เมื่อ 72 ปีก่อนของช่วงเวลาในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วโลกได้เป็นประจักษ์พยานให้กับหนึ่งเหตุการณ์สำคัญ
ในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม Harry S. Truman ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาออกคำสั่งทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิม่าและนางาซากิตามลำดับ เมื่อควันจางลง ญี่ปุ่นตัดสินใจยอมแพ้อย่างไม่เงื่อนไข สงครามโลกครั้งที่สองถูกรูดม่านปิดฉากพร้อมความตายของประชาชนญี่ปุ่นหลายแสนคน
หากใครเคยไปเยือนที่เกิดเหตุทั้งสองแห่ง คงมีโอกาสเห็นนาฬิกาโบราณที่หยุดเดินเพราะได้รับผลกระทบจากแรงระเบิดเมื่อครั้งนั้น เข็มนาฬิกาในฮิโรชิม่าและนางาซากิหยุดอยู่ที่ 8.15 และ 11.02 ตามลำดับ ราวกับจะย้ำเตือนให้โลกจดจำ ว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่ เวลานี้
แน่นอนว่าโลกไม่ลืม แต่คำถามที่ยากกว่าคือเราจะจำมันอย่างไร? เราควรเฉลิมฉลองวันเวลาดังกล่าวในฐานะจุดสิ้นสุดสงครามโลกและฝ่ายอักษะที่ช่วยร้าย หรือนี่คือการฆาตกรรมหมู่ผู้บริสุทธิ์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง
สิบปีหลังสงคราม การถกเถียงดังกล่าวปะทุขึ้นที่ออกซ์ฟอร์ด ในปี 1956 เมื่อมหาวิทยาลัยดังกล่าวเสนอให้มีการมอบปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์แก่อดีตประธานาธิบดี Truman ทันทีที่ข่าวแพร่ออกไป อาจารย์และนักศึกษาก็มีความเห็นแตกออกเป็นสองฝ่าย
สำหรับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย พวกเขาชี้ว่าการมอบปริญญาเป็นการสรรเสริญการฆ่าผู้บริสุทธิ์จำนวนมหาศาล ซึ่งน่าอับอายและไม่อาจยอมรับได้ เสียงทำนองนี้ไม่ได้มาจากพวกโลกสวยที่ไม่ได้ไปรบในสงครามเท่านั้น อดีตทหารแนวหน้าจำนวนมากก็ชูมือคัดค้านการมอบปริญญาเพราะรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น เช่นอดีตนายพลอเมริกาคนหนึ่งออกปากว่าเขาไม่ได้ฝึกมาเป็นทหารเพื่อฆ่าเด็กและผู้หญิงมือเปล่า
แต่ฝ่ายที่เห็นด้วยก็ยืนยันว่าอดีตประธานาธิบดีตัดสินใจได้ถูกต้องแล้ว เพราะการจบสงครามลง ณ จุดนั้น ช่วยประหยัดชีวิตทหารไปไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านคน
แล้วเรื่องชีวิตของผู้บริสุทธิ์ล่ะ? พวกเขาเหล่านี้ให้เหตุผลว่าแม้เรื่องนี้จะน่าเศร้าใจ แต่เราก็ควรทำใจว่าโดยปกติความตายของผู้บริสุทธิ์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในภาวะสงคราม ฝ่ายสนับสนุนการมอบปริญญาคนหนึ่งได้เขียนจดหมายถึงฝ่ายคัดค้าน ใจความว่า ทุกครั้งที่มีสงครามเกิดขึ้น ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผู้บริสุทธิ์ถูกลูกหลงเสมอ หากเราไม่ยอมรับข้อเท็จจริงนี้ ก็แปลว่าเราต้องไม่ยอมรับการทำสงครามใดๆ เลย ไม่ว่าจะมีเหตุผลชอบธรรมแค่ไหน ซึ่งนั่นย่อมไม่สมเหตุสมผล นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงก็ปรากฎว่าที่ผ่านมาฝ่ายคัดค้านไม่เคยออกมาต่อต้านการใช้เครื่องบินรบของฝ่ายอเมริกาและอังกฤษ ทั้งที่การทิ้งระเบิดของเครื่องบินเหล่านี้ก็ทำให้มีคนบริสุทธิ์ตายอยู่เรื่อยๆ
คุณคิดว่ายังไงครับ?
