ดังนั้น เมื่อประเทศมีความเหลื่อมล้ำ เราจีงมีความหวังริบหรี่ว่ามันจะช่วยให้การกระจายรายได้ดีขึ้น (นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนายังไม่มีคำตอบแน่ชัดจากการศึกษาเชิงประจักษ์ว่าความเหลื่อมล้ำดีหรือแย่ต่อเศรษฐกิจกันแน่)
ประการที่สอง เราต้องทำความเข้าใจว่า ความเหลื่อมล้ำคือความยากจนโดยเปรียบเทียบ (relative poverty) สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นสังคมที่มีคนจนเยอะเสมอไป แต่เมื่อใดก็ตามที่เรามีความเหลื่อมล้ำ ปัญหานี้จะถูกส่งต่อรุ่นสู่รุ่น จากรุ่นพ่อ-แม่ สู่รุ่นลูก และรุ่นหลาน ถ้าเราไปถามคนจน เราก็มักจะพบว่าบรรพบุรุษเป็นคนจน
ลองนึกภาพสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำมากๆ หากพ่อแม่มีฐานะยากจน ไม่มีเงินส่งเสียให้ลูกเข้าชั้นเรียนได้เหมือนเด็กคนอื่น ไม่มีแม้แต่มรดกหรือทรัพย์สิน เด็กเหล่านี้ก็ต้องทำงานตั้งแต่เล็ก เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีความรู้ที่เหมาะสมและขาดทักษะในการทำงาน ต้องทำงานที่ใช้แรงกายซึ่งค่าจ้างก็น้อยกว่างานอื่นๆ นอกจากนั้น ต้องทำงานหนักและยาวนานกว่าคนอื่น สุขภาพไม่ดี และยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องของการคุมกำเนิดแและสุขอนามัยอื่น ๆ เมื่อมีลูก ลูกก็สุขภาพแย่เพราะแม่ไม่แข็งแรง ได้รับโภชนาการไม่เหมาะสม เกิดเป็นทารกยากจน ซึ่งหากรัฐบาลไม่ช่วยเหลือเยียวยา หรือนโยบายเข้าไม่ถึงคนกลุ่มนี้ พวกเขาก็จะสืบทอด ‘มรดกความจน’ ต่อไปเรื่อยๆ ขณะที่บางครอบครัว…เกิดมา ลูกก็มีเงินแสนเงินล้านไว้ในบัญชีตั้งแต่คลานไม่ได้
ประการที่สาม ความเหลื่อมล้ำยังมีมิติของการเมืองเข้ามาด้วย เจ้าสัวทั้งหลายมักจะมีบทบาทสำคัญต่อการเมือง อาจมาในรูปของการสนับสนุนพรรคการเมือง (โต๊ะจีนระดมทุน) หรือการนั่งเป็นบอร์ด เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ พูดเสียงดังฟังชัดในสมาคม-หน่วยงานต่างๆ ใช้ทุนของตัวเองเพื่อต่อรองนโยบายเศรษฐกิจให้เป็นไปตามที่ใจต้องการ แทนที่ทรัพยากรของประเทศจะถูกใช้ในโครงการที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับ ‘สภาพ’ ของเศรษฐกิจและสังคม กลับต้องถูกใช้ไปอย่างไม่ชาญฉลาด คนรวยแล้วก็รวยยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนคนที่จนก็จนต่อไป
ประการที่สี่ ความเหลื่อมล้ำเกี่ยวข้องกับความเครียดและการแสดงออกของคน นักเศรษฐศาสตร์นาม Albert Hirschman ได้เสนอทฤษฏีเมื่อกว่า 40 ปีก่อนว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจมีการเติบโต สังคมมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เพราะคนรวยมีโอกาสมากกว่า ฉกฉวยประโยชน์ได้ก่อนใครเพื่อน (ตามแนวคิดของ Simon Kuznets) ในช่วงแรก คนทั่วไปสามารถ ‘อดทน’ กับความเหลื่อมล้ำได้ เพราะเขาเชื่อและหวังว่า สักวันหนึ่งเขาต้องรวยขึ้นบ้าง แต่หากนับแกะ 100 ตัวก็แล้ว 1,000 ตัวก็แล้ว ชีวิตของเขายังไม่ดีขึ้น ยังจนเหมือนเดิม คนกลุ่มนี้ก็จะเลิกโลกสวยและแสดงอาการไม่พอใจออกมา เช่น การออกมาเดินประท้วงหรือแสดงออกให้รัฐบาลรับรู้ว่า พวกเขาไม่โอเคกับสภาพ ‘รวยกระจุก-จนกระจาย’ แบบนี้
