“ปลายศตวรรษที่ 21 โลกเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ มลพิษและประชากรล้น ผุพังจนไม่น่าอยู่อีกต่อไป เหล่าผู้มั่งมีและชนชั้นสูงละทิ้งพื้นโลกเพื่อดำรงไว้ซึ่งชีวิตอันเลิศลอยบนสถานที่ที่คลับคล้ายคลับคลาสถานีอวกาศนาม ‘ELYSIUM’ อันรายล้อมไปด้วยหุ่นยนต์บริการ ความสงบ สันติสุข และการใช้ชีวิตบนนั้นจะไม่มีวันเจ็บป่วยหรือแก่เฒ่า”
ELYSIUM (2013) เป็นหนังไซไฟดิสโทเปียอีกเรื่องที่สร้างชื่อให้กับผู้กำกับ นีลล์ บลอมแคมป์ (Neill Blomkamp)หลังจากเขาแจ้งเกิดจากหนังไซไฟในดวงใจหลายๆ คนที่จะทำให้เรามองกุ้งในมื้ออาหารแต่ละมื้อเปลี่ยนไปอย่าง District 9 (2009) และในเรื่องนี้ ยังคงความทรงๆ เดียวกันไว้ คือมีฉากหลังเป็นโลกอนาคตที่ดูแห้งแล้ง แร้นแค้น เปรอะเปื้อนฝุ่นดิน ดูไม่น่าอยู่เท่าไหร่ กับเทคโนโลยีล้ำสมัย เพียงแต่ไม่มีเอเลี่ยน จะมีก็แต่ ‘alienation’ ที่แปลว่าความเหินห่างระหว่างมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น
(เนื้อหาส่วนต่อไปเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ ELYSIUM)
เนื้อเรื่องในหนัง ELYSIUM เกิดขึ้นในนคร ลอส แองเจลิส ในโลกอนาคตปี ค.ศ.2154 เล่าเรื่องผ่าน แม็กซ์ เดอ คอสต้า รับบทโดย แมตต์ เดมอน (Matt Damon) ชายผู้ทำงานโรงงานที่เกิดอุบัติเหตุโชคร้ายทำให้เขาได้รับสารกัมมันตภาพรังสีและมีชีวิตอยู่ได้อีกเพียงแค่ 5 วันเท่านั้น สิ่งเดียวที่จะทำให้เขามีชีวิตอยู่ต่อคือเครื่องรักษาทุกโรคบน ‘เอลีเซียม’ ที่ฝืนเอาชนะธรรมชาติได้ตั้งแต่เยียวยาทุกการป่วยไข้ รักษาฟื้นฟูทุกบาดแผลร่องรอย จนถึงการแช่แข็งอายุคนให้ยังคงเดิม
นี่คือเรื่องราวที่ใช้โครงหรืออิงตำนานปรัมปรากรีกอย่างน่าสนใจ คำว่า ‘Elysium’ นั้น มีอีกชื่อหนึ่งว่า Elysian Fields เขตแดน/เกาะบนมหาสมุทรสุดขอบโลกอันเป็นเอกเทศ ที่ผู้อาศัยอยู่คือผู้ที่ถูกคัดเลือกโดยพระเจ้า หรือต้องเป็นผู้ที่คู่ควรไม่ก็เหล่าผู้เป็นวีรบุรุษผู้กล้าเท่านั้น โดยมหากาพย์โอดิสซีย์ ของกวีโฮเมอร์ บรรยายไว้ว่า เอลีเซียมเป็นพื้นที่ราบที่มนุษย์สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบาย ชิลๆ ไม่มีทั้งหิมะ ไม่มีพายุโหมกระหน่ำ ไม่มีแม้กระทั่งฝน และอาศัยคลื่นทะเลที่ซัดกระแทกส่งลมเย็นพัดพาเข้ามาสู่พื้นที่อยู่อาศัย
