เช่นกันกับหลายๆ คนในช่วงสัปดาห์ก่อน ที่เกาะกระแสร้อนแรงของข่าวการต้องสงสัยว่าบุกรุกและลอบล่าสัตว์ป่าในเขตทุ่งใหญ่นเรศวร ที่ว่ากันว่านำคณะโดยซีอีโอของ บมจ. อิตาเลียนไทย อย่างเปรมชัย กรรณสูต ชื่อที่คุ้นหูคนในวงการธุรกิจและก่อสร้างมานานแล้ว ก่อนจะคุ้นหูคนไทยทั้งประเทศในชั่วข้ามคืน ผมเองก็เกาะกระแสดังกล่าวกับเค้าด้วยเช่นกัน (Why not?) แต่ก่อนที่จะไปไหนไกลกว่านี้ และอาจจะเข้าใจผมผิดได้ ผมอยากออกตัวแรงๆ ในพื้นที่ตัวอักษรใหญ่พิเศษนี้ก่อนเลยว่า “ผมเองก็เห็นด้วยเช่นกันว่าการลักลอบฆ่าสัตว์อย่างผิดกฎหมายนั้นเป็นเรื่องที่ผิด และต้องได้รับการจัดการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและถึงที่สุด” นะครับ
อย่างไรก็ดี ผมเห็นว่ากระแสดราม่าที่เกิดขึ้นนั้น ออกจะชวนให้ละเหี่ยใจไม่น้อย โดยเฉพาะกับเสือดำที่โดนล่าไป ที่ตอนนี้สื่อหลายสำนักก็พยายามเค้นให้ได้พลังความเศร้ากันอย่างหนัก อย่างการเผยแพร่ภาพวิดีโอของเสือดำ (ที่น่าจะเป็นตัวที่โดนล่าไปกระมัง) ที่เข้ามาเล่นกับกล้องอย่างแลดูน่ารักน่าชังไม่น้อย[1] ไปจนถึงสารพัดแคมเปญ และการก่นด่าผู้ต้องสงสัยอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะในเรื่องความโหดร้าย เลือดเย็น ไร้มนุษยธรรมล้านแปด
อย่างที่บอกไปว่า ‘การลักลอบล่าสัตว์โดยผิดกฎหมาย’ นั้น ผมเห็นว่าผิดนะครับ ผิดแบบผิดและเห็นด้วยว่าควรต้องจัดการ แต่การไปโหมกระหน่ำพลังดราม่าด้วยเรื่องการยิงและถลกหนังเสือดำว่าต่ำทราม ไร้ความเป็นคน นี่ออกจะประหลาดไปหน่อยนะครับ ไม่งั้นโรงฆ่าสัตว์ที่ทำอาหารให้เราได้กินกันทุกวันนี้คงไม่ใช่คนกันแล้วกระมัง? ไม่เช่นนั้นเกษตรกรฟาร์มวัวเนื้อ หรือแม่ค้าเขียงเนื้อสัตว์ที่แล่มันซะทุกหนังในร้านให้เรานี่ก็คงจะเลวร้ายเหลือแสน แต่เอาจริงๆ ถ้าคิดกับมันเพียงเล็กน้อยก็จะเห็นได้ว่า การเคลมด้วยเรื่องความโหดร้ายดูจะไม่เมกเซนส์มากๆ เพราะปัญหาจริงๆ อยู่ที่การลักลอบฆ่าสัตว์ในพื้นที่อนุรักษ์มากกว่าครับ ไม่ใช่เรื่องป่าเถื่อนโหดร้ายที่กรีดร้องกันออกมา
ที่เขียนมานี่ไม่ใช่เพื่ออะไรหรอกครับ แต่อยากให้สำรวจความฟูมฟายล้นเกินของเราๆ ที่หลุดไปจากประเด็นที่เป็น ‘ตัวปัญหาจริงๆ’ อย่างกรณีนี้ความผิดคือ “เออ มีการลักลอบฆ่าสัตว์อย่างผิดกฎหมายนะ จะต้องจัดการกับคนที่ทำผิดนี้” (จบ) หรืออย่างมากก็อาจจะมองประเด็นเพิ่มขึ้นไป ในแง่ขบวนการค้าผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครอง หรือการติดสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมไปถึงการรวมศูนย์อำนาจการบริหารจัดการป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นสิทธิขาดของรัฐล้วนๆ อะไรแบบนี้ แต่การไปมัวเมา เมามันอยู่กับการโหมดดราม่ามากเกินไป เกิดเป็นปัญหาที่ทำให้ ภาพของปัญหาหรือวิกฤตินั้นใหญ่เกินกว่าตัวตนจริงๆ ของมัน ซึ่งมีผลกระทบหลายอย่าง การสร้างให้ภาพของปัญหาให้ใหญ่ล้นความจริงนี้ ผมมองว่าแบ่งได้หลักๆ เป็น 2 ส่วนคือ ปัญหาทางตรง กับปัญหาในเชิงโครงสร้าง (กับ bonus track ในแง่ความปากว่าตาขยิบของสังคมนี้ด้วยอีกหนึ่ง)
ผลกระทบในทางตรงไม่มีอะไรซับซ้อนมากนัก คือ การฟูมฟายเกินจริงด้วยเหตุผลแบบที่ว่ามานี้ มันไปลดทอนความชอบธรรมหรือความถูกต้องของทั้งคนที่ประกอบอาชีพเหล่านี้โดยสุจริต ทั้งแม่ค้าที่กำลังนั่งถลกหนังกบอยู่ในตลาด ไปจนถึงคนทำงานในโรงฆ่าสัตว์ที่ถลกหนังวัว แล่เนื้อเป็นชิ้นๆ แพ็คใส่ห่อให้เรากินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ใช่แค่กลุ่มนี้ที่โดนกันเต็มๆ นะครับ การโหมกระหน่ำให้ภาพของตัวปัญหาใหญ่เกินความจริงอย่างที่ทำกันอยู่นี้ และการด่าทอการล่าสัตว์ว่าเลวร้ายทั้งยวงนั้น ได้ส่งผลกับคนที่ประกอบอาชีพการล่าสัตว์โดยถูกต้องไปด้วย
ใช่ครับ การล่าสัตว์เป็นเรื่องที่ทำได้โดยถูกต้องนะครับ และหลายๆ ครั้งก็จำเป็นด้วย อย่างในประเทศจอร์เจีย ก็เคยมีช่วงที่หมูป่ามีประชากรเยอะมากๆ จนมันทำลายระบบนิเวศ ทางการจึงต้องสนับสนุนให้เข้าไปล่าหมูป่ากัน มีทั้งการกำหนดค่าหัวขึ้นมา หรือมีกระทั่งการทำเว็บไซต์อย่างเป็นทางการเพื่อช่วยให้การล่าหมูป่าพวกนี้สะดวกขึ้นด้วย[2] หรือในญี่ปุ่นก็มีอาชีพนายพรานที่ถือเป็นอาชีพที่ได้รับการนับถือโดยทั่วไป และการจะเป็นนั้นยากมากๆ ด้วยข้อกำหนดการถือครองปืนที่ยากมากของญี่ปุ่นเอง หรือในอังกฤษและโลกตะวันตกเองก็มีร้านอาหารประเภท Wild/Game Dish ที่บ่อยครั้งหัวหน้าพ่อครัวก็ออกไปล่าวัตถุดิบมาทำอาหารเองเลยก็มี อาหารกลุ่มนี้หลักๆ ก็พวก กระต่าย นกกระทา นกพิราบ หมูป่า ไปจนถึงหมีโน่นแหละครับ …และใช่ เค้าก็ทั้งยิงมัน ถลกหนังมัน ชำแหละมัน และสับเป็นชิ้นๆ ด้วย นี่เป็นเรื่องปกติครับ (ฉะนั้นเราควรจะเบาๆ กับเรื่องความโหดเหี้ยมบ้างเนอะ แล้วไปคุยกันที่ตัว ‘ความผิดตามกฎหมาย’ ของการล่าสัตว์ป่าคุ้มครองดีกว่า)
ในประเทศไทยเอง ก็มีพื้นที่ที่อนุญาตให้มีการล่าสัตว์ป่าได้โดยถูกกฎหมายเช่นเดียวกันครับ คือ หลายพื้นที่อนุญาตให้ล่าได้ แต่ก็มีเงื่อนไขกำกับเช่น ต้องมีการแจ้งเจ้าหน้าที่ หรือไม่ใช่ในพื้นที่เขตอนุรักษ์ ฯลฯ ลองดูได้ครับ กฎหมายที่ว่านี้เรียกว่า ‘พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า’ ยาว 22 หน้า รวมทั้งสิ้น 70 มาตรา[3]
