‘อีสาน’ ตัวละครเอกของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ตั้งแต่เมื่อแรกเปิดตัวปี 2548 งานแสดง ‘กันดารคือสินทรัพย์: อีสาน’ เชิดชูคุณค่าวัฒนธรรมชาวบ้านอีสานอย่างอลังการ ในห้างสรรพสินค้า ดิ เอ็มโพเรียม สุขุมวิท
ผ่านมาจวนจะ 13 ปี วันนี้ TCDC พร้อมเปิดสำนักงานใหม่ขึ้นแล้วที่ขอนแก่น พร้อมพนักงานประจำกว่าสิบคน เริ่มลุยงานสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ แม้ตัวอาคารจะยังก่อสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ก็ตาม
ล่าสุด นิตยสารคิด © Creative Thailand ของ TCDC เจาะประเด็นภาคอีสานทั้งเล่ม จั่วหัวว่า “ISAN COMES HOME เจ้าสิเมือเฮือนมื้อได้” นี่น่าจะเป็นเวลาอันดีที่เราจะพินิจพิจารณาดูว่า ‘อีสาน’ ในสายตาศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ เป็นยังไงมายังไงกันแน่ มีตรงไหนบ้างไหมที่มีปัญหา และสิบปีมานี้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง มาดูกันเลย
จากการพูดถึงคนอีสานสู่การพูดกับคนอีสาน
สิบกว่าปีมานี้ ที่ผิดแผกกันไปชัดเจนที่สุด น่าจะเป็นการเลื่อนบทบาทคนอีสาน จาก ‘ผู้ถูกมอง’ กลายเป็น ‘คู่สนทนา’
ในนิทรรศการปฐมฤกษ์ ‘กันดารคือสินทรัพย์: อีสาน’ หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘Isan Retrospective: Deprivation, Creativity and Design’ ผู้เข้าชมไม่เพียงแต่ได้เรียนรู้ความเป็นเลิศของคนอีสาน แต่ยังต้องฟังเสียงคำดูถูกคนอีสานและต้องเดินเหยียบหน้าคนอีสานบนพื้นตั้งแต่ก้าวเข้าไปห้องแรกนั่นเลย!
(หากท่านเกิดไม่ทัน หรือไม่ได้มีโอกาสไปชมนิทรรศการสมัยนั้น อย่าได้เสียใจไป ท่านสามารถเข้าไปเยี่ยมชมทางออนไลน์ได้ที่นี่ เขายังเก็บเนื้อหาสาระไว้ได้เกือบทั้งหมด)
ชัดเจนว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของนิทรรศการนี้คือคนที่เคยนึกดูถูกคนอีสาน ให้เกิดความรู้สึกกระอักกระอ่วน รู้สึกผิด เพื่อที่จะได้สร้างความรู้สึกเชิงบวกต่อในส่วนที่เหลือของนิทรรศการ อย่างเช่นห้องที่ตีความ ‘ความเชื่องมงาย’ เสียใหม่ว่าเป็นวิธีการจัดการกับความกลัวที่มีอยู่เป็นสากลในทุกวัฒนธรรม แถมของอีสานยังเป็น positive thinking สร้างรายได้เข้าชุมชนอีกมากมาย ตั้งแต่เทศกาลผีตาโขนไปจนถึงปลัดขิก
แน่นอนว่าคนอีสานผู้เข้าชมนิทรรศการนี้ก็สามารถสนุกไปกับมันได้เต็มที่ แต่ก็คงจะรู้สึกว่า คงไม่ได้ทำมาให้พวกเราดู
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ในสมัยที่ TCDC จะ ‘ขยายสาขา’ มาถึงภาคอีสาน นิตยสาร คิด © จั่วหัวชัดเจนว่า “เจ้าสิเมือเฮือนมื้อได๋ (เธอจะกลับบ้านวันไหน)” สารที่สื่อออกมาผ่านเรื่องราวความสำเร็จตลอดเล่มคือ ‘ฟ่าวเมือเฮือน [รีบกลับบ้าน]’ อ่านแล้วฉันยังรู้สึกฮึกเหิมในพลังของศิลปินและนักธุรกิจรายย่อยลูกอีสานทั้งหลาย
