ยอมรับว่าในครั้งแรกที่ผมเห็นชื่อหนังสือเล่มนี้ ผมเดาไม่ออกว่ามันคือหนังสือเกี่ยวกับอะไร โอเคล่ะว่า ผมรู้ความหมายของคำว่านบีที่แปลว่าศาสดาในศาสนาอิสลาม แต่พอจะให้เชื่อมโยงกับคำว่าหมากซึ่งดูยังไงก็ไม่น่าจะมาเกี่ยวกันได้ นี่แหละที่ทำให้ผมงุนงง ไม่เข้าใจ กระทั่งผมได้เปิดหนังสือเล่มบางความยาวไม่ถึงร้อยหน้าเล่มนี้ขึ้นอ่าน ก็ถึงได้เข้าใจว่าชื่อ ‘นบีไม่กินหมาก’ หมายถึงอะไร
หนังสือเล่มนี้เป็นงานเขียนของอนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ลงพื้นที่สำรวจวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนบ้านลาเม็ง อ.รามัน จ.ยะลา เพื่อจะตั้งคำถามและสำรวจความเข้าใจต่ออัตลักษณ์ของความเป็นมลายูตามสำนึกทั่วไป ดังเช่นที่เรามักเข้าใจว่าปาตานีคือศูนย์กลางความเป็นมลายู โดยอนุสรณ์ชี้ให้เห็นผ่านตำนานท้องถิ่นซึ่งเล่าถึงต้นกำเนิดของหมู่บ้านลาเม็ง และ อ.รามัน ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐปาตานี ถึงขั้นเคยต่อสู้ห้ำหั่นกัน ซึ่งเมื่อชาวบ้านส่วนหนึ่งยังคงศรัทธาในตำนานนี้ การที่รัฐไทยไปตีกรอบลาเม็งว่าเป็นส่วนหนึ่งของปาตานี จึงขัดแย้งกับสำนึกของคนในพื้นที่ซึ่งไม่ได้ยอมรับว่าพวกเขาเป็นชาวปาตานีดังที่ถูกเหมารวม
ส่วนในอีกประเด็นหนึ่งที่อนุสรณ์ชี้ชวนให้เรามองคือการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรม ประเพณี และขนบความเชื่อท้องถิ่น กับศาสนาอิสลามซึ่งเข้ามาในภายหลัง เพียงแต่อนุสรณ์ไม่ได้เพียงเปิดเผยให้เราเห็นความซับซ้อนทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวกระหวัดกันไปมาในชุมชนบ้านลาเม็งแค่ในระดับเดียว แต่ชี้ให้เห็นว่าแม้กระทั่งการเข้ามาของอิสลามในพื้นที่แห่งนี้ถูกซ้อนทับด้วยมิติที่หลากหลายกว่าการจะอธิบายแค่ง่ายๆ ว่า ศรัทธาของชาวบ้านในชุมชนบ้านลาเม็งเกิดจากการผสานกันระหว่างศาสนาที่เข้ามาภายหลังกับความเชื่อในพื้นถิ่นเดิม
ชาวบ้านที่บ้านลาเม็งนั้นล้วนแต่นับถือศาสนาอิสลาม หากความน่าสนใจของหมู่บ้านนี้คือการที่ร่องรอยของคติความเชื่อและวิถีปฏิบัติดั้งเดิมยังคงมีให้เห็น โดยที่บางธรรมเนียมเองแม้จะขัดแย้งกับหลักศาสนา หรือเป็นข้อห้ามทางความเชื่อ แต่ก็ยังไม่เลือนหายไปเสียทีเดียว
ตัวอย่างเช่น ความเชื่อในเรื่องผีและวิญญาณเองก็ยังปรากฏให้เห็นผ่านผู้คนในหมู่บ้าน หรือกรณีที่เห็นได้ชัด คือการที่ชาวบ้านจำนวนหนึ่งยังคงศรัทธาในบอมอ (หมายถึงพ่อหมอ) ว่าจะช่วยรักษาอาการป่วยไข้ให้หายเป็นปลิดทิ้งได้ รวมถึงการไล่ผีและวิญญาณที่มาสิงร่างมนุษย์จนคลุ้มคลั่ง ในหนังสือได้ยกเหตุการณ์ไล่ผีให้เห็น โดยเล่าถึงชายที่มีอาการเหมือนผีเข้า ควบคุมตัวเองไม่ได้ จนต้องพาไปหา ‘แชโอ๊ะ’ (บอมอคนหนึ่งที่เชี่ยวชาญในการไล่ผี) เพื่อทำพิธีขับไล่วิญญาณร้ายโดยการ “ให้ผ้ากำมะหยี่สำหรับปูรองละหมาด (ผ้าซาญาดะห์) ฟาดไปตามร่างกายของพี่ชายจามุซึ่งไม่มีอาการตอบสนองใดๆ ได้แต่นั่งเงียบ ดวงตาว่างเปล่า พิธีไล่ใช้เวลาประมาณ 15 นาทีจึงเป็นอันเสร็จสิ้น”