ฉะนั้นภายใต้ข้อเท็จจริงนี้ ผมคิดว่าเราพูดกันแบบสั้นๆ สรุปๆ ได้เลยว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้ หากนายเปรมชัยเป็นผู้กระทำผิดจริง ตามที่ถูกตั้งข้อหา เขาก็ผิดฐาน ‘ลักลอบฆ่าสัตว์อย่างผิดกฎหมาย’ ครับ จบ ตัวปัญหามันมีแค่นี้เอง
และผมคิดว่าเราก็ควรจะคุยกันในขอบเขตนี้นะ แต่นี่คือ เล่นขยายเรื่องจากวิกฤติเบอร์ 1 แต่เล่นใหญ่กันเบอร์ 10 เลยทีเดียว เรียกได้ว่า ฆ่าเสือตัวเดียวในป่าอนุรักษ์ ลืมควายแดงที่โดนฆ่าไปเกือบร้อยกลางป่าคอนกรีตกันไปเลย
นี่แหละครับคือปัญหาของการฟูมฟายอย่างเวอร์เกินและทำให้ตัวปัญหาใหญ่ล้นความเป็นจริงของมัน ซึ่งน่าจะพอนับได้ว่าเป็นผลกระทบในเชิงโครงสร้างจากการสร้างภาพล้นจริงของวิกฤติที่ว่านี้ และผมอยากจะหมายเหตุ ณ จุดนี้เลยสักนิดว่า ผมใช้คำว่า ‘ควายแดง’ นั้น ไม่ใช่ด้วยความต้องการจะดูหมิ่นอะไรคนเสื้อแดงเลยทั้งสิ้นนะครับ (โดยส่วนตัวคือเคารพและเสียใจกับการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นมากๆ ด้วย) แต่ผมอยากใช้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความปากว่าตาขยิบของสังคมนี้ ไปพร้อมๆ กับการเป็นปัญหาในเชิงระบบอีกทีหนึ่ง
ที่ว่าปากว่าตาขยิบนั้นก็เพราะ วิธีการที่เกิดขึ้นในการ ‘ฆ่าคน’ อย่างผิดกฎหมาย ทั้งในกรณีเสื้อแดงในปี 2553 หรือย้อนไปสมัย 6 ตุลาคม 2519 เลยก็ตาม เริ่มจากการปลดสถานะความเป็นคนของคนจริงๆ อย่างคนเสื้อแดงกลางสี่แยกทิ้งไปก่อน แล้วลดทอนพวกเขาให้เหลือเป็นเพียงเดียรัจฉานที่มักโดนมองโดนอุปมาว่าไร้ความคิดของตนเอง ต้องรอให้คนจูงจมูกอย่าง ‘ควาย’ เมื่อลดทอนคนให้กลายเป็นควายแดงอย่างสมบูรณ์แล้ว ก็พร้อมจะสนุกกับการ ‘ไล่ล่าฆ่าสัตว์’ เหล่านี้ ด้วยเสียงเห่ร้องดีใจของผู้สนับสนุนรัฐบาลในตอนนั้น หรือรังเกียจคนเสื้อแดงในเวลานั้นกันอย่างเต็มที่ จริงๆ เมื่อเร็วๆ นี้ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อเองก็ได้ออกมาเขียนกลอนลงเฟซบุ๊กของเขา มีเนื้อหาในทำนองเดียวกัน คือ ความยุติธรรมของคนเสื้อแดงกับเสือดำนั้นไม่ต่างกันนัก คือ ‘ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม’ อะไร[4] แต่อย่างไรก็ตามผมคิดว่าแม้แต่วิธีคิดที่เทียบเรื่องนี้เป็น ‘ระนาบเดียวกัน’ พร้อมๆ ไปกับ ‘เรียกร้องความเป็นธรรม’ จากคนที่กล่าวได้ว่าขึ้นมาสู่อำนาจได้โดยการเสียชีวิตอย่างไม่ได้รับความเป็นธรรมกลุ่มเดียวกันเองนั้น ออกจะเป็นอะไรที่ดูย้อนแย้งในตัวเองพิกล (เดี๋ยวผมจะพูดถึงต่อไป)