เหมือน TCDC จะตระหนักเต็มที่แล้วว่า นอกจากคนอีสานจะเป็น ‘เป้าหมาย’ ของวาทกรรมเชิดชูและสร้างภาพโรแมนติกของความยากไร้แล้ว คนอีสานยังสามารถกลายเป็น ‘กลุ่มเป้าหมาย’ ของการสนทนาได้ด้วย
แต่ก็ไม่ใช่คนอีสานทุกคนจะสามารถ ‘อิน’ กับคำเรียกขานเช่นนี้ เพราะผู้ที่สามารถเป็น ‘คนกล้าคืนถิ่น’ ทั้งหลายต่างก็มีที่ดินหรือสินทรัพย์มากพอจะหาอยู่หากิน
อย่างเช่นผู้ก่อตั้ง ‘Mekong Nomad Organic Farm’ ก็ ‘ลาออกจากงานที่รัก’ เพื่อกลับมาเป็น change maker ที่จังหวัดอุบลราชธานีได้ ‘ภายใต้พื้นที่ 18 ไร่’ – ซึ่งไม่ใช่จำนวนน้อยๆ เลย
จากอีสานแล้งสู่อีสานอุดมสมบูรณ์
TCDC เอ่ยถึงภาคอีสานทีไร วรรคทอง “ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย” ก็มักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นพื้นหลังอยู่เสมอ
ตั้งแต่นิทรรศการ ‘กันดารคือสินทรัพย์’ ก็ตีกรอบอย่างชัดเจนเลยว่า ความกันดารหรือยากจนข้นแค้นนั้นเป็นบ่อเกิดของความสร้างสรรค์ นำไปสู่มูลค่าการตลาดสร้างรายได้เข้าครอบครัวและประเทศเป็นกอบเป็นกำ
ตัวอย่างเช่น ความยากจนข้นแค้นทำให้ชุมชนต้องจุนเจือช่วยเหลือกัน กลายเป็นจารีตครรลองที่บ่มเพาะให้คนอีสานต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองอย่างอบอุ่น สุดท้าย ‘สันดานบริการ’ ของคนอีสานจึงแปรเป็นจุดแข็งของอุตสาหกรรมสปาและการท่องเที่ยว ที่ไม่ว่าใครชาติไหนมาเยี่ยมเยียนก็ติดใจในคุณภาพความใส่ใจ
ตรรกะและพล็อตเรื่องทำนองนี้จะถูกสนับสนุนด้วยตัวเลขเม็ดเงินที่ทาง TCDC ใช้เวลาค้นคว้าวิจัยมา เช่น คนอีสานโพ้นทะเลส่งเงินกลับบ้านรวม ‘วันละ 200 ล้านบาท’
และเมื่อต้องการพูดถึงความยากจน ก็จะอิงข้อมูลทางภูมิศาสตร์เป็นสำคัญ ‘ภูมิศาสตร์ของภาคอีสานเป็นที่ราบสูง มีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 105.5 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ 59.5 ล้านไร่เป็นดินที่มีปัญหา เช่น ดินเค็ม และดินทราย’
แต่ท่านจะว่าอย่างไรถ้าฉันจะยกตัวเลขอีกตัวขึ้นมาตีกรอบ ‘ภาคอีสาน’ แทน เมื่อปี 2495 หลังวรรคทอง “ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย” ได้รับการเผยแพร่เพียงหนึ่งปี ในภาคอีสานมีป่าไม้กว่า 64 ล้านไร่ หรือกว่าร้อยละ 60.8 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยเป็นรองเพียงแค่ภาคเหนือซึ่งมีพื้นที่ป่าร้อยละ 62.4
ปีนี้ นิตยสารคิด © ของ TCDC เล่ม ‘ISAN COMES HOME เจ้าสิเมือเฮือนมื้อได๋’ แม้จะยังอ้างถึงวรรคทองเดิมไม่เสื่อมคลายในบทบรรณาธิการ แต่เมื่อเปิดปกดูเนื้อในแล้ว ในหน้าแรกก็ปรากฏภาพจานส้มตำพร้อมหอยห้าชนิด ใต้ภาพเขียนไว้ว่า “ไผว่าอีสานแล้ง สิจูงแขนเพิ่นไปเบิ่ง” –ผญา (ปรัชญาคำอีสาน)
