เคยมองคนคนหนึ่งราวกับว่าเราและเขาใช้ชีวิตอยู่คนละโลกไหม?
การใช้ชีวิตที่ต่างราวฟ้ากับเหว ชีวิตที่ดูไม่ต้องเผชิญหน้ากับเรื่องลำบากแบบเราๆ มุมมองต่อโลกที่ตัดขาดสิ้นเชิงจากโลกในสายตาเรา บางครั้งเราไม่มั่นใจด้วยซ้ำว่าเราและเขาเป็น ‘คน’ เหมือนกันรึเปล่า
บ่อยครั้งเราอาจรู้สึกแบบนี้เมื่อเจอเข้ากับคนที่ฐานะแตกต่างจากเรามากๆ ยิ่งเมื่อเราใช้ชีวิตอยู่ภายในโซเชียลมีเดีย คนที่อยู่ห่างกันจนแตะกันไม่ถึงในชีวิตจริง ก็สามารถโผล่ออกมาให้เราเห็นได้อยู่ในชีวิตประจำวันพร้อมกับมุมมองของพวกเขา อาจจะเป็นแนวคิดว่าเงินเดือน 15,000 ยังไงก็อยู่ได้สบายๆ หรือถ้าเงินน้อยไปแปลว่ายังขยันไม่พอ หรือจะเป็นการบอกว่าประเทศไทยสบายที่สุดเพราะกับข้าวถูกโดยลืมคำนึงถึงค่าแรงขั้นต่ำ
ทำไมเราเป็น ‘คน’ เหมือนกันแต่มุมมองระหว่างเราและคนรวย (แบบร๊วยรวย) บางคนถึงแตกต่างกันได้ขนาดนั้น? งานวิจัยสามารถบอกอะไรเราได้หรือไม่?
จากงานวิจัยชื่อ Higher social class predicts increased unethical behavior นำโดยพอล พิฟฟ์ (Paul K. Piff) นักวิจัยแผนกจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่ทำการทดลองเปรียบเทียบความน่าจะเป็นที่กลุ่มคนผู้มีทรัพย์สินมากมีโอกาสในการทำสิ่งที่ ‘ผิดศีลธรรม’ มากกว่าคนที่มีทรัพย์สินน้อย
โดยการทดลองแบ่งออกเป็น 7 กิจกรรม คือการทดลอง 1, 2 เกี่ยวกับการขับรถร่วมถนนกับผู้อื่น การทดลอง 3 เป็นการให้สถานการณ์ที่ตัวละครทำสิ่งที่ขัดจริยธรรม เพื่อตรวจสอบว่ากลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยและจะทำแบบที่ตัวละครทำขนาดไหน การทดลอง 4 เป็นเรื่องการเลือกหยิบเอาสิ่งของมีค่าที่ไม่ใช่ของตัวเอง การทดลอง 5 จำลองสถานการณ์การขอขึ้นเงินเดือน การทดลอง 6 เป็นการวัดค่าความโลภผ่านการหยิบยื่นวิธีโกงเกมลูกเต๋าให้กลุ่มตัวอย่าง และการทดลอง 7 เปรียบเทียบความน่าจะเป็นที่คนคนหนึ่งจะสนับสนุนพฤติกรรมที่ขัดต่อจริยธรรมหากสิ่งนั้นสามารถนำไปสู่ผลประโยชน์ส่วนตัว
ผลการทดลองทั้ง 7 ออกมาว่าเมื่อเทียบกับคนที่ถูกจัดว่าเป็นผู้มีทรัพย์สินน้อยแล้ว คนผู้จัดอยู่ในกลุ่มที่มีทรัพย์สินมากมีโอกาสที่จะขับรถผิดกฎจราจรมากกว่า ตัดสินใจทำการกระทำที่ขัดจริยธรรมมากกว่า เลือกหยิบสิ่งของที่ไม่ใช่สมบัติของตัวเองมากกว่า โกหกในการเจรจามากกว่า โกงมากกว่า และมีโอกาสจะสนับสนุนพฤติกรรมที่ขัดต่อจริยธรรมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าหากไม่รู้ว่าตัวเองจะได้รับผลประโยชน์นั้นๆ ด้วย
ในบทความวิชาการที่มาจากการทดลองกลุ่มตัวอย่างนักศึกามหาวิทยาลัยเยลโดยเรย์มอนด์ ฟิซแมน (Raymond Fisman) นักเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยบอสตันทดสอบวิธีคิดในการบริหารของคนในกลุ่มชนชั้นนำ (elites) โดยเขาทดลองวิธีคิดนี้ผ่านการให้ตัวอย่างเล่นเกมชื่อ ‘Dictator Game’ หรือเกมเผด็จการ เกมการทดลองที่วางหน้าที่ให้ผู้เล่นคนหนึ่งเป็นผู้ให้ และอีกคนเป็นผู้รับ ผู้ให้มีสิ่งที่ผู้รับต้องการอยู่จำนวนหนึ่งและวิธีการแจกจ่ายนั้นๆ จะนำไปสู่ผลการทดลอง