ตอนฟังสองฝ่ายเสร็จ ผมก็ลังเล ทุกครั้งที่สไลด์เฟซบุ๊กไปเจอภาพเด็กชายชาวญี่ปุ่นอายุไม่ถึงสิบขวบยืนแบกศพน้องสาวที่ตายเพราะระเบิดปรมาณู ใจมันก็อยากจะต่อต้านการฆ่าผู้บริสุทธิ์ แต่อีกใจหนึ่งก็ยอมรับว่าความตายของผู้บริสุทธิ์นั้น เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในสงคราม หากไม่ยอมรับข้อนี้ เห็นทีก็คงต้องเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ไม่สู้รบ แล้วยอมแพ้ต่อระบอบฟาสซิสต์อันชั่วร้ายไปตั้งแต่ตอนนั้น
จนกระทั่งมีโอกาสได้อ่านบทความคลาสสิกที่เขียนขึ้นโดย G. E. M. Anscombe นักปรัชญาหญิงคนสำคัญของโลก ซึ่งในขณะนั้นเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงต่อต้านการมอบปริญญาให้นาย Truman ผมจึงได้คำตอบในใจตัวเองระดับหนึ่ง
ที่ได้นี่ไม่ใช่เพราะบทความของเธอสามารถชักจูงให้ผมไปทางใดทางหนึ่งได้ แต่เป็นเพราะเธอบอกว่าแท้จริงแล้ว สองเรื่องนี้เป็นคนละเรื่องกัน หากตั้งสติคิดดีๆ เราสามารถยืนยันว่าการฆ่าผู้บริสุทธิ์นั้นผิด พร้อมทั้งสนับสนุนการทำสงครามที่ชอบธรรมไปได้พร้อมกัน แม้สงครามนั้นๆ จะนำมาซึ่งความตายของผู้บริสุทธิ์ก็ตาม
เป็นไปได้อย่างไร? เธอเริ่มต้นด้วยการยืนยัน ว่าเราคิดถูกแล้วที่ว่าการฆ่าผู้บริสุทธิ์นั้นผิด แม้มันจะเป็น ‘วิธีการ’ ที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีก็ตาม เพราะการใช้ชีวิตคนเป็นเครื่องมือ เป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดที่มนุษย์จะทำกับมนุษย์ด้วยกันได้
แล้วเหตุใดเราจึงสามารถทำสงครามที่ชอบธรรมได้ แม้เรารู้ว่าในสงครามจะต้องมีผู้บริสุทธิ์ตายแน่ๆ?
เธออธิบายว่าเราต้องแยกให้ชัด ระหว่างการฆ่าผู้บริสุทธิ์ในฐานะเครื่องมือไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี (killing as a mean) ซึ่งเราไม่อาจยอมรับได้ กับการตายของผู้บริสุทธิ์ อันเป็นผลกระทบที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นแต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (dying as a side-effect)
ในขณะที่การทิ้งระเบิดปรมาณูฆ่าชาวญี่ปุ่นนั้นจะเข้าอีหรอบแรก ความตายของผู้บริสุทธิ์ที่ถูกลูกหลงในกรณีสงครามป้องกันตัวเองหรือการโจมตีจุดยุทธศาสตร์ทางการทหารนั้น เป็นไปในลักษณะหลัง คือเพื่อบรรลุเป้าหมาย เราไม่ได้ตั้งใจใช้ชีวิตคนบริสุทธิ์เหล่านี้เป็นเครื่องมือ ความตายของพวกเขาเป็นสิ่งที่เราพยายามหลีกเลี่ยงแล้ว แต่ไม่สำเร็จ
เราสามารถแยกการฆ่าผู้บริสุทธิ์ในฐานะวิธีการกับความตายของผู้บริสุทธิ์ในฐานะผลกระทบออกจากกันได้จริงหรือ?
Anscombe บอกว่าทำได้ครับ ด้วยการถามตัวเองว่าหากเราเลือกที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้คนบริสุทธิ์เหล่านั้นตายได้ เราจะทำหรือไม่ ถ้าการตายเป็นเพียงผลกระทบที่เราไม่อยากให้เกิดจริง เราจะตอบว่าทำ แต่ถ้าเราใช้ชีวิตของพวกเขาเป็นวิธีการเพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่าง เราจะไม่ทำ เพราะความตายของพวกเขาเป็นเครื่องมือที่จำเป็น
การทิ้งระเบิดปรมาณูเป็นการฆ่าผู้บริสุทธิ์ในฐานะวิธีการหรือการใช้ชีวิตเป็นเครื่องมือ เพราะหากเราเลือกให้ประชาชนญี่ปุ่นไม่ตายได้ เราจะไม่ทำ เนื่องจากต้องการใช้หลักฐานเรื่องพลังทำลายล้างของปรมาณูไปกดดันให้รัฐบาลญี่ปุ่นยอมแพ้ จากข้อเท็จจริงนี้ หากเราเห็นด้วยกับ Anscombe ฮิโรชิม่าและนางาซากิก็ควรถูกระลึกถึงในฐานะการฆาตกรรมหมู่ครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นโศกนาฎกรรมที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีกในอนาคต
สำหรับผู้ที่สนใจว่าสุดท้ายออกซ์ฟอร์ดตัดสินใจอย่างไร ข้อเท็จจริงก็คือ Anscombe แพ้ในการลงคะแนนเสียงครับ สุดท้ายเสียงส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยสนับสนุนการมอบปริญญาให้กับอดีตประธานาธิบดี นี่อาจเป็นข่าวร้ายสำหรับคนที่เห็นด้วยกับเธอ แต่เราก็มีข่าวดีสำหรับคนเหล่านี้อยู่บ้างครับ ข่าวที่ว่าก็คือเมื่อเวลาผ่านไป วิธีคิดของเธอกลับกลายเป็นผู้ชนะในเวลาต่อมา ปัจจุบัน บทความคลาสสิกของเธอกลายเป็นเอกสารบังคับอ่านในรายวิชาด้านความมั่นคง รวมถึงในโรงเรียนทหารตะวันตกจวบจนปัจจุบัน