ใครหลายคนที่ไปดูคอนเสิร์ตของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘น้าเลียม’ หรือชื่อจริงตามทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน และสูติบัตรว่า ‘Liam Gallagher’ แล้วก็บ่นกระปอดกระแปดกันว่า คอนเสิร์ตนั้นจบเร็วไปนิด
แต่ที่จบเร็วนั้นก็ยังไม่เจ็บใจเท่ากับการที่ต้องกำเงินไปซื้อบัตรราคาหลายพัน แล้วก็รอคอยน้าเลียมมาหลายเดือนยังไม่พอ ต้องมายืนฟังเพลงที่ไม่ได้อยากจะฟังเท่าไหร่ (หรือบางเพลงก็อาจจะไม่รู้จักกันเสียด้วยซ้ำ) อีกจนกระทั่งจบคอนเสิร์ต แล้วกลับไม่มีเพลงชิคๆ ที่เคยดังระดับตำนาน ที่ใครคนที่ลงทุนซื้อบัตรราคาไม่ถูกสตางค์นั้น ต่างก็คิดว่าจะได้ฟังมันซะอย่างนั้น (เอาน่า! อย่างน้อยน้าเลียมก็อุตส่าห์ร้องเพลงที่ดัง และชิคไม่แพ้กันแบบ Wonderwall ให้ฟังตั้งหนึ่งเพลงแหนะเนอะ)
ก็อย่างที่รู้กันนะครับว่า น้าเลียมแกเป็นหนึ่งใน 2 คีย์แมนของวงดนตรีระดับซูเปอร์แบนด์ในยุค 90s ที่อินเทอร์เน็ตยังไม่ครองโลก อย่างวง Oasis น้าเลียมแกทำหน้าที่ร้องนำ ส่วนคีย์แมนอีกคนก็คือ ‘เฮียโนล’ พี่ชายแท้ๆ ของน้าเลียม ที่คอยแต่งเพลง เล่นกีตาร์ (และแย่งหน้าที่นักร้องในบางเพลง) บวกด้วยตัวประกอบอีกสองสามคน (ถ้าไม่ใช่แฟนฟันธุ์แท้ระดับเดนตายสิบกะโหลก จนร้องตามได้ทุกเพลงในคอนเสิร์ตที่เพิ่งผ่านมา ก็ลองคิดชื่อสองสามคนที่ว่าให้ออกดิ? แถมนี่ยังไม่ได้นับว่าสองสามคนที่ว่านี้ คือสองสามคนในอัลบั้มไหนอีกนะ!)
และเจ้าวง Oasis นี่มันก็เป็นวงที่แตกกระสานซ่านเซ็นกันไปเป็นชาติแล้ว เพราะเมื่อน้าเลียมแกถอนตัวออกจากโคตรอภิมหาแบนด์จากเกาะอังกฤษวงนี้ เมื่อกลางปี พ.ศ. 2552 Oasis ที่มีเฉพาะเฮียโนล ก็ไม่รู้จะมีวงมันไปทำไม เลยประกาศตนเป็นศิลปินเดี่ยวมันซะตอนนั้นนั่นแหละ เป็นอันยุติยุครุ่งเรืองของซูเปอร์แบนด์ระดับหนึ่งในตำนานดนตรีโลกอย่าง Oasis
แต่ชีวิตหลัง Oasis ของน้าเลียมแกก็ไม่ได้ห่างหายไปจากวงการดนตรีหมือนกัน เพราะปลายปี พ.ศ. 2552 เดียวกันนั้นเอง น้าแกกับใครอีกสองสามคนจาก Oasis (พูดง่ายๆ ก็คือทั้งวง ยกเว้นก็แต่เฉพาะเฮียโนล) ก็มาฟอร์มวงใหม่ที่ชื่อว่า ‘Beady Eye’ ซึ่งก็ทำเพลงออกมาอีกให้เพียบเลยทีเดียว (เช่นเพลง Soul Love ที่มีอยู่ในเซ็ตลิสต์ของคอนเสิร์ตเจ้าปัญหาที่ผ่านมา) ถึงจะไม่ได้โด่งดังจนแตะหลักไมล์ที่ Oasis เคยทำได้ก็เถอะ
แถมตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา น้าเลียมก็เริ่มแยกตัวมาเป็นอะไรที่เรียกกันเท่ๆ ว่า ‘โซโล่ อาร์ทติสท์’ หรือ ‘ศิลปินเดี่ยว’ อีกต่างหาก