จากที่ว่ามา ผมว่าสังคมเรา อย่างน้อยๆ ก็จำนวนมากในโลกโซเชียลฯ นั้น ‘ปากว่าตาขยิบ’ ครับ ที่คนกลุ่มเดียวกันนี้พร้อมจะนิยมชมชอบ กู่ร้องเชียร์อย่างดีใจกับการ ‘ลอบฆ่า/ไล่ฆ่า’ คนที่ถูกทำให้เป็นควาย แต่กลับมาเสียใจฟูมฟายน้ำตาแตกกับการลักลอบไล่ฆ่าเสือดำ และบอกว่ามันคือความโหดร้ายป่าเถื่อน ผิดวิสัยมนุษย์ (อันนี้ถือว่าเข้าใจตรงกันนะครับว่าผมไม่ได้หมายรวมว่าคือทุกคน แต่แค่เฉพาะกับคนที่มีอาการกับเสือดำ แต่เฉยมากๆ กับเรื่องแบบเดียวกันนี้ ในประเด็นอื่นๆ นะครับ)
แต่ย้ำรอบอีกรอบว่า ‘การลักลอบฆ่าสัตว์อย่างผิดกฎหมาย’ นั้นมันผิด และต้องจัดการอย่างถึงที่สุด
เอาล่ะ เรื่องปากว่าตาขยิบไปแล้ว ก็ขอต่อที่เรื่องผลกระทบในเชิงโครงสร้างบ้าง ถ้าพูดกันแบบภาษาหอคอยงาช้างหน่อยก็คือ การสร้าง Hyperreality of Crisis หรือเรียกว่า Hyperreal Crisis (วิกฤติล้นจริง) ก็ได้ครับ คือ เราต้องเข้าใจก่อนว่าด้วยความที่รัฐบาลของโลกสมัยใหม่มีกลไกสำคัญหรือเหตุผลของการมีอยู่ในฐานะตัวแทนอำนาจรัฐอยู่ที่การ ‘ประกันความมั่นคงในชีวิตให้กับประชากร’ หรือการสร้างความมั่นคงตามพันธะสัญญา (Promised Security) นั้น รัฐบาลเหล่านี้โดยมากจะอยู่ได้ก็ด้วยการมีอยู่ของวิกฤติ (crisis) หรือภัยคุกคาม (threat) บางประการ พูดอีกอย่างก็คือ รัฐต้องการวิกฤติในการจะคงอยู่ได้ เพราะหากไม่มีอะไรมาคุกคามชีวิตในแง่ใดๆ เลย เราก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องการรัฐบาลมาดูแลอะไรเราอีก
และหลายๆ ครั้งในรัฐบาลที่โฟกัสตัวเองอยู่ที่เงื่อนไขทางด้านความมั่นคงอย่างสหรัฐอเมริกา ก็มักจะมีแนวโน้มที่จะสร้างเงื่อนไขหรือยินดีเมื่อวิกฤติที่ต้อง ‘พึ่งรัฐบาล’ นั้นถูกยกระดับของ ‘ภาพ’ ให้ดูล้นเกินความจริงขึ้นไป อย่างเรื่อง ‘การก่อการร้าย’ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมพูดถึงมาโดยตลอด (ผมคงไม่สามารถลงในรายละเอียดได้นักตรงนี้นะครับ[5]) คือ ภาพของการก่อการร้ายในโลกตะวันตกโดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 9/11 นั้น มันถูกขับเน้น ฟูมฟาย ดราม่ากันหนักหน่วงมาก จนเป็นภัยที่ดูใหญ่ล้นเกินความจริง ว่าง่ายๆ คนกลัวมันมากเกินกว่า ‘ขนาดหรือตัวตนของมันจริงๆ ในฐานะวิกฤติ’ นั่นเอง แต่หากไปดูในเชิงข้อมูลข้อเท็จจริงแล้ว จะพบได้ว่าการก่อการร้ายถือเป็นวิกฤติที่มีขนาด ‘จิ๊บจ๊อย’ มาก เมื่อเทียบกับภัยหรือวิกฤติแบบอื่นๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับ ‘ภาพที่มองในฐานะตัวแทนของมัน’ ภาพที่ล้นเกินขนาดตัวตนแท้จริงนี้เองครับ ที่เราเรียกกันว่าเป็น Hyperreality หรือความจริงที่ล้นเกินจริง