และดูเหมือนว่า เอลีเซียมในหนังเรื่องนี้จะได้รับแรงบันดาลใจมาจากเอลีเซียมเดียวกัน เพียงตีถูกนำมาตีความเป็นสถานที่บนอวกาศที่ยึดคนและวัตถุไว้ด้วยสนามแรงโน้มถ่วง และผู้กำกับใช้การแบ่งแยกหรือการถูกคัดเลือกที่มีอยู่ในโครงเรื่องเล่าเดิม มาต่อยอดเป็นการแบ่งแยกคนรวยกับคนจนออกจากกันด้วยระยะทาง และวิธีการเดินทางที่ทำให้ฝ่ายหลังไม่สามารถไปถึงแดนสุขาวดีของอีกฝ่ายได้เลย
หนังเปิดมาด้วยฉากเปิดที่แม็กซ์กับเฟรย์ เด็กชายหญิงมีความฝันว่าวันหนึ่งจะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ วันหนึ่งพวกเขามีเป้าหมายจะเดินทางไปยังเอลีเซียมและใช้ชีวิตสุดแฮปปี้บนนั้น หลังจากนั้น จึงตัดกลับมาที่ปัจจุบันของแม็กซ์วัยผู้ใหญ่ ที่ทำงานในฐานะชนชั้นกรรมมาชีพ และไม่ได้ใกล้เคียงกับความฝันนั้นแม้แต่น้อย
โลกอนาคตในหนัง ELYSIUM (จริงๆ ต้องพูดว่าในหนังบลอมแคมป์ทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องนี้) เป็นโลกที่ไม่น่าอยู่ ประชากรล้น ส่งผลให้เกิดการจราจรที่ติดขัด กิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษและทำลายชั้นบรรยากาศก็เพิ่มสูงขึ้นตาม อีกทั้งช่องว่าง (gap) ระหว่างคนรวยและคนจน มีผู้เกิดใหม่หรือรุ่นลูกรุ่นหลานลืมตาอ้าปากได้ยาก คนชนชั้นล่างไม่สามารถหาที่อยู่ดีๆ ได้ในยุคที่อสังหาริมทรัพย์ราคาแพงไม่รู้กี่เท่าจากราคาดั้งเดิม ในขณะที่คนรวยก็รวยเอาๆ
นั่นคือความจริงของโลกปัจจุบันและโลกในหนังเรื่องนี้ คำถามที่ก่อให้เกิดความปรารถนาของเด็กสองคนที่หวังจะขึ้นไปข้างบน อันเกิดมาจากการที่คนรวยขึ้นไปสูงเกินเอื้อมกว่าที่เคย และไม่ต้องการใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบเดียวกันกับผู้มีปริมาณของทุกอย่างในทางตรงกันข้าม แทนที่ความฝันของเด็กน้อยควรจะเป็นพวกเขาอยากโตไปทำอะไร อยากไปที่ไหน อยากเป็นใคร บน ‘โลก’ เหมือนที่สมัยเด็กเราเคยถูกครูถามในห้องเรียน แล้วเราตอบกลับไปจากใจจริง
“หากคุณมองไปที่ความแตกต่างระหว่าง
คนข้างล่างสุดหลายพันล้านคนกับคนด้านบนสุด 10 ล้านคน
คุณจะเห็นได้ว่าระยะห่างระหว่างพวกเขาห่างไกลสุดขั้ว
ไม่ต่างจากระยะทางระหว่างสถานีอวกาศกับเมืองหลวงประเทศโลกที่สามเลย”
แม็ตต์ เดม่อน กล่าว