หากจะเติมผญานี้ให้เต็ม ก็ว่าต่อได้ว่า “น้ำของ (แม่น้ำโขง) ไหลจ้นจ้น มันสิแล้งบ่อนจั่งใด๋” เหมือนเป็นการยอมรับกลายๆ ว่าภาพ ‘อีสานแล้ง’ ที่ TCDC ตอกย้ำมาโดยตลอด อาจไม่ใช่ความจริงจริงๆ หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่ความจริงชุดเดียวที่ใช้ได้แบบครอบจักรวาล
นิตยสารฉบับนี้เน้นเล่าเรื่องของคนอีสานที่ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเพื่อทำงานสร้างสรรค์ในทางต่างๆ ในบทสัมภาษณ์เกษตรกรคนรุ่นใหม่ที่สกลนคร เขียนไว้ว่า
ภาพอีสานแล้ง พื้นดินแตกระแหง ถูกลบไปหมดสิ้นเมื่อได้ย่างก้าวเข้าสู่บ้านไร่นาสวนผสมของอุ๋มอิ๋ม-รติกร ตงศิริ เกษตรกรที่ผันตัวจากการทำงานสื่อในเมืองกรุง […] “แผ่นดินไทยมันอุดมสมบูรณ์ เกิดมาอยู่แผ่นดินนี้มันควรจะเพาะปลูกถึงจะคุ้มค่า”
อีสานในมุมมองของ TCDC จึงดูมีความคลี่คลายบางอย่าง ไม่จำเป็นต้องตอกย้ำภาพ ‘อีสานแล้ง’ ตลอดเวลาก็สามารถเชิดชูความสร้างสรรค์ของคนอีสานได้
สิ่งที่เหมือนเดิม: เศรษฐกิจที่ไม่มีการเมือง
ในนิทรรศการและสิ่งพิมพ์ต่างๆ ของ TCDC สาเหตุของความยากจนในภาคอีสานคือข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม โดยลดความสำคัญ หรือบางทีก็ลบปัจจัยทางการเมืองไปเลย
อย่างหนังสือ MADE from Creativity ที่ตีพิมพ์ปี 2560 มีบทตอนที่พูดถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวหอมดอกฮัง จ.สกลนคร อยู่นอกพื้นที่ชลประทาน ‘ได้เปลี่ยนข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ’ และ ‘เชื่อมั่นว่าการปลูกข้าวปีละครั้ง แล้วรอฝนตามธรรมชาติ คือวิธีปลูกข้าวหอมที่มีคุณภาพยอดเยี่ยมที่สุด’
ผู้เรียบเรียงอภิปรายไว้ว่าการปลูกแบบอินทรีย์ ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้านั้น ‘รายได้โดยรวมอาจน้อยลง แต่กำไรต่อหน่วยกลับสูงขึ้น’
“เราอาจมองความแห้งแล้งและระบบชลประทานที่จำกัดของภาคอีสานโดยเฉพาะจังหวัดสกลนคร ที่ทำให้เกษตรกรทำนาได้เพียงปีละครั้งเช่นนี้ ว่าเป็นได้ทั้งเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมที่ทำให้อีสานเป็นภูมิภาคที่ยากจนที่สุดของประเทศ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ข้อจำกัดเช่นนี้ก็เป็นทรัพยากรที่สำคัญอย่างยิ่งได้ด้วยเช่นกัน”
การมองต่างมุม ‘อย่างสร้างสรรค์’ เหล่านี้ จะว่าจรรโลงใจผู้อ่านก็ไม่ผิด แต่ก็สามารถพิจารณามุมกลับของมุมกลับได้อีกเหมือนกันว่า มองแบบนี้มันทำให้เราลืมคิดไปว่า ‘ข้อจำกัด’ นี้มันอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้นตลอดมาและตลอดไปก็ได้
ในหนังสือ THAI ART: Currencies of the Contemporary เดวิด เทห์ เขียนถึงนิทรรศการ ‘กันดารคือสินทรัพย์’ ไว้ว่าเป็น “ความพยายามอันน่าตื่นตาตื่นใจที่จะรีแบรนด์ภาวะสิ้นไร้ของภาคอีสานให้เป็นมารดาแห่งการประดิษฐ์คิดค้น (a fascinating attempt to rebrand the northeast’s impoverishment as the mother of invention.)”