ปัญหาที่ Hyperreal Crisis (วิกฤติล้นจริง) นำมานั้นก็คือ เมื่อเรารับรู้มันอย่าง ‘ใหญ่ล้นเกินจริง’ เราจึงเรียกร้องสนับสนุนให้จัดการกับมันอย่าง ‘ล้นเกินความจริง’ ไปด้วย และหลายๆ ครั้งด้วยความใหญ่เกินจริงของวิกฤติ (ที่จริงๆ ไม่ได้ใหญ่นักนี้) กลับไปบดบังปัญหาใหญ่จริงๆ แทน อย่างในกรณีการก่อการร้าย นอกจากภาพของวิกฤติที่ล้นเกินจะไปบดบังวิกฤติเรื่องงบประมาณด้านความมั่นคงที่เกินจริง การลิดรอนเสรีภาพอย่างเกินความจำเป็น และอื่นๆ แล้ว มันยังไปบดบังข้อเท็จจริงที่ว่า การมองเห็นวิกฤติอย่างล้นเกินความจริงนี้ จะนำไปสู่การทำให้วิกฤติเล็กๆ ภัยเล็กๆ เริ่มขยายตัวขึ้นมาจริงๆ จนกลายเป็นอะไรที่ ‘ใหญ่จริง’ อย่างที่เราเข้าใจไปเองแต่แรก
กรณีการลักลอบล่าสัตว์นี้ก็เช่นกัน ตัวมันเองในฐานะวิกฤตินั้นไม่มีอะไรเลยครับ เป็นความผิดนั่นแหละ ความผิดจริงๆ เป็นปัญหาชัวร์ๆ แต่มันไม่ได้มีขนาดใหญ่อย่างที่มาขยายจนกลายเป็นวิกฤติที่ใหญ่จนล้นจริง และบดบังปัญหาใหญ่จริงๆ ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาล คสช. ที่เกิดมากับข้ออ้างเรื่องความมั่นคงและกำลังเจอกับปัญหาวิกฤติศรัทธาอย่างหนัก ย่อมยินดีกับการมาถึงของวิกฤติล้นเกินในเวลาแบบนี้ เพราะยิ่งวิกฤติถูกทำให้ดูใหญ่เท่าไหร่ ยิ่งเป็นเหตุผลที่ดีขึ้นที่จะทำให้ คสช. สามารถอยู่ในอำนาจได้ เพื่อจะได้ ‘จัดการกับวิกฤตินี้ให้กับทุกคน’ แน่นอนคนที่กระโดดเข้ามาบอกว่าจะจัดการกับวิกฤตินี้ให้ คนแรกเลยก็คือคนที่เจอกับปัญหาวิกฤติศรัทธาหนักหน่วงที่สุดในรัฐบาล คสช. ในช่วงที่ผ่านมา อย่างพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณนั่นเอง ตอนนี้เคมเปญเริ่มแห่กันมาแล้วครับ อย่างเว็บไซต์คนรักษ์ป่า[6] เป็นต้น
นี่คือตัวอย่างของการ ‘อาศัยวิกฤติที่ถูกทำให้ล้นจริง’ มาบดบังตัววิกฤติใหญ่ ครับ ไม่ใช่แค่ตัวพลเอกประวิตรหรอก แต่รัฐบาล คสช. ทั้งหมด (as such) นี่แหละคือมวลรวมของวิกฤติด้วย เพราะพวกคุณไม่ได้มีความชอบธรรมอะไรใดๆ เลยในการจะมาจัดการกับปัญหาอะไรใดๆ ในประเทศนี้แต่แรกเริ่ม