ณ ขณะจิตที่น้าเลียมมาเปิดคอนเสิร์ตในประเทศไทย ซึ่งก็คือเมื่อคืนวันที่ 12 มกราคม บนพุทธศักราช 2561 ที่ผ่านมาหลัดๆ นั้น น้าแกจึงมาในฐานะศิลปินเดี่ยวนะครับ ไม่ใช่ ‘น้าเลียม ณ โอเอซิส’ อย่างที่ใครหลายคนหวังใจเอาไว้ ดังนั้นน้าแกจึงร้องเพลงอย่าง Come Back To Me หรือ You Better Run ซึ่งก็เป็นเพลงในอัลบั้มล่าสุดของน้าแก เมื่อดำรงตนเป็นอะไรที่เรียกว่า โซโล่ อาร์ทติสท์ แล้ว (ส่วนอนาคตนั้นยังไม่แน่ เพราะพักหลังๆ ชักจะมีข่าวน้าเลียม กับเฮียโนล ขอคืนดีออกสื่อให้ได้ยินกันบ่อยๆ)
สำหรับใครคนที่ไปเข้าร่วมสังฆกรรมในคอนเสิร์ตของน้าเลียม ก็ยอมรับมาซะดีๆ ว่าตอนน้าเลียมแกหลุบหายไปจากเวที ก็ต่างแอบฝันอยู่ในใจตอนตะโกนร้อง ‘encore’ (ขออนุญาตไม่เขียนด้วยตัวอักษรไทย เพราะถอดเป็นตัวอักษรออกมาแล้ว มันชวนให้นึกถึงละครของ ‘อาหลอง’ ภักดีวิจิตร ถึงจะสะกดไม่เหมือนกันเป๊ะๆ ก็เหอะ) กันทั้งนั้นแหละว่า น้าเลียมแกจะโผล่ออกมาตามธรรมเนียมแล้วร้องเพลงดังจากยุคสมัยของ Oasis ให้ฟินๆ กันไปสักเพลง
ไม่อย่างนั้นก็คงจะไม่มีอาการ ‘เลียมไม่ร้อง กูร้อง!’ อีกเพลงดังจากอัลบั้มแรกของ Oasis อย่าง Live Forever กันเป็นหมู่คณะ หลังจากที่น้าเลียมแกไม่ยอมโผล่หัวออกมาบนเวทีอีกครั้งจริงๆ หรอกใช่ไหมล่ะ?
และถึงแม้จะทำให้ใครหลายคนผิดหวัง ที่น้าเลียมไม่ยอมออกมาในร้องให้แฟนๆ ชื่นใจอีกสักนิด เมื่อมีการ Encore แต่สำหรับแฟนพันธุ์แท้ Oasis แล้วก็ก็ต้องอย่าลืมนะครับว่านี่ใคร?
ก็ ‘Who the fuck is Liam Gallagher?’ ตามอย่างแคมเปญของคอนเสิร์ตนี้นี่แหละ
และอันที่จริงแล้ว วงดนตรี หรือนักร้อง ไม่ว่าจะเป็นในสไตล์ร็อค อัลเทอร์เนทีฟ ป๊อบจ๋า อาร์แอนด์บี ไปจนกระทั่งคลาสสลิค โอเปร่า หรือลูกทุ่ง หมอลำ เขาก็ต่างมีสิทธิ์ที่จะไม่ออกมาขึ้นแสดงบนเวทีอีกรอบ หลังจากแฟนๆ ร้องขอ encore กันทั้งนั้น
คำว่า ‘encore’ เป็นศัพท์ในโลกภาษาอังกฤษ ที่ยืมภาษาฝรั่งเศสมาใช้อีกทอด หมายถึงการร้องขอให้นักร้อง นักดนตรี หรือนักแสดงกลับขึ้นมาบนเวทีอีกครั้งแบบ ‘again, some more’ หรือ ‘เอาอีกๆ’ อย่างที่ตะโกนกันในทุกคอนเสิร์ตที่พากย์ด้วยภาษาไทยนั่นเอง
(แต่ในโลกของภาษาฝรั่งเศสเขาไม่ใช่คำนี้เหมือนพวกที่พูดภาษาอังกฤษ แล้วยืมคำเขาไปใช้นะครับ ในกรณีเดียวกันพวกเขาจะใช้คำว่า ‘une autre’ หรือ ‘une rappel’ ต่างหาก)
เอาเข้าจริงแล้วอะไรที่เรียกว่า ‘encore’ จึงเป็น ‘ของแถม’ เพราะการแสดงทั้งหมดตามกำหนดการจริงๆ นั้น ได้จบลงไปโดยสมบูรณ์แล้ว
แต่ว่าการที่ธรรมเนียมอย่างนี้มีมาตั้งแต่คอนเสิร์ตในโลกตะวันตกเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18-ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นอย่างน้อย (ตรงกับช่วงปลายสุดของอยุธยา-กรุงธนบุรี-ต้นกรุงรัตนโกสินทร์) ก็คงจะทำให้ใครต่อใครพากันเข้าใจว่ามันต้องเป็นธรรมเนียมที่ต้องปฏิบัติมันเสียอย่างนั้น