ที่แม็ตต์พูดนั้นเป็นคำพูดที่ถูกต้องและไม่เกินเลย ถ้าความเหลื่อมล้ำสามารถนับเป็นรูปธรรมหรือมองเห็นด้วยตาเปล่าได้จากตำแหน่งสูงต่ำ คนชนชั้นล่างอยู่บนโลก คนรวยติดท็อประดับ crazy rich ก็คงรวยทะลุโลกอย่างที่ว่า
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถูกยืนยันมาแล้วและค่อนข้างจะใกล้ตัวผมพอสมควร จากเพื่อนสมัยเด็กคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสกลับมาพูดคุยกันอีกครั้ง ผมกับเพื่อนคนนี้เติมโตมาด้วยกันในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งในนนทบุรี ใช้ชีวิตสมถะ กินข้าวเที่ยงราคา 20-25 บาทด้วยกันมาโดยตลอด จนวันหนึ่งแม้แต่เพื่อนผมเองก็ยังช็อคกับปริมาณทรัพย์สินและจำนวนเงินมหาศาลที่เขาได้รับเมื่ออายุถึงกำหนด
เพื่อนคนนี้เริ่มจากได้ที่ดินมา โดยแค่ค่าโอนเพียงอย่างเดียวปาเข้าไปเกินกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งนั่นคือจำนวนเงินที่อย่าว่าแต่เอาเงินทั้งชีวิตของคนคนหนึ่งมารวม แต่ไม่รู้ต้องเงินทั้งชีวิตของคนกี่คนมารวมกันถึงจะได้เท่านี้
ยังไม่นับว่าเงินในบัญชีของเขามีเป็นหลักร้อยล้าน และเมื่อเอาเงินในบัญชีของสมาชิกครอบครัวมารวมกัน เป็นเงินมากถึงหลัก ‘หมื่นล้าน’ ด้วยกัน
ใช่แล้วครับ นั่นมันฟังดูบ้ามากๆ บ้าพอๆ กับตอนที่ผมรู้ว่าถนนที่ผมขับผ่านประจำ เห็นประจำ ร้านอาหารที่ได้นั่งกิน รวมถึงโรงเรียนอนุบาลที่ผมเรียนมาก็อยู่ในขอบเขตทรัพย์สินและที่ดินของครอบครัวเพื่อนคนนี้เช่นกัน ที่เล่าเรื่องนี้มาเพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า รูปปลาใหญ่กินปลากลาง และปลากลางกินปลาเล็กนั้นเป็นเรื่องจริง เราที่ด้อยกว่าอาศัยอยู่ในปากของปลาตัวที่ใหญ่กว่ามาโดยตลอด ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ โครงสร้างทางความร่ำรวยที่ใหญ่กว่าก็มักจะครอบโครงสร้างที่เล็กกว่าอย่างล่องหนไว้เสมอ
ทั้งหมดของครอบครัวเพื่อนเริ่มต้นจากการที่ปู่ของเขาขายถ่านและซื้อที่ดินเก็บไว้ ซึ่งถ้าถามว่าทุกวันนี้จะขายถ่านซื้อที่เช่นเดียวกันเพื่อหวังว่าวันหนึ่งจะรวยเท่าๆ กันสามารถทำได้หรือไม่? จะเป็นคำถามที่ผิดไปโดยทันที เพราะคำถามที่ถูกคือ ต้องขายถ่านกี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่น กี่แสน หรือกี่ล้านปี กว่าจะมีเงินหลักหมื่นล้านได้? หรือจะร่ำรวยอย่างนั้น?