และเมื่อ ‘ความไม่ชอบธรรม’ นี้ถูกถามท้าบ่อยขึ้นเรื่อยๆ จากเรื่องไปเที่ยวฮาวายบ้าง ซื้อเรือดำน้ำ ซื้อรถถังบ้าง ไปยันนาฬิกาแหวนเพชร ที่ทำให้คำถามและการท้าทายถึงเรื่อง ‘ความชอบธรรม’ ที่ไม่มีแต่ต้นนั้นถูกถามมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นวิกฤติศรัทธาของรัฐบาล เมื่อเจอกับการท้าทายแบบนี้เข้ามากๆ ก็นำมาสู่วิกฤติใหม่โดยการใช้อำนาจรัฐทั้งจับกุมคุมขังคนที่เห็นต่าง อย่างที่กลุ่ม We Walk หรือ MBK39 และอื่นๆ โดนไป เหล่านี้ต่างหากล่ะครับที่เป็นวิกฤติจริงๆ ที่เราเผชิญอยู่ทุกวัน เจอจนคุ้นชินกับมัน และยิ่งคุ้นชินเท่าไหร่ เรายิ่งหลงลืม หรือไม่เห็นมันได้มากเท่านั้น
ฉะนั้นมันจึงเป็นเรื่องตลกและโหดร้ายสำหรับผม ที่วิกฤติย่อยที่ถูกทำให้ใหญ่ล้นจริงนี้ มาบดบังวิกฤติใหญ่ได้ และในหลายๆ ครั้งถูกใช้เป็นเครื่องมือต่ออายุให้กับวิกฤติใหญ่ต่อไปอีกด้วยซ้ำ เราต้องไม่ลืมสิครับว่า คณะทหารที่ลักลอบขโมยสิทธิ เสรีภาพ, ประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญนั้น เป็นวิกฤติที่ใหญ่กว่าและสำคัญกว่าการลักลอบฆ่าสัตว์ และเราต้องไม่ลืมสิครับว่าในความเป็นจริงแล้ว คสช. ไม่ได้มีความชอบธรรมอะไรใดๆ เลยในการจะไปจัดการกับปัญหาการลักลอบฆ่าสัตว์ในพื้นที่อนุรักษ์นี้แต่ต้น อย่าให้วิกฤติย่อยเป็นเหตุผลในการบดบังวิกฤติใหญ่ หรือเป็นเหตุผลให้วิกฤติใหญ่มีที่ยืนได้นานขึ้นเลยครับ ฉะนั้นในแง่นี้ผมเลยไม่ค่อยเห็นด้วยนักกับการจับสองประเด็นนี้ไปโยงอยู่ในระนาบเดียวกันแบบที่คุณณัฐวุฒิว่าไว้
ผมรู้ดีว่าเอาจริงๆ สภาพในทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพนั้น เกาหลีเหนือยังต้องนับว่าเลวร้ายกว่าประเทศไทยพอสมควร แต่ผมก็คิดว่ามันเป็นเรื่องตลกที่โหดเหี้ยมด้วยว่า ‘ในแง่ของการมองเห็น’ นี่แหละ ที่เราดูจะเลวร้ายเสียยิ่งกว่าเกาหลีเหนือ เพราะเกาหลีเหนือเค้าถูกจำกัดเรื่องข้อมูลและการมองเห็นแบบสุดฤทธิ์ มันจึงพอจะเข้าใจได้ที่เขาจะหลงเชื่อผู้มีอำนาจในประเทศเค้า หลงเชื่อในข้ออ้างของวิกฤติและความจำเป็นที่จะต้องมีท่านผู้นำ ที่จะต้องรักท่านผู้นำ แต่ประเทศเรานั้นไม่ได้ถูกปิดกั้นอะไรขนาดนั้น เราสามารถพอที่จะเห็นได้ เราเห็นเกาหลีเหนือและอาจจะมองว่าเค้าแย่ เราเห็นที่นั่นที่นี่ แต่พอกลับมามองตัวเองปุ๊บกลับเลือกจะหลับตา แกล้งตายทันที
เราเลือกที่จะเห็นการฆ่าเสือเป็นปัญหา แต่หลับตาเมื่อเห็นการฆ่าควายแดง เราเลือกที่จะทุรนทุรายกับการลักลอบฆ่าสัตว์ แต่เราเฉยเมยเสมอกับการลักลอบฆ่าสิทธิของเราเอง เอาจริงๆ ก็น่าเวทนานะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู www.prachachat.net
[2] ลองดูได้ครับ www.woodsnwaterinc.com
[3] โปรดดู www.ratchakitcha.soc.go.th
[4] โปรดดู www.thaipost.net
[5] กรณีสนใจเรื่องก่อการร้ายเพิ่มเติม อ่านเพิ่มได้จาก prachatai.com
[6] โปรดดู www.nationtv.tv