ผลการทดลองพบว่าคนกลุ่มชนชั้นนำไม่ว่าจะมีแนวคิดทางการเมืองเป็นเสรีนิยมหรืออนุรักษ์นิยม 80% ของพวกเขามีวิธีคิดนำโดยประสิทธิภาพ นั่นคือจะช่วยเหลือผู้รับก็ต่อเมื่อตัวเองไม่จำเป็นต้องเสียอะไรมาก โดยฟิซแมนเรียกวิธีคิดนี้ว่า Efficiency minded ซึ่งตรงกันข้ามกับ Equality Minded หรือวิธีคิดที่ผู้คิดจะมอบให้ผู้อื่นแม้จะเสียมาก ‘ผลของการทดลองนี้อาจนำไปสู่คำอธิบายใหม่สำหรับความไม่เท่าเทียมในรายได้ในสหรัฐ’ ฟิซแมนพูด ‘อำมาตย์ผู้เขียนนโยบายให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพมากกว่าความเท่าเทียมกว่าประชาชนส่วนมากอยู่เยอะ’
หรือแม้แต่พฤติกรรมเรื่องการบริจาคก็สามารถบอกอะไรกับเราได้ ในขณะที่การเปรียบเทียบว่าระหว่างคนจนและรวยใครบริจาคบ่อยกว่ากันนั้นไม่ตายตัวระหว่างงานวิจัยสู่งานวิจัย เหตุผลของการบริจาคมีความน่าสนใจอยู่
จากงานวิจัยที่หาว่าฐานะสามารถหล่อหลอมมุมมองของผู้บริจาคต่อแคมเปญบริจาคยังไงชื่อ Both selfishness and selflessness start with the self: How wealth shapes responses to charitable appeals นำโดยแอชลี วิลลันส์ (Ashley V. Whillans) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริทิชโคลัมเบียโดยทดลองผ่านการใส่แบบสอบถามเข้าไปยังเว็บไซต์รับบริจาคจากมูลนิธิต่างๆ การทดลองพบว่า คนรวยและจนมีเหตุผลและแรงจูงใจในการบริจาคแตกต่างกัน
ความแตกต่างนั้นคือคนที่มีรายรับต่ำกว่ามีโอกาสที่จะบริจาคเมื่อแคมเปญนั้นๆ มุ่งไปยังความสัมพันธ์ภายในสังคมและชุมชน ส่วนคนที่มีรายรับมากจะเลือกบริจาคให้กับแคมเปญที่ส่งเสริมความเป็นอิสระและการพึ่งพาในตัวเองของพวกเขา ซึ่งไม่ได้แปลความหมายได้โดยทันทีว่าคนรวยเห็นแก่ตัว แต่ผู้วิจัยกล่าวว่าคนที่มีทรัพย์สินมากมีความรู้สึกเชื่อมโยงกับความมีความสามารถในการควบคุมชีวิตของตัวเอง
และนั่นอาจเป็นคำตอบที่ดีสำหรับคำถามว่าทำไมทรัพย์สินสามารถสร้างความแตกต่างระหว่างแต่ละคนได้ โดยไม่ได้ผิดอะไรคนที่มีเงินมากย่อมถูกปลูกฝังการใช้ชีวิตที่ไม่มีความเสี่ยงต่อการอดอาหารหรือการไร้ที่อยู่ ชีวิตของคนที่รายได้ต่ำกว่าย่อมพบอุปสรรคเหล่านั้นในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หนักหรือเบาสามารถเปลี่ยนไปตามฐานะ แต่สิ่งที่อาจต่างออกไปที่สุดคือบ่อยครั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในขณะที่เป็นตัวเลือกสำหรับคนรวย เป็นสิ่งที่แทบขาดไม่ได้ในการเอาชีวิตรอดสำหรับชนชั้นอื่นๆ และการไม่จำเป็นต้องมีความพึ่งพาต่อกันและกันสามารถนำไปสู่ความห่างไกลและการโฟกัสที่ตัวเองได้
และบ่อยครั้งฐานะเองก็ไม่สามารถบอกได้อย่างตายตัวว่าใครดีกว่าใคร ในผลการทดลองที่ 7 ของงานวิจัยแรกในประเด็นความน่าจะเป็นที่คนคนหนึ่งจะสนับสนุนพฤติกรรมที่ขัดต่อจริยธรรมหากสิ่งนั้นสามารถนำไปสู่ผลประโยชน์ส่วนตัว หนึ่งในผลการทดลองที่น่าสนใจคือเมื่อผู้ทดลองบอกกลุ่มตัวอย่างว่า หากทำผิดจริยธรรมจะนำไปสู่ผลประโยชน์ส่วนตัว อัตราที่ทั้งกลุ่มตัวอย่างรวยและจนมีโอกาสจะตัดสินใจปฏิบัติการกระทำนั้นๆ เท่าๆ กัน
และแม้ว่าจะมีการทดลองและงานวิจัยออกมามากมาย ก็ลืมไม่ได้ว่าปัจจัยที่นำไปสู่บทสรุปของการศึกษาเหล่านั้นมักขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เรามองไม่เห็นอกีหลายอย่าง และการมีงานวิจัยไม่ได้แปลว่าบทสรุปของมันคือความเป็นจริงของใครสักคน ไม่ได้กำหนดว่าคนคนหนึ่งจะต้องเป็นอย่างนั้น
กลับกันมันคือความรู้และความเป็นไปได้ที่อาจนำไปสู่การตื่นรู้ในการใช้ชีวิตของตัวเองและการเปลี่ยนแปลงในตัวบุคคลได้
อ้างอิงข้อมูลจาก