โอเปร่า เฮาส์ ระดับโลกอย่าง La Scala ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี และ Metropolitan Opera (หรือที่คนในวงการเขาเรียกกันว่า ‘The Met’) ในเมืองนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา มีธรรมเนียมปฏิบัติมาอย่างช้านานว่า ห้ามไม่ให้มีการ encore เพราะจะทำให้คนซีเรียสกับตัวเนื้องานที่แสดงน้อยลง และถ้าใครเผลอไปตะโกน “เอาอีกๆ” ในโอเปร่า เฮาส์ ทั้งสองแห่งที่ว่า นี่ก็จะถูกเหยียดและมองด้วยสายตาที่ผิดผีเอามากๆ นะครับ
แต่ก็ไม่ใช่เฉพาะการแสดงแบบคลาสสลิค แถมยังซีเรียสอย่าง โอเปร่า เท่านั้น ที่ไม่ต้อนรับธรรมเนียมการ encore ในนักร้อง นักดนตรีสมัยใหม่บางคน ก็ไม่เคยกลับมาหน้าเวทีเลยในรอบของการ encore แถมตัวอย่างนั้นยังเป็น ร็อคสตาร์ระดับพระบิดาอย่าง เอลวิส เพลสลีย์ (เอิ่ม… ผมหมายถึงสมัยใหม่เมื่อเทียบกับการแสดงที่เป็นขนบอย่างโอเปร่าอะนะ) อีกซะด้วย
การที่นักร้อง นักดนตรี หรืออะไรก็ตามที่โชว์อยู่บนเวที จะออกมาโชว์ให้เราดูอีกสักนิดเมื่อมีการ encore หรือเปล่า? มันก็แล้วแต่เงื่อนไข วิจารณญาณ อารมณ์ ความรู้สึก ข้อจำกัด และอะไรอีกสารพัดไปยาลใหญ่ของเขานะครับ เพราะในมุมของการทำงานแล้ว พวกเขาต่างก็ได้แสดงครบถ้วนตามกำหนดการไปหมดแล้ว (แน่นอนว่ามันก็ต้องมีอะไรที่เรียกว่า การ ‘ด้น’ กันบ้าง เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบนเวที)
ราชาเพลงร็อคอย่าง เอลวิส อาจจะไม่เห็นด้วยที่เขาจะต้องออกมาเล่นอีกรอบ ทั้งๆ ที่งานของเขาจบไปแล้ว แต่วงดนตรีสุดติสท์แบบ The Cure นั้นเคยออกมาเล่นเพิ่มเติมถึง 5 รอบในคอนเสิร์ตเดียว เนื่องจากแฟนๆ ยัง encore กันไม่หยุด นั่นก็เป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละคนเพราะ encore น่ะ มันคือของแถม ไม่ได้รวมอยู่ในราคาบัตร (ถึงแม้ว่า บ่อยครั้งนักร้อง นักดนตรีจะเตรียมเพลงสำหรับ encore ไว้จนเป็นปกติก็เถอะ)
ในกรณีของน้าเลียม มันอาจจะเป็นเพราะปัญหาที่เครื่องเสียง หรือเสียงของน้าเอง ที่แหบชรา ไปตามอายุ และวิธีการใช้ชีวิต (ถึงแม้ว่าน้าจะเพิ่ง 45 ก็เหอะ) และก็อาจจะเป็นเพราะพฤติกรรมสาดเบียร์ของผู้เข้าชมคอนเสิร์ตบางส่วน เผลอๆ น้าเลียมแกก็หงุดหงิดจากอะไรที่ว่านี่รวมๆ กันทั้งหมดนั่นแหละ
แน่นอนว่าเราอาจจะรู้สึกเซ็งจิตได้ เมื่อน้าเลียมแกไม่มาตามคำขอ และธรรมเนียมอย่างคนทั่วไป แต่ก็อย่าลืมนะครับว่านี่ใคร ‘Who the fuck is Liam Gallagher?’ และแฟนๆ วง Oasis ก็ยังคง ‘Live Forever’ กันอยู่ได้แม้จะไม่มี Oasis อีกต่อไปแล้ว และน้าเลียมจะไม่มาตามคำขอ