โลกเราเป็นโลกที่คนปักหลักก่อน เริ่มทำก่อน ได้เปรียบ และจากสถิติไม่มีอะไรมาหยุดผู้มาก่อนเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ยังเป็นโลกที่ถ้าเราหยุดทำ จะมีคน (เติม s) เข้ามาแทนที่ได้เสมอ นั่นคือสาเหตุให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น เหล่านายทุนไม่ยอมลงจากที่สูง และไม่แค่รักษาระดับสูงกว่าน้ำทะเลนั้นๆ เอาไว้ แต่ยังหาหนทางขึ้นสูงไปกว่าเดิมด้วยแรงหนุนที่มีอยู่ และตำแหน่งกระโดดที่สูงกว่าอีกด้วย
กลับมาที่หนัง ELYSIUM ประชากรแออัดและที่ดินอสังหาริมทรัพย์ต่างก็ถูกจับจองแล้ว ทำให้ประชากรชั้นล่างปลูกบ้านเองเท่าที่สร้างได้ อาศัยอย่ในแนวดิ่งกันมากขึ้น (เหมือนที่ทุกวันนี้คอนโดในตัวเมืองผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดและราคาแพงเท่าบ้าน เผลอๆ มากกว่าบ้านเดี่ยวด้วยซ้ำ) นั่นทำให้ตำแหน่งความสูงทางรูปธรรมของคนรวยและคนจนอยู่ในระดับเดียวกันอย่างไม่ได้ตั้งใจ และเมื่อนั้นเอง คนรวยก็เลือกจะขึ้นไปอยู่ในที่ที่สูงกว่าแบบไกลลิบตา
ทุกวันนี้โดยเฉพาะในประเทศไทย เป็นโลกที่คนชนชั้นล่างกับกลางแหงนหน้าใช้กล้องส่องท่องไกลคุยกับคนชนชั้นบนและคนชนชั้นสูงก้มลงมาคุยกับเราแล้ว แต่ในหนังเรื่องนี้ยิ่งกว่าตรงที่คนรวยส่องไปไม่เห็นตัวคนในเอลีเซียม หรือไม่รู้เลยว่าคนด้านบนกำลังทำอะไรอยู่ ในขณะที่คนบนเอลีเซียมเองสามารถก้มลงมามองเห็นคนข้างล่างอย่างชัดเจน ด้วยเทคโนโลยีอย่างดาวเทียมระบุตำแหน่ง ที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาสูงกว่าทั้งตำแหน่ง อำนาจ สิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลและการล่วงรู้
คำว่า alienation ที่กล่าวไปในตอนต้นมี 2 ความหมายในตัวว่า
- ทำให้เหินห่างแปลกแยก
- โอนถ่ายเปลี่ยนเจ้าของ
ฉะนั้นการที่โลกจากที่ไม่เคยเป็นของใครหรือเป็นของทุกคน กลายมาเป็นของคนรวย รวมถึงการที่ระยะห่างระหว่างมนุษย์ด้วยกันถูกทำให้เหินห่างทั้งในแง่นามธรรมและรูปธรรมแล้ว จะพูดเล่นๆ ว่า ELYSIUM เป็นหนัง ‘เอเลี่ยน’ ก็ในรูปแบบหนึ่งก็คงไม่ผิดนัก
สิ่งที่สะเทือนใจคือ เมื่อโลกมีนวัตกรรมที่สามารถเอาชนะธรรมชาติหรือทุกโรคภัยไข้เจ็บได้ มันกลับไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง แต่นำมาใช้เพียงกับแค่คนบางกลุ่มที่สามารถเข้าถึงมันได้ในฐานะสิทธิประโยชน์ (privilege) ของการเป็นคนรวยเท่านั้น
แน่นอน มันคือการผูกขาดด้านการมีชีวิตอยู่และด้านคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง
ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเมื่ออำนาจที่สามารถ hack life หรือตัดสินความเป็นความตาย หรือโรคภัยไข้เจ็บตกไปอยู่นมือของคนทั่วไป ความเท่าเทียมก็จะเกิดขึ้น ความแตกต่างจะไม่มี และนั่นทำให้เก้าอี้ของผู้อยู่ด้านบนถูกสั่นคลอน ในขณะเดียวกันนั้นความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็จะเบลอเข้าหากัน หรือการ (ที่คนบางคนทำตัว) เป็นพระเจ้ากับมนุษย์จะเขยิบเข้าใกล้กันมากขึ้น และช่องว่างระหว่างชนชั้นจะน้อยลงด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น พวกเขาจะรู้สึกไม่ปลอดภัย
อุตสาหกรรมต่างๆ การใช้ทรัพยากรอย่างเพิกเฉยไม่หยุดไม่ยั้ง การปล่อยมลพิษด้วยวิธีต่างๆ เท่ากับทุกคนมีส่วนในการทำให้มันเกิดขึ้น และเมื่อมันเกิดขึ้น เหล่าคนส่วนใหญ่ที่เป็นตัวการอยู่เบื้องหลังอะไรเหล่านี้กลับทอดทิ้งโลกไปเมื่อมันไม่น่าอยู่แล้ว ไม่ต่างจากซื้อของมาซักชิ้น ใช้มันอย่างทิ้งขว้างๆ ไม่ระมัดระวัง หรือดันทุรังใช้ แล้วแก้ปัญหาหลายเหตุด้วยการแค่ทิ้งมันไป ซื้อใหม่ หาใหม่ก็ได้
มันจึงกลายมาเป็นโลกที่ทุกคนมีส่วนต้องดูแลรับผิดชอบ แต่ไม่ใช่โลกที่ทุกคนจะรับผิดชอบ และในเมื่อหนทางที่ดีกว่ารวมถึงทางออกของชีวิตและสุขภาพอยู่ในที่ที่มองเห็นได้ รับรู้ได้ว่ามีอยู่ แม้ความหวังจะน้อยนิด เหล่าผู้ถูกละทิ้งจึงพยายามดิ้นรนหาหนทางในการเดินทางไปยังที่แห่งนั้น ทุ่มทุกอย่างที่มี ยอมรับความเสี่ยงที่จะตามมา เพราะที่เป็นอยู่ไม่ได้แย่ไปกว่าความตาย
ตัวละคร สไปเดอร์ ของ วากเนอร์ มูร่า (Wagner Moura) เป็นตัวละครที่จะหยิบยื่นความปรารถนานั้นให้แก่ผู้คน โดยรับประกันว่าจะสำเร็จ แต่อย่างน้อยๆ มันคือความหวัง และความหวังเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนให้คนคนหนึ่งมีชีวิตอยู่ หรือทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เขาเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า
อีกจุดที่น่าสนใจในหนัง นอกจากอะไรเหล่านี้ก็เห็นจะเป็นการก่อรัฐประหารเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิปดีของตัวละคร เดอลาคูร์ ที่รับบทโดย โจดี้ ฟอสเตอร์ (Jodie Foster) และสิ่งที่จะช่วยให้ความตั้งใจนี้บรรลุคือข้อมูลที่อยู่ในหัวของผู้เป็นเจ้าของโปรเจ็กต์เอลีเซียมที่เป็นเจ้าของโรงงานที่ตัวเอกทำงานอยู่เช่นกัน สิ่งนั้นคือกุญแจในการรีเซ็ทระบบเอลีเซียม ในรูปของ ‘ข้อมูล’ ที่ถูกถ่ายโอนไปอยู่ใน ‘สมอง’
สะท้อนโลกความเป็นจริงที่ว่า ในโลกอนาคตที่ทุกอย่างพัฒนามาไกลกว่าเดิม (แม้อีกแง่จะพัฒนาลงก็ตาม) คนที่ถือครองข้อมูล คนที่เก็บงำความลับ และคนที่ล่วงรู้คือผู้ชนะ นี่คือยุคสงครามเย็น นี่คือยุคที่ผู้มั่งคั่งทั้งปัญญา ความรู้ เงินทอง ความสามารถในการควบคุมสื่อและเข้าถึงทรัพยากรคือผู้อยู่ด้านบน เหมือนที่ในยุคปัจจุบันการล่าอาณานิคม การสู้รบปรบมือ การช่วงชิงทรัพยากรไม่ได้ก่อให้เกิดผลเท่ากับการมีบุคลากรที่มีความรู้และมีประสิทธิภาพ เนื่องจากบุคลากรที่มีความสามารถจะนำพากลุ่ม องค์กร ประเทศ ไปในทางที่ดีกว่าได้ด้วยสติปัญญา