โปรดสังเกตการใช้คำว่า ‘impoverishment’ ไม่ใช่ ‘poverty’ หรือ ‘deprivation’ อย่างที่ TCDC ใช้ คำที่ยาวกว่าเพื่อนนี้สื่อถึงนัยยะของการถูกขูดรีดเอาทรัพยากรออกไปจนสิ้นไร้ ไม่ได้เป็นอย่างนั้นมาแต่แรก
ความสร้างสรรค์ผุดสะพรั่ง แต่ความมั่งคั่งกะปริบกะปรอย
ทั้งมูลค่าทางเศรษฐกิจที่คนอีสานสร้างให้แก่ประเทศ ทั้งความสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการลูกอีสานคืนถิ่น จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ทำให้ความยากจนและการตกเป็นเบี้ยล่างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง หายไปแต่อย่างใด
ในฐานะหน่วยงานของภาครัฐ สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี TCDC มีพันธกิจที่จะตอบโจทย์ระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่การผลิตแบบอุตสาหกรรมของไทยนั้นสู้ต่างประเทศโดยเฉพาะจีนและอินเดียไม่ได้ จึงต้องหันมาเพิ่มมูลค่าการตลาดด้วยความสร้างสรรค์ ดังที่บทนำของ MADE from Creativity กล่าวถึง “เศรษฐกิจแบบใหม่” นี้ไว้ว่า
“‘ความใหม่’ กล่าวคือ มีความเข้าใจใหม่ๆ อันลึกซึ้งและมีความคิดใหม่ๆ ที่จะสร้างพื้นที่อันกว้างขวางพอที่จะรับเอาผู้คนจำนวนมากเข้ามาอยู่ในกระบวนการสร้างสรรค์และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ คำว่า นวัตกรรม ในที่นี้ มิได้หมายถึงเพียงกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคนิควิทยาการชั้นสูงที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการขับเคลื่อนเท่านั้น แต่ยังหมายถึงกระบวนการเรียนรู้ที่จะได้มาซึ่งวิธีการใหม่ในการผลิตสินค้าและบริการจากของดั้งเดิมหรือที่มีอยู่ตามขนบเดิม“
แต่แล้วภาพฝันของการช่วยยกระดับความเป็นอยู่ให้แก่คนในวงกว้าง ก็ยังไม่ปรากฏเป็นความจริง
ลำพังความสร้างสรรค์ไม่พอที่จะไป scale ช่วยยกระดับชีวิตของคนหมู่มากได้ ให้ตายสิ แม้แต่คนอีสานหัวสร้างสรรค์ทั้งหลายที่ปรากฏบนหน้าสื่อของ TCDC ก็ยังพูดทำนองเดียวกันว่า มันไม่ได้มั่งคั่งอะไรขนาดนั้น
แม้แต่ สุรศักดิ์ ป้องศร ผู้สร้างแบรนด์ ไทบ้านเดอะซีรีส์ ซึ่งรายได้จากภาพยนตร์ทุกภาครวมกันเหยียบร้อยล้าน ยังให้สัมภาษณ์ TCDC เลยว่า “ส่วนมากคนที่ทำตรงนี้คือคนที่รักการทำหนัง แต่เลี้ยงชีพจริงๆ ไม่ได้ … คือถ้าเราสบายเราคงไม่อยากทำอะไร เพราะเราลำบากไงเราถึงต้องทำมัน”
แทนที่จะเป็นการเสริมสร้างและผลักดัน ‘เศรษฐกิจแนวใหม่’ ให้เป็นคำตอบของประเทศไทยในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ฤๅ TCDC จะกลายเป็นเพียงผู้คอยจรรโลงใจให้เรารู้สึกตื่นตาตื่นใจในอัจฉริยภาพไร้ขีดจำกัดของคนอีสาน จนลืมต้นตอของภาวะจำกัดจำเขี่ย จนเราลด-ละ-เลิกความคาดหวังให้รัฐบาลกระจายทรัพยากรมาอย่างทั่วถึงและเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้มันทัดเทียมกับกรุงเทพฯ กรุงไทยเสียที?
อย่าลืมว่าบทกวี ‘อีศาน’ ของ ‘นายผี’ ไม่ได้จบลงเพียงแค่ ‘ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย’ :