ย้อนกลับไปในอดีตช่วงทศวรรษ 2500 ที่แม้ชาวบ้านลาเม็งจะหันมาเข้ารับอิสลามแล้ว พวกเขาก็ยังไม่ได้เคร่งครัดในหลักศรัทธาดังเช่นปัจจุบัน มีการเปิดบ่อนพนันกันอย่างเปิดเผย มีโรงฝิ่นให้สูบ ถึงแม้ว่าการกระทำเหล่านี้จะถือว่าผิดหลักศาสนา หากพวกเขาก็ไม่ได้ใส่ใจมากนัก พูดอีกอย่างคือ กิจกรรมที่ถือเป็นบาปในศาสนาอิสลามเคยถูกพบเห็นได้ทั่วไป และไม่ค่อยมีใครคิดว่าเป็นเรื่องผิด
ถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า พัฒนาการของบ้านลาเม็งนั้นมีความสลับซับซ้อนมากทีเดียว ทั้งในแง่ของการเปลี่ยนผ่านจากความเชื่อเดิม เพื่อเข้ารับความเชื่อใหม่ (แต่สุดท้ายก็ยังคงร่องรอยของความเชื่อเดิมให้ได้พบเห็น) กับการที่แม้ประชากรส่วนมากในหมู่บ้านจะหันมาเข้ารับศาสนาอิสลามแล้ว หากพวกเขาก็ยังไม่ได้ปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัด หรือมีความเชื่อที่มั่นคงตามหลักคำสอนของศาสนา ยังคงปฏิบัติในสิ่งที่ห้ามอย่างเป็นกิจวัตร
แม้ว่าในปัจจุบันชาวบ้านลาเม็งจะปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดขึ้น รวมทั้งอัปเปหิกิจกรรมต่างๆ ที่ขัดต่อหลักศาสนา แต่ก็อย่างที่กล่าวไปว่า หลักความเชื่อ หรือธรรมเนียมปฏิบัติของพื้นถิ่นเดิม (เชื่อเรื่องภูติผี และพิธีกรรมไล่ผี) ก็ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ หากจุดหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการที่ความเชื่อแบบอิสลามได้ผสานเข้ากับความเชื่อและพิธีกรรมแบบมลายูท้องถิ่น ดังที่พิธีกรรมไล่ผีเองก็ได้มีการใช้วัตถุซึ่งเกี่ยวข้องกับอิสลาม (ผ้าซาญาดะห์) รวมถึงในพิธีกรรมอื่นๆ เองก็มีการอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน ทั้งที่ไม่ได้มีความข้องเกี่ยวกับพิธีกรรมใดๆ ตามหลักการของอิสลามเลย
เราอาจมองประเด็นนี้ว่าเป็นการปรับเปลี่ยนพิธีกรรมและความเชื่อแบบมลายูเข้ากับศาสนาที่เข้ามาใหม่ หรืออย่างที่หนังสือชี้ให้เห็นถึงการต่อรองกับศรัทธาของอิสลาม เพื่อสร้างคำอธิบาย หรือสร้างความชอบธรรมในสิ่งที่ขัดแย้งกับหลักคำสอนของศาสนา
ดังเช่นว่า ในพิธีกรรมต่างๆ เช่นการที่บอมอรักษาโรคจนหายดีด้วยอิทธิฤทธ์ การห้ามฝน หรือการดูฤกษ์ยาม นั้นขัดแย้งกับหลักศาสนา แต่ชาวบ้านบางคนก็เลือกที่จะคิดว่า ปาฏิหาริย์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากอัลลอฮ์ เป็นการขอพรที่พระเจ้าตอบสนอง และบันดาลให้เป็นจริงจากความศักดิ์สิทธิ์
ว่าแต่ ‘นบีไม่กินหมาก’ นี่ตกลงมันหมายถึงอะไรล่ะ เล่าอย่างสั้น ชื่อของหนังสือเล่มนี้มาจากพิธีกรรมในหมู่บ้านลาเม็งแห่งนี้แหละครับ ที่พวกเขาจะถวายอาหารให้กับวิญญาณบรรพบุรุษ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ พร้อมทั้งมีการสวดบทสวดจากคัมภีร์อัลกุรอานไปด้วย เพียงแต่การจัดสำรับเพื่อถวายในพิธีกรรมนี้ไม่ได้มีเพียงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ในท้องที่เท่านั้น แต่ยังมีสำรับสำหรับนบีมูฮัมมัด ซึ่งเป็นศาสดาของศาสนาอิสลามอีกด้วย โดยในทุกๆ ถาดบวงสรวงจะมีวัตถุดิบต่างๆ ทั้งข้าวเหนียวขาว ข้าวเหนียวเหลือง หมากพลู จะยกเว้นก็แต่สำรับของท่านนบีที่จะไม่มีหมากพลูรวมอยู่ แต่เปลี่ยนเป็นดอกไม้แทน ด้วยเหตุผลว่า “นบีไม่กินหมากเพราะท่านเป็นชาวอาหรับ แล้วเวลาประกอบพิธีชาวอาหรับนิยมใช้ดอกไม้ ก็เลยใช้ดอกไม้แทนหมากในถาดของนบี” นี่เองครับที่มาของหนังสือเล่มนี้