นั่นคือความสำคัญของข้อมูลและสมอง ตัวขับเคลื่อนของยุคสมัยใหม่ โดยมีร่างกายของชนชั้นกรรมมาชีพเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้เดินหน้าไม่แพ้กัน
แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น ในทางกลับกันการใช้กำลังป่าเถื่อน ใช้กองทัพ ใช้กำลังพลที่มีจำนวนมากกว่าในการเข้ายึดอย่างไร้อารยธรรมเอง (ที่แม้ว่าจะพบเห็นได้น้อยในยุคกปัจจุบันแล้ว) ก็ดันได้ผลอย่างน่าตกใจ
ทั้งฝ่ายของแม็กซ์และสไปเดอร์เอง ที่คว้าข้อมูลมาได้แต่แรกและคว้าชัยชนะมาได้ในตอนจบ ก็เพราะมีอาวุธยุทโธปกรณ์ไฮเทคมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ปืน exo suite อัพเกรดสมรรถภาพ รวมถึงกองกำลัง ส่วนตัวละครสายลับของ ชาร์ลโต คอปลี่ย์ เองหลังจากรู้ว่าตัวเองสามารถช่วงชิงอำนาจนั้นมาครองและเป็นประธานาธิบดีเองได้ ก็ได้คิดไม่ซื่อ ทรยศนายตัวเองด้วยเช่นกัน
ฉะนั้นก็พอจะกล่าวได้ว่า ในการดำเนินชีวิต ข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง และในขณะเดียวกันการสั่งสมกองกำลังหรืออำนาจเป็นก้อนกระจุกรวมกันไม่ว่าจะเกิดขึ้นเองหรือมีการให้อำนาจ ก็เป็นสิ่งที่ต้องพึงระวังเช่นกัน
มันอาจฟังดูยากที่จะเอาใจทุกคน หรือทำให้ทุกคนพอใจจนไม่ออกมาเรียกร้องใดใด แต่สิ่งที่ผู้อยู่ด้านบนอย่างตัวรัฐ ผู้มีอำนาจ หรือผู้อยู่สูงกว่าพอทำได้คือแสดงให้เห็นว่า ได้มีการปฏิบัติต่อเพื่อนมุษย์อย่างเท่าเทียม ยุติธรรม ในทางที่ดีที่สุด คิดถึงกันที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (หรืออย่างน้อยให้พวกเขารู้สึกว่าแฟร์ก็ยังดี) การตั้งคำถามต่อตัวระบบก็จะหมดไป การพยายามหาทางออกก็จะไม่จำเป็นเพราะทุกคนโอเคกับที่เป็นอยู่ การลุกฮือต่อต้านก็จะไม่เกิดขึ้น
และถ้าหากทุกอย่างดำเนินมาด้วยความพยายามที่จะให้มันออกมาดีที่สุดกับทุกคนแล้ว หรือมีหนทางที่ดีกว่าแล้ว แต่ยังมีการใช้กำลังหรืออำนาจเข้าควบคุม ปกครองด้วยความกลัว ด้วยการบังคับด้วยกฎที่น่าสงสัย นั่นก็คืออีกเรื่อง เรื่องของการหิวกระหาย หวงแหน ไม่มีน้ำใจ เห็นแก่ตัว และไม่รู้จักพอ ที่ต้องมีป้ายเตือนระวังนำมาก่อนว่า ‘อำนาจระดับนั้นไม่ควรอยู่กับคนผิดคน’
ELYSIUM อาจไม่ใช่หนังที่โดนใจเท่ากับ District 9 เป็นเรื่องน่าเสียดายนิดหน่อยที่คอนเซ็ปต์เอลีเซียมที่ฟังดูคูลมากๆ แต่หนังไม่ได้เจาะลึกดำดึ่งหรือให้มิติกับมันเท่าที่ควรจึงทำให้หนังค่อนข้างจะเน้นไปที่ฝั่งแอ็กชั่นซะมากกว่า แต่ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธได้ยากว่านอกจากความสนุกกับความบันเทิงแล้ว หนังมีประเด็นน่าสนใจให้พูดและเก็บเอามาคิดอยู่ไม่น้อยถึงไม่น้อย