ถามว่า แล้วกับสังคมไทยเป็นไปตามนี้ไหม
ถ้าลองไปดูตามคอมเมนต์ในเฟซบุ๊กเรื่องความเหลื่อมล้ำ เราจะเห็น hate speech มากมาย มีทั้งแนว ‘เกลียดคนรวย’ ‘ตัดพ้อชีวิต’ ‘มีรัฐบาลไปทำไม’ รวมไปถึง ‘อยากเลือกตั้ง’ หรือบางคนกล่าวว่า คนชั้นกลางคือคนที่น่าสงสารที่สุด เพราะนอกจากจะต้องเสียภาษีโดยไม่มีที่จะลดหย่อนแล้ว ยังต้องมารับรู้ว่าตัวเขาเองไม่ได้อะไรเลยจากนโยบายเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งมัน…ก็ไม่ได้เกินจริงเลย
สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นการแสดงออก (เท่าที่แสดงได้) ภายใต้รัฐบาลทหาร ลองคิดภาพว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากเราอยู่ในสภาวะปกติ เราคงได้เห็นการเดินขบวนอย่างกลุ่ม Occupy movement ที่เป็นการแสดงออกของประชาชนต่อความเหลื่อมล้ำที่กระจายไปทั่วโลก
นับตั้งแต่หนังสือเรื่อง Capital in the Twenty-First Century ที่เขียนโดย Thomas Piketty ถูกเผยแพร่ นักเศรษฐศาสตร์ก็หันมาสนใจปัญหาความเหลื่อมล้ำกันมากขึ้น ซึ่งนับเป็นเรื่องดี แต่การเข้าใจความเหลื่อมล้ำไม่ได้หยุดอยู่ที่ว่า ‘เราเป็นที่หนึ่งในโลกหรือเปล่า’ (ซึ่งในปัจจุบัน ประเด็นการคำนวณคงามเหลื่อมล้ำก็ยังเป็นที่ถกเถียงว่า มันเพิ่มขึ้นหรือลดลงกันแน่) แต่คือ ‘เราทำอะไรบ้างเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ’
เราอาจคาดหวังให้การแจกเงินคนจนผ่าน ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพราะมันลดความยากจนโดยเปรียบเทียบ แต่อีกแง่หนึ่ง เราพบว่าคนรวยในประเทศไทยใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย รายได้หลักมาจากหุ้นซึ่งปลอดภาษี สิ้นปีก็มีโครงการให้เลือกว่าจะลงทุนที่ไหนดีเพื่อไปลดหย่อน ภาษีที่ดิน-มรดกก็อืดอาดยืดยาดเก็บจริงได้ไม่กี่ราย การลดความเหลื่อมล้ำ…นอกจากจะพุ่งเป้าไปที่คนจนแล้ว ต้องไม่ลืมความมั่งคั่งของคนรวยด้วย
ในแง่ของการทำนโยบาย นโยบายต่างๆ ที่ทำในบ้านเรามักไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบ ‘ก่อน’ เริ่มโครงการ เราจึงต้องตามแก้ไขปัญหาที่คาดไม่ถึงอยู่ทุกวัน ในอนาคต รัฐบาลอาจหันมาสนใจกับนโยบายที่มีการศึกษา/ทดลองรองรับ (เช่น การทำ Randomised Controlled Trials) เพื่อดูว่าโครงการไหนใช้ได้-ใช้ไม่ได้
ผลลัพธ์ของความสำเร็จในเรื่องความยากจนและความเหลื่อมล้ำอาจอยู่ไม่ไกลก็ได้